๒ ล้านดวงใจ….สอบธรรม....เพื่อในหลวง
โพสโดย phrato เมื่อ October 30 2009 12:46:53
๒ ล้านดวงใจ….สอบธรรม....เพื่อในหลวง

โดย พระพจนารถ ปภาโส
รองหัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผน
สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง



         “ ประเทศใด มีพลเมืองกอปรด้วยธรรมาภิบาล ประเทศนั้น ย่อมมีแต่ความวัฒนาสถาพร ”

         ประเทศไทย เป็นประเทศหนึ่งที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน จนพุทธธรรมได้ถูกปรับประยุกต์เข้าสู่วัฒนธรรมประเพณี และพัฒนาจนเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย

         ความใฝ่ใจในการศึกษาพุทธธรรมของคนไทย ถูกปลูกฝังมาแต่ครั้งพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงนำพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท มาเป็นหลักธรรมภิบาลในการปกครองประเทศ ข้าราชการที่ผ่านการศึกษาพุทธธรรม จึงเป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมที่งดงาม สามารถสนองพระเดชพระคุณ บุรพกษัตริย์ ให้ทรงบริหารราชการแผ่นดิน นำความผาสุกให้เกิดแก่ผู้อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร

         ความวิบัติของประเทศไทย ตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา ล้วนเกิดขึ้นจากข้าราชบริพารที่ไม่สามารถน้อมนำพุทธธรรมมาสู่วิถีการดำเนินชีวิตของตน ดำรงตนเป็นผู้เต็มไปด้วยความโลกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เขาเหล่านั้นล้วนสร้างหายนะให้เกิดขึ้นแก่ประเทศไทย การเสียกรุงศรีอยุธยาทั้ง ๒ ครั้ง เป็นตัวอย่างที่เด่นชัด แม้ขณะปัจจุบัน บุคคลที่สร้างหายนะให้แก่ประเทศไทย ก็คือคนที่เป็นข้าราชการ ผู้ห่างไกลจากพุทธธรรม เช่นกัน

         การสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในกมลสันดานของคนไทย เพื่อสร้างคนไทยที่มีคุณธรรมและจริยธรรม ที่จะร่วมสามัคคีธรรมกัน ในการสร้างสรรค์ประเทศไทยให้มีความวัฒนาสถาพร จึงเป็นหน้าที่ของคณะสงฆ์ ผู้เป็นศาสนทายาทสืบทอดพุทธธรรมให้ดำรงสืบมา

         แต่เดิมการสอนพุทธธรรม เป็นการสอนตามคัมภีร์ ตามภูมิความรู้ของพระสงฆ์ ผู้เป็นครูอาจารย์ คุณวุฒิของพระสงฆ์ผู้เป็นครูอาจารย์ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการถ่ายทอดพุทธธรรมเข้าสู่สามัญ-สำนึกของศิษย์ ความหลากหลายในการอธิบายพุทธธรรม จึงเป็นเหตุก่อให้เกิดความผิดเพี้ยนในการอธิบายพุทธธรรม และนำให้เกิดการนำศาสตร์อื่นเข้ามาสู่วงวัด

         ด้วยตระหนักถึงผลเสียหายอันจักมีขึ้นได้ในกาลต่อมา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา-วชิรญาณวโรรส จึงทรงจัดหลักสูตรสำหรับสอนภิกษุสามเณรขึ้น โดยทรงคัดเนื้อหาข้อสำคัญในพระไตรปิฎก มาเป็นหลักสูตร และทรงพัฒนาหลักสูตรนั้นเป็นนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก ตามลำดับ เมื่อการเรียนการสอนในหลักสูตรนักธรรมแพร่หลายไปทั่วพระราชอาณาจักร เป็นเหตุนำให้ฆราวาสผู้ใฝ่ใจในการศึกษาพุทธธรรม ได้นำตนเข้าศึกษาหลักสูตรนักธรรมตามอารามต่างๆ และได้มีการร้องขอให้มหาเถรสมาคม จัดสอบความรู้ของตนด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงอนุมัติให้มีการจัดหลักสูตรธรรมศึกษาสำหรับฆราวาสขึ้น และให้แม่กองธรรมสนามหลวงจัดสอบความรู้ฆราวาส ตามหลักสูตรเป็นครั้งแรกในปีการศึกษาพุทธศักราช ๒๔๗๒ การเรียนการสอนธรรมศึกษาได้ขยายไปทั่วประเทศ ทำให้ปริมาณนักเรียนธรรมศึกษา เพิ่มขึ้นทุกปี

         ในปีการศึกษา ๒๕๕๒ มีนักเรียนธรรมศึกษารวมทั่วประเทศ ๑,๙๐๖,๘๗๓ คน แบ่งเป็น ธรรมศึกษาชั้นตรี ๑,๑๒๓,๖๒๓ คน ธรรมศึกษาชั้นโท ๕๙๖,๒๗๔ คน และธรรมศึกษาชั้นเอก ๑๘๖,๙๗๖ คน โดยมีพระสงฆ์รับเป็นครูสอนให้ความรู้พุทธธรรม ตามหลักสูตรที่มหาเถรสมาคมกำหนด

         มหาเถรสมาคม มีมติที่ ๓๓๔/๒๕๕๒ กำหนดวันสอบธรรมสนามหลวง ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๒ พร้อมกันทั่วพระราชอาณาจักร ดังนี้

         ๑. นักธรรมชั้นตรี กำหนดสอบ วันที่ ๒๘ – ๒๙ – ๓๐ กันยายน – ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒

         ๒. นักธรรมชั้นโท – เอก กำหนดสอบ วันที่ ๔ – ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

         ๓. ธรรมศึกษาทุกชั้น กำหนดสอบ วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

         การสอบธรรมสนามหลวง เป็นการสอบความรู้ที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย สมเด็จพระ-สังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดให้มีการสอบธรรมสนามหลวง ตามคำแนะนำของแม่กอง-ธรรมสนามหลวง ที่เสนอผ่านมหาเถรสมาคม

         การสอบธรรมสนามหลวง ปีการศึกษา ๒๕๕๒ ใช้สนามสอบทั่วประเทศ ๓,๗๘๕ สนาม ซึ่งใช้โรงเรียนเป็นสนามสอบ ๒,๔๔๓ แห่ง วัด ๑,๑๒๙ แห่ง สถานที่ของกรมราชทัณฑ์ ๑๓๔ แห่ง สถาบันอุดมศึกษา ๔๑ แห่ง สถาบันอาชีวศึกษา ๓๓ แห่ง และสถาบันเอกชน ๕ แห่ง

         จำนวนนักเรียนธรรมศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นในทุกปี ยังไม่สามารถที่จะกำหนดได้ว่านักเรียนเหล่านี้เป็นผู้มีธรรมาภิบาล ที่สามารถพัฒนาองค์ความรู้ในสาขาวิชาชีพ ควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิตของตนตามหลักพุทธธรรม เพราะการเรียนธรรมศึกษาตามหลักสูตรของคณะสงฆ์นั้น เป็นเพียงการเรียนรู้พุทธธรรมขั้นพื้นฐานอันควรแก่การดำเนินชีวิต ผลของการเรียนธรรมศึกษาที่แท้จริง มิได้อยู่ที่ใบประกาศนียบัตร ที่คณะสงฆ์มอบให้นักเรียนผู้สอบได้ตามเกณฑ์ของคณะสงฆ์ แต่อยู่ที่การนำหลักพุทธธรรมไปประยุกต์ให้เข้ากับการดำเนินชีวิตของตน จนได้รับความสำเร็จในหน้าที่การงาน ดำรงตนให้ดำเนินชีวิตอยู่ใน หลักธรรมาภิบาล ทั้ง ๖ ประการคือ หลักนิติธรรม , หลักคุณธรรม , หลักความโปร่งใส , หลักความมีส่วนร่วม , หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า ดำรงตนเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ ศาสนิกชนที่ดีของพระศาสนา และ พสกนิกรผู้เปี่ยมล้นไปด้วยความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

         การที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช นำให้พสกนิกรผู้จงรักภักดีขวนขวายบำเพ็ญกุศลกิจเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้ทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็วพลัน มหาเถรสมาคม อันเป็นองค์ปกครองคณะสงฆ์ ได้มีมติให้ทุกวัด เจริญจิตภาวนาถวายเป็นพระราชกุศล ภายหลังการทำวัตรเช้า – เย็น

         แม้กระนั้นก็ตาม กาลเวลาที่ทรงประทับรักษาพระอาการที่ยาวนาน ได้ก่อให้เกิดความ อ่อนไหวในจิตใจของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า เป็นเหตุให้พาลชน คนมีกิเลส ได้สร้างสถานการณ์โดยการปล่อยความลือเกี่ยวกับพระองค์ ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดหุ้น และความกังวลใจจนต้องโทรศัพท์ถามความจริงของคนไทยหลายคนทั่วประเทศ นี่คือผลแห่งการขาดธรรมาภิบาลของ คนปล่อยข่าวลือ และการขาดพุทธธรรมในจิตใจของประชาชนที่อ่อนไหวไปกับข่าวลือ

         ข่าวลือได้ถูกทำให้สงบระงับไปด้วยกระแสพระดำรัสใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง จุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่รับสังเล่าเรื่องพระอาการประชวรกับข้าราชการและนักเรียนไทย ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสหพันธรัฐเยอรมัน และด้วยข่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ประทับรถเข็นไฟฟ้าไปยังตึกสยามินทร์ ถวายราชสักการะพระบรมรูปหล่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอาคาร เนื่องในโอกาสวัน ปิยมหาราช วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๒

         สถานการณ์ข่าวลือ อันเป็นการบ่อนทำลายประเทศชาติ เช่นนี้ ทำให้คณะสงฆ์ได้ตระหนักถึงภารธุระในการเผยแผ่พุทธธรรม ให้เจริญงอกงามในกมลสันดานของคนไทย งานสอนธรรมศึกษาจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนมีนักเรียนทั่วประเทศเกือบ ๒ ล้านคน

         ในระหว่างวันที่ ๓ – ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ นี้ มีภิกษุสามเณรเข้าสอบนักธรรมชั้นโท – เอก จำนวน ๑๗๗,๒๔๘ รูป นักเรียนสอบธรรมศึกษา ๑,๙๐๖,๘๗๓ คน รวมทั้งสิ้น ๒,๐๘๔,๑๒๑ รูป / คน เป็นมงคลกาลแห่งการทดสอบภูมิความรู้พุทธธรรมของนักเรียนที่ได้ศึกษามาตลอดหลักสูตร เป็นมงคลกาลแห่งสามัคคีในการบำเพ็ญกุศลของพุทธบริษัท ที่สนับสนุนการสอบธรรมสนามหลวงให้ดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย เป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ที่ผลานิสงส์ดลให้เกิดความวัฒนาสถาพรในประเทศไทย กอปรกับเป็นมงคลกาลที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกจาก โรงพยาบาลศิริราช ไปประทับรักษาพระวรกาย ณ ที่ประทับ

         เพื่อให้สอบธรรมสนามหลวงครั้งนี้ ได้เป็นมหากุศล จึงขอเชิญชวนให้นักเรียนผู้เข้าสอบธรรมสนามหลวงทุกรูป/คน และพุทธบริษัทที่ร่วมกันดำเนินการสอบธรรมสนามหลวง จงตั้งจิตอธิษฐาน น้อมนำกุศลผลบุญอันพึงมีพึงเป็น น้อมถวายเป็นพระราชกุศล ดลบันดาลให้ พระบาท-สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงเจริญพระราชสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลพระชนม-สุขทุกประการ สถิตเป็นมิ่งขวัญปกเกล้าปกกระหม่อมเราทั้งหลายตลอดกาลนานเทอญ.

         นี่จึงสมด้วยคำกล่าว ณ เบื้องต้นว่า “ สองล้านดวงใจ...สอบธรรม...เพื่อในหลวง ”







๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๔.๐๐ น.
พิมพ์เผยแผ่ในหนังสือพิมพ์ธงธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒