April 19 2024 05:09:39
เมนู
หน้าแรก
ใบคำร้องฯ
ผลสอบ ๒๕๔๓-๖๖
ขอบข่ายธรรมศึกษา ๒๕๖๔
ขอบข่ายธรรมศึกษา ๒๕๖๑
หนังสือหลักสูตรชั้นตรี ประถม
หนังสือหลักสูตรชั้นตรี มัธยม
หนังสือหลักสูตรชั้นตรี อุดม
ทดสอบสอบความรู้จากข้อสอบธรรมศึกษา 2543-2562
eLearning ธรรมศึกษา
วีดิโอสอนธรรมศึกษา
ระเบียบการจัดสอบ ๒๕๖๐
กระดาษเขียนกระทู้ธรรม ธศ.
สมุดลงนามฯ (สมุดเยี่ยม)
คำปราศรัยฯ ธรรมศึกษา
ใบปิดหน้าซองบรรจุคำตอบ
บัญชีบรรจุใบตอบปรนัย
ทะเบียนพัสดุหลังสอบ น.ธ.
ทะเบียนพัสดุหลังสอบ ธ.ศ.
ใบตอบธรรมศึกษาแบบฝน (แบบใหม่ ๒๕๖๑)
วิธีระบายเลขที่สอบ (ธรรมศึกษา)
นักธรรม (ฟอร์มแจ้งสถิติ)
นักธรรม (ฟอร์มขอแก้ไข)
ธรรมศึกษา (ฟอร์มแจ้งสถิติ)
ธรรมศึกษา (ฟอร์มขอแก้ไข)
ดาวน์โหลด
ปัญหา-เฉลย นักธรรม ๖๔
ปัญหา-เฉลย น.ธ.-ธ.ศ. ๖๕
สถิติสอบธรรม ๒๕๖๒
อันดับสำนักเรียนสอบได้มาก

ประวัตินักธรรม
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
ทำเนียบแม่กองธรรม
ทำเนียบผู้บริหารปัจจุบัน
แม่กองธรรมสนามหลวง
เจ้าหน้าที่สำนักงาน
หนังสือประกอบหลักสูตร
ปรับปรุงหลักสูตรธรรมศึกษา
ระเบียบปฏิบัติทั่วไป
กฏกระทรวง พ.ศ.๒๕๔๘

การขอใบรับรอง

ห้องแสดงภาพ
ห้องสนทนา
บทความ
เว็บลิงค์
คำถามยอดนิยม
ค้นหา

ส่งบทความ
ปฏิทินกิจกรรม

วิดีโอแกลอรี่
เพิ่มวิดีโอ
วีดีทัศน์เกี่ยวกับสอบธรรม 2553
ผู้มีสิทธิสอบ
ฝ่ายธุรการ
รายชื่อรัฐของสหรัฐอเมริกา
ติดต่อสำนักเรียน
จศป.ครูธรรม
ติดต่อสำนักเรียน
ทั่วประเทศ
ส่วนกลาง
ส่วนภูมิภาค (ม)
ส่วนภูมิภาค (ธ)

เจ้าคณะตำบล-อำเภอ-จังหวัด
วัดทั่วประเทศ
สถานศึกษาทั่วประเทศ

สนามสอบทั่วประเทศ
สนามสอบนักธรรม ส่วนกลาง
ระเบียบปฏิบัติ
MOU ธรรมศึกษา
คำปราศรัยฯ น.ธ.ตรี
คำปราศรัยฯ น.ธ.โท-เอก
คำปราศรัยฯ ธรรมศึกษา
ใบปิดหน้าซองบรรจุคำตอบ

ใบตอบธรรมศึกษาแบบฝน
คำอธิบายการฝนใบคำตอบ

ระเบียบการจัดสอบ
กำหนดวันสอบ ๒๕๖๖
ระเบียบฯ ส่วนภูมิภาค ๒๕๖๖
ระเบียบฯ ส่วนกลาง ๒๕๖๖
ระเบียบฯ ส่วนกลาง ภาคผนวก ๒๕๖๖
เล่มสนามสอบ สมัยที่ ๒

วิธีการตรวจข้อสอบนักธรรม
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
สนามหลวง แผนกบาลี
ม.มหามกุฏราชวิทยาลัย
ม.มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
สนง.พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
กระทรวงศึกษาธิการ
กระทรวงวัฒนธรรม
กรมการศาสนา
หัวข้อแนะนำ
พระมหาสมณเจ้าฯ

งานฉลอง ๙๗ พระชันษา

ดูสถิติการเข้าชมเว็บของคุณ
Youtube Gallery
   วิดีโอทั้งหมด (11)
   พระประวัติ และ ประวัติ (3)
   การศึกษาของสงฆ์ไทย (1)
   พิธีเปิดสอบธรรม พ.ศ. 2553 (0)
   คู่มือ-เทคนิค-วิธีการ (7)
วิดีโอล่าสุด
video

video

สนง.พระพุทธศาสนาฯ



ชวนเพื่อนมาชมเว็บนี้

อีเมล์คุณ:
ส่งถึงเพื่อน:
คัดลอกสำเนา?
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส : พระประวัติตรัสเล่า (๖)



พระประวัติตรัสเล่า
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(เริ่มทรงพระนิพนธ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘)

๗. สมัยทรงรับสมณศักดิ์

พระองค์เจ้าเช่นเรา แรกทรงกรมเป็นกรมหมื่นก่อน เว้นบางพระองค์ ผู้รับเมื่อพระชนมายุมากแล้ว เป็นกรมหลวงบ้าง เป็นกรมขุนบ้างทีเดียว ฯ เจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าแรกรับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ทรงถือพักยศเป็นพิเศษ ทรงตำแหน่งต่างๆ ตามคราวมา ฯ ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ดูเหมือนทรงรับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะครองวัดพระเชตุพน แทนสมเด็จพระวันรัตพระอาจารย์มาก่อนแล้ว จึงทรงกรมเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรสศรีสุคตขัตติยวงศ์ ทรงถือพัดยศอย่างไรหาทราบไม่ ในรัชกาลที่ ๓ ทรงบัญชาการคณะกลาง ในรัชกาลที่ ๔ ทรงรับมหาสมณุตมาภิเษกเป็นประธานยแห่งสังฆมณฑลทั่วพระราชอาณาจักร ทรงถือพัดแฉกตาดเหลืองสลับขาว ฯ

ทูลกระหม่อมไม่ได้ทรงกรม เป็นแต่พระราชาคณะ ในรัชกาลที่ ๓ ทรงถือพักแฉกพื้นตาด เราเห็นเมื่อเสด็จพระอุปัชณายะทรงถือ ต่อมาดูเหมือนตาดเหลืองเดิมไม่ได้ครองวัด ภายหลังครองวัดบวรนิเวศวิหาร ตามเสด็จพระอุปัชฌายะทรงเล่า เดิมดูเหมือนไม่ได้เทียบชั้น ภายหลังทรงขอพระราชทานตั้งฐานานุกรมชั้นนั้นบ้างชั้นนี้บ้าง เป็นอันเทียบชั้นเข้าได้ ตั้งแต่ชั้นธรรมขึ้นมา เมื่อครั้งลาผนวชเทียบชั้นเจ้าคณะรอง ฯ พระองค์เจ้าอำไพ ในรัชกาลที่ ๒ ไม่ได้ทรงกรม เป็นแต่พระราชาคณะ ในรัชกาลที่ ๓ เสด็จพระอุปัชฌายะทรงเล่าว่าทรงถือพัดงาใบอย่างพัดด้ามจิ้ว เป็นฝ่ายพระสมถะครองวัดอรุณราชวราราม ฯ เสด็จพระอุปัชณายะ ครั้งรัชกาลที่ ๓ ทรงเป็นพระราชาคณะ ทรงถือพัดแฉกถมปัด ไม่ได้ทรงครองวัด ครั้งรัชกาลที่ ๔ จึงได้ทรงกรม เป็นกรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ ทรงถือพัดแฉกพื้นตาด ที่ทูลกระหม่อมทรงมาเดิม และทรงถือพักแฉกงาเป็นพิเศษ ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเจ้าคณะธรรมยุติกนิกาย เมื่อครั้งเรารับกรมและสมณศักดิ์ ยังไม่ได้ทรงรับมหาสมณุตมาภิเษก เป็นแต่เลื่อนกรมเป็นกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ฯพระองค์เจ้าประถมวงศ์ ในกรมพระราชวังหลัง หาได้ทรงสมณศักดิ์ไม่ ฯ

หม่อมเจ้าแรกเป็นพระราชาคณะ ถือพัดสุดแต่จะพระราชทาน แฉกถมปัดบ้างก็มี แฉกพื้นแพรปักบ้างก็มี แฉกโหมดสลับตาดบ้างก็มี แฉกพื้นตาดสีก็มี พัดงาใบพัดด้ามจิ้วก็มี ในเวลาเรารับสมณศักดิ์ หม่อมเจ้าพระราชาคณะ มีตำแหน่งเพียงชั้นเจ้าอาวาสยังไม่ได้เป็นพระราชาคณะ ฯ ท่านผู้เป็นพระราชาคณะก่อนเรา ๖ องค์ คือ หม่อมเจ้าพระศีลวราลังการ (สอน) ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา ครองวัดชนะสงคราม ถึงชีพิตักษัยก่อนเราบวช ๑ หม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์ (รอง) ในกรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิ์ ครองวัดบพิตรพิมุข ถึงชีพิตักษัยก่อนเราบวช ๑ หม่อมเจ้าพระสังวรวรประสาธน์ (เล็ก) ในกรมหมื่นนราเทเวศ วังหลัง ครองวัดอมรินทราราม ๑ หม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) ในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ วังหลัง ครั้งนั้นยังเป็นหม่อมเจ้าพระพุทธุบบาทปิลันธน์ ครองวัดระฆังโฆษิตาราม ๑ หม่อมเจ้าพระธรรมุณหิสธาดา (สีขเรศ) ในกรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ อยู่วัดบวรนิเวศวิหาร ๑ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคคุณากร ครั้งยังเป็นหม่อมเจ้าสมญานั้น ในกรมหมื่นภูมินทรภักดี ครองวัดราชบพิธ ๑ ฯ เราโปรดให้เป็นกรมหมื่น มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองแห่งคณะธรรมยุติกนิกาย ฯ อนึ่งในคราวเราจะรับกรมและสมณศักดิ์นั้น จะทรงตั้งหม่อมเจ้าพระประภากรบาเรียน ๕ ประโยค ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ เป็นพระราชาคณะด้วย ฯ

วันเวลารับกรมในครั้งนั้น เป็นธุระของเจ้างานจะกำหนดถวาย ทรงอนุมัติแล้วเป็นใช้ได้ ฯ ส่วนวันเวลาที่เราจะรับกรม เสด็จพระอุปัชฌายะน่าจะทรงกำหนดประทาน แต่ตรัสสั่งเราไปทูลขอสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ท่านทรงกำหนดพ้องวันแต่เหลื่อมเวลากับฤกษ์จุดเทียนชัยพระราชพิธีตรุษ ตกในวันพฤหัสบดี เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมะเส็งตรีศก จุลศักราช ๑๒๔๓ ตรงวันที่ ๑๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๒๔ เวลาเช้า ๔ โมง เศษอะไรจำไม่ได้ บางทีเสด็จพระอุปัชฌายะจะทรงต้องการวันนั้น แต่พ้องพระราชพิธีตรุษ ไม่อาจทรงกำหนดลง จึงตรัสให้ไปทูลขอสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ฝ่ายท่านข้างโน้นจะกำหนดวันอื่นก็จะเสียภูมินักรู้ในทางพยากรณ์ศาสตร์ จึงกำหนดลงในวันนั้นกระมัง เมื่อท่านทรงจัดมาในทางราชการเช่นนั้น ก็จำต้องรับในวันนั้น แต่เราไม่พอใจเลย เราไม่ถือฤกษ์ชอบแต่ความสะดวก ทำงานออกหน้าทั้งที มาพ้องกับพระราชพิธีหลวงเข้าเช่นนี้ จะนิมนต์พระก็ไม่ได้ตามปรารถนา ผู้มีแก่ใจจะมาช่วยก็ไม่ถนัด ตกลงต้องจัดงานให้เข้ารูปนั้น




สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์

วันสวดมนต์จะนิมนต์พระราชาคณะผู้ใหญ่ ก็คงให้พระมาแทนทั้งนั้น พอเหมาะที่เสด็จพระอุปัชฌายะประทานผ้าไตรและเครื่องบริขาร ๑๐ สำรับ เพื่อถวายสวดมนต์ ยายเตรียมไว้ให้เราแล้ว จึงจัดพระสวดมนต์ขึ้นอีกสำรับหนึ่ง นิมนต์ตามชอบใจ เลือกเอาพระศิษย์หลวงเดิมของทูลกระหม่อมที่เป็นชั้นผู้น้อย รุ่งขึ้นเลี้ยงแต่เช้า ถวายบริขารแล้ว เปิดให้กลับไป นิมนต์พระราชาคณะผู้ใหญ่นั่งเฉพาะเวลารับกรมอีก ๑๐ รูป แล้วเลี้ยงเพล ฯ ก่อนหน้าวันรับกรม มีทำบุญที่พระปั้นหย่า โดยฐานขึ้นตำหนัก วันหนึ่ง ฯ ในวันรับกรม ตั้งพระแท่นมณฑลในพระอุโบสถหน้าที่บูชาสำหรับวัดออกมา หาได้ผูกพระแสงต่างๆ ที่เสาไม่ ประดิษฐานพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ ๔ เชิญพระสุพรรณบัฏที่จารึกไว้ก่อนแล้วมาตั้งบนนั้นด้วย

วันสวดมนต์ล้นเกล้าฯ เสด็จมาช่วยเป็นส่วนพระองค์ด้วย วันสรงและรับพระสุพรรณบัฏ พอจุดเทียนชัยข้างพระราชพิธีตรุษแล้ว โปรดให้เอารถหลวงรับพระราชาคณะผู้ใหญ่มาส่งที่วัดล่วงหน้า แล้วเสด็จพระราชดำเนินมาวัด ทรงเครื่องนมัสการและทรงประเคนไตรแพร ตามแบบควรจะเป็นไตรพิเศษ เราก็เคยได้รับพระราชทานเมื่อครั้งแปลหนังสือเป็นบาเรียน แต่ครั้งนี้เป็นไตรเกณฑ์จ่าย ออกมาผลัดผ้าครองสบงและอังสะ ขึ้นพระแท่นสรงแต่เราองค์เดียว เราสรงก่อน มีประโคม แล้วล้นเกล้าฯ พระราชทานน้ำพระพุทธมนต์ ด้วยพระเต้าและพระมหาสังข์ทักษิณษวรรต ทรงรดเพียงที่ไหล่ ต่อนั้น พระสงฆ์ พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีรดหรือถวายน้ำโดยลำดับ ฝ่ายพระ เสด็จพระอุปัชฌายะ สมเด็จพระวันรัต สมเด็จพระสังฆราช และเจ้าคุณพรหมมุนีแทนเจ้าคุณอาจารย์ผู้กำลังอาพาธ พระบรมวงศ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จอา และเจ้าพี่ฝ่ายหน้าทุกพระองค์ บรรดาที่เสด็จมาในเวลานั้น เสนาบดีทุกท่านบรรดามา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์อยู่ที่เมืองเพชรบุรี หาได้มาไม่ แต่เมื่อบวชได้ไปถวายบริขารที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เราสรงแล้วครองไตรใหม่มานั่งบนอาสนสงฆ์ในพระอุโบสถ หม่อมเจ้าประภากรก็เหมือนกัน ชุมนุมพระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาท

โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ อ่านประกาศดำเนินพระกระแสบรมราชโองการ ทรงสถาปนาเราเป็น กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เท้าความถึงเราได้รับราชการมาอย่างไร ทรงเห็นความดีและความสามารถของเราอย่างไร ถ้าอยู่ทำราชการจะเป็นเหตุไว้วางพระราชหฤทัยได้ ปรารภถึงพระราชปฏิญญาที่พระราชทานไว้แก่เรา ว่าบวชได้สามพรรษาจะทรงตั้งเป็นต่างกรม บัดนี้ก็ถึงกำหนด ได้ทรงเห็นปรีชาสามารถประกอบกับความรู้ทางโลก ทรงหวังพระราชหฤทัยว่า จะเป็นหลักในพระพุทธศาสนาต่อไปข้างหน้าได้ จึงทรงตั้งเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมยกย่องขึ้นไว้ในบัดนี้

ครั้นอ่านประกาศจบแล้ว มีประโคม ล้นเกล้าฯ พระราชทานพระสุพรรณบัฏ สัญญาบัตรตั้งเตจ้ากรมปลัดกรมสมุห์บัญชีใบ ๑ สัญญาบัตรตั้งฐานานุกรม ๘ รูป ๑ สัญญาบัตรพระครูปลัด ๑ พัดแฉกพื้นตาดขาวสลับเหลือง มีตราพระมหามงกุฎเป็นใจกลางหมายรัชกาล เทียบหีบหมากเสวยลงยาราชาวดีเครื่องยศเจ้านาย ยอดเห็นพระเกี้ยวยอด พัดรองตราพระเกี้ยวยอดด้ามงา สำหรับพระราชาคณะ ๑ บาตรถุงเข้มขาบฝาเชิงประดับมุก ๑ ย่ามหักทองขวาง ๑ ย่ามเยียรบับ ๑ เครื่องยศถมปัดสำรับใหญ่ ๑ สำรับ

พระราชทานสัญญาบัตรทรงตั้งหม่อมเจ้าพระประภากร เป็นหม่อมเจ้าพระราชาคณะมีสมญาขึ้นต้นอย่างนั้น แต่มีสร้อยว่า หม่อมเจ้าประภากรบวรวิสุทธิวงศ์ ได้รับพระราชทานพัดแฉกพื้นตาดสีมีตราครุฑประจำรัชกาลที่ ๒ เป็นใจกลาง เครื่องยศสำหรับพระราชาคณะ ต่างกรมใหญ่ผู้เป็นคฤหัสถ์ทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนและต้นไม้ทองเงินแด่ในหลวง และกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ถวายดอกไม้ธูปเทียนแด่เจ้านายผู้เจริญพระชนมายุกว่า แต่ต่างกรมพระไม่ได้ถวายอย่างนั้น เรายักถวายเป็นชิ้นสำหรับประดับดอกไม้ตั้งกลางโต๊ะ ที่ถวายล้นเกล้าฯ ทรงจบพระหัตถ์บูชาพระพุทธชินสีห์ เจ้านายถวายแต่ของแจก ครั้งนั้นยังแจกของมีราคามาก แจกตามชั้น พอเสร็จพิธีรับกรมก็พอเพล ล้นเกล้าฯ ทรงประเคนสำรับเจ้าภาพ และเสด็จประทับอยู่ตลอดเวลาพระฉันและอนุโมทนา ธรรมเนียมรับกรมที่อื่นเลี้ยงพระเสียก่อนเป็นแต่อนุโมทนาหน้าพระที่นั่ง เสด็จกลับแล้ว มีเวียนเทียนสมโภชพระสุพรรณบัฏแล้วเป็นเสร็จการ ฯ

เราพอใจจะบ่นถึงฤกษ์รับกรมเพิ่มอีก นอกจากไม่สะดวกดังกล่าวแล้ว เผอิญเมื่อวันสวดมนต์ เจ้าคุณอาจารย์ผู้อาพาธเสาะแสะมานั้น อาพาธเป็นธาตุเสียท้องร่วงมาในงานไม่ได้ ไม่ได้รดน้ำในเวลาสรง และไม่ได้อยู่ในเวลาตั้ง ขาดท่านผู้สำคัญไปรูปหนึ่ง เมื่อวันรับกรม ยายผู้มาดูการโรงครัวอยู่หน้าวัด เจ็บเป็นลม แต่เดชะบุญ เป็นเมื่อรับเสร็จและเสด็จกลับแล้ว ถ้าเลือกวันรุกเข้ามาจากนั้น แม้ดีไม่ถึงวันนั้น เจ้าคุณอาจารย์คงจักมาได้ ได้อาจารย์มาเข้าในพิธี เราถือว่าเป็นมงคลกว่าในวันฤกษ์งาม แต่ขาดท่านผู้สำคัญไปอย่างนี้ ฝ่ายยายนั้นเป็นลมเพราะทำธุระมากกระมัง เลื่อนวันเข้ามาจักคุ้มได้หรือไม่ หารู้ไม่ ฯ

เราเป็นกรมในครั้งนั้น เป็นที่ถูกใจของคนทุกเหล่า ในฝ่ายพระวงศ์ตั้งแต่ล้นเกล้าฯ ลงมา ในฝ่ายพระสงฆ์ตั้งแต่เสด็จพระอุปัชฌายะลงมา และพวกข้าราชการตลอดถึงคนสามัญ ต่างเรียกเรา ด้วยไม่ได้นัดหมาย แต่มาร่วมกันเข้าว่า “กรมหมื่น” หาออกชื่อไม่ เจ้าพี่เป็นกรมหมื่นก็มีแต่หาได้เรียกอย่างนี้ไม่ ภายหลังรู้ว่า กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ครั้งรัชกาลที่ ๑ เขาก็เรียกว่ากรมหมื่น ในเวลาแรกตั้งแผ่นดินใหม่ ต่างกรมเป็นกรมหมื่น มีแต่กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์องค์เดียว เขาจึงเรียกว่ากรมหมื่น ไม่ออกพระนามกระมัง ฯ

ในฝ่ายพระ ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยผู้เป็นศิษย์หลวงเดิมของทูลกระหม่อม มีความนิยมยินดีในเราโดยมาก สมปรารถนาที่ได้เราไว้สืบพระศาสนา ฯ ในพวกท่านผู้นิยมยินดีในเรานอกจากเสด็จพระอุปัชฌายะ สมเด็จพระวันรัต (พุทธสิริ) เป็นผู้เอาใจใส่ในเรา และเป็นธุระแก่เราเป็นอันมาก ตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นต่างกรมมาแล้ว เวลาเราอยู่วัดมกุฎกษัตริย์ มีการพระราชกุศลในวังที่ได้รับนิมนต์ เรามักเดินเข้าไป ท่านไปเรือ เวลากลับ ท่านเรียกเราลงเรือของท่าน ให้พายขึ้นน้ำเข้าคลองผดุงกรุงเกษม ไปส่งเราที่วัดมกุฎกษัตริย์ก่อน แล้วจึงเลยไปวัดโสมนัสวิหาร โดยปรกติท่านเข้าคลองรอบพระนครและคลองเล็ก ตรงไปถึงวัดโสมนัสวิหารทีเดียว เป็นอย่างนี้เสมอมา ไปพบกันในกิจนิมนต์ทั้งการหลวงการราษฎร์ เวลาอยู่ด้วยกันสองรูป ท่านพร่ำสอนการพระศาสนาเนืองๆ พอมีพระรูปอื่นเข้าไปอยู่เป็นที่สาม ท่านเลิกเสียเช่นนั้น เพื่อไว้หน้าเรา ถ้าท่ารู้ว่าเราไม่ผาสุกเมื่อใด เห็นหายาส่งมาให้เมื่อนั้น




สมเด็จพระวันรัต (พุทธสิริ)

คราวหนึ่งเราเป็นผู้ใหญ่ในคณะแล้ว ท่านอาพาธเป็นอัมพาตปลายลิ้นแข็งพูดไม่ชัด ถึงลงนอน เราไปเยี่ยมท่านแล้วกลับออกมาอยู่ที่เฉลียงหน้ากุฎี พูดกับพระวัดนั้นผู้ชอบกันถึงความยอกขัดของเราเกิดขึ้นเพราะหมอนวดไม่เป็น ชะรอยเสียงจะดัง ท่านได้ยินเข้า ทั้งเจ็บมากกว่าเราอย่างนั้น ขวนขวายสั่งพระให้เอาน้ำไพลกับการบูรมาทาให้ รู้สึกความเอื้อเฟื้อของท่านก็จริง แต่รู้สึกอายแก่ใจเหมือนกัน ว่าไปเยี่ยมไข้ท่านกลับทำให้ท่านกังวลถึงเรา ท่านถนอมเราเป็นอย่างยิ่งคล้ายเจ้าคุณอาจารย์ โดยที่สุดบางเวลาเราขุ่น รู้เข้า เลือกธรรมเขียนส่งมาปลอบ เราได้รับเมตตาและอุปการะของท่านอย่างนี้ ได้ถวายตัวเป็นศิษย์ ถ้าเราจักได้อยู่ในสำนักของท่านสักพรรษาหนึ่ง จักอาจเชื่อมสองสำนักได้ดีกว่านี้อีก ฯ

อ้างอิง : รัตนโกสินทร์ ๒๒๕ และ พระประวัติตรัสเล่า ๑ ในหนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน และ หนังสือ "พระประวัติตรัสเล่า" มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

หมายเหตุ หนังสือ พระประวัติตรัสเล่า เป็น พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส(เริ่มทรงพระนิพนธ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ )หนังสือเล่มนี้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ใน "โครงการคัดเลือกหนังสือดี ๑๐๐ ปี ๑๐๐ เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน" ประเภท "ศาสนาและปรัชญา" เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑

พระประวัติตรัสเล่าเล่มนี้ ทรงนิพนธ์ไว้เพื่อทรงสอนศิษย์ให้ละชั่วและประพฤติดี ทรงแสดงถึงเหตุชั่วและเหตุดี ที่ทรงประสพมาแล้วโดยยกพระองค์ขึ้นเป็นนิทัสนอุทาหรณ์ประทานโอวาทแก่ศิษยานุศิษย์ปรากฏในหนังสือตลอดทั้งเล่ม ซึ่งเป็นประโยชน์ในทางประพฤติปฏิบัติมา นอกจากนี้ยังทรงเล่าถึงระเบียบการ ราชประเพณี ขนบธรรมเนียมของเจ้านายและเหตุการณ์ทั่วไปๆ ไปของบ้านเมืองทรงเทียบเคียงประเพณีของเจ้านายกับประเพณีทางพระพุทธศาสนาเป็นต้น เมื่อพูดถึงราชาศัพท์แล้ว หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือที่อำนวยประโยชน์ทั้งทางด้านจารีตประเพณี ด้านประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์และความรู้ทั่วไป

หนังสือ "พระประวัติตรัสเล่า" นี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงนิพนธ์ไว้ ตามลายพระหัตถ์ที่เป็นต้นฉบับว่า "เริ่มทรงนิพนธ์ไว้ ตามลายพระหัตถ์ที่เป็นต้นฉบับว่า "เริ่มทรงนิพนธ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ พฤษภาคม ๒๔๕๘" เป็นปีที่ ๕๖ แห่งพระชนมายุ พระองค์ทรงเล่าตั้งแต่ประสูติจนถึงทรงรับพระสุพรรณบัฏเป็นกรมหมื่นฯและเป็นพระราชาคณะ คือตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๐๓ ถึง พ.ศ.๒๔๒๔ รวม ๒๒ ปี คือทรงนิพนธ์ไว้เพียงพระชนมายุ ๒๒ ปีเท่านั้น หลังจากนั้นมาจนถึง พ.ศ.๒๔๖๔ ซึ่งเป็นปีสิ้นพระชนม์อีก ๔๑ ปี ไม่ได้ทรงนิพนธ์ไว้

การจัดพิมพ์ หนังสือ "พระประวัติตรัสเล่า" เล่มนี้ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ ในงานเสด็จพระราชดำเนินเปิดตึกมนุษยนาควิทยาทาน ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๙๔ และพิมพ์ครั้งนี้เป้นครั้งที่ ๓ ซึ่งจัดพิมพ์และจำหน่ายโดย มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หนังสือเล่มนี้มีขนาด ๒๑ x ๒๙.๕๐ เซนติเมตร ความหนา ๑๒๐ หน้า พิมพ์สี่สี มีภาพเก่าหายากมากถึง ๑๐๕ ภาพ ประกอบตลอดทั้งเล่ม
คะแนน
สามารถให้คะแนนได้เฉพาะสมาชิกเท่านั้น.

โปรดเข้าสู่ระบบก่อนการให้คะแนน.

ยังไม่มีการให้คะแนน.
แสดงผลในเวลา: 0.01 วินาที 119,403,447 ผู้เยี่ยมชม