พระประวัติ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พระองค์ผู้ทรงเริ่มต้นการสอบธรรมศึกษา
โพสโดย webmaster เมื่อ December 09 2009 22:13:38



พระประวัติ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภุชงค์) วัดราชบพิธฯ
สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระองค์ผู้ทรงเริ่มต้นการสอบธรรมศึกษา


พระประวัติเบื้องต้น

สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าภุชงค์ เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้นหนึ่ง กรมขุนเจริญผลภูลสวัสดิ์ กับ หม่อมปุ่น ชุมพูนุท ประสูติ เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๒ เมื่อพระชนมายุ ๑๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้ตามเสด็จคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ จนถึงเมืองสิงคโปร์ แล้วโปรดให้อยู่เล่าเรียนในโรงเรียนแรฟฟัล ณ เมือง สิงคโปร์นั้น พร้อมกับหม่อมเจ้าอื่นๆ อีกราว ๒๐ องค์ ทรงเล่าเรียนอยู่ที่เมืองสิงคโปร์เป็นเวลา ๙ เดือน เมื่อทางกรุงเทพฯ ได้มีการเปิดโรงเรียนภาษาอังกฤษสำหรับเจ้านายขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ จึงโปรดให้กลับมาเล่าเรียนต่อที่กรุงเทพฯ

ทรงผนวช

พ.ศ. ๒๔๑๖ พระชนมายุ ๑๔ พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ขณะทรงดำรงพระยศกรมหมื่นเป็นพระอุปัชฌาย์ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร แต่ยังทรงเป็นหม่อมเจ้าพระราชาคณะ เป็นพระอาจารย์ เมื่อทรงผนวชแล้วเสด็จอยู่ที่วัดราชบพิธ ทรงเล่าเรียนพระปริยัติธรรมต่อมาจนถึงพระชนมายุครบอุปสมบท จึงทรงอุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อทรงอุปสมบทแล้วก็เสด็จประทับ ณ วัดราชบพิธตามเดิม ได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรม ๒ ครั้ง ได้เป็นเปรียญ ๕ ประโยค

พ.ศ. ๒๔๓๐ เมื่อทรงอุปสมบทได้ ๘ พรรษา ทรงพระกรุณาโปรดตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระสถาพรพิริยพรต

ทรงเป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๔๓๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระยศ กรมหมื่น ได้ทรงพระดำริจัดตั้งสถาบันการศึกษาแบบใหม่สำหรับภิกษุสามเณร ตลอดถึงจัดตั้งโรงเรียนสำหรับกุลบุตรขึ้น เรียกว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์เฉลิมพระนามาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อจัดการศึกษาสำหรับภิกษุสามเณรและกุลบุตรให้ทันสมัย และเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ขณะทรงดำรงพระสมณศักดิ์ที่ พระสถาพรพิริยพรต ก็ทรงเป็นกรรมการพระองค์หนึ่งในกรรมการชุดแรกของมหามกุฏราชวิทยาลัย นับว่าทรงเป็นผู้ร่วมบุกเบิกกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัยมาแต่เริ่มต้น และได้ทรงเริ่มมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัยให้เจริญก้าวหน้ามาจนตลอดพระชนม์ชีพ ของพระองค์

พ.ศ. ๒๔๓๘ ทรงเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่เสมอชั้นเทพ

พ.ศ. ๒๔๔๒ ทรงเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมปาโมกข์ในราชทินนามเดิม

ทรงครองวัดราชบพิธ

พ.ศ. ๒๔๔๔ พระองค์เจ้าอรุณนิภาคุณากร เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ สิ้นพระชนม์ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ทรงครองวัดราชบพิธสืบต่อมา นับเป็นเจ้าอาวาสพระองค์ที่ ๒

พ.ศ. ๒๔๔๙ ทรงสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้ารองที่ พระพรหมมุนี เจ้าคณะรองในคณะกลาง ในราชทินนามเดิมพร้อมทั้งทรงสถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า

พ.ศ. ๒๔๕๓ ในรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าคณะใหญ่คณะกลาง

ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

พ.ศ. ๒๔๖๔ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๔๖๔ ครั้นถึงวันที่ ๒๐ สิหาคม ๒๔๖๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ และทรงสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลสังฆปริณายก

ถึง พ.ศ. ๒๔๖๙ ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศเป็น กรมหลวง

คำเรียกตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมี ๓ อย่าง

เมื่อทรงสถาปนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็น สมเด็จสกลสังฆปริณายก ประธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑลทั่วพระราชอาณาจักร นั้น โปรดสถาปนาคำสำหรับเรียกตำแหน่งนี้ว่า “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” ซึ่งปรากฏพระนามนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในคราวนี้ ฉะนั้น จึงได้มีคำนำพระนามสำหรับตำแหน่ง สมเด็จสกลสังฆปริณายก หรือ สมเด็จสกลมหาสังฆปริณายก เป็น ๓ อย่างเป็นธรรมเนียมสืบมา คือ

เจ้านายชั้นสูงผู้ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จสกลสังฆปริณายก หรือ สมเด็จพระสังฆราช มีคำนำพระนามว่า “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า มีชื่อเรียกเป็นพิเศษว่า “มหาสมณุตมาภิเษก” เจ้านายผู้ทรงได้รับถวายมหาสมณุตมาภิเษกเท่าที่ปรากฏมา เป็นชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงพระยศสูงกว่า สมเด็จพระสังฆราชทั่วไป ทรงเศวตฉัตร ๕ ชั้น เกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๖ เมื่อทรงถวายมหาสมณุตมาภิเษกแด่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงโปรดสถาปนาเป็น สมเด็จพระสกลสังฆปริณายก หรือสมเด็จพระสังฆราช มีคำนำพระนามว่า “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” ซึ่งมีอยู่ ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวร สิริวัฒน์ (พระนามเดิมหม่อมเจ้าภุชงค์) และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (พระนามเดิม หม่อมราชวงศ์ ชื่น นภวงศ์) สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงพระยศสูงกว่าสมเด็จพระสังฆราชทั่วไป ทรงฉัตร ๕ ชั้น พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงโปรดสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เท่าที่ปรากฏมา เป็นชั้นหม่อมเจ้าลงมา เกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๖ เช่นกัน โดยทรงสถาปนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ในตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เป็นสมเด็จพระองค์แรก

ท่านผู้ได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จสกลสังฆปริณายก ที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ เรียกว่า “สมเด็จพระสังฆราช” ซึ่งมีมาแต่โบราณจวบจนปัจจุบัน ทรงฉัตร ๓ ชั้น

สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า หรือสมเด็จพระสังฆราชเจ้านั้น มีพระนามเฉพาะสำหรับแต่ละพระองค์ไป เช่น กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เป็นต้น แต่สำรับผู้ที่มิใช่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราชนั้น มีพระนามสำหรับตำแหน่งเหมือนกันทุกพระองค์มาแต่โบราณ คือ “สมเด็จพระอริยวงษญาณ” ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขเป็น “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” ดังที่ปรากฏสืบมาจนปัจจุบัน

อนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช ผู้มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ แต่มีพระนามสำหรับตำแหน่งเป็นพิเศษ ไม่ใช้พระนามว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” มีเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น คือ “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” พระองค์ปัจจุบัน ซึ่ง เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย

มหามกุฏราชวิทยาลัยซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระดำริจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ เพื่อเป็นสถานศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนานั้น ได้ดำเนินการกิจการมาเป็นลำดับโดยต่อเนื่อง โดยระยะแรกพระเถรานุเถระในคณะธรรมยุตผู้เป็นกรรมการ ได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นนายกกรรมการระยะ ๑ ปี การบริหารกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ดำเนินมาในลักษณะนี้จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของมหามกุฏฯ การผลัดเปลี่ยนกันเป็นนายกกรรมการระหว่างการไม่เป็นการสะดวก จึงตกเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตต้องได้รับภาระเป็นนายกกรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบมาจนปัจจุบัน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ได้ทรงดำรงตำแหน่งนายกกรรมการมหามกุฏฯ นั้น ได้โปรดให้จัดตั้ง “มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย” ขึ้น เพื่อนำดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินของมหามกุฏฯ มาช่วยบำรุงอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรมและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังจากที่ได้ตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยมาได้ ๔๐ ปี นับเป็นพัฒนาการขั้นที่ ๒ ของมหามกุฏราชวิทยาลัย สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ จึงทรงเป็นนายกกรรมการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นพระองค์แรก

งานนิพนธ์

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ฯ ทรงมีพระปรีชาสามารถในทางรจนา นับได้ว่าทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญพระองค์หนึ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงพระนิพนธ์ตำรับตำรา และหนังสือสำคัญทางพระพุทธศาสนาไว้มาก เช่นพระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาหรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย มหานิบาตชาดก ต้นบัญญัติ สามเณรสิกขา เป็นต้น ซึ่งพระนิพนธ์เหล่านี้ยังได้ใช้เป็นคู่มือในการศึกษาภาษาบาลีและศึกษาพระพุทธศาสนาของภิกษุสามเณรและ บุคคลทั่วไปอย่างแพร่หลายอยู่จนบัดนี้

พระอวสานกาล

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ทรงประชวรด้วยพระโรคเส้นพระโลหิตในกระเพาะพระบังคลเบาพิการ ทำให้พระบังคลเบาเป็นโลหิต สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ สิริรวมพระชนมายุได้ ๗๘ พรรษา ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ๑๖ ปี

อ้างอิง : ย่อความจาก "ธรรมจักษุ" นิตยสารทางพระพุทธศาสนารายเดือน จัดทำโดย มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์