×

สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง

สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง

อาคารหอสมุดมหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร

เลขที่ ๒๘๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐

โทร. ๐ ๒๒๘๐ ๗๖๘๒, ๐ ๒๖๒๙ ๐๙๖๑-๓, ๐ ๒๖๒๙ ๔๓๐๐-๔

โทรสาร. ๐-๒๖๒๙-๒๑๔๒

Website: www.gongtham.net  Email: mgth.data@gmail.com  Line: @gongtham

×

คำนำ

          เรื่อง ประวัตินักธรรม นี้ ได้พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นมุทิตาบรรณาการ แด่พระเถรานุเถระ ในสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ที่ได้รับพระราชทานสถาปนา เลื่อน และตั้งสมณศักดิ์ เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ในการพิมพ์ครั้งนั้น เนื้อหาค่อนข้างสั้น ยังไม่ครบถ้วนบริบูรณ์

          ในการพิมพ์ครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ ๒ สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง จึงได้ให้ท่านผู้เกี่ยวข้องช่วยกันเรียบเรียงเนื้อหาส่วนที่ยังขาดไป ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น พร้อมทั้งได้นำเอาประกาศต่าง ๆ เกี่ยวกับนักธรรมตั้งแต่เริ่มแรก และ รายงานการสอบความรู้ธรรมและบาลีของสนามหลวง ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มารวมพิมพ์ไว้ด้วย เพื่อจักเป็นประโยชน์แก่การศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจสืบไป

          โดยเฉพาะประกาศและรายงานการสอบความรู้ธรรมและบาลีของสนามหลวง ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ นั้น ได้แสดงให้เห็นว่า พระองค์มีพระดำริและทรงพัฒนาการศึกษานักธรรมมาอย่างไร และทรงทุ่มเทพระพละกำลังทุกด้านเพื่อพัฒนาการศึกษาของคณะสงฆ์ เพื่อความรุ่งเรืองของพระศาสนาและชาติบ้านเมืองเพียงไร

          สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ขออนุโมทนาขอบคุณท่านผู้เรียบเรียง เนื้อหาส่วนต่าง ๆ ของเรื่อง ประวัตินักธรรม ที่พิมพ์ในครั้งนี้ คือ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน พระเทพกิตติโมลี (ทองสูรย์ สุริยโชโต) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และ รศ.สุเชาวน์ พลอยชุม ซึ่งทำให้เรื่องประวัตินักธรรมมีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง

เมษายน ๒๕๕๖

×

สืบสานพระปณิธาน

          เป็นที่ยอมรับกันดีว่า พระพุทธศาสนาแบบที่สืบต่อมาไม่ขาดสาย โดยรักษาพระธรรมวินัยดั้งเดิม ที่พระพุทธเจ้าตรัสและทรงบัญญัติไว้ได้แม่นยำและมั่นคง อย่างน้อยใกล้เคียงที่สุด โดยคงอยู่เป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกันในทุกถิ่นแดน เป็นเอกภาพ คือ พระพุทธศาสนาเถรวาท

          ในอีกระดับหนึ่ง ก็รู้กันว่า ในบรรดาดินแดนของประชาชนที่เรียกว่าประเทศพระพุทธศาสนาเถรวาททั้งหลาย ประเทศไทยเป็นถิ่นเถรวาทที่พุทธบริษัทถือหลักความประพฤติปฏิบัติ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีในทางพระพุทธศาสนาลงตัวเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้กระทั่งธรรมเนียมปลีกย่อยในวิถีชีวิตและกิจทางสังคม ดังเช่น บรรดาพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศไทยปลงผมในวันเดียวกัน ใช้ผ้ากราบรับประเคนเมื่อสตรีถวายไทยธรรม สวดมนต์บทและแบบเดียวกันในพิธีกรรมอย่างนั้น ๆ ลงกันเป็นมาตรฐาน มีเอกภาพมากที่สุด

          ความเป็นเอกภาพ มีมาตรฐานอันหนึ่ง อยู่ในระบบแบบแผนอันเดียวกัน ที่กล่าวมานั้น ในขั้นปรากฏการณ์พื้นฐาน เกิดขึ้นจากการที่ได้มีระบบการปกครองคณะสงฆ์ซึ่งรวมศูนย์อันเดียว โดยมีกฎหมายของรัฐออกมาค้ำจุนหนุนรองรับพระธรรมวินัย คุมให้พลเมืองคือคนของรัฐมีสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบทางพระศาสนา โดยมิให้เป็นการเสียหายต่อพระธรรมวินัย แต่ให้เกื้อกูลหนุนพระธรรมวินัยนั้น ตามมาตรฐานอันหนึ่งอันเดียวกัน

          อย่างไรก็ดี พระพุทธศาสนาในประเทศไทย มิใช่มีเพียงเอกภาพทางการปกครองเท่านั้น แต่มีเอกภาพทางด้านการศึกษาด้วย ดังที่พุทธบริษัทมีระบบการศึกษาพระปริยัติธรรมสนามหลวง ทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี ที่มวลพุทธบริษัทสามารถเข้าถึงได้เสมอกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวทั่วทั้งประเทศ

          ในการศึกษาพระปริยัติธรรมสนามหลวงนั้น ระบบการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมเป็นส่วนที่ทั่วถึงแก่พุทธบริษัททั้งมวล โดยมีทั้งฝ่ายนักธรรมสำหรับพระภิกษุสามเณร และฝ่ายธรรมศึกษาสำหรับอุบาสกอุบาสิกา ตั้งต้นแต่เริ่มเรียนรู้ พระพุทธศาสนา จึงเป็นองค์แห่งความเป็นเอกภาพอย่างเต็มพื้นฐาน ครั้นเล่าเรียนสูงขึ้นไป ก็มีพระปริยัติธรรมแผนกบาลีมาต่อให้ขึ้นไปถึงยอดที่รวมเป็นหนึ่งเดียว จึงเป็นระบบที่มีเอกภาพอย่างครบรอบสมบูรณ์ในตัว

          ย้อนหลังไปในศตวรรษก่อนหน้านี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส นอกจากทรงเป็นพระประมุขในการปกครองคณะสงฆ์แล้ว ก็ได้ทรงเป็นผู้นำในการบริหารการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยทรงจัดวางระบบการศึกษาพระปริยัติธรรม ที่จะนำให้พุทธบริษัททั่วประเทศไทย มีเอกภาพทางการศึกษา ดังที่ในด้านพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ได้ทรงให้นำวิธีแปลโดยเขียน มาใช้แทนการสอบแปลปากเปล่า ในการสอบบาลีสนามหลวง เป็นครั้งแรก เริ่มด้วยประโยค ๑-๒ ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ จนครบถึงประโยค ๙ ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ ทำให้พระปริยัติธรรมแผนกบาลีมีความเป็นสากล ตามความหมาย ทั้งในแง่ที่ว่าเสมอกับมาตรฐานที่ยอมรับและปฏิบัติในถิ่นที่ยุคสมัยอันได้เจริญมาถึงปัจจุบัน และในแง่ว่าจะสามารถแผ่ขยายออกไปได้อย่างทั่วถึงแก่มวลพุทธศาสนิกชนสืบต่อไป

          อย่างไรก็ตาม พระปริยัติธรรมแผนกบาลีนั้น พูดอย่างภาษาสามัญว่า เป็นการศึกษาส่วนยอดส่วนปลาย ซึ่งมวลชนเข้าถึงไม่ทั่วกัน สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงมีพระประสงค์จะให้มวลพุทธบริษัททั่วประเทศ ตั้งแต่ในถิ่นชนบทห่างไกล และเริ่มแต่วัยเยาว์ มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาพระพุทธศาสนา จึงได้ทรงจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมขึ้นใหม่อีกหลักสูตรหนึ่งโดยเมื่อเริ่มแรกเรียกว่า "องค์ของสามเณรรู้ธรรม" ซึ่งได้พัฒนาต่อมา จนเข้ารูปลงตัวเป็น "นักธรรม" และเกิดมีสนามหลวงแผนกธรรมที่มีอายุครบ ๑๐๐ ปีเต็ม ๑ ศตวรรษในบัดนี้ (พ.ศ. ๒๕๕๕)

          สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสจึงทรงมีพระคุณูปการยิ่งใหญ่ ที่ได้ทรงบริหารจัดอำนวยการให้คณะสงฆ์ไทยและประเทศไทย มีระบบการศึกษาพระพุทธศาสนาที่จะแผ่ขยายไปให้ทั่วถึงอย่างเป็นเอกภาพ

          แท้จริงนั้น ในพระพุทธศาสนานี้ เอกภาพทางการศึกษานี่แหละ เป็นรากฐานและเป็นสาระของเอกภาพทางการปกครอง

          เรามีการปกครองคณะสงฆ์เพื่ออะไร? และได้อย่างไร? ในประเทศไทยนี้ถือว่ารัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา และรัฐได้ทำหน้าที่นี้ถึงขั้นที่ว่าได้ตรากฎหมายฝ่ายบ้านเมืองออกมาเอื้ออำนวยความสะดวกในการที่จะบริหารกิจการพระพุทธศาสนา เหมือนกับจัดเตรียมพื้นที่ พร้อมทั้งระบบการคุ้มครอง ป้องกัน และจัดหาอุปกรณ์ไว้ให้ เมื่อคณะสงฆ์จะบริหารงานพระศาสนา ก็จัดกิจการของตนบนพื้นที่นั้น และอาศัยอุปกรณ์ที่รัฐจัดเตรียมถวายไว้นั้น ดำเนินกิจการของพระศาสนาสืบไป

          ปกครองคณะสงฆ์เพื่ออะไร? ตอบได้ง่าย ๆ ตรง ๆ ว่า เพื่อควบคุมดูแลให้ภิกษุสามเณรอยู่ในพระธรรมวินัย

          ปกครองคณะสงฆ์ได้อย่างไร? ก็ตอบง่าย ๆ ตรง ๆ ว่า ผู้ปกครองต้องรู้ว่าพระธรรมวินัยมีว่าอย่างไร

          แม้ถึงภิกษุสามเณรที่จะให้อยู่ในพระธรรมวินัยนั้น จะอยู่ได้ด้วยดี ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจพระธรรมวินัย

          เป็นอันว่า ทั้งพระเถระผู้ปกครอง และพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ใต้ปกครอง ต้องรู้พระธรรมวินัย และการที่จะรู้เข้าใจพระธรรมวินัยนั้นได้ ก็ด้วยมีการศึกษา

          ดังนั้น เมื่อว่ากันให้ถึงสาระแล้ว การศึกษาพระปริยัติธรรม จึงเป็นทั้งรากฐานและเป็นจุดหมายของการปกครองคณะสงฆ์ และเอกภาพทางการศึกษา ก็เป็นเนื้อหาสาระของเอกภาพทางการปกครอง ถ้าไม่มีการศึกษา การปกครองก็จะมีเอกภาพเพียงโดยรูปแบบ และในที่สุดก็อาจจะกลายเป็นมิใช่การปกครองในพระพุทธศาสนาไปก็ได้

          ในการปกครองคณะสงฆ์นั้น พระธรรมวินัยเป็นหลักยึดถือร่วมกัน ทั้งของพระเถระผู้ปกครอง และของบรรดาภิกษุสามเณรผู้อยู่ใต้ปกครอง ตลอดถึงพุทธศาสนิกชนทั้งปวง ผู้ดำเนินตาม และแน่นอนว่า พระธรรมวินัยนั้น จะเข้าถึงได้ด้วยการศึกษา

          โดยนัยนี้ กิจการบริหารการปกครองคณะสงฆ์และการดำเนินงานพระพุทธศาสนาทุกอย่างทุกประการ มีจุดรวมอยู่ที่การศึกษา หรือมีการศึกษาเป็นแกนนั่นเอง โดยเฉพาะการปกครองคณะสงฆ์ย่อมมุ่งที่จะให้พระภิกษุสามเณรตลอดจนมวลพุทธบริษัทมีการศึกษาที่จะให้เข้าถึงพระธรรมวินัย

          เริ่มแรก การศึกษา ให้เข้าถึงพระธรรมวินัย ด้วยการทำให้รู้เข้าใจว่าพระธรรมวินัยมีว่าอย่างไร

          การศึกษา ให้เข้าถึงพระธรรมวินัย ด้วยการทำให้นำพระธรรมวินัยไปใช้ไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง

          การศึกษา ให้เข้าถึงพระธรรมวินัย ด้วยการทำให้เกิดเป็นผล ทั้งผลแก่บุคคลหรือตนเองที่จะก้าวไปในอริยมรรคา และผลที่แผ่ขยายออกไปเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน

          ในประเทศไทย เมื่อศตวรรษก่อนนี้นั้น เท่าที่ทบทวนเรื่องราวได้ตามหนังสือเก่าที่เคยผ่าน ขอพูดอย่างภาษาชาวบ้านว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงถึงกันกับในหลวงรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เสด็จไปทรงตรวจการคณะสงฆ์ในหัวเมืองต่าง ๆ ทรงทราบสภาพการพระศาสนาในถิ่นนั้น ๆ ส่วนในฝ่ายบ้านเมือง ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ก็ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่นทั้งหลาย แล้วได้ตรัสปรารภถึงสภาพของชนบทในสมัยนั้น ที่ชาวบ้านจำนวนมากหรือส่วนใหญ่ มีความเชื่อถือไม่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา แทบจะไม่รู้เข้าใจหลักธรรมที่สำคัญ ส่วนทางฝ่ายพระสงฆ์ก็ไม่มีความรู้ เทศน์สอนชาวบ้านแต่เรื่องนิทานแค่ชาดกที่เล่าสืบกันมา นับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่จะทรงจัดการแก้ไข

          ความที่ว่านี้ สอดคล้องกับความเป็นมาที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงริเริ่มจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมขึ้นใหม่หลักสูตรหนึ่ง ซึ่งเมื่อเริ่มแรกเรียกว่า "องค์ของสามเณรรู้ธรรม" อันเป็นต้นทางที่ต่อมาวางลงเป็นแบบแผนว่า "นักธรรม"

          ขอกล่าวประมวลความอย่างที่คิดว่าคงจะไม่ผิดว่า คำว่า "องค์ของสามเณรรู้ธรรม" นั้นบ่งบอกอยู่ในตัวถึงพระปณิธานในการทรงจัดการเล่าเรียนอันจะช่วยให้ชาวพุทธ ตั้งแต่ยังเยาว์อยู่ในวัยเป็นสามเณร มีการศึกษาที่จะให้เข้าถึงพระธรรมวินัย เริ่มแต่เข้าถึงด้วยความรู้เข้าใจ เป็นต้นไป (โยงต่อไปโดยนัย สู่การเข้าถึงด้วยการนำไปใช้ นำไปปฏิบัติ และการให้เป็นผลทั้งแก่ตนและแก่พหูชนดังที่กล่าวแล้ว)

          การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมที่ได้ดำเนินมาถึงวันนี้ครบ ๑๐๐ ปีแล้วนั้น ว่าโดยสาระสำคัญก็คือ การทำงานที่จะสืบสานพระปณิธานของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ดังที่กล่าวมา

          วาระครบรอบศตวรรษของสนามหลวงแผนกธรรมนี้ อาจถือเป็นจุดเตือนระลึก ในการที่จะทบทวนข้างหลัง และเร่งเร้าข้างหน้า ซึ่งการบริหารภารกิจในการสืบสานพระปณิธานของพระองค์ผู้ทรงก่อตั้งการศึกษาพระปริยัติธรรมนี้ขึ้นไว้ ในการที่จะให้มวลพุทธบริษัทได้มีการศึกษา อันให้เข้าถึงพระธรรมวินัย ด้วยการรู้เข้าใจ เป็นต้น ดังที่กล่าวมา

          ถ้าการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม นำให้ประชาชาวพุทธได้รับการศึกษาที่พาให้เข้าถึงพระธรรมวินัยดังที่ว่านั้น พระพุทธศาสนาเถรวาทก็จะสำแดงตัวออกมาประกาศพระธรรมวินัยแท้ที่สืบมาดั้งเดิมจากองค์พระบรมศาสดา เพื่อแผ่ขยายความเจริญศีล เจริญจิต เจริญปัญญา ให้สัมฤทธิ์ผลเป็นประโยชน์สุขแห่งพหูชนหรือมวลประชาอย่างสมจริง

          โดยนัยดังกล่าวมา การสืบสานพระปณิธานและเชิดชูพระกิตติคุณของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็จะมีความหมายเป็นการปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทอันให้บำเพ็ญกิจ ที่จะดำรงพระธรรมวินัยให้คงอยู่ยืนนาน เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พหูชน เพื่อเกื้อการุณย์แก่ชาวโลก สืบไป

 

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖

×

บทนำ

ประวัตินักธรรม

          การศึกษาของภิกษุสามเณรในประเทศไทยแต่โบราณมา คือการศึกษาภาษาบาลี ที่เรียกว่าการศึกษาพระปริยัติธรรม เป็นการศึกษาพระพุทธศาสนาในภาษาบาลี เพื่อให้รู้ภาษาบาลีสามารถอ่านพระคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาได้โดยสะดวก เพราะคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทดังที่นับถืออยู่ในประเทศไทยนั้น ล้วนจารึกไว้ด้วยภาษาบาลี ฉะนั้น ผู้ที่ประสงค์จะรู้พระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาให้แตกฉานจึงจำต้องศึกษาภาษาบาลีให้รู้แตกฉาน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ยากไม่น้อยสำหรับภิกษุสามเณรทั่วไป ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ไม่รู้ภาษาบาลีจึงพลอยไม่ค่อยรู้เรื่องคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างแจ้งชัดตามไปด้วย ทั้งเป็นเหตุให้ภิกษุสามเณรทั่วไปไม่ค่อยเอาใจใส่ที่จะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธศาสนาด้วย เพราะเรียนยาก รู้ยาก

          สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่น ทรงพระปริวิตกถึงความเป็นไปของภิกษุสามเณรดังกล่าวมาข้างต้น จึงได้ทรงพระดำริหาทางจัดการเล่าเรียนเพื่อให้ภิกษุสามเณรได้เรียนรู้พระธรรมวินัยได้สะดวกและกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยได้ทรงริเริ่มสอนพระธรรมวินัยแก่ภิกษุสามเณรบวชใหม่เป็นภาษาไทยขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหารเป็นครั้งแรก ในฐานที่ทรงเป็นพระอุปัชฌายาจารย์ ดังที่ทรงอธิบายไว้ในตำนานวัดบวรนิเวศวิหารว่า

          “แต่ก่อนมา ภิกษุบวชได้กี่พรรษาก็ตาม ไม่สนใจแล้วไม่รู้ธรรมวินัยเลย นอกจากที่เคยปฏิบัติ จึงจัดสอนภิกษุสามเณรบวชใหม่ให้เรียนธรรมวินัยในภาษาไทยเป็นการส่วนตัวในหน้าที่แห่งอุปัชฌายาจารย์ก่อน ต่อมาปลูกความนิยมออกไปถึงภิกษุสามเณรเก่าด้วย จนถึงจัดเป็นการเรียนเป็นพื้นวัดขึ้นได้ แลมีวัดธรรมยุตอื่นทำตามแพร่หลายออกไป

          นี้คือจุดเริ่มต้นของการศึกษาพระปริยัติธรรมแบบใหม่ ที่เรียกว่า “นักธรรม” ในเวลาต่อมา หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า พระปริยัติธรรมแผนกธรรม คู่กับพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาของพระสงฆ์ไทยมาแต่โบราณ

          สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงริเริ่มการสอนธรรมวินัยในภาษาไทยแก่ภิกษุสามเณรบวชใหม่ดังกล่าวมาข้างต้นขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน ทรงกล่าวไว้ในตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร แต่เพียงว่า การสอนธรรมวินัยในภาษาไทยแก่ภิกษุสามเณรบวชใหม่ดังกล่าว เป็นการที่ได้ทรงจัดขึ้นเมื่อทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร สืบต่อจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (นับแต่ พ.ศ. ๒๔๓๕ เป็นต้นมา) จึงสันนิษฐานว่า คงทรงริเริ่มขึ้นแต่เมื่อแรกทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร ในฐานที่ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ซึ่งจะต้องให้การอบรมสั่งสอนสัทธิวิหาริกและภิกษุสามเณรที่อยู่ในความปกครอง

          ลักษณะการสอนธรรมวินัยในภาษาไทยที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงสอนภิกษุสามเณรบวชใหม่นั้น ทรงสอนอย่างไร สังเกตจากสำเนาพระโอวาท ที่ประทานแก่นวกภิกษุปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ที่พระยาศรีบัญชา (ทวน ธรรมาชีวะ) ซึ่งเป็นนวกภิกษุในปีนั้น ได้จดบันทึกไว้เป็นรายวันตามที่ทรงสอนปรากฏว่า เนื้อหาของพระโอวาทประกอบด้วยพระอธิบายเรื่องธรรม เรื่องพุทธประวัติ และเรื่องวินัย โดยทรงสอนไปตามลำดับ คือ ธรรม พุทธประวัติ และวินัย

×

องค์สามเณรรู้ธรรม

          พ.ศ. ๒๔๔๘ (ร.ศ. ๑๒๔) ทรงพระกรุณาโปรดให้ตราพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารขึ้น ตามพระราชบัญญัตินี้ภิกษุทั่วไปได้รับการยกเว้น ส่วนสามเณรได้รับยกเว้นเฉพาะสามเณรที่รู้ธรรม ทางราชการจึงได้ขอให้คณะสงฆ์กำหนดองค์สามเณรรู้ธรรมขึ้น เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการรับยกเว้นเกณฑ์ทหาร ถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐) สมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในฐานะประธานเถรสมาคม จึงได้ทรงนำเรื่องนี้หารือที่ประชุมเถรสมาคม โดยได้ทรงมีพระปรารภต่อที่ประชุมว่า

          “เมื่อศก ๑๒๔ ได้มีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ในนั้นยกเว้นภิกษุทั่วไป แต่สามเณรยกเว้นโดยเอกเทศ เฉพาะแต่สามเณรรู้ธรรมฯ การกำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรมนี้ เจ้าน่าที่อื่น ๆ ขอให้กระทรวงธรรมการเป็นผู้กำหนด กระทรวงธรรมการก็จะต้องอาศัยพระช่วยกำหนดให้ จึงเชิญท่านทั้งหลายมาเพื่อจะให้ช่วยกันกำหนดฯ เราไม่มีอำนาจที่จะออกความเห็นวินิจฉัยพระราชบัญญัติ เมื่อตั้งขึ้นแล้ว เป็นน่าที่ของเราที่จะต้องอนุวัติตาม ประเพณีนี้ก็ได้มีเป็นอย่างมาในครั้งพระพุทธกาลแล้ว เช่นในมหาวรรควินัยว่า เมื่อภิกษุกำลังทำอุโบสถก็ดี ทำปวารณาก็ดี ค้างอยู่ มีพระราชาจะมาจับภิกษุนั้น ที่แปลว่าราชการจะเอาตัว ให้ขอผัดไว้ พอได้ทำกิจนั้นเสรจก่อน ข้อนี้แปลว่าพระยอมอนุวัติราชการ ไม่ขัดขืน แลคนที่จะตั้งอยู่เป็นหมวดเป็นหมู่กันได้ ที่เรียกว่าบ้านเมือง ต้องมีคนช่วยกันทำธุระหลายหน้าที่ กล่าวตามบาลี ต้องมีวรรณะทั้งสี่ คือพวกขัตติยะเป็นผู้ป้องกันอันตรายภายนอกภายใน พราหมณ์เป็นผู้สอนให้คนมีความรู้แลความดี พวกเรานับเข้าอยู่ในหมวดนี้ เวสสะเป็นผู้ทำของที่เกิดแต่ฝีมือ หรือรับของเหล่านั้นมาจำหน่าย เพื่อบำรุงสุขของประชาชน สุททะ เป็นผู้รับทำการงารของผู้อื่นด้วยแรง เพื่อความสะดวกของมหาชน แต่น่าที่ของผู้ใด ผู้นั้นก็ต้องการทำให้เต็มที่ เช่นเราเป็นพวกพระ ก็ต้องการจะได้คนมาฝึกสอนอบรม ฝ่ายพวกทหารก็ต้องการจะได้คนเข้าเป็นทหาร แต่คนทั้งปวงจะเป็นพระหรือเป็นทหารทั้งนั้น ไม่เป็นอย่างอื่นเลยไม่ได้ ต้องแบ่งเป็นนั่นบ้าง เป็นนี่บ้างฯ ข้อที่จะกำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรมนั้น ก็แปลว่า จะกำหนดว่าคนเช่นไรจะขอเอาไว้ คนเช่นไรจะยอมปล่อยให้เข้ารับราชการทหาร” (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๒๑-๑๒๖)

          จากพระปรารภดังกล่าวและจากที่ได้สดับความคิดเห็นของที่ประชุมเถรสมาคม จึงได้ทรงสรุปแนวพระดำริในการดำเนินการในเรื่องนี้ต่อที่ประชุมว่า

          “เห็นควรเอาไว้แต่สามเณรที่จะเป็นคนเรียนรู้ แลทำประโยชน์ให้แก่พระศาสนาได้ การกำหนดต้องให้สมแก่นักเรียนอุดมศึกษา แลความรู้ต้องให้เวลาเรียนไม่ต่ำกว่า ๒ ปี ที่เป็นกำหนดเกณฑ์รับราชการ เพราะฉนั้น ในส่วนรู้ภาษามคธทรงเห็นชอบตามที่พระเถระทั้งหลายกำหนดนั้น ส่วนรู้ธรรม เพียงแต่รู้ธรรมของสามเณร ทรงเห็นอ่อนไป แต่ยังทรงรู้สึกอยู่ว่า หลักสูตรที่วัดบวรนิเวศอยู่ข้างจะสูง แลเป็นกำหนดคราวแรก อ่อนไว้หน่อยก็ยังได้ ภายหลังจึงค่อยรัดเข้าฯ” (เล่มเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.)

          และในที่สุดเถรสมาคมได้มีมติตามแนวพระดำริดังนี้

         ๑. กำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรม ให้กำหนดตามสมควรแก่ความรู้ที่ต้องการในมณฑลนั้น ๆ มุ่งเอาประโยชน์พระศาสนาเป็นที่ตั้ง

         ๒. องค์ของสามเณรรู้ธรรมในกรุงเทพฯ นั้น รู้มคธภาษา กรรมการสอบเห็นว่าใช้ได้กับรู้ธรรมของสามเณรด้วย

         ๓. สามเณรที่ไม่มีประโยชน์แก่พระศาสนา คือว่า แม้สึกเข้ารับราชการก็ไม่เป็นเหตุเสื่อมการข้างวัด เช่น ขาดคนเล่าเรียน จะหาคนมีความรู้ได้น้อย เป็นต้น สามเณรเช่นนั้น เมื่อต้องเรียก

ก็ให้สึกเข้ารับราชการ (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๓๖.)

          เกณฑ์ดังกล่าวนี้ กระทรวงกลาโหมก็ยอมรับ จึงเป็นอันใช้ได้ ครั้นเดือนตุลาคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔)  สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ  จึงโปรดให้จัดการสอบในส่วนกลางขึ้นเป็นครั้งแรก  ที่วัดบวรนิเวศวิหาร วัดมหาธาตุ วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดเบญจมบพิตร โดยทรงกำหนดหลักสูตรสำหรับสามเณรรู้ธรรมในกรุงเทพฯ ดังนี้

          - ภาษามคธ เพียงท้องนิทานในอรรถกถาธรรมบท

          - ธรรมของสามเณร คือธรรมวิภาคในนวโกวาท

          - แต่งความแก้กระทู้ธรรม

          ในการสอบองค์สามเณรรู้ธรรมครั้งแรกในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐) มีสามเณรเข้าสอบ ๑๗๙ รูป สอบได้ ๑๓๙ รูป ตก ๔๐ รูป

          ผลการสอบองค์สามเณรรู้ธรรมครั้งนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเห็นว่า ทำให้สามเณรมีความรู้ดีขึ้น แต่ยังแคบเพราะใช้ได้แต่ในกรุงเทพฯ หรือเฉพาะวัดที่มีเรียนปริยัติ ในหัวเมืองจะจัดตามนี้ไม่ได้ แต่ก็ทรงเห็นว่าหากได้ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์กว้างขวาง เพราะการเรียนการสอบธรรมวินัยในภาษาไทยอย่างนี้ พระองค์ได้ทรงทำเป็นการส่วนพระองค์มานานแล้ว และเกิดผลดีแก่ภิกษุสามเณรที่เรียน ทั้งที่ยังบวชอยู่และสึกออกไป ฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระดำริที่จะปรับปรุง หลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้ให้เป็นการศึกษาธรรมวินัยสำหรับภิกษุสามเณรทั่วไป ซึ่งจะเป็นทางให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ธรรมวินัยทั่วถึง ดังที่พระองค์ได้ทรงอธิบายแก่เถรสมาคมในครั้งนั้น ปรากฏในรายงานการประชุมเถรสมาคม เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ร.ศ. ๑๓๐ ว่า

          “ความรู้ธรรมอย่างสามัญนั้น ได้ทรงเริ่มจัดมานานแล้ว ตรัสเล่าจำเดิมแต่เหตุปรารภแต่งนวโกวาทขึ้น และได้ใช้ฝึกสอนในสำนักของพระองค์เอง และวัดอื่นได้รับใช้ตามอย่าง ได้ผลดีทั้งผู้ยังบวชอยู่แลผู้สึกไปแล้ว เมื่อกำหนดองค์สามเณรรู้ธรรม ทรงเห็นว่า จะขยายความรู้ธรรมถึงชั้นนี้ได้ จึงได้ทรงหลักสูตรขึ้นดังนั้นฯ กำหนดเอาความรู้ในมคธภาษานั้น เปนการหนักแก่สามเณรผู้จะเรียนให้ทันเวลา ทั้งไล่ได้แล้ว จะจัดว่าเปนผู้มีความรู้ก็ยังไม่ได้ แลจะจัดในหัวเมืองก็ไม่ได้ทั่วไปฯ เมื่อเสด็จไปหัวเมืองเหนือคราวนี้เอง ได้ทรงปรารภถึงการเรียนของพระสงฆ์หัวเมือง ทรงเห็นว่า ได้รับบำรุงเข้า คงดีขึ้นกว่าปล่อยให้เป็นอยู่ตามลำพัง เมื่อได้จัดให้แพร่หลายแล้ว จะเปนประโยชน์กว้างขวาง ดีกว่าจะมัวบำรุงในทางมคธภาษาอย่างเดียว แม้ว่าการรู้ภาษามคธเป็นหลักแห่งการรู้ปริยัติ จึงได้ทรงจัดเป็นระเบียบเปน ๒ อย่าง อย่างสามัญไม่เกี่ยวกับมคธภาษา สำหรับภิกษุสามเณรทั้งในกรุงแลหัวเมือง อย่างวิสามัญนั้น สำหรับภิกษุสามเณรในสำนักที่สามารถสอนมคธภาษาได้ด้วยฯ ต่อไปทรงแสดงพระดำริห จะจัดการนี้ให้เข้ารูปอย่างไร ทรงอาศัยหลักในพระวินัยที่จัดภิกษุเป็น ๓ จำพวก คือ เถระ ๑ มัชฌิมะ ๑ นวกะ ๑ หลักสูตรที่ตั้งขึ้นทั้ง ๒ ประโยค ทั้งสามัญแลวิสามัญนั้น จัดเป็นนวกภูมิ์ เป็นความรู้นวกภิกษุ เป็นภูมิ์ต้น ต่อไปจะคิดขยายให้ถึงมัชฌิมภูมิ์ และเถรภูมิ์ บำรุงความรู้ให้ลึกโดยลำดับ แลจะให้เข้ากันได้กับหลักสูตรปริยัติที่ใช้อยู่บัดนี้” (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๒๗-๑๒๘.)

          จากพระดำริที่ทรงแสดงแก่ที่ประชุมเถรสมาคมดังกล่าวข้างต้น สรุปได้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเห็นว่าการศึกษาปริยัติธรรมที่เน้นมคธภาษานั้น ไม่ช่วยให้การศึกษาธรรมวินัยแพร่หลายถึงภิกษุสามเณรทั่วไป เพราะหาผู้สอนยาก ทั้งเรียนรู้ได้ยาก จึงได้ทรงทดลองจัดการเรียนธรรมวินัยในภาษาไทยขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นการส่วนพระองค์ก่อน ปรากฏว่าได้รับผลดีมีผู้นิยมเรียนกันมาก ทั้งภิกษุสามเณรบวชใหม่และภิกษุสามเณรเก่า และแพร่หลายไปถึงภิกษุสามเณรในวัดอื่นๆ ด้วย จึงทรงเห็นว่า การศึกษาปริยัติธรรมในภาษาไทยเท่านั้นที่จะช่วยให้ภิกษุสามเณรได้เรียนรู้ธรรมวินัยได้สะดวกขึ้น และสามารถจัดให้แพร่หลายไปได้ทั่วทั้งในกรุงทั้งในหัวเมือง ฉะนั้น จึงได้ทรงนำเอาแนวพระดำริที่ทรงจัดขึ้นในวัดบวรนิเวศวิหารนั้น มาจัดเป็นหลักสูตรองค์ของสามเณรรู้ธรรม และทรงพระดำริจะจัดการเรียนธรรมวินัยในภาษาไทยอย่างที่ทรงจัดเป็นหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมนั้น ให้ลุ่มลึกกว้างขวางขึ้นโดยลำดับเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นต้นหรือนวกภูมิ ชั้นกลางหรือชั้นมัชฌิมภูมิ และชั้นสูงหรือชั้นเถรภูมิ ทั้งจะจัดการศึกษาธรรมวินัยในภาษาไทยดังกล่าวให้เชื่อมโยงกับการศึกษาปริยัติธรรมในมคธภาษาที่มีมาแต่เดิมด้วย

×

องค์นักธรรม

          ด้วยพระดำริดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ นั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมขึ้นใหม่ โดยจัดเป็น ๒ อย่าง ตามแนวพระดำริดังกล่าวแล้ว คือ

          (๑) อย่างสามัญ แบ่งเป็น ๒ ประโยค

                   ก. ประโยค ๑ ธรรมวิภาค กับเรียงความแก้กระทู้ธรรม ไม่ต้องชักที่มา

                   ข. ประโยค ๒ พุทธประวัติย่อ กับเรียงความแก้กระทู้ธรรม ชักที่มาในหนังสือไทย

          (๒) อย่างวิสามัญ แบ่งเป็น ๒ ประโยค

                   ก. ประโยค ๑ เพิ่มอรรถกถาธรรมบท มีแก้อรรถด้วย

                   ข. ประโยค ๒ เพิ่มบาลีไวยากรณ์และสัมพันธ์

          อย่างสามัญ จะจัดทั่วไปเป็นแบบเดียวกันทั้งในกรุงในหัวเมือง ผู้สอบได้อย่างสามัญเพียงประโยค ๑ ได้รับยกเว้นเกณฑ์ทหาร สอบได้ทั้ง ๒ ประโยค เป็นนักธรรม ๒ ประโยค

          อย่างวิสามัญ จะจัดเฉพาะในกรุงเทพฯ ผู้สอบได้อย่างวิสามัญทั้ง ๒ ประโยค ได้เป็นเปรียญธรรม ๒ ประโยค เทียบเปรียญปริยัติ (คือเปรียญบาลี) ๓ ประโยค (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๑๙-๑๒๔.)

          หลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมที่ปรับปรุงขึ้นใหม่นี้ อนุญาตให้สอบได้ทั้งภิกษุและสามเณร และทรงคาดหวังว่า “ถ้าจัดอย่างนี้ การเรียนธรรมของภิกษุสามเณรจะเจริญทั้งในกรุงทั้งในหัวเมือง จะได้ผู้มีความรู้ช่วยกิจพระศาสนาอีกมาก จัดการเรียนเฉพาะแต่ในมคธภาษา ถึงเป็นหลักก็จริง แต่แคบ ความรู้อันนี้ไม่แพร่หลายไปในหัวเมือง ภิกษุสามเณรในหัวเมืองไม่ได้เรียนในทางนี้แล้วยังซ้ำไม่ได้เรียนในทางอื่นด้วย ด้วยเหตุนี้จึงหาพระสมควรเป็นเจ้าอาวาส เป็นอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าคณะได้เป็นอันยาก แต่ผู้ทำหน้าที่เหล่านี้จำต้องมี เมื่อจัดสอนความรู้สามัญในหัวเมืองขึ้นแล้ว คงเปลื้องความขัดข้องข้อนี้ไปได้มาก เพียงแต่เท่าที่จัดมาแล้ว ยังให้ผลดีเห็นปรากฏอยู่ ถ้าได้จัดขยายออกไป ก็คงได้ประโยชน์มากออกไป” (เล่มเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.)

          หลักสูตรที่ทรงปรับปรุงขึ้นใหม่นี้เรียกว่า “องค์นักธรรม” ได้รับพระบรมราชานุมัติ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ร.ศ. ๑๓๐ ภิกษุที่สอบองค์นักธรรมอย่างวิสามัญได้ทั้ง ๒ ประโยค ซึ่งเรียกว่า เปรียญธรรม ๒ ประโยคนั้น ต้องสอบวินัยบัญญัติในนวโกวาทได้ด้วย จะได้รับพระราชทานพัดอย่างเดียวกับเปรียญปริยัติ หรือเปรียญบาลี ๓ ประโยค สำหรับสามเณรที่สอบได้ชั้นนี้ ต้องรอไว้จนอุปสมบทแล้วและสอบวินัยบัญญัติได้แล้ว จึงจะได้รับพระราชทานพัด

          ถึง พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรมอีกครั้งหนึ่ง โดยกำหนดให้เพิ่มคิหิปฏิบัติเข้าไปในส่วนของธรรมวิภาคด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้สอบได้องค์นักธรรม แล้วจำจะต้องสึกออกไปครองชีวิตฆราวาสมากยิ่งขึ้น (แถลงการณ์คณะสงฆ์เล่ม ๒ พ.ศ. ๒๔๕๗. หน้า ๔๔๗.)

×

ระเบียบการสอบองค์นักธรรม

          องค์สามเณรรู้ธรรมและองค์นักธรรมที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงพระดำริจัดขึ้นนั้น นอกจากทรงจัดหลักสูตรแล้ว ยังได้ทรงกำหนดระเบียบการสอบ ซึ่งประกอบด้วย จำนวนข้อปัญหา วิธีการเขียนตอบปัญหา วิธีการตรวจ วิธีการให้คะแนน การตัดสินได้-ตก ไว้อย่างละเอียด ซึ่งขอนำมาบันทึกไว้ ดังนี้

          “๑. จะมีกรรมการเป็นผู้สอบ อย่างน้อย ๓ รูป

          ๒. หลักสูตรสำหรับสอบ คือ

                    ก. แปลมคธเป็นไทย ใช้อรรธกถาธรรมบท เขียน (แต่ในคราวต้นแปลด้วยปากก็ได้) ประมาณ ๒ หน้าสมุดพิมพ์

                    ข. เขียนตอบปัญหาธรรมวิภาคในนวโกวาท ๒๑ ข้อ ข้อนี้เป็นพิเศษ

                    ค. เรียงความแก้กระทู้ธรรมในพุทธศาสนสุภาษิต ๑ ข้อ ตามแต่จะเรียงได้อย่างไร แม้ข้อนี้ก็เป็นพิเศษ

          ๓. วิธีตรวจนั้น ดังนี้

                    ก. ประโยคแปล เป็นแต่อ่านดูเท่านั้น ไม่มีลดคะแนน (ถ้าแปลปากก็ฟัง ไม่มีทัก) แล้วลงสันนิษฐานว่า ใช้ได้หรือไม่ได้

                    ข. ตอบปัญหาธรรมวิภาค ยอมให้ผิดได้ ๖ ข้อเต็ม หรือให้คะแนน ๘๔ ผิดข้อหนึ่งลด ๑๔ คะแนน ผิดกึ่งข้อลด ๗ บกพร่องเล็กน้อย แบ่งลดลงมาตามควร หมดคะแนนเป็นใช้ไม่ได้ ยังเหลือจึงใช้ได้

                    ค. เรียงความแก้กระทู้ธรรม อ่านตรวจแล้วลงสันนิษฐาน

          ๔. ในประโยคอันหนึ่งๆ กรรมการทั้งนั้นหรือโดยมาก เห็นว่าใช้ได้ จัดเป็นได้ เห็นว่าใช้ไม่ได้ จัดเป็นตก

          ๕. ผู้เข้าสอบจะสอบเพียงแปลมคธก็ได้ แต่ถ้าตก เป็นอันตกทีเดียว ถ้าได้ ต้องสอบสามเณรานุสิกขา ตอบข้อถามด้วยปากกว่าจะได้ จัดเป็นชั้นตรี

          ๖. ถ้าสอบทั้งสามข้อ ตกแปลมคธ แต่ได้ธรรมวิภาคและเรียงความรวม ๒ อย่าง จัดเอาเป็นได้ชั้นตรีเหมือนกัน

          ๗. ถ้าแปลมคธได้แล้ว ได้ธรรมวิภาคหรือเรียงความเพิ่มขึ้น ๑ อย่าง รวมเป็น ๒ อย่าง จัดเป็นชั้นโท

          ๘. ถ้าแปลมคธได้แล้ว ได้ทั้งธรรมวิภาคทั้งเรียงความ รวมเป็น ๓ อย่าง จัดเป็นชั้นเอก

          ๙. ผู้เข้าสอบทั้ง ๓ อย่าง ไม่ต้องสอบสามเณรานุสิกขา” (ประมวลพระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส การศึกษา. ในงานมหาสมณานุสรณ์ครบ ๕๐ ปีแต่วันสิ้นพระชนม์ฯ พ.ศ. ๒๕๑๔. หน้า ๒๐๕-๒๐๖.)

 

          สำหรับวิธีการให้คะแนนโดยวิธีเฉลี่ยคะแนนนั้น ได้ทรงตั้งเกณฑ์การเฉลี่ยคะแนนไว้ ดังนี้

          “๑. ความรู้อย่างหนึ่ง มีกรรมการตรวจ ๓ รูป อย่างน้อยให้ ๒ รูป จึงเป็นอันได้ ตามนัยนี้ จัดคิดเฉลี่ยคะแนนตามความรู้ที่สอบอย่างละ ๒ คะแนน ถ้ามีคะแนนได้เท่านั้นหรือยิ่งกว่านั้น จึงเป็นอันได้ หย่อนกว่านั้นเป็นอันตก ตัวอย่างเช่น สอบคราวนี้ ความรู้ที่สอบ ๓ อย่าง ๖ คะแนนเป็นอย่างน้อย จึงเป็นอันได้ เช่น ได้ธรรมวิภาค ๓ คะแนน วินัยบัญญัติ ๓ คะแนน ตกเรียงความทั้ง ๓ คะแนน ก็ยังเป็นใช้ได้ ถ้าได้ธรรมวิภาค ๓ คะแนน วินัยบัญญัติ ๒ คะแนน เรียงความต้องตกเพียง ๒ คะแนน ได้ ๑ จึงเป็นใช้ได้ ถ้าตกทั้ง ๓ เป็นอันตก ถ้าได้ธรรมวิภาคและวินัยบัญญัติเพียงอย่างละ ๒ คะแนน ต้องได้เรียงความด้วยอย่างน้อย ๒ คะแนน จึงจะใช้ได้

          ๒. การคิดเฉลี่ยคะแนนนี้ จักคิดเฉพาะความรู้ที่สอบในคราวเดียวกัน ประโยคที่ส่งขอให้ตรวจก็ดี ที่ได้ไว้ในสนามคราวหลังก็ดี จะมาเอาคิดเฉลี่ยด้วยไม่ได้ เช่น สามเณรได้องค์นักธรรมประโยค ๑ ไว้แล้ว คือได้เรียงความกับธรรมวิภาคแล้ว ครั้นอุปสมบทเป็นภิกษุขึ้น ต้องเข้าสอบวินัยบัญญัติเพิ่ม เช่นนี้ต้องเป็นประโยคที่ได้ คือได้อย่างน้อย ๒ คะแนนจึงใช้ได้” (เล่มเดียวกัน, หน้า ๒๙๘-๒๙๙.)

 

          สำหรับวิธีการตัดคะแนนหรือลดคะแนน ก็ได้ทรงกำหนดเกณฑ์ไว้ ดังนี้

          “ในปัญหาอันหนึ่ง ๆ มีกำหนดว่า ๗ ข้อ ให้ผิดได้ ๒ ข้อ เป็นอย่างมาก ปัญหาหนึ่งมี ๒๑ ข้อ ข้อผิดจึงมีได้ ๖ ข้อ

          แต่โดยมาก ตอบไม่ผิดทั้งข้อก็มี เพราะฉะนั้น จึงต้องคิดเป็นคะแนนสำหรับลดข้อหนึ่ง ๑๔ คะแนน ๖ ข้อเป็น ๘๔ คะแนน นี้เป็นทุนเดิม ถ้าต้องลดพอหมดทุน แต่ไม่ต้องเป็นหนี้ จัดเอาเป็นได้ ยิ่งเหลือทุนมากเพียงใดยิ่งดี

          ถ้าผิดเต็มข้อลด ๑๔ คะแนน ถ้าผิดไม่เต็มข้อ ถ้าข้อความแบ่งเป็นสองได้ ผิดแต่ในส่วนหนึ่งเช่นนี้ลด ๗ คะแนน ถ้าข้อความแบ่งเป็น ๓ ผิด ๒ ส่วน เช่นนี้เอา ๓ หาร ๑๔ เศษทิ้งเสีย ได้ลัพธ์ ๔ เอา ๒ คูณ เป็น ๘ ลดเพียงเท่านี้ ๑ ใน ๔ หรือ ๓ ใน ๔ ก็เทียบเหมือนดังนี้

          วิธีใช้อักษรและคำพูดและเรียงความ สังเกตตามพื้นคน ถ้าไม่ได้เคยเล่าเรียนมา หรือผู้ตรวจเข้าใจว่าเป็นเพราะพลั้งเผลอ ยกให้ ถ้าคนเรียนมีพื้นมา แต่เขลาในที่บางแห่ง เช่นนี้ลดคะแนน ๑ บ้าง ๒ บ้าง ตามน้ำหนักแห่งอักษรหรือถ้อยคำที่ใช้ผิด ทำเปรอะเปื้อนปฏิกูล ผิดวิสัยของคนเขียนหนังสือเป็น ลดแห่งละ ๑ หรือ ๒ ตามน้ำหนักแห่งความเปรอะเปื้อน วางหน้ากระดาษผิด ลด ๕ คะแนน

          ถ้าตอบดีได้ความชัดเจน เรียงข้อความกะทัดรัด หรือข้อความเฉียบแหลมเช่นนี้ ควรได้เพิ่มคะแนนเฉพาะข้อนั้นอย่างสูง ๑๔ คะแนนเต็มข้อ ลดลงมาตามสมควรจนถึง ๓ คะแนนเป็นที่สุด คะแนนเพิ่มนี้บวกเข้ากับทุนเดิม สำหรับเป็นทุนเพื่อผิดในข้ออื่นได้มากกว่ากำหนด หรือไว้เป็นทุนเหลือสำหรับได้รับรางวัล

          ผู้ที่ควรได้รับรางวัลนั้น ต้องมีคะแนนเหลือกว่าครึ่งขึ้นไป ถ้าไล่คราวหลังๆ ต้องมีคะแนนเหลือมากกว่าผู้ที่ตอบได้รางวัลไว้ในศกนั้นแล้วด้วย” (เล่มเดียวกัน, หน้า ๓๐๐-๓๐๑.)

          ต่อมาได้ทรงปรับปรุงแก้ไขวิธีเฉลี่ยคะแนนได้ตกสำหรับสอบความรู้องค์นักธรรมในสนามหลวงเพื่อความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้

          “คำนึงถึงภิกษุสามเณร ผู้เข้าสอบความรู้องค์นักธรรมในสนามหลวง เราเหนว่ายังเสียเปรียบผู้เข้าสอบตามวัดอยู่ ผู้เข้าสอบตามวัด สอบได้เปนอย่างๆ ครบกำหนดแล้ว ส่งมาขอให้สนามหลวงตรวจ เพื่อรับเปนนักธรรมของสนามหลวงได้ ฝ่ายผู้เข้าสอบในสนามหลวงทีเดียว ความรู้ในประโยคอันเดียว ต้องได้ครบทุกอย่าง แม้ในสนามหลวงเองสอบประโยค ๒ สามเณรผู้ยังไม่ต้องสอบวินัย ยังได้เปรียบภิกษุอยู่ นอกจากนี้ ผู้เข้าสอบบางรูปมีความรู้ดีบางอย่าง กรรมการให้ครบ ๓ คะแนน ได้ชมว่าดีบ้างก็มี เมื่อตกความรู้อย่างอื่น ความรู้ที่ดีนั้นก็เป็นต้องตกไปตามกัน เอามาช่วยความรู้ที่หย่อนไม่ได้ มีประสงค์จะแก้ข้อบกพร่องเหล่านี้ จึงตั้งวิธีเฉลี่ยคะแนนได้ตกไว้ดังนี้:

          ๑. คะแนนสำหรับความรู้อย่างหนึ่งเป็น ๓ ได้เพียง ๒ เป็นให้เฉพาะความรู้อย่างนั้น เสียตั้งแต่ ๒ เป็นไม่ให้ ในประโยคที่สอบความรู้กว่าอย่างหนึ่ง ให้รวมคะแนนได้ตกเฉลี่ยกันได้ เช่นในบัดนี้ องค์นักธรรมประโยค ๑ สอบความรู้ ๒ อย่าง คะแนนได้ตั้งแต่ ๔ ขึ้นไปถึง ๖ ต่างว่าแก้กระทู้ธรรมได้ ๓ คะแนน ตอบปัญหาธรรมวิภาคเสีย ๒ คะแนน ได้แต่เพียงคะแนนเดียว เช่นนี้ รวมทั้งประโยคคงได้ ๔ คะแนน เสีย ๒ คะแนน ประโยคนี้เป็นอันได้ อีกอย่างหนึ่ง ต่างว่าสอบรวมกันทั้ง ๒ ประโยค ความรู้ ๔ อย่าง คะแนนได้ตั้งแต่ ๘ ขึ้นไปถึง ๑๒ ต่างว่าแก้กระทู้ธรรมได้ ๒ คะแนน ตอบปัญหาธรรมวิภาคได้ ๓ คะแนน ตอบปัญหาวินัยได้ ๑ คะแนน ตอบปัญหาพุทธประวัติได้ ๒ คะแนน ทั้งประโยครวมเป็นได้ ๘ คะแนน เป็นใช้ได้

          ๒. สอบความรู้มากอย่างเข้า ความได้ประโยชน์เพราะเฉลี่ยคะแนนก็มากขึ้น อาจจะทำให้นักเรียนสะเพร่า ไม่เอาใจใส่ในความรู้บางอย่างได้ เช่น สอบความรู้ ๔ อย่างนั้น ได้ ๓ อย่าง ๆ ละ ๓ คะแนน เต็มรวมเป็น ๙ เป็นเกณฑ์ได้อยู่แล้ว อาจจะทำสะเพร่าละเลยความรู้อีกอย่าง ๑ เสีย เพราะฉะนั้นในประโยคใด เสียคะแนนเพราะความรู้อย่าง ๑ เต็ม ๓ เช่นนี้ จะเอาคะแนนสำหรับความรู้อย่างอื่นมาเฉลี่ยด้วยไม่ได้ ประโยคนั้นเป็นอันตก จะเฉลี่ยได้เพราะความรู้มีคะแนนได้อยู่ ๑

          ๓. ส่วนการสอบความรู้บาลี ของภิกษุสามเณรผู้สอบองค์นักธรรมประโยค ๒ สามัญได้แล้ว ให้ได้รับเฉลี่ยคะแนนตามนัยนั้น ส่วนของภิกษุสามเณรผู้สอบแต่ลำพังบาลี หรือได้องค์นักธรรมเพียงประโยค ๑ ยังไม่ให้ใช้วิธีเฉลี่ยคะแนน ให้ตรวจได้ตกเฉพาะประโยคไปก่อนกว่าจะได้จัดให้เข้ารูป

          เมื่อได้ตั้งวิธีเฉลี่ยคะแนนได้ตกขึ้นเช่นนี้แล้ว จึงอนุญาตให้ภิกษุสามเณรผู้สอบองค์นักธรรมประโยค ๑ สามัญ ได้อย่าง ๑ ตกอย่าง ๑ แต่เฉลี่ยคะแนนได้เป็น ๔ ให้เป็นอันได้ประโยคนั้น” (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๕๒๑-๕๒๓.)

          วิธีการเขียนในการสอบ ก็ได้ทรงมีพระอธิบายแนะนำและวางเกณฑ์ไว้อย่างละเอียด ดังนี้

          “เมื่อคราวสอบประโยค ๑ ได้ทราบว่าภิกษุสามเณรผู้เข้าสอบไม่เข้าใจระเบียบในการเขียน ทำให้ช้าเวลาไปมากกว่าที่ควรจะเป็น ในคราวสอบประโยค ๒ นี้ จึงตั้งระเบียบไว้ดังต่อไปนี้

          ๑. กระดาษที่เขียนนั้นให้ประทับตรา จะจ่ายให้คราวแรกแต่รูปละ ๑ แผ่น ถ้าไม่พอ ให้ผู้สอบมาขอต่อเจ้าหน้าที่ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ จงตรวจดูกระดาษเดิมก่อน เห็นว่าไม่พอด้วยการเขียนโดยปรกติ จึงจ่ายเติมให้อีกคราวละแผ่น ถ้าได้ความว่า กระดาษหมดไป เพราะเอาไปใช้เป็นกระดาษร่างก็ดี เขียนเสียๆก็ดี ให้บอกเรา ถ้าเราไม่อยู่ ให้เรียนพระธรรมวโรดมรองแม่กอง สุดแล้วแต่จะสั่ง ให้งดเสียถือเอาเป็นไม่รู้จักเขียน หรือจะให้จ่ายให้

          ๒. ถ้ากระดาษไม่ซึมจนอ่านไม่ออก ผู้เข้าสอบจงเขียนทั้งสองหน้า อย่าทำลักลั่นให้เสียระเบียบ ถ้าขืนทำ จะเอาไว้เป็นเครื่องวินิจฉัยตรวจประโยค

          ๓. คราวนี้ยังจักไม่กำหนดเวลาลงว่าให้เขียนได้กี่นาฬิกา แต่ตั้งให้มีจำกัดไว้ว่า ถ้ามีผู้เข้าสอบเขียนยังไม่แล้ว ๖ รูป ยังเปิดให้เขียนอยู่ ถ้ารูปหนึ่งเขียนแล้วและส่งประโยคเสร็จ เหลือไม่แล้วแต่ ๕ รูป ให้เลิกการเขียน ประโยคของผู้เขียนไม่จบ เราจะตรวจดู ถ้าเหลือแต่เล็กน้อย จะส่งให้กรมการตรวจ ถ้าเหลือมาก จะตัดสินว่าเขียนไม่ทัน เอาเป็นตก เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เข้าสอบควรรีบเขียน พึงตั้งใจแล้วก่อนเหลือ ๖ รูป

          ๔. เขียนเสร็จแล้วจะตรวจประโยค ให้เวลาอย่างช้า ๑๕ มินิต พ้นนั้นต้องส่งแก่เจ้าหน้าที่ ห้ามมิให้นั่งอยู่ต่อไป

          เจ้าหน้าที่และผู้เข้าสอบ จงทำตามระเบียบที่จัดให้ไว้นี้” (ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา, หน้า ๒๑๒-๒๑๓.)

          การสอบองค์นักธรรมนั้น ให้มีการสอบพักเป็นประโยคได้ คือจะสอบทีละประโยค หรือจะสอบทีเดียว ๒ ประโยคก็ได้ เมื่อสอบได้ครบทั้ง ๒ ประโยค จึงนับว่าเป็นนักธรรมชั้นนั้น ๆ

          จากพระอธิบายในเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าวมาแต่ต้นจะเห็นได้ว่า แนวพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ในการจัดตั้งหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรม ซึ่งต่อมาทรงปรับปรุงเป็นองค์นักธรรมนั้นสรุปได้ว่า

          หลักสูตร คือเรื่องที่กำหนดให้ภิกษุสามเณรเรียนนั้น คือธรรม ได้แก่คำสอนของพระพุทธศาสนา ตำนาน คือประวัติหรือความเป็นมาของพระพุทธศาสนา วินัยบัญญัติ คือสิกขาบทที่ภิกษุสามเณรจะพึงรู้และพึงปฏิบัติ เรียงความแก้กระทู้ธรรม คือการหัดอธิบายธรรมให้คนอื่นเข้าใจอย่างมีที่ไปที่มา อันเป็นการฝึกการเทศนาสำหรับที่จะสั่งสอนคนอื่นต่อไป การแปลท้องนิทานในธรรมบท ก็เพื่อให้สามารถอ่านภาษาบาลีได้ตามควรแก่ภูมิชั้นของตน

          วัตถุประสงค์ของหลักสูตรก็คือ เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ในพระพุทธศาสนาทั้งในด้านคำสอนประวัติความเป็นมา และสิกขาวินัยที่จะต้องปฏิบัติ ตลอดถึงสามารถอธิบายสั่งสอนผู้อื่นในเรื่องของพระพุทธศาสนาได้ตามควรแก่ชั้นภูมิชั้นของตน

          ส่วนวิธีการสอบความรู้ ก็ใช้วิธีการเขียนและตรวจโดยวิธีการให้คะแนน ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการใหม่ที่ทรงพระดำริขึ้นในวงการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย เพราะในครั้งนั้น การสอบพระปริยัติธรรมสนามหลวง ที่เรียกว่าการแปลพระปริยัติธรรมยังใช้วิธีการสอบด้วยการแปลปาก (เลิกการสอบพระปริยัติธรรมด้วยวิธีแปลปาก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘) สำหรับเวลาในการสอบ ในระยะแรกยังไม่ทรงกำหนดเวลาเป็นชั่วโมง เพราะทรงเห็นว่าภิกษุสามเณรผู้เข้าสอบส่วนมากยังไม่ชำนาญในการเขียนหนังสือจึงทรงกำหนดเอาจำนวนผู้สอบเป็นเกณฑ์ คือยังมีผู้นั่งสอบอยู่ ๖ รูป ถือว่ายังไม่หมดเวลา ต่อเมื่อมีผู้นั่งสอบอยู่ไม่ถึง ๖ รูป ถือว่าหมดเวลาเขียน และหลังจากเขียนเสร็จแล้ว ให้นำส่งกรรมการสอบอย่างช้าไม่เกิน ๑๕ นาที

          หลักสูตรและวิธีการเรียนการสอบที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงกำหนดขึ้นเป็นหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรม และต่อมาทรงปรับปรุงเป็นหลักสูตรองค์นักธรรมดังกล่าวนี้ นับเป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมแบบใหม่ที่ทรงพระดำริขึ้น ซึ่งเป็นแนวพระดำริที่สืบเนื่องมาจากวิธีเล่าเรียนธรรมวินัยในภาษาไทยที่ได้ทรงพระดำริทดลองใช้ขึ้นในสำนักวัดบวรนิเวศวิหารก่อนเป็นครั้งแรก แต่เมื่อแรกทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาก็ทรงนำมาปรับปรุงใช้กับหลักสูตรการศึกษาของมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งทรงก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ (หลักสูตรพระปริยัติธรรมแบบมหามกุฏราชวิทยาลัย เลิกไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓) การศึกษาพระปริยัติธรรมแบบใหม่ที่ทรงพระดำริขึ้นนี้ ในระยะแรกแพร่หลายอยู่เฉพาะในวัดธรรมยุตทั้งในกรุงเทพฯ และในหัวเมือง ซึ่งทรงเห็นว่าเป็นวิธีที่ช่วยให้ภิกษุสามเณรได้เรียนรู้ธรรมวินัยง่ายขึ้น เพราะภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ภาษาบาลี ฉะนั้น เมื่อได้รับพระบรมราชานุมัติให้จัดตั้งหลักสูตรองค์นักธรรมขึ้นดังกล่าวแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงเห็นเป็นทางที่จะส่งเสริมการศึกษาธรรมวินัยให้แพร่หลายไปสู่ภิกษุสามเณรทั่วไปในระดับนวกะ ระดับมัชฌิมะ และระดับเถระ ดังที่ได้ทรงมีพระปรารภไว้แต่เบื้องต้น และจากแนวพระดำริดังนี้เอง จึงได้ทรงพัฒนาหลักสูตรองค์นักธรรมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเป็น ๓ ชั้น เรียกว่า นักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท และนักธรรมชั้นเอก โดยแต่ละชั้นกำหนดหลักสูตรเป็นแนวเดียวกันและศึกษาต่อเนื่องกัน แต่มีความละเอียดลึกซึ้งยิ่งกว่ากันขึ้นไปตามภูมิชั้น

×

นักธรรมชั้นตรี

          จากพระดำริที่จะส่งเสริมการศึกษาธรรมวินัยให้แพร่หลายไปสู่ภิกษุสามเณรอย่างทั่งถึงทุกระดับชั้นดังกล่าวแล้ว พ.ศ. ๒๔๕๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรมอีกครั้งหนึ่ง โดยรวมองค์นักธรรมประโยค ๑ และประโยค ๒ เข้าด้วยกันเป็น “นักธรรมชั้นตรี” และกำหนดหลักสูตรสอบความรู้ภิกษุสามเณรเป็น ๔ อย่างคือ

                   - เรียงความแก้กระทู้ธรรม

                   - ธรรมวิภาค

                   - ตำนาน (พุทธประวัติ)

                   - วินัยบัญญัติ

          สำหรับสามเณร เว้นวินัยบัญญัติไว้ก่อนจนกว่าอุปสมบทแล้วจึงสอบวินัยบัญญัติ และการสอบไม่มีการพักเป็นประโยค ๑ ประโยค ๒ ดังแต่ก่อน สอบพร้อมกันทั้ง ๒ ประโยค ได้ตกพร้อมกันทั้ง ๒ ประโยค (แถลงการณ์คณะสงฆ์เล่ม ๑, หน้า ๕๒๕.)

          และในศกเดียวกันนี้ ทรงจัดหลักสูตรเปรียญบาลี ๓ ประโยคเข้ากับองค์นักธรรมประโยค ๒ เป็นเปรียญธรรมชั้นตรี ทั้งนี้โดยทรงมีพระปรารภว่า “การสอบความรู้บาลีเป็นเปรียญ ๓ ประโยค ให้แปลธัมมปทัฏฐกถาเป็นความไทยอย่างเดียวกันทั้ง ๓ ประโยค ไม่ค่อยจะได้เปรียญมีความรู้ดี เพราะผู้เข้าสอบโดยมากด้วยกันไม่รู้จักสัมพันธ์และไม่แตกฉานในทางไวยากรณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ การเรียนบาลีจึงตกต่ำ” (เล่มเดียวกัน, หน้า ๕๒๖.)

          จากพระปรารภดังกล่าวแล้ว จึงทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตแก้ไขหลักสูตรเปรียญบาลี ๓ ประโยค ให้คงแปลธัมมปทัฏฐกถา เพียงประโยคเดียว อีก ๒ ประโยคนั้น เปลี่ยนเป็นสอบความรู้สัมพันธ์ เพื่อให้ความรู้จักชักศัพท์เชื่อมถึงกัน ประโยค ๑ สอบความรู้บาลีไวยากรณ์ ส่วนวจีวิภาค เพื่อเข้าใจยกศัพท์ ประโยค ๑ วิธีสอบสัมพันธ์ จักวางแบบให้ไว้ ส่วนวิธีการสอบไวยากรณ์เคยกันมาแล้วฯ ทั้ง ๓ นี้ รวมเป็นหลักสูตรบาลี เป็นองค์อันหนึ่งของเปรียญธรรมชั้นตรีฯ (เล่มเดียวกัน, หน้าเดียวกัน) และ

          ภิกษุสามเณรที่จะสอบบาลีเป็นเปรียญ ๓ ประโยค ต้องสอบได้องค์นักธรรมประโยค ๒ สามัญมาก่อนแล้ว เมื่อสอบบาลีได้อีกองค์หนึ่ง จักเป็นเปรียญธรรมชั้นตรี ได้แก่ นวกภูมิ หรือเรียกนับประโยคว่า เปรียญธรรม ๓ ประโยค ก็ได้ฯ (เล่มเดียวกัน, หน้า ๕๒๗.)

          เปรียญธรรมชั้นตรี หรือเปรียญธรรม ๓ ประโยคนี้ เรียกย่อว่า “ป.ธ. ๓” หลักสูตรนักธรรมชั้นตรีและเปรียญธรรมชั้นตรี ที่ทรงปรับปรุงใหม่นี้ เริ่มสอบตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นต้นมา

          ข้อสังเกต คำว่า “เปรียญ” ใช้เรียกผู้สอบบาลีได้ตามหลักสูตรพระปริยัติธรรมที่มีมาแต่โบราณ แต่ต้องสอบได้ตั้งแต่ ๓ ประโยคขึ้นไป บางทีเรียกว่า “เปรียญปริยัติ” หรือ “เปรียญบาลี” ต่อมาเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงจัดหลักสูตรบาลีเชื่อมโยงกับหลักสูตรองค์นักธรรม คือผู้จะสอบบาลีต้องสอบนักธรรมได้ก่อนดังกล่าวแล้ว ฉะนั้น ผู้ที่สอบบาลีได้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นต้นมา จึงเรียกว่า “เปรียญธรรม” ฉะนั้นคำว่า เปรียญธรรม จึงมีความหมายเท่ากับเปรียญบาลี บวก นักธรรม เป็นเปรียญธรรม

และเรียกย่อว่า ป.ธ. ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นต้นมา

          หลักสูตรนักธรรม ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงจัดขึ้นนั้น ได้รับความนิยมจากภิกษุสามเณรอย่างรวดเร็วและแพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง เพียง ๒ ปีแรกที่จัดสอบ ก็มีภิกษุสามเณรสมัครเข้าสอบในสนามหลวงจำนวนเกือบพันรูป ในปีต่อ ๆ มา จึงโปรดให้มีการจัดสอบขึ้นในสนามมณฑลต่าง ๆ ด้วย ส่วนในกรุงเทพฯ ก็มีการจัดสอบในสนามวัดต่าง ๆ ด้วย เพื่อบรรเทาความแออัดในการสอบ ภิกษุสามเณรที่สอบได้ในสนามวัดหรือสนามมณฑลมีความรู้เข้าเกณฑ์ของสนามหลวง สนามหลวงก็รับโอนเป็นนักธรรมของสนามหลวง ต่อมาทรงกำหนดให้มีการสอบสนามวัดก่อนที่จะส่งเข้าสอบสนามหลวง ต่อเมื่อสอบผ่านสนามวัดนั้น ๆ ได้แล้ว จึงทรงอนุญาติให้ส่งเข้าสอบในสนามหลวง ทั้งนี้เพื่อกันไม่ให้ผู้มีความรู้ไม่ถึงขั้นเข้าสอบในสนามหลวง อันเป็นการเพิ่มภาระให้แก่สนามหลวงโดยไม่จำเป็น

          การสอบองค์นักธรรมและนักธรรมชั้นตรีในระยะแรกนั้น สามเณรต้องมีอายุ ๑๙ ปีขึ้นไป จึงอนุญาติให้เข้าสอบได้

          สำหรับการสอบนักธรรมชั้นตรี สอบโดยวิธีเขียน (ขณะนั้นการสอบพระปริยัติธรรม หรือสอบบาลีสนามหลวงยังใช้วิธีแปลปากอยู่) ข้อสอบแต่ละวิชามี ๒๑ ข้อ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๗ จึงลดลงมาเป็น ๑๔ ข้อ (ประวัติการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย. คณาจารย์มหามกุฏราชวิทยาลัย (เอกสารโรเนียวเย็บเล่ม), หน้า ๑๓๙.) ส่วนกำหนดเวลาสอบในระยะแรกยังไม่มีการกำหนดเวลาเป็นชั่วโมง แต่กำหนดว่า ถ้ายังมีผู้นั่งสอบอยู่ด้วยกัน ๖ รูป ยังไม่หมดเวลา ต่อมาแก้ไขเป็น ถ้ายังมีผู้สอบเหลืออยู่ด้วยกัน ๓ รูป ถือว่ายังไม่หมดเวลา (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๒ พ.ศ. ๒๔๕๗ หน้า ๕๒๘.) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นต้นมา จึงมีการกำหนดเวลาสอบเป็นชั่วโมง คือ ๓ ชั่วโมงครึ่ง (ประวัติการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย. หน้า ๑๓๙.)

×

นักธรรมชั้นโท

          การศึกษานักธรรม ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ นั้นได้รับความนิยมและแพร่หลายไปในหมู่ภิกษุสามเณรอย่างรวดเร็ว ทั้งในกรุงเทพฯ และในหัวเมืองมณฑลต่าง ๆ มีการเรียนการสอบกันอย่างกว้างขวาง ทายกทายิกาในถิ่นนั้น ๆ ก็พลอยยินดีและให้ความอุปถัมภ์บำรุงการสอบนักธรรมกันอย่างครึกครื้น บางแห่งทายกทายิกามาประชุมดูการเรียนการสอบนักธรรมกันอย่างเนืองแน่น

          ถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงพระดำริว่า “บัดนี้ประโยคนักธรรมชั้นตรีภูมินวกะ สำหรับภิกษุใหม่หย่อน ๕ พรรษา จัดขึ้นสำเร็จแล้ว การเรียนชั้นนี้แพร่หลาย เป็นพื้นวัดที่เป็นสำนักเรียนใหญ่ ๆ แล้ว สมควรจะจัดประโยคนักธรรมชั้นโทภูมิมัชฌิมะ สำหรับภิกษุปานกลางพ้นพรรษา ๕ แล้ว แต่ยังไม่ถึง ๑๐  พรรษาในลำดับไป จึงกำหนดตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นโทภูมิมัชฌิมะไว้ดังนี้

          ๑. เรียงความแก้กระทู้ธรรม ชักภาษิตในที่อื่นมาอ้างไว้ด้วย ต้องเชื่อมความกันให้สนิท

          ๒. แก้ปัญหาธรรมวิภาคพิสดารออกไป

          ๓. แก้ปัญหาอนุพุทธประวัติ คือตำนานแห่งสาวก

          ๔. แก้ปัญหาวินัยบัญญัติพิสดารออกไป” (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๔ พ.ศ. ๒๔๕๙ หน้า ๔๖๖.)

 

          ในขณะที่ตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นโทนั้น หนังสือสำหรับหลักสูตรบางเรื่องยังทรงแต่งไม่เสร็จ จึงใช้หนังสือต่าง ๆ เป็นหลักสูตร ดังนี้

          - หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต สำหรับเรียงความแก้กระทู้ธรรม

          - หนังสือธรรมวิภาคปริจเฉทที่ ๒ สำหรับปัญหาธรรมวิภาค

          - หนังสือพุทธานุพุทธประวัติ ตอนกล่าวประวัติพระสาวก สำหรับปัญหาอนุพุทธประวัติ

          - หนังสือวินัยมุขเล่ม ๒ สำหรับปัญหาวินัยบัญญัติ

 

          นักธรรมชั้นโท สอบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ และทรงกำหนดว่า เปรียญธรรมชั้นตรี (ประโยค ๓) จะเข้าสอบบาลีประโยค ๔ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นต้นไป ต้องสอบองค์นักธรรมชั้นโท คือเรียงความแก้กระทู้ธรรมกับธรรมวิภาคได้ก่อน และเมื่อจะสอบบาลีประโยค ๕ จะต้องสอบอนุพุทธประวัติและวินัยบัญญัติได้ก่อน ถ้าเป็นสามเณรยกวินัยบัญญัติไว้ก่อนจนกว่าจะอุปสมบทแล้ว จึงสอบวินัยบัญญัติ (เล่มเดียวกัน, หน้า ๔๖๘.)

          ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นต้นไป ทรงพระอนุญาตให้สอบนักธรรมชั้นตรีในสำนักเรียนใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ ตลอดถึงในสนามมณฑลด้วย โดยกำหนดให้มีกรรมการสนามหลวง ๓ รูป ไปดำเนินการสอบร่วมกับกรรมการประจำสำนักเรียนที่ได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ข้อสอบในแต่ละสนาม ให้กรรมการจากสนามหลวง ๓ รูปเป็นผู้ออก กรรมการประจำสำนักเรียนจะร่วมออกข้อสอบด้วยก็ได้ และให้ออกข้อสอบได้รูปละไม่เกิน ๑ วิชา ผู้สอบได้ในสนามวัดและสนามมณฑลดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นนักธรรมสนามหลวงเช่นกัน และอนุญาตให้เข้าสอบนักธรรมชั้นโทต่อไปได้ (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๕ พ.ศ. ๒๔๖๐ หน้า ๓๔๘.)

          และตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นต้นไป อนุญาตให้สามเณรสอบวินัยบัญญัติไปพร้อมกันได้ทั้งในนักธรรมชั้นตรี และในนักธรรมชั้นโท แต่จำแต่ยังจำกัดอายุสามเณรผู้จะสอบนักธรรมอยู่ว่าต้อง ๑๙ ปีขึ้นไป (เล่มเดียวกัน, หน้า ๓๕๐.) (แต่ไม่จำกัดอายุสำหรับสามเณรที่เข้าสอบบาลี)

 

ข้อแนะนำเกี่ยวกับนักธรรมชั้นโท

          โดยที่ทรงเห็นว่า นักธรรมชั้นโทต้องศึกษาในเรื่องของธรรม ตำนาน (คืออนุพุทธประวัติ) วินัยบัญญัติ รวมทั้งการเรียงความแก้กระทู้ธรรม ละเอียดลุ่มลึกขึ้นยิ่งกว่านักธรรมชั้นตรี ซึ่งอาจจะไม่เป็นที่เข้าใจในการเรียนการสอบ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงได้ทรงประทานพระอธิบายแนะนำ ในวิธีการเรียนการสอบ สำหรับทั้งครูและกรรมการผู้สอบ และสำหรับนักเรียนผู้จะต้องสอบ ไว้อย่างละเอียด ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการเรียนการสอบตามภูมิชั้นแห่งการศึกษานักธรรมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ พระอธิบายแนะนำดังกล่าวนี้ ยังแสดงให้เห็นแนวพระดำริในการศึกษาธรรมวินัยว่า ควรสังเกตศึกษา และควรทำความเข้าใจในประเด็นใด ในแง่มุมใดบ้าง จึงจะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างถ่องแท้ จึงนับว่าเป็นพระอธิบายแนะนำที่มีประโยชน์ไม่เฉพาะแก่ผู้ศึกษานักธรรมเท่านั้น ฉะนั้น จึงได้นำมาบันทึกไว้ในที่นี้ด้วย ดังนี้

 

คำแนะนำหัวข้อแต่งปัญหาธรรมวิภาค

(ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา. หน้า ๓๘๕.)

          ๑. ให้รู้จักถือเอาความเข้าใจข้อธรรมอันย่อ เช่น อัตตสัมมาปณิธิ ทำอย่างไรเรียกว่าตั้งตนไว้ชอบ

          ๒. ให้รู้จักสังเกตว่าธรรมชื่อนั้น เช่น ศรัทธา วิริยะ ปัญญา มาในประเภทแห่งธรรมชื่ออะไรบ้าง

          ๓. ให้รู้จักสังเกตศัพท์ว่า ศัพท์นั้นเป็นชื่อแห่งธรรมอย่างนั้นบ้าง เช่น อินทรีย์เป็นชื่อของทวารมีจักษุเป็นต้นก็มี เป็นชื่อของธรรมมีศรัทธาเป็นต้นก็มี

          ๔. ให้รู้จักสันนิษฐานว่า ธรรมนั้นได้ชื่ออย่างนั้น เพราะอรรถอย่างไร เช่น ธรรมได้ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นใหญ่ในกิจของตน ๆ

          ๕. ให้รู้จักสังเกตว่า ธรรมชื่อเดียวเรียกเป็นหลายอย่างก็มี เช่นจักษุ เรียกว่าอายตนะภายในก็ได้ เรียกว่าอินทรีย์ก็ได้ เรียกว่าทวารก็ได้

          ๖. ให้รู้จักใช้ความจำ เช่น ถามถึงประเภทธรรมชื่อนั้น มีเท่าไร อะไรบ้าง และยกขึ้นแต่ลำดับข้อ เช่น อปริหานิยธรรมข้อ ๔ อย่างไร จึงเป็นที่ตั้งแห่งความเจริญ

          ๗. ให้รู้จักถือเอาความตรงกันข้าม เช่น ทางชอบมีแล้ว อย่างไร เป็นความผิด

          ๘. ให้รู้จักวางบทตัดสิน เช่น การบนต่อวัตถุศักดิ์สิทธิ์ ในพระพุทธศาสนาอนุมัติหรือไม่ มีธรรมข้ออะไรเป็นเครื่องอ้าง

          ๙. ให้รู้จักสันนิษฐานความให้เข้าหลัก เช่น ปฏิรูปเทศในจักร ๔ อาจอธิบายไปได้หลายทาง แต่ในที่นี้ มีสัปปริสูปสังเสโวอยู่ในลำดับ แก้ว่าประเทศมีสัตบุรุษอยู่ เป็นปฏิรูปเทศ

          ๑๐. ให้รู้จักโยงข้อธรรมในประเภทเดียวกันให้เนื่องถึงกัน เช่น วุฒิ ๔ เป็นอาทิ

          ๑๑. ให้รู้จักลักษณะต่างแห่งธรรมอันแม้นกัน เช่น สติกับสัมปชัญญะ

 

คำแนะนำหัวข้อแต่งปัญหาวินัยบัญญัติ

(เล่มเดียวกัน, หน้า ๓๘๖.)

          ๑. ให้รู้จักสังเกตคำถามว่า ระบุลักษณะมีเจตนาเป็นต้น ชัดหรือเคลือบคลุม เช่น ถามว่าภิกษุดื่มน้ำมีตัวสัตว์ต้องอาบัติอะไร เช่นนี้เป็นคำถามอันเคลือบคลุม ไม่ได้ระบุเจตนา และไม่ได้ระบุชนิดสัตว์ อันจะปรับเป็นปาจิตติยได้ ต่อเมื่อได้ความว่าเป็นสัตว์ที่อาศัยน้ำ และภิกษุรู้อยู่ว่าในน้ำนั้นมีสัตว์ชนิดนั้น

          ๒. ให้รู้จักเทียบเคียงสิกขาบทอันละม้ายกัน มีอนิยตะสองเป็นตัวอย่าง

          ๓. ให้รู้จักสังเกตว่า การบางอย่าง เป็นวัตถุแห่งอาบัติหลายชนิด เช่น มุสาวาทเป็นตัวอย่าง

          ๔. ให้รู้จักสังเกตว่า บางสิ่งบางอย่าง กล่าวในหลายสิกขาบท เช่น การทำจีวร เป็นเหตุให้ได้รับยกเว้นต่าง ๆ

          ๕. ให้รู้จักใช้ความจำ เช่น ลำดับแห่งสิกขาบทเป็นต้น

          ๖. ให้รู้จักยันหลักของตนให้มั่น อย่าให้น้อมใจไปตามคำถาม

          ๗. ให้รู้จักวางบทตัดสิน

          ๘. ให้รู้จักสันนิษฐานความให้เข้าหลัก เช่น อย่างไรเป็นมุสาวาท อย่างไรเป็นฆ่าสัตว์

          ๙. ให้รู้จักสันนิษฐานการทำว่าถึงที่สุดหรือยัง

          ๑๐. ให้รู้จักความมุ่งหมายเป็นเหตุบัญญัติสิกขาบท

          ๑๑. ให้รู้จักกำหนดสิกขาบทอันยังเป็นสมมุ่งหมาย หรืออันกลายไปเสียแล้ว

 

คำแนะนำในการเรียงความ

แก้กระทู้ธรรมประโยค น.ธ. โท

(เล่มเดียวกัน, หน้า ๓๘๗.)

          ต้องชักที่มาเชื่อมความให้สนิท อย่างน้อย ๓ แห่ง จากหนังสือต่างชื่อ ๆ หนังสือที่ชักมานั้น ไม่ต่างกันทั้งสามชื่อก็ได้ เป็นแต่อย่าอ้างหนังสือชื่อเดียวซ้ำติด ๆ ติดกันทั้ง ๓ หน หรือ ๒ หน ถ้าจักอ้างหนังสือซ้ำชื่อ ต้องอ้างสลับชื่อ เช่น อ้างพุทธศาสนสุภาษิตแล้ว ต้องอ้างอื่น ต่างว่าอรรถกถาธรรมบท แต่นั้น จึงอ้างพุทธศาสนสุภาษิตได้อีก

 

คำแนะนำในวินัยบัญญัติ

(เล่มเดียวกัน, หน้า ๓๗๙.)

          ๑. พึงพิจารณาคำในสิกขาบท และทุกข์เข้าใจความแห่งคำนั้น เช่นคำว่า อวดอุตตริมนุสสธรรม พูดปด ฆ่าสัตว์ คำเหล่านี้ บางคำก็บ่งเจตนาอยู่ในตัว บางคำก็ไม่บ่น

          ๒. พึงรู้ความประสบแห่งการตั้งสิกขาบท เช่น ห้ามพูดมุสา ห้ามปิดหรือเปิดอาบัติ ห้ามไม่ให้เทน้ำมีตัวสัตว์ลงดินหรือหญ้า

          ๓. พึงกำหนดเจตนา สิกขาบทบางอย่างต่อมีเจตนาและทำฝ่าฝืน จึงเป็นอันล่วง สิกขาบทบางอย่างไม่บ่งเจตนา เช่นนี้สักว่าทำ ก็เป็นอันล่วง เจตนาจะพึงกำหนดรู้ด้วยคำว่า แกล้งรู้อยู่เป็นต้น บางคำก็บ่งเจตนาอยู่ในตัวเช่นพูดปด บางคำไม่บ่งเช่นดื่ม

          ๔. พึงกำหนดองค์ของสิกขาบทว่ามีเท่าไรและอย่างไรบ้าง เช่น อทินนาทานวัตถุอันมีราคา ๕ มาสก เป็นองค์ของปาราชิก ขอจีวรต่อคฤหัสถ์ อันเป็นปาจิตตีย์ คฤหัสถ์นั้นไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา ไม่มีสมัย ไม่ลาภิกษุเข้าบ้านในวิกาล เฉพาะภิกษุมีในอาราม และไม่มีกิจรีบ

          ๕. พึงเทียบสิกขาบทอันมีความคล้ายคลึงกันเช่นสังฆาทิเสสที่ ๖ กับที่ ๗ โภชนวรรคที่ ๙ แห่งปาจิตีย์ และโภชนปฏิสังยุตต์ที่ ๑๑ แห่งเสขิยวัตรและรโหนิสัชชะ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ แห่งอเจลกวรรค ปาจิตตีย์ นี้รู้ได้ด้วยเทียบเคียง

          ๖. พึงสังเกตสิกขาบทที่น่าเห็นว่าแย้งกัน เช่น จีวรวรรคที่ ๑ กับที่ ๓ แห่งนิสสัคคีย์และมุสาวาทวรรคที่ ๙ กับสัปปาณวรรคที่ ๔

          ๗. พึงใส่ใจลำดับแห่งสิกขาบท และหัวข้อแห่งประเภทต่าง ๆ เช่น โภชนะ ๕ อธิกรณ ๔

ไม่เช่นนั้นมักจำไม่ได้ครบ ตกหล่นในระหว่าง ๆ และนึกถึงไม่คล่อง

          ๘. พึงอ่านหนังสืออื่นที่อธิบายความกว้างออกไป เช่น บุพพสิกขาวัณณนา เพื่อจะได้ความรู้เข้ามาประกอบ

          ๙. พึงรู้จักใคร่ครวญถึงข้ออันภิกษุทำ ถ้าไม่ครบองค์เป็นเหตุต้องอาบัติเต็มที่ แต่ไม่พ้นไปได้ด้วยประการทั้งปวง เช่นนี้ต้องอาบัติลดลงมา เป็นส่วนบุพพประโยคบ้าง ส่วนวัตถุบ้าง จะพึงรู้ได้ด้วยอ่านหนังสืออื่น หรือได้ฟังอธิบาย

          ๑๐. ปัญหาที่ผูกขึ้นถามนั้น หมายจะให้ผู้เรียนมีความฉลาดไหวพริบรู้จักสังเกต จึงเป็นปัญหาต่างชนิดกล่าวข้อความเต็มบริบูรณ์ก็มี กล่าวความบกพร่องก็มี พึงพิจารณาตามหลัก ดังนี้

          ก. ให้เข้าใจเนื้อความแห่งปัญหาก่อน ถ้าเข้าใจผิด ตอบย่อมผิดตาม

          ข. ให้รู้ว่าเป็นปัญหาบริบูรณ์ หรือบกพร่องแล้ว ตอบโดยฐานะ

          ค. ปัญหาบางข้อ ถามโดยทางอ้อม เช่น ภิกษุเดินผ่านแถวทหารอันฝึกหัดและเหลียวดู เช่นนี้ไม่เป็นอาบัติเพราะอเจลกวรรคที่ ๑๐ แต่เป็นอาบัติเพราะไม่ทอดจักษุ เป็นตัวอย่าง

          ๑๑. พึงรู้จักความล่วงอันเดียว แต่เป็นเหตุต้องอาบัติหลายชนิด เช่นพูดมุสา เป็นตัวอย่าง

 

คำแนะนำในธรรมวิภาค

(เล่มเดียวกัน, หน้า ๓๘๒.)

          ๑. พึงรู้จักความแห่งคำที่เรียกทับศัพท์ ตลอดถึงชื่อแห่งข้อและหมวดธรรม เช่น นิวรณ์ อคติ เบญจขันธ์เป็นต้น และเช่น อัตตสัมมาปณิธิ บุพเพกตปุญญตา จักร ๔ พละ ๕ เป็นต้น เพราะเกื้อกูลแก่การฟังเข้าใจ การจำเป็นหลัก และการเรียกสะดวก

          ๒. พึงรู้ความประสงค์แห่งการแสดงข้อธรรมเหล่านั้น เช่น ภยาคติ อัตตสัมมาปณิธิ โลกธรรม เป็นต้น

          ๓. พึงรู้จักอนุโลมข้อธรรมที่แก้ไว้สูง พึงรู้จักผ่อนให้ต่ำลงมา เช่น สัมมาสมาธิ ที่แก้ว่า เจริญฌาน ๑ ที่แก้ไว้ต่ำ พึงรู้จักเขยิบขึ้นให้สูง เช่น อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์

          ๔. พึงรู้จักถือเอาความแห่งข้อหนึ่ง เพราะมีข้ออื่นบ่ง เช่นปฏิรูปเทศ เป็นตัวอย่าง

          ๕. พึงรู้จักศัพท์อันเดียวแต่หมายความต่าง ๆ เช่น อินทริยและจาคะ เป็นต้น

          ๖. พึงกำหนดข้อธรรมอันเดียวแต่มาในหมวดต่าง ๆ หลายหมวด เช่น ศรัทธาและปัญญาเป็นตัวอย่าง

          ๗. พึงเข้าใจเรียงธรรมบางหมวดให้เกี่ยวเนื่องเป็นเหตุและผลของกัน เช่น วุฒิ ๔ จักร ๔ โพชฌงค์ ๗ เป็นตัวอย่าง

          ๘. พึงเทียบหมวดธรรมอันละม้ายคล้ายคลึงกัน เช่น อริยทรัพย์ และสัปปุริสธรรมเป็นตัวอย่าง

          ๙. พึงเทียบธรรมที่เห็นว่าน่าแย้งกัน เช่น คณสังคณิกาและหมั่นประชุม

          ๑๐. พึงรู้จักอรรถที่ตรงกันข้าม ที่เรียกว่าฝ่ายขาวฝ่ายดำ เช่น องค์แห่งมรรค ๘ เป็นฝ่ายขาว คือส่วนดี พึงรู้จักองค์อันเป็นฝ่ายดำ คือส่วนชั่ว ดุจเดียวกัน มละ ๙ เป็นฝ่ายดำ พึงรู้จักฝ่ายขาวด้วย

          ๑๑. พึงรู้จักความกว้างความแคบ เช่น สิกขาและสิกขาบท สังขาร และเวทนา เป็นตัวอย่าง

          ๑๒. พึงรู้จักย่นข้อธรรมอันมากให้น้อย เช่น นามขันธ์ และโลกธรรมเป็นตัวอย่าง

          ๑๓. พึงรู้จักศัพท์อันมีความเป็นอันเดียวกัน เช่น บุญ กุศล สุจริต และบาป อกุศล ทุจริต และเหตุ ปัจจัย มูล เป็นตัวอย่าง

          ๑๔. พึงอ่านหนังสือต่าง ๆ เช่น พุทธสมัยและวรรณนาเป็นต้น เพื่อได้ความรู้เข้ามาประกอบ

          ๑๕. พึงใส่ใจลำดับแห่งข้อธรรมและหมวดธรรม นี้เป็นอุปการะแก่การจำแม่นไม่ตกหล่น และนึกถึงได้คล่อง ๆ

          ๑๖. พึงพิจารณาปัญหาและตอบตามหลัก ดังต่อไปนี้

                   ก.พึงเข้าใจแห่งปัญหาก่อน ถ้าเข้าใจผิด ตอบย่อมผิดตาม

                   ข.ถ้าเป็นปัญหาถามเพื่อสอบความจำ พึงตอบตามแบบให้บริบูรณ์ เป็นแต่ประกอบคำตอบให้สมรูปปัญหา

                   ค.ถ้าเป็นปัญหาให้ออกความคิด พึงตอบตามความเห็นของตน

                   ฆ.ถ้าเป็นปัญหาจะให้ตอบตามหลัก เช่น ถามถึงลักษณะสัตบุรุษ พึงตอบอาศัยสัตบุรุษธรรมเป็นตัวอย่าง

×

จัดหลักสูตรนักธรรมเชื่อมโยงกับหลักสูตรบาลี

         หลังจากได้จัดตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นโทขึ้นแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ทรงจัดระเบียบชั้นเปรียญใหม่ให้เชื่อมโยงกับการศึกษานักธรรม ดังนี้

          (๑) พระนักธรรมแปลบาลีประโยค ๓ ได้แล้ว เป็นเปรียญธรรมชั้นตรี จักได้รับพระราชทานพัดยศและประกาศนียบัตรทรงตั้งคราวหนึ่ง

          (๒) เปรียญธรรมชั้นตรี ต้องเป็นนักธรรมชั้นโทก่อน จึงจะแปลบาลีประโยคต่อไปได้ แปลได้ประโยค ๔,๕ นับว่าเป็นเปรียญธรรมชั้นโท แต่ยังไม่ได้รับพระราชทานพัดเปลี่ยนและประกาศนียบัตร เพราะเป็นเพียงการเลื่อนประโยค ต่อเมื่อแปลบาลีประโยค ๖ ได้แล้วจึงนับว่าเป็นเปรียญธรรมชั้นโทเต็มที่ จักได้รับพระราชทานพัดยศเปลี่ยนและประกาศนียบัตรทรงตั้งอีกคราวหนึ่ง

          (๓) ในเวลาที่ยังไม่ได้ตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรมชั้นโทแปลบาลีประโยค ๗,๘ ได้แล้ว นับเป็นเปรียญบาลีชั้นเอก แต่ยังไม่ได้รับพระราชทานพัดเปลี่ยนและประกาศนียบัตรทรงตั้ง เพราะเป็นเพียงการเลื่อนประโยค ต่อเมื่อแปลบาลีประโยค ๙ ได้แล้ว นับเป็นเปรียญบาลีชั้นเอกเต็มที่ จักได้รับพระราชทานพัดยศเปลี่ยนและประกาศนียบัตรทรงตั้งอีกคราวหนึ่ง

         เมื่อตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นเอกขึ้นแล้ว จักรวมเข้าในชั้นนี้ ผู้สอบได้เป็นเปรียญธรรมชั้นเอก (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๕ พ.ศ. ๒๔๖๐. หน้า ๓๗๕.)

×

พัดนักธรรม

          เมื่อแรกตั้งนักธรรมชั้นตรีขึ้นนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้โปรดให้ทำพัดรอง มีตราคณะสงฆ์ (ตราธรรมจักร) ประทานแก่ผู้สอบนักธรรมชั้นตรีได้ เพื่อเป็นการยกย่องนักธรรม ครั้นการสอบนักธรรมชั้นตรีแพร่หลายไป มีผู้สอบนักธรรมชั้นตรีได้มากขึ้น ผู้ได้รับประทานพัดนักธรรมก็มีมากขึ้น จนผู้ได้รับพัดนักธรรมไม่รู้สึกว่าเป็นเกียรติยศ จึงไม่ค่อยนิยมถือกัน

          ถึง พ.ศ. ๒๔๖๐ หลังจากตั้งนักธรรมมาได้ ๖ ปี สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงพระดำริจัดเรื่องพัดนักธรรมใหม่ คือพัดนักธรรมไม่ประทานแก่ผู้สอบได้ทั่วไป ทังนักธรรมชั้นตรี และนักธรรมชั้นโท แต่ประทานเฉพาะพระนักธรรมที่มีพรรษาพ้น ๕ แล้ว และมีหน้าที่ทางการพระศาสนา เช่น เป็นครูสอน เป็นต้น และทรงกำหนดให้พระนักธรรมถือพัดนักธรรม ในพิธีทางราชการ เช่นเดียวกับพระมีฐานันดรถือพัดยศ (เล่มเดียวกัน, หน้า ๓๔๗-๓๔๘.)

          ถึง พ.ศ. ๒๔๖๓ ทรงจัดระเบียบเรื่องพัดยศเปรียญและพัดนักธรรมอีกครั้งหนึ่ง สำหรับพัดนักธรรมนั้น เลิกประทานพัดนักธรรมชั้นตรี เพราะส่วนใหญ่สอบเลื่อนเป็นนักธรรมชั้นโทแล้ว ส่วนพระนักธรรมชั้นตรีที่ไม่สอบเลื่อนเป็นนักธรรมชั้นโทและมีหน้าที่ทางการพระศาสนา ยังคงได้รับประทานอยู่ ส่วนพัดนักธรรมชั้นโทนั้น ก็ประทานเฉพาะแก่ผู้สอบได้นักธรรมชั้นโทที่มีพรรษาพ้น ๕ แล้ว สำหรับผู้ที่สอบได้แต่พรรษายังไม่ถึง ๕ ต้องรอจนกว่าพรรษาครบ ๕ แล้ว จึงจะได้รับประทานพัด (ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา. หน้า ๓๗๐-๓๗๑.)

          การสอบนักธรรมชั้นโทในระยะแรก มารวมสอบในสนามหลวง กรุงเทพฯ เพราะยังมีจำนวนผู้เข้าสอบไม่มากและส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือในปริมณฑลใกล้เคียง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นต้นไป สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ได้ทรงประกาศให้จัดสอบนักธรรมชั้นโทในสนามต่างจังหวัดได้ โดยใช้ข้อสอบของสนามหลวง ปฏิบัติตามระเบียบการสอบของสนามหลวง และสอบในวันเวลาเดียวกันกับสนามหลวงในกรุงเทพฯ (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑๐ พ.ศ. ๒๔๖๕ หน้า ๓๑๑.)

×

นักธรรมชั้นเอก

          พ.ศ. ๒๔๖๔ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สิ้นพระชนม์ นักธรรมชั้นเอกที่ทรงพระดำริไว้จึงยังไม่ได้จัดตั้งขึ้นตามพระประสงค์ในยุคของพระองค์ การศึกษานักธรรมจึงจัดได้เพียง ๒ ชั้น คือ นักธรรมชั้นตรี กับนักธรรมชั้นโท

          แต่ในปีที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ สิ้นพระชนม์นั้นเอง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ผู้ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกสืบมา ก็ได้ทรงจัดตั้งนักธรรมชั้นเอกขึ้น ตามพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นั้น นักธรรมชั้นเอกภูมิเถระ สำหรับภิกษุผู้ใหญ่พ้นพรรษา ๑๐ แล้ว หลักสูตรนักธรรมชั้นเอก มีดังนี้

          ๑. เรียงความแก้กระทู้ธรรม จะให้หัวข้อธรรม ๓ ข้อที่ต่างกัน ต้องแต่งทำนองเทศนา เชื่อมความ ๓ ข้อนั้นให้สนิท

          ๒. แก้ปัญหาธรรม โดยปรมัตถเทศนา

          ๓. แก้ปัญหาพุทธานุพุทธประวัติ กับข้อธรรมในท้องเรื่องนั้น

          ๔. แก้ปัญหาวินัยบัญญัติมีสังฆกรรมเป็นต้น

          หนังสือสำหรับใช้เป็นหลักสูตรนักธรรมชั้นเอกนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงพระนิพนธ์เตรียมไว้แล้วเกือบจะครบถ้วน ดังนี้

          หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต และหนังสือธรรมอย่างอื่นมีมงคลวิเสสกถาเป็นต้น เป็นหลักสูตรสำหรับเรียงความแก้กระทู้ธรรม

          หนังสือธรรมวิจารณ์ พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เป็นหลักสูตรสำหรับแก้ปัญหาธรรมวิภาค

          หนังสือพุทธสมัยเล่มที่ ๒ ปริจเฉทที่ ๔,,๖ ในธรรมสมบัติหมวด ๓ เป็นหลักสูตรสำหรับแก้ปัญหาพุทธานุพุทธประวัติ

          นักธรรมชั้นโท จะสอบบาลีประโยค ๗ ต้องสอบได้นักธรรมชั้นเอกก่อน เมื่อสอบบาลีประโยค ๗,,๙ ได้แล้ว นับเป็นเปรียญธรรมชั้นเอก (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๙ พ.ศ. ๒๔๖๔ หน้า ๑๑๙.)

          และใน พ.ศ. ๒๔๖๔ นี้ ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี และหลักสูตรนักธรรมชั้นโทอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้

          นักธรรมชั้นตรี

          หลักสูตรพุทธประวัติ ใช้หนังสือพุทธประวัติเล่ม ๑ เล่ม ๓ พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ และหนังสือธรรมสมบัติปฐมสมโพธิ พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราช (สา) ๑ จบ

          นักธรรมชั้นโท

          หลักสูตรธรรมวิภาค ใช้หนังสือธรรมวิภาคปริจเฉทที่ ๒ พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ และหมวดอติเรกทสกะ

          หลักสูตรอนุพุทธประวัติ ใช้หนังสืออนุพุทธประวัติ ๑ เล่ม หนังสือพุทธานุพุทธประวัติ เฉพาะประวัติพระสาวก ๑ เล่ม และหนังสือธรรมสมบัติ สังคีติกถา ๑ จบ (เล่มเดียวกัน, หน้า ๑๒๐.)

          นักธรรมชั้นเอก

          หลักสูตรนักธรรมชั้นเอกได้สอบในสนามหลวงเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ และในศกเดียวกันนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชนวรสิริวัฒน์ ทรงปรับปรุงหลักสูตรนักธรรมชั้นเอก เพื่อให้ความรู้ของพระนักธรรมชั้นนี้สมเถรภูมิ ดังนี้

          หลักสูตรธรรมวิภาค ใช้หนังสือธรรมวิจารณ์ หนังสือสมถกรรมฐาน มหาสติปัฏฐานสูตรและคิริมานนทสูตรแปล และหนังสือวิปัสสนากรรมฐาน

          หลักสูตรพุทธานุพุทธประวัติ ใช้หนังสือพุทธประวัติเล่ม ๑, เล่ม ๓ หนังสือปฐมสมโพธิ หนังสือพุทธานุพุทธประวัติ หนังสืออนุพุทธประวัติ และหนังสือสังคีติกถา (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑๐ พ.ศ. ๒๔๖๕ หน้า ๕๘๙.)

×

เปลี่ยนลำดับประโยคนักธรรม

          การสอบนักธรรมทั้ง ๓ ชั้นในระยะแรกนั้น เป็นที่สนใจของทายกทายิกาเป็นอันมาก จึงมีผู้มาร่วมดูการสอบและรอฟังผลการสอบกันมาก ทั้งภิกษุสามเณรและชาวบ้าน การตรวจและประกาศผลจึงทำให้เสร็จภายในวันสุดท้ายของการสอบ เพราะจำนวนผู้เข้าสอบในแต่ละสนามยังมีไม่มากนัก แต่บางสนานกว่าจะตรวจและประกาศผลได้ก็มืดค่ำหรือดึก ไม่เป็นการสะดวกแก่ผู้มาร่วมฟังผลการสอบ ถึง พ.ศ. ๒๕๖๘ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ จึงทรงเปลี่ยนลำดับประโยคนักธรรม(หรือลำดับวิชาที่สอบ) ใหม่ เพื่อให้สะดวกแก่การตรวจใบตอบและเสร็จทันเวลาประกาศผลในวันสุดท้ายของการสอบได้ไม่ชักช้านัก โดยให้ทุกสนามสอบเรียงลำดับประโยคที่สอบได้ดังนี้

          วันที่ ๑ สอบธรรม

          วันที่ ๒ สอบพุทธ

          วันที่ ๓ สอบวินัยบัญญัติ

          วันที่ ๔ สอบเรียงความแก้กระทู้ธรรม (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑๓ พ.ศ. ๒๔๖๘. หน้า ๔๔๑.)

          และในศกเดียวกันนี้ (พ.ศ. ๒๔๖๘) ได้ทรงปรับปรุงเกี่ยวกับการสอบนักธรรมในด้านอื่น ๆ อีกดังนี้

          (๑) ในแต่ละมณฑล ให้จัดสนามสอบนักธรรมเพียงแห่งเดียว ในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งตามที่เห็นสมควร สำหรับจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ สามารถมาสอบในกรุงเทพฯ ได้

          (๒) เลิกการสอบควบประโยคนักธรรมกับประโยคบาลี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นต้นไปผู้จะสอบบาลีประโยค ๔ ต้องสอบนักธรรมชั้นโทได้ก่อน และผู้จะสอบบาลีประโยค ๗ ต้องสอบนักธรรมชั้นเอกได้ก่อน

          (๓) เนื่องจากจำนวนผู้เข้าสอบนักธรรมเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพื่อความสะดวกเรียบร้อยในการจัดสอบ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นต้นไป จึงมีการทำบัตรสอบประจำวันแจกผู้เข้าสอบในแต่ละวัน มีหมายเลขผู้เข้าสอบและประทับตราสนามหลวงเป็นสำคัญ จัดให้ผู้เข้าสอบนั่งประจำโต๊ะให้ตรงกับหมายเลขของตนเอง (ประวัติการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย. หน้า ๑๕๕-๑๕๖.)

×

ปรับปรุงระเบียบการสอบนักธรรม

          ระเบียบการสอบนักธรรม ได้มีการปรับปรุงมาเป็นระยะ ๆ เพื่อความเหมาะสมแก่การขยายการศึกษาและส่งเสริมการศึกษา ทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลีให้กลมเกลียวกัน และแพร่หลายกว้างขวางยิ่งขึ้น นับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นไป จึงมีการปรับปรุงระเบียบการสอบนักธรรมในด้านต่าง ๆ มาโดยลำดับ ดังนี้

          (๑) ผู้จะสอบบาลีประโยค ๔ และประโยค ๗ อนุญาตให้สอบนักธรรมชั้นโทอันเป็นบุรพประโยคของบาลีประโยค ๔ และสอบนักธรรมชั้นเอกอันเป็นบุรพประโยคของบาลีประโยค ๗ ควบคู่กันไปได้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นไป

          (๒) ประกาศให้แยกนักธรรมชั้นโทออกจากสนามหลวง รวมอยู่ในสนามสาขาแห่งสนามหลวงได้ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นไป

          (๓) อนุญาตให้สามเณรมีอายุ ๑๗ ปีขึ้นไปสอบนักธรรม ในสนามสาขาของสนามหลวง ได้ (เดิมต้องมีอายุ ๑๙ ปีขึ้นไป) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นไป

          (๔) เปิดสอบนักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท และนักธรรมชั้นเอก ทั้งสนามในกรุงเทพฯ และสนามในจังหวัดต่าง ๆ พร้อมกันทั่วพระราชอาณาจักร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑ เป็นต้นไป และเป็นการเปิดสอบนักธรรมชั้นเอกในสนามต่างจังหวัดเป็นครั้งแรก (เล่มเดียวกัน, หน้า ๑๕๖-๑๕๗.)

          (๕) ลดจำนวนข้อสอบแต่ละวิชาลง ในระยะเริ่มแรก (พ.ศ. ๒๔๕๕) ข้อสอบหรือปัญหาของแต่ละวิชามีจำนวน ๒๑ ข้อ ไม่มีกำหนดเวลาสอบ ยังมีผู้นั่งสอบอยู่ด้วยกันน้อยกว่า ๖ รูป ถือว่าหมดเวลา ต่อมาเปลี่ยนกำหนดเป็นถ้ามีผู้นั่งสอบอยู่ด้วยกันน้อยกว่า ๓ รูปถือว่าหมดเวลา ถึง พ.ศ. ๒๔๕๗ ลดจำนวนข้อสอบลงเหลือวิชาละ ๑๔ ข้อ และกำหนดเวลาสอบ ๓ ชั่วโมงครึ่ง ถึง พ.ศ. ๒๔๗๒ ลดจำนวนข้อสอบลงเหลือวิชาละ ๗ ข้อ และกำหนดเวลาสอบวิชาละ ๒ ชั่วโมง สำหรับนักธรรมชั้นเอก ให้เวลาสอบวิชาละ ๓ ชั่วโมง (เล่มเดียวกัน, หน้า ๑๓๙, ๑๕๘.)

×

หลักสูตรนักธรรม

          นับแต่ได้มีการตั้งหลักสูตรนักธรรมขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ หลักสูตรได้มีการปรับปรุงเรื่อยมาเป็นระยะ ทั้งในด้านเนื้อหาวิชาและตำราที่ใช้เป็นหลักสูตรหรือแบบเรียนในชั้นนั้น ๆ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผู้สอบนักธรรมได้ในชั้นนั้น ๆ มีความรู้สมกับภูมิ เพราะวัตถุประสงค์สำคัญในการที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระดำริจัดตั้งการศึกษานักธรรมขึ้นนั้น ก็เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ธรรมวินัยสมกับภูมิของตน กล่าวคือ

          - นักธรรมชั้นตรี เพื่อให้ผู้ศึกษาเล่าเรียนซึ่งยังอยู่ในภูมินวกะ มีพรรษาหย่อน ๕ มีความรู้ธรรมวินัยพอ รักษาตัวได้

          - นักธรรมชั้นโท เพื่อให้ผู้ศึกษาเล่าเรียนซึ่งอยู่ในภูมิชั้นมัชฌิมะ มีพรรษาเกิน ๕ มีความรู้ธรรมวินัยละเอียดกว้างขวางออกไปถึงชั้นพอช่วยแนะนำผู้อื่นได้

          - นักธรรมชั้นเอก เพื่อให้ผู้ศึกษาเล่าเรียนซึ่งอยู่ในภูมิเถระ มีพรรษาเกิน ๑๐ มีความรู้ธรรมวินัยละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงชั้นสามารถเป็นหลักในสังฆกรรมและเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ดูแลสั่งสอนผู้อื่นได้

          เมื่อทรงตั้งหลักสูตรนักธรรมขึ้นแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ทรงพระนิพนธ์หนังสือต่าง ๆ สำหรับใช้เป็นแบบเรียนของนักธรรมชั้นนั้น ๆ ด้วย หนังสือบางเรื่องที่ยังทรงพระนิพนธ์ไม่เสร็จ ก็ทรงใช้หนังสืออื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกันเป็นตำราหรือแบบเรียนไปพลาง แม้นักธรรมชั้นเอกที่ตั้งขึ้นหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์แล้วพระองค์ก็ได้ทรงพระนิพนธ์ตำราสำหรับใช้เป็นหลักสูตรเตรียมไว้เกือบครบทุกวิชา

          หลักสูตรนักธรรมทุกชั้น ซึ่งได้ปรับปรุงมาโดยลำดับนั้น มาถึง พ.ศ. ๒๔๖๙ จึงเป็นอันยุติได้ ดังนี้

          หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี

          - เรียงความแก้กระทู้ธรรม ใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต

          - ธรรมวิภาค ใช้หนังสือนวโกวาท

          - ตำนาน (พุทธประวัติ) ใช้หนังสือพุทธประวัติเล่ม ๑-๓ หนังสือปฐมสมโพธิของสมเด็จพระสังฆราช (สา)

          - วินัยบัญญัติ ใช้หนังสือนวโกวาท

          หลักสูตรนักธรรมชั้นโท

          - เรียงความแก้กระทู้ธรรม ใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต

          - ธรรมวิภาค ใช้หนังสือธรรมวิภาคปริจเฉทที่ ๒

          - ตํานาน (อนุพุทธประวัติ) ใช้หนังสืออนุพุทธประวัติ และหนังสือพุทธานุพุทธประวัติ เฉพาะประวัติพระสาวก หนังสือสังคีติกถา และหนังสือปฐมสมโพธิ

          - วินัยบัญญัติ ใช้หนังสือวินัยมุขเล่ม ๑-๒

          หลักสูตรนักธรรมชั้นเอก

          - เรียงความแก้กระทู้ธรรม ใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต และหนังสือธรรมอื่น ๆ มีมงคลวิเสสกถา เป็นต้น

          - ธรรมวิภาค ใช้หนังสือธรรมวิจารณ์ หนังสือสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน หนังสือมหาสติปัฏฐานสูตร และคิริมานนทสูตร แปล

          - ตํานาน (พุทธานุพุทธประวัติ) ใช้หนังสือพุทธประวัติ ๑-๓ หนังสือปฐมสมโพธิ หนังสือพุทธานุพุทธประวัติ หนังสืออนุพุทธประวัติ และหนังสือสังคีติกถา

          - วินัยบัญญัติ ใช้หนังสือวินัยมุขเล่ม ๓ (หลักสูตรนักธรรมและเปรียญสำหรับใช้ในการศึกษาและสอบไล่ธรรมวินัย ของพระภิกษุสามเณร. พระยาภักดีนฤเบศร์ รวบรวม. ฉบับพิมพ์ครั้งแรก. พ.ศ. ๒๕๖๙. หน้า ก-ข.)

          ถึง พ.ศ. ๒๔๗๔ มีการปรับปรุงในส่วนของวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรมอีกครั้งหนึ่ง คือสำหรับนักธรรมชั้นโท กำหนดหัวข้อธรรมที่ต่างกัน ๒ ข้อ ให้นักเรียนแต่งเป็นทำนองเทศน์เชื่อมความ ๒ ข้อนั้นให้ต่อเนื่องกันสนิท และให้ชักภาษิตในที่อื่นมาอ้าง ๒ แห่ง อย่าให้ซ้ำกัน

          สำหรับนักธรรมชั้นเอก กำหนดหัวข้อธรรมต่างกัน ๓ ข้อ ให้นักเรียนแต่งเป็นทำนองเทศน์ เชื่อมความ ๓ ข้อนั้นให้ต่อเนื่องกันสนิท และชักภาษิตในที่อื่นมาอ้าง ๓ แห่ง อย่าให้ซ้ำกัน

          และในศกเดียวกันนี้ ได้เพิ่มเติมหลักสูตรนักธรรมชั้นเอก คือให้สอบพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ อีกส่วนหนึ่ง และถือว่าเป็นวิชาสำคัญ ถ้าสอบวิชานี้ตกวิชาอื่นในชั้นเป็นอันตกไปด้วย

          หลักสูตรนักธรรมชั้นโทและชั้นเอกที่ปรับปรุงใหม่ดังกล่าวนี้ เริ่มใช้แต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นไป (ประวัติการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย. หน้า ๑๕๙-๑๖๐.)

×

ธรรมศึกษาตรี

          การศึกษานักธรรมในครั้งนั้น เป็นที่นิยมและเป็นที่ยกย่องทั้งในวงการคณะสงฆ์และในทางราชการ ผู้ที่สอบได้ประโยคนักธรรม เมื่อลาสิกขาออกไป ก็สามารถรับราชการเป็นครูสอนตามโรงเรียนต่าง ๆ เมื่อมีการสอบเลื่อนวิทยฐานะครู ผู้สอบได้ประโยคนักธรรมก็ได้รับสิทธิพิเศษ โดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องสอบ ๑ ชุดวิชา เพราะประโยคนักธรรมชั้นตรีจัดเป็นชุดวิชาหนึ่งสำหรับการเลื่อนวิทยฐานะ

          ต่อมาคณะสงฆ์ในสมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พิจารณาเห็นว่า การศึกษานักธรรมก็เป็นประโยชน์แม้แก่ผู้ที่ไม่ใช่ภิกษุสามเณร โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชการครู ดังนั้น คณะสงฆ์จึงอนุญาตให้ครูทั้งหญิงและชายเข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นตรีในสนามหลวงได้ โดยได้ตั้งหลักสูตร ประโยคนักธรรมสำหรับฆราวาส เรียกว่า “ธรรมศึกษาตรี” ซึ่งประกอบด้วยวิชาที่ต้องสอบเช่นเดียวกันกับหลักสูตรนักธรรมชั้นตรีสำหรับภิกษุสามเณร ยกเว้นวิชาวินัยบัญญัติ ใช้เบญจศีลเบญจธรรม และอุโบสถศีลแทน

          ธรรมศึกษาตรี เปิดสอบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ปรากฏว่ามีฆราวาสทั้งชายและหญิงสมัครสอบกันเป็นจำนวนมาก (เล่มเดียวกัน, หน้า ๑๕๘.)

×

ธรรมศึกษาโท

          เมื่อเห็นว่าฆราวาสสนใจศึกษาและสมัครสอบธรรมศึกษาตรีกันเป็นจำนวนมากในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ คณะสงฆ์จึงได้ตั้งหลักสูตรธรรมศึกษาโทขึ้น เพื่อเป็นการขยายการศึกษานักธรรมสำหรับฆราวาสให้กว้างขวางและแพร่หลายยิ่งขึ้น อันเป็นการส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาทางหนึ่ง หลักสูตรธรรมศึกษาโทประกอบด้วยวิชาที่ต้องสอบ ๓ วิชา คือธรรมวิภาค อนุพุทธประวัติ และเรียงความแก้กระทู้ธรรม เช่นเดียวกับหลักสูตรนักธรรมชั้นโทสำหรับภิกษุสามเณร ยกเว้นวินัยบัญญัติ ธรรมศึกษาโทสอบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ (เล่มเดียวกัน, หน้า ๑๕๙.)

×

ธรรมศึกษาเอก

          พ.ศ. ๒๔๗๘ คณะสงฆ์ได้ตั้งหลักสูตรธรรมศึกษาเอก และอนุญาตให้ฆราวาสสอบได้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นต้นไป (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๒๓ อ้างใน รายงานเรื่องการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย. (เอกสารโรเนียวเย็บเล่ม). ฝ่ายวิจัย กองแผนงาน กรมการศาสนา. พ.ศ. ๒๕๑๖. หน้า ๒๓.)

          หลักสูตรธรรมศึกษาเอกก็ประกอบด้วยวิชาที่ต้องสอบ ๓ วิชา คือ ธรรมวิภาค พุทธานุพุทธประวัติ และเรียงความแก้กระทู้ธรรม เช่นเดียวกับหลักสูตรนักธรรมชั้นเอกสำหรับภิกษุสามเณร ยกเว้นวินัยบัญญัติ

×

          การศึกษานักธรรม อันเป็นการศึกษาพระพุทธศาสนา หรือธรรมวินัยในภาษาไทย ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระดำริตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ นั้น ได้พัฒนามาโดยลำดับ ทั้งในด้านหลักสูตร การเรียนและการสอน เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ในธรรมวินัย ตลอดถึงความเป็นมาของพระพุทธศาสนาอย่างทั่วถึง พอแก่การที่จะเป็นศาสนทายาทที่มีคุณภาพ สามารถดำรงพระศาสนาไว้ได้ด้วยดี การศึกษานักธรรมได้เป็นที่นิยมนับถือของคณะสงฆ์ และได้รับการจัดให้เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของภิกษุสามเณรในประเทศไทยควบคู่ไปกับการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีนับแต่เริ่มต้นมาจนบัดนี้ การศึกษานักธรรมที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงตั้งขึ้นนี้ จึงนับว่ามีคุณประโยชน์ต่อการพระศาสนาในประเทศไทยเป็นอย่างมาก

          นอกจากนี้ การศึกษานักธรรมยังได้แผ่ประโยชน์ไปยังพุทธบริษัทฝ่ายฆราวาสด้วย ดังที่ฆราวาสจำนวนมากก็สนใจศึกษาและสอบธรรมศึกษากันเป็นจำนวนมากตลอดมาดังกล่าวแล้ว การที่พุทธบริษัทฝ่ายฆราวาสได้มีโอกาสเรียนรู้ธรรมวินัย นับว่ามีประโยชน์ต่อการที่จะช่วยส่งเสริมและดำรงรักษาพระศาสนาให้เจริญมั่นคงได้ทางหนึ่ง

×

แม่กองธรรมสนามหลวง

          การสอบนักธรรมอย่างเป็นทางการ ได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐) เมื่อทางราชการขอให้มหาเถรสมาคมกำหนดหลักสูตร เพื่อเป็นเกณฑ์ สามเณรรู้ธรรม สำหรับยกเว้นการเกณฑ์หทาร สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่น และทรงเป็น ประธานมหาเถรสมาคม จึงได้ทรงตั้งหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมขึ้น โดยทรงนำหลักสูตรที่ทรงใช้สอนพระใหม่ในวัดบวรนิเวศวิหารมานานแล้วนั่นเอง มาปรับปรุงเป็นหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรม

          การสอบองค์สามเณรรู้ธรรมได้มีขึ้นครั้งแรก ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐) ในการสอบครั้งแรกนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่า มีการเรียกผู้ดำเนินการสอบว่าอย่างไร

          พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้มีการสอบองค์สามเณรรู้ธรรม ครั้งที่ ๒ เรียกว่า สอบประโยคนักธรรม สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเป็นแม่กอง (ส่วนการสอบบาลี เรียกว่า ทรงเป็นประธาน) ต่อมาทรงปรับปรุงองค์สามเณรรู้ธรรมอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า องค์นักธรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งภิกษุสามเณรเข้าสอบได้ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงรวมองค์นักธรรม ประโยค ๑ และประโยค ๒ เข้าด้วยกันเป็น นักธรรมชั้นตรี การสอบ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ยังทรงเป็นแม่กอง (ส่วนการสอบบาลี ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ประธานเปลี่ยนเรียกว่า อธิบดี)

          พ.ศ. ๒๔๕๘ ปรากฏพระนาม กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็นแม่กองสนามหลวง ในรายงานการสอบความรู้นักธรรมในต่างจังหวัด

          ถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเป็นอธิบดี ในการสอบทั้งสอบนักธรรมและสอบบาลีและทรงตั้งพระเถระเป็น แม่กองตรวจธรรมรูปหนึ่ง เป็นแม่กองตรวจบาลีรูปหนึ่ง ในปีนี้ทรงตั้งพระธรรมวโรดม (สมเด็จพระวันรัต จ่าย ปุณฺณทตฺโต) เป็นแม่กองตรวจธรรม (ส่วนแม่กองตรวจบาลีว่าง)

          ถึง พ.ศ. ๒๔๗๐ ปรากฏหลักฐานว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ พระญาณวราภรณ์ เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๗๑ พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล) เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง ทั่วพระราชอาณาจักร

          จึงสรุปได้ว่า การศึกษานักธรรมนั้น ในชั้นแรก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอำนวยการด้วยพระองค์เอง ในการสอบสนามหลวงระยะแรก ทรงเป็นแม่กองเอง ถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ พระองค์จึงทรงดำรงอยู่ในฐานะอธิบดี คือดูแลรับผิดชอบการสอบทั้งหมด และทรงตั้งพระเถระเป็นแม่กองแผนกธรรมรูปหนึ่ง เรียกว่า แม่กองตรวจธรรม และทรงตั้งพระเถระเป็นแม่กองแผนกบาลีรูปหนึ่ง เรียกว่า แม่กองตรวจบาลี เป็นปี ๆ ไป ส่วนการสอบนักธรรมในสนามมณฑลหรือสนามจังหวัด ทรงตั้งพระเถระจากส่วนกลางหรือเจ้าคณะมณฑล เป็นแม่กองในการสอบ เป็นปี ๆ ไปเช่นกัน สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นั้น จึงทรงอยู่ในฐานะแม่กองธรรมสนามหลวงเป็นพระองค์แรก

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงตั้ง พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็นแม่กองสนามหลวง แผนกธรรม คำว่า แม่กองธรรมสนามหลวง จึงน่าจะเริ่มขึ้นในครั้งนี้ และพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ คงปฏิบัติหน้าที่แม่กองธรรมสนามหลวงตลอดมา จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๐ จึงทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระญาณวราภรณ์ เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง ในปีต่อมาคือ พ.ศ. ๒๔๗๑ จึงทรงตั้ง พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล) เป็นแม่กองธรรมสนามหลวงทั่วราชอาณาจักร ตำแหน่งแม่กองธรรมสนามหลวงจึงได้เป็นตำแหน่งประจำสืบมาจนปัจจุบัน

          จึงสรุปรายพระนามและรายนามแม่กองธรรมสนามหลวง ตั้งแต่เริ่มต้นจนปัจจุบันได้ดังนี้

          ๑. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร

          ๒. สมเด็จพระวันรัต (จ่าย ปุณฺณทตฺโต) วัดเบญจมบพิตรฯ

          ๓. พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธฯ

          ๔. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร

          ๕. พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล) วัดมกุฏกษัตริยาราม

          ๖. พระศรีสมโพธิ (เกษม ภทฺทธมฺโม) วัดมหาธาตุฯ

          ๗. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) วัดมหาธาตุฯ

          ๘. พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารี) วัดราษฎร์บำรุง ชลบุรี

          ๙. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) วัดราชผาติการาม

          ๑๐. พระสุธรรมาธิบดี (เพิ่ม อาภาโค) วัดราชาธิวาส

          ๑๑. สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร

          ๑๒. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

×

การสอบธรรมสนามหลวง

พ.ศ. ๒๔๕๔ (สอบครั้งแรก)

          ไม่ปรากฏรายนาม

พ.ศ. ๒๔๕๕

         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส     แม่กอง

         พระธรรมวโรดม (จ่าย)                                    รองแม่กอง

พ.ศ. ๒๔๕๖

         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส    แม่กอง

         กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์                                    รองแม่กอง

         พระธรรมวโรดม (จ่าย)                                    รองแม่กอง

 

การสอบธรรมในหัวเมือง

สนามมณฑลกรุงเก่า

         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส    แม่กอง

สนามมณฑลกรุงเทพฯ

         กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์                                    แม่กอง

สนามเมืองอุทัยธานี มณฑลนครสวรรค์

         พระราชสุธี                                                 แม่กอง

สนามเมืองนครราชสีมา

         พระศากยบุตติยวงศ์                                       แม่กอง

สนามมณฑลราชบุรี

         พระธรรมวโรดม                                           แม่กอง

สนามมณฑลพายัพ

         พระครูเจ้าคณะเมือง                                      แม่กอง

 

พ.ศ. ๒๔๕๘

         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส    แม่กอง

         กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์                                    รองแม่กอง

         พระธรรมวโรดม                                           รองแม่กอง

 

การสอบธรรมในหัวเมือง

สนามมณฑลกรุงเก่า

         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส    แม่กอง

สนามมณฑลกรุงเทพฯ

         กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์                                    แม่กอง

สนามมณฑลราชบุรี

         พระศรีวิสุทธิวงศ์                                          แม่กอง

สนามจังหวัดอุทัยธานี มณฑลนครสวรรค์

         พระราชสุธี                                                แม่กอง

สนามจังหวัดนครราชสีมา

         พระมหาขาว วัดสามพระยา                              แม่กอง

สนามจังหวัดอุบลราชธานี

         พระราชมุนี                                                แม่กอง

สนามจังหวัดนครศรีธรรมราช

         พระธรรมโกศาจารย์                                      แม่กอง

 

พ.ศ. ๒๔๕๙

         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส    อธิบดี

         พระธรรมวโรดม                                           แม่กองตรวจธรรม

 

การสอบธรรมในหัวเมือง

สนามมณฑลกรุงเทพฯ

         กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ แม่กองสนามหลวง               แม่กอง

สนามมณฑลกรุงเก่า

         พระญาณวราภรณ์                                        แม่กอง

สนามมณฑลราชบุรี

         พระเขมาภิมุขธรรม                                       แม่กอง

สนามจังหวัดอุทัยธานี

         พระเทพโมลี                                               แม่กอง

สนามจังหวัดนครราชสีมา

         พระนิกรมมุนี                                              แม่กอง

สนามจังหวัดอุบลราชธานี

         พระราชมุนี                                                แม่กอง

สนามจังหวัดปราจีนบุรี

         พระมหาชิ้น                                                แม่กอง

สนามมณฑลพายัพ

         พระครูโพธิรังสี                                            แม่กอง

         พระปลัดปัน วัดหอธรรม                                  รองแม่กอง

 

พ.ศ. ๒๔๖๐

         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส    อธิบดี

         กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์                                    แม่กองตรวจธรรม

         พระธรรมวโรดม                                           รองแม่กอง

 

การสอบธรรมในหัวเมือง

สนามมณฑลกรุงเทพฯ

         กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ แม่กองสนามหลวง               แม่กอง

สนามมณฑลกรุงเก่า

         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส    แม่กอง

สนามมณฑลราชบุรี

         พระราชกวี                                                แม่กอง

สนามจังหวัดอุทัยธานี

         พระเทพโมลี                                               แม่กอง

สนามจังหวัดอุบลราชธานี

         พระราชมุนี                                                แม่กอง

สนามจังหวัดชลบุรี

         พระธรรมไตรโลกาจารย์                                  แม่กอง

สนามมณฑลนครศรีธรรมราช

         พระธรรมโกศาจารย์                                      แม่กอง

 

พ.ศ. ๒๔๖๑

         กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์                                    แทนอธิบดี แม่กองตรวจธรรม

พ.ศ. ๒๔๗๐

         สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์         แม่กองธรรมสนามหลวง

         ขณะเป็นที่ พระญาณวราภรณ์

พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๔๘๔

         พระศาสนโศภน (แจ่ม)                                    แม่กองธรรมสนามหลวง ทั่วราชอาณาจักร

พ.ศ. ๒๔๘๖-๒๔๘๘

         พระศรีสมโพธิ (เกษม ภทฺทธมฺโม)                        แม่กองธรรมสนามหลวง

พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๙๑

         สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ)                      แม่กองธรรมสนามหลวง

         ขณะเป็นที่ พระศรีสุธรรมมุนี

พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๕๐๓

         พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารี)                            แม่กองธรรมสนามหลวง

         ขณะเป็นที่ พระชลธารมุนี

พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๓๒

         สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร)                    แม่กองธรรมสนามหลวง

         ขณะเป็นที่ พระธรรมปาโมกข์

พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๔๒

         พระสุธรรมาธิบดี (เพิ่ม อาภาโค)                         แม่กองธรรมสนามหลวง

         ขณะเป็นที่ พระธรรมวราภรณ์

พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๕๘

         สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต)                     แม่กองธรรมสนามหลวง

         ขณะเป็นที่ พระธรรมกวี

พ.ศ. ๒๕๕๙-ปัจจุบัน

         สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน)                            แม่กองธรรมสนามหลวง

         ขณะเป็นที่ พระพรหมมุนี

×

พัฒนาการสนามหลวงแผนกธรรม

สมัยพระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล) วัดมกุฏกษัตริยาราม

          ๑. ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคม ให้เป็นผู้อำนวยการสอบธรรมสนามหลวง แผนกนักธรรม ทั่วพระราชอาณาจักร

          ๒. เป็นผู้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการสอบธรรมสนามหลวง หลายอย่าง เช่น กำหนดวันสอบ การออกข้อสอบ (วิชาละ ๗ ข้อ แทน ๑๔ ข้อ) วิธีสอบ การทะเบียนบัญชี ระเบียบข้อบังคับ หลักสูตร (ใช้พุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๒ สำหรับเรียงความแก้กระทู้ธรรมชั้นโท และ เล่ม ๓ สำหรับกระทู้ธรรมชั้นเอก) เริ่มประมวลประกาศระเบียบบัญชี พร้อมทั้งปัญหาและเฉลยเข้าเป็นเล่มพิมพ์สำหรับแจกแก่คณะกรรมการ ซึ่งคงใช้ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

          ๓. เป็นผู้ริเริ่มการจัดทำทะเบียนภิกษุสามเณรผู้สอบนักธรรมได้ในสนามหลวง

          ๔. เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบประโยคนักธรรมชั้นตรี ของคฤหัสถ์ (ธรรมศึกษา) ในสนามหลวงครั้งแรก ตามมติมหาเถรสมาคม ใน พ.ศ. ๒๔๗๒

 

สมัยพระศรีสุธรรมมุนี (อาจ อาสโภ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (สถาปนาเป็นที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์)

          ๑. เป็นผู้เริ่มให้มีการสอบธรรมสนามหลวง แผนกนักธรรม และธรรมศึกษา ในต่างประเทศ เป็นครั้งแรก โดยเปิดสนามสอบที่ วัดปุญญาราม ตําบลอะห์ อำเภอกูบังปาสู รัฐเคดาห์ สหพันธรัฐมาเลเซีย ต่อมาได้มีการเปิดสอบที่รัฐกลันตัน อีกแห่ง

 

สมัยพระชลธารมุนี (ชอบ อนุจารี) วัดราษฎร์บำรุง จังหวัดชลบุรี (สถาปนาเป็นที่ พระพิมลธรรม)

          ๑. เป็นผู้นิพนธ์เรื่อง พุทธประวัติทัศนศึกษา

          ๒. เป็นผู้แนะนำให้คณะสังฆมนตรี มีประกาศสำนักสังฆนายก ยกวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑

 

สมัยพระธรรมปาโมกข์ (วิน ธมฺมสาโร) วัดราชผาติการาม (สถาปนาเป็นที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์)

          ๑. ประกาศใช้ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นหลักสูตรนักธรรมชั้นเอก วิชาวินัย

          ๒. ประกาศใช้ หนังสือพระปฐมสมโพธิกถา เป็นหลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษา ชั้นเอก วิชาพุทธานุพุทธประวัติ

          ๓. กำหนดวิธีการออกข้อสอบในสนามหลวง โดยขอจากพระเถรานุเถระ ผู้ทรงคุณวุฒิ วิชาละ ๒ รูป รูปละ ๗ ข้อ ทั้ง ๓ ชั้น เมื่อส่งมาที่สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงแล้ว แม่กองธรรมและผู้ช่วยแม่กองธรรม ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกไว้วิชาละ ๗ ข้อ เมื่อพิจารณาคัดเลือกแล้วนำถวายพระมหาเถระ ๔ ท่าน ช่วยพิจารณากลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง เสร็จแล้วจึงพิมพ์ใช้เป็นข้อสอบในสนามหลวง

          ๔. ข้อสอบที่จะใช้สอบในส่วนภูมิภาค ได้ส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อนำถวายเจ้าคณะจังหวัด และเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัด จัดการเปิดสอบ และอธิบดีกรมการศาสนาแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดขอความอุปถัมภ์ในการสอบธรรม

          ๕. กำหนดให้การตรวจธรรมสนามหลวงชั้นเอก ตรวจ ณ วัดสามพระยา ส่วนธรรมสนามหลวงชั้นตรีและชั้นโท ส่วนกลางถวายเจ้าสำนักสอบที่เป็นประธานดำเนินการตรวจ

          ๖. ได้รับความอุปถัมภ์จาก การรถไฟแห่งประเทศไทย ยกเว้นค่าโดยสารรถไฟ ทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ ให้พระภิกษุสามเณรนักธรรมเปรียญในจังหวัดพระนคร-ธนบุรี ที่เดินทางไปช่วยในการสอบภูมิภาค ปีละประมาณ ๔๐๐ รูป

 

สมัยพระธรรมวราภรณ์ (เพิ่ม อาภาโค) วัดราชาธิวาส (สถาปนาเป็นที่พระสุธรรมาธิบดี)

          ๑. เป็นผู้ดำเนินการจัดการสอบธรรมศึกษาในสนามหลวง แบบปรนัย ทั้ง ๓ ชั้น

          ๒. เป็นผู้ดำเนินการให้ครูสอบธรรมสนามหลวงในประเทศมาเลเซีย ได้รับนิตยภัตร และจัดสรรงบประมาณสนับสนุนสนามสอบธรรมสนามหลวงในประเทศมาเลเซีย

          ๓. เปิดการสอบธรรมสนามหลวงในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๕๓๗

 

สมัยพระธรรมกวี (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร (สถาปนาเป็นที่ สมเด็จพระวันรัต)

          ๑. จัดตั้งสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงถาวร โดยขอประทานพระอนุญาตจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ใช้อาคารหอสมุดมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสังฆิกเสนาสน์ของวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ทำการสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงพระเมตตาประทานอนุญาตตามประสงค์ และได้เสด็จมาเป็นประธานพิธีเปิดสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔

          ๒. จัดให้เจ้าหน้าที่สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง เข้าสัมมนาหลักสูตร ตามภาระรับผิดชอบ ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

          ๓. จัดนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเก็บข้อมูลสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง

          ๔. จัดทำการประชาสัมพันธ์งานสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงในสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ทำให้การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดถึงการเข้าถึงข้อมูลที่น่าสนใจของสาธารณชน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

          ๕. จัดทำหลักสูตรธรรมศึกษา ให้สอดคล้องกับระบบการศึกษาของรัฐ โดยเน้นให้ผู้เรียนสามารถนำพุทธศาสนธรรมไปใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ

          ๖. จัดให้มีการตรวจข้อสอบธรรมศึกษาในสนามหลวง (ส่วนกลาง) ด้วยระบบคอมพิวเตอร์

          ๗. จัดให้มีการประชาสัมพันธ์ และการประสานงานกับหน่วยงานทางการศึกษาของรัฐ อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีนักเรียนสนใจสมัครสอบหลักสูตรธรรมศึกษาในสนามหลวงเป็นจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านคน ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๘ เป็นต้นมา

          ๘. สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง-สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยรัฐมนตรีผู้กำกับงานพระพุทธศาสนา จัดให้มีการแถลงข่าวการสอบธรรมศึกษาในสนามหลวง ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๐ และจัดให้มีการประชาสัมพันธ์การเปิดสอบธรรมศึกษาเป็นทางการในปีการศึกษานั้นเป็นต้นมา

          ๙. สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง-สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดให้มีการมอบรางวัลสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ดีเด่นประจำปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นต้นมา

         ๑๐.  จัดให้มีการสอบธรรมสนามหลวงในต่างประเทศ ๑๔ ประเทศ ๔๑ สนามสอบ ดังนี้

               ๑๐.๑ สหพันธรัฐมาเลเซีย                  ๒ สนามสอบ

               ๑๐.๒ ประเทศสหรัฐอเมริกา             ๑๕ สนามสอบ

               ๑๐.๓ ประเทศออสเตรเลีย                 ๒ สนามสอบ

               ๑๐.๔ ประเทศนิวซีแลนด์                  ๓ สนามสอบ

               ๑๐.๕ สหราชอาณาจักร                    ๕ สนามสอบ

               ๑๐.๖ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี         ๒ สนามสอบ

               ๑๐.๗ ราชอาณาจักรเดนมาร์ก             ๑ สนามสอบ

               ๑๐.๘ สมาพันธรัฐสวิส                      ๑ สนามสอบ

               ๑๐.๙ สาธารณรัฐประชาชนจีน            ๒ สนามสอบ

               ๑๐.๑๐ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)           ๒ สนามสอบ

               ๑๐.๑๑ ประเทศญี่ปุ่น                      ๒ สนามสอบ

               ๑๐.๑๒ ประเทศแอฟริกาใต้                ๒ สนามสอบ

               ๑๐.๑๓ ประเทศบาห์เรน                   ๑ สนามสอบ

               ๑๐.๑๔ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์             ๑ สนามสอบ

×

การสอบธรรมสนามหลวงในต่างประเทศ

          การศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแบบไทย เรียกว่า พระปริยัติธรรมแผนกธรรมได้แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก เพราะโลกใบนี้ในสมัยก่อนอาจจะกว้างใหญ่ไพศาล แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าเล็กนิดเดียว เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การคมนาคมติดต่อสื่อสาร สะดวกสบายโดยอาศัยเครื่องมือต่าง ๆ เป็นสื่อประสานงานกันได้อย่างรวดเร็วทันใจ แม้สังคมมนุษย์ในแต่ละประเทศก็เปิดกว้างเพื่อศึกษาและเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของกันและกัน รวมถึงการค้าขายหรือทำธุรกิจร่วมกันระหว่างประเทศด้วย จึงทำให้มนุษย์ทั่วทุกมุมโลกได้เรียนรู้และสนใจศาสนา ภาษาและวัฒนธรรมของกันและกัน แล้วลงเอยด้วยการตัดสินใจที่จะตั้งรกรากปักหลักทำมาหากินและมีครอบครัวอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก แม้ประชาชนชาวไทยก็ทำนองเดียวกันนี้ ได้เดินทางไปประกอบอาชีพการงานอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในหลายประเทศ แล้วตัดสินใจมีครอบครัวและตั้งหลักฐานอยู่ในประเทศนั้น ๆ แต่ก็ยังรำลึกนึกถึงพระพุทธศาสนาและประเพณีวัฒนธรรมของตนอยู่เสมอ จึงได้กราบอาราธนาพระสงฆ์ไทยเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจและโปรดญาติโยมเพื่อนพ้องในประเทศที่ตนอยู่อาศัย แล้วลงเอยด้วยการตัดสินใจสร้างวัดเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจและมี พระสงฆ์เป็นที่พึ่งทางใจของชุมชนชาวไทย และชุมชนชาติอื่น ๆ ผู้ที่สนใจเรียนรู้และปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบันมีวัดพุทธไทยตั้งขึ้นในต่างแดนเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายประเทศ เกือบจะทุกทวีป โดยมีประชุมชนท้องถิ่นผู้สนใจในพระพุทธศาสนาเป็นผู้สนับสนุน พระธรรมทูตและประชาชนชาวไทยในประเทศนั้น ๆ ได้สนใจที่จะเรียนรู้และปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  ได้ทำหนังสือกราบเรียนมายังแม่กองธรรมสนามหลวง เพื่อขอเปิดเป็นสำนักพุทธศาสนศึกษาและเป็นศูนย์สอบธรรมสนามหลวงที่วัดซึ่งตนอุปถัมภ์บำรุงในประเทศนั้น ๆ ดังตัวอย่างที่วัดศรีนครินทรวรารามได้ถือปฏิบัติในการดำเนินการขอเปิดสำนักพุทธศาสนศึกษาและศูนย์สอบธรรมสนามหลวง โดยมีหนังสือที่ ๖/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๒ กราบเรียนพระเดชพระคุณแม่กองธรรมสนามหลวง และหนังสือตอบรับที่ กธ. ๒๕/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ อนุมัติให้เปิดสนามสอบธรรมศึกษา ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ของเลขานุการแม่กองธรรมสนามหลวง และต่อมาทางวัดศรีนครินทรฯ ได้ประกอบพิธีทำบุญประจำปีและเปิดป้ายสำนักพุทธศาสนศึกษาและศูนย์สอบธรรมสนามหลวงในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๒ โดยได้กราบอาราธนาพระเดชพระคุณแม่กองธรรมสนามหลวงไปเป็นประธาน แต่พระเดชพระคุณฯ ได้มอบหมายให้รองแม่กองธรรมสนามหลวงคือ สมเด็จพระธีรญาณมุนี ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพรหมเมธี ไปปฏิบัติหน้าที่แทน

×

สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง

          ในอดีตที่ผ่านมา สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ไม่เคยมีอาคาร หรือ สถานที่ทำการอย่างถาวร เมื่อแม่กองธรรมฯ จำพรรษาอยู่วัดใด สำนักงานแม่กองธรรมก็จะย้ายไปทำการ ณ ที่วัดนั้นตาม

          มาถึงยุคของแม่กองฯ รูปปัจจุบัน คือ พระพรหมมุนี (พฺรหฺมคุตฺตเถร) ได้ดำริจัดตั้งสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงขึ้น โดยได้กราบทูลเจ้าพระคุณ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ขอประทานพระอนุญาตใช้อาคารหอสมุดมหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นสังฆิกเสนาสน์ของวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ทำการสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราชก็ทรงพระเมตตาประทานอนุญาตตามประสงค์และได้เสด็จมาเป็นประธานพิธีเปิดสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๔

          อาคารหอสมุดมหามกุฏราชวิทยาลัยแห่งนี้ แรกเริ่มเดิมทีเป็นโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ซึ่งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยในกรมหมาดเล็ก สร้างอุทิศถวายพระราชกุศล สนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ต่อมาใช้เป็นสถานที่เอื้อประโยชน์แก่วงการคณะสงฆ์มาตลอด ดังนี้

          - เป็นที่ตั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยแห่งแรก ในระยะแรกตั้งระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๕๐๑ ปัจจุบัน เรียกว่า มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

          - เป็นที่ตั้งพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย

          - เป็นที่ตั้งสำนักงานมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

          - เป็นที่ตั้งสมาคมโหรแห่งประเทศไทย

          - เป็นที่ตั้งอายุรเวชวิทยาลัย เป็นต้น

          ก่อนที่จะใช้เป็นสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ได้รับการบูรณะ ปฏิสังขรณ์ใหม่ อาคารหลังนี้มีอาณาบริเวณกว้างขวาง มีเนื้อที่ใช้สอยอย่างเพียงพอ สามารถจัดสำนักงานแม่กองธรรมฯ เป็นแผนกต่าง ๆ ได้อย่างเป็นสัดส่วน ในแต่ละแผนกยังมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยอย่างครบครันพร้อมมีพระเจ้าหน้าที่มาทำงานทุกวัน (เว้นวันพระและวันอาทิตย์) นับเป็นครั้งแรกที่งานแม่กองธรรมฯ มีสำนักงานอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

          ปัจจุบัน สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺตเถร) นอกจากดำรงตำแหน่ง แม่กองธรรมสนามหลวงแล้ว ยังดำรงตำแหน่งสำคัญทางการคณะสงฆ์อื่น ๆ อีก คือเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ (ธรรมยุต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร รักษาการเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต เป็นต้น

          เจ้าประคุณสมเด็จฯ แม่กองธรรม เป็นพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล หลังจากเข้ามาดำรงตำแหน่งแม่กองธรรมฯ แล้ว ได้ปรับปรุงและวางรูปแบบการดำเนินงานฝ่ายปริยัติธรรมแผนกธรรมให้เป็นระบบมากขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ว่าด้วย ความรู้ คู่คุณธรรมท่านจึงได้มุ่งที่จะปรับหลักสูตรทั้งนักธรรมและธรรมศึกษาให้เอื้อประโยชน์ต่อการศึกษาของชาติ ในด้านระบบการทำงาน ท่านก็ได้ปรับปรุงให้มีคุณภาพและมาตรฐานเพื่อให้ทัดเทียมหน่วยงานชั้นนำทั่วไป โดยจัดให้มีกระบวนการพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาช่วยการทำงานให้มีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นด้วยการจัดทำเว็บไซต์ เพื่อเผยแผ่ข่าวสารข้อมูลของแม่กองธรรมฯ สู่สาธารณชน พัฒนาให้เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ ทั้งในด้านประวัติความเป็นมาของนักธรรม ประกาศผลสอบนักธรรมทั่วราชอาณาจักรในแต่ละปี

          ในอนาคตอันใกล้นี้ สำนักงานแม่กองธรรมฯ จะรวบรวมข้อมูลรายชื่อผู้สอบได้ย้อนหลังตั้งแต่ยุคแรก ๆ เข้ามาเป็นฐานข้อมูลในเว็บไซต์ เพื่อท่านที่ต้องการทราบข้อมูลทั้งที่เป็นภิกษุสามเณรหรือฆราวาส สามารถคลิกเข้ามาดูย้อนหลังได้ที่ www.gongtham.net

          นอกจากนี้แล้ว แม่กองธรรมฯ ยังได้วางระบบงานออนไลน์ข้อมูลไปยังวัดที่เป็นสำนักเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับงานด้านการประสานงาน โดยเฉพาะข้อมูลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องการจัดการภายในสำนักงานนั้นล้วนแล้วแต่อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย เช่น การออกประกาศนียบัตรให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาผู้สอบผ่านในแต่ละชั้น แต่ละปีการศึกษา สมัยก่อนเราเคยชินกับการ เขียนมือแต่มาบัดนี้ สมัยนี้ เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสคอมพิวเตอร์ ก็สามารถพิมพ์ใบประกาศแต่ละใบเสร็จเรียบร้อยได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

          ในด้านบุคลากรท่านก็วางกำลังบุคลากร ที่จะช่วยกันผลักดันแผนงานที่วางไว้อย่างเป็นระบบ ให้ดำเนินไปอย่างเต็มอัตรา โดยได้แต่งตั้งพระเถรานุเถระ ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะผู้บริหารสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงในฝ่ายต่าง ๆ อย่างครบถ้วน

          นอกจากจะมีพระเถรานุเถระ ระดับผู้บริหารดังกล่าวแล้ว ยังมีคณะทำงานตามสายงานต่าง ๆ คอยผลักวงล้อแห่งกองธรรมให้หมุนไป เพื่อประโยชน์สุขของมวลพุทธศาสนิกชน อีกจำนวนมาก ซึ่งท่านเหล่านั้นล้วนอาสามาด้วยสมัครใจทั้งจากวัดในกรุงเทพฯ และจากวัดในเขตปริมณฑล ซึ่งนับว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการดำเนินงานการศึกษาของคณะสงฆ์ในส่วนนี้

          สิ่งทั้งหลายทั้งมวล ที่ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ถือว่าเป็นก้าวใหม่ของวงการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ซึ่งเป็นการเดินทางเข้าสู่ยุคที่จะต้องปรับตัวให้ก้าวทันโลก เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อปรับขบวนทัพอย่างครบวงจร สำนักงานแม่กองธรรมฯ สามารถทำได้ระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็ด้วยอาศัยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของแม่กองธรรมสนามหลวงรูปปัจจุบัน คือ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต)

 

หมายเหตุ

          สำหรับภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ท่านใดที่มีความประสงค์จะติดต่อ แม่กองธรรมสนามหลวง สามารถติดต่อได้ ตามที่อยู่ดังนี้

 

สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง

อาคารหอสมุดมหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร

เลขที่ ๒๘๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐

โทร. ๐ ๒๒๘๐ ๗๖๘๒, ๐ ๒๖๒๙ ๐๙๖๑-๓, ๐ ๒๖๒๙ ๔๓๐๐-๔

โทรสาร. ๐-๒๖๒๙-๒๑๔๒

Website: www.gongtham.net  Email: mgth.data@gmail.com  Line: @gongtham

×

หลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษา

ที่ประกาศใช้ปัจจุบัน

 

นักธรรมชั้นตรี

๑. วิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม

          หลักสูตร ใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๑

          ให้นักเรียนแต่งอธิบายให้สมเหตุสมผล อ้างสุภาษิตอื่นมาประกอบด้วย ๑ สุภาษิต บอกชื่อคัมภีร์ที่มาแห่งสุภาษิตนั้นด้วย สุภาษิตที่อ้างมานั้นต้องเรียงเชื่อมความให้ติดต่อสมเรื่องกับกระทู้ตั้ง ชั้นนี้ กำหนดให้เขียนลงในใบตอบ ตั้งแต่ ๒ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป

 

๒. วิชาธรรม

          หลักสูตร ใช้หนังสือนวโกวาทแผนกธรรมวิภาคและคิหิปฏิบัติ

 

๓. วิชาพุทธ

          หลักสูตร ใช้หนังสือพุทธประวัติเล่ม ๑-๒-๓ ปฐมสมโพธิ พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว) ศาสนพิธี เล่ม ๑

 

๔. วิชาวินัย

          หลักสูตร ใช้หนังสือนวโกวาท แผนกวินัยบัญญัติ, วินัยมุขเล่ม ๑

 

นักธรรมชั้นโท

๑. วิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม

          หลักสูตร ใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๒

          ให้นักเรียนแต่งอธิบายเป็นทำนองเทศนาโวหาร อ้างสุภาษิตอื่นมาประกอบ ไม่น้อยกว่า ๒ สุภาษิต และบอกชื่อคัมภีร์ที่มาแห่งสุภาษิตนั้นด้วย ห้ามอ้างสุภาษิตซ้ำข้อกัน แต่จะซ้ำคัมภีร์ได้ ไม่ห้าม สุภาษิตที่อ้างมานั้น ต้องเรียงเชื่อมความให้ติดต่อสมเรื่องกับกระทู้ตั้ง ชั้นนี้ กำหนดให้เขียนลงในใบตอบ ตั้งแต่ ๓ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป

 

๒. วิชาธรรม แก้ปัญหาธรรมวิภาคพิสดารออกไป

          หลักสูตร ใช้หนังสือธรรมวิภาค ปริเฉทที่ ๒

 

๓. วิชาพุทธ แก้ปัญหาอนุพุทธประวัติ

          หลักสูตร ใช้หนังสืออนุพุทธประวัติ และพุทธานุพุทธประวัติอันกล่าวเฉพาะประวัติพระสาวก สังคีติกถา ปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว) และศาสนพิธี เล่ม ๒ ขององค์การศึกษา

 

๔. วิชาวินัย แก้ปัญหาวินัยให้พิสดารออกไป

          หลักสูตร ใช้หนังสือวินัยมุข เล่ม ๑-๒

 

ผู้จะเข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นโท ต้องได้ประโยคนักธรรมชั้นตรีในสนามหลวงมาแล้ว

 

นักธรรมชั้นเอก

๑. วิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม

          หลักสูตร ใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๓

          ให้นักเรียนแต่งอธิบายเป็นทำนองเทศนาโวหาร อ้างสุภาษิตอื่นมาประกอบ ไม่น้อยกว่า ๓ สุภาษิต และบอกชื่อคัมภีร์ที่มาแห่งสุภาษิตนั้นด้วย ห้ามอ้างสุภาษิตซ้ำข้อกัน แต่จะซ้ำคัมภีร์ได้ ไม่ห้าม สุภาษิตที่อ้างมานั้น ต้องเรียงเชื่อมความให้ติดต่อสมเรื่องกับกระทู้ตั้ง ชั้นนี้ กำหนดให้เขียนลงในใบตอบ ตั้งแต่ ๔ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป

 

๒. วิชาธรรม แก้ปัญหาธรรมโดยปรมัตถเทศนา

          หลักสูตร ใช้หนังสือธรรมวิจารณ์ ส่วนปรมัตถปฏิปทาและสังสารวัฏ สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน มหาสติปัฏฐาน คิริมานนทสูตร

 

๓. วิชาพุทธ แก้ปัญหาพุทธานุพุทธประวัติกับข้อธรรมในท้องเรื่องนั้น

          หลักสูตร ใช้หนังสือพุทธประวัติ เล่ม ๑-๒-๓ ปฐมสมโพธิ พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว) พุทธานุพุทธประวัติ อนุพุทธประวัติ พระปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

 

๔. วิชาวินัย แก้ปัญหาวินัยมีสังฆกรรมเป็นต้น

          หลักสูตร ใช้หนังสือวินัยมุข เล่ม ๓ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

 

ผู้จะเข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นเอก ต้องได้ประโยคนักธรรมชั้นโทในสนามหลวงมาแล้ว

 

ธรรมศึกษาตามระดับช่วงชั้นการศึกษา

ดูที่ ขอบข่ายธรรมศึกษา ๒๕๖๑

×
เอกสารหลักฐาน
การดำเนินการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม
ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน
(ข้อมูลจาก: ราชกิจจานุเบกษา, มติมหาเถรสมาคม, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา)

จำนวนพระสงฆ์สามเณรซึ่งสอบไล่พระปริยัติธรรมได้ ร.ศ.๑๐๙-๑๑๐ (พ.ศ.๒๔๓๓-๒๔๓๔)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี
เรื่อง เชิญเสด็จอาราธนาพระราชาคณะประชุมสอบไล่พระไตรปิฎก ร.ศ.๑๑๓
(๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๗)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี แลกรมศึกษาธิการ
เรื่อง การสอบไล่พระปริยัติธรรมประจำปี ร.ศ.๑๑๓
(๑-๓ ธันวาคม ๒๔๓๗)

กฎข้อบังคับสำหรับการแปลพระปริยัติธรรมในสนาม รัตนโกสินทร ศก ๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑)
เสด็จพระราชดำเนิน ในที่ประชุมพระสงฆ์สามเณรแปลพระปริยัติธรรม ร.ศ.๑๑๗ (๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๑)
กำหนดสอบพระปริยัติธรรม ร.ศ.๑๑๙ (พ.ศ.๒๔๔๓)
เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงฟังแปลพระปริยัติธรรม ร.ศ.๑๑๙ (พ.ศ.๒๔๔๓)
กำหนดสอบพระปริยัติธรรม ร.ศ.๑๒๐ (พ.ศ.๒๔๔๔)
รายงาน การสอบไล่พระปริยัติธรรม ร.ศ.๑๒๙ (พ.ศ.๒๔๕๓)

รายงาน การสอบไล่สามเณรรู้ธรรม ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔)
ประกาศวิธีนับวันเดือนปี

แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ ตั้งโรงเรียนนักธรรม ๒๔๕๙ (วัดสุปัฏน์ จ.อุบลราชธานี)
แจ้งความกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์ในการสอบไล่นักธรรม ปี ๒๔๖๕ (วัดไผ่ล้อม จ.ตราด)
แจ้งความกรมธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์จัดตั้งโรงเรียนนักธรรม ๒๔๖๖ (วัดอำพวัน อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย)
แจ้งความกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์บำรุงโรงเรียนนักธรรม ๒๔๖๗ (จ.หนองคาย)
แจ้งความกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์บำรุงโรงเรียนนักธรรม ๒๔๖๗ (วัดศรีสุมัง, วัดศรีษะเกษ จ.หนองคาย)
แจ้งความกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์บำรุงโรงเรียนนักธรรม ๒๔๖๗ (วัดหลวง อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี)
แจ้งความกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์บำรุงโรงเรียนนักธรรม ๒๔๖๗ (วัดจอมศรี, วัดโพธิไชย จ.อุดรธานี)
แจ้งความกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์ในการตั้งโรงเรียนนักธรรม ๒๔๖๗ (วัดหงอนไก่ จ.สมุทสาคร)
แจ้งความกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์บำรุงโรงเรียนนักธรรม ๒๔๖๗ (วัดบุญวาทยวิหาร จ.ลำปาง)
แจ้งความกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์ในการสอบไล่นักธรรม ปี ๒๔๖๗ (วัดสุบรรณนิมิตร์ จ.ชุมพร)
แจ้งความกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์บำรุงโรงเรียนนักธรรม ปี ๒๔๖๘ (วัดเขาแก้ว, วัดโบสถ์, วัดแหลมยาง จ.ชุมพร)
แจ้งความกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์บำรุงโรงเรียนนักธรรม ๒๔๖๘ (วัดทรงศิลา จ.ไชยภูมิ์)
แจ้งความกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์บำรุงโรงเรียนนักธรรม ๒๔๖๘
(วัดท่าเรือ, วัดเพ, วัดตะพงนอก, วัดนาตาขวัญ จ.ระยอง, วัดศรีสระเกศ จ.หนองคาย)
แจ้งความกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์บำรุงโรงเรียนนักธรรม ๒๘๖๘ (วัดจอมศรี จ.อุดรธานี)
แจ้งความกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์บำรุงโรงเรียนนักธรรม ๒๔๖๘ (วัดสระทอง จ.มหาสารคาม)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์บำรุงโรงเรียนนักธรรม ๒๔๖๘ (วัดคหะบดี จ.กำแพงเพ็ชร์)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์บำรุงโรงเรียนนักธรรม ๒๔๖๙ (ต.บ้านเดื่อ, ต.กลางใหญ่ จ.หนองคาย)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์บำรุงโรงเรียนนักธรรม ๒๔๖๙ (วัดเขาดิน จ.เพ็ชร์บูรณ์)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์บำรุงโรงเรียนนักธรรม ๒๔๖๙ (วัดภูเขาดิน จ.เพ็ชร์บูรณ์)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกบัญชาการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์ในการสอบไล่นักธรรม ๒๔๖๙ (วัดสิงห์สถิตย์ อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์ในการสอบไล่นักธรรมสนามจังหวัดยะลา ๒๔๖๙
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์ในการสอบไล่นักธรรม จังหวัดสมุทรสาคร ๒๔๖๙ (วัดบ้านแหลม)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง เลี้ยงอาหารในการสอบไล่นักธรรมอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ปี ๒๔๗๐
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้อุปการะและบริจาคทรัพย์ในการสอบไล่นักธรรม ๒๔๗๐ (อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์ในการสอบไล่นักธรรม จังหวัดตราด ๒๔๗๐ (จ.ตราษ)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์บำรุงโรงเรียนนักธรรม ๒๔๗๐
(วัดสุทัศน์ จ.ร้อยเอ็จ, วัดภูเขาดิน จ.เพ็ชร์บูรณ์)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์ทอดกฐินและบำรุงโรงเรียนนักธรรม ๒๔๗๐ (วัดเชตวัน จ.เชียงใหม่)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์ซื้อหนังสือให้แก่โรงเรียนนักธรรม ๒๔๗๐
(วัดบ้านดงเย็น จ.มหาสารคาม)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์ในการสอบไล่นักธรรมที่จังหวัดชุมพรและจังหวัดหลังสวน ปี ๒๔๗๐
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์ในการสอบไล่นักธรรม จังหวัดมหาสารคาม ปี ๒๔๗๐
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์ในการสอบไล่นักธรรม ปี ๒๔๗๐
(วัดบ้านแหลม จ.สมุทรสงคราม, วัดสัตนาถปริวัตน์, วัดช่องลม จ.ราชบุรี)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้อุปการในการสอบไล่นักธรรม ๒๔๗๐ (วัดบัวใหญ่ จ.นครราชสีมา)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้อุปการะในการสอบไล่นักธรรม ๒๔๗๐ (วัดสำโรงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ขุขันธ์)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้อุปการะในการสอบไล่นักธรรม จังหวัดอุบลราชธานี ๒๔๗๑
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้อุปการะในการสอบไล่นักธรรมจังหวัดแพร่ ๒๔๗๑

ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ
เรื่อง ให้ครูที่เป็นคฤหัสถ์เข้าสอบไล่วิชานักธรรมตรีในสนามคณะสงฆ์
(พ.ศ.๒๔๗๒)

แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ มีผู้บริจาคทรัพย์บำรุงนักธรรม ๒๔๗๔ (วัดใหม่อัมพร จ.นครราชสีมา)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ มีผู้บริจาคทรัพย์บำรุงนักธรรม ๒๔๗๔ (จ.ตรัง)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง บำรุงนักธรรม ผู้สอนธรรมวินัย ผู้แสดงธรรม การเล่าเรียนธรรมและการสอบไล่ ปี ๒๔๗๕
(อ.ธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง บำรุงนักธรรม ผู้สอนธรรมวินัย ผู้แสดงธรรม การเล่าเรียนธรรมและการสอบไล่ ปี ๒๔๗๕
(จ.อุบลราชธานี, จ.ขุขันธ์, จ.นครราชสีมา, จ.มหาสารคาม, จ.บุรีรัมย์)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ บำรุงโรงเรียนนักธรรมและการสอบไล่ ๒๔๗๕ (จ.เชียงราย)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ บำรุงนักธรรม การเล่าเรียนธรรมและการสอบไล่ ปี ๒๔๗๕ (พระนครศรีอยุธยา)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ กรมธรรมการ เรื่อง บำรุงนักธรรม การเล่าเรียนธรรมและการสอบไล่ ปี ๒๔๗๖ (จ.นครสวรรค์, จ.พังงา, จ.กระบี่)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ กรมธรรมการ เรื่อง บำรุงนักธรรม และการสอบไล่ ๒๔๗๖ (จ.สุราษฎร์ธานี, จ.มหาสารคาม)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ กรมธรรมการ เรื่อง บำรุงนักธรรม การเล่าเรียนธรรมและการสอบไล่ ๒๔๗๖ (อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี)
แจ้งความกระทรวงธรรมการ กรมธรรมการ เรื่อง บำรุงนักธรรม และการสอบไล่ ๒๔๗๖ (วัดโพธิ์ศรี จ.มหาสารคาม)

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ (สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา)
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕
พระราชบัญญัติ กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๐
พระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒
พระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๕
กฎกระทรวง ว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสถาบันพระพุทธศาสนา พ.ศ.๒๕๔๘

ประกาศมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลี พ.ศ.๒๕๕๕
แบบคำขอจัดตั้งสำนักเรียน
แบบคำขอจัดตั้งสำนักศาสนศึกษา
แบบคำขอจัดตั้งศูนย์การเรียน
แบบคำขอจัดตั้งสำนักศาสนศึกษาประจำตำบล

กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๗
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาในสถานศึกษา ๒๕๕๗

มติมหาเถรสมาคม เรื่อง เสนอแต่งตั้ง แม่กองธรรมสนามหลวง ๒๕๕๙

ระเบียบสนามหลวงแผนกธรรม ว่าด้วยการจัดสอบธรรมสนามหลวง ๒๕๖๐

กำหนดวันสอบธรรมสนามหลวง ๒๕๖๑
ประกาศและระเบียบสนามหลวงแผนกธรรม ว่าด้วยวิธีปฏิบัติการสอบธรรมศึกษา ๒๕๖๑
ขอบข่ายการเรียนการสอนและการออกข้อสอบธรรมศึกษา ๒๕๖๑
×

รายงานประชุมเถรสมาคม*

เรื่องกำหนดองค์ของสามเณรผู้รู้ธรรม

ครั้งที่ ๑

วันที่ ๑๒ มิถุนายน ร.ศ. ๑๓๐

เวลาบ่าย ๕ โมง ๑๘ นาที พระเถระทั้งหลายได้ประชุมเข้ากันเป็นเถรสมาคม

ผู้ประชุม

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

          พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์

          สมเด็จพระวันรัต

          สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

          สมเด็จพระมหาวีรวงศ์

          พระพิมลธรรม

          พระธรรมวโรดม

          พระธรรมโกษาจารย์

          พระธรรมปาโมกข์

          พระราชโมลี

          พระราชมุนี

          พระสาสนดิลก

          พระธรรมวิหารีเถรฯ

 

          เมื่อพระเถระทั้งหลายได้ประชุมพร้อมกันเป็นคณะเถรสมาคมแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสนำขึ้นว่า ทรงเรียกประชุมวันนี้ เพื่อจะปฤกษากำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรม ฯ เมื่อ ศก ๑๒๔ ได้มีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารในนั้นยกเว้นภิกษุทั่วไป แต่สามเณรยกเว้นโดยเอกเทศ เฉพาะแต่สามเณรรู้ธรรม ฯ การกำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรมนี้ เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ขอให้กระทรวงธรรมการเป็นผู้กำหนด กระทรวงธรรมการก็จะต้องอาศัยพระช่วยกำหนดให้ จึงเชิญท่านทั้งหลายมาเพื่อจะให้ช่วยกันกำหนด ฯ เราไม่มีอำนาจที่จะออกความเห็นวินิจฉัย พระราชบัญญัติ เมื่อตั้งขึ้นแล้ว เป็นน่าที่ของเราที่จะต้องอนุวัติตาม ประเพณีนี้ก็ได้มีเป็นอย่างมาในครั้งพระพุทธกาลแล้ว เช่นในมหาวรรควินัยว่า เมื่อภิกษุ กำลังทำอุโบสถก็ดี ทำปวารณาก็ดี ค้างอยู่ มีพระราชาจะมาจับภิกษุนั้น ที่แปลว่า ราชการจะเอาตัว ให้ขอผัดไว้ พอได้ทำกิจนั้นเสร็จก่อน ข้อนี้แปลว่าพระยอมอนุวัติราชการ ไม่ขัดขืน แลคนที่จะตั้งอยู่เป็นหมวดหมู่กันได้ ที่เรียกว่าบ้านเมือง ต้องมีคนช่วยกันทำธุระหลายหน้าที่ กล่าวตามบาลี ต้องมีวรรณะทั้งสี่ คือ พวกขัตติยะ เป็นผู้ป้องกันอันตรายภายนอกภายใน พราหมณ์ เป็นผู้สอนให้คนมีความรู้แลความดี พวกเรานับเข้าอยู่ในหมวดนี้ เวสสะ เป็นผู้ทำของที่เกิดแต่ฝีมือ หรือรับของเหล่านั้นมาจำหน่าย เพื่อบำรุงสุขของประชาชน สุททะ เป็นผู้รับทำการงานของผู้อื่นด้วยแรง เพื่อความสะดวกของมหาชน แต่หน้าที่ของผู้ใด ผู้นั้นก็ต้องการจะทำให้เต็มที่ เช่นเราเป็นพวกพระ ก็ต้องการจะได้คนมาฝึกสอนอบรม ฝ่ายพวกทหาร ก็ต้องการจะได้คนเข้าเป็นทหาร แต่คนทั้งปวงจะเป็นพระหรือเป็นทหารทั้งนั้น ไม่เป็นอย่างอื่นเลยไม่ได้ ต้องแบ่งเป็นนั่นบ้าง เป็นนี่บ้าง ๆ ข้อที่จะกำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรมนั้น ก็แปลว่า จะกำหนดว่า คนเช่นไรจะขอเอาไว้ คนเช่นไรจะยอมปล่อยให้เข้ารับราชการทหาร เบื้องต้นที่จะกำหนด ควรจะต้องไต่สวนถึงพวกสามเณรในหัวเมืองมณฑลก่อน ว่ามีประโยชน์อย่างไรแก่พระศาสนาบ้าง เจ้าคณะ มณฑลทั้งหลายต่างแสดงความข้อนี้ คือ ในมณฑลจันทบุรี มีสามเณรมหานิกายเพียงรูปเดียว นอกจากนั้นมีแต่ในวัดจันทนารามซึ่งเป็นธรรมยุต ฯ ในมณฑลนครราชสีมามีสามเณร แต่เมื่อถึงกำหนดเรียกเข้าราชการทหารก็สึกออกไป เป็นธรรมเนียมเรียบร้อยแล้ว แลพระก็ไม่เสื่อม ฯ ในมณฑลนครชัยศรี มณฑลพายัพ มณฑลอุดร สามเณรหามีประโยชน์แก่พระศาสนาไม่ ฯ ในมณฑลนครสวรรค์กับมณฑลอีสาน เจ้าคณะมณฑลรับรองว่ามีประโยชน์ แต่ไล่เลี้ยงดูก็ไม่ได้ความชัดว่ามีประโยชน์อย่างไร แลให้กำหนดองค์ ก็กำหนดลงไม่พอที่จะเห็นว่าเป็นประโยชน์แท้ ส่วนมณฑลกรุงเทพฯ เจ้าคณะมณฑลถูกตำหนิ ถูกห้ามไม่ให้เข้าที่ประชุม มณฑลพิษณุโลก เจ้าคณะมณฑลไปส่งพระวรญาณมุนีที่พิษณุโลก มณฑลปาจีนกับมณฑลชุมพร เจ้าคณะมณฑลไปตรวจการยังไม่กลับ นอกจากนั้นเจ้าคณะมณฑลไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ ยังไม่ได้ถาม ฯ สมเด็จกรมพระยาฯ ทรงปรึกษาองค์ของสามเณรในกรุงเทพฯ เองฯ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ทรงเห็นควรจะเอาสามเณรที่ได้ตั้งแต่ประโยคหนึ่งขึ้นไป ฯ สมเด็จพระวันรัต พระธรรมวโรดม พระธรรมโกษาจารย์ พระธรรมปาโมกข์ เห็นว่าควรกำหนดเอาสามเณรผู้แปลมคธภาษาได้ถ้าเรียนไปอีกสักปี ๑ จะเป็นบาเรียนได้ แลต้องรู้ธรรม คือ สิกขาแลกิจวัตรของสามเณรด้วย ฯ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ต้องการจะแปลคำว่าสามเณรรู้ธรรม ว่าเป็นผู้รู้จักปฏิบัติดี ฯ พระพิมลธรรมเห็นสมควรกำหนดเอาผู้รู้สิกขาของสามเณรเท่านั้น ส่วนสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ไม่กำหนดอย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อสามเณรต้องเรียก ก็ยอมให้เข้าราชการฯ สมเด็จกรมพระยา ฯ ตรัสว่า ทรงเห็นควรเอาไว้แต่สามเณรที่จะเป็นคนเรียนรู้ แลทำประโยชน์ให้แก่พระศาสนาได้ การกำหนดต้องให้สมแก่นักเรียนอุดมศึกษา แลความรู้ต้องให้เวลาเรียนไม่ต่ำกว่า ๒ ปี ที่เป็นกำหนดเกณฑ์รับราชการ เพราะฉะนั้น ในส่วนรู้ภาษามคธทรงเห็นชอบตามที่พระเถระทั้งหลายกำหนดนั้น ส่วนรู้ธรรมเพียงแต่รู้ธรรมของสามเณร ทรงเห็นอ่อนไป แต่ยังทรงรู้สึกอยู่ว่า หลักสูตรที่วัดบวรนิเวศอยู่ข้างจะสูง แลเป็นกำหนดคราวแรก อ่อนไว้หน่อยก็ยังได้ ภายหลังจึงค่อยรัดเข้า ฯ พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ทูลถามว่า ข้อที่ว่าความรู้ จวนเป็นบาเรียนได้นั้น จะกำหนดอย่างไร ตรัสว่าตั้งกรรมการสอบให้ผู้แปลเขียนให้ดู เมื่อกรรมการตรวจเห็นว่าใช้ได้ เอาเป็นมีความรู้ ฯ ความเห็นที่ตกลงกันในที่ประชุม เถรสมาคม ดังนี้ :

          ๑. กำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรม ให้กำหนดตามสมควรแก่ความรู้ที่ต้องการในมณฑลนั้น ๆ มุ่งเอาประโยชน์พระศาสนาเป็นที่ตั้ง ฯ

          ๒. องค์ของสามเณรรู้ธรรมในกรุงเทพฯ นั้น รู้มคธภาษา กรรมการสอบเห็นว่าใช้ได้ รู้ธรรมของสามเณร ฯ

          ๓. สามเณรที่ไม่มีประโยชน์แก่พระศาสนา คือว่าแม้สึกเข้ารับราชการก็ไม่เป็นเหตุเสื่อมการข้างวัด เช่น ขาดคนเล่าเรียนจะหาคนมีความรู้ได้น้อย เมื่อต้องเรียก ก็ให้สึกเข้ารับราชการ ฯ

เลิกประชุมเวลาย่ำค่ำ ๒๖ นาที

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๒๑-๑๒๖.)

×

กระทรวงธรรมการ*

วันที่ ๘ เดือนสิงหาคม ร.ศ. ๑๓๐

 

          ขอพระราชทานกราบบังคมทูล  ทราบฝ่าละอองพระบาท

          ข้าพระพุทธเจ้าได้ร่างประกาศเรื่องสามเณรรู้ธรรม สอดซองทูลเกล้าฯ ถวายมานี้ เพื่อขอพระบารมีเป็นที่พึ่งทรงตรวจ เพราะเป็นเรื่องแปลกอยู่ และคิดด้วยเกล้าฯ ว่า เห็นจะต้องทูนเกล้าฯ ถวายก่อนประกาศด้วย ทั้งจะต้องรีบประกาศ ด้วยเวลาจวนนัก ส่วนบัญชีสำหรับลงทะเบียน และใบประกาศนียบัตรนั้น จะได้รับพระราชทานทำขึ้นถวายทรงตรวจในภายหลัง ข้าพระพุทธเจ้าจะได้มาฟังพระกระแสในเวลาพรุ่งนี้ ทั้งนี้จะควรประการใด แล้วแต่จะโปรดเกล้า

          ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า วิสุทธสุริยศักดิ์

 

*(ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา, หน้า ๒๐๗-๒๑๑.)

 

ร่าง

          เสนาบดีกระทรวงธรรมการ เผดียงมายังสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ พระครู เจ้าอาวาสทั้งหลายทราบทั่วกัน

          ด้วย ในการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นศาสนูปถัมภก ในพระบวรพุทธศาสนา ได้ทรงจัดการทนุบำรุงปกครองพระราชอาณาจักรให้รุ่งเรืองขึ้น และได้ตั้งพระราชบัญญัติ จัดการเกณฑ์ชายฉกรรจ์เข้ารับราชการทหาร เพื่อป้องกันรักษาพระราชอาณาเขตให้มีความสงบราบคาบ เพื่อสมณะชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร จะได้อยู่เย็นเป็นสุข บรรดาชายที่มีอายุสมควรที่จะเข้ารับราชการทหารได้ ก็ให้มีโอกาสที่จะได้มีส่วนช่วยป้องกันรักษาพระราชอาณาเขตทั่วหน้ากัน แต่หากทรงพระราชรำพึงถึงการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งเป็นการศึกษาสำหรับทนุบำรุงเชิดชูพระพุทธศาสนาส่วนหนึ่ง ทรงพระราชปริวิตกว่า บรรดาชายหนุ่ม ซึ่งมีนิสัยและปรารถนาจะศึกษาทางนี้ จะขาดโอกาสที่จะศึกษาในเวลาอันสมควร จึงได้ทรงพระมหากรุณา พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ยกเว้น ผู้ที่มุ่งเข้าไปศึกษาในเพศบรรพชิตได้เล่าเรียนพระธรรมวินัย อันเรียกตามพระราชบัญญัตินั้นว่า สามเณรรู้ธรรมให้คงงดเว้นราชการทหารชั่วเวลาที่ปฏิบัติการศึกษาอยู่ในเพศบรรพชิต ทั้งนี้ ก็เป็นพระราชประสงค์ที่จะทรงยกย่องเชิดชูพระบวรพุทธศาสนาอยู่เป็นนิจ มิให้เสื่อมทราม แต่การที่จะยกเว้นราชการแก่ผู้ที่มุ่งในการศึกษา ข้างฝ่ายพระพุทธศาสนา อันชื่อว่าสามเณรรู้ธรรมนั้น ยังไม่มีขีดขั้นว่าเพียงใดจะชื่อว่าสามเณรรู้ธรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายพระราชอาณาจักอาราธนา พระเถรานุเถระเพื่อหารือความข้อนี้ อันจะได้กำหนดลงไว้เป็นหลัก นับเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระบรมราชานุญาต

          บัดนี้ พระเถรานุเถระ เจ้าคณะทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่สังฆนายกเป็นประธาน ได้หารือ กำหนดองคคุณแห่งสามเณรรู้ธรรมลงเป็นหลักว่า

          ๑. กำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรม ให้กำหนดตามสมควรแก่ความรู้ที่ต้องการในมณฑลนั้น ๆ มุ่งเอาประโยชน์พระศาสนาเป็นที่ตั้ง

          ๒. องค์ของสามเณรรู้ธรรมในกรุงเทพฯ นั้น รู้มคธภาษา กรรมการสอบ เห็นว่าใช้ได้ กับรู้ธรรมของสามเณรด้วย

          ๓. สามเณรที่ไม่มีประโยชน์แก่พระศาสนา คือว่า แม้สึกเข้ารับราชการ ก็ไม่เป็นเหตุเสื่อมการข้างวัด เช่น ขาดคนเล่าเรียน จะหาคนมีความรู้ได้น้อยเป็นต้น สามเณรเช่นนั้น เมื่อต้องเรียก ก็ให้สึกเข้ารับราชการ

          ดังนี้ แต่การที่จะตรวจสอบให้ทราบองคคุณของสามเณรนั้น ๆ จำที่จะต้องตั้งกรรมการสงฆ์ ผู้สอบไล่เป็นคณะ ๆ ไป กี่คณะและที่ใดบ้าง เพิ่มและลดได้ตามสมควร และเมื่อกรรมการสงฆ์ได้สอบไล่เสร็จแล้ว และให้หนังสือสำคัญเป็นเครื่องหมาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายฆราวาสก็จะได้ถือเอาหนังสือสำคัญนั้นเป็นหลักสำหรับการยกเว้น

          บัดนี้ จึงขอเผดียงแก่พระเถรานุเถระ เจ้าคณะและเจ้าอาวาสทั้งหลาย ให้ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่สังฆนายก ได้ทรงกำหนดสถานที่ที่จะสอบไล่ความรู้ขึ้นในกรุงเทพฯ บัดนี้ ๔ ตำบล คือ

          ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ๑

          ที่วัดมหาธาตุ ๑

          ที่วัดสุทัศนเทพวราราม ๑

          ที่วัดเบญจมบพิตร ๑

          กำหนดกาลที่จะสอบไล่ คือในต้นเดือนกันยายนครั้งหนึ่ง ในต้นเดือนมีนาคมครั้งหนึ่ง รวมปีละ ๒ ครั้งให้การสอบไล่เป็นเสร็จได้ออกหนังสือสำคัญ ภายในวันที่ ๑๕ แห่งเดือนนั้น ๆ เหตุฉะนั้น วัดใดมีสามเณรที่ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในทางนี้เท่าใด และสมัครจะเข้าสอบไล่ ถ้าเป็นวัดอื่นนอกจากสถานที่สอบไล่ ก็ให้เจ้าอาวาส บอกบัญชีไปสมทบสำนักที่สอบไล่ สำนักใดสำนักหนึ่ง ตามแต่จะสมัคร บัญชีนั้นให้แจ้งรายการตามหัวข้อที่ได้กำหนดไว้ในท้ายหมายนี้ ให้การส่งบัญชีเป็นเสร็จก่อนวันที่ ๑ ของเดือนที่จะสอบไล่นั้น ๆ แล้วให้ฟังกำหนดนัดสอบไล่จากกรรมการสงฆ์แห่งสำนักนั้น ๆ

          ส่วนสำนักที่จะสอบไล่นั้น ถ้าจะมีที่อื่นในกรุงเทพฯ อีกต่อไปก็จะได้เผดียงให้ทราบในภายหลัง ฝ่ายในหัวเมือง ถ้ามณฑลใดสมัครจะให้มีการสอบไล่เช่นนี้ ก็ขอเจ้าคณะมณฑลนั้น ๆ จงแจ้งเหตุไปยังกระทรวงธรรมการ เพื่อจะได้กราบทูลไปยังสมเด็จพระสังฆนายก เพื่อทรงตั้งกรรมการในมณฑลนั้น ๆ ต่อไป

 

หัวข้อรายการที่จะส่งบัญชี

๑. ชื่อสามเณรผู้จะเข้าสอบไล่

๒. วัน เดือน ปีเกิด

๓. ตำหนิ ๓ แห่ง

๔. ชื่อบิดา

๕. ชื่อมารดา

๖. บ้านที่จดสำมะโนครัวเดิม

          ก. เลขหมายบ้าน

          ข. ตำบล

          ค. โรงพักกองตระเวน

          ฆ. อำเภอ

          ง. เมือง

๗. ที่อยู่ในบัดนี้

          ก. สำนัก

          ข. วัด

          ค. ตำบล

          ฆ. โรงพักกองตระเวน

          ง. อำเภอ

          จ. เมือง

๘. ได้บวชและได้เรียนมาชั่วเวลาเท่าใด

 

กระทรวงธรรมการ

วันที่ สิงหาคม ร.ศ. ๑๓๐

รองเสนาบดี

×

รายงานประชุมเถรสมาคม*

เรื่องกำหนดองค์ของสามเณรผู้รู้ธรรม

ครั้งที่ ๒

 

วันที่ ๔ มีนาคม ร.ศ. ๑๓๐ เวลาบ่าย ๕ โมง ๑๐ นาที

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จประทับในเถรสมาคม ที่ชุมนุมสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะผู้ใหญ่แลพระราชาคณะ ผู้เป็นเจ้าคณะมณฑล ๑๓ รูป คือ

          พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์

          สมเด็จพระวันรัต

          สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

          สมเด็จพระมหาวีรวงศ์

          พระพิมลธรรม

          พระธรรมวโรดม

          พระธรรมโกษาจารย์

          พระธรรมปาโมกข์

          พระธรรมเจดีย์

          พระธรรมไตรโลกาจารย์

          พระราชมุนี

          พระศรีสมโพธิ

          พระธรรมวิหารีเถร

ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ฯ

          ตรัสเปิดประชุมว่า เมื่อมิถุนายนหลัง ได้ประชุมเถรสมาคม กำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรม ซึ่งควรจะได้รับยกเว้นจากต้องเรียกเป็นทหารตามพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ได้ทรงจัดการไปอย่างไร ได้ผลอย่างไร ทรงเรียงมาเพื่อจะทรงอ่านในที่ประชุม ฯ ทรงอ่านเรื่องนั้นแล้วตรัสอธิบายว่า เมื่อประชุมครั้งก่อน ที่ประชุมเห็นเรียนธรรมเป็นยากหนักไปข้างมคธภาษาที่ชินอยู่ แต่ความรู้ธรรมอย่างสามัญนั้นได้ทรงเริ่มจัดมานานแล้ว ตรัสเล่าจำเดิมแต่เหตุปรารภแต่งนวโกวาทขึ้น แลได้ใช้ฝึกสอนมาในสำนักของพระองค์เอง แลวัดอื่นได้รับใช้ตามอย่างได้ผลดีทั้งผู้ยังบวชแลผู้สึกไปแล้ว เมื่อกำหนดองค์สามเณรรู้ธรรม ทรงเห็นว่าจะขยายความรู้ธรรมถึงชั้นนี้ได้ จึงได้ทรงตั้งหลักสูตรขึ้นดังนั้น ฯ กำหนดเอาความรู้ในมคธภาษานั้น เป็นการหนักแก่สามเณรผู้จะเรียนให้ทันเวลาทั้งไล่ได้แล้ว จะจัดว่าเป็นผู้มีความรู้ก็ยังไม่ได้ และจะจัดในหัวเมืองก็ไม่ได้ทั่วไป ฯ เมื่อเสด็จไปหัวเมืองเหนือ คราวนี้เอง ได้ทรงปรารภถึงการเรียนของพระสงฆ์หัวเมือง ทรงเห็นว่าได้รับบำรุงเข้า คงดีขึ้นกว่าปล่อยให้เป็นอยู่ตามลำพัง เมื่อได้จัดให้แพร่หลายแล้ว จะเป็นประโยชน์กว้างขวาง ดีกว่าจะมัวบำรุงในทางมคธภาษาอย่างเดียว แม้ว่าการรู้มคธภาษาเป็นหลักแห่งการรู้ปริยัติ จึงได้ทรงจัดระเบียบเป็น ๒ อย่าง อย่างสามัญไม่เกี่ยวกับมคธภาษาสำหรับภิกษุสามเณรทั่วไปทั้งในกรุงแลหัวเมือง อย่างวิสามัญนั้น สำหรับภิกษุสามเณรในสำนักที่สอบมคธภาษาได้ด้วย ฯ ต่อไปทรงแสดงพระดำริจะจัดการนี้ให้เข้ารูปอย่างไร ทรงอาศัยหลักในพระวินัยที่จัดภิกษุเป็น ๓ จำพวก คือ เถระ ๑ มัชฌิมะ ๑ นวกะ ๑ หลักสูตรที่ตั้งขึ้นทั้ง ๒ ประโยค ทั้งสามัญ และวิสามัญนั้น จัดเป็นนวกภูมิ เป็นความรู้นวกภิกษุ เป็นภูมิต้น ต่อไปจะคิดขยายให้ถึงมัชฌิมภูมิ แลเถรภูมิ บำรุงความรู้ให้ลึกโดยลำดับ แลจะให้เข้ากันได้กับหลักสูตรปริยัติที่ใช้อยู่ บัดนี้

          ที่ประชุมเห็นชอบตามกระแสพระดำริ แลอนุมัติหลักสูตรสำหรับสอบความรู้ธรรมทั้ง ๒ อย่าง ดังมีแจ้งในพระอักษรที่ทรงเรียงมานั้น ๆ

เลิกประชุมเวลาบ่าย ๕ โมง ๔๐ นาที

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๒๖-๑๓๒)

×

คำชี้แจงแก่เถรสมาคม

ในเรื่องกำหนดองค์สามเณรรู้ธรรม

          เมื่อมิถุนายนหลัง เถรสมาคมได้กำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรมในกรุงเทพฯ ไว้คือ รู้ภาษามคธพอใช้ได้ แลรู้ธรรมของสามเณร ส่วนในหัวเมืองมณฑลกรุงเทพฯ ก็ดี ในมณฑลอื่นก็ดี ให้กำหนดตามสมควรแก่ความรู้ที่ต้องการในมณฑลนั้น ๆ กระทรวงกลาโหมยอมรับตามนั้นแล้ว ฯ ข้าพเจ้าได้กำหนดตั้งหลักสูตรตามเค้านั้น ภาษามคธเพียงท้องนิทานในอรรถกถาธรรมบท ธรรมของสามเณรนั้น เลือกเอาธรรมวิภาคในนวโกวาทกับแต่งความแก้กระทู้ธรรม จะเอาแต่เพียงสามเณรานุสิกขา เห็นว่าอ่อนเกินไป แลได้จัดการสอบไล่เป็นตำบล ๆ ๓ ตำบล ที่วัดบวรนิเวศ ๑ ที่ วัดมหาธาตุ ๑ ที่วัดเบญจมบพิตร ๑ เลือกพระราชาคณะบ้าง พระเปรียญบ้างเป็นกรรมการผู้สอบ หมวดหนึ่งอย่างน้อย ๓ รูป ฯ มีสามเณรเข้าสอบรวมทั้ง ๓ ตำบล ๑๗๙ รูป ได้ ๑๓๙ รูป ตก ๔๐ รูป ฯ ในจำนวนที่ได้นั้นจัดเป็น ๓ ชั้น ได้ครบ ๓ อย่างจัดเป็นเอก ได้ ๔๘ รูป ได้แต่ ๒ อย่างจัดเป็นโท ได้ ๔๔ รูป ได้แต่อย่างเดียวจัดเป็นตรี ได้ ๔๗ รูป ฯ ชั้นโทแลชั้นตรีตกความรู้อย่างใด ความรู้อย่างนั้นก็เป็นอันได้เรียนเหมือนกันแต่หากยังไม่ชำนาญ ฯ พิจารณาดูความรู้ของสามเณร ๓ ชั้นนั้น ชั้นเอกมีความรู้ดีกว่าผู้ได้ประโยคธรรมบทอันยังค้าง ไม่ครบกำหนดเป็นเปรียญ ชั้นโทมีความรู้พอสมควรได้รับยกเว้นจากความต้องเรียกเป็นทหาร เพื่อเล่าเรียนสืบอายุพระศาสนา ชั้นตรีอยู่ข้างจะอ่อนไป ยังควรแก้ไขอีกเพื่อได้ความรู้สูงขึ้น ฯ ข้าพเจ้าขอให้กระทรวงธรรมการกราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สามณรผู้ได้ชั้นเอก เป็นสามเณรรู้ธรรมประโยค ๑ เมื่อเข้าแปลปริยัติ ให้แปลแต่ประโยค ๒ ขึ้นไป ถ้าได้จัดองค์สำหรับประโยค ๒ แลมีผู้สอบได้ ขอให้ได้เป็นเปรียญ ๒ ประโยคดุจรามัญ เทียบเปรียญ ๓ ประโยค ฯ สามเณรรู้ธรรมประโยค ๑ เข้าแปลปริยัติในเที่ยวนี้ ๓๑ รูป ได้ตลอดประโยค ๓, ๑๐ รูป ได้เพียงประโยค ๒, ๗ รูป ตกประโยค ๒, ๑๓ รูป ยังไม่ได้เข้าแปลประโยค ๓ อีก ๑ รูป นับแต่ที่ได้ประโยค ๓ ก็ราว ๑ เสี้ยวที่สาม นับทั้งได้ประโยค ๒ ด้วย ก็กว่าครึ่งจำนวนที่เข้า ฯ

          การกำหนดองค์ของสามเณรรู้ธรรมเช่นนี้ ทำให้สามเณรมีความรู้ดีขึ้นเห็นปรากฏดังนี้ แต่ยังแคบ เพราะใช้ได้แต่ในกรุงเทพฯ หรือเฉพาะวัดมีที่เรียนปริยัติ ในหัวเมืองจะจัดตามนี้ก็ไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้หลักสูตรในกรุงเทพฯ ยังสูงมากกว่าที่จะจัดในหัวเมือง ทั้งยกให้แล้วว่าในกรุงควรจะสูงกว่าในหัวเมืองแลยังสูงสำหรับวัด อันไม่มีที่เรียนปริยัติในกรุงเทพฯ นี้เอง เห็นควรจะแก้ไขให้ได้ประโยชน์กว้างกว่านี้ ตามระเบียบดังต่อไปนี้ :

          ๑. ตั้งหลักสูตรสำหรับสอบความรู้ธรรมเป็น ๒ อย่าง เป็นสามัญอย่าง ๑ วิสามัญอย่าง ๑ อนุญาตให้เข้าสอบได้ทั้งภิกษุ ทั้งสามเณร แต่ต้องรู้จักเขียน รู้จักแต่งภาษาไทยใช้ได้แล้ว ฯ

          ๒. อย่างสามัญนั้น เว้นมคธภาษา แบ่งเป็น ๒ ประโยค คือ ประโยค ๑ ธรรมวิภาคกับเรียงความแก้กระทู้ธรรม ไม่ต้องชักที่มา ต้องได้พร้อมกันทั้ง ๒ อย่าง ในคราวเดียว ฯ

          ประโยค ๒ พุทธประวัติย่อกับเรียงความแก้กระทู้ธรรมชักที่มาในหนังสือไทย สุดแต่จะกำหนดให้ว่ากี่แห่ง ต้องได้พร้อมกันทั้ง ๒ อย่างในคราวเดียว ฯ

          สอบได้ทั้ง ๒ ประโยคนี้ เป็นนักธรรม ๒ ประโยค ก่อนแต่จะรับประกาศนียบัตร ภิกษุต้องสอบวินัยบัญญัติในนวโกวาทให้ได้ก่อน สามเณรยังรับไม่ได้ กว่าจะอุปสมบทแล้ว แลสอบวินัยบัญญัติได้แล้ว ฯ

          ๓. อย่างสามัญนี้ จะจัดทั่วไปเป็นแบบเดียวกันทั้งในกรุงทั้งในหัวเมือง ฯ ผู้สอบอย่างสามัญได้เพียงประโยค ๑ ได้รับยกเว้นตามพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ฯ

          ๔. อย่างวิสามัญนั้น ต้องสอบมคธภาษาเติมเข้าด้วย แบ่งเป็น ๒ ประโยค คือ

          ประโยค ๑ อรรถกถาธรรมบท มีแก้อรรถด้วย ฯ

          ประโยค ๒ บาลีไวยากรณ์ แลสัมพันธ์ ฯ

          จะสอบในคราวเดียวกันกับอย่างสามัญก็ได้ หรือได้ชั้นสามัญมาแล้ว จะสอบเพิ่มก็ได้ ฯ สอบได้ ๒ ประโยคนี้ เป็นเปรียญธรรม ๒ ประโยค เทียบเปรียญปริยัติ ๓ ประโยค ฯ

          ๕. อย่างวิสามัญนี้ จะจัดเฉพาะแต่ในกรุงเทพฯ เท่านี้ฯ ทั้ง ๒ อย่างนี้ ถ้าทำหนังสืออันจะใช้เป็นหลักสูตรสำเร็จก็จะขยายขึ้นไปอีก ฯ

          ข้าพเจ้าแน่ใจว่า ถ้าจัดอย่างนี้ การเรียนธรรมของภิกษุสามเณรจะเจริญ ทั้งในกรุงทั้งในหัวเมือง จะได้ผู้มีความรู้ช่วยกิจพระศาสนาอีกมาก ฯ จัดการเรียนเฉพาะแต่ในทางมคธภาษาถึงเป็นหลักก็จริง แต่แคบ ความรู้อันนี้ ไม่แพร่หลายไปในหัวเมือง ภิกษุสามเณรในหัวเมืองไม่ได้เรียนในทางนี้แล้วยังซ้ำไม่ได้เรียนในทางอื่นด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงหาพระสมควรเป็นเจ้าอาวาส เป็นอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าคณะ ได้ เป็นอันยาก แต่ผู้ทำหน้าที่เหล่านี้จำต้องมี เมื่อจัดสอนความรู้สามัญในหัวเมืองขึ้นแล้ว คงเปลื้องความขัดข้องข้อนี้ไปได้มาก ฯ เพียงแต่เท่าที่จัดมาแล้ว ยังให้ผลดีเห็นปรากฏอยู่ ถ้าได้จัดขยายออกไป ก็คงได้ประโยชน์มากออกไป ข้าพเจ้าจึงแน่ใจแลกล่าว ดังนี้ ฯ

 

(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส

 

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วันที่ ๔ มีนาคม ร.ศ. ๑๓๐

×

ที่ ๗๑/๑๗๘*

วัดบวรนิเวศวิหาร

วันที่ ๑๐ มีนาคม ร.ศ. ๑๓๐=๒๔๕๔

 

          แจ้งความแก่พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการฯ

          ฉันส่งรายงานการประชุมเถรสมาคม เรื่องกำหนดองค์ของภิกษุสามเณรรู้ธรรมมา เธอจงกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อตั้งหลักสูตร สำหรับสอบความรู้ธรรม ดังต่อไปนี้ :-

          ๑. นวกภูมิ เป็นความรู้สำหรับนวกภิกษุและสามเณร จัดเป็น ๒ อย่าง สามัญอย่าง ๑ วิสามัญอย่าง ๑ อนุญาตให้เข้าสอบได้ทั้งภิกษุทั้งสามเณร แต่ต้องรู้จักเขียนรู้จักแต่งภาษาไทยใช้ได้แล้ว ฯ

          ๒. อย่างสามัญนั้น เว้นมคธภาษา แบ่งเป็น ๒ ประโยค คือ

          ก. ประโยค ๑ ธรรมวิภาคกับเรียงความแก้กระทู้ธรรมไม่ต้องชักที่มา ต้องได้พร้อมทั้ง ๒ อย่างในคราวเดียว

          ข. ประโยค ๒ พุทธประวัติย่อกับเรียงความแก้กระทู้ธรรม ชักที่มาในหนังสือไทย สุดแต่จะกำหนดให้ว่ากี่แห่ง ต้องได้พร้อมกันทั้ง ๒ อย่าง ในคราวเดียว ฯ

          ๓. สอบได้ทั้ง ๒ ประโยคนี้ เป็นนักธรรม ๒ ประโยค ก่อนแต่จะรับประกาศนียบัตร ภิกษุต้องสอบวินัยบัญญัติในนวโกวาทให้ได้ก่อน สามเณรยังรับไม่ได้ กว่าจะอุปสมบทแล้ว และสอบวินัยบัญญัติได้แล้ว ฝ่ายผู้สอบได้เพียงประโยค ๑ ยังไม่ให้ประกาศนียบัตร เป็นแต่ได้รับยกเว้นตามพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ฯ

          ๔. อย่างวิสามัญนั้น ต้องสอบภาษามคธเติมเข้าด้วย แบ่งเป็น ๒ ประโยค คือ :

          ก. ประโยค ๑ อรรถกถาธรรมบท มีแก้อรรถด้วย

          ข. ประโยค ๒ บาลีไวยากรณ์และสัมพันธ์

          จะสอบในคราวเดียวกันกับอย่างสามัญก็ได้ หรือได้ชั้นสามัญมาแล้ว จะสอบเพิ่มก็ได้ ฯ

          ๕. สอบได้ ๒ ประโยค นี้เป็นเปรียญธรรม ๒ ประโยคเทียบเปรียญปริยัติ ๓ ประโยค ฯ

          ในเวลานี้ จัดได้เพียงเท่านี้ก่อน ฯ

(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส

ป.ล.

          ความยกเว้นจากต้องเรียกเป็นทหารนั้น เมื่อปลูกความรู้อย่างสามัญเจริญแล้ว ขยายออกมาถึงประโยค ๒ ก็ได้ แต่อย่างวิสามัญเพียงประโยค ๑ ดีแล้ว ฯ

(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส

 

(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๓๓-๑๓๕.)

×

ที่ ๔๔/๑๑๕๖*

วันที่ ๒๗ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๓๐

ถึง พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์

          ด้วยได้รับหนังสือที่ ๕๖๗/๔๖๙๕ ลงวันที่ ๒๓ เดือนนี้ ว่าสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระดำริจะจัดการศึกษาของภิกษุสามเณรให้เจริญขึ้น ได้ทรงแบ่งการศึกษาเป็น ๓ ชั้น ตามหลักพระวินัย ซึ่งจัดภิกษุเป็น ๓ พวก คือ เถระ มัชฌิมะ และนวกะ จะทรงรวมการเรียนพระปริยัติธรรม การเรียนนวโกวาท กับการเรียนความรู้ธรรมของสามเณรที่จัดใหม่ให้เข้ากลมเกลียวกัน เบื้องต้นจะให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ในชั้นนวกะ ต่อไปจะให้ถึงได้ผลเป็นทางเลือกพระภิกษุเป็นเจ้าอาวาส และเลือกหาผู้เป็นเจ้าคณะ ได้ทรงร่างพระดำริห์ชุมนุมเถระในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปรึกษาตกลงตั้งหลักสูตรในชั้นนวกะขึ้นชั้นหนึ่ง ยังต่อไปอีก ๒ ชั้น จะขยายการขึ้นในภายหน้า ส่งสำเนาลายพระหัตถ์ และรายงานการประชุมเถรสมาคมและพระดำริห์ในเรื่องนี้ มาขออนุญาตนั้น ทราบแล้ว อนุญาต

 

(พระบรมนามาภิธัย) สยามินทร์

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๓๕-๑๓๖.)

×

อธิบายการสอบไล่องค์ของสามเณรรู้ธรรม

(ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา, หน้า ๒๐๕-๒๐๖.)

          ๑. จะมีกรรมการเป็นผู้สอบ อย่างน้อย ๓ รูป

          ๒. หลักสูตรสำหรับสอบ คือ

                    ก. แปล มคธ เป็นไทย ใช้อรรถกถาธรรมบท เขียน (แต่ในคราวต้น แปลด้วยปากก็ได้) ประมาณ ๒ หน้าสมุดพิมพ์

                    ข. เขียนตอบปัญหาธรรมวิภาคในนวโกวาท ๒๑ ข้อ ข้อนี้เป็นพิเศษ

                    ค. เรียงความแก้กระทู้ธรรมในพุทธศาสนสุภาษิต ๑ ข้อ ตามแต่จะเรียงได้อย่างไร แม้ข้อนี้ก็เป็นพิเศษ

          ๓. วิธีตรวจนั้น ดังนี้

                    ก. ประโยคแปล เป็นแต่อ่านดูเท่านั้น ไม่มีลดคะแนน (ถ้าแปลปาก ก็ฟัง ไม่มีทัก) แล้วลงสันนิษฐานว่า ใช้ได้หรือไม่ได้

                    ข. ตอบปัญหาธรรมวิภาค ยอมให้ผิดได้ ๖ ข้อเต็ม หรือให้คะแนน ๘๔ ผิดข้อหนึ่ง ลด ๑๔ คะแนน ผิดกึ่งข้อลด ๗ บกพร่องเล็กน้อย แบ่งลดลงมาตามควร หมดคะแนน เป็นใช้ไม่ได้ ยังเหลือ จึงใช้ได้

                    ค. เรียงความแก้กระทู้ธรรม อ่านตรวจแล้วลงสันนิษฐาน

          ๔. ในประโยคอันหนึ่ง ๆ กรรมการทั้งนั้นหรือโดยมาก เห็นว่าใช้ได้ จัดเป็นได้ เห็นว่าใช้ไม่ได้ จัดเป็นตก

          ๕. ผู้เข้าสอบจะสอบเพียงแปลมคธก็ได้ แต่ถ้าตก เป็นอันตกทีเดียว ถ้าได้ ต้องสอบสามเณรานุสิกขา ตอบข้อถามด้วยปากกว่าจะได้ จัดเป็นชั้นตรี

          ๖. ถ้าสอบทั้งสามข้อ ตกแปลมคธ แต่ได้ธรรมวิภาค และเรียงความรวม ๒ อย่าง จัดเอาเป็นได้ชั้นตรีเหมือนกัน

          ๗. ถ้าแปลมคธได้แล้ว ได้ธรรมวิภาคหรือเรียงความเพิ่มขึ้น ๑ อย่าง รวมเป็น ๒ อย่าง จัดเป็นชั้นโท

          ๘. ถ้าแปลมคธได้แล้ว ได้ทั้งธรรมวิภาคทั้งเรียงความ รวมเป็น ๓ อย่าง จัดเป็นชั้นเอก

          ๙. ผู้เข้าสอบทั้ง ๓ อย่าง ไม่ต้องสอบสามเณรานุสิกขา

×

แจ้งความ*

เรื่องรับความรู้องค์นักธรรมประโยค ๑ ประโยค ๒

ของผู้สอบได้ในที่อื่นมาแล้ว

          สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ พระมหาสมณะ รับสั่งให้แจ้งความว่า วัดที่ได้จัดการสอบความรู้องค์นักธรรมมานานแล้ว จนภิกษุสามเณรในวัดมีความรู้ธรรมวินัยเจริญขึ้น ได้สอบถึงพุทธานุพุทธประวัติมีอยู่ ความรู้ที่สอบได้ในวัดเหล่านี้ ในเวลานี้ ยังสูงกว่าความรู้ที่สอบในสนามหลวงที่เริ่มจัดขึ้นใหม่ สมควรจะรับความรู้ของผู้สอบได้มาแล้ว ไม่ต้องให้สอบใหม่ เพราะเหตุนั้น ภิกษุสามเณรผู้จะสอบความรู้องค์ของนักธรรมเปรียญธรรมประโยคพิเศษ จงนำใบสอบได้ในวัดที่อยู่ หรือในสำนักอื่นที่ครบประโยคแล้ว ยื่นต่อสนามหลวง คือ เรียงความแก้กระทู้ธรรม และตอบปัญหาธรรมวิภาค รวมเป็นประโยค ๑ ตอบปัญหาวินัยบัญญัติ และตอบปัญหาพุทธานุพุทธประวัติ รวมเป็นประโยค ๒ ถ้าตรวจเห็นว่าใช้ได้

ก็จะรับความรู้นั้นว่าเป็นอันสอบได้แล้ว ถ้าแปลอรรถกถาธรรมบทประโยค ๑ ได้ นับว่าเป็นนักธรรมประโยค ๑ พิเศษ

ถ้าแปลประโยค ๒ ได้ นับว่าเป็นเปรียญธรรมประโยค ๒ เหมือนเปรียญรามัญ เทียบได้กันกับเปรียญ ๓ ประโยค

จะได้รับพระราชทานพัดยศอย่างเปรียญ ๓ ประโยค แต่สามเณรยกวินัยบัญญัติไว้พลาง เมื่ออุปสมบทแล้ว ต้องสอบวินัยบัญญัติให้ได้ก่อน จึงจะได้รับพระราชทานพัดยศเปลี่ยน ฝ่ายภิกษุสามเณรผู้แปลอรรถกถาธรรมบท ประโยค ๑ ประโยค ๒ ได้ไว้แล้ว เมื่อสอบความรู้องค์นักธรรมได้ในสนามหลวงก็ดี ในสำนักอื่นแต่สนามหลวงยอมรับก็ดี ก็จะได้รับนับเป็นนักธรรมประโยค ๑ พิเศษ

และเปรียญธรรม ๒ ประโยค ดุจเดียวกัน

 

          แจ้งความมา ณ วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๑=๒๔๕๕

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๘๕-๑๘๖.)

×

ตัวอย่าง

ใบคู่มือนักเรียนบาลีประโยค ๑-๒

 

          ใบคู่มือนี้ พิสูจน์ว่า สนามหลวงได้สอบความรู้บาลีของ....... นามฉายา...............................................วัด...............................อายุ.............. พรรษา.......................................เรียนในสำนัก......................................ได้ตามหลักสูตรบาลี ประโยค....................แล้ว ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ................ อนุญาตให้เข้าสอบประโยค.......ต่อขึ้นไปได้ และให้ใบคู่มือนี้ไว้เป็นสำคัญ

ให้ไว้ ณ วันที่............เดือน.........................พ.ศ. ...........

 

ตราสนามหลวง

 

ฟังได้ในราชการ

ตราเสมาธรรมจักร

×

ตัวอย่าง

ใบคู่มือนักเรียนบาลีประโยค ๑ สามัญและวิสามัญ

 

          ใบคู่มือนี้พิสูจน์ว่า สนามหลวงได้สอบความรู้ธรรมของ....... นามฉายา...............................................วัด...............................อายุ.............. พรรษา.......................................เรียนในสำนัก......................................ได้ตามหลักสูตรแห่งองค์นักธรรมประโยค ๑....................แล้ว ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ................ อนุญาตให้เข้าสอบประโยค ๒ ต่อขึ้นไปได้ และ ให้ใบคู่มือนี้ไว้เป็นสำคัญ

ให้ไว้ ณ วันที่............เดือน.........................พ.ศ. ...........

 

ตราสนามหลวง

 

ฟังได้ในราชการ

ตราเสมาธรรมจักร

×

ตัวอย่างประกาศนียบัตรเปรียญธรรมชั้นนวกะ

 

          ศุภมัสดุ พระพุทธศักราช ๒๔๕๕ สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์ สมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ

ธรรมิกมหาราชาธิราช เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก มีพระราชประสงค์จะให้ปริยัติธรรมเจริญรุ่งเรืองเป็นปัจจัยแห่งปฏิบัติธรรม จึงพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่คณะสงฆ์ เพื่อได้สอบความรู้ธรรมวินัยภิกษุสามเณรสืบอายุพระพุทธศาสนา ได้เปิดสนามหลวงสอบความรู้ ณ

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ถึงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณะ เสด็จประทับเป็นประธานพร้อมด้วยพระเถระเป็นกรรมการผู้สอบ กับเจ้าพนักงานกระทรวงธรรมการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ

          สนามหลวงได้สอบความรู้ธรรมวินัยของพระ...................................... นามฉายา...................วัด.............................อายุ..............พรรษา......เรียนในสำนัก............ได้ตามหลักสูตรแห่งองค์นักธรรมถึงประโยคที่ ๒ สามัญ ครบชั้นนวกะแล้ว ได้สอบความรู้บาลีของพระ...........................ตามหลักสูตรพระบาลีได้อีก ๒ ประโยค ครบกำหนดเป็นเปรียญธรรม จึงมอบให้ประกาศนียบัตรนี้ไว้ เพื่อแสดงว่าพระ....................................เป็นเปรียญธรรมชั้นนวกะ ของสนามหลวง ขออำนวยพรให้เจริญถาวรในธรรมเป็นนิตย์เทอญ

          ให้ไว้ ณ วันที่............เดือน..........พระพุทธศักราช

 

ตราสนามหลวง

ฟังได้ในราชการ

ตราเสมาธรรมจักร

×

ตัวอย่างประกาศนียบัตรนักธรรมชั้นนวกะ

 

          ศุภมัสดุ พระพุทธศักราช ๒๔๕๕ สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์ สมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ ธรรมิกมหาราชาธิราช เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก มีพระราชประสงค์จะให้ปริยัติธรรมเจริญรุ่งเรื่องเป็นปัจจัยแห่งปฏิบัติธรรม จึงพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่คณะสงฆ์ เพื่อได้สอบความรู้ธรรมวินัยภิกษุสามเณรสืบอายุพระพุทธศาสนา ได้เปิดสนามหลวง สอบความรู้ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ถึงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณะ เสด็จประทับเป็นประธาน พร้อมด้วยพระเถระเป็นกรรมการผู้สอบ กับเจ้าพนักงานกระทรวงธรรมการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ

          สนามหลวงได้สอบความรู้ธรรมวินัยของพระ.................................. นามฉายา.................วัด...............................อายุ............พรรษา........เรียนในสำนัก................ได้ตามหลักสูตรแห่งองค์นักธรรมถึงประโยคที่ ๒ สามัญ ครบชั้นนวกะแล้ว จึงมอบให้ประกาศนียบัตรนี้ไว้เพื่อแสดงว่า.............................เป็นนักธรรมชั้นนวกะของสนามหลวง ขออำนวยพรให้เจริญถาวรในธรรมเป็นนิตย์เทอญ

          ให้ไว้ ณ วันที่..........เดือน...............พระพุทธศักราช.........

 

ตราสนามหลวง

 

ฟังได้ในราชการ

ตราเสมาธรรมจักร

×

แจ้งความ*

เรื่องเฉลี่ยคะแนนในการสอบความรู้องค์นักธรรม

          แจ้งความให้รู้ทั่วกันว่า การสอบความรู้ในคราวเดียวหลายอย่างยากที่จะสอบให้ได้ครบทุกอย่าง ผู้เข้าสอบใหม่ ต้องสอบมากอย่าง ย่อมแพ้เปรียญผู้สอบได้มาจากวัด ผู้สอบที่ละอย่าง สมควรจะจัดให้ผู้เข้าสอบคราวละมากอย่าง ได้รับประโยชน์แห่งการสอบมากอย่าง เหตุนั้น จึงตั้งเกณฑ์เฉลี่ยคะแนนไว้ ดังต่อไปนี้ :-

          ๑. ความรู้อย่างหนึ่ง มีกรรมการตรวจ ๓ รูป อย่างน้อยให้ ๒ รูป จึงเป็นอันได้ ตามนัยนี้ จักคิดเฉลี่ยคะแนนตามความรู้ที่สอบอย่างละ ๒ คะแนน ถ้ามีคะแนนได้เท่านั้นหรือยิ่งกว่านั้น จึงเป็นอันได้ หย่อนกว่านั้นเป็นอันตก ตัวอย่างเช่น สอบคราวนี้ ความรู้ที่สอบ ๓ อย่าง ๖ คะแนนเป็นอย่างน้อย จึงเป็นอันได้ เช่น ได้ธรรมวิภาค ๓ คะแนน วินัยบัญญัติ ๓ คะแนน ตกเรียงความทั้ง ๓ คะแนนก็ยังเป็นใช้ได้ ถ้าได้ธรรมวิภาค ๓ คะแนน วินัยบัญญัติ ๒ คะแนน เรียงความต้องตกเพียง ๒ คะแนน ได้ ๑ จึงเป็นใช้ได้ ถ้าตกทั้ง ๓ เป็นอันตก ถ้าได้ธรรมวิภาคและวินัยบัญญัติ เพียงอย่างละ ๒ คะแนน ต้องได้เรียงความด้วยอย่างน้อย ๒ คะแนน จึงจะใช้ได้

          ๒. การคิดเฉลี่ยคะแนนนี้ จักคิดเฉพาะความรู้ที่สอบในคราวเดียวกัน ประโยคที่ส่งขอให้ตรวจก็ดี ที่ได้ไว้ในสนามคราวหลังก็ดี จะเอามาคิดเฉลี่ยด้วยไม่ได้ เช่น สามเณรได้องค์นักธรรมประโยค ๑ ไว้แล้ว คือได้เรียงความกับธรรมวิภาคแล้ว ครั้นอุปสมบทเป็นภิกษุขึ้น ต้องเข้าสอบวินัยบัญญัติเพิ่ม เช่นนี้ ต้องเป็นประโยคที่ได้ คือได้อย่างน้อย ๒ คะแนนจึงใช้ได้

 

          แจ้งความไว้ ณ วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๕๖

 

กรม-วชิรญาณวโรรส

 

*(ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา. หน้า ๒๙๘-๒๙๙.)

×

วิธีลดคะแนน*

          ในปัญหาอันหนึ่ง ๆ มีกำหนดว่า ๗ ข้อ ให้ผิดได้ ๒ ข้อเป็นอย่างมาก ปัญหาหนึ่งมี ๒๑ ข้อ ข้อผิดจึงมีได้ ๖ ข้อ

          แต่โดยมาก ตอบไม่ผิดทั้งข้อก็มี เพราะฉะนั้น จึงต้องคิดเป็นคะแนนสำหรับลด ข้อหนึ่ง ๑๔ คะแนน ๖ ข้อเป็น ๘๔ คะแนน นี้เป็นทุนเดิม ถ้าต้องลด พอหมดทุน แต่ไม่ต้องเป็นหนี้ จัดเอาเป็นได้ ยิ่งเหลือทุนมากเพียงใดยิ่งดี

          ถ้าผิดเต็มข้อ ลด ๑๔ คะแนน ถ้าผิดไม่เต็มข้อ ถ้าข้อความแบ่งเป็นสองได้ ผิดแต่ในส่วนหนึ่งเช่นนี้ลด ๗ คะแนน ถ้าข้อความแบ่งเป็น ๓ ผิด ๒ ส่วน เช่นนี้เอา ๓ หาร ๑๔ เศษทิ้งเสีย ได้ลัพธ์ ๔ เอา ๒ คูณ เป็น ๘ ลดเพียงเท่านี้ ๑ ใน ๔ หรือ ๓ ใน ๔ ก็เทียบเหมือนดังนี้

          วิธีใช้อักษรและคำพูดและเรียงความ สังเกตตามพื้นคน ถ้าไม่ได้เคยเล่าเรียนมา หรือผู้ตรวจเข้าใจว่าเป็นเพราะพลั้งเผลอ ยกให้ ถ้าคนเรียนมีพื้นมา แต่เขลาในที่บางแห่ง เช่นนี้ลดคะแนน ๑ บ้าง ๒ บ้าง ตามน้ำหนักแห่งอักษรหรือถ้อยคำที่ใช้ผิด ทำเปรอะเปื้อนปฏิกูล ผิดวิสัยของคนเขียนหนังสือเป็น ลดแห่งละ ๑ หรือ ๒ ตามน้ำหนักแห่งความเปรอะเปื้อน วางหน้ากระดาษผิด ลด ๕ คะแนน

          ถ้าตอบดีได้ความชัดเจน เรียงข้อความกะทัดรัด หรือข้อความเฉียบแหลม เช่นนี้ ควรได้เพิ่มคะแนนเฉพาะข้อนั้น อย่างสูง ๑๔ คะแนนเต็มข้อ ลดลงมาตามสมควรจนถึง ๓ คะแนนเป็นที่สุด คะแนนเพิ่มนี้ บวกเข้ากับทุนเดิม สำหรับเป็นทุนเพื่อผิดในข้ออื่นได้มากกว่ากำหนด หรือไว้เป็นทุนเหลือสำหรับได้รับรางวัล

          ผู้ที่ควรได้รับรางวัลนั้น ต้องมีคะแนนเหลือกว่าครึ่งขึ้นไป ถ้าไล่คราวหลัง ๆ ต้องมีคะแนนเหลือมากกว่าผู้ที่ตอบได้รางวัลไว้ในศกนั้นแล้วด้วย

 

*(ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา. หน้า ๓๐๐-๓๐๑)

×

พระดำรัสสั่ง*

เรื่องเฉลี่ยคะแนนได้ตกสำหรับสอบความรู้ในสนามหลวง

ที่ ๑/๒๔๕๖

          คำนึงถึงภิกษุสามเณร ผู้เข้าสอบความรู้องค์นักธรรมในสนามหลวง เราเห็นว่ายังเสียเปรียบผู้เข้าสอบตามวัดอยู่ ผู้เข้าสอบตามวัด สอบได้เป็นอย่าง ๆ ครบกำหนดแล้ว ส่งมาขอให้สนามหลวงตรวจ เพื่อรับเป็นนักธรรมของสนามหลวงได้ ฝ่ายผู้เข้าสอบในสนามหลวงทีเดียว ความรู้ในประโยคอันเดียว ต้องได้ครบทุกอย่าง แม้ในสนามหลวงเองสอบประโยค ๒ สามเณรผู้ยังไม่ต้องสอบวินัย ยังได้เปรียบภิกษุอยู่ นอกจากนี้ ผู้เข้าสอบบางรูปมีความรู้ดีบางอย่าง กรรมการให้ครบ ๓ คะแนน ได้ชมว่าดีบ้างก็มี เมื่อตกความรู้อย่างอื่น ความรู้ที่ดีนั้นก็เป็นต้องตกไปตามกัน เอามาช่วยความรู้ที่หย่อนไม่ได้ มีประสงค์จะแก้ข้อบกพร่องเหล่านี้ จึงตั้งวิธีเฉลี่ยคะแนนได้ตกไว้ดังนี้ :

          ๑. คะแนนสำหรับความรู้อย่างหนึ่งเป็น ๓ ได้เพียง ๒ เป็นให้เฉพาะความรู้อย่างนั้น เสียตั้งแต่ ๒ เป็นไม่ให้ ในประโยคที่สอบความรู้กว่าอย่างหนึ่ง ให้รวมคะแนนได้ตกเฉลี่ยกันได้ เช่นในบัดนี้ องค์นักธรรมประโยค ๑ สอบความรู้ ๒ อย่าง คะแนนได้ตั้งแต่ ๔ ขึ้นไปถึง ๖ ต่างว่าแก้กระทู้ธรรมได้ ๓ คะแนน ตอบปัญหาธรรมวิภาคเสีย ๒ คะแนน ได้แต่เพียงคะแนนเดียว เช่นนี้ รวมทั้งประโยคคงได้ ๔ คะแนน เสีย ๒ คะแนน ประโยคนี้เป็นอันได้ อีกอย่างหนึ่ง ต่างว่าสอบรวมกันทั้ง ๒ ประโยค ความรู้ ๔ อย่าง คะแนนได้ตั้งแต่ ๘ ขึ้นไปถึง ๑๒ ต่างว่าแก้กระทู้ธรรมได้ ๒ คะแนน ตอบปัญหาธรรมวิภาคได้ ๓ คะแนน ตอบปัญหาวินัยได้ ๑ คะแนน ตอบปัญหาพุทธประวัติได้ ๒ คะแนน ทั้งประโยครวมเป็นได้ ๘ คะแนน เป็นใช้ได้

          ๒. สอบความรู้มากอย่างเข้า ความได้ประโยชน์เพราะเฉลี่ยคะแนนก็มากขึ้น อาจจะทำให้นักเรียนสะเพร่า ไม่เอาใจใส่ในความรู้บางอย่างได้ เช่น สอบความรู้ ๔ อย่างนั้น ได้ ๓ อย่าง ๆ ละ ๓ คะแนนเต็ม รวมเป็น ๙ เป็นเกณฑ์ได้อยู่แล้ว อาจจะทำสะเพร่าละเลยความรู้อีกอย่าง ๑ เสีย เพราะฉะนั้น ในประโยคใด เสียคะแนนเพราะความรู้อย่าง ๑ เต็ม ๓ เช่นนี้ จะเอาคะแนนสำหรับความรู้อย่างอื่น มาเฉลี่ยด้วยไม่ได้ ประโยคนั้นเป็นอันตก จะเฉลี่ยได้เพราะความรู้มีคะแนนได้อยู่ ๑

          ๓. ส่วนการสอบความรู้บาลี ของภิกษุสามเณรผู้สอบองค์นักธรรมประโยค ๒ สามัญได้แล้ว ให้ได้รับเฉลี่ยคะแนนตามนัยนั้น ส่วนของภิกษุสามเณรผู้สอบแต่ลำพังบาลี หรือได้องค์นักธรรมเพียงประโยค ๑ ยังไม่ให้ใช้วิธีเฉลี่ยคะแนน ให้ตรวจได้ตกเฉพาะประโยคไปก่อนกว่าจะได้จัดให้เข้ารูป

          เมื่อได้ตั้งวิธีเฉลี่ยคะแนนได้ตกขึ้นเช่นนี้แล้ว จึงอนุญาตให้ภิกษุสามเณรผู้สอบองค์นักธรรมประโยค ๑ สามัญ ได้อย่าง ๑ ตกอย่าง ๑ แต่เฉลี่ยคะแนนได้เป็น ๔ ให้เป็นอันได้ประโยคนั้น

 

          แจ้งความไว้ ณ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๖

 

(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๕๒๑-๕๒๓.)

×

ที่ ๒/๒๔๕๖

ประกาศ

สอบความรู้คิหิปฏิบัติ ในแผนกธรรมวิภาค*

 

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณะ ตรัสประกาศไว้ว่า ภิกษุสามเณรผู้เข้าสอบความรู้องค์นักธรรม ยังมีคติจะสึกโดยมาก แม้หากจะอยู่ยั่งยืนไป ก็ยังควรเข้าใจคิริปฏิบัติ เพื่อจะได้สั่งสอนคฤหัสถ์บริษัทในธรรมของเขา เพื่อชักนำให้ได้ศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนา แม้สมเด็จพระบรมศาสดาของเราก็ได้ตรัสสอนสิงคาลมาณพเป็นต้นมาเป็นแบบ ครั้นจะทรงจัดเข้าในหลักสูตรมาแต่แรก ภิกษุสามเณรทั้งหลายยังไม่ทันเห็นประโยชน์แห่งการเรียนธรรม ก็จักคิดเห็นไปว่าทรงน้อมไปในทางโลกจัดนัก บัดนี้ความเข้าใจประโยชน์แห่งการเรียนธรรมแพร่หลายออกไป จนมีผู้เข้าสอบองค์นักธรรมเป็นหลายร้อย และได้ก็มาก เป็นเวลาสมควรจะสอบความรู้คิหิปฏิบัติด้วย ครั้นจะสอบเฉพาะอย่าง ข้อธรรมอันเป็นหลักสูตรก็น้อย จึงจะรวมเข้าในธรรมวิภาค เป็นแต่ถามปัญหาเปิดออกไปถึงคิหิปฏิบัติด้วย คงจำนวนข้อไว้เท่าเดิม และคงเรียกว่าปัญหาธรรมวิภาคตามเดิม ตั้งแต่ศกหน้า จักจัดตามนี้

 

ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๖

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๕๒๓-๕๒๔.)

×

ที่ ๓/๒๕๕๖

ประกาศ

รวมองค์นักธรรมประโยค ๑ ประโยค ๒

เข้าเป็นองค์นักธรรมชั้นตรี*

 

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณะ ตรัสประกาศไว้ว่า ในศกนี้ มีภิกษุสามเณรเข้าสอบองค์นักธรรมเกือบถึง ๖๐๐ เข้าสอบประโยค ๒ เกือบถึง ๒๐๐ มีจำนวนผู้สอบได้ก็มาก การเล่าเรียนพระธรรมวินัยแพร่หลายออกไป ทั้งในเวลานี้ก็ได้ตั้งวิธีคิดเฉลี่ยคะแนนได้ตกขึ้น เป็นอันผ่อนลงให้ได้สะดวกเข้าแล้ว เป็นเวลาสมควรจะจัดให้เข้าระเบียบได้อยู่ ตั้งแต่ศกหน้า สนามหลวงจะสอบความรู้ธรรมของภิกษุสามเณร พร้อมคราวเดียวกันทั้ง ๒ ประโยค เป็นความรู้สำหรับภิกษุ ๔ อย่าง สำหรับสามเณร ๓ อย่าง (ยกวินัยไว้พลาง) ได้หรือตกก็พร้อมกัน ไม่มีพักเป็นประโยคดุจเดิม สอบได้แล้ว เป็นนักธรรมชั้นตรี ได้แก่ นวกภูมิ ส่วนสามเณรอุปสมบทแล้ว ต้องสอบวินัยเพิ่มให้ได้ก่อน จึงจะได้รับประกาศนียบัตรเป็นนักธรรมชั้นนั้น ส่วนนักธรรมประโยค ๑ อนุญาตให้สอบเพิ่มประโยคได้ เหมือนในศกนี้ฯ

          ฝ่ายนักธรรมของวัดทั้งหลาย ที่วัดเหล่านั้นจะขอโอนเป็นนักธรรมของสนามหลวง ให้โอนได้ต่อเมื่อได้ครบองค์ของนักธรรมชั้นตรี และองค์เหล่านั้น ต้องสอบได้ในระยะกาลไม่ห่างกว่า ๓ เดือนในระหว่าง ต้องเป็นองค์ที่สอบได้ทั้งนั้น

          ส่วนในหัวเมือง พึ่งเริ่มจัดขึ้น อนุญาตให้การสอบความรู้องค์นักธรรม ที่ทำในหัวเมืองนั้น ๆ เอง พักเป็นประโยค ๑ ประโยค ๒ ได้เหมือนเดิม กว่าจะจัดให้เข้ารูปได้ แต่สำหรับเฉพาะภิกษุสามเณรผู้อยู่ในเมืองนั้นเอง ฯ

 

ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๖ ฯ

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๕๒๔-๕๒๕)

×

ที่ ๔/๒๔๕๖

ประกาศ

จัดหลักสูตรแห่งเปรียญบาลี ๓ ประโยค

เข้ากับองค์นักธรรมประโยค ๒

เป็นเปรียญธรรม ชั้นตรี*

 

          สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณะ ตรัสประกาศไว้ว่า การสอบความรู้บาลีเป็นเปรียญ ๓ ประโยค ให้แปลธัมมปทัฏฐกถา เป็นความไทยอย่างเดียวกันทั้ง ๓ ประโยค ไม่ค่อยจะได้เปรียญมีความรู้ดี เพราะผู้เข้าสอบโดยมากด้วยกัน ไม่รู้จักสัมพันธ์และไม่แตกฉานในทางไวยากรณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ การเรียนบาลีจึงยังตกต่ำ มีพระประสงค์จะทรงบำรุงให้เจริญขึ้น จึงจะทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตแก้ไขหลักสูตรเปรียญบาลี ๓ ประโยค ให้คงแปลธัมมปทัฏฐกถา เพียงประโยคเดียว อีก ๒ ประโยคนั้นเปลี่ยนเป็นสอบความรู้สัมพันธ์ เพื่อให้รู้จักชักศัพท์เชื่อมถึงกัน ประโยค ๑ สอบความรู้บาลีไวยากรณ์ส่วนวจีวิภาค เพื่อเข้าใจผูกศัพท์ ประโยค ๑ ฯ วิธีสอบสัมพันธ์ จักวางแบบให้ไว้ ส่วนวิธีสอบไวยากรณ์เคยกันมาแล้ว ทั้ง ๓ นี้ รวมเป็นหลักสูตรบาลี เป็นองค์อันหนึ่งของเปรียญธรรม ชั้นตรี ฯ

          วิธีสอบ ไม่สอบเป็นประโยค ๆ ไปเหมือนเดิม สอบคราวเดียวกันทั้ง ๓ ประโยค คิดเฉลี่ยคะแนนแล้ว ได้หรือตกก็พร้อมกันทั้ง ๓ อย่าง ฯ

          และในศกนี้ มีภิกษุสามเณรเข้าสอบองค์นักธรรมประโยค ๑ เกือบถึง ๖๐๐ เข้าสอบประโยค ๒ เกือบ ๒๐๐ มีจำนวนผู้สอบได้ก็มาก การเล่าเรียนพระธรรมวินัยแพร่หลายออกไป เปรียญและนักเรียนบาลีก็เข้าสอบอยู่โดยมากด้วยกันแล้ว เป็นเวลาสมควรจะจัดให้เข้าระเบียบกับการเรียนบาลีตลอดไปได้แล้ว ตั้งแต่ศกหน้า ภิกษุสามเณรผู้จะเข้าสอบบาลีเป็นเปรียญ ๓ ประโยค ต้องสอบได้องค์นักธรรมประโยค ๒ สามัญมาก่อนแล้ว เมื่อสอบบาลีได้อีกองค์หนึ่ง จัดเป็นเปรียญธรรม ชั้นตรี ได้แก่นวกภูมิ หรือเรียกนับประโยคว่า เปรียญธรรม ๓ ประโยคก็ได้ฯ

          ฝ่ายภิกษุสามเณรผู้ได้บาลีประโยค ๒ ไว้แล้ว ให้สอบองค์นักธรรมชั้นตรีสามัญได้แล้ว ให้เป็นเปรียญธรรม ฝ่ายผู้ได้บาลีประโยค ๑ ที่เป็นนักธรรมชั้นตรี ให้แปลธัมมปทัฏฐกถาอีก ๑ ประโยค กับสอบสัมพันธ์และไวยากรณ์ส่วนวจีวิภาค ผู้ที่ยังไม่ได้องค์นักธรรมชั้นตรี ต้องให้ได้ก่อน จึงจะเข้าสอบอย่างนั้นได้ฯ

          ตรัสประกาศให้อาจารย์และนักเรียนทราบไว้พลาง เพื่อจะได้เตรียมสอน เตรียมเรียนให้เข้าระเบียบ ถ้าได้รับพระบรมราชานุญาต จักจัดตามนี้ ฯ

          ฝ่ายเปรียญ ๓ ประโยค ผู้จะแปลประโยค ๔ ขึ้นไปในคราวหน้า ต้องได้องค์นักธรรมประโยค ๒ สามัญมาก่อนแล้ว ฯ

 

ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๖ ฯ

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๕๒๖-๕๒๘.)

×

เรื่องแก้ไขหลักสูตรและจัดระเบียบการสอบไล่

พระปริยัติธรรม ในสนามหลวง*

 

          ด้วยสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณะ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหาสมณศาสนไปยังกระทรวงธรรมการ ทรงพระปรารภการเรียนธรรมในบัดนี้ว่า แพร่หลายขึ้น จนได้ประกาศรวมประโยค ๑ กับ ประโยค ๒ สอบคราวเดียวกัน ไม่มีพักในระหว่าง มีพระดำริว่า ในการสอบบาลีชั้นต่ำเพียงธัมมปทัฏฐกถา ในคราวหน้า จะอนุญาตให้เข้าสอบได้ เฉพาะแต่ผู้เป็นนักธรรมชั้นตรีแล้วเท่านั้น ฯ

          อีกประการหนึ่ง ได้ทรงสังเกตเห็นผู้แปลบาลีโดยมากขาดความรู้สัมพันธ์ คือเชื่อมศัพท์เข้ากับศัพท์ และอ่อนทางความรู้บาลีไวยากรณ์ส่วนวจีวิภาค จนกลายเป็นผู้แปลหนังสือไม่มีหลัก ในการสอบความรู้บาลี ๓ ประโยคเบื้องต้น คือชั้นธัมมปทัฏฐกถา ในกาลต่อไป ทรงพระดำริว่าควรจะแก้หลักสูตรดังนี้ คงให้แปลธัมมปทัฏฐกถาเป็นความไทย ๑ ประโยค อีก ๒ ประโยค เปลี่ยนเป็นแปลสัมพันธ์ (ใช้เรื่องในธัมมปทัฏฐกถานั้นเอง) ๑ ประโยค ให้ตอบปัญหาบาลีไวยากรณ์ส่วนวจีวิภาค ๑ ประโยค สอบในคราวเดียวกัน ได้หรือตกก็พร้อมกัน ผู้เข้าสอบเป็นนักธรรมชั้นตรีมาแล้วแปลบาลีได้ เป็นเปรียญธรรมชั้นตรี ตรงกับเปรียญธรรมนวกภูมิ หรือเรียกเรียงประโยคว่า เปรียญ ๓ ประโยค ฯ

          อีกอย่างหนึ่ง หลักสูตรสำหรับแปลบาลีประโยค ๕ ที่แล้วมาเคยใช้ปกรณ์ ชื่อสารัตถสังคหะ ปกรณ์นี้รจนาไม่เรียบร้อยในทางไวยากรณ์ และข้อความที่ชักมากล่าว อาจทำให้เสียผลได้ก็มี เช่น กล่าวว่าตัดฟันต้นโพเป็นบาปนัก ตามวัดจึงปล่อยให้ต้นโพเล็ก ๆ ขึ้นบนของก่อสร้างจนถึงทำให้เป็นอันตราย อาศัยเหตุเช่นนี้ สมเด็จพระมหาสมณะ จึงทรงเห็นว่าไม่ควรใช้เป็นแบบแผน มีพระดำริว่า หลักสูตรสำหรับสอบบาลีประโยค ๕ ในคราวหน้า ควรใช้ปกรณ์บาลีมุตตกวินัย วินิจฉัยว่าด้วยวินัย แทนปกรณ์สารัตถสังคหะ ฯ

          ทั้งนี้ กระทรวงธรรมการได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว แต่ ณ วันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ จึงแจ้งความให้ครูและนักเรียนปริยัติธรรมทราบไว้ ฯ

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๕๕๗-๕๕๘.)

×

ต้นแบบประกาศนียบัตรนักธรรมชั้นตรี

ที่

 

       

;   โดยพระบรมราชูปถัมภ์แห่งสมเดจบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์. สมเดจพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ

ธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้า เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก สมเดจพระมหาสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงตั้งพระ..............................เป็นแม่กอง

พร้อมด้วยกรรมการให้เปิดสนาม..............................สอบประโยคนักธรรมชั้นตรี

ประจำ พ.ศ. ๒๔...  า

          พระ ...........ชื่อฉายา ...........อายุ .. พรรษา .. สำนักเรียนวัด .......จังหวัด.... สอบได้

ประโยคนักธรรมชั้นตรีในสนาม .................นี้

ขออำนวยพรให้เจริญมั่นคงในพระพุทธศาสนา เทอญ  า

          มอบให้ไว้ณะวันที่ .. เดือน.......... พ.ศ.๒๔..

 

...........

แม่กอง

×

คะแนน

นักธรรม เปรียญธรรม เปรียญบาฬี

          นักธรรม

ชั้นเอก  ได้ทุกอย่าง  แคนนเต็ม ๑๒

ชั้นโท       "          "  ตั้งแต่ ๙

ชั้นตรี       "          "  ต่ำกว่า ๙

นอกชั้น  ต้องเฉลี่ยแคนน  แต่สูงกว่าแคนนจำกัด

 

          เปรียญธรรม

ชั้นเอก  ได้ครบทุกอย่าง  แคนนเต็ม ๙

ชั้นโท       "          "       ๘

ชั้นตรี       "          "      ๗ หรือ ๖

นอกชั้น  ต้องเฉลี่ยแคนน

 

          เปรียญบาฬี

แปลปาก        ปรึกษา   มีชั้นตรี

แปลเขียน

ชั้นเอก        แคนน  ๓

ชั้นโท       ."  ๒

ชั้นตรี   ไม่มี

×

ประกาศกำหนดเวลาเขียน

ในการสอบความรู้ ในสนามหลวง*

 

          สมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสประกาศไว้ว่า ตั้งแต่จัดการสอบความรู้ด้วยวิธีเขียนขึ้นแล้ว ยังไม่ได้จำกัดเวลาลงไป เพราะทรงพระดำริห์เห็นว่า ผู้สอบยังไม่สันทัดในการเขียนโดยมาก เป็นแต่ยังมีเพื่อนเขียนอยู่ด้วย ๓ รูปก็เป็นใช้ได้ มาในคราวนี้ ทรงสังเกตเห็นว่า ผู้สอบสันทัดในการเขียนโดยมากแล้ว แต่เอาเวลาไปใช้เพื่อตริตรองเสีย ไม่ย่นเวลาเขียนเข้าได้ ตั้งแต่เที่ยวนี้ จึงทรงกำหนดเวลาเขียนลงไว้ว่าเท่านั้นชั่วโมง หรือมีเศษด้วยเท่านั้น พอเหมาะแก่ประโยค ที่โปรดให้เขียนบอกไว้ในที่สอบ ผู้สอบจงเขียนและส่งประโยคให้เสร็จทันเวลาที่กำหนดไว้ ถ้าไม่ส่งทันกำหนดจัดเป็นตกในการเขียน ถ้าส่งใบที่เขียนไม่เสร็จ โปรดให้กรรมการรับตรวจ แต่จะได้หรือตก สุดแท้แต่ความรู้ ถ้าความรู้ดี คุ้มข้อความที่ขาดได้ก็เป็นอันได้ ไม่เช่นนั้นก็เป็นอันตก ฯ

 

          ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๕๗ ฯ

 

(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๒ พ.ศ. ๒๔๕๗. หน้า ๕๒๘.)

×

ประกาศให้สอบความรู้เป็นนักธรรมของวัดก่อน

จึงเข้าสอบเป็นนักธรรมในสนามหลวงได้*

 

          สมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสประกาศไว้ว่า การสอบความรู้นักธรรมของสนามหลวง มีจำนวนผู้เข้าสอบมากขึ้นโดยลำดับ แยกวันสอบเป็นสองคราวเกือบไม่พอแล้ว และในจำนวนที่เข้าสอบนั้น ผู้มีความรู้อ่อนยังไม่สมควรเข้าก็มีมาก อนุญาตให้เข้าสอบ ไม่เป็นแต่เพียงขยายคราวสอบให้มากออกไป ซ้ำมีบางรูป ตกแล้วเขียนบัตรสนเท่ห์ส่งมากล่าวเสียดแทงพระราชาคณะกรรมการผู้ทำปัญหาอีก เป็นการหยาบช้าไม่สมควรแก่ผู้ศึกษาพระธรรมวินัยเลย จึงทรงตั้งระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

          ๑. ตั้งแต่ศกหน้า ให้วัดเป็นสำนักเรียนที่จะได้รับพระอนุญาต จัดการสอบความรู้ธรรมวินัยของผู้เรียน ในสำนักเป็นนักธรรมของวัดชั้นหนึ่งก่อน เมื่อถึงคราวเปิดสนามหลวง ให้ส่งเข้าสอบแต่ผู้เป็นนักธรรมของวัด ห้ามไม่ให้ส่งผู้ยังไม่เคยสอบซ้อมเข้ามาเป็นอันขาด ฯ

          ๒. วัดจะจัดการสอบความรู้นั้น จะจัดสอบให้พักเป็นประโยค ๑ ประโยค ๒ เหมือนอย่างเดิมก็ตาม หรือจะสอบรวดเดียวก็ตาม สุดแต่จะเหมาะแก่วัดนั้น แต่ให้ทำเป็นกิจจะลักษณะ ในปีหนึ่งให้ทำได้อย่างมาก ๒ ครั้ง หกเดือนต่อครั้ง ห้ามไม่ให้ทำถี่เช่นฝึกซ้อม และห้ามไม่ให้เอาผู้ได้ประโยคในการฝึกซ้อมเป็นนักธรรมของวัด ถ้าสอบพักเป็นประโยค ต่อได้ประโยค ๒ แล้ว จึงส่งเข้าสนามหลวงได้ ฯ

          ๓. นักธรรมของวัด ไม่ได้รับยกเว้นจากพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ให้ถือว่าเป็นเพียงผู้ได้รับความสอบซ้อมเตรียมเข้าสนามหลวงเท่านั้น ฯ

          ๔. ส่วนวัดที่ไม่ได้รับพระอนุญาตให้ตั้งสอบเอง จักทรงจัดให้สมทบเข้ากับวัดอื่น ถ้ามีผู้เรียนน้อย พอจะฝากเรียนที่วัดอื่นได้ตามลำพัง จงทำอย่างนั้น ฯ

          ๕. วัดที่ได้รับพระอนุญาตให้ตั้งสอบแล้ว ทำหละหลวมจนไม่เป็นที่วางใจของสนามหลวง จักถูกถอนพระอนุญาต ฯ

 

          ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ฯ

 

(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๒ พ.ศ. ๒๔๕๗. หน้า ๕๒๙-๕๓๐.)

×

(สำเนา)

ประกาศกำหนดหลักสูตร

สอบความรู้องค์นักธรรมของมณฑล*

 

          สมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสประกาศไว้ว่า ในศกนี้ ขยายการสอบความรู้องค์นักธรรมออกไปถึงหัวเมืองหลายมณฑล จึงทรงวางระเบียบไว้สำหรับ ดังนี้ :

          ๑. ให้ใช้หลักสูตรตามสนามหลวง แต่ให้พักเป็นประโยค ๑ ประโยค ๒ ได้พลาง กว่าจะสอบได้รวดเดียว ฯ

          ๒. หลักสูตรสำหรับสอบพักประโยคนั้น ดังนี้ :

                   ก. ประโยค ๑ ธรรมวิภาคกับวินัยบัญญัติ ฯ ถ้าสามเณรสอบ ยกวินัยบัญญัติไว้พลาง กว่าจะอุปสมบทแล้ว ฯ

                   ข. ประโยค ๒ พุทธประวัติกับเรียงความแก้กระทู้ธรรม ฯ

          ๓. เมื่อถึงคราว จะโปรดให้กรรมการสนามหลวงรูปหนึ่งไปชุมนุมกรรมการอื่นเปิดสนามมณฑล ส่วนมณฑลที่ได้รับพระอนุญาต ให้จัดการสอบได้ตามลำพัง ฯ

          ๔. สนามมณฑลให้เปิดเพียงปีละ ๑ ครั้ง

          ๕. ผู้สอบได้ จะได้รับยกเว้นจากพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ต่อเมื่อสอบประโยค ๒ ได้แล้ว เว้นไว้แต่ในเมืองแรกจัดใหม่ จะทรงขอให้ได้รับยกเว้นชั่วคราว พอมีกำลังจัดการ กว่าจะตั้งตัวได้ ฯ

 

          ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๕๗ ฯ

 

(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๒ พ.ศ. ๒๔๕๗. หน้า ๕๓๑.)

×

ที่ ๑/๒๔๕๘

ประกาศเลิกรับโอนนักเรียนวัด*

 

          จำเดิมแต่ได้ตั้งธรรมเนียมว่า ผู้จะเข้าสอบความรู้องค์นักธรรมในสนามหลวง ต้องเป็นนักธรรมของวัดที่เป็นเจ้าสำนักเรียนมาก่อน การรับโอนนักธรรมของวัดเป็นนักธรรมของสนามหลวง ตามแจ้งความลงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พระพุทธศักราช ๒๔๕๕ เป็นอันเลิกอยู่เอง จักไม่รับต่อไป ฯ

 

          ประกาศไว้ ณ วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๕๘

 

(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๓ พ.ศ. ๒๔๕๘. หน้า ๕๒๔.)

×

(สำเนา)

ที่ ๒/๒๔๕๘

ประกาศงดสอบองค์นักธรรมเลื่อนประโยค

ในสนามหลวง*

 

          สมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสประกาศไว้ว่า การเปิดโอกาสให้นักธรรมประโยค ๑ สอบความรู้เลื่อนขึ้นประโยค ๒ ครบองค์ของนักธรรมชั้นตรี ย่อมสับสนทำให้ยากแก่บาญชี ในศกนี้มีผู้สอบได้มากแล้ว ยังเหลือน้อยรูป แลผู้สอบไม่ขึ้นหลายปีมา ความรู้ประโยคหนึ่งน่าจะพลอยเสื่อมไปด้วย ตั้งแต่ศกหน้า ๒๔๕๙ จักเลิกสอบองค์นักธรรมเลื่อนประโยคเสีย คงไว้แต่สอบวินัยบัญญัติแห่งนักธรรมชั้นตรี ภูมิสามเณรผู้อุปสมบทขึ้นใหม่ฯ ส่วนนักธรรมประโยคหนึ่ง ให้คงอยู่อย่างนั้น ถ้าปรารถนาจะเลื่อนประโยคเป็นนักธรรมชั้นตรี ต้องเข้าสอบใหม่ทั้งนั้นเหมือนผู้เข้าใหม่ ฯ

 

          ประกาศไว้ ณ วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ฯ

 

(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๓ พ.ศ. ๒๔๕๘. หน้า ๕๒๙-๕๓๐.)

×

ประกาศให้ผู้มีประโยคธรรมกั้นอยู่

เข้าสอบประโยคบาลีไปพลางได้*

 

ที่ ๑/๕๙

          บัดนี้ การสอบประโยคบาลีใช้เขียนทั้งนั้น เพื่อจะย่นวันให้น้อย จึงเปิดให้สอบประโยคธรรมกับประโยคบาลีพร้อมกันไป อนุญาตให้ผู้มีประโยคธรรมกั้นอยู่ เข้าสอบประโยคบาลีไปพลางได้ ในเมื่อวันสอบประโยคบาลีมาถึงเข้าก่อน แต่ถ้าผู้สอบเป็นนักเรียนสามัญตกประโยคนักธรรมชั้นตรีแล้ว ประโยคบาลีแม้สอบได้ ก็เป็นอันตกด้วย ถ้าผู้สอบเป็นเปรียญหรือนักธรรมมาแต่ครั้งเป็นสามเณรแล้ว อุปสมบทเป็นภิกษุขึ้น เป็นแต่เพียงจะต้องสอบวินัยก่อนเท่านั้น สอบวินัยตก แต่ได้บาลีต้องรอสอบวินัยให้ได้ก่อน จึงจะได้รับตั้งและเข้าสอบเพื่อเลื่อนประโยคได้อีก ฯ

 

          ประกาศไว้ ณ วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๕๙ ฯ

 

(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๔ พ.ศ. ๒๔๕๙. หน้า ๔๖๓.)

×

ประกาศ

กำหนดอายุสามเณรผู้เข้าสอบประโยคนักธรรม

ในสนามหลวง*

 

ที่ ๒/๕๙

 

          บัดนี้ จำนวนภิกษุสามเณรผู้เข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นตรีมากขึ้น ต้องแบ่งให้เข้าสอบเป็นสามสำรับแล้ว เห็นว่าจำนวนผู้เข้าสอบสูงขึ้นนั้น เพราะสามเณรรีบเข้าสอบมากหลาย และสามเณรนั้น แม้สอบได้แล้ว ก็ยังได้ไม่เต็มภูมิ เมื่ออุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว ยังจะต้องสอบวินัยอีก มีประโยชน์แต่เพียงเป็นผู้ที่สนามหลวงคัดเลือกเอาไว้เพื่อเล่าเรียนสืบอายุพระพุทธศาสนา พอได้รับยกเว้นตามพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร บัดนี้ เจ้าหน้าที่เรียกคนเข้ารับราชการทหารต่อเมื่อมีอายุได้ ๒๑ โดยปี สามเณรอายุต่ำกว่านั้นยังไม่ต้องเรียก ยังไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเข้า ควรเจ้าสำนักเรียนจัดให้เรียนบาลีไปพลาง ในเมื่อสอบประโยคนักธรรมของวัดได้แล้ว เช่นนี้ความรู้ธรรมกับความรู้บาลีจักเป็นไปทันกัน ถ้าได้ประโยคนักธรรมไว้ก่อนหลายปี จึงเข้าสอบประโยคบาลี เช่นนี้ความรู้ธรรมอาจเลื่อนลงได้ ตั้งแต่ศกหน้า พ.ศ. ๒๔๖๐ อนุญาตให้สามเณรเข้าสอบประโยคนักธรรมในสนามหลวงได้ ต่อเมื่อมีอายุได้ ๑๙ โดยปี เว้นสามเณรผู้เข้าสอบประโยคเปรียญธรรม แม้มีอายุไม่ถึงกำหนดนั้นก็เข้าได้ เจ้าสำนักเรียนผู้จะส่งสามเณรเข้าสอบประโยคนักธรรมในสนามหลวง จงทำให้ถูกระเบียบที่ตั้งไว้นี้ ฯ

 

          ประกาศไว้ ณ วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๕๙ ฯ

 

(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๔ พ.ศ. ๒๔๕๙. หน้า ๔๖๔-๔๖๕.)

×

ประกาศ

เลิกสอบองค์นักธรรมประโยค ๑

ในจังหวัดที่เปิดสนามมาครบ ๓ คราวแล้ว*

 

ที่ ๓/๕๙

 

          ได้สังเกตเห็นในบางจังหวัด ที่เปิดสนามสอบองค์นักธรรมมาสามคราวแล้ว มีผู้เข้าสอบถึงประโยค ๒ น้อยรูปนักหนา ถึงเปิดสอบไม่ได้ เป็นอย่างนี้ เข้าใจว่า เจ้าคณะไม่ขวนขวาย สามเณรสอบประโยค ๑ ได้แล้ว ได้รับยกเว้นจากถูกเกณฑ์เป็นทหาร ก็สิ้นขวนขวายต่อไป สามเณรผู้สอบได้ประโยค ๑ ได้รับยกเว้นนั้น สำหรับจังหวัดแรกเปิดสนามสอบขึ้น แม้อย่างนั้น บางจังหวัดอาจสอบครบชั้นตรีทีเดียวก็มี ตั้งแต่นี้ต่อไป จังหวัดใดเปิดสนามสอบครบ ๓ คราวแล้ว ตั้งแต่คราวที่ ๔ จังหวัดนั้นจงสอบให้ครบชั้นตรีทีเดียว ไม่ยอมให้พักเพียงประโยค ๑ ถ้าสอบขึ้นไปไม่ถึง จักไม่อนุญาตให้เปิดสนาม กว่าจะมีผู้เข้าสอบถึงมีจำนวนพอสมควร ส่วนนักธรรมประโยค ๑ ผู้ยังขึ้นไม่ถึงประโยค ๒ ถ้าหยุดไม่เข้าสอบเพียงคราวหนึ่ง อนุญาตให้เข้าสอบประโยค ๒ ต่อไป ถ้าหยุดมาพ้น ๒ คราวแล้ว จะเข้าสอบ ต้องตั้งต้นใหม่ และต้องสอบครบชั้นตรีทีเดียว ฯ จังหวัดใดเปิดสนามสอบมายังไม่ถึง ๓ คราว แต่อาจจัดให้เข้าชั้นตรีได้ ไม่ต้องพักเพียงประโยค ๑ จังหวัดนั้นจักจัดก่อนกำหนดนั้นก็ได้ จัดว่าเป็นความสามารถ เป็นความเจริญแห่งการเรียนของจังหวัดนั้น ฯ

 

          ประกาศไว้ ณ วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๕๙ ฯ

 

(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๔ พ.ศ. ๒๔๕๙. หน้า ๔๖๕-๔๖๖.)

×

ประกาศ

ตั้งหลักสูตรและสอบประโยคนักธรรมชั้นโท*

 

ที่ ๔/๕๙

 

          บัดนี้ ประโยคนักธรรมชั้นตรีภูมินวกะ สำหรับภิกษุใหม่หย่อน ๕ พรรษา จัดขึ้นสำเร็จแล้ว การเรียนชั้นนี้แพร่หลายเป็นพื้น วัดที่เป็นสำนักเรียนใหญ่ ๆ แล้ว สมควรจะจัดประโยคนักธรรมชั้นโทภูมิมัชฌิมะ สำหรับภิกษุปานกลางพ้น ๕ พรรษา แล้ว แต่ยังไม่ถึง ๑๐ พรรษา ในลำดับไป จึงกำหนดตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นโท ภูมิมัชฌิมะไว้ ดังนี้

          ๑. เรียงความแก้กระทู้ธรรม ชักภาษิตในที่อื่นมาอ้างไว้ด้วย ต้องเชื่อมความกันให้สนิท ฯ

          ๒. แก้ปัญหาธรรมวิภาคพิสดารออกไป ฯ

          ๓. แก้ปัญหาอนุพุทธประวัติ คือตำนานแห่งสาวก ฯ

          ๔. แก้ปัญหาวินัยบัญญัติพิสดารออกไป ฯ

          หนังสือสำหรับใช้เป็นหลักสูตรแก้กระทู้ธรรมนั้น จะใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิตไปพลาง กว่าหนังสือหลักธรรมอื่นจักแต่งแล้ว ฯ

          หนังสือสำหรับใช้เป็นหลักสูตรสอบ ธรรมวิภาค จักแต่งแล้วในไม่ช้า เป็นอันทันใช้ ฯ

          หนังสือสำหรับใช้เป็นหลักสูตรสอบอนุพุทธประวัติ จักใช้หนังสือพุทธานุพุทธประวัติ ตอนกล่าวประวัติแห่งพระสาวกไปพลาง กว่าหนังสือใหม่จะแต่งแล้ว ฯ

          หนังสือสำหรับใช้เป็นหลักสูตรสอบวินัยบัญญัติ จักใช้หนังสือวินัยมุข ๒ เล่ม เรื่องนี้แต่งเสร็จแล้ว ฯ

          ผู้จะเข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นโทนี้ ต้องได้ประโยคนักธรรมชั้นตรีในสนามหลวงมาแล้ว ฯ

          เปรียญธรรมชั้นตรีผู้จะเข้าสอบบาลีประโยค ๔ ในศกหน้า (พ.ศ. ๒๔๖๐) ต้องสอบองค์นักธรรมชั้นโท คือแก้กระทู้ธรรมกับธรรมวิภาคได้ก่อนแล้ว เมื่อจะสอบบาลีประโยค ๕ ต้องสอบอนุพุทธประวัติและวินัยบัญญัติได้ก่อนแล้ว ถ้าเป็นสามเณร ยกวินัยบัญญัติไว้ก่อน กว่าจะอุปสมบทเป็นภิกษุขึ้น ฯ เมื่อสอบบาลีประโยค ๖ ได้แล้ว จัดเป็นเปรียญธรรมชั้นโท ฯ

          นักธรรมชั้นโท เข้าสอบบาลีสำหรับชั้นนี้ เพื่อเป็นเปรียญธรรมชั้นโท ไม่ต้องสอบองค์นักธรรมชั้นโทคั่นประโยคอีก ฯ

          เปรียญบาลี ๔ ประโยค ๕ ประโยค ๖ ประโยค ในศกนี้และล้ำเข้าไป ไม่ต้องสอบองค์นักธรรมคั่น ได้ประโยค ๖ แล้ว เป็นเปรียญบาลีชั้นโท ถ้าได้เป็นกรรมการสนามหลวงผู้ตรวจประโยคนักธรรมชั้นโท นับว่าเป็นเปรียญธรรมชั้นโทโดยเกียรติ ถ้าเป็นครูเข้าสอบได้ในสนามหลวง สนามหลวงเห็นสมควร จักยกขึ้นเป็นเปรียญธรรมชั้นโทโดยเกียรติเหมือนกัน ฯ

 

          ประกาศไว้ ณ วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๕๙

 

(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๔ พ.ศ. ๒๔๕๙. หน้า ๔๖๖-๔๖๘.)

×

ที่ ๓/๖๐

ประกาศเรื่องพัดนักธรรม*

 

          สมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสประกาศไว้ว่า เมื่อแรกจัดประโยคนักธรรมชั้นตรีขึ้น มีพระประสงค์จะทรงยกย่องนักธรรม จึงตรัสให้ทำพัดรองขึ้นประทานแก่พระนักธรรม แต่ยังไม่มีจำกัดลง เมื่อพระนักธรรมมีมากขึ้น พัดนั้นจึงปรากฏว่าเฝือไปจนพระเปรียญ พระฐานานุกรม ผู้เป็นนักธรรมไม่รู้สึกว่า ถือพัดนั้นเป็นเกียรติยศ กลับเห็นไปว่า เหมือนพระนักธรรมไป พอใจถือพัดอื่นเสีย เมื่อเข้าลำดับ เป็นธรรมเนียมอยู่เอง ที่พระเปรียญพระฐานานุกรมอยู่ในลำดับสูงกว่าพระนักธรรม ดูเหมือนพัดนักธรรมที่มีตราคณะสงฆ์กลับเลวไปกว่าพัดบุคคลทำ ทำประทานก็ไม่สำเร็จประโยชน์ เป็นการเปลืองเปล่า ทรงพระดำริเห็นสมควรจะมีจำกัดลง ตั้งแต่การสอบคราวนี้ไป จักไม่ประทานพัดรองแก่พระนักธรรมทั่วไป ทั้งชั้นตรี ทั้งชั้นโท จักประทานเฉพาะแก่พระนักธรรมผู้มีพรรษาพ้น ๕ ขึ้นไปแล้ว และได้เอาภารธุระพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่าได้เป็นครูสอนผู้อื่นแล้ว ส่วนนักธรรม จำนวนศก ๒๔๕๙ จักประทานเหมือนในหนหลัง

          อนึ่ง มีเป็นธรรมเนียมว่า พระผู้ไม่มีพัดยศ ได้รับพัดรองแต่ท่านผู้ใหญ่แล้ว ถือพัดรองอื่นก็ได้ พวกนักธรรมผู้ได้รับประทานพัดรองไว้แล้ว จะใช้พัดรองของบุคคลก็ได้ เว้นไว้แต่ในคราวเข้าราชการที่พระมีฐานันดรถือพัดยศ พระนักธรรม ต้องถือพัดสำหรับนักธรรม ฯ

 

          ประกาศไว้ ณ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๐

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๕ พ.ศ. ๒๔๖๐. หน้า ๓๔๗-๓๔๘.)

×

ที่ ๕/๖๐

ประกาศ

ให้สอบประโยคนักธรรมชั้นตรี

ตามวัดอันเป็นสำนักเรียนใหญ่*

 

          สมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสประกาศไว้ว่า บัดนี้ ได้จัดหลักสูตรประโยคนักธรรมชั้นโทขึ้นแล้ว ในศกนี้ที่เป็นคราวแรก มีผู้ขอเข้าสอบ ถึง ๒๐๐ รูปเศษ เห็นว่าเป็นอันปลูกติดและประโยคนักธรรมชั้นตรี บัดนี้ก็สอนกันทั่วถึงแล้ว ตั้งแต่ศกหน้าอนุญาตให้วัดที่เป็นสำนักเรียนใหญ่ สอบความรู้ประโยคนักธรรมชั้นตรีได้เอง นักธรรมชั้นตรีที่สอบได้ในสนามวัดอย่างนี้ จักรับเอาเป็นนักธรรมหลวง เข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นโทในสนามหลวงก็ได้ เข้าสอบประโยคเปรียญธรรมชั้นตรีในสนามหลวงก็ได้ ให้เจ้าสำนักเรียนใหญ่จัดการสอบดังต่อไปนี้

          ๑. ให้เชิญกรรมการสนามหลวงไปเป็นกรรมการตรวจไม่น้อยกว่า ๓ รูป กรรมการเหลือจากนั้น ต้องเป็นผู้ที่สมเด็จพระมหาสมณะทรงตั้งไว้สำหรับ ฯ

          ๒. ประโยคที่สอบ ให้กรรมการสนามหลวง ผู้รับเชิญไปสอบเป็นผู้ออก เจ้าสำนักผู้เป็นกรรมการสนามหลวงอยู่เอง เป็นผู้ออกด้วยก็ได้ แต่ให้ออกเพียงรูปละใบ ให้เจ้าสำนักเป็นผู้จัดพิมพ์ขึ้น ฯ

          ๓. ให้สอบได้เฉพาะผู้มีชื่อขึ้นอยู่ในทะเบียนแห่งสำนัก จะรับสอบสาดไปมิได้ ฯ

          ๔. สามเณรผู้จะเข้าสอบในชั้นนี้ ต้องมีอายุ ๑๙ ปีขึ้นไป ฯ

          ๕. ระเบียบอื่นอันมิได้ว่าไว้ ให้จัดตามสนามหลวงทุกประการ ฯ

          ๖. เมื่อเสร็จการสอบแล้ว ให้ยื่นรายงานและรายชื่อผู้สอบได้ ฯ

 

          สำนักที่อนุญาตให้สอบนั้น ดังต่อไปนี้ :-

          ๑. สำนักวัดบวรนิเวศวิหาร ให้สำนักวัดราชาธิวาสเข้าสมทบ

          ๒. สำนักวัดมหาธาตุ

          ๓. สำนักวัดเบญจมบพิตร

          ๔. สำนักวัดพระเชตุพน

          ๕. สำนักวัดสุทัศน์

          ๖. สำนักวัดเทพศิรินทร์ ให้สำนักวัดบรมนิวาสสมทบ

          ๗. สำนักวัดราชบพิธ กับคณะแขวงต่างจังหวัดกรุงเทพฯ สมทบกัน

          ๘. สำนักวัดอนงคาราม ให้สำนักวัดประยุรวงศ์และสำนักวัดราชโอรสสมทบ

 

          คณะแขวงกรุงเทพฯ ขึ้นอยู่ในสำนักใด ให้สมทบสำนักนั้น ฯ

 

          นักธรรมชั้นตรีของสนามมณฑลก็ดี ของสนามจังหวัดก็ดี ที่กรรมการสนามหลวงได้เป็นแม่กองสอบ จักรับเข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นโท หรือประโยคเปรียญธรรมชั้นตรี ในสนามหลวงดุจกัน ฯ

          ส่วนนักธรรมของวัดที่เป็นสำนักเรียนที่ออกชื่อมาแล้วข้างหลังนี้ นอกจากของคณะต่างจังหวัดแห่งกรุงเทพฯ ไม่ได้ส่งบัญชีรายชื่อมาแต่แรก เพราะเป็นแต่สำนักเหล่านั้นสอบเลือกเพื่อส่งเข้าสนามหลวงเท่านั้น นับเข้าในเกณฑ์นี้มิได้ ต้องสอบใหม่ที่มีสำนักนั้นเอง จึงจักเข้าสอบชั้นสูงในสนามหลวงได้ต่อไป ฯ

 

          ประกาศไว้ ณ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๐

 

(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๕ พ.ศ. ๒๔๖๐. หน้า ๓๔๘-๓๕๐.)

×

ที่ ๕/๖๐

ประกาศให้สามเณรสอบวินัย

อันเป็นองค์แห่งประโยคนักธรรมพร้อมกันไป*

 

          สมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสประกาศไว้ว่า ในหนหลังยังไม่มีจำกัดอายุสามเณรผู้เข้าสอบประโยคนักธรรม จะให้สอบวินัยด้วยก็ไม่สมควร เพราะสามเณรเด็ก ๆ เข้าสอบก็มี บัดนี้ได้มีกำหนดอายุสามเณรผู้เข้าสอบประโยคนักธรรมไว้แล้ว ล้วนแต่จวนอุปสมบททั้งนั้น ทั้งบัดนี้เปิดประโยคนักธรรมชั้นโทขึ้นแล้ว จะต้องงดวินัยไว้ถึง ๒ ชั้น ดูไม่บังควร ตั้งแต่คราวสอบความรู้ประจำศกหน้าไป ให้สามเณรนักธรรมชั้นตรี เปรียญธรรมชั้นตรี ผู้จะเข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นโท สอบวินัยชั้นตรีแต่สำนักเรียนของตนให้ได้ก่อน แลจงเตรียมสอบวินัยชั้นโทในสนามหลวงด้วย ส่วนสามเณรสอบประโยคนักธรรมชั้นโท จำนวนศกนี้ จักงดวินัยไว้พลาง ตามประกาศไว้เมื่อศกหลัง จงเตรียมสอบในศกหน้า รูปใดพร้อมเพรียงจะสอบได้ในศกนี้ รูปนั้นจักขอสอบด้วยทีเดียวก็ได้ ตั้งแต่คราวสอบความรู้น่า จักยกเลิกการที่งดสอบวินัยไว้พลาง ในประกาศที่ ๔/๕๙ ลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๙ นั้นเสีย ฯ

 

          ประกาศไว้ ณ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๐ ฯ

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๕ พ.ศ. ๒๔๖๐. หน้า ๓๕๐-๓๕๑.)

×

ที่ ๖/๖๐

 

ประกาศเลิกประโยค น.ธ. ๑ ในสนามมณฑล

แลสนามจังหวัด แลจำกัดอายุสามเณรผู้เข้าสอบ*

 

          สมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสประกาศไว้ว่า บัดนี้ สนามหลวงจักรับนักธรรมคณะมณฑล แลคณะจังหวัด ให้เข้าสอบประโยคต่อขึ้นไปในสนามหลวงได้แล้ว สมควรจัดการสอบในสนามทั้งสองนั้นให้เข้าระเบียบของสนามหลวง เพราะอย่างนั้นตั้งแต่สอบความรู้ ประจำ ศก ๒๔๖๑ ไป ให้ยกเลิกสอบพักเพียงประโยค ๑ เสีย แลสามเณรผู้จะเข้าห้องสอบต้องมีอายุถึง ๑๙ แล้ว ฯ

 

          ประกาศไว้ ณ วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๐ ฯ

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๕ พ.ศ. ๒๔๖๐. หน้า ๓๕๑-๓๕๒.)

×

ที่ ๑๗/๖๐

 

ประกาศจัดรเบียบชั้นเปรียญ*

 

          สมเดจพระมหาสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสประกาศไว้ว่า บัดนี้ การเล่าเรียนเจริญขึ้น สมควรจะจัดชั้นเปรียญให้ลงรเบียบ ย่อลงเปนเอก, โท, ตรี ตามหลักเดิม จึงได้ทูลขอพระบรมราชานุญาต แลได้รับพระราชทานให้จัด ดังต่อไปนี้ :

          ๑. พระนักธรรมแปลบาฬีประโยค ๓ ได้แล้ว เปนเปรียญธรรมชั้นตรี จักได้รับพระราชทานพัดยศแลประกาศนีบยัตรทรงตั้งคราวหนึ่ง ฯ

          ๒. เปรียญธรรมชั้นตรี ต้องเปนนักธรรมชั้นโทก่อน จึงจะแปลประโยคบาฬีต่อไปได้ ฯ ได้ประโยค ๔, ๕ นับว่าเปนแต่เพียงเลื่อนประโยค ยังจักไม่ได้รับพระราชทานพัดเปลี่ยนแลประกาศรียบัตร์เหมือนในหนหลัง ต่อได้บาฬีประโยค ๖ แล้ว เปนเปรียญธรรมชั้นโทเต็มที่ จึงจักได้รับพระราชทานพัดยศเปลี่ยนแลประกาศนียบัตร ทรงตั้งอิกคราวหนึ่ง ฯ

          ๓. ในเวลานี้ หลักสูตรนักธรรมชั้นเอกยังไม่ได้จัดขึ้น เปรียญธรรมชั้นโทแปลบาฬีประโยค ๗, ๘ ได้แล้ว นับว่าเปนแต่เลื่อนประโยค ยังจักไม่ได้รับพระราชทานพัดเปลี่ยนแลประกาศนีบบัตร์ ต่อได้บาฬีประโยค ๙ แล้ว จึงเปนเปรียญบาฬีขั้นเอกเต็มที่ จักได้รับพระราชทานพัดยศเปรียญแลประกาศนียบัตร์ ทรงตั้งอิกคราวหนึ่ง ฯ เมื่อจัดหลักสูตรนักธรรมชั้นเอกขึ้นแล้ว จักรวมเข้าในชั้นนี้ ผู้สอบได้เป็นเปรียญธรรมชั้นเอก ฯ

          ๔. พัดยศจักเปลี่ยนเป็นอย่างใหม่ เปรียญธรรมชั้นตรี จักได้รับพระราชทานพัดพื้นแดง เปรียญธรรมชั้นโท จักได้รับพระราชทานพัดพื้นเหลือง เปรียญเอก จักได้รับพระราชทานพัดพื้นตาดเหลือง ฯ

          ๕. เปรียญธรรมชั้นตรี ผู้สอบประโยคนักธรรมชั้นโทได้เต็มที่แล้ว จักได้รับพระราชทานนิตยภัตต์ ราคาเดือนละ ๖ บาท ฯ

          ๖. เปรียญบาฬี ๔ ประโยคที่ขึ้นใหม่ ยังจักไม่ได้รับพระราชทานนิตยภัตต์ เหมือนในหนหลัง เว้นไว้แต่สอบประโยคนักธรรมชั้นโทได้แล้วเหมือนกัน แต่ถ้าได้รับพระราชทานนิตยภัตต์มาแต่ครั้งเป็นเปรียญธรรมชั้นตรีแล้ว ยังจักไม่ได้รับพระราชทานเพิ่มขึ้น ฯ

          ๗. เปรียญบาฬี ๕ ประโยค ยังจักไม่ได้รับพระราชทานนิตยภัตต์เพิ่ม ฯ

          ๘. เปรียญธรรมชั้นโท จักได้รับพระราชทานนิตยภัตต์เพิ่มขึ้นเป็นราคาเดือนละ ๑๐ บาท ฯ

          ๙. เปรียญบาฬี ๗, ๘ ประโยค ยังจักไม่ได้รับพระราชทานนิตยภัตต์เพิ่ม เหมือนในหนหลัง ฯ

          ๑๐. เปรียญเอก จักได้รับพระราช่านนิตยภัตต์เพิ่ม เป็นราคาเดือนละ ๑๔ บาท

          ๑๑. นิตยภัตต์นี้ ตามรเบียบที่ได้พระบรมราชานุญาตไว้ก่อนแล้วสำหรับผู้อยู่ในการเรียนแลในสำนักเรียน แลออกเปนครูทั้งในสำนักทั้งนอกสำนัก นอกจากนี้ จักไม่ได้รับพระราชทาน ฯ

          ๑๒. เปรียญธรรมชั้นตรี เลื่อนเปนพระราชาคณะ จักได้รับพระราชทานิตยภัตต์เพิ่มในฐานะนี้ ราคาเดือนละ ๑๔ บาท ฯ

          ๑๓. เปรียญธรรมชั้นโท เลื่อนเป็นพระราชาคณะ จักได้รับพระราชทานนิตยภัตต์เพิ่มในฐานะนี้ ราคาเดือนละ ๑๘ บาท ฯ

          ๑๔. เปรียญเอก เลื่อนเป็นพระราชาคณะ จักได้รับพระราชทานนิตยภัตต์ เพิ่มในฐานะนี้ ราคาเดือนละ ๒๒ บาท ฯ

          ๑๕. นิตยภัตต์นี้ สำหรับผู้เอาภารธุระพระศาสนา ถ้าได้รับตำแหน่งมีนิตยภัตต์สูงกว่า จักได้รับพระราชทานเพิ่มขึ้นตามตำแหน่ง ฯ

 

          ประกาศไว้ ณ วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๐ ณ

 

(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๕ พ.ศ. ๒๔๖๐. หน้า ๓๗๕-๓๗๗.)

×

ที่ ๔/๖๐

 

พระดำรัสสั่ง

เรื่องใบสอบประโยคนักธรรมชั้นโทไม่บริสุทธิ์*

 

          คราวนี้เป็นแรกที่เปิดประโยคนักธรรมชั้นโท จึงเรียกใบสอบที่ได้ ครบ ๓ คะแนนและได้หมายเหตุว่าดีมาตรวจดู เพื่อรู้ความรู้ของผู้สอบว่าเป็นอย่างไร และได้ตั้งกองเลือกใบสอบที่ดีไว้เพื่อพิมพ์เป็นตัวอย่าง เมื่อสอบใบตรวจที่ว่าดีนั้น พบใบสอบบางใบ มีข้อความตามความคิดบ้าง แม้โดยที่สุดตามพยัญชนะบ้าง เหมือนด้วยเฉลย ที่เป็นไม่ได้โดยลำพังความคิดร่วมกัน พระมหานายกแม่กองเลือก ก็ได้พบอย่างนี้เหมือนกัน จึงให้กองเลือก ๆ ใบสอบอันพิรุธหมายเส้นเทียบความแลเทียบพยัญชนะส่งมา กองเลือก ๆ ใบสอบจำนวน ๔ จำนวน ๙๐ จำนวน ๒๓๕ และจำนวน ๒๔๑ อันพิรุธ ส่วนธรรมวิภาคและอนุพุทธประวัติ จำนวน ๙๒ และจำนวน ๒๔๒ อันพิรุธ ส่วนธรรมวิภาคอย่างเดียว จำนวน ๒๓๙ อันพิรุธ ส่วนอนุพุทธประวัติอย่างเดียว จำนวน ๕๘ และจำนวน ๗๑ อันพิรุธส่วนวินัยอย่างเดียว ส่งมา ได้ตั้งกรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ แม่กองสอบธรรม พร้อมด้วยพระธรรมไตรโลกาจารย์กับพระเทพโมลี เข้ากันเป็นกรรมการกองวินิจฉัย พิจารณาแล้ววินิจฉัยร่วมกันว่า จำนวน ๙๐ กับจำนวน ๒๓๕ ไม่บริสุทธิ์ทั้งส่วนธรรมวิภาคทั้งส่วนอนุพุทธประวัติ จำนวน ๕ ไม่บริสุทธิ์เฉพาะส่วนธรรมวิภาค จำนวน ๒๓๙ ไม่บริสุทธิ์ส่วนอนุพุทธประวัติ จำนวน ๕๘ และจำนวน ๗๑ ไม่บริสุทธิ์ส่วนวินัย ได้ความจากเฉลยที่รั่วออกไป ส่วนจำนวน ๙๒ จำนวน ๒๔๑ และจำนวน ๒๔๒ เป็นใบสอบอันบริสุทธิ์ ฯ

          เจ้าของจำนวน ๙๐ พระเจิม สำนักวัดพิชัยญาติ ฯ

          เจ้าของจำนวน ๒๓๕ พระมหาชิต วัดพิชัยญาติเข้าสมทบสำนักวัดบวรนิเวศ ฯ

          เจ้าของจำนวน ๔ พระมหาเปลื้อง สำนักวัดเสนาสน์ ฯ

          เจ้าของจำนวน ๒๓๙ พระเฉลิม สำนักวัดพิชัยญาติ ฯ

          เจ้าของจำนวน ๕๘ พระมหาทองคำ สำนักวัดบวรนิเวศ ฯ

          เจ้าของจำนวน ๗๑ พระทอง สำนักวัดบวรนิเวศ ฯ

          ในการสอบถาม พระเจิม รับว่าได้เฉลยที่มีผู้เขียนบัตรสนเท่ห์บอกให้รู้ไว้ก่อนแล้วทิ้งไว้ให้ ณ ฐานที่อันระบุไว้ ภายหลังขยายความว่าจำได้ว่าเป็นลายมือพระมหาชิต ฯ

          พระมหาชิต ในชั้นแรกไม่รับว่าได้เฉลย เป็นแต่รับว่าได้ยินพระครูประสาทพุทธปริตรพูดอยู่ ต่อเมื่อพระเจิมซัดว่าเป็นลายมือของตนจึงรับว่าได้รับจากนายเปลี่ยน สังขพงศ์ ศิษย์พระธรรมโกศาจารย์ ฯ

          นายเปลี่ยน สังขพงศ์ รับว่าพระครูประสาทใช้ให้ถือซองหนังสือไปส่งให้พระมหาชิตจริง ฯ

          พระครูประสาท ในชั้นแรกปฏิเสธ ต่อเมื่อนายเปลี่ยนซัดเข้าอย่างนั้น จึงรับสารภาพว่าในเวลาพระครูอนันตนินนาทผู้พิมพ์ปัญหาและเฉลยออกมาอยู่ข้างนอก ได้เข้าไปในห้องพระครูอนันต์ ได้หยิบเอาใบเฉลยเข้าซองใช้ให้นายเปลี่ยน สังขพงศ์ วิ่งเอาไปให้พระมหาชิตและก่อนเวลาเข้าสอบบ้าง ฯ

          พระมหาเปลื้อง พระมหาทองคำ พระทอง ปฏิเสธ อ้างว่าได้ตอบตามความรู้ของตนเอง สองรูปหลัง แม้จำนนแก่คำซักและพิสูจน์แล้วก็ยังปฏิเสธอยู่อย่างนั้นเอง

 

          กรรมการกองวินิจฉัยปรึกษาลงโทษ ดังต่อไปนี้ ฯ

          ๑. ลงโทษพระมหาเปลื้อง พระมหาทองคำ พระทอง ห้ามไม่ให้เข้าสนามหลวง ๓ คราว เพราะอำความไว้ไม่แสดงความจริง พระมหาชิต ก็ให้ลงโทษห้ามไม่ให้เข้าสนามหลวง ๓ คราวเหมือนกัน เพราะในชั้นต้นอำความไว้ ต่อเมื่อความจริงปรากฏแล้วจึงรับ ฯ

          ๒. ลงโทษพระเจิมผ่อนลงมาโดยฐานปรานี ห้ามไม่ให้เข้าสนามหลวง ๑ คราว เพราะขยายความจริง เป็นการสะดวกแก่ความพิจารณา ฯ

          ๓. ปรานีพระเฉลิม งดลงโทษ เพราะได้ต่อ ๆ กันมา ฯ

          ๔. ไม่รับพระเหล่านี้เป็นนักธรรมชั้นโทของสนามหลวงแต่บาลีประโยค ๕ ที่แปลได้ ให้เป็นอันได้ ฯ

          ๕. ลงโทษพระครูประสาทพุทธปริตร ไม่ให้เป็นกรรมการสนามหลวงอีกต่อไป กับปรับอาบัติทุกกฏ เพราะทำด้วยไถยเจตนา ฯ

          ส่วนเจ้าของจำนวน ๙๒ จำนวน ๒๔๑ จำนวน ๒๔๒ ยอมรับเป็นนักธรรมชั้นโทของสนามหลวง ฯ

 

          กรรมการกองวินิจฉัยพิจารณาและวางโทษมานั้น เห็นชอบด้วย เว้นข้อว่า แปลบาลีประโยค ๕ ได้ให้เป็นอันได้ เพราะบาลีประโยค ๕ แปลเมื่อภายหลังแต่ทำความผิดมาแล้ว จักเป็นยกย่องผู้ทำความผิด เพราะจะต้องมีชื่อในบัญชี ให้เปลี่ยนเป็นไม่ยอมรับบาลีประโยค ๕ ด้วย นอกจากนี้ ให้ทำตามวินิจฉัยของกรรมการกองเลือก ฯ

 

(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส

 

สนามหลวง วัดเบญจมบพิตร

วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๐

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๖ พ.ศ. ๒๔๖๑. หน้า ๑-๕.)

×

(สำเนา)

ประกาศ

รวมสอบประโยคนักธรรมชั้นตรี

ตามสำนักเรียนกรุงเทพฯ ในที่แห่งเดียวกัน*

ที่ ๒/๒๔๖๑

 

          สมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสประกาศไว้ว่า ตามประกาศที่    /๒๔๖๐ ได้ทรงพระอนุญาตให้คณะเรียนทั้งหลายในกรุงเทพฯ สอบประโยคนักธรรมชั้นตรีตามระเบียบที่ทรงวางไว้ นักธรรมที่สอบได้แล้ว สนามหลวงจักรับรองให้เข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นโทได้ต่อไป ฯ ในศกนี้คณะเรียนทั้งหลาย ได้แยกสอบความรู้ตามคณะ ตามประกาศนั้น ฯ การแยกกันสอบอย่างนี้ให้ผลอันไม่เป็นที่พึงใจ ดังต่อไปนี้ :

          ๑. เจ้าคณะเรียนโดยมากด้วยกันพอใจเชิญกรรมการสนามหลวง ที่เลือกขอตั้งกรรมการสำหรับคณะ มีน้อยนัก แลกรรมการสนามหลวงผู้ถูกเชิญมักเป็นชั้นผู้น้อย บางรูปถูกเชิญแทบทุกคณะ วันที่กรรมการรูปหนึ่ง ๆ ต้องตรวจประโยค กลับมากไปกว่าวันที่รวมกันตรวจในสนามหลวงเสียอีก ฯ

          ๒. กรรมการบางรูปยังถูกขอให้แต่งปัญหาสำหรับสอบหลาย ๆ ราย เพิ่มความลำบากขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ฯ

          ๓. กรรมการรูปเดียวกันถูกขอให้แต่งปัญหาอย่างเดียวกัน เช่นพุทธประวัติ ข้อถามมักซ้ำ ๆ กัน ถ้าเป็นอย่างนี้หลายปีไป นักเรียนผู้สอบทีหลังอาจจะฟังปัญหาที่ออกมา แลเตรียมตอบตามนั้น ฯ

          ๔. ปัญหาที่ออกในสนามหลวง ทรงขอแรงกรรมการช่วยแต่ง ทรงตรวจแก้ไขเปลี่ยนแปลงก่อน แล้วจึงออก การสอบย่อมครองมติของผู้สอบให้เป็นไปสม่ำเสมอกันสำเร็จผล คือ ทิฏฺฐิสามญฺญตา ความเป็นผู้มีทิฏฐิเสมอกัน ฯ ปัญหาอันเจ้าคณะเรียนขอมาจากกรรมการเกรงใจกรรมการผู้แต่งเสีย ไม่ได้ตรวจแก้ ออกไปทั้งอย่างนั้น ที่ผิดๆ ก็มี ที่ถามเล่นแก้เล่นก็มี นี้จักทำมติของผู้เรียนให้ไขว้เขว ให้เสียผล คือ ทิฏฺฐิสามญฺญตา ฯ

          ๕. ถ้าวันสอบในต่างคณะพ้องกัน กรรมการผู้สอบไม่ยืนตัวทั้งนั้น สับตัวกัน ดูไม่เป็นกิจจะลักษณะ ฯ

          ๖. เป็นทางที่ผู้เข้าสอบนอกสังกัดเลือกเข้าสอบได้ ไม่ทันในที่โน้น ไพล่มาเข้าในที่นี้ เช่นนี้การจัดการเรียนเป็นสำนัก เพื่อบำรุงการเรียนให้เป็นหลักแหล่งจักไม่สำเร็จ ฯ

          ผลอันเป็นที่พอใจก็มีอยู่บ้าง คือเป็นทางทำความคุ้นเคยกันในระหว่างเจ้าคณะเรียนแลกรรมการผู้ถูกเชิญไป แต่ได้ไม่เท่าเสีย ฯ

 

          เพราะเหตุนั้น ตั้งแต่การสอบความรู้คราวหน้า ให้เลิกการแยกสอบตามคณะเรียนนั้นเสีย ให้รวมสอบพร้อมกันในคราวเดียวตามระเบียบดังต่อไปนี้ :

          ๑. การสอบนี้ให้เป็นสาขาของสนามหลวง เปิดสอบก่อนสนามหลวง ฯ

          ๒. มีแม่กองแลกรรมการสอบชุดเดียวกัน เป็นผู้ที่ทรงเลือกตั้งเฉพาะคราว ๆ ฯ แม่กองเป็นผู้ที่ทรงเลือกจากกรรมการผู้ใหญ่ของสนามหลวง กรรมการเป็นผู้ที่ทรงเลือกเอากรรมการสนามหลวงบ้าง เอากรรมการสำหรับคณะเรียนบ้างเข้ากัน ฯ

          ๓. เปิดสถานที่สอบเป็นแห่ง ๆ เช่น สนามหลวงได้เปิดที่วัดบวรนิเวศวิหาร แลวัดเบญจมบพิตร เพื่อนักเรียนเข้าสอบได้พร้อมกันในคราวเดียว ฯ

          ๔. กระทู้แลปัญหาที่ออก เป็นหน้าที่ของแม่กองจะแต่งเองเลือกเอง หรือขอแรงกรรมการช่วยแต่งช่วยเลือก แต่แม่กองต้องตรวจพร้อมด้วยกรรมการที่ปรึกษา ๒ รูป แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อที่เห็นว่าผิดทำนองเสีย แล้วจึงออก ฯ

          ๕. กำหนดวันสอบพร้อมกันทุกแห่ง ใช้กระทู้แลปัญหาอย่างเดียวกัน ในวันใดสอบความรู้อย่างใด ให้เป็นเหมือนกัน ฯ

 

          ประกาศไว้ ณ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๑

 

(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๖ พ.ศ. ๒๔๖๑. หน้า ๓๐๕.)

×

(สำเนา)

พระดำรัสสั่งเรื่องเฉลี่ยคะแนน*

ที่ ๑/๒๔๖๒

 

          สมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มีพระดำรัสว่า วิธีเฉลี่ยคะแนนที่ใช้อยู่ตามพระดำรัสสั่งที่ ๑/๒๔๕๖ นั้น ผู้สอบความรู้ ๔ อย่าง ตก ๒ อย่าง ได้คะแนนเต็ม ๓ อีกสองอย่าง ยังเป็นอันได้ บัดนี้ การเรียนธรรม แพร่หลายแล้ว สมควรรัดวิธีเฉลี่ยคะแนนเข้าอีก ในการสอบความรู้ประจำศก ๒๔๖๒ นี้แลต่อไป ผู้สอบประโยคนักธรรมไม่ได้ครบทุกอย่าง จะต้องกำหนดการได้หรือการตกด้วยเฉลี่ยคะแนน เมื่อเฉลี่ยคะแนนแล้ว มีคะแนนได้มากกว่าคะแนนจำกัด สำหรับความรู้ ๔ อย่าง เกิน ๘ คะแนน จึงเป็นเกณฑ์ได้ เท่าคะแนนจำกัดหรือต่ำกว่านั้น เป็นเกณฑ์ตก ฯ ส่วนผู้สอบได้ครบทุกอย่างไม่ต้องเฉลี่ยคะแนน มีคะแนนได้เท่าคะแนนจำกัด ก็เป็นได้ ฯ เมื่อรัดวิธีเฉลี่ยคะแนนสำหรับประโยคนักธรรมแล้ว วิธีเฉลี่ยคะแนนสำหรับบาลีประโยค ๓ ก็ให้รัดเข้าอย่างเดียวกัน เป็นแต่สำหรับความรู้ ๓ อย่าง เกิน ๖ คะแนน เป็นเกณฑ์ได้ ส่วนผู้สอบได้ครบทุกอย่าง มีคะแนนได้เพียง ๖ ก็เป็นได้ ฯ ให้ยกวิธีเฉลี่ยคะแนนในพระดำรัสที่ ๑/๒๔๕๖ นั้นเสีย ฯ

 

          มีพระดำรัสสั่งไว้ ณ วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒ ฯ

 

(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส

 

*(แถลงการณ์พระสงฆ์ เล่ม ๗ พ.ศ. ๒๔๖๒. หน้า ๖๗.)

×

ประกาศเรื่องพัดยศเปรียญและพัดนักธรรม*

 

ที่ ๑/๒๔๖๓

 

          สมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสประกาศว่า เมื่อพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ยังประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลตามกาลกำหนด ในคราวนั้น พระยาวุฒิการบดี อธิบดีกรมธรรมการ เชิญกระแสพระราชดำรัสมาแจ้งว่า เลขหมายประโยคพัดเปรียญ ๔ ประโยค ๕ ประโยค ทอดพระเนตรเห็นไม่ถนัด มีพระราชประสงค์จะให้ใช้เครื่องหมายให้เห็นถนัด ได้คิดแก้และเขียนตัวอย่างถวาย ทรงพระอนุมัติแล้ว ระเบียบพัดยศเปรียญจัดใหม่ ดังต่อไปนี้ :-

          เปรียญตรี คือ ๓ ประโยค เปลี่ยนพื้นแดงเป็นพื้นเขียวล้วนตามเดิม

          ประโยค ๔ พื้นเขียวอย่างนั้น ใจกลางและขอบสอดสีน้ำเงิน

          ประโยค ๕ พื้นพัดสีเขียวอย่างเดียวกัน ใจแดงขอบแดง

          พัดพื้นเขียวสอดสีอย่างนี้ หมายว่าเปรียญผู้ถือสอบคืบขึ้นไปได้จากชั้นเปรียญตรี แต่ยังไม่เต็มชั้นเปรียญโท

 

          เปรียญโท คือ ประโยค ๖ พื้นพัดสีเหลืองล้วน

          ประโยค ๗ พื้นพัดสีเหลือง ใจและขอบสอดโหมดขาว

          ประโยค ๘ พื้นพัดสีเหลืองอย่างเดียวกัน ใจและขอบสอดคาดเหลือง

          สองชั้นนี้ หมายว่าเปรียญผู้ถือสอบคืบขึ้นไปได้จากชั้นเปรียญโท แต่ยังไม่เต็มชั้นเปรียญเอก

 

          ชั้นเปรียญเอก คือประโยค ๙ พื้นพัดตาดเหลืองล้วน

          ระเบียบนี้จะใช้ต่อไปข้างหน้า ตามคราวที่จะเปลี่ยนของเก่าได้

          อนึ่ง พัดนักธรรมชั้นตรีที่เคยให้แก่นักธรรมสนามหลวง ผู้มีพรรษา ๕ แล้ว บัดนี้ การสอบประโยคนักธรรมชั้นตรี แยกสอบในสนามสาขาแล้ว และนักธรรมชั้นตรีโดยมาก ได้สอบเลื่อนเป็นนักธรรมชั้นโท สมควรจะงดเสีย เอาไว้ให้แต่ผู้ที่ไม่ได้สอบประโยคนักธรรมชั้นโท ต้องออกทำกิจพระศาสนาในระหว่าง และให้นักธรรมชั้นตรีของจังหวัดของมณฑลผู้เป็นครูและผู้มีตำแหน่งตั้งแต่เป็นเจ้าอาวาสขึ้นไป และให้ผู้ที่ได้รับตั้งเป็นนักธรรมกิตติมศักดิ์ชั้นนั้น ส่วนพัดนักธรรมชั้นโท ยังจัดให้แก่นักธรรมชั้นนั้น ผู้มีพรรษาพ้น ๕

          เจ้าสำนักเรียนทั้งหลายจงสอดส่องดู ถ้ามีนักธรรมชั้นตรีผู้สอบไม่ถึงประโยคนักธรรมชั้นโท ได้ออกทำกิจพระศาสนาในระหว่าง มีพรรษาพ้น ๕ และนักธรรมชั้นโท เมื่อสอบได้พรรษายังไม่ถึง ๕ ไม่ได้รับพัด ต่อมาพรรษาครบ ๕ แล้ว จงทำบัญชีรายชื่อยื่นพระอมรโมลี เพื่อรับพัดตามกำหนด

 

          ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๓

 

*(แถลงการณ์พระสงฆ์ เล่ม ๘ พ.ศ. ๒๔๖๓. หน้า ๒๒๕-๒๒๗.)

×

ข่าวพระราชทานพระบรมราชานุญาต

ให้ใช้ตราสำหรับสนามสอบไล่บาลีแลธรรมวินัย*

 

          ด้วยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร แจ้งความให้ทราบทั่วกันวา กรมธรรมการได้ประทับดวงตราประจำชาติ เป็นตัวอย่างที่สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มีพระดำรัสสั่งให้สร้างขึ้นเป็นตราสำหรับสนามสอบไล่บาลีแลธรรมวินัย คือสนามหลวง สาขาสนามหลวง สนามมณฑล แลสนามจังหวัด รวม ๑๔ ดวง มาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้สำหรับคณะสงฆ์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้ใช้ได้แล้ว คือ

          ตราสำหรับสนามหลวง สูนย์กลางกว้าง ๓ นิ้ว ๓ อนุกระเบียด (หรือ ๗ เซ็นติเมตร) รูปกลมลายกลางเป็นรูปธรรมจักร มีอักษรในวงขอบเบื้องบนว่า อติโรจติ ปญฺญาย สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโกเบื้องล่างว่า สนามหลวง

          อีก ๑๓ ดวง สูนย์กลางกว้าง ๓ นิ้ว ๑ อนุกระเบียด (หรือ ๖๕ มิลิเมตร) เท่ากัน รูปกลม ลายกลางเป็นรูปธรรมจักร มีอักษรในวงขอบเบื้องบนว่า อติโรจติ ปญฺญาย สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโกเหมือนกัน

          เบื้องล่างสำหรับสาขาสนามหลวงว่า สาขาสนามหลวง

          เบื้องล่างสำหรับสนามมณฑลอยุธยาว่า สนามมณฑลอยุธยา

          เบื้องล่างสำหรับสนามมณฑลราชบุรีว่า สนามมณฑลราชบุรี

          เบื้องล่างสำหรับสนามมณฑลนครศรีธรรมราชว่า สนามมณฑลนครศรีธรรมราช

          เบื้องล่างสำหรับสนามมณฑลอุบลราชธานีว่า สนามมณฑลอุบลราชธานี”

          เบื้องล่างสำหรับสนามมณฑลมหาราษฎร์ว่า สนามมณฑลมหาราษฎร์

          เบื้องล่างสำหรับสนามมณฑลพายัพว่า สนามมณฑลพายัพ

          เบื้องล่างสำหรับสนามมณฑลพิษณุโลกว่า สนามมณฑลพิษณุโลก

          เบื้องล่างสำหรับสนามมณฑลปาจีนบุรีว่า สนามมณฑลปาจีนบุรี

          เบื้องล่างสำหรับสนามจังหวัดนครปฐมว่า สนามจังหวัดนครปฐม

          เบื้องล่างสำหรับสนามจังหวัดชลบุรีว่า สนามจังหวัดชลบุรี

          เบื้องล่างสำหรับสนามจังหวัดอุทัยธานีว่า สนามจังหวัดอุทัยธานี

          เบื้องล่างสำหรับสนามจังหวัดนครราชสีมาว่า สนามนครราชสีมา

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๘ พ.ศ. ๒๔๖๓. หน้า ๑๙๕.)

×

(สำเนา)

ที่ ๕๑/๑๑๑

ประกาศตั้งหลักสูตร

และสอบประโยคนักธรรมชั้นเอก

 

          บัดนี้ประโยคนักธรรมชั้นโทภูมิมัชฌิมะ สำหรับภิกษุปานกลางหย่อน ๑๐ พรรษา จัดขึ้นสำเร็จ การเรียนชั้นนี้แพร่หลาย เป็นพื้นวัดที่เป็นสำนักเรียนใหญ่ ๆ แล้ว สมควรจะจัดนักธรรมชั้นเอกภูมิเถระ สำหรับภิกษุผู้ใหญ่พ้น ๑๐ พรรษาแล้ว ในลำดับไป จึงกำหนดตั้งหลักสูตรนักธรรมชั้นเอกภูมิเถระไว้ ดังนี้

          ๑. เรียงความแก้กระทู้ธรรม จะให้หัวข้อธรรม ๓ ข้อที่ห่างกัน ต้องแต่งทำนองเทศนา เชื่อมความ ๓ ข้อนั้นให้สนิท ฯ

          ๒. แก้ปัญหาธรรม โดยปรมรรถเทศนา ฯ

          ๓. แก้ปัญหาพุทธานุพุทธประวัติ กับข้อธรรมในท้องเรื่องนั้น ฯ

          ๔. แก้ปัญหาวินัยบัญญัติมีสังฆกรรมเป็นต้น ฯ

 

          หนังสือสำหรับใช้เป็นหลักสูตรแก้กระทู้ธรรมนั้น ใช้หนังสือพุทธศาสนาสุภาษิตบ้าง หนังสือธรรมอื่นแต่หัวข้อชนิดนั้น มีมงคลวิเศษรัชกาลที่ ๕ เป็นต้น บ้าง ฯ

          หนังสือสำหรับใช้เป็นหลักสูตรสอบธรรมวิภาค ใช้หนังสือธรรมวิจารณ์ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ

          หนังสือสำหรับใช้เป็นหลักสูตรสอบพุทธานุพุทธประวัติ ใช้หนังสือพุทธสมัย เล่ม ๒ ปริจเฉท ๔-๕-๖ ในธรรมสมบัติ หมวด ๓ ฯ

          หนังสือสำหรับใช้เป็นหลักสูตรสอบวินัยบัญญัติ ใช้หนังสือวินัยมุขเล่ม ๓ ฯ

          ผู้จะเข้าสอบนักธรรมชั้นเอกนี้ ต้องได้ประโยคนักธรรมชั้นโทในสนามหลวงแล้ว ฯ

          เปรียญธรรมชั้นโท ผู้จะเข้าสอบบาลีประโยค ๗ ต้องสอบองค์นักธรรมชั้นเอกได้ก่อน ฯ เมื่อสอบบาลีประโยค ๗-๘-๙ ได้แล้ว จัดเป็นเปรียญธรรมชั้นเอก ฯ

 

          ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๔

 

(ลงพระนาม) กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๙ พ.ศ. ๒๔๖๔. หน้า ๑๑๙.)

×

(สำเนา)

ที่ ๕๒/๑๑๒

ประกาศใช้หนังสือหลักสูตรองค์นักธรรมชั้นตรีแลชั้นโท*

 

          อาศัยเหตุที่นักเรียนนักธรรมชั้นตรี และชั้นโทเข้าใจไม่แน่ชัดบ้าง มีหนังสือที่ควรเข้าในหลักสูตรพิมพ์เพิ่มขึ้นอีกบ้าง จึงสมควรประกาศเพิ่มเติมให้ทราบบางข้อ ดังต่อไปนี้

          หนังสือสำหรับใช้เป็นหลักสูตรสอบพุทธประวัตินักธรรมชั้นตรี ใช้หนังสือพุทธประวัติเล่ม ๑ เล่ม ๓ ธรรมสมบัติ ปฐมสมโพธิพระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราช (สา) ๑ จบ ฯ

          หนังสือสำหรับใช้เป็นหลักสูตรสอบธรรมวิภาคนักธรรมชั้นโท ใช้หนังสือธรรมวิภาคปริจเฉท ๒ กับหมวดอติเรกทสกะ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า ฯ

          หนังสือสำหรับใช้เป็นหลักสูตรสอบอนุพุทธประวัตินักธรรมชั้นโท ใช้หนังสืออนุพุทธประวัติ ๑ เล่ม พุทธานุพุทธประวัติอันกล่าวเฉพาะประวัติแห่งพระสาวก ๑ เล่ม ธรรมสมบัติ สังคีติกถา ๑ จบ ฯ

          นอกจากนี้คงเป็นไปตามประกาศเดิม ฯ

 

          ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๔

 

(ลงพระนาม) กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๙ พ.ศ. ๒๔๖๔. หน้า ๑๒๐.)

×

(สำเนา)

ประกาศระเบียบการสอบ น.ธ.โท

ในต่างจังหวัด*

          ในบัดนี้การเรียนพระธรรมวินัยได้เจริญแพร่หลายแทบทั่วพระราชอาณาเขตแล้ว สำหรับ น.ธ.ตรี มีสนามหลวงสอบตามจังหวัดแลมณฑลทั้งชั้นในทั้งชั้นนอก เป็นกิ่งสนาม มีแม่กองซึ่งเคยเป็นกรรมการสนามหลวงออกไปกำกับ ส่วน น.ธ. โท มารวมสอบในสนามหลวงแต่แห่งเดียว ในชั้นต้นยังมีผู้เข้าสอบไม่มากนัก แลมักอยู่ในจังหวัดพระนคร หรือมณฑลชั้นใน ซึ่งไปมาไม่สู้ลำบาก ต่อมามีนักเรียนมากขึ้น เฉพาะที่อยู่ในเขตพระนครไม่มีข้อขัดข้อง ส่วนที่อยู่ตามจังหวัดและมณฑลต่าง ๆ ซึ่งห่างไกลจะมาสอบสนามหลวงย่อมไม่สะดวก ด้วยเหตุการไปมาลำบากแลต้องเสียค่าพาหนะมากมาย อาจทำให้บางรูปซึ่งแม้มีความรู้ได้ร่ำเรียนไว้เพียงพอ แต่ไม่มีโอกาสสอบหรือหมดอุตสาหะ ก็เป็นได้ ฯ

          อาศัยเหตุนี้ เริ่มแต่พุทธศกนี้เป็นต้นไป เมื่อมีภิกษุสามเณร น.ธ.ตรี ผู้สามารถสมัครจะสอบ น.ธ.โท แต่อยู่ในจังหวัดอื่นจากพระนคร ถ้าอยู่ใกล้แลมีจำนวนน้อย ให้มาสอบ ณ สนามหลวงตามเดิม ถ้ามากให้ตั้งสนามสอบในที่นั้น ๆ ได้ โดยปฏิบัติการตามนี้ คือ

          ๑. ให้เจ้าคณะในจังหวัดนั้น ๆ ส่งบัญชีผู้สมัครสอบ น.ธ.โท ตามระเบียบ ให้ถึงกรุงเทพฯ ก่อนวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ฯ

          ๒. แต่งพระผู้แทนมารับประโยคสำหรับสอบแลกลับไปให้ถึงจังหวัดนั้น ๆ ก่อนวันที่ ๑๒ ธันวาคม เพื่อให้ทันเปิดสนามพร้อมในวันเดียวกันกับสนามหลวงฯ

          ๓. วันเวลาที่เปิดสอบก็ดี กำหนดเวลาให้แก่ผู้สอบก็ดี ตลอดถึงกิจอื่นอันควรทำ ต้องปฏิบัติตามระเบียบของสนามหลวงทุกประการ ฯ

          ๔. จัดการสอบเสร็จแล้ว ให้รีบส่งใบตอบของนักเรียนทั้งหมดมายังแม่กองสนามหลวงโดยเร็ว ฯ

 

          ประกาศแต่วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๕ ฯ

 

(ลงพระนาม) กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑๐ พ.ศ. ๒๔๖๕. หน้า ๓๑๑.)

×

(สำเนา)

ประกาศแก้ไขเพิ่มหลักสูตรนักธรรมชั้นเอก*

 

          หลักสูตรนักธรรมชั้นเอกแผนกธรรม ตามที่ประกาศไว้แล้ว ให้ใช้หนังสือธรรมวิจารณ์ส่วนปรมัตถ กับส่วนสังสารวัฏ ซึ่งเป็นเรื่องยังไม่จบบริบูรณ์ ถ้าสมเด็จพระมหาสมณเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ก็คงจะทรงรจนาต่อจนจบเพียงพอแก่ภูมินี้ เพื่อบำรุงความรู้ของนักเรียนให้กว้างขวางสมกับชั้น ครั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้าสิ้นพระชนม์แล้ว หมดโอกาสที่จะทรงรจนาต่อไป หนังสือนั้นยังน้อยนัก จำต้องเพิ่มขึ้นอีกตามควร เห็นว่าหนังสือสมถกัมมัฏฐานฉบับที่สมเด็จพระวันรัต ทับ (พุทฺธสิริ) เรียบเรียงไว้ แลวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งจักรวบรวมแลเรียบเรียงขึ้นอีกโดยสังเขป กับหนังสือมหาสติปัฏฐานสูตรแลคิริมานนทสูตร ฉบับที่พระสาสนโสภณ (ญาณวร) แปล ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องเกี่ยวโยงถึงกันในทางกระแสธรรม ผนวกเข้าเป็นประเภทเดียวกันได้ เมื่อนักเรียนศึกษาเข้าใจทั่วถึงแล้ว ความรู้ย่อมเจริญขึ้นมีประโยชน์อันยิ่งใหญ่ไพศาลมาก ฯ

          อนึ่ง แผนกตำนานส่วนที่แล้วมา ให้ใช้หนังสือพุทธสมัยเล่ม ๒ ปริจเฉทที่ ๔ ที่ ๕ แลที่ ๖ ในธรรมสมบัติหมวดที่ ๓ เพื่อทดลองดูนั้น ปรากฏว่าไม่สะดวกแลไม่เหมาะแก่การที่จะบำรุงความรู้สายนี้ของนักเรียน เพราะพระสูตรตรง ๆ ในหนังสือนั้น ว่าด้วยธรรมมากกว่าที่จะเล่าตำนาน ในการถามปัญหามุ่งเฉพาะตำนานหาข้อได้ยาก โดยมากต้องอิงธรรม ในหลักสูตรของนักธรรมตรี และนักธรรมโทแผนกนี้ ใช้ตำนานล้วน ๆ สืบเนื่องกันดี ชั้นนี้ก็ควรจะให้เป็นสายเดียวกัน เมื่อว่าถึงตำนานที่เกี่ยวกับเป็นพุทธประวัติ อนุพุทธประวัติ แลธรรมวงศ์ ที่ควรศึกษาสนใจ มีอยู่พร้อมแล้วใน ๒ ชั้นนั้น ครั้นจะเก็บเรื่องมาเรียบเรียงเพิ่มขึ้นอีก ต้องรวบรวมจาก คัมภีร์อรรถกถาซึ่งฟังได้ยาก ทั้งจะทำให้นักเรียนลำบากในการอบรมวิชาความรู้ หลายอย่างที่เกินจำเป็นไป เท่าที่มีอยู่ก็เป็นการเพียงพอแล้ว ถ้าได้รวมหนังสือแสดงตำนานต่าง ๆ ของ ๒ ชั้นนั้น ให้เป็นหลักสูตรของชั้นนี้ คงจะไม่ทำให้นักเรียนท้อใจในการต้องจดจำ เพราะเคยได้ศึกษามาก่อนเป็นแต่กลับซักซ้อมซ้ำให้แม่นยำชำนาญขึ้นอีก ฯ

          เพราะฉะนั้นในศกต่อไป หลักสูตรนักธรรมชั้นเอกแผนกธรรมให้ใช้หนังสือ ๓ อย่าง คือ ๑ ธรรมวิจารณ์ส่วนปรมัตถแลส่วนสังสารวัฏ ๒ สมถกัมมัฏฐานแลวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๓ มหาสติปัฏฐานสูตรแลคิริมานนทสูตรแปล แผนกตำนานให้ใช้หนังสือเหล่านี้ คือ ๑ พุทธประวัติ เล่ม ๑ เล่ม ๓, ๒ ปฐมสมโพธิ ฉบับที่สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว) ทรงนิพนธ์ ๓ พุทธานุพุทธประวัติ ๔ อนุพุทธประวัติ ๕ สังคีติกถา ฉบับที่สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นทรงรจนาไว้ ส่วนในแผนกอื่น ๆ นอกจากนี้ คงไว้ตามประกาศเดิมทุกประการ ฯ

 

          ประกาศแต่วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๕ ฯ

 

(ลงพระนาม) กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑๐ พ.ศ. ๒๔๖๕. หน้า ๕๘๙.)

×

ประกาศเปลี่ยนลำดับประโยคนักธรรม*

 

          เดิมที่มีนักเรียนเข้าสอบนักธรรมยังไม่มาก ลำดับหลักสูตรที่ออกสอบจัดกระทู้ธรรมไว้ต้น และถัดจากนั้นจึงถึงธรรมวิภาค พุทธประวัติ วินัยบัญญัติ ตามลำดับกันเป็นไปเรียบร้อยควรแก่ประโยชน์สืบมา ครั้นการศึกษาเจริญแพร่หลาย ขยายสนามตั้งตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร มีนักเรียนเข้าสอบปีละมาก ๆ บางจังหวัดแม่กองออกไปจัดการสอบและตรวจให้เสร็จ ตลอด ทายก ทายิกา พากัน ช่วยขวนขวายทำกิจเกื้อกูลมีจำนวนเป็นอันมาก ทั้งประชาชนผู้พอใจทราบการนี้ก็ไม่น้อย บางแห่งมีจำนวนรวม ๑๐๐๐ คนเศษ เป็นการครึกครื้นชวนให้เกิดความนิยมสะดวกในโอกาสมุ่งเผยแผ่พระพุทธศาสนา แต่ถ้ามีนักเรียนเข้าสอบมาก ที่เร่งตรวจให้เสร็จทันวันสุดท้าย กว่าจะเรียบร้อยก็ดึก พ้นเวลานิยมอยากทราบของคนทั้งหลายเสีย ไม่รวบรัดทันท่วงที จะนัดเลื่อนวันประกาศการได้ตกในวันต่อไป เป็นเหตุให้จางความพอใจของผู้ต้องการทราบ คงมีผู้มาดูมาฟังน้อย ทำให้กร่อยลง เมื่อเช่นนั้นโอกาสที่จะชี้แจงผลแห่งการสอบก็แคบ หากเปลี่ยนประโยคกระทู้ธรรมไว้ในวันสุดท้าย การตรวจเร็วขึ้น เพราะแผนกนี้มีจำกัดใบตอบอย่างมาก ไม่เกิน ๔ หน้ากระดาษฟุลสแก๊ป จักสามารถให้เสร็จตลอดถึงชี้แจงผลแห่งการสอบทันประสงค์ในวันนั้นให้ทราบทั่วถึงในชุมนุมนั้นได้ โอกาสไม่ล่วงเลยเสีย ฯ

          เพราะฉะนั้นเพื่อให้กิจทั้งปวงเป็นไปโดยเรียบร้อย ควรแก่กาลสมัย ให้แม่กองสนามทั้งหลาย เริ่มแต่ศกนี้เป็นต้นทั้งในสนามหลวง ทั้งในสนามสาขา สนามมณฑล และสนามจังหวัด จัดลำดับประโยคนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก ที่จะออกสอบดังนี้ วันต้นแผนกธรรม วันที่ ๒ แผนกตำนาน วันที่ ๓ แผนกวินัย วันที่ ๔ แผนกเรียงความ ฯ

 

          ประกาศแต่วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๘

 

กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑๓ พ.ศ. ๒๔๖๘. หน้า ๔๔๑.)

×

ประกาศรวมสนามสอบนักธรรมโทในต่างจังหวัด*

 

          แต่แรกยังมีนักเรียนเข้าสอบนักธรรมโทน้อย คงรวมสอบสนามหลวงในจังหวัดพระนครแห่งเดียว ครั้นต่อมานักเรียนอยู่ในต่างจังหวัด แห่งมณฑลชั้นในบ้างชั้นนอกบ้าง ผู้จะสอบชั้นนี้มีมากขึ้น รวมสอบแห่งเดียวไม่สะดวกแก่นักเรียนผู้อยู่ไกล ๆ จึงขยายเขตสนามตามจังหวัดร่วมนอกมณฑลกรุงเทพฯ ที่มีนักเรียนตั้งแต่ ๒๐ รูปขึ้นไป เพื่อให้ความสะดวกไม่ต้องไปมาลำบากเกินจำเป็น ด้วยหวังบำรุงวิชาแผนกนี้ให้เจริญแพร่หลาย แต่ก็ยังขัดข้องบางอย่าง ไม่เหมาะในทางการทีเดียว เพราะบางจังหวัดที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่ากำหนด ถ้าอยู่ไกลนัก จักไม่สามารถไปสอบในสนามหลวงจังหวัดพระนครได้ หากจะผ่อนให้ตั้งสนามไม่พิกัดจำนวนนักเรียน จะเป็นเหตุให้เรี่ยราด ไม่ทำความครึกครื้นอันเป็นทางปลุกใจของผู้ใคร่ศึกษา แลเพิ่มพูนศรัทธาของผู้ขวนขวายบำรุงได้

          เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ศกนี้เป็นต้น ให้ตั้งสนามสอบนักธรรมโทมณฑลละแห่ง ในจังหวัดที่มีจำนวนนักเรียนมากที่สุดในมณฑลนั้น ๆ เฉพาะศกหนึ่ง ๆ ถ้าจำนวนนักเรียนในต่างจังหวัดที่ร่วมมณฑลใดมีเท่ากันสุดแล้วแต่เจ้าคณะมณฑลนั้น จะให้สอบในจังหวัดไหนตามที่เห็นสมควร เว้นบางจังหวัดแห่งมณฑลชั้นใน หากการไปมาถึงจังหวัดพระนครสะดวกกว่า ยอมให้นักเรียนในจังหวัดนั้นมารวมสอบในสนามหลวงจังหวัดพระนครได้ ส่วนประโยคที่จะนำไปเปิดสอบในสนามต่างมณฑลนั้น ๆ จะให้มีผู้กำกับนำไป เว้นแต่มณฑลที่มีคมนาคมไม่สะดวก จะส่งประโยคออกไปให้เจ้าคณะสอบ เพื่อช่วยรักษาการให้ดำเนินชอบด้วยระเบียบสนามหลวง ฯ

 

ประกาศโดยพระกระแสรับสั่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

(ลงนาม) พระศาสนโสภน

ผู้รับพระกระแสรับสั่ง

แต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑๓ พ.ศ. ๒๔๖๘. หน้า ๔๙๑.)

×

ประกาศเพิ่มหลักสูตรนักธรรมชั้นโทแผนกตำนาน*

 

          หลักสูตรชั้นนี้ตามที่กำหนดไว้แล้ว ให้ใช้หนังสืออนุพุทธประวัติเรื่องเดียว ซึ่งยังเป็นเรื่องไม่จบบริบูรณ์ มีประวัติพระสาวกเพียง ๘ พระองค์เท่านั้น ถ้าสมเด็จพระมหาสมณเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ก็คงจะทรงรจนาต่อไปเป็นทางบำรุงความรู้ของนักเรียนให้กว้างขวางสมกับชั้น หนังสือนั้นยังน้อยนัก มีข้อความที่น่าแต่งปัญหาถามในการสอบ นับวันแต่จะคนแคบไม่เพียงพอ จำต้องเพิ่มขึ้นอีกตามควร ฯ

          เพราะฉะนั้นตั้งแต่ศกหน้าเป็นต้น หลักสูตรนักธรรมชั้นโท แผนกตำนานให้ใช้หนังสือ ๔ อย่าง คือ อนุพุทธประวัติ พุทธานุพุทธประวัติ สังคีติกถาแลปฐมสมโพธิฉบับที่สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ทรงรจนาไว้ เอาแต่เฉพาะเรื่องของพระสาวก ฯ

 

          ประกาศแต่วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๘

 

กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑๓ พ.ศ. ๒๔๖๘. หน้า ๖๗๗)

×

(สำเนา)

ประกาศแก่นักเรียนผู้สอบนักธรรมแลบาลี*

ให้ทราบทั่วกันว่า

 

          การจัดตั้งหลักสูตรนักธรรมแลบาลี มีการสอบไล่ตามระเบียบทั้งปวงนี้ ก็เพื่อบำรุงการศึกษาเล่าเรียนของภิกษุสามเณรให้เจริญรุ่งเรืองแพร่หลาย เป็นการเกื้อกูลสัมมาปฏิบัติอบรมมารยาทกายวาจาอัธยาศัย ให้ประณีตงดงามเรียบร้อยน่าเลื่อมใส แต่ข้อที่จะสอดส่องดูความสมควรในเรื่องนี้ให้ตลอดทั่วถึงทุกแห่งเป็นการพ้นวิสัย จักสังเกตเห็นได้แต่ในที่บางแห่งบางคราวเท่านั้น นักเรียนทุกรูปควรทำความลำสัญในจรรยาให้มาก ตั้งใจระวังรักษากิริยาอัชฌาสัยให้สงบเสงี่ยม สมแก่ความเป็นภิกษุสามเณร เมื่อเข้าในที่ประชุมสอบ อย่าฝ่าฝืนระเบียบสนามหรือแสดงอาการหยาบหยามต่อผู้ดูแลรักษาการณ์ตามหน้าที่ เพื่อให้กิจการทั้งปวงนี้เป็นไปโดยความเรียบร้อย ถ้ารูปใดจงใจฝ่าฝืนระเบียบด้วยไม่ละอาย หรือแสดงกิริยาหยาบคายรุกรานเสียดสีต่อเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลอันเป็นการเสื่อมเสียน่าตำหนิ จะรวมกายวจีสมาจารที่ไม่ดีของรูปนั้นเข้าในจำนวนตก ยังไม่สมควรให้กรรมการตรวจ ฯ

 

          ประกาศแต่วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๘

 

(ลงพระนาม) กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑๓ พ.ศ. ๒๔๖๘. หน้า ๖๗๘.)

×

(สำเนา)

ประกาศกำหนดการส่งบัญชีสนามสาขาแลสนามหลวง*

 

          แต่ก่อนการเปิดสนามหลวงมีระยะกาลห่างจากวันกำหนดส่งบัญชีนักเรียน ไม่เป็นเหตุฉุกละหุก แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการแลแม่กองสนาม ที่จะพิมพ์ประโยคแลกะวันสอบวิชานั้น ๆ ครั้นบัดนี้การเปิดสนามหลวงเลื่อนกระชั้นใกล้วันกำหนดส่งบัญชีเข้ามา เป็นเหตุไม่สะดวกแก่เจ้าหน้าที่แลแม่กองสนามในการนั้น ถ้ามีบัญชีของบางสำนักส่งเพิ่มกระปริบกระปรอยไม่สิ้นสุดในครั้งเดียว หรือส่งล่าเกินกำหนด ก็เป็นเหตุให้ยุ่งยากมากขึ้น สมควรเลื่อนเขตส่งบัญชีออกไปตามกัน เพื่อความสะดวกทั้งสองฝ่ายที่จะปฏิบัติการให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย ฯ

          เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ศกน่าเป็นต้น ให้เจ้าสำนักส่งบัญชีนักเรียนผู้จะเข้าสอบ ณ สนามสาขาแลสนามหลวง ทั้งในจังหวัดพระนครทั้งในต่างจังหวัด ตามระเบียบ แต่ครั้งเดียวเท่านั้น ให้ถึงกรมธรรมการภายในวันที่ ๑๕ ตุลาคม ถ้าส่งล่ากว่ากำหนดนี้ สนามจักไม่รับ ในต่างจังหวัดถ้าไม่มีเจ้าคณะมณฑล ให้ส่งที่กรมธรรมการ ถ้ามีให้ส่งที่เจ้าคณะมณฑล เพื่อเจ้าคณะมณฑลจักส่งไปยังกรมธรรมการ ตามลำดับ ฯ

 

          ประกาศแต่วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๘

 

(ลงพระนาม) กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑๓ พ.ศ. ๒๔๖๘. หน้า ๖๗๙.)

×

(สำเนา)

ประกาศเลิกการสอบควบประโยคนักธรรมแลบาลี*

 

          หลักสูตรนักธรรมแลบาลี ที่แบ่งเป็นชั้นหรือประโยคตามลำดับวิชา ด้วยมุ่งให้นักเรียนศึกษาอบรมจนครบครันในปีหนึ่ง ๆ เฉพาะชั้นหรือประโยค มีบางรูป สมัครสอบควบทั้งสองชั้น เช่น นักธรรมชั้นตรีกับชั้นโท หรือสอบนักธรรมควบกับบาลีในศกเดียวกัน แต่เป็นจำนวนน้อย การศึกษาของผู้สมัครสอบควบเช่นนี้ น่าจะเป็นไปโดยรีบด่วนอบรมไม่ทันทั่วถึง เพราะต้องกังวลมากอย่าง เป็นทางให้ความรู้เพลาลง ฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้ต้องทำบัญชีแลแม่กองสนามที่จะกะวันสอบ ก็ได้รับความยุ่งยาก ทั้งเป็นเหตุให้วันระหว่างเปิดสนามสอบเนิ่นช้าออกไปอีกหลายวัน ได้ประโยชน์น้อยนักไม่สมกัน ฯ

          เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ศกหน้าเป็นต้น ให้นักเรียนสอบนักธรรมหรือบาลีได้ เฉพาะอย่างหนึ่ง ๆ ในแผนกนักธรรม ให้สอบศกละชั้น แผนกบาลีคงเดิม เว้นแต่ผู้สอบเปรียญธรรม ๓ ประโยคเท่านั้น ยอมให้สอบนักธรรมตรีซึ่งเป็นบุรพประโยค ร่วมศกเดียวกันได้ ด้วยมีเวลาในระหว่างก่อนเข้าสอบพออบรมได้จนทัน ทั้งนักเรียนผู้จะสอบประโยคนั้น บางรูปมีอายุไม่ถึง ๑๙ ปี แต่อบรมวิชาสมภูมิแล้ว หากต้องรอให้อายุถึงกำหนด จักเสียเวลาเนิ่นช้าต่อไปอีก ส่วนผู้จะสอบประโยค ป.บ.๔ แล ป.บ.๗ ให้สอบนักธรรมที่เป็นบุรพประโยคก่อนในต่างศก เพราะความจำเป็นเนื่องด้วยกำหนดอายุไม่มีแล้ว ควรอบรมการศึกษาให้บริบูรณ์ทั่วถึง มีความรู้กว้างขวางสมแก่ชั้น ฯ

 

          ประกาศแต่วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๘

 

(ลงพระนาม) กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑๓ พ.ศ. ๒๔๖๘. หน้า ๖๘๐.)

×

ประกาศเรื่องอายุสามเณรผู้เข้าสอบประโยคนักธรรม

ในสนามศาขาแห่งสนามหลวง*

 

          ความในประกาศแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๔ ภาค ๑๒ หน้า ๔๖๔ ว่า อนุญาตให้สามเณรเข้าสอบประโยคนักธรรมในสนามศาขาแห่งสนามหลวงได้ ต่อเมื่อมีอายุ ๑๙ โดยปี เว้นสามเณรผู้เข้าสอบประโยคเปรียญธรรม แม้มีอายุไม่ถึงกำหนดก็เข้าได้นั้น ยังไม่สะดวก เหตุว่า สามเณรผู้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมบางรูป เริ่มเรียนในอายุราว ๑๕ หรือ ๑๖ มีอายุต่ำกว่านี้ก็มีไม่น้อยรูป ในเวลาที่เล่าเรียนอยู่ ควรศึกษาวิชชานักธรรมไปพลาง ไม่ต้องคอยอายุให้ถึง ๑๙ แม้ผู้นั้น เรียนปริยัติไม่สำเร็จในรว่างอายุ ๑๙ ก็ยังได้วิชชานักธรรมไว้ส่วนหนึ่ง กว่าจะถึงเข้าสอบไล่ปริยัติธรรม ก็ไม่พะวงในวิชชานักธรรม ซึ่งต้องเพิ่มขึ้นอีกประโยคหนึ่ง

          เพราะเหตุนั้น อนุญาตให้สามเณรมีอายุได้ ๑๗ โดยปี เข้าสอบนักธรรมในสนามศาขาแห่งสนามหลวงได้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นไป

 

ประกาศแต่วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๙

 

กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑๔ พ.ศ. ๒๔๖๙. หน้า ๖๖.)

×

ประกาศให้พระนักธรรมโทแลนักธรรมเอกถือพัดรอง*

 

          เมื่อแรกตั้งวิชา ๒ ประเภทนี้ ผู้เรียนแลสอบยังมีน้อย พอให้พัดแก่ผู้สอบได้ทั่วถึงกัน ครั้นวิชาประเภทนี้เจริญขึ้น ด้วยมีผู้เรียนแลสอบทวีจำนวน จะให้พัดแก่ผู้สอบได้ให้ทั่วถึงย่อมเป็นการเปลืองมากเกินสมควร เพราะเหตุนี้จึงงดเสีย

          ก็แต่ว่า ภิกษุผู้เรียนแลสอบวิชานักธรรม ๒ ประเภทนี้ได้ มีพรรษากาลซึ่งโดยมากเป็นผู้จะยั่งยืนนานในพระศาสนา เมื่อว่าโดยความรู้ธรรมวินัย ก็ถึงภูมินิสสัยมุตตกะแลเถระ ควรได้รับยกย่องให้พิเศษกว่ามวลภิกษุสามัญ ประกาศกำลังอุตสาหบากบั่นแลปฏิภาณปรีชา สนใจศึกษารอบรู้พระธรรมวินัย อันเป็นปัจจัยแห่งสัมมาปฏิบัติอัตตสัมมาปนิธิ ที่เป็นอายุพระศาสนา

          เพราะฉะนั้น ตั้งแต่วันประกาศนี้ไป ให้ภิกษุผู้สอบนักธรรมโทแลนักธรรมเอกได้ ถือพัดรองของตนเองได้ในกิจนิมนต์ทั้งปวง ฯ

 

ประกาศแต่วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๐

 

กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์

 

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑๕ พ.ศ. ๒๔๗๐. หน้า ๔๐๒.)

×

ประกาศตั้งเจ้าคณะมณฑลให้เป็นรองแม่กองสนามหลวง*

 

          เมื่อเปลี่ยนวิธีดำเนินการสอบไล่นักธรรมทั้ง ๓ ชั้น ดังประกาศแล้วนั้น เจ้าคณะมณฑลมีหน้าที่ส่งประโยคออกไปสอบไล่นักเรียนในมณฑลแลจังหวัดของตน ๆ ถ้าเจ้าคณะมณฑลมีอุตสาหะออกไปสอบไล่เองก็ยิ่งดี ถ้าไม่ไปเอง ให้มอบผู้ที่สมควรคุมประโยคออกไปสอบไล่ ตามวันกำหนดสนามหลวง เจ้าคณะมณฑลมีสิทธิตั้งผู้สมควรในวิชานั้น ๆ ให้เป็นกรรมการเช่นผู้สอบได้แต่ชั้นตรีขึ้นไปหรือผู้ที่สมควรเป็นกรรมการตรวจชั้นตรี จะตรวจที่มณฑลหรือนำเข้ามาตรวจเองในกรุงเทพฯ มณฑลรีบส่งเข้ามาอย่างเร็วที่สุด ให้สนามหลวงในกรุงเทพฯ ตรวจ

          เพราะฉะนั้น แต่บัดนี้เป็นต้นไป ตั้งเจ้าคณะมณฑลซึ่งไม่ได้เป็นแม่กองสนามหลวงให้เป็นรองแม่กองสนามหลวง มีสิทธิตั้งกรรมการดังกล่าวแล้วให้ตรวจประโยคนักธรรมตรีในมณฑลของตน ๆ ได้ ฯ

 

ประกาศแต่วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๐

 

กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑๕ พ.ศ. ๒๔๗๐. หน้า ๕๐๘.)

×

ประกาศเปลี่ยนวิธีดำเนินการนักธรรมชั้นตรี โท เอก*

 

          การศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยซึ่งเรียกว่านักธรรมชั้นตรี โท เอก นั้น บัดนี้ เจริญแพร่หลายทั่วราชอาณาจักร เชิดชูเกียรติพระพุทธศาสนา ทั้งทนุบำรุงให้มีอายุยั่งยืนถาวรไปข้างหน้าดีอยู่แล้ว แต่วิธีดำเนินการบางอย่างยังไม่สะดวกเรียบร้อยเช่น นักธรรมชั้นตรีสนามกรุงเทพฯ เปิดสอบเดือนพฤศจิกายน สนามมณฑลชั้นนอก เปิดสอบก่อนกรุงเทพฯ ก็มี พร้อมกันก็มี ทีหลังก็มี ทั้งนี้เพราะไม่กำหนดวันสอบให้พร้อมวันเดียวกัน ส่วนข้อสอบเล่า บางมณฑลก็ยาก บางมณฑลก็ปานกลาง บางมณฑลก็ง่าย นักธรรมชั้นเดียวกัน แต่ข้อสอบยิ่งหย่อนกว่าไม่เสมอกัน เพราะไม่ได้กำหนดข้อสอบให้เป็นแบบเดียวกัน

          เมื่อถึงคราวเปิดสอบนักธรรมชั้นโท มณฑลชั้นนอกกำหนดนักเรียน ๒๐ รูปขึ้นไป ส่งข้อสอบจากกรุงเทพฯ ให้เจ้าคณะมณฑลส่งไปสอบตามสถานซึ่งสมควรในวันเดียวกันกับสนามกรุงเทพฯ อาหารบิณฑบาตที่เลี้ยงนักเรียนเป็น ๒ คราว คือ เมื่อสอบนักธรรมชั้นตรีคราวหนึ่ง สอบนักธรรมชั้นโทอีกคราวหนึ่ง เป็นการลำบาก แก่ทายกทายิกา ถ้ามีนักเรียนน้อยไม่ครบกำหนด ให้นักเรียนเข้ามาสอบในกรุงเทพฯ นักเรียนต้องหมดเปลืองมาก บางรูปก็อุตสาหะเข้ามาสอบ บางรูปก็คลายอุตสาหะ การศึกษาเล่าเรียนก็ชงัก

          ครั้นถึงคราวสอบนักธรรมชั้นเอก มณฑลชั้นนอกให้เข้ามาสอบในกรุงเทพฯ แห่งเดียว เป็นข้อข้องมาก เพราะมณฑลที่อยู่ใกล้ก็มาสอบ มณฑลที่อยู่ใกล้ เช่น มณฑลอุดร มณฑลพายัพก็ไม่มาสอบ อย่างนี้นักธรรมเถรภูมิก็ไม่แพร่หลาย ถ้ากำหนดข้อสอบนักธรรมทั้ง ๓ ชั้นอย่างเดียวพร้อมกันทั้งวันสอบก็พร้อมกันในเดือนพฤศจิกายน ราววันที่ ๑๐ ล่วงไปแล้ว ส่วนสนามหลวงเปิดสอบเปรียญธรรมปลายเดือนมกราคมก่อนมาฆบูชา เพื่อทอดเวลาเล่าเรียนของนักเรียนให้มากขึ้น เมื่อรวมข้อสอบแลวันสอบเป็นแบบเดียวกันแล้ว นักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ก็ให้เป็นสนามหลวง อย่างนี้จักสะดวก

          เพราะฉะนั้น จำเดิมแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑ เป็นต้นไป ให้เปลี่ยนวิธีดำเนินการนักธรรมแลกำหนดเวลาเปิดสอบเปรียญธรรมดังต่อไปนี้

          ก. ให้ออกข้อสอบไล่นักธรรม ๓ ชั้นนั้นอย่างเดียวกันทั่วพระราชอาณาเขต

          ข. ให้เปิดวันสอบไล่พร้อมกันทั้ง ๓ ชั้น ในสนามนั้น ๆ ในเดือนพฤศจิกายน แต่วันที่ ๑๐ ล่วงไปแล้วทุก ๆ ปี

          ค. ให้เปิดสอบเปรียญธรรมในเดือนมกราคมก่อนมาฆบูชาที่กรุงเทพฯ แห่งเดียวทุกปี

          ฆ. ให้สนามนักธรรมทั้ง ๓ ชั้นนั้น เป็นสนามหลวงทั่วพระราชอาณาเขต

          ง. จำนวนนักเรียนทั้ง ๓ ชั้นนั้น ไม่มีกำหนดจำกัด มากน้อยเท่าใดก็เข้าสอบได้

          จ. ให้แม่กองสนามหลวงกำหนดวันสอบไล่นักธรรมแลเปรียญธรรมในปีนั้น ๆ ตามสมควรแก่วันแลโอกาส ฯ

 

ประกาศแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐

 

กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑๕ พ.ศ. ๒๔๗๐. หน้า ๕๐๖.)

×

คำแนะนำ

ในการเรียงความแก้กระทู้ธรรมประโยค น.ธ.โท

(ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา. หน้า ๓๗๙-๓๘๗.)

 

          ต้องชักที่มาเชื่อมความให้สนิท อย่างน้อย ๓ แห่ง จากหนังสือต่างชื่อ ๆ หนังสือที่ชักมานั้น ไม่ต่างกันทั้งสามชื่อก็ได้ เป็นแต่อย่าอ้างหนังสือชื่อเดียวซ้ำติด ๆ กันทั้ง ๓ หน ถ้าจักอ้างหนังสือซ้ำชื่อต้องอ้างสลับชื่อ เช่น อ้างพุทธศาสนสุภาษิตแล้ว ต้องอ้างอื่น ต่างว่าอรรถกถาธรรมบท แต่นั้น จึงอ้างพุทธศาสนสุภาษิตได้อีก

×

คำแนะนำในวินัยบัญญัติ

 

          ๑. พึงพิจารณาคำในสิกขาบท และพึงเข้าใจความแห่งคำนั้นเช่นคำว่า อวดอุตตริมนุสสธรรม พูดปด ฆ่าสัตว์ คำเหล่านี้ บางคำก็บ่งเจตนาอยู่ในตัว บางคำก็ไม่บ่ง

          ๒. พึงรู้ความประสงค์แห่งการตั้งสิกขาบท เช่น ห้ามพูดมุสา ห้ามปิดหรือเปิดอาบัติ ห้ามไม่ให้เทน้ำมีตัวสัตว์ลงดินหรือหญ้า

          ๓. พึงกำหนดเจตนา สิกขาบทบางอย่างต่อมีเจตนาและทำฝ่าฝืนจึงเป็นอันล่วง สิกขาบทบางอย่างไม่บ่งเจตนา เช่นนี้สักว่าทำก็เป็นอันล่วง เจตนาจะพึ่งกำหนดรู้ด้วยคำว่า แกล้ง รู้อยู่ เป็นต้น บางคำก็บ่งเจตนาอยู่ในตัวเช่นพูดปด บางคำไม่บ่งเช่น ดื่ม

          ๔. พึงกำหนดองค์ของสิกขาบทว่ามีเท่าไรและอย่างไรบ้าง เช่นอทินนาทาน วัตถุอันมีราคา ๕ มาสก เป็นองค์ของปาราชิก ขอจีวรต่อคฤหัสถ์ อันเป็นปาจิตตีย์ คฤหัสถ์นั้นไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา ไม่มีสมัย ไม่ลาภิกษุเข้าบ้านในวิกาล เฉพาะภิกษุมีในอาราม และไม่มีกิจรีบ

          ๕. พึงเทียบสิกขาบทอันมีความคล้ายคลึงกัน เช่น สังฆาทิเสสที่ ๖ กับที่ ๗ โภชนวรรคที่ ๙ แห่งปาจิตตีย์ และโภชนปฏิสังยุตต์ที่ ๑๑ แห่งเสขิยวัตรและรโหนิสัชชะ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ แห่งอเจลกวรรค ปาจิตตีย์ นี้รู้ได้ด้วยเทียบเคียง

          ๖. พึงสังเกตสิกขาบทที่น่าเห็นว่าแย้งกันเช่น จีวรวรรคที่ ๑ กับที่ ๓ แห่งนิสสัคคียและมุสาวาทวรรคที่ ๙ กับสัปปาณวรรคที่ ๔

          ๗. พึงใส่ใจลำดับแห่งสิกขาบท และหัวข้อแห่งประเภทต่าง ๆ เช่น โภชนะ ๕ อธิกรณ ๔ ไม่เช่นนั้นมักจำไม่ได้ครบ ตกหล่นในระหว่าง ๆ และนึกถึงไม่คล่อง

          ๘. พึงอ่านหนังสืออื่นที่อธิบายความกว้างออกไป เช่น บุพพสิกขาวัณณนา เพื่อจะได้ความรู้เข้ามาประกอบ

          ๙. พึงรู้จักใคร่ครวญถึงข้ออันภิกษุทำ ถ้าไม่ครบองค์เป็นหตุต้องอาบัติเต็มที่ แต่ไม่พ้นไปได้ด้วยประการทั้งปวง เช่นนี้ต้องอาบัติลดลงมา เป็นส่วนบุพพประโยคบ้าง ส่วนวัตถุบ้าง จะพึงรู้ได้ด้วยอ่าน อ่านหนังสืออื่น หรือได้ฟังอธิบาย

          ๑๐. ปัญหาที่ผูกขึ้นถามนั้น หมายจะให้ผู้เรียนมีความฉลาดไหวพริบรู้จักสังเกต จึงเป็นปัญหาต่างชนิดกล่าวข้อความเต็มบริบูรณ์ก็มี กล่าวความบกพร่องก็มี พึงพิจารณาตามหลัก ดังนี้

          ก. ให้เข้าใจเนื้อความแห่งปัญหาก่อน ถ้าเข้าใจผิด ตอบย่อมผิดตาม

          ข. ให้รู้ว่าเป็นปัญหาบริบูรณ์ หรือบกพร่องแล้วตอบโดยฐานะ

          ค. ปัญหาบางข้อ ถามโดยทางอ้อม เช่น ภิกษุเดินผ่านแถวทหารอันฝึกหัดและเหลียวดู เช่นนี้ไม่เป็นอาบัติเพราะอเจลกวรรคที่ ๑๐ แต่เป็นอาบัติเพราะไม่ทอดจักษุ เป็นตัวอย่าง

          ๑๑. พึงรู้จักความล่วงอันเดียว แต่เป็นเหตุต้องอาบัติหลายชนิด เช่นพูดมุสา เป็นตัวอย่าง

×

คำแนะในธรรมวิภาค

 

          ๑. พึงรู้จักความแห่งคำที่เรียกทับศัพท์ ตลอดถึงชื่อแห่งข้อและหมวดธรรม เช่น นิวรณ์ อคติ เบญจขันธ์เป็นต้น และเช่น อัตตสัมมาปณิธิ บุพเพกตปุญญตา จักร ๔ พละ ๕ เป็นต้น เพราะเกื้อกูลแก่การฟังเข้าใจ การจำเป็นหลัก แลการเรียกสะดวก

          ๒. พึงรู้ความประสงค์แห่งการแสดงข้อธรรมเหล่านี้ เช่นภยาคติ อัตตสัมมาปณิธิ โลกธรรม เป็นต้น

          ๓. พึงรู้จักอนุโลมข้อธรรม ที่แก้ไว้สูง พึงรู้จักผ่อนให้ต่ำลงมา เช่น สัมมาสมาธิ ที่แก้ว่า เจริญฌาน ๑ ที่แก้ไว้ต่ำ พึงรู้จักเขยิบขึ้นให้สูง เช่น อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์

          ๔. พึงรู้จักถือเอาความแห่งข้อหนึ่ง เพราะมีข้ออื่นบ่ง เช่นปฏิรูปเทศ เป็นตัวอย่าง

          ๕. พึงรู้จักศัพท์อันเดียวแต่หมายความต่าง ๆ เช่น อินทรียและจาคะ เป็นตัวอย่าง

          ๖. พึงกำหนดข้อธรรมอันเดียวแต่มาในหมวดต่าง ๆ หลายหมวด เช่น ศรัทธาและปัญญาเป็นตัวอย่าง

          ๗. พึงเข้าใจเรียงธรรมบางหมวด ให้เกี่ยวเนื่องเป็นเหตุและผลของกัน เช่น วุฒิ ๔ จักร ๔ โพชฌงค์ ๗ เป็นตัวอย่าง

          ๘. พึงเทียบหมวดธรรมอันละม้ายคล้ายคลึงกัน เชน อริยทรัพย์และสัปปุริสธรรมเป็นตัวอย่าง

          ๙. พึงเทียบธรรมที่เห็นว่าน่าแย้งกัน เช่น คณสังคณิกา และหมั่นประชุม

          ๑๐. พึงรู้จักอรรถที่ตรงกันข้าม ที่เรียกว่าฝ่ายขาวฝ่ายดำ เช่นองค์แห่งมรรค ๘ เป็นฝ่ายขาว คือส่วนดี พึงรู้จักองค์อันเป็นฝ่ายดำ คือส่วนชั่ว ดุจเดียวกัน มละ ๙ เป็นฝ่ายดำ พึ่งรู้จักฝ่ายขาวด้วย

          ๑๑. พึงรู้จักความกว้างความแคบ เช่นสิกขาและสิกขาบท สังขารและเวทนา เป็นตัวอย่าง

          ๑๒. พึงรู้จักย่นข้อธรรมอันมากให้น้อย เช่น นามขันธ์ และโลกธรรม เป็นตัวอย่าง

          ๑๓. พึงรู้จักศัพท์อันมีความเป็นอันเดียวกัน เช่น บุญ กุศล สุจริต และบาป อกุศล ทุจริต และเหตุ ปัจจัย มูล เป็นตัวอย่าง

          ๑๔. พึงอ่านหนังสือต่าง ๆ เช่น พุทธสมัยและวรรณนาเป็นต้น เพื่อได้ ความรู้เข้ามาประกอบ

          ๑๕. พึงใส่ใจลำดับแห่งข้อธรรมและหมวดธรรม นี้เป็นอุปการะแก่การจำแม่นไม่ตกหล่น และนึกถึงได้คล่อง ๆ

          ๑๖. พึงพิจารณาปัญหาและตอบตามหลัก ดังต่อไปนี้

          ก. ถึงเข้าใจความแห่งปัญหาก่อน ถ้าเข้าใจผิด ตอบย่อมผิดตาม

          ข. ถ้าเป็นปัญหาถามเพื่อสอบความจำ พึงตอบตามแบบให้บริบูรณ์ เป็นแต่ประกอบคำตอบให้สมรูปปัญหา

          ค. ถ้าเป็นปัญหาให้ออกความคิด ถึงตอบตามความคิดเห็นของตน

          ฆ. ถ้าเป็นปัญหาจะให้ตอบตามหลัก เช่น ถามถึงลักษณะสัตบุรุษ พึงตอบอาศัยสัตบุรุษธรรม เป็นตัวอย่าง

×

หัวข้อแต่งปัญหาธรรมวิภาค

 

          ๑. ให้รู้จักถือเอาความเข้าใจข้อธรรมอันย่อ เช่น อัตตสัมมาปณิธิ ทำอย่างไร เรียกว่าตั้งตนไว้ชอบ

          ๒. ให้รู้จักสังเกตว่าธรรมชื่อนั้น เช่น ศรัทธา วิริยะ ปัญญา มาในประเภทแห่งธรรมชื่ออะไรบ้าง

          ๓. ให้รู้จักสังเกตศัพท์ว่า ศัพท์นั้น เป็นชื่อแห่งธรรมอย่างนั้นบ้าง ๆ เช่น อินทรีย์เป็นชื่อของทวารมีจักษุเป็นต้นก็มี เป็นชื่อของธรรม มีศรัทธาเป็นต้นก็มี

          ๔. ให้รู้จักสันนิษฐานว่า ธรรมนั้นได้ชื่ออย่างนั้น เพราะอรรถอย่างไร เช่น ธรรมได้ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นใหญ่ในกิจของตน ๆ

          ๕. ให้รู้จักสังเกตว่าธรรมชื่อเดียว เรียกเป็นหลายอย่างก็มี เช่นจักษุ เรียกว่าอายตนะภายในก็ได้ เรียกว่าอินทรีย์ก็ได้ เรียกว่าทวารก็ได้

          ๖. ให้รู้จักใช้ความจำ เช่น ถามถึงประเภทธรรมชื่อนั้น มีเท่าไรอะไรบ้าง และยกขึ้นแต่ลำดับข้อ เช่น อปริหานิยธรรมข้อ ๔ อย่างไรจึงเป็นที่ตั้งแห่งความเจริญ

          ๗. ให้รู้จักถือเอาความตรงกันข้าม เช่น ทางชอบมีแล้ว อย่างไรเป็นทางผิด

          ๘. ให้รู้จักวางบทตัดสิน เช่น การบนต่อวัตถุศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนา อนุมัติหรือไม่ มีธรรมข้ออะไรเป็นเครื่องอ้าง

          ๙. ให้รู้จักสันนิษฐานความให้เข้าหลัก เช่น ปฏิรูปเทศในจักร ๔ อาจอธิบายไปได้หลายทาง แต่ในที่นี้ มีสัปปุริสูปสังเสโวอยู่ในลำดับ แก้ว่าประเทศมีสัตบุรุษอยู่ เป็นปฏิรูปเทศ

          ๑๐. ให้รู้จักโยงข้อธรรมในประเภทเดียวกัน ให้เนื่องถึงกัน เช่นวุฒิ ๔ เป็นอาทิ

          ๑๑. ให้รู้จักลักษณะต่างแห่งธรรมอันแม้นกัน เช่น สติกับสัมปชัญญะ

×

หัวข้อแต่งปัญหาวินัยบัญญัติ

 

          ๑. ให้รู้จักสังเกตคำถามว่า ระบุลักษณะมีเจตนาเป็นต้น ชัดหรือเคลือบคลุม เช่น ถามว่าภิกษุดื่มน้ำมีตัวสัตว์ ต้องอาบัติอะไร เช่นนี้เป็นคำถามอันเคลือบคลุม ไม่ได้ระบุเจตนา และไม่ได้ระบุชนิดสัตว์อันจะปรับเป็นปาจิตติยได้ ต่อเมื่อได้ความว่าเป็นสัตว์ที่อาศัยน้ำ และภิกษุรู้อยู่ว่าในน้ำนั้นมีสัตว์ชนิดนั้น

          ๒. ให้รู้จักเทียบเคียงสิกขาบทอันละม้ายกัน มีอนิยตสองเป็นตัวอย่าง

          ๓. ให้รู้จักสังเกตว่า การบางอย่างเป็นวัตถุแห่งอาบัติหลายชนิด เช่น มุสาวาทเป็นตัวอย่าง

          ๔. ให้รู้จักสังเกตว่า บางสิ่งบางอย่าง กล่าวในหลายสิกขาบท เช่น การทำจีวร เป็นเหตุได้รับยกเว้นต่าง ๆ

          ๕. ให้รู้จักใช้ความจำ เช่น ลำดับแห่งสิกขาบทเป็นต้น

          ๖. ให้รู้จักยันหลักของตนให้แม่น อย่าให้น้อมใจไปตามคำถาม

          ๗. ให้รู้จักวางบทตัดสิน

          ๘. ให้รู้จักสันนิษฐานความให้เข้าหลัก เช่น อย่างไรเป็นมุสาวาท อย่างไรเป็นฆ่าสัตว์

          ๙. ให้รู้จักสันนิษฐานการทำว่าถึงที่สุดหรือยัง

          ๑๐. ให้รู้จักความมุ่งหมายเป็นเหตุบัญญัติสิกขาบท

          ๑๑. ให้รู้จักกำหนดสิกขาบทอันยังเป็นสมมุ่งหมาย หรืออันกลายไปเสียแล้ว

×

แบบที่ ๑

วินยปัญหา แบบสอบความรู้ชั้นเปรียญที่ ๒

๓๐ ข้อ

(เป็นภาพลายเขียนรอดำเนินการ)

×

ปัญหาธรรมวิภาค

สอบเลือกที่วัดบวรนิเวศวิหาร

วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๔๖๐

 

          ๑. จงอธิบายให้เห็นว่า ตริตรองอย่างไร เป็นโยนิโสมนสิการ คือตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือชั่วโดยอุบายที่ชอบ ฯ

          ๒. สุตะ โดยชื่อตรงก็ดี โดยชื่ออ้อมก็ดี มาในประเภทแห่งธรรมชื่ออะไรบ้าง ฯ

          ๓. จาคะศัพท์ เป็นชื่อแห่งธรรมอะไรบ้างฯ อย่างไหนมาในประเภทแห่งธรรมชื่ออะไร ฯ

          ๔. เมตตาได้ชื่อว่าพรหมวิหาร เพราะอรรถว่าอย่างไร ฯ

          ๕. ความเพียรเรียกว่าอย่างไรได้บ้างฯ จงตอบเฉพาะชื่อมีในนวโกวาท ฯ

          ๖. ทำตนให้เป็นที่รักใคร่นับถือของเพื่อนพรหมจารีด้วยกัน ควรตั้งอยู่ในธรรมประเภทอะไร จงจารไน ฯ

          ๗. จงอธิบายอธิษฐานธรรม ๔ ให้เนื่องถึงกันฯ

          ๘. ความกลัว ในพระพุทธศาสนา จัดเป็นการดีหรือการชั่วฯ จงอธิบายแลอ้างที่มาด้วย ฯ

          ๙. เราจะได้เสวยเวทนา คือเป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี เป็นอุเบกขาก็ดี เพราะอย่างไร ฯ จงอธิบายให้กระจ่างพอ ฯ

 

คิหิปฏิบัติ

          ๑๐. คนเช่นไร ท่านสรรเสริญว่าเป็นผู้ถือไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสอง ฯ จงตอบให้แจ่ม ฯ

          ๑๑. ในพระพุทธศาสนา อนุมัติให้นับถือเทวดบ้างหรือไม่ ถ้าอนุมัติ สอนให้แสดงการนับถือด้วยอาการอย่างไรแลกล่าวไว้ในที่ไหน ฯ

          ๑๒. บิดากับบุตร ต่างมีกรณียะจะพึงทำแก่กันอย่างไร ถ้าทั้งสองต่างได้ทำหน้าที่ของตนแล้ว จักได้ชื่อว่าอย่างไร ฯ

          ๑๓. คนเป็นผู้ใหญ่เหนือเขา สมควรประพฤติต่อผู้น้อยอย่างไรฯ

          ๑๔. การประพฤติอย่างไร เป็นวิบัติของอุบาสกฯ

×

ปัญหาพุทธประวัติ

สอบเลือกที่วัดบวรนิเวศวิหาร

วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๔๖๐

 

          ๑. ในคำสรรเสริญพระศาสดา มีข้อว่า เกิดขึ้นในพวกคนอริยกะ ในมัธยมชนบทดังนี้ เป็นคู่กับข้อว่า เป็นกษัตริย์โดยชาติกล่าวโดยยกย่องเป็นเกียรติยศ หรือกล่าวโดยสักว่าความเป็นไปอย่างนั้นเท่านั้น ฯ จงตอบให้ได้ความกระจ่าง ฯ

          ๒. ท่านกล่าวถึงพระลักษณะพระกายแห่งพระศาสดา คือ ชมว่างาม ด้วย มุ่งผลอย่างไร การตรัสรู้ธรรมไม่เกี่ยวด้วยรูปสวยหรือไม่สวยมิใช่หรือ ฯ

          ๓. พระศาสดาเป็นกษัตริย์โดยพระชาติ น่าจะทรงพอพระหฤทัยในการยุทธแลปรารถนาเป็นผู้ปกครองเมืองแลประชาชน อย่างไรจึงพอพระหฤทัยในความเป็นพระศาสดาสอนพระศาสนามากกว่า จนถึงยอมเปลี่ยนภาวะของพระองค์ ฯ

          ๔. ท่านกล่าวถึงการบำเพ็ญทุกรกิริยาไว้ด้วยนั้น ไม่เป็นแสดงความเขลา งมงายของพระศาสดาดอกหรือ ในที่อื่นสิยกย่องว่าทรงประปรีชาฉลาดเฉียบแหลม จนถึงเกือบไม่ต้องเรียนอะไร ไม่กล่าวถึงเลยไม่ดีกว่าหรือ ฯ

          ๕. ตั้งแต่ตรัสรู้แล้ว พระองค์ประกาศพระศาสนาด้วยอาการอย่างไร ฯ

          ๖. อย่างไรพระองค์จึงเสด็จไปประดิษฐานพระศาสนาในมคธชนบท ก่อนกว่าในสักกชนบท อันเป็นชาติภูมิของพระองค์ ฯ

          ๗. พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ถือบวชอยู่ในลัทธิอื่น เหตุไฉนจึงละลัทธินั้นเสียมาบวชในพระพุทธศาสนา ฯ

          ๘. พระศาสดาทรงแสดงอนุบุพพิกถานั้น ทรงแสดงอะไรบ้าง และมีพระพุทธประสงค์อย่างไรจึงทรงแสดง ฯ

          ๙. ผู้ที่ว่าได้ธรรมจักษุนั้น มีความเห็นว่าอย่างไรเกิดขึ้น แลใครเป็นผู้ได้ก่อนฯ

          ๑๐. เรื่องพระศาสดาทรงปลงอายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์นั้นใจความมีเพียงเท่าไร ที่พอถือเอาเป็นประมาณได้ ฯ

          ๑๑. เมื่อพระองค์จะปรินิพพาน ได้ประทานพระบรมพุทโธวาทไว้ว่าอย่างไร เป็นครั้งที่สุด ฯ

          ๑๒. พระศาสดาประสูติที่ไหน ตรัสรู้ที่ไหน ตรัสปฐมเทศนาที่ไหน ปรินิพพาน ที่ไหน ฯ

          ๑๓. การปฏิบัติพระพุทธสรีระเมื่อปรินิพพานแล้วตลอดถึงพระสารีริกธาตุ ทำอย่างไรกัน ฯ

          ๑๔. พระศาสดาไม่ได้ทรงตั้งสาวกรูปใดรูปหนึ่งไว้แทนพระองค์มิใช่หรือ เช่นนั้นพระศาสนานำสืบมาได้ด้วยอย่างไร ฯ

×

ปัญหาวินัยบัญญัติ

สอบเลือกที่วัดบวรนิเวศวิหาร

วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๔๖๐

 

          ๑. อาบัติ ๗ ชื่อนั้น โดยโทษ ย่นอย่างไร จึงจักลงเป็น ๒ ฯ

          ๒. อาบัติจำพวกอะไร ต้องด้วยลืมสติก็มี ฯ

          ๓. ถ้าอาบัติเป็นสจิตตกะทั้งนั้น ความปฏิบัติคงจะสะดวก เหตุไฉนจึงมีอาบัติที่เป็นอจิตตกะด้วยเล่า ฯ

          ๔. ภิกษุมีเคยเป็นแพทย์ ผ่าบาดแผลภิกษุมาเพื่อรักษาให้หาย แต่แผลกำเริบกลายเป็นบาทยักษ์ ภิกษุมาถึงมรณะ ภิกษุมีต้องปาราชิกเพราะมนุส์สวิค์คหะหรือไม่ จงอ้างหลัก ฯ

          ๕. โจทด้วยเรื่องไม่มีมูลในสิกขาบทที่ ๘ แลโจทด้วยอิงเลศในสิกขาบท ที่ ๙ แห่งสังฆาทิเสส ต่างกันอย่างไร จงอธิบาย ฯ

          ๖. ภิกษุเขียว ถูกภิกษุขาวฟ้องว่าทำกายสังสัคคะกับหญิง เธอปฏิเสธ แต่คำพยานโจทย์มีหลักฐานควรฟังเอาเป็นจริงได้ พระวินัยธรจะตัดสินลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ถ้าได้ จะอ้างสิกขาบทอะไร แลจะลงโทษปรับอาบัติอะไร ด้วยสิกขาบทอะไร ฯ

          ๗. ตามสิกขาบทที่ ๑ แห่งจีวรวรรค นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ภิกษุมีอติเรกจีวรเป็นสิทธิ์ของตนได้เพียง ๑๐ วัน ตามสิกขาบทที่ ๓ แห่งวรรคนั้น จะพึงเก็บไว้ได้ ๑ เดือน จะกำหนดรู้ได้อย่างไรว่า จีวรเช่นไรเก็บไว้ได้เพียง ๑๐ วัน จีวรเช่นไร เก็บไว้ได้ ๑ เดือน ฯ

          ๘. ต่างว่าภิกษุเก็บอติเรกจีวรไว้ถึงสองเดือน จะปรับเป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ด้วยสิกขาบทอะไร ฯ

          ๙. การขอปัจจัยสี่ เช่นไรทรงห้าม เช่นไรทรงอนุญาต ฯ

          ๑๐. ภิกษุดำโจทภิกษุแดง ด้วยอาจารวิบัติไม่มีมูล พระวินัยธรจะพึงยกสิกขาบทอะไรขึ้นปรับด้วยอาบัติอะไร ฯ

          ๑๑. สิกขาบทปาจิตติยชนิดไร ทรงบัญญัติเพื่อป้องกันความเสียกิริยาของภิกษุ จงชักอุทาหรณ์มา ๓ มาตรา ฯ

          ๑๒. อย่างไรการทำจีวร จึงเป็นเหตุได้รับยกเว้นต่างๆ จากสิกขาบทนั้นๆ แลระบุยกเว้นไว้ในสิกขาบทอะไรบ้าง ฯ

          ๑๓. ปาฏิเทสนิยสิกขาบทที่ ๓ ทรงบัญญัติไว้ด้วยหมายประโยชน์อย่างไร ฯ

          ๑๔. ภิกษุขำกับภิกษุเขียนเถียงกันด้วยวินัย ว่าอย่างนั้นผิด อย่างนี้ถูก ขอให้พระวินัยธรตัดสิน ในคดีนั้นไม่ปรากฏว่าผู้แพ้ต้องอาบัติ เช่นนี้พระวินัยธรควรรับคดีไว้ตัดสินโดยฐานเป็นอธิกรณ์อะไรหรือไม่ควรรับไว้ด้วยไม่เข้าเกณฑ์อธิกรณ์ ฯ ถ้าควรรับไว้ จะพึงระงับด้วยอธิกรณสมถบทอะไร แลจะพึงทำอย่างไร ฯ

×

ปัญหาวินัยบัญญัติคราว ๑

ประโยคนักธรรมชั้นโท

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๖๑

 

          ๑. สมุฏฐานแห่งอาบัติทั้งมวลโดยตรงคืออะไรบ้าง จงแถลงอาบัติ เป็นอุทาหรณ์ด้วย ฯ

          ๒. สรุปของที่เป็นนิสสัคคิย์โดยวัตถุเช่นไร ฯ โดยอาการของภิกษุเช่นไร โดยล่วงเวลาเช่นไร ฯ

          ๓. ผ้าที่ทรงอนุญาตให้ทำจีวรคืออะไรบ้าง ยกตัวอย่างมาด้วย ฯ

          ๔. จงเขียนแผนที่จีวร ๕ ขันธ์ให้ดู แลจดชื่อท่อนผ้ากับลูกดุมห่วงดุมมาให้ครบ ฯ

          ๕. นิสัยระงับจากอุปัชฌายะแลอาจารย์ เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร ฯ

          ๖. อุปสมบท อุโบสถ แลปวารณา อย่างไหนต้องการสงฆ์อย่างน้อยที่สุดเพียงกี่รูป เพราะเหตุไร ฯ

          ๗. ทำไมโรงอุโบสถอย่างเล็กจึงกำหนดให้จุภิกษุได้ไม่น้อยกว่า ๒๐ รูป ฯ

          ๘. ภิกษุจำพรรษาหย่อน ๕ รูป พรรษาหลัง ๕ รูป ในอาวาสเดียวกัน เมื่อถึงวันปวารณาก่อนแลหลัง เธอเหล่านั้นจะปฏิบัติอย่างไร ฯ

          ๙. กำลังสวดปาติโมกข์ถึงนิสสัคคิย์ตอนกลางๆ เกิดไฟไหม้กุฎีขึ้นจะสวดย่ออย่างไร จงเทียบมาด้วย ฯ

          ๑๐. อนาจารกับปาปสมาจารต่างกันอย่างไร จนถึงต้องแยกประเภท

          ๑๑. จะปฏิบัติในกาลิกรคนกันอย่างไร ฯ

          ๑๒. องค์ที่เป็นลักษณะแห่งการถือวิสสาสะคืออะไรบ้าง เห็นข้อไหนเป็นข้อสำคัญ ฯ

          ๑๓. ผ้าเช่นไรเป็นบริกขารโจล ต่างจากผ้าที่ควรอธิษฐานอื่นอย่างไร ฯ

          ๑๔. วิบัติของภิกษุคืออะไรบ้าง จงชี้ตัวอย่าง แลข้อไหนเป็นอย่างหนัก เหตุไร ฯ

×

(คัดสำเนาลายพระหัตถ์)

บาญชีแปลปริยัติธรรมสนามหลวง

ศก ๑๓๐

ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ - วันที่ ๖ มีนาคม

-------''-------

          วันนี้เราให้คำสั่งไว้ว่า พระเณรผู้จะแปลประโยคนิจภัต ถ้าถูกออกแก้ เผื่อเข้าไปแปลอิก ถ้าแก้ไม่หลุด ๑๐ มินิต เปนตก ถ้าแก้ข้อที่ติดนั้นได้ในกำหนดนั้น แปลต่อไปอิกได้ เมื่อติดอิก ก็เปนเช่นนั้นอิก ฯ

          วันนี้ พระสิงห์ วัดเทพสิรินทร์ แปลในกองซ้าย ติดแต่ไม่ลา ยังนั่งอยู่ ดูเปนทีจะแกล้งผู้ไล่ให้ต้องแกร่วอยู่กว่าจะหมดเวลาของเธอ ไม่เช่นนั้น ก็เปนผู้ไม่รู้จักประมาณเหลือเกิน อยากได้จนไม่มีอาย เราถามผู้สอบ เหนว่าไม่มีความรู้พอจะได้ จึงสั่งให้ตกเสีย ฯ

          พรุ่งนี้แลมรืนนี้ อุโบสถเหลื่อม อยุด ๒ วัน เปิดวันที่ ๔

          วันนี้ ได้ให้พระศรีธรรมการใต่สวนตามเรื่องราวของพระช่าง ประโยค ๒ วัดจักรวัติ ว่า ข้อที่สังฆการีกล่าวว่า เธอรับฎีกาแล้วบอกป่วยเสีย หาเข้าแปลในวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ไม่นั้น เปนความไม่จริง สังฆการีมิได้วางฎีกาแก่เธอ ใต่สวนได้ความจริงตามคำพระซ่ม ได้อนุญาตให้เข้าแปลประโยค ๓ ในวันข้างน่า แลให้ติโทษสังฆการี ฯ

จบเพียบเท่านี้

-------''-------

          รวมเฉพาะจำนวนที่นี่

                             ได้       ตก      รวม

          ประโยค ๗       ๑        ๑        ๒

     "   ๖        ๑        ๒        ๓

     "   ๕        ๑๔      ๒        ๑๖

     "   ๔        ๘        ๑๒      ๒๐

     "   ๓        ๔๓      ๓        ๔๖

     "   ๒        ๑๔      ๓        ๑๗

          ---------------------------------------------------

                รวม         ๘๑      ๒๓      ๑๐๔

 

ลายพระหัตถ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

ทรงบันทึกการสอบไล่พระปริยัติธรรมสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๕๔

×

รายงานสอบความรู้บาลีและธรรมของสนามหลวง

พ.ศ. ๒๔๕๕ = ๑๓๑

(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๑๘๗-๑๙๗.)

 

          การสอบความรู้คราวนี้ ได้จัดสถานที่สอบ ๒ แห่ง ที่วัดเบญจมบพิตร ๑ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๑ ที่วัดเบญจมบพิตรสอบความรู้ธรรมะทั้งประโยควิสามัญทั้งประโยคสามัญ และสอบความรู้บาลีประโยค ๑ ประโยค ๒ ด้วยวิธีเขียน ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สอบความรู้บาลีตั้งแต่ประโยค ๓ ขึ้นไป ด้วยวิธีแปลด้วยปากตามแบบเดิม ฯ

          ที่วัดเบญจมบพิตร ได้สอบความรู้ธรรมะก่อน เริ่มวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๔ วันเสร็จ สมเด็จพระมหาสมณะเสด็จประทับเป็นแม่กอง พระธรรมวโรดมเป็นรองแม่กอง จัดกองตรวจเป็น ๔ กอง พระราชาคณะเป็นกรรมการผู้ตรวจ กองละ ๓ รูป มีรายชื่อแจ้งในบัญชีแผนกหนึ่ง นอกจากนี้ พระราชาคณะที่มิได้เป็นกรรมการ สมัครมาช่วยด้วย เพิ่มกองตรวจออกไปได้อีก ๒ บ้าง ๓ บ้าง ตามจำนวนท่านผู้มาช่วย ฯ

          หลักสูตรสำหรับสอบความรู้ธรรมนั้น ใช้นวโกวาท พุทธศาสนสุภาษิต และ พุทธานุพุทธประวัติ ชั้นสามัญประโยค ๑ เรียงความแก้กระทู้ธรรมะ ๑ เขียนตอบแก้ปัญหาธรรมวิภาค ๑ ประโยค ๒ เขียนตอบแก้ปัญหาวินัย ๑ เขียนตอบแก้ปัญหาพุทธานุพุทธประวัติ ๑ รวมความรู้ ๔ อย่างนั้น เป็นภูมิของภิกษุนวกะที่ ต้องการในเวลานี้ ผู้สอบได้ครบทุกอย่าง จะได้รับประกาศนียบัตรเป็นนักธรรมนวกภูมิ แต่จัดเป็น ๒ ประโยคนั้นเพราะความรู้ของภิกษุสามเณรยังไม่แข็งพอจะสอบได้ในคราวเดียวครบ ๔ อย่าง ทั้งจะให้เข้ารูปกับองค์ของสามเณรรู้ธรรมในพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ร.ศ. ๑๒๔ เมื่อจะเลือกว่าสามเณรมีความรู้เพียงไร ควรได้รับยกเว้นเพื่อให้ศึกษาสืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไป ถ้าสอบความรู้ได้เพียงประโยค ๑ ยังไม่ได้รับประกาศนียบัตร เป็นแต่จะได้รับหนังสือคู่มือไว้เป็นสำคัญ อนุญาตให้เข้าสอบความรู้เพิ่มได้ ถ้าผู้เข้าสอบเป็นสามเณร ยังไม่ได้เข้าสอบวินัย แม้สอบประโยค ๒ ได้แล้วยังจะไม่ได้รับประกาศนียบัตร กว่าจะอุปสมบทและสอบวินัยเพิ่มได้แล้ว ถ้าในคราวเดียวสอบไม่ได้เต็มประโยค จัดเป็นตก ฯ

          วิธีสอบ แต่งกระทู้ธรรม มีชื่อกระทู้ธรรมในพุทธศาสนสุภาษิตเข้าซองผนึกหลายใบให้จับ ๆ ได้กระทู้ใด ต้องแต่งกระทู้นั้นเขียนตอบแก้ปัญหานั้น ผูกปัญหาให้แก้ ในคราวนี้ ใช้อย่างละ ๒๑ ข้อ สอบวันละอย่าง เวลายังไม่ได้จำกัดลงไปชัด เพราะผู้สอบยังไม่สันทัดเขียนหนังสือ เป็นกำหนดว่ายังมีเพื่อนเขียนอยู่ด้วย ๕ รูป เพียงใด ยังเขียนไปได้เพียงนั้น ถ้าเหลือหย่อนกว่านั้น จัดเป็นตกเพราะเขียนไม่ทันเวลาทั้งนั้น ใบตอบนั้น แบ่งส่งกรรมการตรวจตามกอง ใบตอบแผ่นหนึ่ง กรรมการต้องอ่านตรวจ ๓ รูป กรรมการรูปหนึ่งอ่านเรียงความแก้กระทู้ธรรมก็ดี แปลบาลีในประโยควิสามัญก็ดี อ่านจบแล้วแสดงมติให้ได้หรือให้ตกด้วยอักษรย่อ แล้วกรรมการรูปอื่นรับไปอ่านและแสดงมติเช่นเดียวกันครบ ๓ รูปแล้ว ถ้ามติข้างได้มากกว่าคือ ๒ หรือรวมทั้งหมดคือทั้ง ๓ เป็นได้เฉพาะใบนั้น มติข้างตกก็ดุจเดียวกัน ถ้าใบตอบน้อย อ่านฟังพร้อมกันแล้วปรึกษาทั้งสามก็ได้ ถ้าใบตอบปัญหาอันจะพึงกำหนดโดยข้อได้กำหนดโดยข้อ ในบัดนี้ ๒ ต่อ ๗ รวมเป็น ๖ ต่อ ๒๑ ในประโยคหนึ่ง ๆ ถ้าได้ครบทุกอย่าง จึงเป็นอันได้ประโยค ถ้าได้อย่าง ๑ ตกอย่าง ๑ เป็นอันตก ถ้ามีปัญหาขึ้นในหมู่กรรมการ สมเด็จพระมหาสมณะประทาน พระวินิจฉัย ฯ

          ผู้สอบความรู้ธรรมประโยคสามัญได้แล้ว สอบบาลีแปลอรรถกถาธรรมบทเพิ่มเข้าด้วย จัดเป็นประโยควิสามัญ ได้ ๒ ประโยคเป็นเปรียญธรรม เทียบเปรียญบาลี ๓ ประโยค ได้ ๑ ประโยค เป็นนักธรรมวิสามัญ ถ้าสอบทั้งธรรมะทั้งบาลีอีกประโยคหนึ่ง ได้เป็นเปรียญ ถ้าจะสอบเฉพาะบาลี ต้องสอบให้ได้อีก ๒ ประโยค จึงได้เป็นเปรียญบาลี ๓ ประโยค ฯ

          ในคราวนี้ มีผู้เข้าสอบได้ถึงประโยค ๒ ทั้งชั้นสามัญทั้งชั้นวิสามัญ จัดว่าสมมุ่งหมายของสนามหลวงในภูมิแรกประโยค ๑ ในศกหลังที่จัดเป็นชั้นเอก โท ตรี ได้แก้เป็นวิสามัญและสามัญหรือคงอยู่แต่เอก กับโท เลิกชั้นตรีเสีย เป็นอันได้กะเถิบความรู้ขึ้นไป มีผู้เข้าสอบประโยค ๑ ถึง ๑๖๐ หย่อนหนึ่งรูป ได้ราว ๒ ใน ๕ ประโยค ๒ พึ่งจะมีน้อยรูปและมีเฉพาะในวัดบวรนิเวศ ที่จัดการฝึกสอนมานานแล้ว มีผู้เข้าสอบประโยค ๑ รายทั่วไปหลายวัด ที่แลเห็นว่าการสอนการเรียนแพร่ออกไป จำนวนเข้าสอบมากพ้น ๒๐ ขึ้นไป และได้ ๒ ใน ๓ บ้าง ครึ่งหนึ่งบ้าง มีแต่ในวัดมหาธาตุและวัดอนงคาราม ผู้เข้าสอบเป็นสามเณรแทบทั้งนั้น ยังมุ่งจะได้รับยกเว้นจากพระราชบัญญัติเกณ์ทหารอย่างเดียว ยังไม่ถือเป็นสำคัญในการเล่าเรียนอย่างเดียวกับในวัด แรกจัดก็เข้าใจว่าเป็นความเรียนของภิกษุสามเณรบวชใหม่ เป็นความเรียนความรู้อย่างตื้น ต่อเห็นผลปรากฏ เมื่อผู้ได้รับความฝึกหัดในทางนั้นเป็นผู้ใหญ่ขึ้น จึงรู้สึกเป็นสำคัญ ฯ

          เพื่อจะรวมการเรียนในวัดทั้งหลายให้เนื่องกับสนามหลวง ในคราวนี้ ได้เปิดรับนักธรรมของวัดเป็นนักธรรมของสนามหลวง วัดใดวัดหนึ่งจะขอโอนนักธรรมของวัดเป็นนักธรรมของสนามหลวง ต้องส่งใบตอบของนักธรรมนั้น ให้กรรมการของสนามหลวงตรวจ เห็นว่าใช้ได้ก็ยอมรับ เหมือนได้สอบในสนามหลวง มีเฉพาะวัดบวรนิเวศที่ส่งคราวนี้ แต่ก็น้อยรูป เพราะผู้สอบความรู้ในวัดไม่ได้รักษาใบตอบไว้ โดยมากรวบรวมไม่ได้ครบ ฯ

          ในศกนี้ ที่มณฑลพายัพได้จัดการสอบความรู้ธรรมะแพร่หลายออกไปหลายแขวงแห่งนครเชียงใหม่ สมเด็จพระมหาสมณะได้โปรดให้คณะสงฆ์และข้าหลวงใหญ่ออกประกาศนียบัตรตั้งผู้สอบได้ เป็นนักธรรมของมณฑลนั้น ต่อไป มณฑลใด จะจัดขึ้นได้ ก็จะประทานพระอนุญาตให้ตั้งนักธรรมของมณฑลนั้น ตามกัน ฯ

          ส่วนการสอบความรู้บาลีประโยค ๑ ประโยค ๒ นั้น ได้เริ่มวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๓ วันเสร็จ กะข้อความที่จะให้แปลเข้าซองผนึกหลายใบ ให้จับประโยคใดออก ทุกรูปต้องแปลประโยคนั้นเหมือนกันหมด ไม่แปลประโยคต่างเหมือนแปลด้วยปาก ให้แปลเป็นความไทยเรียงเป็นเรื่องอ่านเข้าใจ ไม่แปลที่ละศัพท์เหมือนแปลด้วยปาก การตรวจใช้อ่าน แล้วลงมติครบสามรูป ในประโยคหนึ่ง ถ้าได้ก็เป็นได้ จัดให้แปลเขียน ได้ผลอันดี เป็นต้นว่า

          ๑. ย่นวันลงได้มาก ทั้งไม่เสียเวลา เหตุผู้เข้าใหม่มีความรู้อ่อน เพราะตรวจวันเดียวเสร็จหมด ฯ

          ๒. วิธีตรวจง่ายขึ้น ความรู้ของผู้แปลก็ไม่ด้อยลง ฯ

          ๓. ผู้เรียนสนใจจะถือเอาความเข้าใจ และแปลเป็นภาษาดีขึ้นจนถึงผู้ได้ประโยค ๒ ในคราวนี้ เข้าแปลประโยค ๓ มีจำนวน ๕๐ รูป ได้ ๓๙ รูป ตกเพียง ๑๓ รูป ฯ

          ๔. การสอบมียุติธรรมเห็นปรากฎ เพราะมีลายลักษณ์อักษรเป็นพยานอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ป้องกันความอาฆาตของผู้แปลในผู้สอบได้ ฯ

          ๕. ทำให้ภิกษุสามเณรผู้เรียนคันถธุระ สันทัดหรือสนใจในการเขียนหนังสือ ฯ

          ๖. จำนวนเปรียญที่เคยได้ ก็ไม่ตกลง ฯ

          แต่การแปลยังอีกนาน กว่าจะเป็นภาษาที่ดี เพราะการแปลตามวิธียังหมิ่นเหม่ เป็นอย่างข่าวต่างประเทศ ผู้เรียนติดในวิธีนั้นเสียจนแน่นแฟ้น ส่วนการเขียนคงดีขึ้นได้เร็ว เพียงในคราวนี้ก็แลเห็นว่าเขียนเป็นกว่าเมื่อคราวหลังมาก การให้แปลด้วยวิธีเขียนนี้ เห็นว่าจักสำเร็จ

          ผู้ได้ประโยค ๑ ประโยค ๒ แต่ตกประโยค ๓ จะได้รับเพียงหนังสือคู่มืออนุญาตให้แปลประโยคต่อขึ้นไปได้ เลิกประกาศนียบัตรที่เคยให้เสีย ฯ

          หนังสือที่จ่ายให้แปล ใช้สมุดพิมพ์เป็นอักษรไทย มหามกุฏราชวิทยาลัย จัดให้ และวิทยาลัยนี้ก็ได้จัดพิมพ์หนังสือเรียนที่ใช้เป็นหลักสูตรอยู่ ทั้งมีทุนสำหรับจ่ายใช้ ต่อไปจะมอบให้เป็นพนักงานจัดการสอบความรู้ด้วยวิธีเขียนตลอดไป เช่นนี้ ประโยชน์แห่งวิทยาลัยจะได้สำเร็จกว้างออกไป ทั้งจะได้เฉลิมพระเกียรติพระบาท สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ได้ทรงแปลเป็นเปรียญบาลีก่อนเจ้านายพระองค์อื่น และภายหลังได้ทรงเป็นผู้สอบไล่ผู้อื่นอีกด้วย ฯ

          การสอบความรู้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เริ่มวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ หยุดวันพระในระหว่างวันหนึ่ง ๗ วันเสร็จ สมเด็จพระมหาสมณะเสด็จประทับเป็นอธิบดี แบ่งเป็นสามกอง พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็นแม่กองกลาง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นแม่กองขวา พระธรรมวโรดม เป็นแม่กองซ้าย มีพระราชาคณะและพระเปรียญ ๙ ประโยคเข้ากอง มีรายชื่อในบัญชีแผนกหนึ่ง ฯ

          ในวันต้น ๆ กองกลางสอบตั้งแต่ประโยค ๔ ขึ้นไป อีกสองกองสอบประโยค ๓ เมื่อหมดประโยค ๓ แล้ว จึงสอบประโยค ๔ ประโยคหนึ่งให้เวลา แปลตามเดิม ๑ โมงครึ่ง แต่ความพอดีเพียง ๑ โมงถ้วนและคราวนี้ประโยคที่ได้ ไม่เกิน ๑ โมง ได้ตั้งธรรมเนียมว่าถ้าติดออกแก้ กลับเข้ามาแก้ไม่หลุดเพียง ๑๐ มินิตเป็นตก ข้อนี้ช่วยให้เวลาแปลจบเร็วเข้า เพราะผู้เรียนอ่อนเห็นว่า จะแก้ไม่ตกใน ๑๐ นิมิตย่อมลากลับเสีย คงได้แต่ผู้แปลคล่อง ฯ

          วิธีแปลด้วยปากต้องใช้เวลามาก ใช้ประโยคไม่เหมือนกัน ประโยคเข้าซองผนึกไว้เป็นอันมาก ครั้งก่อนจัดการสอบด้วยวิธีเขียนประโยคอรรถกถาธรรมบทเกือบสองร้อยใบจึงพอ ผู้แปลต้องจับประโยคแต่เช้าราว ๒ โมง การเปิดประโยคคือหนังสือที่ให้แปลเป็นหน้าที่ของพระราชาคณะผู้น้อยผลัดกันติดมาแต่ครั้งเก่าก่อนทำฉลากเข้าซอง เป็นผู้เปิดประโยคราว ๕ ให้แปลเฉพาะวัน ๆ ละ ๔ รูป ส่วนหนังสือสำหรับพระผู้สอบผู้ฟัง เป็นหน้าที่ของกรมราชบัณฑิตเป็นผู้เปิดจัดไว้ หนังสือไม่ลงหน้ากัน และเปิดอย่างละหลายฉบับ สอบวันละมากรูปเป็นการลำบากมาก ในระหว่างยังไม่ถึงเวลาแปล เคยมีพวกเรียนด้วยกันเข้าไปแนะ คราวนี้ก็มีข่าวเช่นนั้น สมเด็จพระมหาสมณะได้ทรงประกาศห้ามไม่ให้ผู้เรียนเข้าไปในพระอุโบสถกว่าจะถึงเวลาแปล เริ่มแปลบ่าย ๒ โมงล่วงแล้ว แปลทีละรูป แปลผิดผู้สอบทักให้แก้ แปลเที่ยวเดียวจบประโยคก็มี ที่ติดต้องออกก็มี ขณะออกแก้ไม่นับเวลา ฯ

          ผลที่ควรจะได้เป็นอย่างดี แห่งการแปลหนังสือด้วยวิธีนี้ คือมีปฏิภาณคิดได้คล่องแคล่ว รู้จักดักใจคนถูก แต่ผู้เรียนไม่มีความรู้อื่นเป็นพื้นมา จึงไม่ได้ผลนี้ เสียเป็นอันมาก จะได้เป็นบางรูป ความฝึกสอนยังเลวทราม เป็นแต่สอนให้จำมา แปลเฉพาะประโยคเป็นพื้น ที่สุดความว่าอะไรไม่เข้าใจก็มีโดยมาก ด้วยเหตุนี้ ผู้เรียนแม้ได้ประโยคเป็นเปรียญแล้ว จึงยังใช้การไม่ได้โดยมาก การสอบความรู้อย่างนี้ อย่างดีก็เพียงรู้ภาษามคธ จะจัดว่ารู้ธรรมะไม่ได้ กว่าจะได้เรียนธรรมะอีก เพื่อจะให้ได้ความรู้ธรรมะด้วย สมเด็จพระมหาสมณะทรงประกาศว่า เปรียญผู้แปลประโยค ๔ ได้ในคราวนี้จะรับตั้งและได้รับพระราชทานนิตยภัต ต้องสอบองค์นักธรรมประโยค ๑ สามัญได้ก่อน ฯ

          ในครั้งก่อน เมื่อยังแปลกองเดียว พวกเรียนได้มาคอยฟังจำเอาไปใช้เป็นหลัก คราวหนึ่งตั้งสามเดือนสี่เดือนจึงเสร็จ แต่สามปีจึงเปิดสนามหนหนึ่ง ครั้นเปิดสนามทุกปี ใช้เวลาเท่านั้นทนไม่ไหว ต้องจัดเป็นสองกองสามกอง โดยลำดับ ฟังไม่ได้ยินถนัด ประโยชน์นี้ย่อมขาดไป ฯ

          ตั้งแต่จัดการสอบด้วยวิธีเขียน รุพวกหนังสืออ่อนออกเสีย มีจำนวนผู้แปลได้ประโยคมากกว่าตก ในคราวนี้ มีผู้เข้าแปลทุกประโยค ๑๒๘ รูป ในศกหลังมีเพียง ๑๐๔ ส่วนได้ทั้งสองศก ๘๐ เศษ รวมกัน ส่วนตกในศกหลัง ราว ๑ ใน ๕ ในศกนี้ราว ๑ ใน ๔ มากกว่าในศกหลัง ประโยค ๔ เป็นตกมากกว่าอื่น ในศกหลังประโยค ๕ เป็นตกมาก ในคราวนี้มีผู้แปลได้เป็นอย่างสูงเพียงประโยค ๖ แต่ได้ถึง ๕ รูป ในศกหลังถึงประโยค ๗ แต่มีรูปเดียว ประโยค ๖ ก็รูปเดียว ฯ

          รายชื่อผู้แปลได้ส่งมาแผนกหนึ่งแล้ว ในที่นี้ ส่งมาแต่รายเทียบเฉพาะวัดที่จะแลเห็นได้ว่า วัดบวรนิเวศ วัดมหาธาตุ วัดเบญจมบพิตร มีจำนวนได้มากตกน้อย วัดสุทัศน์มีจำนวนตกมากกว่าได้ ที่บ่งให้รู้ว่าการสอนไม่ดี แม้การสอนธรรมก็ยังไม่ขึ้นเหมือนกัน อนึ่งตามบัญชีนี้ แลเห็นได้ว่า การสอนที่เจริญเป็นเฉพาะสำนัก วัดที่สอบได้บ้างก็ยังสมทบในสำนักเหล่านั้นอีก ข้อนี้ทำให้คิดจัดบำรุงการเล่าเรียนเป็นสำนักใหญ่ และมีสาขาขึ้น ดังจะปรารภต่อไปในภายหน้า ฯ

 

รวมวันสอบความรู้ทั้ง ๓ คราว ๑๔ วัน ฯ

×

รายนามพระกรรมการ ผู้สอบประโยคนักธรรม

แลประโยค ๑ ประโยค ๒ ศก ๒๔๕๕=๑๓๑

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระมหาสมณะ แม่กอง

กองที่ ๑

          พระญาณวราภรณ์

          พระปริยัติบัณฑิต

          พระมหานายก

กองที่ ๒

          พระราชสุธี

          พระอมรโมลี

          พระมหาปลด

กองที่ ๓

          พระราชกวี

          พระปิฎกโกศล

          พระอริยกวี

กองที่ ๔

          พระอมราภิรักขิต

          พระศากยปุตติยวงศ์

          พระอริยมุนี

 

รายนามพระกรรมการ ผู้สอบประโยค ๓ ขึ้นไป

ศก ๒๔๕๕=๑๓๑

 

สมเดจพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

เปน ประธาน

กองกลาง

          พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ แม่กอง

          พระญาณวราภรณ์

          พระเทพกวี

          พระเทพเวที

          พระอมราภิรักขิต

          พระวิสุทธิโสภณ

          พระศากยปุตติยวงศ์

          พระประสิทธิศีลคุณ

          พระอริยมุนี

          พระอริยศีลาจารย์

          พระมหาปลด

กองขวา

          สมเดจพระมหาวีรวงศ์ แม่กอง

          พระธรรมปาโมกข์

          พระเทพมุนี

          พระราชเวที

          พระราชโมลี

          พระศรีสมโพธิ์

          พระปิฎกโกศล

          พระสาธุศีลสังวร

          พระมหานายก

          พระกวีวงศ์

กองซ้าย

          พระธรรมวโรดม แม่กอง

          พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาพาธ)

          พระเทพสุธี

          พระราชสุธี

          พระอมรโมลี

          พระนิกรมมุนี

          พระปริยัติบัณฑิต

          พระอริยกวี

          พระสรภาณกวี

          พระประสิทธิสุตคุณ

×

รายงานสอบความรู้ธรรมและบาลีของสนามหลวง

พ.ศ. ๒๔๕๖

(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๕๐๗-๕๑๗.)

 

          การสอบความรู้คราวนี้ ได้จัดสถานที่สอบ ๒ แห่งเหมือนในศกหลัง ที่วัดเบญจมบพิตร ๑ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๑ ที่วัดเบญจมบพิตร สอบความรู้ธรรมทุกประโยค และสอบความรู้บาลีประโยคหนึ่ง ประโยคสอง ประโยคสาม ด้วยวิธีเขียน ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สอบความรู้บาลีตั้งแต่ประโยค สี่ ขึ้นไป ด้วย วิธีแปลด้วยปากตามแบบเดิม ฯ

          ที่วัดเบญจมบพิตร ได้สอบความรู้ธรรมก่อน เริ่มเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ มีภิกษุสามเณรเข้าสอบมากหลายร้อย ประโยคหนึ่ง ต้องสอบ ๒ คราว ๔ วัน ประโยคสอง คราวเดียว ๒ วัน รวม ๖ วันเสร็จ เว้นวันธรรมสวนะในระหว่าง สมเด็จพระมหาสมณะเสด็จประทับเป็นแม่กอง พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ และพระธรรมวโรดมเป็นรองแม่กอง จัดกองตรวจเป็น ๕ กอง พระราชาคณะเป็นกรรมการผู้ตรวจกองละ ๓ รูป มีรายชื่อแจ้งในบัญชีแผนกหนึ่ง นอกจากนี้ พระราชาคณะที่มิได้เป็นกรรมการ สมัครมาช่วยด้วย เพิ่มกองตรวจ ออกไปได้อีก ๓ กอง หลักสูตรและวิธีสอบ เหมือนในศกหลัง ภิกษุสามเณรเข้าสอบประโยคหนึ่ง มีจำนวน ๕๒๐ รูป ได้คงประโยค ๑๖๘ รูป ได้ประโยคสูงขึ้นไป ๗๐ รูป ตก ๒๘๒ รูป เข้าสอบประโยคสอง มีจำนวน ๑๖๗ รูป ได้คงประโยค ๑๑๕ รูป ได้ประโยคสูงขึ้นไป ๓๒ รูป ตก ๒๐ รูป คงประโยคหนึ่ง ๑๐ รูป ตกทีเดียว ๑๐ รูป ผู้ได้บาลีประโยคสองไว้แล้วบ้าง แปลบาลีได้ประโยคสอง ในคราวนี้บ้าง ครบกำหนดเป็นเปรียญธรรม ๓๒ รูป จำนวนผู้เข้าสอบคราวนี้ ทวีกว่าในศกหลังกว่า ๓ เท่า แต่เป็นสามเณรโดยมาก ยังมุ่งจะได้รับยกเว้นจากพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารมากกว่าอย่างอื่น มีภิกษุเข้าสอบด้วยเฉพาะในวัดที่จัดการเรียนธรรมเจริญแล้ว นอกจากนี้ เป็นเปรียญบ้าง เป็นผู้ได้ประโยคบาลีค้างยังไม่ครบกำหนดเป็นเปรียญบ้าง เพื่อจะได้เป็นทางแปลประโยคสูงขึ้นไปได้ และผู้เตรียมเข้าแปลบาลีเพื่อจะได้เป็นเปรียญธรรม ฯ

 

          ผลที่สังเกตเห็นในคราวนี้ คือ

          ๑. เมื่อต้นศก ได้สอบความรู้ธรรมของเปรียญ ๔ ประโยค ๓ ประโยค ในศกหลัง มีเปรียญเป็นหลายรูปไม่รู้จักเขียนหนังสือ ไม่รู้จักใช้อักษร เรียงความไม่เป็น ไม่รู้ธรรม ไม่รู้วินัย น่าสลดใจเป็นอันมาก ปรากฏแก่พระราชาคณะผู้เป็นกรรมการเอง มาในคราวนี้ มีเปรียญเข้าสอบราว ๕๑ รูป ได้แทบทั้งนั้น มีตกเพียง ๔ รูป ความรู้ของพวกเปรียญค่อยมีขึ้น แต่บางสำนัก ได้ประโยคหนึ่งแล้วก็งด เป็นเพราะเตรียมตัวไม่ทันประโยคสอง หรือปรารถนาพอเปิดทางแปลบาลีประโยคสูงขึ้นไปได้เท่านั้น ยังจะสังเกตดูอีกข้างหน้า แม้อย่างนั้น พวกที่สอบได้ถึงประโยคสอง ก็มีเหมือนกัน ฯ

          ๒. ได้พบทางตรวจประโยคแก้กระทู้ธรรมและประโยคธรรมวิภาคว่า ภิกษุสามเณรค่อยรู้สึกความสังวรขึ้นในใจ ค่อยรู้จักดำริว่าประพฤติอย่างไรจะเป็นความดีความงามแก่ตน ดีกว่าในศกหลัง ๆ แต่ยังไม่นึกกว้างถึงผู้อื่นที่ตนควรจะประพฤติด้วยอย่างไร ข้อนี้เป็นสำคัญที่จะต้องชักนำจนสำเร็จ ฯ

          ๓. ภิกษุสามเณรเขียนหนังสือเป็นและรู้จักเรียงความเป็นโดยมาก แต่ใช้อักษรห่างจากสำนักเล่าเรียนออกไป ยังไม่ค่อยเป็น ฯ

          ๔. การเรียนธรรมแพร่หลายออกไปตามสำนักทั้งหลาย สอนกันเป็นขึ้นหลายสำนัก แต่จะหวังให้สอนได้ทั่วไปตลอดวัดเล็กวัดน้อย คงยังไม่ได้ ฯ

 

          ผลเหล่านี้นำให้จัดการต่อไปในคราวหน้า ดังนี้ :-

          ๑. จะสอบความรู้คิหิปฏิบัติด้วย ในแผนกธรรมวิภาค ฯ

          ๒. ในสนามหลวง เลิกสอบธรรมพักเป็นประโยคหนึ่ง ประโยคสอง สอบคราวเดียวรวมกันทั้งสองประโยค ได้หรือตกก็พร้อมกัน แต่สามเณรยังให้งดวินัยไว้ เมื่ออุปสมบทจึงให้สอบ ผู้สอบได้ตามหลักนี้เป็นนักธรรมตรีตรงกับนวกภูมิ เป็นอันได้เลื่อนหลักสูตรองค์นักธรรมขึ้นอีก แต่ในหัวเมือง ยอมให้พักเป็นประโยคได้ พลาง ๆ

          ๓. จัดตั้งวิธีคิดเฉลี่ยคะแนนได้ตก ตามคราวที่สอบ ตั้งแต่คราวนี้ไป ความรู้อย่างหนึ่ง อย่างน้อยได้ ๒ คะแนน จึงใช้ได้ ๔ อย่าง อย่างน้อยได้ ๘ คะแนน จึงใช้ได้ แต่ในอย่างหนึ่ง เสียทั้ง ๓ คะนนเป็นใช้ไม่ได้ ฯ

          ๔. นักธรรมชั้นตรี แปลบาลีอีกประเภทหนึ่ง ดังจะกล่าวในแผนกสอบความรู้บาลีได้แล้ว เป็นเปรียญธรรมชั้นตรี ตรงกับนวกภูมิ ฯ

 

          ส่วนการสอบความรู้บาลีแปลธัมมปทัฏฐกถา ๓ ประโยคนั้น ได้เริ่มเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๔ วันเสร็จ แต่หยุดวันธรรมสวนะในระหว่าง วิธีแปลใช้เขียน และวิธีตรวจเหมือนในศกหลัง เป็นแต่ออกประโยคเฉพาะวัน ไม่ทำให้จับเป็นฉลาก มีภิกษุสามเณรเข้าสอบ ๑๒๖ รูป ยกพวกเปรียญธรรม ในจำนวนนี้ มีผู้ได้ประโยคค้างไว้ ๒ บ้าง ๑ บ้าง ๕๓ รูป เหลือจากนั้น ๗๓ รูป เป็นผู้เข้าใหม่ในคราวนี้ สอบได้ถึงประโยคสาม ๑๔ รูป มีเข้าใหม่เพียง ๓ รูป นอกจากนั้นได้ประโยคหนึ่งไว้แล้ว ๑๐ รูป ได้ประโยค ๒ ไว้แล้ว ๕ รูป คงได้ประโยคค้างไว้ไม่ถึงกำหนด เป็นเปรียญ ประโยคสอง ๒ รูป ประโยคหนึ่ง ๑๕ รูป ตก ๙๑ รูป ฯ

 

          ผลที่ได้พบในคราวนี้ มีขึ้นบ้างลงบ้าง ดังต่อไปนี้

          ๑. ผู้เข้าใหม่ แปลตลอดขึ้นไปได้ถึงประโยคสาม มีน้อยนัก สันนิษฐานเห็นว่า เป็นเพราะเหตุบางประการ คือ

          ก. ผู้แปลรีบร้นเข้า ในเวลาความรู้ยังอ่อน เหมือนในหนหลัง

          ข. ผู้มีความรู้แข็ง เป็นนักธรรมชั้นตรีมาแล้วโดยมาก แปลบาลีขึ้นเป็นเปรียญธรรมแผนกหนึ่ง ไม่ได้นับในจำนวนนี้

          ค. ผู้ไม่ได้เป็นนักธรรม ไม่ค่อยรู้จักเรียงความไทย และไม่รู้จักใช้โวหาร

          ฆ. ในฝ่ายบาลีเล่า ก็ไม่รู้จักสัมพันธ์ คือการเชื่อมบทกับบทและไม่รู้จักไวยากรณ์ส่วนวจีวิภาค ที่จำแนกคำพูด ฯ

 

          ๒. ธรรมเนียมเดิม จะแปลเป็นเปรียญได้ ต้องพร้อมกันทั้ง ๓ ประโยค ภายหลังให้พักเป็นประโยค ได้ความรู้ของผู้แปลอ่อนลง จนขึ้นรวดเดียวถึง ๓ ประโยคไม่ค่อยไหว ฯ

          ๓. พวกแปลบาลีเป็นเปรียญธรรม แปลหนังสือได้ดีโดยมาก ได้ชมของกรรมการมีหลายรูป ฯ

          ๔. ผู้แปลคุ้นเคยกับวิธีเขียนเข้ามากแล้ว ฯ

          ๕. การเรียนบาลีที่เจริญอยู่ เฉพาะในสำนักที่เล่าเรียน ที่ความมุ่งจัดให้เป็นตามนี้ จะรอสำนักที่ล้าอยู่ ไม่อาจบำรุงความรู้ให้เจริญได้เร็ว ส่วนสำนักที่ล้านั้น ควรคิดแก้ไขในทางหนึ่ง ฯ

 

          เมื่อการเรียนธรรมแพร่หลายออกไปแล้ว จึงได้ปรารภจะจัดการแก้ความบกพร่องในฝ่ายการเรียนบาลี ในคราวหน้า ดังต่อไปนี้ :-

          ๑. ผู้จะเข้าสอบบาลี ต้องเป็นนักธรรมชั้นตรีมาก่อนแล้วทั้งนั้น ฯ

          ๒. หลักสูตรที่จะสอบ คงแปลธัมมปทัฏฐกถา ตามเดิม ประโยคหนึ่ง เปลี่ยนใหม่ ๒ ประโยค แปลสัมพันธ์ประโยคหนึ่ง ตอบปัญหาบาลีไวยากรณ์ส่วนวจีวิภาค ประโยคหนึ่ง ฯ

 

          การได้การตก คิดเฉลี่ยโดยคะแนนทั้ง ๓ ประโยค ได้หรือตกพร้อมกัน ไม่พักเป็นประโยคเหมือนในหนหลัง ฯ

          ข้อเหล่านี้ ต่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถึงจะจัดตามที่ปรารภไว้ ฯ

          ส่วนการสอบความรู้บาลีตั้งแต่ประโยคสี่ขึ้นไป ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เริ่มเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๓ วันเสร็จ สมเด็จพระมหาสมณะเสด็จประทับเป็นอธิบดี แบ่งเป็น ๓ กอง พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็นแม่กองกลาง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นแม่กองขวา เดิมกะพระพิมลธรรม เป็นแม่กองซ้าย แต่ครั้นถึงวันกำหนดบอกอาพาธ ไม่ไป สมเด็จพระมหาสมณะจึงทรงเลื่อนพระธรรมวโรดมเป็นแม่กองซ้าย มีพระราชาคณะเข้ากอง มีรายชื่อในบัญชีแผนกหนึ่ง นอกจากนี้ มีพระราชาคณะผู้พ้นหน้าที่แล้วไปช่วยด้วย มีจำนวนผู้เข้าแปลประโยคหก ได้ ๒ ตก ๑ ประโยคห้า ได้ ๑๐ ตก ๕ ประโยคสี่ ได้ ๑๘ ตก ๑๓ รวมได้ ๓๐ ตก ๑๙

          ในคราวนี้ ได้แก้วิธีสอบใหม่ ไม่ทักเป็นประโยคหรือเป็นศัพท์เหมือนอย่างก่อน ปล่อยให้ผู้แปล ๆ ไป ๕ บรรทัดขึ้นไปหา ๑๐ บรรทัดจบตอนหนึ่งแล้ว แม่กองกับผู้สอบปรึกษากัน ถ้าไม่ฟังต่อไป ประโยคนั้นเป็นตก ถ้าฟังต่อไป ให้แปลต่อไป และ ปรึกษาเป็นตอน ๆ จนจบประโยค ประโยคหนึ่ง ปรึกษาราว ๒ คราวบ้าง ๓ คราว บ้าง ปรึกษาในที่สุดประโยคว่าจะให้หรือไม่ให้ ถ้าให้ ก็เป็นอันได้ ถ้าไม่ให้เป็นอันตก สอบตามวิธีนี้ได้เห็นผลว่าสะดวกด้วยประการทั้งปวง ผู้สอบไม่อึดอัด ผู้แปลไม่เสียสติ และต่อไปจะเป็นทางให้รู้จักสันนิษฐานเอาความตามลำพังของตนเอง จักแปลหนังสือมีหลักขึ้น ไม่ต้องนับเวลาแปลและไม่ต้องให้ออกแก้ ย่นเวลาเร็วเข้า ฯ

          แม้แก้วิธีสอบใหม่ในคราวนี้ ยังได้พบว่าเปรียญประโยคสูง แปลหนังสือดีขึ้นกว่าเดิมมาก เข้าใจว่าเป็นเพราะเหตุ ๒ ประการ ผู้ไม่มีความรู้ ยังไม่ได้ประโยคนักธรรม เข้ามาแปลไม่ได้ประการ ๑ การสอบโดยวิธีเขียนทำให้ผู้แปลรู้จักหยั่งสันนิษฐานและจูงผู้แปลที่ไม่เคยเขียนให้เป็นตามด้วยประการ ๑

          รายชื่อผู้แปล ส่งมาแผนกหนึ่ง ในที่นี้ส่งมาแต่รายเทียบเฉพาะวัด ดูตาม บัญชีรายเทียบนี้ จะเห็นได้ว่าวัดบวรนิเวศ วัดมหาธาตุ วัดเบญจมบพิตร วัดเทพศิรินทร์ วัดอนงคาราม มีนักเรียนได้ทั้งประโยคธรรมและประโยคบาลีชั้นสูง ส่วนประโยคบาลีชั้นต่ำนั้น มีรายตกมากกว่ารายได้ เพราะผู้แปลได้เป็นเปรียญธรรมอยู่ในบัญชีแผนกหนึ่ง คงอยู่ในบัญชีนั้นแต่ผู้ได้ค้างไม่ครบกำหนดและผู้ตก ส่วนวัดพระเชตุพนพึ่งเริ่มจัดการเล่าเรียนเมื่อศกหลัง ได้เปรียญบาลี ๓ ประโยคมากถึง ๙ รูป ครึ่งของจำนวนนั้น แต่ประโยคสูงตกทั้งนั้น ส่วนการเรียนธรรม ได้เพียงประโยค หนึ่ง เกือบเท่าจำนวนตก ส่วนวัดราชาธิวาส ดีในทางเรียนธรรมในจำนวน ๒๒ รูป มีตกเพียงรูปเดียว ในทางเรียนบาลี ตรงกันข้ามในชั้นต่ำส่ง ๕ รูป ตกทั้งนั้น ในชั้นสูงได้ ๑ เสีย ๑ ส่วนวัดสุทัศน์และวัดสระเกศ การเรียนบาลีเสื่อมไป วัดสุทัศน์มีได้แต่น้อยรูป วัดสระเกศ ในชั้นต่ำส่ง ๑๑ ตกหมด ได้ในชั้นสูงรูปเดียว ในการเรียนธรรม พอมีผู้สอบประโยคหนึ่งได้บ้าง วัดสุทัศน์ขึ้นถึงประโยคสอง แต่ยังได้ไม่สมกับจำนวนที่ส่งทั้ง ๒ วัด ฝ่ายวัดอรุณกับวัดประยูรวงศ์การเล่าเรียนไม่ขึ้นทั้ง ๒ อย่าง ในทางธรรม จำนวนได้ ไม่ถึง ๑๐ ต่อ ๑ ในทางบาลี ก็ไม่ได้การเหมือนกัน วัดประยูรวงศ์ได้ ๓ ประโยค ๑ รูป เท่านั้น

          ในการสอบความรู้ได้พบว่าหน้าที่ธุระการเนื่องด้วยการทำบัญชียังลำบากมาก ยังจะต้องแก้ไขต่อไปเพื่อให้สะดวกขึ้น

×

กรรมการสอบองค์นักธรรมแลธรรมบท

          สมเดจพระมหาสมณะ  แม่กอง

          กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์  รองแม่กอง

          พระธรรมวโรดม  รองแม่กอง

กองที่ ๑

          พระญาณวราภรณ์

          พระอริยมุนี

          พระมหาปลด

กองที่ ๒

          พระธรรมไตรโลกาจารย์

          พระศรีสมโพธิ

          พระนิกรมมุนี

กองที่ ๓

          พระราชเวที

          พระศากยปุตติยวงศ์

          พระมหานายก

กองที่ ๔

          พระราชสุธี

          พระอริยกวี

          พระญาณรักขิต

กองที่ ๕

          พระอมราภิรักขิต

          พระปิฎกโกศล

          พระปริยัติบัณฑิต

×

รายงานสอบความรู้ธรรม*

ของเปรียญบาลี ๔ ประโยค และ ๓ ประโยค

พ.ศ. ๒๔๕๖

 

          เพื่อจะนำให้เปรียญบาลีทรงธรรมทรงวินัยด้วย สนามหลวงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตว่า เปรียญ ๔ ประโยค ในคราวหลังจะได้รับทรงตั้ง และจะแปลประโยค ๕ ต่อขึ้นไปก็ดี เปรียญ ๓ ประโยคจะแปลประโยค ๔ ต่อขึ้นไปก็ดี ต้องสอบองค์นักธรรม ประโยคหนึ่ง สามัญได้ก่อน และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ฯ

          ได้เปิดสนามหลวงเป็นพิเศษที่วัดเบญจมบพิตร เริ่มวันที่ ๗ มิถุนายน ๓ วันเสร็จ สมเด็จพระมหาสมณะเสด็จประทับเป็นแม่กอง กรรมการผู้สอบสำรับเก่า เมื่อคราวหลัง เป็นแต่พระญาณวราภรณ์อาพาธ พระนิกรมมุนีเข้าแทน หลักสูตรสำหรับสอบในคราวนี้ เรียงความแก้กระทู้ธรรม ๑ ตอบปัญหาธรรมวิภาค ๑ ตอบปัญหาวินัย ๑ คิดเฉลี่ยคะแนนได้ทุกอย่าง ไม่น้อยกว่า ๖ จึงเป็นอันได้ สามเณรผู้เป็นนักธรรมมาเดิมแล้วจะอุปสมบทก่อนพรรษาศกนี้ ได้ยอมให้สอบวินัยเพิ่มด้วย และผู้สอบได้ที่วัดแล้ว ยอมรับเอาประโยคมาตรวจ มีภิกษุสามเณรเปรียญเข้าสอบ ๓๘ รูป ได้ ๑๖ รูป ตก ๒๒ รูป ฯ

          ในคราวนี้เองปรากฏว่าเปรียญบาลียังมีความรู้ทรามมาก ตกทั้ง ๓ อย่างมี ๖ รูป ตก ๒ อย่างมี ๘ รูป ตกอย่างเดียวมี ๒ รูป ในพวกที่ตก ๓ อย่าง เสียหมดทั้ง ๙ คะแนน ๑ รูป เสีย ๘ คะแนนได้ไว้แต่คะแนนเดียวมีถึง ๕ รูป ในจำพวกที่ได้ มีในสำนักเล่าเรียน ๘ รูป ได้ครบทั้ง ๓ อย่าง และคะแนนสูงถึง ๙ เป็นพื้น นอกจากนั้น ที่ได้ ๓ อย่าง คะแนนสูง ๓ รูป คะแนนต่ำเพียง ๖, ๓ รูป อีก ๒ รูปเป็นแต่สอบวินัยเพิ่ม ฯ

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๕๖. หน้า ๕๐๔-๕๐๖.)

×

รายงานสอบความรู้ธรรมและบาลีของสนามหลวง*

พ.ศ. ๒๔๕๗

 

          ในการสอบความรู้คราวนี้ ได้แก้ไขการบ้าง หลักสูตรบ้าง ต่อไปนี้ :-

          ๑. การส่งบัญชีรายชื่อภิกษุสามเณรผู้ขอเข้าสอบ เดิมวัดที่อยู่ของภิกษุสามเณรนั้น นำส่งเจ้าคณะที่ตนขึ้นอยู่ เจ้าคณะนำส่งกรมสังฆการีอีกต่อหนึ่ง ตามระเบียบนี้ รู้ไม่ได้ว่าภิกษุสามเณรนั้น เรียนในวัดนั้นหรือในวัดอื่น คราวนี้ได้แก้ให้วัดที่เป็นเจ้าสำนักเรียนส่งเป็นนักเรียนของสำนักนั้น โดยนัยนี้ วัดใดสอนได้เอง วัดนั้นส่งเอง วัดใดสอนไม่ได้ ภิกษุสามเณรวัดนั้น ต้องไปเข้าบัญชีวัดอื่นที่เป็นสำนักเรียนของตน นี้เป็นทางจะให้รวมสำนักเรียนน้อย ๆ เข้าหาสำนักเรียนใหญ่ ๆ ที่จะครองการเรียนให้เข้าระเบียบได้ง่าย ๆ

          ๒. การออกประโยคสำหรับสอบ ครั้งยังไม่ได้ทำฉลากให้ผู้เข้าสอบจับไว้พร้อมสรรพ พระราชาคณะผลัดเวรกันออกประโยคเท่าจำนวนผู้เข้าสอบในวัน ๆ ให้ผู้เข้าสอบจับ ๆ ได้ประโยคใด แปลประโยคนั้น ตั้งแต่เปลี่ยนระเบียบเป็นทำฉลากไว้ให้จับพร้อมสรรพแล้วพระราชาคณะที่เป็นผู้ออกประโยคนั้น เป็นแต่ผู้เปิด ประโยคคือพลิกหนังสือให้ผู้เข้าสอบตามฉลาก ในคราวนี้ ได้ขอพระราชาคณะบางรูปเป็นผู้ออกประโยคบางอย่าง คือแต่งปัญหาในการสอบความรู้ธรรมอนุโลมตามประเพณีเดิม นี้เป็นทางแบ่งเบาจากผู้ออกประโยค ทั้งจะมีผู้ออกประโยคเป็นช่วยกันทำได้ ไม่ต้องวิตกว่าจะขาดผู้ออกประโยคในภายหน้า ฯ

          ๓. ข้อถามในประโยคหนึ่ง ๆ เดิม ๒๑ ในคราวนี้ ตัดลง คงมีเพียง ๑๔ เพื่อทุ่นเวลา ฯ

          ๔. การสอบความรู้องค์นักธรรม ในคราวหลัง ๆ ยังพักเป็นประโยค ๑ ประโยค ๒ ได้ ในคราวนี้ ไม่ให้พัก สอบทั้งชั้นนวกะทีเดียวเรียกชั้นตรี ยกผู้ได้ประโยค ๑ ค้างอยู่ให้สอบประโยค ๒ บรรจบได้ ฯ

          ๕. เปรียญบาลี ๓ ประโยค เดิมแปลเพียงอรรถกถาธรรมบททั้ง ๓ ประโยค เปรียญธรรมแปลเพียง ๒ ประโยค ในคราวนี้ แก้เป็นแปลอรรถกถาธรรมบท ประโยค ๑ บอกสัมพันธ์อรรถกถาธรรมบทประโยค ๑ ตอบปัญหาบาลีไวยากรณ์ ประโยค ๑ รวมเป็น ๓ ประโยค ผู้จะแปลเป็นเปรียญบาลี ๓ ประโยคอย่างนี้ ต้องเป็นนักธรรมชั้นตรีมาก่อน ได้แล้ว เป็นเปรียญธรรมชั้นตรี หรือเรียกเปรียญ ๓ ประโยคตามเดิมก็ได้ ฯ

          ๖. ประโยค ๕ เดิมแปลปกรณ์ชื่อสารัตถสังคหะด้วยปาก ในคราวนี้ เปลี่ยนเป็นบาลีมุตตกวินัยวินิจฉัย ใช้เขียน ฯ

          ๗. ในคราวหลัง ๆ ยังไม่ได้กำหนดเวลาให้เขียนตอบโดยกวดขัน เป็นแต่ยังมีเพื่อนเขียนด้วยกันอีก ๓ รูป เป็นใช้ได้ ในคราวนี้กำหนดเวลาให้เขียน ๓ ชั่วโมงครึ่ง

 

          ได้เปิดสนามหลวงที่วัดเบญจมบพิตรก่อน เริ่มวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ สด วันที่ ๒๖ เดือนเดียวกัน เว้นวันธรรมสวนะในระหว่าง รวมวันสอบ วันตรวจ ๑๒ วัน จำนวนนักเรียนเข้าสอบธรรมใหม่ ๕๒๐ รูป ประโยค ๑ เดิมสอบเพิ่ม ๑๘๓ รูป รวม ๗๐๓ รูป สอบได้ใหม่ ๑๖๘ รูป เดิม ๑๐๕ รูป รวม ๒๗๓ รูป ข้ามชั้น ๑๖ รูป คงได้ชั้นนี้ ๒๕๗ รูป ตก ๔๓๐ รูป นักธรรมชั้นตรี ภูมิสามเณร เข้าสอบวินัยเพิ่ม ได้ ๒ ตก ๒ จำนวนนักธรรมเข้าสอบบาลี เพื่อเป็นเปรียญธรรม ๘๐ รูป สอบได้ ๓๐ รูป แปลบาลีได้ ๒ ประโยคไว้ก่อนแล้ว สอบธรรมได้ในคราวนี้ ๒ รูป เป็น ๓๒ รูป ตก ๕๐ รูป หักจำนวนได้ชั้นนักธรรมใหม่ ๒๒ รูป คงตกชั้นนี้ ๒๘ รูป จำนวนเปรียญเข้าสอบประโยค ๕ ๑๔ รูป ได้ ๘ รูป ตก ๖ รูป ฯ

          นักเรียนเข้าสอบธรรมมาก ต้องจัดสอบเป็น ๓ คราว แต่วินัยสอบเฉพาะภิกษุ รวมสอบด้วยกัน กองตรวจได้เพิ่มขึ้นอีก ๒ เป็น ๖ แลได้กองสมัครช่วยอีก ๓ รวมเป็น ๙ ฯ

 

ผลที่สังเกตเห็นในคราวนี้ คือ

          ๑. การเรียนธรรมและเข้าสอบ ทั่วถึงทั้งภิกษุและสามเณร นี้เป็นเพราะจัดการสอบธรรมและบาลีให้เข้าระเบียบกันและความนิยมเรียนธรรมแพร่หลายออกไป

          ๒. ประโยคนักธรรมและประโยคบาลี สอบได้ดีเกินคาดหมายแรกจัดใหม่ สอบคราวเดียวหลายอย่าง คาดว่าจะมีผู้สอบได้น้อย และตกเสียมาก จำนวนผู้ได้ไม่น้อย และได้ถึงชั้นโทก็มาก แต่ชั้นเอกยังมีน้อยไม่สมจำนวนได้ นี้เป็นเพราะเจ้าสำนักเรียน เอาใจใส่ฝึกสอน ตั้งใจช่วย ให้วางหลักสูตรสำเร็จ ฯ

          ๓. ลายมือเขียนหนังสือ และรู้จักใช้อักษรดีขึ้น ฯ

          ๔. แต่น่าเสียใจว่า ความสังวรไม่ดีขึ้น กลับตกต่ำ มีผู้ตกทิ้งบัตรสนเท่ห์มากล่าวหยาบช้า แก่พระราชาคณะกรรมการผู้ออกประโยคตลอดถึงสมเด็จพระมหาสมณะ เมื่อไม่ทรงอำนวยตามขอ ฯ

 

          ผลเหล่านี้ นำให้จัดการต่อไปในคราวหน้า ดังนี้

          ๑. เลิกการรับโอนนักธรรมของวัด

          ๒. อนุญาตให้วัดอันเป็นสำนักเรียนใหญ่ สอบความรู้ธรรมแห่งนักเรียนเฉพาะในสำนักของตน แต่นักธรรมของวัด หาได้รับยกเว้นจากพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารไม่ เป็นแต่ผู้ที่กลั่นไว้สำหรับสนามหลวงเท่านั้น

          ๓. ผู้สมัครเข้าสอบในสนามหลวง ต้องเป็นนักธรรมของวัดมาแล้ว

          ๔. วิธีเฉลี่ยคะแนน มีคะแนนได้มากกว่าคะแนนจำกัด จึงเป็นเกณฑ์ได้ ต่ำจากนั้นเป็นเกณฑ์ตก ฯ

 

          หลักสูตรนักธรรมและเปรียญธรรมชั้นตรี สำหรับนวกะ เป็นอันจัดสำเร็จ สมมุ่งหมายในศกนี้ ฯ

          ประโยค ๕ มีเปรียญเข้าแปล ๑๔ รูป ได้ ๘ รูป ตก ๖ รูป แปลยังไม่ดี ติดในวิธีเก่าเสียมาก แต่จักเป็นทางเอาใจใส่ในภายหน้า ฯ

          ในลำดับมา ได้เปิดสนามหลวงอีกคราวหนึ่ง ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม และต่อมาอีก ๒ วัน สอบบาลีตั้งแต่ประโยค ๔ ขึ้นไป เว้นประโยค ๕ ตามธรรมเนียมเดิม แบ่งเป็น ๓ กอง สมเด็จพระมหาสมณะเสด็จประทับเป็นประธาน กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็นแม่กองกลาง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นแม่กองขวา พระธรรมวโรดม เป็นแม่กองซ้าย ประโยค ๗ ได้ ๑ รูป ไม่มีตก ประโยค ๖ ตกทั้งสองรูป ประโยค ๔ ได้ ๓๖ รูป ตก ๗ รูป ฯ

 

          สังเกตเห็นว่า ผู้แปลมีความรู้แปลได้ดีขึ้นมาก เดิมมีได้ชั้นตรีเป็นพื้น ถึงชั้นโทเป็นดี ถึงชั้นเอกมีน้อยนัก ตั้งแต่จัดบำรุงความรู้ธรรมขึ้นแล้ว มีได้ชั้นโทเป็นพื้น ในศกนี้เป็นมาก ขึ้นถึงชั้นเอกก็หลายรูป ได้เพียงชั้นตรีเป็นเลว มีจำนวนตก น้อยที่สุด ฯ

          วิธีแปลด้วยปากเฉพาะประโยคเดียวอย่างเดิม เป็นง่ายสำหรับเปรียญในแผ่นดินปัจจุบันนี้เสียแล้ว ถึงเวลาที่ควรจัดหลักสูตรนักธรรมและเปรียญธรรมชั้นโท สำหรับภิกษุมัชฌิมะแล้ว บัดนี้ กำลังเตรียมทำแบบเรียนอยู่ เมื่อเสร็จแล้ว จักขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดต่อไป ฯ

          รายชื่อผู้แปลส่งไปแผนกหนึ่งแล้ว ในที่นี้ ส่งแต่รายเทียบเฉพาะวัด ดูตามบัญชีรายเทียบนี้ จักเห็นได้ว่าการรู้จักสอนธรรมค่อยแพร่หลายในวัดทั้งหลาย แต่ยังไม่สันทัด จึงยังมีจำนวนตกมาก ความรู้บาลีชั้นประโยค ๔ ดีขึ้นมาก นอกจากนั้นยังไม่ดี คราวนี้ วัดราชาธิวาส ดีทั้งในทางเรียนธรรมทั้งในทางเรียนบาลี การเรียนของวัดบรมนิวาสเจริญขึ้นทั้งสองอย่าง ส่วนการเรียนของวัดสุทัศน์ร่วงโรย ไม่ฟื้นเลยและการสอนธรรมของวัดระฆังอ่อนมาก นักเรียนตกทั้งนั้น ฯ

          คราวนี้ การทำบัญชีสะดวกดี ฯ

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๒ พ.ศ. ๒๔๕๗. หน้า ๕๑๗-๕๒๕.)

×

รายงานการสอบความรู้องค์นักธรรมในหัวเมือง*

พ.ศ. ๒๔๕๗

 

          แต่เดิมมา ในหัวเมือง ไม่มีการสอนการสอบความรู้ธรรมวินัยเลย ภิกษุผู้รักเล่าเรียน ย่อมศึกษาด้วยตนเอง ตามแต่จะได้ ตั้งแต่สมเด็จพระมหาสมณะทรงจัดการสอนธรรมวินัยขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร และมีการสอบเป็นของวัด พระผู้ออกจากวัดบวรนิเวศวิหารไปเป็นเจ้าอาวาสในหัวเมือง ได้จัดตามอย่าง จึงได้มีการสอนการสอบธรรมวินัยเป็นของวัดในหัวเมืองขึ้นบ้าง มีที่เมืองนครศรีธรรมราช เมืองนครเชียงใหม่ และเมืองอุบลราชธานี เป็นต้น เมื่อสนามหลวงจัดการสอบองค์นักธรรมขึ้นแล้ว คณะหัวเมืองได้จัดการสอนแพร่หลายออกไป คณะเมืองนครเชียงใหม่ได้จัดขึ้นก่อน และได้ขยายออกไปตลอดหัวเมือง ในมณฑลพายัพ ได้เปิดสนามมณฑลสอบความรู้ ที่เมืองอื่น ได้ส่งประโยคไปให้สอบแล้วเรียกมาตรวจที่นครเชียงใหม่ และได้รับอนุญาตให้ตั้งนักธรรมของมณฑลได้ตั้งแต่ศก ๒๔๕๖ ฯ

          เมื่อศก ๒๔๕๗ คณะหัวเมืองหลายแห่ง จัดการสอนเจริญขึ้นพอจะสอบความรู้ได้บ้าง สมเด็จพระมหาสมณะโปรดให้จัดขึ้น เพื่อเป็นทางจูงให้เกิดความนิยม ให้ใช้หลักสูตรของสนามหลวง แต่การเรียนในหัวเมืองโดยมาก พึ่งเริ่มขึ้น ยังไม่แข็ง โปรดให้พักประโยค ๑ ได้พลางเมื่อสอบได้ไม่ตลอด เสด็จเองบ้าง โปรดให้กรรมการสนามหลวงไปสอบบ้าง มีรายดังนี้ :-

          ๑. ที่มณฑลกรุงเก่า สมเด็จพระมหาสมณะทรงเป็นแม่กองเอง เปิดประโยคสอบตามเมืองที่กรุงเก่า เสด็จเอง ที่เมืองอ่างทองและเมืองสิงห์บุรี ประทานประโยคไป ให้เจ้าคณะเมืองเปิดสอบในวันเดียวกัน เสร็จแล้วส่งมาวัดบวรนิเวศวิหาร เปิดสนามมณฑลที่นั่น โปรดให้เจ้าคณะและเปรียญมณฑลกรุงเก่าบ้าง พระราชาคณะพระครูฐานานุกรมและเปรียญกรุงเทพ ฯ บ้าง เป็นกรรมการตรวจ ฯ

          ๒. ที่มณฑลกรุงเทพฯ โปรดให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็นแม่กอง เปิดประโยคสอบตามเมือง คือ เมืองนนทบุรี เมืองปทุมธานี เมืองนครเขื่อนขันธ์ เมืองธัญญบุรี เมืองสมุทรปราการ เสร็จแล้วส่งมาตรวจที่สนามมณฑล ณ วัดราชบพิธ แม่กองเข้ากับพระราชาคณะกรรมการสนามหลวง และพระครูฐานานุกรมเปรียญวัดราชบพิธ เป็นกรรมการตรวจ ฯ

          ๓. ที่เมืองอุทัยธานี มณฑลนครสวรรค์ โปรดให้พระราชสุธีเป็นแม่กองเข้ากับพระครูเจ้าคณะ และพระเปรียญเมืองนั้นผู้ออกไปจากวัดมหาธาตุ เป็นกรรมการ เปิดสนามเมืองสอบ และตรวจที่วัดทุ่งแก้ว เมืองอุทัยธานีนั้นเอง ฯ

          ๔. ที่เมืองนครราชสีมา โปรดให้พระศากยปุตติยวงศ์ เป็นแม่กองเข้ากับพระเปรียญวัดพระเชตุพนและวัดจักรวรรดิ เป็นกรรมการ เปิดสนามเมืองสอบ และตรวจที่วัดกลางเมืองนครราชสีมานั้นเอง ฯ

          ๕. ที่มณฑลราชบุรี โปรดให้พระธรรมวโรดม เป็นแม่กอง เข้ากับพระราชาคณะกรรมการสนามหลวง และพระเปรียญในกรุงเทพฯ เป็นกรรมการเปิดสนามมณฑล ณ วัดเบญจมบพิตร รับโอนเอาประโยคที่วัดเมืองราชบุรี และวัดเมืองสมุทรสงครามสอบไว้แล้วมาตรวจ ฯ

 

          การสอบคราวนี้เป็นครั้งแรก แม่กองบางรูปยังจัดการไม่สันทัด นักเรียนหัวเมืองยังไม่คุ้นกับวิธีสอบ ยังไม่เป็นไปโดยเรียบร้อย ฯ

          ที่มณฑลพายัพ ก็ได้มีการสอบความรู้ประจำศก ๒๔๕๗ นั้นด้วย พระครูเจ้าคณะแห่งเมืองนครเชียงใหม่ และพระวัดหอธรรมเข้ากันเป็นกรรมการ เปิดประโยคสอบตามหัวเมือง เรียกมาตรวจที่สนามมณฑลนครเชียงใหม่ ดังกล่าวแล้ว

          จำนวนภิกษุสามเณรผู้เข้าสอบได้เต็มภูมิเป็นนักธรรมชั้นตรี ๒๘๑ พัก เพียงประโยค ๑, ๔๙๖ รวม ๗๗๗ ตก ๑๔๕๑ มีรายเมืองรายมณฑลแผนกหนึ่ง ฯ

×

รายนามแม่กองแลกรรมการ

สอบสนามมณฑลกรุงเก่า

แม่กอง สมเด็จพระมหาสมณะ

กรรมการ

          พระราชกวี       กรรมการสนามหลวง

          พระมหานายก   กรรมการสนามหลวง

          พระญาณรักขิต กรรมการสนามหลวง

          พระธรรมธราจารย์        ผู้ช่วยกรรมการสนามหลวง

          พระครูอุทานธรรมนิเทศ เจ้าคณะแขวง

          พระครูศีลคุณาธาร        เจ้าคณะแขวง

          พระครูสิน        เจ้าคณะแขวง

          พระครูแดง       เจ้าคณะแขวง

          เจ้าอธิการแจ้ง

          พระวินัยธรรมพฤทธิ

          พระครูสมุหฟื้น

          พระใบฎีกาทรง

สอบสนามเมืองนครราชสีมา

แม่กอง พระศากยปุตติยวงศ์

กรรมการ

          พระมหาพร ๖ ประโยค   วัดจักรวัติ

          พระมหาสำราญ ๔ ประโยค วัดจักรวัติ

          พระมหาวน ๓ ประโยค   วัดพระเชตุพน

สอบสนามมณฑลราชบุรี

แม่กอง  พระธรรมวโรดม

กรรมการ

          พระศรีวิสุทธิวงศ์          กรรมการสนามหลวง

          พระนิกรมมุนี    กรรมการสนามหลวง

          พระมหาขาว ๖ ประโยค วัดสามพระยา

          พระมหาคง ๖ ประโยค   วัดอนงคาราม

          พระมหาพุฒ ๕ ประโยค วัดบรมนิวาส

          พระมหาสิทธิ ๔ ประโยค วัดบวรนิเวศวิหาร

มณฑลพายัพ

แม่กอง  พระครูโพธิรังษี

กรรมการ

          พระครูคัมภีรธรรม

          พระครูรัตนปรัญญาญาณ

          พระครูญาณลังการ์

          พระครูรังสี

          พระครูสุคันธศีล

          พระครูมหามงคล

          พระครูมงคลศีลวงศ์

          พระครูมหาพุทธิมา

          พระปลัดปั่น      เจ้าวัดหอธรรม

          พระใบฎีกาเต๋า   อาจารย์โรงเรียนธรรมวินัยวัดหอธรรม

          พระสมุหเทพพวงศ์

          พระคันธวงศ์

          พระจันทร์        วัดหอธรรม

          พระสุข วัดหอธรรม

          พระแก้ว          วัดหอธรรม

          พระน้อย         วัดหอธรรม

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๓ พ.ศ. ๒๔๕๘. หน้า ๓๓๕-๓๔๒.)

×

พระดำรัสวันที่ ๓

แห่งการสอบความรู้องค์นักธรรมสนามมณฑลกรุงเก่า*

พ.ศ. ๒๔๕๗

 

          ขอเตือนภิกษุสามเณร ผู้เข้าสอบองค์นักธรรมว่า เป็นธรรมดาของคนเรา เวลายังไม่ได้รับการเล่าเรียนอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เจียมตัวว่าตนไม่รู้อะไร ครั้นได้รับการเล่าเรียนเข้าบ้าง ได้ความรู้ที่ตนยังไม่เคยมี แต่เป็นความรู้ที่ยังบกพร่องมาก มักจะตื่นความรู้นั้น และทะนงตัวว่าฉลาดหลักแหลม ออกความคิดความเห็นอะไร ๆ ต่าง ๆ ที่เจ้าตัวเข้าใจว่า เป็นภูมิสติปัญญา แต่คนมีความรู้กว่า เห็นว่าเป็นเพราะอำนาจความฟุ้ง ความพล่าน ต่อเมื่อใด เรียนรู้มากเข้าจนเห็นว่าความรู้ในโลกหาที่สุดมิได้ ความรู้ของตน เป็นแต่เพียงกระพี้อันน้อยเท่านั้น เมื่อนั้นจึงจะหายตื่นหายทะนง ผู้เรียนองค์นักธรรมก็คงเป็นเช่นนั้น ดังจะชักตัวอย่างมาพอแลเห็น การเรียน การสอน และการสอบองค์นักธรรม เราคิดจัดขึ้นเอง ผู้เรียนทั้งปวง แม้ไม่ได้เรียนตรงจากเรา ก็ชื่อว่าเป็นศิษย์ของเราในทางนี้ เมื่อคราวสอบความรู้ในสนามหลวงกรุงเทพฯ ประจำศกนี้ มีนักเรียนบางรูป ผู้เข้าสอบตก เสียใจจนรักษาสติไว้ไม่อยู่ ทิ้งบัตรสนเท่ห์มากล่าวหยาบช้าแก่เราผู้จัดการว่าไม่เป็นยุติธรรม กล่าวหยาบช้าแก่พระราชาคณะกรรมการ ผู้ออกประโยคยาก อวดดี ข้อที่นักเรียนโกรธแล้วเห็นไปว่า เราไม่เป็นยุติธรรมย่อมให้ผลอันร้ายแก่ตัวเอง เพราะว่าผู้นั้นย่อมสิ้นความเชื่อถือในเรา จักได้ใครเป็นผู้นำทางต่อไป จักเดินตามใคร ในกิจพระศาสนา ผู้นำทางนั้นมิใช่ หาง่ายอยู่เมื่อไร ชื่อว่าทำลายหลักของตนเองเสียคราวนี้ก็คว้าง อันการทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นจากความเชื่อถือและวางใจกันเสียแล้ว ยากที่จะสำเร็จ ขอกำชับนักเรียนพวกนี้ไว้แต่แรกว่า ในเวลาได้รับการเล่าเรียนยังไม่ถึงที่ จงมีสติ อย่าให้ความทะนงเช่นนั้น ครอบงำ ควรถ่อมตนเป็นคนไม่รู้ ดีกว่าถือตนว่าเป็นคนเจ้าสติปัญญา การรู้หรือไม่รู้ เอาไว้ตัดสินด้วยผล คือทำอะไรลุล่วงหรือติดขัด อีกอย่างหนึ่งเมื่อความไม่สมปรารถนาเกิดขึ้น โทษเอาตนเองดีกว่าโทษท่าน เช่น สอบความรู้ตก มัวไปโทษท่านว่าไม่เป็นยุติธรรม ตนเองจักหาได้ตั้งใจเรียนให้ดีขึ้นไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ เข้าสอบความรู้คราวใด ก็คงตกคราวนั้น ฯ

 

          วันนี้ เป็นคราวที่จะสอบพุทธประวัติ เราได้กล่าวไว้แล้วในวันก่อนว่า พระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดาของพวกเรา มีพระพุทธประวัติอย่างไรเราควรรู้ จะได้ดำเนินตามพระพุทธจรรยา ในที่นี้เราขอเติมว่า ครั้นรู้แล้วจงตั้งใจดำเนินตาม โดยสามารถของตน ความรู้นั้นจึงจะให้ผล และความทำตามนั้น ย่อมเป็นปฏิบัติบูชา อันเป็น บูชาอย่างสูง ไม่เช่นนั้นก็เป็นรู้เสียเปล่า ไม่มีผลแก่เจ้าตัว ขอนักเรียนจงตั้งใจตอบปัญหาพุทธประวัติที่ออกให้นี้ เพื่อแสดงความรู้ของตนที่ได้เรียนมา เพื่อได้ความรับรองของผู้ใหญ่ เหมือนครั้งพุทธกาล ภิกษุได้ความรับรองของพระศาสดา ผู้เป็นพระธรรมสามิสร ฉะนั้นแล ฯ

 

*(ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา. หน้า ๔๒๐-๔๒๑.)

×

พระดำรัสในวันที่ ๔

แห่งการสอบความรู้องค์นักธรรมสนามมณฑลกรุงเก่า*

พ.ศ. ๒๔๕๗

 

          นักเรียนทั้งหลาย จะเล่าเรียนให้มีผลต้องเรียนตามทางที่ผู้ใหญ่จัดไว้ จะเลือกเอาตามใจตนไม่ได้ กว่าจะเป็นคนรู้ เปรียบเหมือนเด็กแรกจะเล่าเรียน เป็นหน้าที่ของมารดาบิดาจะเลือกให้ได้รับการเล่าเรียน อันจะเป็นประโยชน์แก่ตัวเด็ก ตลอดถึงครอบครัว อีกอย่างหนึ่งรัฐบาลจะจัดการศึกษา ก็ย่อมจัดให้พลเมืองได้รับการเรียน อันจะเป็นประโยชน์แก่แผ่นดิน ตลอดถึงตัวคนเรียนเอง ในฝ่ายพระศาสนาก็เช่นนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ในคณะ จะพึงดำริถึงการเล่าเรียนของภิกษุสามเณรว่าเช่นไรจะเป็นประโยชน์แก่พระศาสนา ตลอดถึงตัวผู้เรียนเอง เช่นในบัดนี้ เราพร้อมด้วยมหาเถรสมาคม ได้ตั้งหลักสูตรแห่งการเล่าเรียนไว้สำหรับภิกษุนวกะ ผู้มีพรรษาต่ำกว่า ๕ และสามเณร ให้เรียนธรรมวิภาค เพื่อจะได้ทรงจำข้อธรรมไว้ได้มากและแก้กระทู้ธรรมเพื่อจะได้รู้ใจความแห่งธรรมกว้างขวาง วินัยบัญญัติเพื่อจะได้รู้จักสังวรให้ต้องตามขนบธรรมเนียมของภิกษุ และพุทธประวัติ เพื่อจะได้รู้ พระพุทธจรรยาของพระศาสดา และยังจะจัดหลักสูตรแห่งการเล่าเรียนสำหรับภิกษุมัชฌิมะตั้งแต่ ๕ พรรษาขึ้นไป และภิกษุเถระตั้งแต่ ๑๐ พรรษาขึ้นไป ผู้ใหญ่วางหลักสูตรไว้อย่างใด ภิกษุสามเณรควรเรียนอย่างนั้น มีความรู้เป็นสามัญอย่างนี้แล้ว แต่นั้นรักในทางใดต่อไป จึงเลือกเรียนในทางนั้น จงเข้าใจว่า ความรู้ที่ต้องการมาก นั้นแลเป็นประโยชน์ ฯ

          แลการสอบความรู้ที่ได้จัดขึ้นนั้น ก็เพื่อจะเลือกได้ผู้มีความรู้เป็นกำลังพระศาสนา ถ้ามีผู้สอบได้น้อย ก็ไม่คุ้มแก่ความเหน็ดเหนื่อยและค่าโสหุ้ย อีกทางหนึ่ง ถ้าเห็นแก่จะได้นักธรรมเกินไป ผู้สอบได้ก็คงมีความรู้อ่อนที่ใช้การไม่ค่อยได้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่จะคิดผ่อนผันถือเอาการณ์และความรู้เป็นประมาณ ไม่เห็นแก่หน้าบุคคล ฯ

          ฝ่ายนักเรียนผู้เข้าสอบความรู้มากด้วยกัน ก็คงมีความรู้หย่อนกว่ากัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็คงมีผู้สอบได้บ้าง ตกบ้าง รูปใดตก รูปนั้นก็คงมีความเสียใจเป็นธรรมดา แต่จงมีสติอดกลั้นความโทมนัสไว้ อย่าให้แสดงวิการ จนถึงเป็นเหตุเสียสังวร การเรียนธรรมก็เพื่อปฏิบัติชอบ เรียนแล้วกลับประพฤติผิดจากทางธรรม การเรียนนั้น กลับจะให้โทษไม่เรียนดีกว่า คราวนี้ตก ยังมีคราวหน้าที่จะเข้าสอบได้อีก ไม่ควรจะพร่าสมณปฏิบัติของตนให้เสียเลย ฯ

          วันนี้ เป็นคราวที่จะสอบกระทู้ธรรม มีประโยชน์อย่างไร ได้กล่าวในข้างต้นแล้ว ขอนักเรียนจงตั้งใจแก้ให้สำเร็จประโยชน์เถิด ฯ

 

*(ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา. หน้า ๔๒๒-๔๒๓.)

×

รายงานสอบความรู้ธรรมและบาลีของสนามหลวง*

พ.ศ. ๒๔๕๘

 

          ในการสอบความรู้คราวนี้ การส่งบัญชีรายชื่อภิกษุสามเณรผู้ขอเข้าสอบวัดที่เป็นเจ้าสำนักเรียนได้ส่งตามระเบียบ ทันตามกำหนดเวลาที่กะไว้ จึงเปิดการสอบความรู้ได้เร็วเข้ามา ฯ

          เนื่องด้วยการส่งบัญชีนั้น เป็นอันตั้งสำนักเรียนใหญ่ขึ้นได้หลายตำบล เพื่อเอาเป็นธุระดูแลการเล่าเรียนของสำนักเรียนน้อย และของวัดที่ยังไม่ได้จัดเป็นสำนักเรียน สำนักเรียนใหญ่นั้น จัดขึ้นในบัดนี้ ๑๑ วัด คือ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธ วัดมหาธาตุ วัดพระเชตุพน วัดสุทัศนเทพวราราม วัดเบญจมบพิตร วัดเทพศิรินทราวาส วัดบรมนิวาส วัดราชาธิวาส วัดอนงคาราม วัดประยุรวงศาวาส ฯ

          วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่รวมวัดมกุฏกษัตริยาราม วัดพิชยญาติการาม ที่ได้ยกเป็นสำนักเรียนน้อยแล้ว และวัดราชประดิษฐ์ที่ยังไม่ได้ยกเป็นสำนักเรียน ฯ

          วัดราชบพิธ เป็นหัวหน้าแห่งวัดในจังหวัดนนทบุรี จังหวัดพระประแดง จังหวัดมีนบุรี จังหวัดสมุทรปราการ ฯ

          วัดมหาธาตุ เป็นที่รวมแห่งวัดชนะสงคราม วัดมหรรณพาราม วัดระฆัง และวัดอื่นในแขวงบางกอกน้อยเดิม ฯ

          วัดพระเชตุพน เป็นที่รวมแห่งวัดราชบุรณะที่ยกเป็นสำนักเรียนน้อยแล้ว และวัดในแขวงภาษีเจริญและแขวงหนองแขม ฯ

          วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นที่รวมวัดสระเกศ วัดจักรวรรดิ ที่ได้ยกเป็นสำนักเรียนน้อยแล้ว และวัดเทพธิดา วัดราชนัดดา และวัดอื่นในแขวงสำเพ็งเดิม

          วัดเบญจมบพิตร เป็นที่รวมแห่งวัดในแขวงดุสิตเดิม ฯ

          วัดเทพศิรินทราวาส เป็นสำนักเรียนเฉพาะวัด มีวัดสัมพันธวงศ์สมทบ ฯ

          วัดบรมนิวาส เป็นสำนักเรียนเฉพาะวัด มีวัดปทุมวนารามสมทบ ฯ

          วัดราชาธิวาส เป็นสำนักเรียนเฉพาะวัด ฯ

          วัดอนงคาราม เป็นที่รวมแห่งวัดในแขวงบางลำภูล่างและแขวงราชบุรณะ เดิม ฯ

          วัดประยุรวงศาวาส เป็นที่รวมแห่งวัดในแขวงบางกอกใหญ่เดิม มีวัดอรุณราชวรารามและวัดกัลยาณมิตรเป็นต้น ฯ

 

          ภิกษุสามเณรผู้เข้าสอบในสนามหลวงคราวนี้ ต้องเป็นนักธรรมของสำนักเรียนใหญ่เหล่านั้นมาก่อนแล้วทั้งนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การรับโอนนักธรรมของวัดเป็นนักธรรมของสนามหลวง เป็นอันต้องเลิกอยู่เอง ฯ

          ได้เปิดสนามหลวงที่วัดเบญจมบพิตรก่อน เริ่มวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ สุดวันที่ ๑๗ เดือนเดียวกัน เว้นวันธรรมสวนะในระหว่าง รวมวันสอบวันตรวจ ๑๔ วัน จำนวนนักเรียนเข้าสอบธรรมใหม่ ๖๑๙ รูป ประโยค ๑ เดิมสอบเพิ่ม ๒๔ รูป รวม ๖๖๑ รูป สอบได้ใหม่ ๓๓๐ รูป เดิม ๓๗ รูป รวม ๓๖๗ รูป ข้ามชั้น ๖ รูป คงได้ชั้นนี้ ๓๖๑ รูป ตก ๒๙๔ รูป นักธรรมชั้นตรีภูมิสามเณร เข้าสอบวินัยเพิ่ม ได้ ๓๓ รูป ตก ๔ รูป จำนวนนักธรรมเข้าสอบบาลีเพื่อเป็นเปรียญธรรม ๘๒ รูป สอบได้ ๖๑ รูป แปลบาลีได้ ๒ ประโยคไว้ก่อนแล้ว สอบธรรมได้ในคราวนี้ ๓ รูป เป็น ๖๔ รูป ตก ๑๘ รูป หักจำนวนได้ชั้นนักธรรมใหม่ ๗ รูป คงตกชั้นนี้ ๑๑ รูป จำนวนเปรียญเข้าสอบบาลีประโยค ๕, ๓๐ รูป ได้ ๑๕ รูป ตก ๑๕ รูป นักเรียนเข้าสอบธรรมมาก ต้องจัดสอบเป็น ๓ คราว แต่ใช้วิธีคัดผู้ตกในอย่างหนึ่ง ๆ แล้วออกเสียในระหว่าง สอบความรู้บางอย่างจึงใช้เพียง ๒ คราวบ้าง คราวเดียวบ้าง สมเด็จพระมหาสมณะทรงเป็นแม่กอง กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์กับพระธรรมวโรดม เป็นรองแม่กอง กองตรวจได้จัดเป็น ๘ แต่ ๒ กองมีหน้าที่ตรวจเฉพาะประโยคนักธรรม เสร็จแล้วเลิก คงเพียง ๖ กอง ฯ

          ในลำดับมา ได้เปิดสนามหลวงอีกคราวหนึ่งที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อ วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ และต่อมาอีก ๓ วัน สอบบาลีประโยค ๗ ประโยค ๖ ประโยค ๔ ตามธรรมเนียมเดิม แบ่งเป็น ๓ กอง สมเด็จพระมหาสมณะเสด็จประทับเป็นประธาน กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็นแม่กองกลาง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็น แม่กองขวา พระธรรมวโรดม เป็นแม่กองซ้าย ประโยค ๗ เข้า ๑ รูป ตก ประโยค ๖ ได้ ๒ รูป ตก ๓ รูป ประโยค ๔ ได้ ๒๗ รูป ตก ๑๗ รูป ฯ

          จัดตั้งสำนักเรียนขึ้นได้ประโยชน์ดี ผู้เข้าสอบทั้งธรรมทั้งบาลีมีจำนวนได้มากกว่าตก สำนักที่ควรยกขึ้นกล่าว สำนักวัดมหาธาตุ เข้าสอบประโยคธรรมทั้งเปรียญธรรมทั้งนักธรรม ได้ถึง ๑๐๗ รูป ตกเพียง ๑๘ รูป เข้าบาลีประโยค ๕ ประโยค ๔ ได้ ๑๓ รูป ตกเพียง ๕ รูป การเรียนธรรมของสำนักวัดอนงคาราม อ่อนไป จำนวนตกมากกว่าจำนวนได้เกือบ ๒ เท่า การเรียนธรรมของวัดประยุรวงศ์ เจริญขึ้นมีจำนวนได้มากกว่าจำนวนตกเกือบ ๒ เสี้ยวสาม ฯ

 

          การเรียนชั้นนวกภูมิ เห็นว่าขึ้นถึงที่ นำให้จัดการต่อไปในคราวหน้า ดังนี้ :-

          ๑. งดสอบองค์นักธรรมเลื่อนประโยค ผู้ที่สอบได้ประโยค ๑ ไว้เดิมแล้ว จะเข้าประโยค ๒ ต่ออีกไม่ได้ ปรารถนาจะเป็นนักธรรมชั้นตรี ต้องเข้าสอบใหม่ทีเดียว ฯ

          ๒. เลิกการแปลบาลีด้วยปากตามวิธีเดิม ใช้เขียนแทนตลอดทุกประโยค ฯ

          ๓. เพิ่มเติมและเปลี่ยนหลักสูตรบาลีประโยค ๔ กับประโยค ๖ จัดมังคลัตถทีปนี้ทั้งสองนั้น เป็นหลักสูตรสำหรับประโยค ๔ อย่างเดียว ให้แปลความไทยแห่งธัมมปทัฏฐกถาหรือหนังสืออื่นอันจะจัดต่อไป กลับเป็นมคธภาษา เป็นหลักสูตรสำหรับประโยค ๖ ที่ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วทั้ง ๒ อย่าง ฯ

          เตรียมจะขยายหลักสูตรนักธรรมและเปรียญธรรมชั้นโท หรือชั้นมัชฌิมะ ต่อไป ฯ

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๓ พ.ศ. ๒๔๕๘. หน้า ๔๗๕-๔๘๑.)

×

รายงานการสอบความรู้องค์นักธรรมในต่างจังหวัด*

พ.ศ. ๒๔๕๘

 

          การสอบความรู้ในศกนี้ ได้เปิดสนามจังหวัดขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและที่จังหวัดนครศรีธรรมราช อีก ๒ แห่ง แต่ที่มณฑลภาคพายัพชะงักไป หาได้รับรายงานว่าได้จัดสอบไม่ ในจังหวัดนอกจากนี้ที่ได้เคยสอบมาแล้ว คงได้เปิดสนามมณฑลบ้าง สนามจังหวัดบ้างสอบต่อมา สมเด็จพระมหาสมณะทรงตั้งแม่กอง ผู้จัดการสอบ มีรายดังต่อไปนี้

          ๑. ที่จังหวัดกรุงเทพฯ โปรดให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่หนกลางและแม่กองสนามหลวง เป็นแม่กอง เป็นสนามจังหวัดสอบและตรวจที่วัดราชบพิธ ฯ

          ๒. ที่มณฑลกรุงเก่า สมเด็จพระมหาสมณะทรงเป็นแม่กองเอง เปิดประโยคสอบตามจังหวัด ที่กรุงเก่าเสด็จเอง ที่จังหวัดอ่างทองและที่จังหวัดสิงห์บุรี ประทานประโยคไปให้เจ้าคณะเมืองเปิดสอบในวันเดียวกัน เสร็จแล้วส่งมาวัดบวรนิเวศวิหาร เปิดสนามมณฑลที่นี้ โปรดให้พระราชาคณะพระครูฐานานุกรมเปรียญ กรุงเทพฯ บ้าง กรุงเก่าบ้างเป็นกรรมการตรวจ ฯ

          ๓. ที่มณฑลราชบุรี โปรดให้พระศรีวิสุทธิวงศ์ กรรมการสนามหลวง เป็นแม่กอง เปิดสนามมณฑลสอบและตรวจที่วัดสัตตนาถปริวัตน์ จังหวัดราชบุรี ฯ

          ๔. ที่จังหวัดอุทัยธานีมณฑลนครสวรรค์ โปรดให้พระราชสุธี พระคณาจารย์เอก กรรมการสนามหลวงเป็นแม่กอง เปิดสนามจังหวัดสอบและตรวจที่วัดทุ่งแก้ว จังหวัดอุทัยธานี ฯ

          ๕. ที่จังหวัดนครราชสีมามณฑลชื่อนี้ โปรดให้พระมหาขาว ผู้รั้งวัดสามพระยา กรรมการสนามหลวง เป็นแม่กอง เปิดสนามจังหวัดสอบและตรวจที่วัดกลาง จังหวัดนครราชสีมา ฯ

          ๖. ที่จังหวัดอุบลราชธานี โปรดให้พระราชมุนี เจ้าคณะมณฑลชื่อนี้ กรรมการสนามหลวง เป็นแม่กอง ตรวจใบสอบของนักธรรมวัด เพื่อรับโอนเป็นนักธรรมคณะจังหวัด เปิดสนามตรวจที่วัดสุปัฏน์ จังหวัดอุบลราชธานี ฯ

          ๗. ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โปรดให้พระธรรมโกศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลชื่อนั้น เป็นแม่กอง เปิดสนามจังหวัดสอบและตรวจที่วัดท่าโพ จังหวัดนครศรีธรรมราช ฯ

          ในมณฑลกรุงเก่าและในจังหวัดอุทัยธานี การเรียนเจริญ มีภิกษุสามเณรสอบได้ครบองค์นักธรรมชั้นตรีมากขึ้น ที่จังหวัดนครราชสีมาในศกนี้ สอบขยายขึ้นไปได้ถึงประโยค ๒ ครบองค์นักธรรมชั้นตรี ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สอบถึงองค์นักธรรมชั้นตรี แต่สอบพุทธประวัติยังบกพร่อง สั่งให้สอบใหม่ ยังไม่ได้สอบ ในระหว่างนี้ ให้พักอยู่เพียงประโยค ๑ ฯ

          จำนวนภิกษุสามเณรผู้เข้าสอบได้เต็มภูมิเป็นนักธรรมชั้นตรี ๑๗๙ เลื่อน จากภูมิสามเณรขึ้นสู่ภูมิภิกษุ ๗ พักเพียงประโยคหนึ่ง ๙๘ รวม ๒๘๔ ตก ๒๕๙ มีรายจังหวัดรายมณฑลแผนกหนึ่ง จำนวนได้ศกนี้ เฉพาะนักธรรมชั้นตรี ตกจากจำนวนศกหลัง ๑๐๒ ประโยคหนึ่ง ๓๙๘ เพราะในมณฑลภาคพายัพหาได้สอบไม่ ที่มณฑลนั้นหยุดสอบความรู้เข้าใจว่าขาดผู้เป็นปัจจัย เหตุเจ้าพระยาสุรสีหวิสิษฐศักดิ์ลงมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย อยู่กรุงเทพฯ พระอภัยสารทะ เจ้าคณะจังหวัดถึงมรณภาพ พระนพีสีพิศาลคุณ พระคณาจารย์โท ผู้เป็นอุปการะอยู่ในการ นี้ลาสิกขา ฯ

          ในศกนี้ ได้มีโรงเรียนนักธรรมสร้างขึ้นใหม่ ๒ แห่ง พระครูโยคานุกูล (มหารอด) พระคณาจารย์ตรี ผู้จัดการเรียนของคณะกรุงเก่า ได้เป็นหัวหน้าเรี่ยไรสร้างโรงเรียนนักธรรมคณะกรุงเก่าขึ้น ๑ หลัง ที่วัดเสนาสนาราม กรุงเก่า เคลือบ ภรรยา กับเชยบุตรี ของขุนพิพัฒน์พานิช (เฉย) ผู้ถึงแก่กรรม ปรารภถึงขุนพิพัฒน์พานิช ว่าเป็นผู้เลื่อมใสและได้เคยเอาเป็นธุระในการเรียนธรรมวินัยของภิกษุสามเณร ปรารถนาจะบำเพ็ญกุศลเพื่อขุนพิพัฒน์พานิช ให้เนื่องด้วยการนี้ จึงสร้างโรงเรียนนักธรรมคณะจังหวัดอุบลขึ้น ๑ หลัง ที่วัดสุปัฏน์ จังหวัดนั้น ฯ

          ตั้งแต่ได้จัดการสอบความรู้ขึ้นในจังหวัดทั้งหลาย ความรู้จักเขียนรู้จักใช้อักษร และความสนใจในธรรมวินัยค่อยเจริญขึ้น หวังว่าจักเป็นปัจจัยถึงความปฏิบัติด้วย ฯ

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๔ พ.ศ. ๒๔๕๙. หน้า ๑๘๙-๑๙๕.)

×

บันทึกความเห็น

ปรารภปัญหาและเฉลยประโยคองค์นักธรรม

ซึ่งสอบในสนามจังหวัดกรุงเทพฯ*

พ.ศ. ๒๔๕๘

 

ธรรมวิภาค

          ๓. คนใดไม่ทำผิด คนนั้นชื่อว่าประพฤติดี นี้ได้แก่เว้นจากทุจริต ชื่อว่าตั้งอยู่ในสุจริต แต่คนใดไม่เป็นขโมย จักชื่อว่าผู้ทำทานหามิได้ นี้ความเว้นกับความทำ ไม่ใช่อย่างเดียวกัน บำเพ็ญกุศลในโอวาทข้อ ๒ ได้แก่ให้ช่วยชีวิตเขา ให้บริจาคทรัพย์ของตนเกื้อกูลเขาเป็นต้น พุทธศาสนิกชนโดยมากเข้าใจเฉพาะนัยต้นเท่านั้น จึง ห่างเหินจากการทำความดีความงาม เป็นอันไม่ได้บำเพ็ญปธาน ๒ เบื้องปลาย การสอบความรู้ ควรจะเอานัยที่ ๒ เป็นอันบำรุงคนให้ทำความดีด้วย ฯ

          ๔. การที่แยกโอวาทเป็น ๒ ข้อ เพราะความต่างกันตามนัยที่ ๒ ดังกล่าว แล้วนั้น ฯ

          ๑๑. ผลที่บุคคลปรารถนา แต่ได้ด้วยยาก และธรรม ๔ ประการ ที่ให้ได้สมปรารถนา เป็นบรรยายของทิฏฐธัมมิกัตถะและสัมปรายิกัตถะนั้นเอง ฯ

 

วินัยบัญญัติ

          ๕. การกล่าวถึงประมาณ ตอบตามหลัก ต้องกล่าวสุคตประมาณ กล่าวประมาณอื่นไม่เป็นหลัก เป็นสักว่าการเก็งเท่านั้น ฯ

          ๖. ตามคำว่า อนุญาตให้อธิษฐานตลอดฤดูฝนสี่เดือน พ้นจากนั้นให้วิกัป ดังนี้ เห็นว่าหมดเขต ชื่อว่าละอธิษฐานไปเอง จึงต้องวิกัปเพราะไม่ทำเช่นนั้น เป็น นิสัคคิยะ บริขารที่จะพึงปัจจุทธรณ์นั้นเห็นว่าบริขารที่ได้รับอนุญาตให้มีสิ่งเดียว ไม่จำกัดกาล คือ ไตรจีวรอย่างละผืน บาตรใบเดียว ผ้านิสีทนะผืนเดียว ไม่ปัจจุทธรณ์ ของเดิม อธิษฐานของใหม่ ชื่อว่ามีเป็นสอง ทำเหนือพระพุทธานุญาต ผ้าซึ่งอธิษฐานที่สอง ไม่เป็นอันอธิษฐาน จะอธิษฐานใหม่ จึงต้องปัจจุทธรณ์ก่อน ฯ

 

*(ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา. หน้า ๔๓๑-๔๓๘.)

 

          ๑๐. เห็นแก้ความมัวมาตั้งแต่บาลีมหาวิภังค์แล้ว พอใจจะแก้ว่า มุ่งจะกำจัดภิกษุรูปใด กล่าวว่าได้เห็นภิกษุรูปพรรณอย่างนั้น ๆ ระบุให้แม้นลักษณะของภิกษุรูปนั้น ถือของอย่างนั้นวิ่งหนีไป มีคนไล่ตามร้องว่าขโมย ๆ มีความรังเกียจในภิกษุรูปนั้น ขอให้พิจารณา ฯ

          ๑๑. ต้องอาบัติเพราะสำคัญว่าควรในของไม่ควร มีแต่ต้องตามวัตถุอย่างเดียว และเป็นอจิตตกะทั้งนั้น อุทาหรณ์ที่ ๒ ชักมาผิด ต่อสำคัญว่าไม่ควรในของควร และทำ จึงต้องอาบัติทุกกฏ ไม่มีอาบัติอื่นเพราะวัตถุเป็นของควร สงสัยแล้วขึ้นทำ ถ้าวัตถุไม่ควร อาบัติเป็นอจิตตกะ ต้องตามวัตถุ เหมือนสำคัญว่าควรในของไม่ควร วัตถุไม่ควร แต่อาบัติเป็นสจิตตกะ เช่น น้ำมีตัวสัตว์ ก็ดี วัตถุควร เช่นน้ำไม่มีตัวสัตว์ ก็ดี ต้องทุกกฏเพราะสงสัยแล้วขึ้นทำ เหมือนต้องเพราะสำคัญว่าไม่ควรในของควร แล้วขึ้นทำ ฯ

          ๑๒. ต่อล่วงด้วยไม่เอื้อเฟื้อ จึงปรับได้ ตั้งใจจะรักษา แต่พ้นความสามารถ เช่น พระบวชใหม่ อยากจะครองผ้าให้เรียบ แต่ครองไม่เป็น รุ่มร่าม ดังนี้ไม่ต้อง ฯ

 

พุทธประวัติ

          ๑๒. มีอุปมาจะเปรียบให้เห็นง่าย เมื่อจะสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จะหาผู้เห็นและจำได้ถนัดดูเหมือนไม่มีแล้ว ได้แต่ฟังคำผู้ได้ยินเล่าสืบกันมาว่า ท่านมีพระโฉมเช่นนั้น ๆ นายช่างก็ปั้นอุทิศท่าน ข้อสำคัญก็มีเพียงทำให้ประกอบด้วยรูปกายสัมปทา เมื่อพระศาสดานิพพานไปแล้ว น่ามีคำกล่าว ในหมู่สาวกว่า พระศาสดามีพระโฉมเช่นนั้น ๆ สืบกันมา อันเป็นมูลแห่งการบัญญัติมหาบุรุษลักษณะ แต่บางที การบัญญัติมหาบุรุษลักษณะพึ่งเกิดขึ้นเมื่อแปลงเทวรูปเป็นพระพุทธรูปแล้ว พระเมาลีก็น่าเป็นเช่นนั้น ฯ

          ๑๓. เรื่องพระอัครสาวกนั้น เข้าใจว่า ในครั้งพุทธกาล ได้รับยกย่องของพระศาสดาว่า เป็นแหลมในทางปัญญาและสามารถกล่าวคือเอตทัคคฐาน เป็นที่นิยมนับถือของพวกสาวกด้วยกันในทางนั้น เช่นนี้แม้อ่อนกว่าก็เป็นได้ แม้ตั้งก็ได้ เรายังเลือกตั้งผู้สามารถข้ามหน้าผู้แก่กว่า กาลล่วงมานาน เกียรติคุณของท่านก็เบ่ง ออกทุกที จนถึงจัดเป็นขวาเป็นซ้าย แต่ก็คงมีมูล เป็นเหมือนพระกรขวาพระกรซ้าย ของพระศาสดาก็ได้ ฯ

 

กรม-วชิรญาณวโรรส

 

ปัญหาธรรมวิภาค

วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘

          ๓. ถ้าบุคคลตั้งอยู่ในโอวาทข้อที่ ๑ แล้ว เป็นอันได้ประพฤติข้อที่ ๒ ด้วยหรือไม่ เพราะเหตุไร

          ๔. เหตุไฉน โอวาทนั้นจึงต้องมีทั้ง ๒ ข้อ คือ ข้อที่ ๑ ข้อที่ ๒

 

คิหิปฏิบัติ

           ๑๑. เหตุไฉน สัมปรายกัตถประโยชน์ คือประโยชน์ในภายหน้า และธรรม เป็นเหตุให้สมหมายจึงมี ๔ ประการเหมือนกัน และข้อธรรมที่จำแนกออกก็เหมือนกัน

 

ปัญหาวินัย

วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘

          ๕. ผ้าวัสสิกสาฏิกานั้น ต้องทำให้ได้กำหนดยาวกว้างเท่าไร ถ้าทำยาวหรือกว้างเกินกำหนดไป เป็นอาบัติอะไร ต้องทำอย่างไรก่อน จึงแสดงอาบัตินั้นตก

          ๖. อนึ่ง ผ้าวัสสิกสาฏิกานั้น ต้องอธิษฐานเมื่อไรถึงไหน และหมดเขตอธิษฐานนั้นแล้ว จะต้องถอนแล้ววิกัปหรือขาดอธิษฐานไปเอง

          ๑๐. ภิกษุโกรธเคือง แกล้งหาเลศโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิก ต้องสังฆาทิเสส จงชักตัวอย่างในข้อว่า แกล้งหาเลศโจทมาให้ได้ความจะแจ้ง

          ๑๑. ภิกษุต้องอาบัติด้วยอาการคือ สำคัญว่าควรในของที่ไม่ควรนี้คงต้องอาบัติเหมือนความสำคัญถูกหรือต้องอาบัติอย่างอื่น จงชักตัวอย่างที่ภิกษุต้องอาบัติ ด้วยอาการเช่นนี้มาด้วย และจะสังเกตอย่างไรในข้อนี้

          ๑๒. ถ้าภิกษุล่วงในเสขิยวัตต์ข้อใดข้อหนึ่ง จะพึงปรับอาบัติอะไร

 

ปัญหาพุทธประวัติ

วันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘

          ๑๒. พระลักษณะของพระผู้มีพระภาคมีกล่าวไว้ในพระบาลีดังนั้น จะมีประโยชน์อย่างไรบ้างแก่ชนเกิดมา ณ ภายหลัง จงแสดงประโยชน์อันมีให้ได้ ๓ ประการ ให้สมเหตุสมผล

          ๑๓. พระภิกษุปัญจวัคคีย์ได้อุปัฏฐากพระบรมศาสดา เมื่อทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา และพระองค์ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้โปรดประทานโอวาท ให้ท่านได้บรรลุมรรคผลเป็นพระขีณาสพก่อนพระสาวกอื่น ๆ เหตุไร ท่านไม่ได้เป็นพระอัครสาวก พระสารีบุตรพระโมคคัลลานะได้ตรัสรู้ธรรมวิเศษทีหลัง กลับได้เป็นพระ อัครสาวก

 

เฉลยปัญหาธรรมวิภาค

วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘

          ๓. ถ้าบุคคลตั้งอยู่ในโอวาทข้อที่ ๑ แล้วเป็นอันได้ประพฤติข้อที่ ๒ ด้วย เพราะเว้นจากทุจริตแล้ว ก็เป็นอันประกอบสุจริตด้วย

          ๔. เหตุจะให้โอวาทนั้นมีครบและถี่ถ้วน ทั้งจะให้ผู้ปฏิบัติรู้และละส่วนชั่ว เจริญส่วนดี

คิหิปฏิบัติ

          ๑๑. เหตุข้อธรรมทั้ง ๔ นั้น เป็นได้ทั้งประโยชน์ในภพหน้าและภพนี้

 

เฉลยปัญหาวินัย

วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘

           ๕. ต้องทำให้ได้กำหนด คือยาว ๖ คืบ กว้าง ๒ คืบครึ่ง แห่งคืบพระสุคต ตรงกับยาว ๔ ศอก ๓ กะเบียด กว้างศอกคืบ ๔ นิ้วกับ ๑ อนุกะเบียด แห่งช่างไม้ (ตอบประมาณอย่างหนึ่งอย่างใด ถูกก็ใช้ได้) ถ้าทำยาวหรือกว้างเกินกว่ากำหนดไป ต้องปาจิตตีย์ ต้องตัดให้ได้ประมาณก่อน จึงแสดงอาบัตินั้นตก

          ๖. ผ้าวัสสิกสาฏิกานั้น ต้องอธิษฐานไว้ตั้งแต่วันต้นฤดูฝนจนหมดเขตฤดูฝน คือตั้งแต่วันแรมค่ำ ๑ เดือน ๘ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ หมดเขตอธิษฐานนั้นแล้ว ต้องถอนและวิกับ

          ๑๐. ตัวอย่างเช่น ภิกษุเคยเห็นขโมยลักของเขา จึงตั้งใจเอาภิกษุที่คนโกรธเคืองจะโจท ว่าเป็นขโมยนั้น แล้วโจทว่า ภิกษุนั้นลักของอย่างนั้นไป ดังนี้ ชื่อว่า แกล้งหาเลศโจทย์

          ๑๑. สำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร คงต้องอาบัติเหมือนความสำคัญถูกก็มี ต้องอาบัติอย่างอื่นก็มี ตัวอย่างเหมือนเวลาเที่ยงแล้วสำคัญว่ายังไม่เที่ยง ก็ฉันอาหารอยู่ คงต้องปาจิตตีย์ เหมือนสำคัญว่าเที่ยงแล้วขืนฉัน สัตว์เล็ก ๆ ยังไม่ตาย สำคัญว่าตายแล้ว เอาน้ำร้อนเทรดถูกสัตว์นั้นตาย ต้องทุกกฏ มีทางสังเกต คือ อาบัติที่เป็นอจิตตกะคงเป็นอาบัติเหมือนสำคัญถูก อาบัติที่เป็นสจิตตกะ คงเป็นอาบัติอื่น คือเช่นน่าจะเป็นปาจิตตีย์ ก็เป็นแต่ทุกกฏ

          ๑๒. ปรับอาบัติทุกกฏ

 

เฉลยปัญหาพุทธประวัติ

วันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘

          ๑๒. หาใช่พระสาวกกล่าวไว้ หรือสวดประกาศเพื่อจะอวดว่า พระศาสดาของเราทั้งหลายมีพระวรกายส่วนนั้นงามอย่างนี้ ส่วนนี้งามอย่างนั้นไม่ มีประโยชน์ ๓ ประการ คือ สำหรับได้ทำพระพุทธปฏิมาให้เหมือนหรือแม้นพระองค์ประการ ๑ ยังประชุมชนได้เห็นพระพุทธปฏิมานั้นแล้วเลื่อมใสกราบไหว้ทำสักการบูชา ระลึกถึงพระคุณ เป็นอารมณ์โดยอาการอันสนิท ประการ ๑ ครั้งโน้นไม่มีวิชาถ่ายรูป พระลักษณะที่กล่าวไว้ในมหาปุริสลักขณพยากรณศาสตร์ น่าจะใช้ได้เหมือนได้ฉายพระรูปไว้ ถ้ามิฉะนั้นก็จะรู้กันไม่ได้ ว่าพระรูปพระโฉมพระบรมศาสดาเป็นอย่างไร ประการ ๑

          ๑๓. หาได้เป็นด้วยบวชก่อนบวชหลังไม่ พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ ท่านคงมีความสามารถเพียงพอเป็นอัครสาวกได้ ท่านจึงได้เป็นอัครสาวก และ ได้ยินว่าท่านสร้างบารมีปรารถนาอัครสาวกภูมิมา พระอัญญาโกณฑัญญะได้ยินว่า เป็นแต่ท่านสร้างโพธิสมภารเพื่อได้ตรัสรู้ธรรมก่อนผู้อื่น

×

รายงานสอบความรู้ธรรมและบาลีของสนามหลวง*

พ.ศ. ๒๔๕๙

 

          การสอบความรู้บาลีประโยคสูงคราวนี้ ได้เลิกวิธีแปลด้วยปากใช้เขียนทั่วทุกประโยค และเพิ่มหลักสูตรประโยค ๔ ยกเอามังคลัตถทีปนีบั้นปลายมาสมทบเข้าด้วย และหลักสูตรประโยค ๖ ให้แปลความไทยกลับเป็นมคธ ใช้ธัมมปทัฏฐกถา เป็นหลักสูตร ได้จัดการสอบพร้อมกันไปกับสอบธรรม ย่นวันสอบเข้าได้อีก ๔ วัน จัดสอบที่วัดเบญจมบพิตรทั้งนั้น ที่นั่งเขียนไม่พอกัน ต้องแบ่งพวกสอบบาลีมาเขียนที่วัดบวรนิเวศวิหาร แต่ตรวจประโยคที่วัดเบญจมบพิตร ฯ

          เมื่อจัดสอบพร้อมกันไป จึงต้องอนุญาตให้ผู้มีประโยคธรรมคั่นอยู่เข้าสอบบาลีไปได้พลาง แต่ถ้าผู้สอบเป็นนักเรียนสามัญ ตกประโยคนักธรรมชั้นตรีแล้ว ประโยคบาลีสำหรับชั้นนั้นเป็นตกด้วย ถ้าผู้สอบเป็นเปรียญหรือเป็นนักธรรมมาแต่ครั้งเป็นสามเณรแล้ว อุปสมบทเป็นภิกษุขึ้น เป็นแต่เพียงจะต้องสอบวินัยก่อนเท่านั้น สอบวินัยตก แต่ได้บาลี ต้องรอสอบวินัยให้ได้ก่อน จึงจะได้รับตั้งและเข้าสอบเพื่อเลื่อนประโยคได้อีก ฯ

          ได้เปิดสนามหลวงสอบธรรมที่วัดเบญจมบพิตร สอบบาลีที่วัดบวรนิเวศวิหารพร้อมกันไป กำหนดวันและประโยคหลีกกัน เพื่อสะดวกแก่ผู้เข้าสอบทั้งสองอย่าง เริ่มวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ จบวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ เว้นวันที่ ๑๔ อันเป็นวันพระ รวมวันสอบวันตรวจ ๑๐ วัน จำนวนนักเรียนเข้าสอบธรรมใหม่ ๗๘๘ รูป สอบได้ประโยคนักธรรมชั้นตรี ๓๗๙ รูป ตก ๔๐๙ รูป จำนวนนักธรรมชั้นตรีภูมิสามเณร เข้าสอบวินัยเพิ่ม ๖๘ รูป ได้ ๖๒ รูป ตก ๖ รูป จำนวนนักธรรมเข้าสอบบาลีเพื่อเป็นเปรียญธรรม ๑๑๗ รูป ได้ ๖๔ รูป ตก ๕๓ รูป จำนวนเปรียญเข้าสอบบาลี ประโยค ๔ เข้า ๕๖ รูป ได้ ๒๑ รูป ตก ๓๕ รูป ประโยค ๕ เข้า ๓๑ รูป ได้ ๑๘ รูป ตก ๑๓ รูป ประโยค ๖ เข้า ๑๔ รูป ได้ ๘ รูป ตก ๖ รูป สมเด็จพระมหาสมณะทรงเป็นอธิบดีแม่กองกรรมการตรวจบาลี เทียบสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ไว้ แต่อาพาธมาไม่ได้ ว่างอยู่ สมเด็จพระมหาสมณะทรงเป็นพระธุระ พระธรรมวโรดม เป็นแม่กองกรรมการตรวจธรรม กองตรวจบาลี จัดเป็น ๔ กอง ตรวจธรรม จัดเป็น ๕ ฯ

          การสอบคราวนี้ ได้ผลไม่ค่อยเป็นที่พอใจ การเรียนบาลีของหลายสำนัก อ่อนไป ที่ควรยกขึ้นกล่าว ชั้นสูง ของสำนักวัดเบญจมบพิตร ได้ประโยค ๔ รูป เดียว ประโยคอื่นตกทั้งนั้น รวมกันเข้าถึง ๙ ลดลำดับลงมาเป็นที่ ๑๖ แห่ง ๑๘ ชั้นเปรียญธรรม ของวัดราชาธิวาสและของวัดพระเชตุพน เข้า ๙ รูป ๘ รูป ตกทั้งนั้น ไม่มีได้เลย ที่อ่อนมากทั้งสองอย่าง ของสำนักวัดสุทัศน์ เข้าบาลีทั้งชั้นสูงชั้นต่ำรวม ๙ รูป ตกทั้งนั้น เข้าธรรมในจำนวน ๖๕ ได้เพียง ๑๒ ตกถึง ๕๓ อยู่ในลำดับเทียบประโยคธรรมที่ ๒๔ แห่ง ๒๗ อยู่ในลำดับเทียบประโยคบาลีที่ ๑๓ แห่ง ๑๘ วัดสระเกศและวัดจักรวรรดิอันเป็นสำนักขึ้น กลับขึ้นอยู่ในลำดับสูงกว่า สองสำนักหลังนี้ แม้การเรียนชั้นธรรมยังไม่เจริญหรืออ่อนลง แต่การเรียนชั้นเปรียญธรรม เจริญขึ้น สำนักวัดสระเกศขึ้นอยู่ในลำดับที่ ๔ แห่ง ๒๗ นอกจากนี้ ยังมีอ่อน เป็นชั้น เช่นของสำนักวัดบวรนิเวศ อ่อนในชั้นบาลีประโยค ๕ เข้า ๒ รูป ตกทั้งนั้น ของสำนักที่เจริญดีควรสรรเสริญ คือของสำนักวัดมหาธาตุ ชั้นบาลีประโยคสูง ได้ถึง ๒๑ รูป ตกเพียง ๕ รูป ชั้นเปรียญธรรม ได้ถึง ๒๕ รูป ตกเพียง ๕ รูป ชั้นนักธรรม จำนวนได้มากกว่าจำนวนตกเกือบสองเท่า ทั้งได้คะแนนดีอยู่ในลำดับที่ ๑ ทั้งส่วนธรรมทั้งส่วนบาลี รองลงมา ของสำนักวัดอนงคาราม ดีทั้งการเรียน ธรรมทั้งการเรียนบาลี ขึ้นอยู่ในลำดับเป็นที่ ๒ ทั้งสองส่วน ฯ

          บาลีประโยค ๔ เพิ่มหลักสูตรและให้เขียน มีผู้สอบได้น้อยกว่าลำพังแปลด้วยปาก แต่จำนวนได้กับตกพอสมควรกัน การเขียนเคยทำมาแล้วในประโยคอื่น ไม่เป็นเหตุติดขัด ส่วนการเพิ่มหลักสูตรอาจเป็นปัจจัยแห่งการตกมากก็ได้ เพราะต้องดูหนังสือมากและดูไม่ทั่วถึง ประโยค ๕ แปลบาลีมุตตกวินัยวินิจฉัยสังคหะ คุ้นกันเข้า มีจำนวนเข้าแปลมากขึ้น พ้นจากความไม่สะดวกแล้ว ประโยค ๖ เกรง ว่าจักติดขัดมากเพราะไม่เคย กลับได้ดีเกินคาดหมาย จำนวนผู้เข้าสอบก็หลายรูป ทั้งเรียงประโยคก็พอดูได้ หวังว่าจักปลูกขึ้นได้ ฯ

 

          การเรียนธรรมภูมินวกะเจริญแพร่หลายแล้ว นำให้จัดการข้างหน้าดังต่อ ไปนี้ :-

          ๑. จำกัดสามเณรผู้เข้าสอบประโยคนักธรรม ต่อมีอายุได้ ๑๙ โดยปี จึงอนุญาตให้เข้าสอบ เว้นสามเณรผู้เข้าสอบประโยคเปรียญธรรมอายุหย่อนกว่านั้น ก็อนุญาตให้เข้า ฯ

          ๒. สนามจังหวัดก็ดี สนามมณฑลก็ดี เปิดสอบครบ ๓ คราวแล้ว ตั้งแต่คราวที่ ๔ ให้เปิดสอบถึงชั้นตรีทีเดียว ถ้าอาจจัดได้เร็วกว่านั้นให้จัดก่อน ส่วนผู้ได้ประโยค ๑ ค้างไว้ไม่ถึง ๒ คราวสอบ ให้สอบต่อได้ พ้นจากนั้นจะเข้า ให้สอบใหม่ ๆ

          ๓. ตั้งหลักสูตรสำหรับสอบประโยคนักธรรมชั้นโท ดังนี้ :-

          ก. เรียงความแก้กระทู้ธรรม ชักภาษิตในที่อื่นมาอ้างไว้ด้วย ต้องเชื่อมความกันให้สนิท

          ข. แก้ปัญหาธรรมวิภาคพิสดารออกไปถึงปริเฉทที่ ๒

          ค. แก้ปัญหาอนุพุทธประวัติ คือตำนานแห่งพระสาวก

          ฆ. แก้ปัญหาวินัยบัญญัติพิสดารออกไป ฯ

 

          เปรียญผู้จะเข้าสอบบาลีประโยค ๔ ต้องสอบองค์นักธรรมชั้นโท คือแก้กระทู้ธรรมกับธรรมวิภาคให้ได้ก่อน ผู้จะเข้าสอบบาลีประโยค ๕ ต้องสอบอนุพุทธประวัติและวินัยบัญญัติให้ได้ก่อน นักธรรมชั้นโทไม่ต้องสอบซ้ำ สอบบาลีประโยค ๖ ได้แล้ว เป็นเปรียญธรรมชั้นโท เปรียญบาลีตั้งแต่ประโยค ๔ ขึ้นไป ในศกนี้และล้ำเข้าไป จะเลื่อนประโยค ไม่ต้องสอบองค์นักธรรมชั้นโท ฯ

 

          ในส่วนบาลี การอันยังจักจัดต่อไปมีดังนี้ :-

          ๑. เมื่อสอบด้วยการเขียน ประโยคอันจะพึงออก ในวันเดียวต้องออกเหมือนกัน ต้องจ่ายหนังสือพิมพ์ให้แปล ต่อไปเปรียญจักอ่านหนังสือขอมไม่ออก พระไตรปิฎกชั้นอรรถกถาฎีกา ยังไม่ได้พิมพ์แทบทั้งนั้น จักอ่านไม่ออก หรือไม่ทำอุตสาหะเพื่อจะอ่าน จักให้ผู้เข้าสอบบาลี สอบอ่านเขียนหนังสือขอมด้วย เป็น บุรพประโยค ฯ

          ๒. ประโยค ๖ แปลไทยเป็นมคธได้แล้ว ประโยค ๗ ขึ้นไปชอบที่จะเป็นตามกัน จึงจักขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้งหลักสูตร ดังนี้ :-

          ก. สำหรับประโยค ๗ เพิ่มแปลความไทยแต่งจากมังคลัตถทีปนี้เป็นมคธ

          ข. สำหรับประโยค ๘ เพิ่มแปลความไทยจากบาลีมุตตกวินัยวินิจฉัยสังคหะเป็นมคธ

          ค. สำหรับประโยค ๙ เพิ่มแปลความไทยจากวิสุทธิมรรคเป็นมคธ ฯ

 

          เจ้าสำนักเรียนทั้งหลาย ได้เอาใจใส่ฝึกสอนเปรียญและนักเรียนในสำนัก ตามหลักสูตรที่ได้จัดขึ้นใหม่ทุกคราวมา สนามหลวงจึงได้สามารถเขยิบหลักสูตรให้สูงขึ้นโดยลำดับ ตามที่เป็นอยู่ในบัดนี้ ฯ

          อนึ่ง ในศกนี้ ได้ตั้งเกณฑ์จัดลำดับสำนักเรียนที่มีจำนวนได้ตกไว้ ดังนี้ :-

          ก. ประโยคนักธรรม จำนวนได้ตกนับคะแนนเดียว จำนวนตกไม่มากกว่า จำนวนได้ เป็นได้คะแนนเต็มเท่าจำนวนได้ ถ้าจำนวนตกมากกว่าจำนวนได้ เอาจำนวนได้หักแล้ว ส่วนเหลือเป็นคะแนนเสีย ๕ ต่อ ๑ เศษตั้งแต่ ๓ นับเป็น ๕ เพียง ๒ ลงมาไม่นับ เอาคะแนนเสียหักคะแนนได้ลง

          ข. ประโยคเปรียญธรรม จำนวนได้ตกนับเป็น ๒ คะแนน ผนวกเข้ากับประโยคนักธรรมแล้ว คิดถัวโดยนัยนั้น

          ค. ประโยคเปรียญบาลี จำนวนได้ตกนับคะแนนเดียว รวมเข้าทุกชั้น เอาจำนวนได้หักจำนวนตกที่มากกว่าแล้ว เศษเหลือเป็นคะแนนเสีย ๒ ต่อ ๑ เอาหักจำนวนได้ลง

          เกณฑ์นี้เป็นเครื่องเทียบรู้ความเจริญและความเสื่อมของสำนักเรียนทั้งหลายได้ถนัด ทั้งที่มีจำนวนนักเรียนมาก ทั้งที่มีจำนวนนักเรียนน้อย มีแจ้งในตารางเทียบนั้นแล้ว ฯ

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๔ พ.ศ. ๒๔๕๙. หน้า ๔๐๗-๔๑๔.)

×

รายงานการสอบความรู้องค์นักธรรมในต่างจังหวัด*

พ.ศ. ๒๔๕๙

 

          การสอบความรู้ในศกนี้ ได้เปิดสนามจังหวัดขึ้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ๑ แห่งและสนามมณฑลพายัพที่ชงักไปเมื่อศกหลัง คราวนี้ได้รับรายงานสอบความรู้ขึ้นอีก แต่สนามจังหวัดนครศรีธรรมราชหาได้สอบไม่ เพราะพระธรรมโกศาจารย์ เจ้าคณะมณฑล มีใบบอกเข้ามาล่าไป จัดการสอบไม่ทันในศกนี้ จักคาบศกลักลั่นกันไป จึงต้องงด ในจังหวัดนอกจากนี้ที่ได้เคยสอบมาแล้ว คงได้เปิดสนามมณฑลบ้าง สนามจังหวัดบ้างสอบต่อมา สมเด็จพระมหาสมณะ ทรงตั้งแม่กองผู้จัดการสอบมีรายดังต่อไปนี้ :-

          ๑. ที่จังหวัดกรุงเทพฯ โปรดให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่หนกลาง และแม่กองสนามหลวง เป็นแม่กองเปิดสนามจังหวัด และตรวจที่วัดราชบพิธ ฯ

          ๒. ที่มณฑลกรุงเก่า โปรดให้พระญาณวราภรณ์ กรรมการสนามหลวง เป็นแม่กอง เปิดประโยคสอบที่กรุงเก่าแห่งหนึ่ง ให้นักเรียนในจังหวัดสระบุรี อ่างทอง ลพบุรี ปทุมธานี เข้าสมทบ ที่จังหวัดสิงห์บุรีแห่งหนึ่ง ทรงแต่งกรรมการแยกกันไปสอบและตรวจที่สนามจังหวัดทั้งสองนั้น มีกำหนดเปิดสอบในวันเดียวกัน ฯ

          ๓. ที่มณฑลราชบุรี โปรดให้พระเขมาภิมุขธรรม กรรมการสนามหลวง เป็นแม่กอง เปิดสนามมณฑลสอบและตรวจที่วัดสัตตนาถปริวัตร เมืองราชบุรี ฯ

          ๔. ที่จังหวัดอุทัยธานี มณฑลนครสวรรค์ โปรดให้พระเทพโมลี พระคณาจารย์เอก กรรมการสนามหลวง เป็นแม่กอง เปิดสนามจังหวัดสอบและตรวจที่วัดทุ่งแก้ว จังหวัดอุทัยธานี โปรดให้นักเรียนแห่งคณะแขวงวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาทบุรี เข้าสมทบด้วย ฯ

          ๕. ที่จังหวัดนครราชสีมา มณฑลชื่อนี้ โปรดให้พระนิกรมมุนี กรรมการสนามหลวง เป็นแม่กอง เปิดสนามจังหวัดสอบและตรวจที่วัดกลาง จังหวัดนครราชสีมา ฯ

          ๖. ที่จังหวัดอุบลราชธานี มณฑลชื่อนี้ โปรดให้พระราชมุนี เจ้าคณะมณฑล กรรมการสนามหลวง เป็นแม่กอง ตรวจใบสอบของนักธรรมวัด เพื่อรับโอนเป็นนักธรรมคณะจังหวัด เปิดสนามตรวจที่วัดสุปัฏน์ จังหวัดอุบลราชธานี ฯ

          ๗. ที่จังหวัดปราจีนบุรี โปรดให้พระมหาชั้น วัดมกุฏกษัตริย์ กรรมการสนามหลวง เป็นแม่กอง เปิดสนามจังหวัดสอบและตรวจที่วัดแก้วพิจิตร จังหวัดปราจีนบุรี ฯ

          ๘. ที่มณฑลพายัพ ได้เปิดสนามจังหวัด ๓ แห่ง ที่นครเชียงใหม่ ๑ ที่นครลำพูน ๑ ที่เชียงราย ๑ สมุหเทสาภิบาลส่งประโยคไปให้สอบตามจังหวัด แล้วส่งใบสอบมาตรวจที่นครเชียงใหม่ คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ตรวจ ฯ

          ในมณฑลกรุงเก่า มณฑลราชบุรี จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดอุบล จังหวัดปราจีนบุรี สอบถึงประโยคนักธรรมชั้นตรีทีเดียว ในมณฑลพายัพที่นครเชียงใหม่ และที่นครลำพูน สอบถึงประโยคนักธรรมชั้นตรี แต่ที่เชียงราย การเล่าเรียนยังไม่เจริญ จึงให้พักเพียงประโยค ๑ ได้ ที่แขวงวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาทบุรี พึ่งแรกเรียน ยังสอบขึ้นไปไม่เต็มชั้น จึงให้พักเพียงประโยค ๑ ในจังหวัดกรุงเทพฯ ควรจะสอบให้เต็มชั้น แต่แม่กองยังผ่อนให้พัก แม้อย่างนั้น จำนวนผู้สอบพักมีน้อยลงแล้ว ในจังหวัดนครราชสีมา มีผู้เข้าสอบประโยค ๒ น้อย จึงสั่งให้งดเสีย คงสอบแต่ประโยค ๑ การเรียนในจังหวัดนี้เสื่อมลง เปิดสนามมาหลายศกแล้ว สอบไม่ค่อยได้เต็มชั้น ฯ

          จำนวนภิกษุสามเณร ผู้เข้าสอบได้เต็มภูมิเป็นนักธรรมชั้นตรี ๓๐ เลื่อนจากภูมิสามเณรขึ้นสู่ภูมิภิกษุ ๓ พักเพียงประโยคหนึ่ง ๘๖ รวม ๓๙๒ ตก ๘๓๓ มีรายจังหวัดรายมณฑล แผนกหนึ่ง จำนวนได้ศกนี้เฉพาะนักธรรมชั้นตรี มากกว่าจำนวนศกหลัง ๑๒๔ เพราะนักธรรมคณะมณฑลอุบล สอบได้มีจำนวนมากกว่าในศกหลังถึง ๔๗ รูป และนักธรรมคณะมณฑลพายัพสอบได้ในศกนี้ ๔๖ และนักธรรมคณะจังหวัดปราจีนบุรีขึ้นใหม่ ๑๑ รูป นอกจากนี้ มีจำนวนขึ้นมณฑลและจังหวัดละเล็กน้อย จำนวนนักธรรมภูมิสามเณรขึ้นสู่ภูมิภิกษุในปีหนึ่ง ๆ น้อยนัก เป็นการที่ยังจะต้องสอดส่องดู จำนวนผู้ได้ประโยค ๑ แม้ทั้งคณะมณฑลพายัพส่งมาด้วย มากกว่าในศกหลังเพียง ๑๑ รูปเท่านั้น เป็นเพราะการสอบตลอดเต็มชั้น แพร่หลายออกไป ฯ

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๔ พ.ศ. ๒๔๕๙. หน้า ๒๔๕-๒๕๓.)

×

รายงานการสอบความรู้ธรรมและบาลีของสนามหลวง

พ.ศ. ๒๔๖๐

 

          การสอบความรู้ธรรมในคราวนี้ ได้เปิดประโยคนักธรรมชั้นโทภูมิมัชฌิมะ ขึ้นอีกชั้นหนึ่ง มีจำนวนผู้เข้าสอบมาก มีจำนวนผู้ได้ก็มาก แม้ได้ประกาศล่วงหน้าไว้เพียงปีหนึ่ง นักเรียนก็ยังเตรียมตัวทัน การเรียนแพร่หลายเร็ว ดูนิยมกันมาก เกินคาดหมาย แต่แรกวิตกว่าขยายหลักสูตรที่จะต้องเรียนมากขึ้น ผู้เรียนน่าจะ อิดหนาระอาใจ แต่กลับตรงกันข้าม กลับขมักเขม้นเรียนแข็งแรง เห็นว่าเป็นเพราะนักธรรมชั้นตรี มีความรู้เป็นพื้นอยู่แล้ว รักความรู้สูงขึ้นไปกว่า และเจ้าสำนักเรียนเอาใจใส่ช่วยอุดหนุน เพื่อได้ขยายประโยคให้สูงขึ้นไปโดยนัยหนหลังด้วย แต่ความต้องการของผู้เข้าสอบ อยู่ข้างจะแรงเกินไป เกิดการเสาะหาเฉลยแห่งปัญหา สำหรับสอบไล่โดยทุจริตขึ้น แต่นี้ก็ไม่ใช่การแปลก เมื่อครั้งสอบความรู้แต่เพียงบาลี ด้วยปากอย่างเดียว ได้เคยมีการแอบบอกการแอบซ้อมและการแอบจดเกษียนเข้าไป ตั้งแต่เปิดการสอบประโยคธรรมมา และเปลี่ยนการสอบประโยคบาลีเป็นเขียน พึ่งปรากฏขึ้นในคราวนี้ว่า มีผู้เสาะหาเฉลยไว้ได้ก่อนหน้าสอบ และแอบเอาเข้าไปได้ด้วย เมื่อเปิดการสอบประโยคนักธรรมชั้นโทขึ้นแล้ว มีการอันจะพึงจัดในคราวหน้าเนื่องด้วยการนี้คือ

          ก. ถ้าจะคงสอบประโยคนักธรรมชั้นตรีเหมือนอย่างเดิม จำนวนผู้เข้าสอบทั้ง ๒ ชั้นจะมากมายนัก ต้องใช้เวลายาววันออกไป จึงอนุญาตให้สำนักเรียนใหญ่ในกรุงเทพฯ สอบประโยคนักธรรมชั้นตรี ต้องทำการตามระเบียบอันสนามหลวง กำหนดไว้ให้ นักธรรมผู้สอบได้ในสำนักเรียนใหญ่นั้น สนามหลวงยอมรับรอง ยอมให้เข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นโท และประโยคเปรียญธรรมชั้นตรีในสนามหลวงได้ ต่อไป ฯ

          ข. นักธรรมชั้นตรีผู้สอบได้ในสนามมณฑลก็ดี ในสนามจังหวัดก็ดี ที่ สมเด็จพระมหาสมณะทรงส่งกรรมการสนามหลวงออกไปเป็นแม่กองสอบและจัดการสอบถูกตามระเบียบสนามหลวง ยอมให้เข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นโท และประโยคเปรียญธรรมชั้นตรีในสนามหลวงได้ต่อไป ฯ

          ค. เลิกการสอบพักไว้เพียงประโยคหนึ่ง ในสนามมณฑลและสนามจังหวัด และจำกัดอายุสามเณรผู้เข้าสอบตามระเบียบสนามหลวง

          ฆ. แต่เดิม สามเณรยังไม่ได้สอบวินัย ผู้สอบได้เป็นนักธรรมภูมิสามเณรอุปสมบทขึ้นแล้ว ต้องสอบวินัยขึ้นภูมิภิกษุ เมื่อเปิดประโยคนักธรรมชั้นโทขึ้นแล้ว สามเณรมีความรู้เข้าสอบถึงก็มี จักพักวินัยไว้ถึงสองชั้น การสับสนจักมีขึ้น สามเณรผู้เข้าสอบในเวลานี้ อายุอย่างน้อยถึง ๑๙ ไม่ช้าก็ถึงกำหนดอุปสมบท เพื่อเปลื้องความไม่สะดวก จึงให้สามเณรสอบวินัยไปเสียด้วยทีเดียว ผู้ที่ยังไม่ได้สอบก็ให้สอบไว้ ฯ

          ง. แรกมีนักธรรมชั้นตรีขึ้น ได้ทำพัดนักธรรมให้ถือเพื่อเป็นเกียรติ เมื่อนักธรรมชั้นตรีมีมากขึ้น พัดนั้นจืดไป อันที่จริงนักธรรมชั้นตรีอยู่ในภูมินวกะ ยังไม่สมควรจะได้ถือพัดรอง บัดนี้ มีนักธรรมชั้นโทขึ้นแล้ว จึงเลิกการให้พัดแก่นักธรรมชั้นตรีทั่วไปเสีย จักให้เฉพาะแก่ภิกษุมีพรรษาพ้น ๕ ขึ้นไปแล้ว และได้เอาภารธุระพระศาสนาอยู่ ฯ

          ส่วนการสอบบาลี ตั้งแต่เพิ่มหลักสูตรสำหรับประโยค ๗ ประโยค ๘ ประโยค ๙ ขึ้นแล้ว ยังไม่มีผู้เข้าแปล เปรียญเก่าผู้เข้าแปลประโยค ๖ ประโยค ๕ ไม่ต้องสอบองค์แห่งประโยคนักธรรมชั้นโทก่อนก็ได้ แต่มีผู้สมัครเข้าสอบเป็นพื้น ผู้เข้าสอบประโยค ๔ มีกำหนดให้แบ่งสอบองค์ประโยคนักธรรมชั้นโท ๒ อย่างก่อน แต่มีผู้ขอเข้าสอบครบประโยคทั้งนั้น และในคราวนี้ ผู้เข้าสอบประโยค ๔ ต้องสอบการอ่านหนังสือขอมออกด้วย ฯ

          เปรียญธรรมชั้นตรีได้จัดลงระเบียบแล้ว คือควบประโยคนักธรรมชั้นตรี และบาลี ๓ ประโยคเข้าด้วยกัน ในศกนี้ เปิดประโยคนักธรรมชั้นโทขึ้นแล้ว จึงจัดบาลีประโยค ๔ ประโยค ๕ ประโยค ๖ ควบเข้าด้วยกันเป็นประโยคเปรียญธรรมชั้นโท ส่วนประโยคนักธรรมชั้นเอก ยังจัดขึ้นไปไม่ถึง จึงควบไว้เพียงบาลีประโยค ๗ ประโยค ๘ ประโยค ๔ เปรียญบาลีชั้นเอกไปพลาง ฯ

          เนื่องด้วยการจัดประโยคเปรียญเป็นเอก โท ตรี เข้าหาธรรมเนียมเดิม จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนระเบียบเปรียญ ดังต่อไปนี้

          ก. เปรียญทั้ง ๓ ชั้น จักได้รับพระราชทานประกาศนียบัตรและพัดยศ เฉพาะต่อเมื่อสอบได้เต็มชั้นแล้ว สอบได้ยังไม่เต็มชั้น นับเป็นเพียงสอบเลื่อนประโยค

          ข. แก้พัดยศสำหรับเปรียญเป็น ๓ ชั้น พัดพื้นแพรแดงสำหรับเปรียญตรี พัดพื้นแพรเหลือง สำหรับเปรียญโท พัดพื้นตาดเหลืองสำหรับเปรียญเอก

          ค. เปรียญตรีผู้สอบได้ประโยคนักธรรมชั้นโทแล้ว จักได้รับพระราชทาน นิตยภัตราคาเดือนละ ๖ บาท เปรียญโท จักได้รับพระราชทานนิตยภัตราคาเดือนละ ๑๐ บาท เปรียญเอก จักได้รับพระราชทานนิตยภัตตามเดิมราคาเดือนละ ๑๔ บาท เลื่อนประโยคในระหว่างยังจักไม่ได้รับพระราชทานนิตยภัตขึ้น

          ฆ. เปรียญทั้ง ๓ ชั้นนี้ เป็นพระราชาคณะขึ้น ได้รับพระราชทานนิตยภัต ราคาเดือนละ ๑๔ บาท ๑๘ บาท ๒๒ บาท โดยลำดับกัน ฯ

 

          ได้เปิดสนามหลวงสอบที่วัดบวรนิเวศวิหารแห่งหนึ่ง ที่วัดเบญจมบพิตรแห่งหนึ่ง ประชุมตรวจที่วัดเบญจมบพิตร เริ่มวันที่ ๑ จบวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ เว้นวันที่ ๔ และวันที่ ๑๐ อันเป็นวันพระ รวมวันสอบวันตรวจ ๑๒ วัน จำนวนผู้เข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นตรี ๓๐๑ ได้ ๙๘ ตก ๒๐๓ น้อยกว่าในศกหลัง เข้า ๓๘๗ ได้ ๑๘๑ เพราะในศกนี้ ไม่อนุญาตให้สามเณรอายุหย่อน ๑๙ เข้าสอบ จำนวนนักธรรมชั้นตรีภูมิสามเณรเข้าสอบวินัยเพิ่ม ๙๒ รูป ได้ ๘๘ รูป ตก ๔ รูป จำนวนนักธรรมชั้นตรีเข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นโท ๒๖๘ รูป ได้ ๙๗ รูป ตก ๑๗๑ รูป จำนวนนักธรรมเข้าสอบบาลี เพื่อเป็นเปรียญธรรมชั้นตรี ๑๔๒ รูป ได้ ๕๙ รูป ตก ๘๓ รูป เข้ามากกว่าในศกหลัง ๒๕ รูป ได้น้อยกว่า ๕ รูป ตกมากกว่า ๓๐ รูป จำนวนเปรียญเข้าสอบบาลีประโยค ๔ ในศกนี้มีเพียง ๓๓ รูป น้อยกว่าในศกหลัง ๒๓ รูป ได้ ๗ รูป ตก ๒๖ รูป ได้น้อยกว่าในศกหลัง ๑๔ รูป มีผู้เข้าสอบประโยคนี้น้อยไป เพราะตกประโยคนักธรรมชั้นโทแล้วเข้าไม่ได้บ้าง สาละวนเฉพาะในประโยคนักธรรมชั้นโทนั้นบ้าง จำนวนเปรียญเข้าสอบประโยค ๕, ๑๙ รูป ได้ ๑๑ รูป ตก ๘ รูป น้อยกว่าในศกหลังเข้า ๑๒ รูป ได้ ๗ รูป จำนวนเปรียญโท คือประโยค ๖ เข้า ๑๔ รูป ได้ ๔ รูป ตก ๑๐ รูป จำนวนเข้าเท่ากับในศกหลัง จำนวนได้น้อยกว่า ๔ รูป ไม่แผกกันนัก สมเด็จพระมหาสมณะ ทรงเป็นอธิบดี พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็นแม่กองตรวจธรรม พระธรรมวโรดม เป็นแม่กองตรวจบาลี กองตรวจบาลีและประโยคนักธรรมชั้นโทจัดเป็น ๖ กอง ตรวจประโยคนักธรรมชั้นตรีจัดเป็น ๘ คราวนี้แรกเปิดประโยคนักธรรมชั้นโท สมควรจะพิมพ์ตัวอย่างให้เห็นแพร่หลาย เพื่อบำรุงการเรียนชั้นนี้ให้เจริญเร็ว จึงตั้งกองเลือกประโยคไว้พิมพ์อีก ๑ ฯ

          การสอบคราวนี้ ประโยคธรรมทั้ง ๒ ชั้น ได้ผลดีอยู่ ที่ควรยกขึ้นกล่าว วัดมหาธาตุได้คะแนนสูงเป็นเอก วัดบวรนิเวศกับวัดจักรวรรดิเป็นโท วัดประยุรวงศ์เป็นตรี วัดราชโอรสตกเกือบหมดมา ๒ ปีแล้ว ถึงขาดคะแนน วัดอัปศรสวรรค์ไม่ได้คะแนนเลย ส่วนประโยคบาลี เฉพาะประโยคเปรียญตรียังดีอยู่ ส่วนประโยคเปรียญโทร่วงโรยลง สำนักที่ได้คะแนนสูง มีแต่วัดมหาธาตุ ที่ขาดคะแนนมีถึง ๕ สำนัก วัดสระเกศและวัดบรมนิวาสขาดถึง ๒ คะแนน วัดสระเกศเมื่อในศกหลังได้คะแนนเฉพาะประโยคเปรียญตรี ถึง ๘ วัดอนงคารามมีผู้เข้าถึง ๓๖ รูป แต่ตกมากจนไม่ได้คะแนนเลย

 

          เกณฑ์จัดลำดับสำนักเรียนที่มีจำนวนได้ตก อนุโลมตามเกณฑ์ในศกหลัง เปลี่ยนแปลงบ้าง ดังต่อไปนี้

          ก. ประโยคนักธรรมชั้นตรี จำนวนได้ตกนับคะแนนเดียว ประโยคนักธรรมชั้นโท จำนวนได้ตกนับ ๒ คะแนน ถัวกันเข้าแล้วจำนวนตกไม่มากกว่าจำนวนได้ เป็นได้คะแนนเต็มเท่าจำนวนได้ ถ้าจำนวนตกมากกว่าจำนวนได้ เอาจำนวนได้หักแล้ว ส่วนเหลือเป็นคะแนนเสีย ๕ ต่อ ๑ เศษตั้งแต่ ๓ นับเป็น ๕ เพียง ๒ ลงมาไม่นับเอาคะแนนเสียหักคะแนนได้ลง

          ข. ยกประโยคเปรียญธรรมชั้นตรีไปเข้าพวกประโยคบาลี ได้ตกนับคะแนนเดียว

          ค. ประโยคเปรียญโททั้ง ๓ ได้ตกนับประโยคละคะแนน รวมเข้าทุกชั้น เอาจำนวนได้หักจำนวนตกที่มากกว่าแล้ว เศษเหลือเป็นคะแนนเสีย ๒ ต่อ ๑ เอาหักจำนวนได้ลง ฯ

          เกณฑ์นี้เป็นเครื่องเทียบรู้ความเจริญและความเสื่อมของสำนักเรียนทั้งหลายได้ถนัด ทั้งที่มีจำนวนนักเรียนมาก ทั้งที่มีจำนวนนักเรียนน้อย มีแจ้งในตารางเทียบนั้นแล้ว ฯ

 

          ในคราวนี้ มีเรื่องที่น่าเสียใจเกิดขึ้น คือการเสาะหาเฉลยไว้ก่อนหน้าสอบโดยทุจริต ดังกล่าวแล้วในหนหลัง เรื่องอย่างนี้ก็ได้เคยมีมาในหนหลังเหมือนกัน แต่เมื่อจับได้ ผู้ประพฤติทุจริตยอมรับสารภาพก็เป็นแต่ถูกปรับเอาเป็นตก แต่ในครั้งนี้แม้จับได้แล้ว ผู้เข้าสอบไม่รับสารภาพ ยืนยันว่าเป็นความรู้ของตนเอง ถึงสมเด็จพระมหาสมณะทรงตั้งกรรมการพิจารณา ทรงตั้งพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ แม่กองตรวจธรรม ๑ พระธรรมไตรโลกาจารย์ ๑ พระเทพโมลี ๑ เป็นกรรมการ ๆ พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ใบสอบประโยคนักธรรมชั้นโท ส่วนวินัยของพระมหาทองคำและของพระทอง วัดบวรนิเวศวิหาร ใบสอบส่วนธรรมวิภาค และอนุพุทธประวัติของพระมหาชิต วัดพิชยญาติเข้าสมทบวัดบวรนิเวศ และของพระเจิมวัดพิชยญาติ เฉพาะส่วนธรรมวิภาคของมหาเปลื้อง วัดเสนาสนาราม เฉพาะส่วนอนุพุทธประวัติของพระเฉลิม วัดพิชยญาติ เป็นใบสอบไม่บริสุทธิ์ ต่อมา ได้ความตามคำสารภาพในชั้นหลังของพระเจิม พระมหาชิต และพระครูประสาทพุทธปริตรประกอบกันว่า พระครูประสาทพุทธปริตรสืบรู้แล้ว เข้าไปในห้องพระครูอนันตนินนาท วัดบวรนิเวศวิหาร ผู้พิมพ์ประโยคและเฉลย หยิบเอาเฉลยธรรมวิภาคและอนุพุทธประวัติส่งไปให้พระมหาชิต ผู้แจกต่อกันไปอีก ปรึกษาโทษผู้เข้า สอบโดยทุจริตเหล่านี้ ไม่รับประโยคที่สอบได้นั้น และห้ามพระมหาทองคำ พระทอง วัดบวรนิเวศวิหาร พระมหาชิต วัดพิชยญาติ สมทบวัดบวรนิเวศวิหาร พระมหาเปลื้อง วัดเสนาสนาราม ไม่ให้เข้าสนามหลวง ๓ คราว ห้ามพระเจิม วัดพิชัยญาติ ไม่ให้เข้าสนามหลวง ๑ คราว ปรึกษาโทษพระครูประสาทพุทธปริตรให้ออกเสียจาก ตำแหน่งกรรมการสนามหลวง กับปรับอาบัติทุกกฏด้วย ไม่เอาโทษพระเฉลิม สมเด็จพระมหาสมณะทรงอนุมัติตามคำปรึกษาของกรรมการ เป็นแต่ก่อนความเรื่องนี้ปรากฏขึ้น พระมหาทองคำได้แปลบาลีประโยค ๕ ไว้ได้แล้ว ตรัสให้ยกเสียด้วย ฯ

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๕ พ.ศ. ๒๔๖๐. หน้า ๓๗๗-๓๘๗.)

×

รายงานการสอบความรู้ประโยคนักธรรม

ในต่างมณฑลในต่างจังหวัด

พ.ศ. ๒๔๖๐

 

          การสอบความรู้ในศกนี้ ได้เปิดสนามจังหวัดขึ้นที่จังหวัดชลบุรีแห่งหนึ่ง สนามจังหวัดนครศรีธรรมราช มีคณะจังหวัดสงขลาและคณะจังหวัดพัทลุงเป็นสาขา จึงเลื่อนขึ้นเป็นสนามมณฑลในคราวนี้ ที่คณะจังหวัดลพบุรี มณฑลกรุงเก่า ตั้งแต่พระญาณดิลกเป็นผู้รั้งตลอดมาถึงเป็นตัวเจ้าคณะจังหวัด ได้จัดตั้งสำนักเรียนขึ้นที่วัดเชิงท่า และแยกสาขาออกไปบ้าง การเรียนธรรมเจริญขึ้น ในศกนี้ มีนักเรียนเข้าสอบมาก สนามมณฑลได้แยกสาขาสอบที่นั้นอีกแห่ง ๑ อีกส่วนหนึ่ง สนามจังหวัดนครราชสีมา และสนามจังหวัดปราจีนบุรีไม่ได้เปิดสอบ ที่นครราชสีมาเกิดกาฬโรคขึ้น นักเรียนหลบหนีโรค กระจัดกระจายกันไป ที่ปราจีนบุรีมีผู้เข้าสอบน้อย ไม่พอจะเปิดสนาม จะสมทบกับสนามจังหวัดชลบุรีก็ไม่ทัน ที่มณฑลภาคพายัพ ยังไม่ได้รับรายงานว่าได้สอบ สมเด็จพระมหาสมณะทรงตั้งแม่กองผู้จัดการสอบ มีรายดังต่อไปนี้

          ๑. ที่จังหวัดกรุงเทพฯ โปรดให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่หนกลาง แม่กองสนามหลวง เป็นแม่กอง เปิดสนามจังหวัดสอบและตรวจที่วัดราชบพิธ ฯ

          ๒. ที่มณฑลกรุงเก่า ทรงเป็นแม่กองเอง เปิดประโยคสอบที่วัดเสนาสนาราม กรุงเก่าแห่ง ๑ ที่วัดเชิงท่า ลพบุรีแห่ง ๑ ที่วัดโบถส์ อำเภออินทร์ จังหวัดสิงห์บุรี แห่ง ๑ นักเรียนคณะจังหวัดนอกจากนี้ให้สมทบที่กรุงเก่า เสร็จแล้วส่งใบสอบมา ตรวจที่วัดบวรนิเวศวิหารที่เปิดเป็นสนามมณฑล ฯ

          ๓. ที่มณฑลราชบุรี โปรดให้พระราชกวี กรรมการสนามหลวง เป็นแม่กอง เปิดสนามมณฑลสอบและตรวจที่วัดสัตตนาถปริวัตร ราชบุรี ฯ

          ๔. ที่จังหวัดอุทัยธานี มณฑลนครสวรรค์ โปรดให้พระเทพโมลี พระคณาจารย์เอก กรรมการสนามหลวง เป็นแม่กอง เปิดสนามจังหวัดสอบและตรวจที่วัดทุ่งแก้ว อุทัยธานี ฯ

          ๕. ที่จังหวัดอุบลราชธานี โปรดให้พระราชมุนี กรรมการสนามหลวง เจ้าคณะมณฑล เป็นแม่กอง เปิดสนามจังหวัดสอบและตรวจที่วัดสุปัฏน์ อุบลราชธานี ฯ

          ๖. ที่จังหวัดชลบุรี โปรดให้พระธรรมไตรโลกาจารย์ กรรมการสนามหลวง เป็นแม่กอง เปิดสนามจังหวัดสอบและตรวจที่วัดเขาบางทราย ชลบุรี ฯ

          ๗. ที่มณฑลนครศรีธรรมราช โปรดให้พระธรรมโกศาจารย์ กรรมการสนามหลวง เจ้าคณะมณฑล เป็นแม่กอง เปิดประโยคสอบที่วัดท่าโพ นครศรีธรรมราชแห่ง ๑ ที่วัดมัชฌิมาวาส สงขลาแห่ง ๑ คณะจังหวัดพัทลุงสมทบที่สงขลา เสร็จแล้ว เปิดสนามมณฑลตรวจที่วัดท่าโพ นครศรีธรรมราช ฯ

          จำนวนนักเรียนเข้าสอบ ๖๒๑ ได้ประโยคนักธรรมชั้นตรี ๒๘๐ เลื่อนขึ้นสู่ภูมิภิกษุ ๑๔ ตก ๓๒๗ มีรายจังหวัดรายมณฑลแผนกหนึ่ง จำนวนได้ศกนี้ เฉพาะนักธรรมชั้นตรีน้อยกว่าจำนวนศกหลัง ๒๓ รูป นับว่าทรงอยู่ ในศกนี้ สอบเต็มชั้นทีเดียวทุกสนามจังหวัดและสนามมณฑล ไม่มีจำนวนผู้ได้ผู้ตกประโยค ๑ จึงมีจำนวนนักเรียนเข้าสอบจำนวนได้ จำนวนตก ที่รวมกันแล้ว น้อยกว่าในศกหลัง ฯ

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๖ พ.ศ. ๒๔๖๑. หน้า ๕-๑๑.)

×

ที่ ๘/๖๐

พระดำรัสสั่ง

เรื่องใบสอบประโยคนักธรรมชั้นโทไม่บริสุทธิ์*

 

          คราวนี้เป็นแรกที่เปิดประโยคนักธรรมชั้นโท จึงเรียกใบสอบที่ได้ ครบ ๓ คะแนนและได้หมายเหตุว่าดีมาตรวจดู เพื่อรู้ความรู้ของผู้สอบว่าเป็นอย่างไร และได้ตั้งกองเลือกใบสอบที่ดีไว้เพื่อพิมพ์เป็นตัวอย่าง เมื่อสอบใบตรวจที่ว่าดีนั้น พบใบสอบบางใบ มีข้อความตามความคิดบ้าง แม้โดยที่สุดตามพยัญชนะบ้าง เหมือนด้วยเฉลย ที่เป็นไม่ได้โดยลำพังความคิดร่วมกัน พระมหานายกแม่กองเลือก ก็ได้พบอย่างนี้เหมือนกัน จึงให้กองเลือก ๆ ใบสอบอันพิรุธหมายเส้นเทียบความและเทียบพยัญชนะส่งมา กองเลือก ๆ ใบสอบจำนวน ๔ จำนวน ๙๐ จำนวน ๒๓๕ และ จำนวน ๒๔๑ อันพิรุธส่วนธรรมวิภาคและอนุพุทธประวัติ จำนวน ๙๒ และจำนวน ๒๔๒ อันพิรุธส่วนธรรมวิภาคอย่างเดียว จำนวน ๒๓๙ อันพิรุธส่วนอนุพุทธประวัติอย่างเดียว จำนวน ๕๘ และจำนวน ๗๑ อันพิรุธส่วนวินัยอย่างเดียว ส่งมา ได้ตั้งกรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ แม่กองสอบธรรม พร้อมด้วยพระธรรมไตรโลกาจารย์กับพระเทพโมลี เข้ากันเป็นกรรมการกองวินิจฉัย พิจารณาแล้ววินิจฉัยร่วมกันว่า จำนวน ๙๐ กับจำนวน ๒๓๕ ไม่บริสุทธิ์ทั้งส่วนธรรมวิภาคทั้งส่วนอนุพุทธประวัติ จำนวน ๕ ไม่บริสุทธิ์เฉพาะส่วนธรรมวิภาค จำนวน ๒๓๙ ไม่บริสุทธิ์ส่วนอนุพุทธประวัติ จำนวน ๕๘ และจำนวน ๗๑ ไม่บริสุทธิ์ส่วนวินัย ได้ความจากเฉลยที่รั่ว ออกไป ส่วนจำนวน ๙๒ จำนวน ๒๔๑ และจำนวน ๒๔๒ เป็นใบสอบอันบริสุทธิ์

          เจ้าของจำนวน ๙๐ พระเจิม สำนักวัดพิชยญาติ

          เจ้าของจำนวน ๒๓๕ พระมหาชิต วัดพิชยญาติ เข้าสมทบสำนักวัดบวรนิเวศ

          เจ้าของจำนวน ๔ พระมหาเปลื้อง สำนักวัดเสนาสน์

          เจ้าของจำนวน ๒๓๙ พระเฉลิม สำนักวัดพิชยญาติ

          เจ้าของจำนวน ๕๘ พระมหาทองคำ สำนักวัดบวรนิเวศ

          เจ้าของจำนวน ๗๑ พระทอง สำนักวัดบวรนิเวศ

 

          ในการสอบถาม พระเจิม รับว่าได้เฉลยที่มีผู้เขียนบัตรสนเท่ห์ บอกให้รู้ไว้ก่อนแล้วทิ้งไว้ให้ ณ ฐานที่อันระบุไว้ ภายหลังขยายความว่าจำได้ว่าเป็นลายมือ พระมหาชิต

          พระมหาชิต ในชั้นแรกไม่รับว่าได้เฉลย เป็นแต่รับว่าได้ยินพระครูประสาทพุทธปริตรพูดอยู่ต่อเมื่อพระเจิมซัดว่าเป็นลายมือของตนจึงรับว่าได้รับจากนายเปลี่ยน สังขพงศ์ ศิษย์พระธรรมโกศาจารย์

          นายเปลี่ยน สังขพงศ์ รับว่าพระครูประสาทใช้ให้ถือซองหนังสือไปส่งให้พระมหาชิตจริง

          พระครูประสาท ในชั้นแรกปฏิเสธ ต่อเมื่อนายเปลี่ยนซัดเข้าอย่างนั้น จึงรับสารภาพว่า ในเวลาพระครูอนันตนินนาทผู้พิมพ์ปัญหาและเฉลยออกมาอยู่ข้างนอก ได้เข้าไปในห้องพระครูอนันต์ ได้หยิบเอาใบเฉลยเข้าซองใช้ให้นายเปลี่ยน สังขพงศ์ วิ่งเอาไปให้พระมหาชิตและก่อนเวลาเข้าสอบบ้าง

          พระมหาเปลื้อง พระมหาทองคำ พระทอง ปฏิเสธ อ้างว่าได้ตอบตามความรู้ของตนเอง สองรูปหลัง แม้จำนนแก่คำซักและพิสูจน์แล้ว ก็ยังปฏิเสธอยู่อย่างนั่นเอง

 

          กรรมการกองวินิจฉัยปรึกษาลงโทษ ดังต่อไปนี้

          ๑. ลงโทษพระมหาเปลื้อง พระมหาทองคำ พระทอง ห้ามไม่ให้เข้าสนามหลวง ๓ คราว เพราะอำความไว้ ไม่แสดงความจริง พระมหาชิต ก็ให้ลงโทษห้ามไม่ให้เข้าสนามหลวง ๓ คราวเหมือนกันเพราะในชั้นต้นอำความไว้ ต่อเมื่อความจริงปรากฏแล้วจึงรับ

          ๒. ลงโทษพระเจิมผ่อนลงมาโดยฐานปรานี ห้ามไม่ให้เข้าสนามหลวง ๑ คราว เพราะขยายความจริง เป็นการสะดวกแก่ความพิจารณา

          ๓. ปรานีพระเฉลิม งดลงโทษ เพราะได้ต่อ ๆ กันมา

          ๔. ไม่รับพระเหล่านี้เป็นนักธรรมชั้นโทของสนามหลวง แต่บาลีประโยค ๕ ที่แปลได้ ให้เป็นอันได้

          ๕. ลงโทษพระครูประสาทพุทธปริตร ไม่ให้เป็นกรรมการสนามหลวงอีกต่อไป กับปรับอาบัติทุกกฏ เพราะทำด้วยเถยยเจตนา

          ส่วนเจ้าของจำนวน ๙๒ จำนวน ๒๔๑ จำนวน ๒๔๒ ยอมรับเป็นนักธรรมชั้นโทของสนามหลวง

          กรรมการกองวินิจฉัยพิจารณาและวางโทษมานั้น เห็นชอบด้วย เว้นข้อว่าแปลบาลีประโยค ๕ ได้ให้เป็นอันได้ เพราะบาลีประโยค ๕ แปลเมื่อภายหลังแต่ทำความผิดมาแล้ว จักเป็นยกย่องผู้ทำความผิด เพราะจะต้องมีชื่อในบัญชี ให้เปลี่ยนเป็นไม่ยอมรับบาลีประโยค ๕ ด้วย นอกจากนี้ ให้ทำตามวินิจฉัยของกรรมการกองเลือก

 

(ลงพระนาม) กรม-วชิรญาณวโรรส

 

สนามหลวง วัดเบญจมบพิตร

วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๐

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๖ พ.ศ. ๒๔๖๑. หน้า ๑-๕.)

×

บันทึกประโยคนักธรรม

สอบในสนามจังหวัดอุบล*

วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๖๐

 

ธรรมวิภาค

          ปัญหาข้อ ๕ ว่า ตามความนิยมของโลก มักถือกันว่า ถึงคราวเคราะห์ดี ก็คงได้ดี ถึงคราวเคราะห์ร้าย ก็ไม่ได้ดี ดังนี้ จะจัดเข้าในคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ จงอ้างหลัก

          เฉลยว่า เข้าในคำสอนในอภิณหปัจจเวกขณ์ข้อที่ ๕ ความว่า เราทำดี จักได้ดี ทำชั่ว จักได้ชั่ว ดังนี้

          เฉลยอย่างนี้ไม่ถูก เพราะในพระพุทธศาสนาไม่ได้ถือเคราะห์ดี เคราะห์ร้าย ข้ออ้างก็กลับบ่งว่า ในพระพุทธศาสนาสอนให้ถือกรรมต่างหาก

          ปัญหาข้อ ๑๒ ถามเพื่อจะให้ตอบอย่างเฉลยว่า ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เป็นธรรมให้ได้สมหมายทุกอย่าง อันที่จริง ท่านกล่าวว่าเป็นธรรมให้ได้สมหมาย เฉพาะ อายุ ยศ สุข สวรรค์ เท่านั้น หาได้จัดเป็นอิทธิบาทไม่ เข้าใจกว้างเกินไป

          ปัญหาข้อ ๑๔ มุ่งจะให้ตอบอย่างเฉลยว่า มิจฉาวณิชชา ๕ ประการนั้น พ่อค้าทุกคนไม่ควรทำ เป็นตอบอย่างงมงาย รู้ไม่เท่าถึงการณ์ว่า ในประชุมชนหมู่หนึ่ง ๆ ต้องมีการงานต่าง ๆ กัน โดยที่สุด การงานที่จัดว่าเป็นบาป ก็ยังมีผู้ทำ ในบาลีท่านก็กล่าวเพียงว่า อันอุบาสกไม่ควรทำ คฤหัสถ์ไม่ใช่อุบาสกทุกคน ท่านกล่าวมีกลเม็ดอยู่ รู้ไม่เท่าท่านเอง

 

พุทธประวัติ

          ในเฉลยข้อ ๔ เรียกโลกเป็นโรค เฉลยเป็นของสนาม ใช้คำถลากไถลอย่างนั้น ไม่สมควร

          ในเฉลยข้อ ๘ มีคำว่า ตีท้ายครัว ที่เป็นคำไม่สุภาพ ไม่ควรเอามาใช้ในที่นี้ และการที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปโปรดพวกปุราณชฏิลก่อน แล้วจึงเสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารนั้น ไม่ใช่ตีท้ายครัว คำนั้น หมายความว่าเข้าหาภรรยา ให้สินบนแล้ว สามีก็ยังการให้สำเร็จ ต่อนี้ไป อย่ากล้าใช้ถ้อยคำตลกคะนองเช่นนั้นในการสุภาพ

          ปัญหาข้อ ๙ ที่ถามถึงเรื่องตั้งพระอัครสาวก อยู่ข้างยาก เฉลยก็แก้อ่อน ถ้าแก้ไปในทางว่า พระสารีบุตรเป็นพระคณาจารย์สอนศาสนาในทิศทักษิณ พระโมคคัลลานะ ในทิศอุดร น่าจะฟังได้สนิทกว่า การที่ข้าราชการมีฝ่ายขวาฝ่ายซ้ายนั้น เนื่องจากที่เฝ้าและแห่เสด็จ ถ้าพระอัครสาวกทั้ง ๒ นั่งเฝ้าข้างขวารูปหนึ่ง ข้างซ้ายรูปหนึ่ง ก็น่าจะมีเหตุว่า อย่างไรจึงอยู่ข้างขวา อย่างไรจึงอยู่ข้างซ้าย ก็คงลงความดังกล่าวแล้ว

          วินัยบัญญัติไม่มีข้อจะพึงติง

 

*(ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา. หน้า ๓๖๓-๓๖๔.)

×

รายงานสอบความรู้ธรรมและบาลีของสนามหลวง*

พ.ศ. ๒๔๖๑

 

          ในการสอบความรู้ธรรมและบาลีประจำศก ๒๔๖๑ นี้ ได้ยกการสอบประโยคนักธรรมชั้นตรีไปแยกทำตามคณะเรียนใหญ่ วางระเบียบให้จัดตั้งมีแจ้งในรายงานประจำศกหลัง คราวนี้จึงสอบเฉพาะประโยคนักธรรมชั้นโท ปัญหาข้อสอบและเฉลย ก่อนแต่นี้ สมเด็จพระมหาสมณะทรงขอแรงกรรมการแต่งแล้วทรงตรวจ แก้ไขดัดแปลงแล้วจึงออก คราวนี้ ทรงประชวรมาแต่ก่อนเข้าพรรษา ยังไม่หายเป็นปกติ ไม่ได้เสด็จประทับในหน้าที่อธิบดี โปรดให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ทรงบัญชาการแทน การตรวจปัญหาและเฉลย ทรงมอบให้เป็นพระธุระของกรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์กับพระญาณวราภรณ์ และพระธรรมไตรโลกาจารย์ กรรมการที่ปรึกษา การสอบความรู้บาลีเป็นตามอย่างในศกหลัง แต่ผู้สอบประโยค ๔ ต้องสอบการเขียนอักษรขอมเป็นเพิ่มเข้ากับการอ่านเป็นเบื้องต้นก่อน ฯ

          ได้เปิดสนามหลวงสอบที่วัดบวรนิเวศวิหารแห่งหนึ่ง ที่วัดเบญจมบพิตรแห่งหนึ่ง ประชุมตรวจที่วัดเบญจมบพิตร กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็นผู้แทนอธิบดีและเป็นแม่กองตรวจธรรม พระธรรมวโรดม เป็นแม่กองตรวจบาลี กองตรวจบาลีจัดเป็น ๖ กอง ตรวจธรรมจัดเป็น ๘ เริ่มวันที่ ๖ จบวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ เว้นวันพระในระหว่าง ๑ วัน รวมวันสอบวันตรวจภาคละ ๗ วัน จำนวนผู้เข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นโท ๓๒๕ ได้ ๑๗๓ ตก ๑๕๒ มากกว่าในศกหลัง จำนวนเข้า ๕๗ ได้ ๗๖ จำนวนตกน้อยกว่า ๑๙ เข้าสอบวินัยเพิ่มตามประกาศในศกหลัง ๑๘ ได้ ๑๗ ตก ๑ จำนวนนักธรรมเข้าสอบบาลีเพื่อเป็นเปรียญธรรมชั้นตรี ๑๖๓ ได้ ๖๘ ตก ๙๕ มากกว่าในศกหลัง จำนวนเข้า ๒๑ ได้ ๙ ตก ๑๒ จำนวนเปรียญตรี เข้าสอบประโยคเปรียญโท ประโยค ๔, ๕๑ ได้ ๒๒ ตก ๒๙ มากกว่าในศกหลัง เข้า ๑๘ ได้ ๑๕ ตก ๑ ประโยค ๕ เข้า ๘ ได้ ๖ ตก ๒ น้อยกว่าในศกหลังเข้า ๑๑ ได้ ๕ ตก ๕ ประโยค ๖ เข้า ๑๐ ได้ ๒ ตก ๘ น้อยกว่าในศกหลังเข้า ๔ ได้ ๒ ตก ๒ ฯ

          การเรียนธรรมชั้นมัชฌิมภูมิยังเจริญดี จำนวนเข้าค่อยทวีขึ้นไม่ผิดกันไกล แต่จำนวนได้มากขึ้น จำนวนตกกลับน้อยลง ส่อความนิยมของผู้ศึกษา หวังว่าจักปลูกความรู้ชั้นนี้ขึ้นได้ กล่าวโดยเฉพาะอย่าง การเขียนวินัยอยู่ข้างถนัด เข้าสอบได้เกือบทั้งนั้น ครั้งยังสอบชั้นตรีก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน การเรียนบาลีชั้นตรี จัดว่ายังเป็นเหมือนในศกหลัง แต่การเรียนอ่อนลงหรือสำนักเรียนรีบส่งเข้าในเมื่อมีความรู้ยังอ่อน สอบจึงได้เกือบไม่ได้ชั้นที่ ๑ เลย คราวนี้มีรูปเดียวเท่านั้น บางสำนักก็ได้ด้วยเฉลี่ยคะแนนแทบทั้งนั้น การเรียนบาลีชั้นโท คิดถัวกันทั้งสามประโยค อยู่ข้างเสื่อมลง ฯ

          กล่าวถึงสำนักเรียน วัดมหาธาตุได้คะแนนเป็นที่ ๑ ทั้งในการสอบธรรมชั้นโทสอบบาลีชั้นตรีชั้นโท รักษาฐานะยังยืนอยู่ได้เสมอทุกปี วัดเบญจมบพิตร ในศกหลัง ในการสอบธรรม ตกอยู่ในลำดับเป็นที่ ๑๑ ในการสอบบาลีเป็นที่ ๓ ในศกนี้ ในการสอบธรรมและในการสอบบาลีชั้นตรี ขึ้นอยู่ในลำดับเป็นที่ ๒ รองวัดมหาธาตุ ลงมา การสอนของสำนักนั้นเพียงชั้นนี้ดีขึ้น แต่ในการสอบบาลีชั้นโท ตกอยู่ในลำดับที่ ๘ การเรียนชั้นนี้ไม่เจริญมาแต่ในศกหลังแล้ว แต่ในครั้งนั้น ไม่ได้แยกบาลีชั้นตรีต่างออกไป การสอบได้ชั้นต่ำจึงช่วยพยุงขึ้นไปถึงลำดับปีที่ ๓ ในคราวนี้ แยกออกเทียบตามชั้นจึงตกจากลำดับลงมา การเรียนแห่งวัดพระเชตุพน วัดสุทัศน์ และ วัดราชาธิวาส เสื่อมลงทุกแผนกทุกชั้น เสียคะแนนมากก็มี ไม่ได้เลยก็มี ได้คะแนนบ้างก็น้อยเต็มที การเรียนแห่งวัดเทพศิรินทร์ เสื่อมลงในแผนกบาลีถึงเสียคะแนนเหมือนกัน ฯ

          เกณฑ์จัดลำดับสำนักเรียนมีจำนวนได้ตก ในศกนี้ ทั้งในประโยคธรรมทั้งในประโยคบาลี ตก ๒ ต่อได้ ๑ เอา ๒ หารจำนวนตก เอาลัพธ์หักจำนวนได้ เหลือ เป็นคะเนนได้ ขาดเป็นคะแนนขาด ไม่ทิ้งเศษ ฯ

 

          ในคราวนี้ ก็มีเรื่องไม่เรียบเกิดขึ้นบ้าง คือ :-

          ๑. พระมหาเพียร สำนักเรียน วัดราชาธิวาส ให้ใบตอบของตนแก่สามเณรเรื่อง สำนักเดียวกันดู สนามปรับเอาเป็นตก แต่อันที่จริง ใบสอบของสองรูปนั้น ก็ตกเหมือนกัน การลงโทษนั้นจึงไม่มีผลต่าง ฯ

          ๒. ใบเขียนแปลบาลีประโยคเปรียญตรี ของสามเณรชิน สำนักเรียนวัดจักวรรดิไม่มี เจ้าตัวว่าส่งเจ้าหน้าที่แล้ว เจ้าหน้าที่จำไม่ได้ว่าได้รับหรือไม่ ในคราวก่อน ๆ การบกพร่องอย่างนี้ของเจ้าหน้าที่ไม่ได้เคยมีเลย แต่สามเณรชินสอบสัมพันธ์ตก จึงไม่ต้องวินิจฉัยถึงใบเขียนแปลของเธอ ฯ

          ๓. สามเณรกิมเต้กกับสามเณรผจง สำนักเรียนวัดกัลยาณมิตร ยังไม่ได้เป็นนักธรรมชั้นตรี เจ้าสำนักส่งเข้าสอบประโยคเปรียญตรีผิดระเบียบ สนามคัดออกเสีย สมเด็จพระมหาสมณะทอดพระเนตรเห็นในบัญชีรายชื่อผู้เข้าสอบเมื่อภายหลัง ทรงพระดำริเห็นว่าจักเป็นทางกลั่นความรู้ของผู้เข้าสอบไม่ขึ้น แต่ก่อนผู้เข้าสอบไม่มีความรู้เป็นพื้นมา แม้เป็นเปรียญขึ้นแล้ว ใช้การไม่ได้ ได้ทรงพยายามแก้มานักแล้ว เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้น เป็นเฉยเสีย เจ้าสำนักและนักเรียนผู้มีอัชฌาศัยหยาบ สอนและเรียนเพราะเห็นแก่ลาภและยศเป็นใหญ่กว่าความรู้ จักได้ช่วยทำการลบล้าง จึงตรัสสั่งกรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์กับพระธรรมวโรดมไต่สวนดูว่าความผิด อยู่เพียงนักเรียน หรือตลอดถึงเจ้าสำนัก ได้ความว่าเจ้าสำนักรู้เห็นด้วย และการส่งนักเรียนเข้าสอบผิดระเบียบของสำนักนี้ ได้เคยมีเมื่อครั้งสอบประโยคนักธรรมชั้นตรี ที่คณะเรียนวัดอนงคารามคราวหนึ่งแล้ว ยังไม่ระมัด ตรัสสั่งให้พักพระวินัย กิจโกศล เจ้าสำนักเรียนวัดกัลยาณมิตรจากความเป็นกรรมการสนามหลวงคราวหนึ่งแห่งการเปิดสนาม และให้ห้ามสามเณรกิมเต้กกับสามเณรผจง สำหนักเรียนนั้น ไม่ให้เข้าสนามหลวงและสนามสาขาชั่วคราวหนึ่ง ฯ

          อนึ่ง มีปัญหาปรารภการเฉลี่ยคะแนนสำหรับประโยคนักธรรมว่าสอบความรู้ ๔ อย่าง ได้คะแนนเท่าจำกัด คือ ๘ เป็นใช้ได้หรือต้องได้มากกว่านั้น จึงเป็นใช้ได้ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ขอเรียนพระปฏิบัติต่อสมเด็จพระมหาสมณะ ประทานพระวินิจฉัยว่า เป็นแต่สนามหลวงได้ปรารภไว้ในรายงานประจำศก ๒๔๕๗ ว่า จักแก้ วิธีเฉลี่ยคะแนนต่อมีคะแนนได้มากกว่าคะแนนจำกัด จึงเป็นเกณฑ์ไม่ได้ ต่ำกว่านั้น เป็นเกณฑ์ตก เพื่อจะกันผู้ตกสองอย่างไม่ให้ได้ แต่ยังหาได้ทรงออกประกาศเปลี่ยนวิธีเฉลี่ยคะแนนอันใช้อยู่ไม่ ในคราวนี้ต้องใช้วิธีเดิม ฯ

 

          มีการอันจะพึงจัดเพื่อสนามคราวหน้า ดังต่อไปนี้ :-

          ๑. ได้พบว่าเปรียญตรีบางรูป มีความรู้ภาษาไทยยังบกพร่อง สมควรจะสอบความรู้ภาษาไทยของผู้จะเข้าสอบประโยคนี้เป็นบุรพภาค เช่นกับสอบความรู้อ่านเขียนอักษรขอมเป็นบุรพภาคแห่งบาลีประโยค ๔ สมเด็จพระมหาสมณะได้ทรงออกประกาศเรื่องนี้แล้ว

          ๒. การสอบประโยคนักธรรมชั้นตรีตามคณะเรียนใหญ่ ไม่ได้ผลดี กลับทำกรรมการสนามหลวงผู้ได้รับเชิญแต่งปัญหาข้อสอบและตรวจต้องทำงานมากขึ้น ต้องทำนานวันกว่าผู้ออกปัญหา ถูกขอแรงมากเข้าชวนให้ออกซ้ำ ๆ กัน ที่เป็นการมักง่าย บางทีผู้ออกลำพองไป ไม่ตั้งอยู่ในสังวร วันสอบพ้องกันเข้า กรรมการได้รับเชิญพ้องกัน ต่างไม่ได้กรรมการประจำตัว สมควรจะจัดให้รวมสอบในที่เดียวกันในวันกำหนดเดียวกัน แต่คงแยกจากสนามหลวงเป็นสาขาออกไป สมเด็จพระมหาสมณะได้ทรงออกประกาศเรื่องนี้แล้ว ฯ

          ๓. ควรแก้วิธีเฉลี่ยคะแนนสำหรับประโยคที่สอบหลายอย่างทั้งแผนกธรรม ทั้งแผนกบาลี ไม่ได้ครบทุกอย่าง จะต้องได้ด้วยเฉลี่ยคะแนน ต่อมีคะแนนได้มากกว่าคะแนนจำกัด จึงเป็นเกณฑ์ได้ ต่ำกว่านั้นเป็นเกณฑ์ตก สมเด็จพระมหาสมณะได้ทรงออกประกาศเรื่องนี้แล้ว ฯ

          ๔. จักให้เจ้าหน้าที่ให้ใบรับแก่ผู้ส่งใบสอบแล้ว เพื่อจะได้ถือไว้เป็นพยาน ในเมื่อใบสอบหาย ฯ

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๖ พ.ศ. ๒๔๖๑. หน้า ๔๐๓-๔๑๑.)

×

  รายงานสอบประโยคนักธรรมชั้นตรี

แห่งคณะเรียนในกรุงเทพฯ*

พ.ศ. ๒๔๖๑

 

          ในศกหลัง สนามหลวงได้ขยายการสอบความรู้ธรรมขึ้นไปถึงชั้นโทแล้ว จึงได้อนุญาตให้คณะเรียนใหญ่ๆ สอบประโยคนักธรรมชั้นตรี ตามระเบียบที่วางไว้ให้ อันมีแจ้งในประกาศที่    /๒๔๖๐ (แถลงการณ์คณะสงฆ์เล่ม ๕ หน้า) นั้นแล้ว จักยอมรับนักธรรมชั้นตรีผู้สอบได้ในคณะเรียนเหล่านี้ ให้เข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นโท และประโยคเปรียญธรรมชั้นตรีในสนามหลวงต่อไป ฯ

          ในศกนี้ คณะเรียนใหญ่ทั้งหลายได้สอบประโยคนักธรรมชั้นตรี ที่สนามหลวงได้รับรองเป็นครั้งแรก มีรายวันสอบ ดังต่อไปนี้ :-

          ๑. คณะเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร เริ่มวันที่ ๑๔ ตุลาคม

          ๒. คณะเรียนวัดเทพศิรินทร์ เริ่มวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน

          ๓. คณะเรียนวัดเบญจมบพิตร เริ่มวันที่ ๔ ธันวาคม

          ๔. สำนักเรียนวัดพระเชตุพน เริ่มวันที่ ๑๒ ธันวาคม

          ๕. คณะเรียนวัดสุทัศน์ เริ่มวันที่ ๑๒ ธันวาคม

          ๖. คณะเรียนวัดมหาธาตุ เริ่มวันที่ ๑๙ ธันวาคม

          ๗. คณะเรียนวัดอนงคาราม เริ่มวันที่ ๒๔ ธันวาคม

          ๘. คณะเรียนวัดราชบพิธ เริ่มวันที่ ๔ มกราคม

 

          ประโยคที่สอบเป็น ๒ ประเภท สอบชั้นตรีครบทุกอย่างประเภท ๑ นักธรรมชั้นตรีภูมิสามเณรสอบวินัยเพิ่ม ตามประกาศที่   /๒๔๖๐ (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๕ หน้า   ) ประเภท ๑ แม่กองและกรรมการผู้สอบและจำนวนนักเรียนผู้เข้าสอบทั้งได้ทั้งตกมีแจ้งในบัญชีแผนกหนึ่ง ในการสอบคราวนี้ มีประเภทสอบวินัยมาก เพราะเป็นคราวแรก การสอบวินัยว่าดีโดยมาก คิดถัวกัน มีจำนวนตกเพียงร้อยละส่วน ชั้นตรี จำนวนได้กับจำนวนตกพอไล่เลี่ยกัน นับว่าการเรียนชั้นนี้ยังดีอยู่ ฯ

 

          ในการสอบแยกคณะกันคราวนี้ ได้พบผลอันไม่เป็นที่เจริญใจดังนี้ :-

          ๑. เจ้าคณะเรียนโดยมากด้วยกัน พอใจเชิญกรรมการสนามหลวงที่เลือก ขอตั้งกรรมการสำหรับคณะมีน้อยนัก และกรรมการสนามหลวงผู้ถูกเชิญมักเป็นชั้นผู้น้อย บางรูปถูกเชิญแทบทุกคณะ วันที่กรรมการรูปหนึ่ง ๆ ต้องตรวจประโยค กลับมากไปกว่าวันที่รวมกันตรวจในสนามหลวงเสียอีก ฯ

          ๒. กรรมการบางรูปยังถูกขอให้แต่งปัญหาสำหรับสอบหลาย ๆ ราย เพิ่มความลำบากขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ฯ

          ๓. กรรมการรูปเดียวกันถูกขอให้แต่งปัญหาอย่างเดียวกัน เช่น พุทธประวัติ ข้อถามมักซ้ำ ๆ กัน ถ้าเป็นอย่างนี้หลายปีไป นักเรียนผู้สอบทีหลังอาจจะฟังปัญหาที่ออกมาและเตรียมตอบตามนั้น ฯ

          ๔. ปัญหาที่ออกในสนามหลวง สมเด็จพระมหาสมณะทรงขอกรรมการช่วยแต่ง ทรงตรวจแก้ไขเปลี่ยนแปลงก่อนแล้วจึงออก การสอบย่อมครองมติของผู้สอบ ให้เป็นไปสม่ำเสมอกัน สำเร็จผลคือทิฏฐิสามัญญตา ความเป็นผู้มีทิฏฐิเสมอกัน ปัญหาอันเจ้าคณะเรียนขอมาจากกรรมการ เกรงใจกรรมการผู้แต่งเสีย ไม่ได้ ตรวจแก้ ออกไปทั้งอย่างนั้น ที่ผิดๆ ก็มี ที่ถามเล่นแก้เล่นก็มี นี้จักทำมติของผู้เรียนให้ไขว้เขวให้เสียผลคือทิฏฐิสามัญญตา ฯ

          ๕. ถ้าวันสอบในต่างคณะพ้องกัน กรรมการผู้สอบไม่ยืนตัวทั้งนั้น สับตัวกัน ดูไม่เป็นกิจจลักษณะ ฯ

          ๖. เป็นทางที่ผู้เข้าสอบนอกสังกัดเลือกเข้าสอบได้ ไม่ทันในที่โน้น ไพล่มาเข้าในที่นี้ เช่นนี้การจัดการเรียนเป็นสำนักเพื่อบำรุงการเรียนให้เป็นหลักแหล่งจักไม่สำเร็จ และสามเณรอายุยังไม่ถึงกำหนดอาจเข้าสอบด้วยไม่บอกอายุก็ได้ เพราะเจ้าคณะเรียนบางรูปไม่กวดขันในระเบียบ เสียอ้อนวอนไม่ได้ก็ปล่อยไป ในคราวนี้ นักเรียนผู้สอบได้ผิดระเบียบ สมเด็จพระมหาสมณะไม่ทรงรับรอง ๒ รูป ฯ

          ผลอันเป็นที่พอใจก็มีอยู่บ้าง คือเป็นทางทำความคุ้นเคยกันในระหว่างเจ้าคณะนักเรียนและกรรมการผู้ถูกเชิญไป และได้เห็นความเอื้อเฟื้อของกรรมการสนามหลวงในการเรียนและในกรรมการด้วยกันผู้เป็นเจ้าคณะเรียนว่ามีเพียงไร รูปหนึ่ง ๆ ถูกแต่งปัญหาหลาย ๆ แบบ ถูกตรวจหลาย ๆ วัน มิได้เบี่ยงบ่ายเลย ฯ

 

          การที่ควรแก้ในคราวสอบความรู้ข้างหน้า มีดังนี้ :-

          ๑. จัดการสอบรวมกันเป็นสาขาของสนามหลวง เปิดสอบก่อนสนามหลวง ฯ

          ๒. ตั้งแม่กองและกรรมการสอบชุดเดียวกัน เลือกตั้งกรรมการสนามหลวงบ้าง กรรมการสำหรับคณะเรียนบ้าง เฉพาะคราว ๆ ฯ

          ๓. เปิดสถานที่สอบเป็นแห่ง ๆ เช่น สนามหลวงได้เปิดที่วัดบวรนิเวศวิหาร และที่วัดเบญจมบพิตร เพื่อนักเรียนเข้าสอบได้พร้อมกันในคราวเดียว ฯ

          ๔. กระทู้และปัญหาที่ออก เป็นหน้าที่ของแม่กองจะแต่งเองเลือกเองหรือขอแรงกรรมการช่วยแต่งช่วยเลือก แล้วและตรวจพร้อมด้วยกรรมการที่ปรึกษา ๒ รูป แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อที่เห็นว่าผิดทำนองเสียแล้วจึงออก ฯ

          ๕. กำหนดวันสอบพร้อมกันทุกแห่ง ใช้กระทู้และปัญหาอย่างเดียวกัน ในวันใดสอบความรู้อย่างใด ให้เป็นเหมือนกัน ฯ

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๖ พ.ศ. ๒๔๖๑. หน้า ๓๒๗-๓๓๗.)

×

รายงานสอบความรู้ธรรมแห่งสนามนอกกรุง*

พ.ศ. ๒๔๖๑

 

          ในการสอบความรู้ธรรมประจำศก ๒๔๖๑ นี้ ได้เปิดสนามขึ้นอีกบ้าง ได้เปิดขึ้นใหม่บ้าง รวม ๕ แห่ง คือ

          ๑. สนามมณฑลมหาราษฎร์

          เดิมเป็นสนามจังหวัดขึ้นอยู่ในสนามมณฑลพายัพ ครั้นแยกออกเป็นมณฑลต่าง การสอบความรู้ชงักมาชั่วคราว จนพระมหาจันทร์ วัดเบญจมบพิตร ได้รับพระดำรัสสั่งแห่งสมเด็จพระมหาสมณะให้ไปจัดการสอนที่นครลำปาง ตั้งสำนักเรียนที่วัดสวนดอก การเรียนเจริญขึ้น คราวนี้ได้เปิดสนามสอบ รวมคณะเรียน จังหวัดแพร่และจังหวัดน่านเข้าด้วย เป็นสนามมณฑล ฯ

          ๒. สนามจังหวัดนครราชสีมา

          เดิมได้เปิดสอบประโยค ๑ มาก่อนแล้ว พร้อมกับสนามอื่นอันร่วมปูนกัน แต่จัดการสอนขึ้นไม่ทัน เมื่อเลิกการสอบแยกประโยคเสีย ให้สอบในคราวเดียวกันครบทุกอย่าง เหมือนในสนามหลวง การสอบชงักอยู่ชั่วคราว บางที่ต้องชงักเพราะเกิดไข้เจ็บ คราวนี้ได้กลับเปิดขึ้นอีก ฯ

          ๓. สนามจังหวัดเพชรบุรี

          พระสุวรรณมุนี เจ้าคณะจังหวัด ได้จัดตั้งสำนักเรียนขึ้นที่วัดคงคารามที่อยู่แห่งเจ้าคณะจังหวัด ขอครูออกไปสอน สมเด็จพระมหาสมณะได้ทรงส่งพระมหาเมธ วัดบวรนิเวศวิหาร ออกไปสอน ในศกนี้เอง ทันเปิดสนามจังหวัด พอเป็นทางชักจูง แต่จำนวนนักเรียนผู้เข้าสอบยังไม่ไพบูลย์ ขึ้นอยู่ในสนามมณฑลราชบุรี ฯ

          ๔. สนามจังหวัดขุขันธ์

          ๕. สนามจังหวัดสุรินทร์

          พระราชมุนี เจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี จัดการเรียนขึ้นในสองจังหวัดนั้น ให้พระริน นักธรรมชั้นตรีสนามหลวง และพระมาก นักธรรมจังหวัด เป็นครูสอนที่จังหวัดขุขันธ์ ตั้งสำนักเรียนที่วัดหลวง แขวงเมืองศรีสะเกษ ให้พระครูสมุห์สวัสดิ์ นักธรรมชั้นตรีสนามหลวงและพระคำ นักธรรมจังหวัด เป็นครูสอนที่จังหวัดสุรินทร์ ตั้งสำนักเรียนที่วัดจุมพล แขวงเมืองสุรินทร์ ได้เปิดสนามจังหวัดขึ้นใหม่ในคราวนี้ ทั้งสองแห่ง ขึ้นอยู่ในสนามมณฑลอุบลราชธานี ฯ

          สนามจังหวัดกรุงเทพฯ ได้เข้าสมทบสอบในคณะเรียนวัดราชบพิธ จึงไม่ได้เข้าอยู่ในจำนวนสนามนอกกรุง

          สมเด็จพระมหาสมณะ ได้ทรงตั้งกรรมการสนามหลวงเป็นแม่กองแห่งสนามมณฑลและสนามจังหวัด ดังต่อไปนี้ :-

          ๑. พระญาณวราภรณ์ เป็นแม่กองแห่งสนามมณฑลอยุธยา เปิดสนามสอบ ๓ แห่ง ที่วัดเสนาสน์ พระนครศรีอยุธยา ๑ แห่ง สมทบคณะจังหวัดสระบุรี คณะจังหวัดอ่างทอง คณะจังหวัดปทุมธานี เข้าสอบด้วย ที่วัดเชิงท่า ลพบุรี ๑ แห่ง ที่วัดระนาม สิงห์บุรี ๑ แห่ง เปิดสนามตรวจที่วัดบวรนิเวศวิหาร ฯ

          ๒. พระปริยัติบัณฑิต เป็นแม่กองแห่งสนามมณฑลราชบุรี เปิดสนามสอบ ๓ แห่ง ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ๑ แห่ง ที่วัดเกตการาม จังหวัดสมุทรสงคราม ๑ แห่ง ที่วัดคงคาราม เพชรบุรี ๑ แห่ง สมทบคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เข้าสอบด้วย เปิดสนามตรวจที่ราชบุรี ฯ

          ๓. พระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นแม่กองแห่งสนามจังหวัดชลบุรี เปิดสนามสอบที่วัดกำแพง ชลบุรี ๑ แห่ง ที่วัดแก้วพิจิตร จังหวัดปราจีนบุรี ๑ แห่ง เปิดสนามตรวจที่ชลบุรี ฯ

          ๔. พระศาสนดิลก แทน พระราชมุนี แม่กองประจำแห่งสนามมณฑลอุบลราชธานี เปิดสนามสอบที่วัดสุปัฏน์ อุบล ๑ แห่ง ที่วัดหลวง ศรีสะเกษ จังหวัดขุขันธ์ ๑ แห่ง ที่วัดจุมพล จังหวัดสุรินทร์ ๑ แห่ง เปิดสนามตรวจที่อุบล ฯ

          ๕. พระวิเชียรกวี เป็นแม่กองแห่งสนามจังหวัดนครราชสีมา เปิดสนามสอบและตรวจที่วัดกลาง เมืองนั้น ฯ

          ๖. พระเทพโมลี เป็นแม่กองแห่งสนามจังหวัดอุทัยธานี เปิดสนามสอบและตรวจที่วัดทุ่งแก้ว จังหวัดนั้น ฯ

          ๗. พระนิกรมมุนี เป็นแม่กองแห่งสนามมณฑลมหาราษฎร์ เปิดสนามสอบ ๓ แห่ง ที่วัดสวนดอก นครลำปาง ๑ แห่ง ที่วัดมิ่งเมือง เมืองแพร่ ๑ แห่ง ที่วัด ช้างค้ำ นครน่าน ๑ แห่ง เปิดสนามตรวจที่นครลำปาง ฯ

          ๘. พระธรรมโกศาจารย์ เป็นแม่กองประจำแห่งสนามมณฑลนครศรีธรรมราช เปิดสนามสอบ ๒ แห่ง ที่วัดท่าโพ นครศรีธรรมราช ๑ แห่ง สมทบคณะจังหวัดพัทลุงด้วย ที่วัดมัชฌิมาวาส สงขลา ๑ แห่ง เปิดสนามตรวจที่นครศรีธรรมราช ฯ

          การสอบเพียงประโยคนักธรรมชั้นตรี จัดตามระเบียบการสอบแห่งคณะเรียนใหญ่ในกรุงเทพฯ ทุกประการ มีจำนวนได้และตกแจ้งในบัญชีต่าง ๆ นักธรรมชั้นตรีแห่งสนามมณฑลและสนามจังหวัด ที่กรรมการสนามหลวงเป็นแม่กองจัดการสอบเข้าระเบียบแล้ว สนามหลวงยอมรับให้เข้าสอบชั้นโทในสนามหลวงได้ ในศกนี้ มีนักธรรมพระนครศรีอยุธยาบ้าง นักธรรมสระบุรีบ้าง นักธรรมสิงห์บุรีบ้าง เข้าสอบชั้นโท แต่ตกทั้งนั้น การเรียนชั้นโทตามลำพัง เป็นอันยังไม่สำเร็จ ฯ

          คณะเรียนที่ตั้งสอนมานานแล้ว ส่งนักเรียนเข้าสอบน้อยไป เพราะมีผู้สอบได้แล้วเป็นพื้นของสำนักอยู่ มีผู้ขึ้นใหม่น้อย เช่น ในสำนักเรียนในกรุงอันมีจำนวนพระสงฆ์สามเณรไม่มาก หรือบางทีเพราะจืดจางลง ส่วนจำนวนได้ตกยังพอสมกัน ส่อว่าการสอนการเรียนยังดีอยู่ การเรียนวินัยจัดได้ว่าเป็นดี ผู้เข้าสอบเพิ่ม สอบได้ แทบทั้งนั้น มีจำนวนตกเป็นอย่างน้อย ๘ ต่อ ๗๗ กล่าวโดยเฉพาะ ฯ

          ๑. คณะเรียนจังหวัดชลบุรี ยังเจริญดี เปิดสนามสอบมาได้สองปี มีผู้นิยมมากขึ้น ตั้งติดง่าย เพราะคนเมืองนี้มีการเรียนเป็นพื้นมาแล้ว สำนักเรียนวัดกำแพง ควรได้รับชมว่าฝึกนักเรียนดี เจ้าอธิการหมอน เจ้าสำนักเป็นครูสอน ส่งนักเรียนเข้าสอบ มีจำนวนตกน้อย ในจำนวนได้ มีได้ชั้นเอก คือได้คะแนนเต็มทุกอย่าง ๗ ต่อ ๑๔ เมื่อสนามคราวหลังก็เป็นเยี่ยม ผู้สอบที่ได้รับรางวัลเอกของแม่กอง ก็เป็นของสำนักนี้ทั้งสองคราว ทั้งเจ้าสำนักทั้งนักเรียนผู้สอบ ได้รับประทานรางวัลของสมเด็จพระมหาสมณะทุกคราวมา ทรงตั้งเจ้าอธิการหมอนเป็นนักธรรมชั้นตรีกิตติมศักดิ์ แห่งสนามหลวง ฯ

          ๒. คณะเรียนมณฑลอุบลราชธานี ได้ขยายสำนักเรียนออกไปเสมอ ในศกนี้ ได้ตั้งขึ้นที่วัดหลวง แขวงเมืองศรีสะเกษ จังหวัดขุขันธ์ ๑ แห่ง ที่วัดจุมพล จังหวัดสุรินทร์ ๑ แห่ง ที่วัดดงบางกลาง แขวงอุบล ๑ แห่ง มีจำนวนนักเรียนเข้าสอบไม่เสื่อม จำนวนได้ตกปานกลาง ตามรายงานของแม่กองประจำ ภิกษุสามเณรเลื่อมใส ในการเรียนธรรม ครูเต็มใจสอน ด้วยสำคัญเห็นเป็นกิจสืบอายุพระพุทธศาสนา พวกฆราวาสมีแก่ใจอุดหนุน ด้วยเห็นเป็นบุญโกฐาสอันดี ฯ

          ๓. คณะจังหวัดพัทลุง ส่งนักเรียนเข้าสอบ ได้ ๑๒ ตกเพียง ๑ พระเปลี่ยนผู้เป็นครูได้รับรางวัลของแม่กอง สมเด็จพระมหาสมณะตรัสสั่งแม่กอง ให้ออกหมายรับสั่งตั้งเป็นนักธรรมชั้นตรีกิตติมศักดิ์ แห่งสนามหลวง ฯ

          ๔. คณะจังหวัดสมุทรสงคราม

          ๕. คณะจังหวัดสงขลา

          ส่งนักเรียนเข้าสอบ มีจำนวนตกเพียง ๑ เสี้ยวที่ ๕ ที่ ๖ แห่งจำนวนได้ ฯ

 

          ส่วนคณะเรียนที่เสื่อมน่าติ คือ คณะอ่างทองและปทุมธานี ส่งนักเรียนเข้าสอบชั้นตรี ตกทั้งนั้น คณะอ่างทองมีได้แต่เพิ่มวินัย ฯ

          ต่อนี้ไป รายชื่อแม่กองและกรรมการผู้ตรวจ จำนวนผู้สอบได้และตก กับรายชื่อนักธรรมชั้นตรีผู้สอบได้ในสนามนอกกรุงคราวนี้ ฯ

 

*(ประมวลพระนิพนธ์ฯ การศึกษา. หน้า ๔๗๕-๔๘๐.)

×

รายงานสอบธรรมและบาลีในสนามหลวง*

พ.ศ. ๒๔๖๒

 

          ในการเปิดสนามหลวงประจำศก ๒๔๖๒ นี้ สมเด็จพระมหาสมณะประชวร ยังไม่หายเป็นปกติ ไม่ได้เสด็จประทับในหน้าที่อธิบดี โปรดให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ทรงบัญชาการแทน ฯ

          การสอบความรู้เป็นบุรพภาค ได้เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ให้ผู้เข้าสอบบาลีประโยค ๓ สอบความรู้ภาษาไทยก่อน ตามประกาศที่ ๑/๒๔๖๑ (แถลงการณ์ คณะสงฆ์เล่ม ๖ หน้า ๓๐๓) การสอบความรู้อักษรขอมทั้งอ่านทั้งเขียนแห่งผู้เข้าสอบบาลีประโยค ๔ ยังใช้ต่อมา ได้แยกสอบในสนามสาขาแห่งสนามหลวง ในลำดับแห่งการสอบประโยคนักธรรมชั้นตรี ได้สอบในวันที่ ๑๗ และวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ เว้นวันพระเหลื่อมในระหว่าง ในการสอบความรู้ภาษาไทยด้วยวิธีให้เขียนตามคำบอก มีผู้เข้าสอบ ๑๕๘ รูป ได้ ๙๔ รูป ตก ๖๔ รูป ในการสอบความรู้ อักษรขอม มีผู้เข้าสอบ ๖๓ รูป ได้ ๕๙ รูป ตก ๔ รูป

          ได้เปิดสนามหลวงสอบที่วัดบวรนิเวศวิหารแห่งหนึ่ง ที่วัดเบญจมบพิตรแห่งหนึ่ง ประชุมตรวจที่วัดเบญจมบพิตร กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์เป็นผู้แทนอธิบดี และเป็นแม่กองตรวจธรรม พระธรรมวโรดม เป็นแม่กองตรวจบาลี กองตรวจบาลีจัดเป็น ๕ กอง ตรวจธรรมก็จัดเป็น ๕ คราวนี้จัดกองได้น้อยไป เพราะเว้นท่านผู้ชำระอรรถกถาเพื่อลงพิมพ์ในงานฉลองพระชนมายุ ๖๐ ทัศของสมเด็จพระมหาสมณะ และในงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี เริ่มวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ จบวันที่ ๑ มีนาคม รวม ๘ วัน จำนวนผู้เข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นโท ๓๑๘ ได้ ๑๕๘ ตก ๑๖๐ จำนวนเข้าสอบและจำนวนได้ น้อยกว่าในศกหลังเล็กน้อย นับว่าเสมออยู่ สอบวินัยเพิ่มได้ ๙ ตก ๑ ส่อว่านักเรียนชำนาญดีในวินัย การสอบประเภทนี้มีแต่จะหมดไปเพราะเลิกการสอบสามเณรภูมิเสียแล้ว สามเณรเข้าสอบต้องสอบวินัยด้วยทีเดียว จำนวนนักธรรมเข้า สอบบาลี ๓ ประโยคเพื่อเป็นเปรียญธรรมชั้นตรี ๙๔ รูป ได้ ๓๑ รูป ตก ๖๓ รูป น้อยกว่าในศกหลัง จำนวนเข้าเกือบ ๗๐ รูป จำนวนได้น้อยกว่าเท่าตัว เป็นอย่างนี้ เพราะตกความรู้บุรพภาคมาก เป็นทางจะทำเปรียญตรีให้เข้ารูป จำนวนเปรียญตรี สอบประโยคเปรียญโท คิดถัวกันหมด เข้า ๘๑ รูป ประโยค ๔ ได้ ๓๘ ตก ๑๖ ประโยค ๕ ได้ ๗ ตก ๑๓ ประโยค ๖ ได้ ๕ ตก ๒ รวมชั้นนี้ได้ ๕๐ ตก ๓๑ จำนวนเข้าและจำนวนได้น้อยกว่าในศกหลังเล็กน้อย แต่ไม่ถึงแปลก ประโยค ๔ นับว่าได้มาก แต่จะว่าความรู้เจริญขึ้นไม่ได้แน่ บางทีประโยคที่อ่อนโปร่งดี หรือถูกประโยคซ้อมเข้า ก็อาจจะแปลได้ ฯ

          การเรียนธรรมชั้นมัชฌิมภูมิยังเจริญดี ที่ควรชม นอกจากวัดมหาธาตุ คือวัดมกุฏกษัตริย์ เข้า ๑๑ ตกรูปเดียวเท่านั้น ได้คะแนนถึง ๔.๑ ที่ควรติ วัดอนงคาราม เข้า ๒๙ ได้เพียง ๙ รูปเพียงเท่านั้น ขาดคะแนน ๑ เต็ม วัดประยุรวงศ์ เข้า ๑๐ รูปได้ ๒ รูปเท่านั้น ขาดคะแนน ๒ เต็ม สำนักเรียนมีนักเรียนมาก ไม่น่าเป็นอย่างนี้เลย คณะต่างจังหวัด คงได้รับการสอนอ่อน ไม่ค่อยได้เลย ที่ได้ก็เพียงคณะละ ๑ รูป สำนักที่ขาดคะแนนในศกหลังคือ วัดจักรวรรดิ วัดสัมพันธวงศ์ วัดราชาธิวาส แก้ตัวฟื้นขึ้นได้ วัดราชาธิวาส ในศกหลังขาดคะแนนถึง ๕ ในศกนี้ กลับได้ ๕.๑ ฯ

          การเรียนบาลีชั้นตรีเสื่อมลง วัดมหาธาตุเคยได้คะแนนสูง ในศกหลังถึง ๒๑ ในศกนี้ได้เพียง ๖ วัดที่ขาดคะแนนมีเป็นอันมาก การเรียนบาลีชั้นโท นับว่าดี สำนักใหญ่ที่ขาดคะแนนมีแต่วัดพระเชตุพน เข้า ๓ รูป ตกทั้งนั้น

          กล่าวเฉพาะสำนักเรียน วัดมหาธาตุ รักษาฐานะเป็นที่หนึ่งอยู่ได้ แต่คะแนนที่ได้น้อยกว่าในศกหลังทุกอย่าง ที่ลดเป็นอย่างมาก ในส่วนการสอบธรรม ๑๗.๑ ในการสอบบาลี คิดถัวกัน ๑๖ ถ้วน วัดอนงคารามขาดคะแนนในส่วนสอบธรรมและสอบบาลีชั้นตรี รวมกัน ๓.๑ แต่แก้ตัวได้ ในส่วนสอบบาลีชั้นโทได้ถึง ๖.๑ อยู่ในลำดับรองวัดมหาธาตุ วัดพระเชตุพนได้คะแนนในส่วนสอบธรรม ๖ แต่ขาดคะแนนในส่วนบาลีทั้งสองชั้นถัวกัน ๒ ถ้วน วัดประยุรวงศ์ ขาดคะแนนในส่วนสอบธรรมและสอบบาลีชั้นตรี รวม ๔.๑ คะแนนได้ส่วนสอบบาลีชั้นโทเพียง ๒.๑ ไม่ลบกัน ในอย่างที่ขาดคะแนน ลงมาอยู่สุดลำดับทั้ง ๒ อย่าง ฯ

          เกณฑ์จัดลำดับสำนักเรียนมีจำนวนได้ตก ในศกนี้ ใช้ตามเกณฑ์ในรายงานศกหลัง (ถ. เล่ม ๖ หน้า ๔๐๖) ฯ

          ในสนามคราวนี้ ไม่ได้ปรารภถึงการอันจะพึงจัดเพื่อสนามคราวหน้า ฯ

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๗ พ.ศ. ๒๔๖๒. หน้า ๓๘๙-๓๙๒.)

×

รายงานสอบประโยคนักธรรมชั้นตรี

ในสนามสาขาแห่งสนามหลวง*

พ.ศ. ๒๔๖๒

 

          ในศกหลัง สนามหลวงได้อนุญาตให้คณะเรียนใหญ่สอบประโยคนักธรรมชั้นตรี แต่ได้พบความไม่สะดวก ดังปรารภถึงในรายงานสอบแห่งคณะเรียนในกรุงเทพฯ นั้นแล้ว (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๖ หน้า ๓๒๘) สมเด็จพระมหาสมณะจึงตรัสประกาศให้รวมสอบในที่แห่งเดียวกัน (ถ. เล่ม ๖ หน้า ๓๐๕) ในศกนี้ โปรดให้เปิดสนามสาขาแห่งสนามหลวงที่วัดบวรนิเวศวิหาร ให้แยกสอบที่วัดเบญจมบพิตรอีกแห่งหนึ่ง ทรงตั้งพระพรหมุนี กรรมการสนามหลวงเป็นแม่กอง ฯ

          การออกประโยค ในศกหลัง เจ้าสำนักคณะเรียนขอแรงกรรมการสนามหลวงช่วย แต่เกรงใจเจ้าของปัญหาไม่แก้ข้อผิดทำนอง ในศกนี้โปรดให้แม่กองเชิญกรรมการผู้ใหญ่ ๒ รูป ทั้งแม่กองด้วย เข้ากันเป็นคณะตรวจประโยคที่ออก เห็นผิดทำนองให้แก้ เป็นปัญหาที่ใช้ได้ ฯ

          กรรมการผู้ตรวจ ทรงเลือกขึ้นใหม่อีกสำรับหนึ่ง มีกรรมการสนามหลวงเฉพาะกองละรูป กรรมการสำรับนี้จะได้ส่งไปตรวจประโยคในสนามนอกกรุง และจะได้เลือกเข้าเป็นกรรมการสนามหลวง กรรมการเหล่านี้ มีรายชื่อแจ้งข้างหน้า ฯ

          ได้เปิดสนามสอบ ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ถึงที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ มีภิกษุสามเณรเข้าสอบ ๔๕๗ ได้ ๒๗๑ ตก ๑๘๖ เข้าสอบวินัยเพิ่ม ๑๐๒ ได้ ๑๐๐ ตก ๒ มีรายสำนักแจ้งในตารางข้างหน้า ฯ

          สำนักที่ควรชม วัดราชประดิษฐ เข้า ๘ รูป วัดมกุฏกษัตริย์ เข้า ๗ รูป ได้ทั้งนั้น ด้วยไม่ต้องเฉลี่ยคะแนน เว้นของวัดมกุฏกษัตริย์รูปเดียว ได้คะแนนเต็มเป็นเอก วัดหนึ่ง ๆ มีหลายรูป วัดสัมพันธวงศ์เข้า ๑๑ รูป ตกเพียงรูปเดียว ได้คะแนนเต็มมีหลายรูป แต่มีได้ด้วยเฉลี่ยคะแนนบ้าง คณะนนทบุรีส่งถึง ๒๔ รูป ตกเสีย ๒๓ รูป คณะพระประแดงส่ง ๑๗ รูป ตกเสีย ๑๕ รูป เข้าใจว่าเป็นเพราะแต่ก่อนแยกสอบต่างหาก ประโยคที่ออกน่าจะอ่อนไปกว่าของสนามหลวง หรือการเรียนย่อหย่อนลง กล่าวทั่วไป ประโยคนี้ สำนักทั้งหลายออกจะช่ำชอง คงมีจำนวนสอบได้มากกว่าจำนวนตกเป็นพื้น วินัยเป็นอย่างชำนาญ สอบเพิ่มใน ๑๐๒ ตกเพียง ๒ รูปเท่านั้น ฯ

          การสอบคราวนี้ เป็นไปโดยเรียบร้อยดี ฯ

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๗ พ.ศ. ๒๔๖๒. หน้า ๓๔๔-๓๔๗.)

×

รายงานสอบประโยคนักธรรมชั้นตรี*

ในสนามนอกกรุง

พ.ศ. ๒๔๖๒

 

          ในการสอบประโยคนักธรรมชั้นตรี ประจำ พ.ศ. ๒๔๖๒ นี้ ได้เปิดสนามขึ้นใหม่อีก ๔ แห่ง คือ

          ๑. สนามจังหวัดนครนายก

          พระครูญาณนายก เจ้าคณะจังหวัด กับพระครูสุตวาที เจ้าคณะรอง ได้ร่วมใจกันจัดตั้งสำนักเรียนขึ้น ๗ แห่ง คือ วัดอุดมธานี ที่อยู่เจ้าคณะจังหวัด ๑ วัดศรีเมือง ที่อยู่เจ้าคณะรอง ๑ วัดบางอ้อนอก ๑ วัดอัมพวัน ๑ วัดศรีมงคล ๑ วัดบ้านใหม่ ๑ วัดวังกระโจม ๑ ได้เปิดสนามสาขาสอบในศกนี้ ฯ

          ๒. สนามฉะเชิงเทรา

          พระครูสุตาลงกฎ เจ้าคณะแขวงเมือง ได้ร่วมใจกันกับเจ้าคณะเจ้าอาวาสอื่น จัดตั้งสำนักเรียนขึ้น ๓ แห่ง คือ วัดแหลมใต้ ๑ วัดเทพนิมิตร ๑ วัดลาดขวาง ๑ ได้เปิดสนามสาขาสอบในศกนี้ ฯ

          ๓. สนามจังหวัดนครปฐม

          คณะกรรมการบัญชาการคณะจังหวัดจัดตั้งสำนักเรียนขึ้น ๒ แห่ง คือ วัดเสนหา ๑ วัดสัมปทวน ๑ ได้เปิดสนามจังหวัดสอบในศกนี้ ฯ

          ๔. สนามจังหวัดร้อยเอ็ด

          พระครูเอกุตรสตาธิคุณ เจ้าคณะจังหวัด ได้จัดตั้งสำนักเรียนขึ้น ๒ สำนัก คือ วัดบึง ๑ วัดกลาง ๑ ได้เปิดสนามจังหวัดสอบในศกนี้ ฯ

          คณะจังหวัดที่จัดตั้งสำนักเรียนขึ้น แต่มีนักเรียนเข้าสอบไม่ครบจำนวนเปิดสนาม ได้สมทบสนามอื่นมี ๒ คือ คณะชัยภูมิ สมทบสนามจังหวัดนครราชสีมา คณะกบินทรบุรี สมทบสนามสาขาปราจีนบุรี ฯ

          สนามที่เคยเปิดสอบมาแล้ว ไม่ได้เปิดในศกนี้ ๑ แห่ง คือ สนามจังหวัดอุทัยธานี เพราะส่งบัญชีล่าไป ไม่สะดวกแก่การสอบ ฯ

 

          สมเด็จพระมหาสมณะได้ทรงตั้งกรรมการสนามหลวงเป็นแม่กองแห่งสนามมณฑลและสนามจังหวัด ดังต่อไปนี้ :

          ๑. พระญาณวราภรณ์ เป็นแม่กองแห่งสนามมณฑลอยุธยา เปิดสนามมณฑลที่วัดเสนาสนาราม พระนครศรีอยุธยา ๑ แห่ง สมทบคณะจังหวัดสระบุรี คณะจังหวัดอ่างทอง คณะจังหวัดปทุมธานีเข้าสอบด้วย เปิดสนามสาขาที่วัดเชิงท่า ลพบุรี ๑ แห่ง ที่วัดรนาม สิงห์บุรี ๑ แห่ง ฯ

          ๒. พระปริยัติบัณฑิต เป็นแม่กองแห่งสนามมณฑลราชบุรี เปิดสนามมณฑลที่วัดคงคาราม เพชรบุรี เปิดสนามสาขาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ๑ แห่ง ที่วัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม ๑ แห่ง ฯ

          ๓. พระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นแม่กองแห่งสนามมณฑลปราจีนบุรี เปิดสนามจังหวัดที่วัดราษฎร์บำรุง ชลบุรี ตรวจที่นั้น ๑ แห่ง เปิดสนามสาขาที่วัดแก้ว พิจิตร ปราจีนบุรี ๑ แห่ง ที่วัดอุดรธานี นครนายก ๑ แห่ง ที่วัดแหลมใต้ ฉะเชิงเทรา ๑ แห่ง ตรวจในกรุงเทพฯ

          ๔. พระราชมุนี แม่กองประจำแห่งสนามมณฑลอุบลราชธานี เปิดสนามมณฑลที่วัดสุปัฏน์ อุบล ๑ แห่ง เปิดสนามสาขาที่จังหวัดขุขันธ์ ๑ แห่ง ที่จังหวัดสุรินทร์ ๑ แห่ง ฯ

          ๕. พระมหานายก เป็นแม่กองแห่งสนามมณฑลภาพพายัพ เปิดสนามมณฑลที่นครเชียงใหม่ ๑ แห่ง เปิดสนามสาขาที่นครลำปาง ๑ แห่ง ที่เมืองแพร่ ๑ แห่ง ที่นครน่าน ๑ แห่ง ฯ

          ๖-๗. สนามมณฑลนครศรีธรรมราช ทรงแยกเป็นสนามจังหวัดนครศรีธรรมราช ๑ แห่ง สนามจังหวัดสงขลา ๑ แห่ง พระญาณเวที เป็นแม่กองแห่งสนามจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดสนามจังหวัดที่วัดท่าโพ นครศรีธรรมราช เปิดสนามสาขาที่วัดคูหาต่ำ พัทลุง พระอโนมคุณมุนี เป็นแม่กองแห่งสนามจังหวัด

สงขลา เปิดสนามที่วัดมัชฌิมาวาส ฯ

          ๘. พระปิฎกโกศล เป็นแม่กองแห่งสนามจังหวัดนครราชสีมา เปิดสนามที่วัดกลาง ฯ

          ๙-๑๐. พระมหานายก เป็นแม่กองแห่งสนามจังหวัดนครปฐม และจังหวัดร้อยเอ็ด ที่นครปฐม เปิดสนามสอบที่วัดเสนหา ที่ร้อยเอ็ดส่งประโยคไปให้สอบ เปิดสนามสาขาที่วัดบึง ส่งใบสอบมาตรวจในกรุงเทพฯ

 

          การสอบเพียงประโยคนักธรรมชั้นตรี มีนักเรียนเข้าสอบ ๗๘ สำนัก ๑,๐๒๔ รูป ได้ ๕๒๒ รูป ตก ๕๐๒ รูป มีจำนวนมากกว่าในศกหลัง เข้า ๓๖๔ รูป ได้ ๑๖๕ รูป มีรายมณฑลและจังหวัดแจ้งในตารางเข้าท้าย สอบวินัยเพิ่มเกือบไม่มีแล้ว ในศกนี้ ยังมีในสนามมณฑลอยุธยา ได้ ๑๕ รูป ตก ๑ รูป ในสนามมณฑลราชบุรี ได้ ๑ รูป มีจำนวนไม่ถึงลงในตาราง จักมีแจ้งในบัญชีรายชื่อ ฯ

 

          คณะเรียนที่ควรได้ชม คณะเรียนมณฑลปราจีนบุรี จัดการตั้งสำนักเรียนขยายออกไปอีก ที่ชลบุรี ๔ แห่ง ที่ปราจีนบุรี ๒ แห่ง ตั้งใหม่ที่นครนายก ๗ แห่ง ตั้งใหม่ที่ฉะเชิงเทรา ๓ แห่ง ในจังหวัดนครนายก พระครูญาณนายก เจ้าคณะจังหวัดเป็นครูสอนเอง ในจังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักวัดลาดขวาง เจ้าอธิการจี๊ด เจ้าคณะหมวดและอุปัชฌายะ ในท้องถิ่น เป็นครูสอนเอง ทั้งสองรูปส่งศิษย์เข้าสอบ ได้ชั้นเอกก็มี อนึ่ง ในจังหวัดนครนายก เจ้าอธิการก็มี พระอธิการก็มี เป็นครูสอนเองด้วย เข้าสอบเองด้วย แรกตั้ง แม้นักเรียนเข้าสอบและผู้สอบได้ยังไม่มาก แต่ได้อย่างดีมีอยู่ เจ้าคณะยังเอาใจใส่ คงเจริญขึ้น สมเด็จพระมหาสมณะโปรดประทานพัดนักธรรมแก่พระครูญาณนายกและเจ้าอธิการจี๊ด วัดลาดขวาง ทรงยกเป็นนักธรรมชั้นตรีกิตติมศักดิ์แห่งสนามหลวง แก่เจ้าอธิการรื่น วัดศรีมงคลและพระอธิการเผื่อน วัดบางอ้อนอก จังหวัดนครนายก ผู้สอบได้ในสนามมณฑลนี้ ฯ

 

          คณะจังหวัดนครศรีธรรมราช คณะจังหวัดสงขลา และคณะจังหวัดนครปฐม ฝึกสอนดี มีนักเรียนสอบได้มากกว่าตกเป็นหลายเท่า คณะหลังพึ่งเปิดสนามในศกนี้เอง จัดการสอนได้ดีอย่างนี้ ควรชมเป็นพิเศษ ฯ

 

          คณะที่ควรติ คณะพระนครศรีอยุธยา ขยายสำนักเรียนไม่ออกเลย ทั้งจังหวัดใหญ่อย่างนั้น ในศกนี้ มีนักเรียนเข้าสอบเพียง ๑๒ รูปเท่านั้น เป็นอันไม่ต้องปรารภถึงการฝึกสอน คณะจังหวัดอ่างทองและปทุมธานีทอดธุระเสีย มีนักเรียนเข้าสอบไม่กี่รูป เปิดสนามสาขาไม่ได้ ต้องสมทบกับคณะพระนครศรีอยุธยา คณะจังหวัดลำพูน ส่งเข้าสอบ ๑๑ รูป คณะจังหวัดน่าน ส่ง ๒๔ รูป ได้คณะละ ๑ รูป สองคณะนี้บกพร่องด้วยการอ่านหนังสือชาวใต้ เหมือนคณะอื่นในภาคเดียวกัน คณะที่ขวนขวายหาครูไปสอน ย่อมจัดการเจริญ สองคณะนั้นไม่กระตือรือร้น จึงตามคณะอื่นไม่ทัน คณะจังหวัดแพร่ก็ล้าหลังเหมือนกัน แต่เจ้าคณะขวนขวายอยู่ค่อยดีกว่า และคงดีขึ้นในข้างหน้า เทียบกับคณะมณฑลอุบลแล้ว คณะมณฑลภาคพายัพล้ากว่ามาก ดังจะเห็นได้ในตาราง เพราะคณะแรกได้บำรุงการเรียนมานานแล้ว เจ้าคณะแข็งแรง มีพระรอง ๆ ลงมาช่วยเป็นกำลัง ยังขวนขวายหาครูไปจากกรุงเทพฯ เสมอฯ

 

          ต่อไปนี้ รายชื่อแม่กองและกรรมการผู้ตรวจ จำนวนผู้สอบได้และตก กับรายชื่อนักธรรมชั้นตรี ผู้สอบได้ในสนามนอกกรุงคราวนี้ ฯ

 

*(แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๘ พ.ศ. ๒๔๖๓. หน้า ๑-๖.)

×
×
×

การแบ่งส่วนงานและขอบเขตของงาน

ในสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง

พ.ศ. ๒๕๕๙

---------------------------

 

          ๑. สำนักงานอำนวยการ ประกอบด้วย ประธานบริหาร ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และเลขานุการสำนักงาน

          ๒. ฝ่ายกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

          ๓. ฝ่ายบริหารทั่วไป

          ๔. ฝ่ายวิชาการ

          ๕. ฝ่ายสถิติ

          ๖. ฝ่ายธุรการ

          ๗. ฝ่ายนโยบายและแผน

          ๘. ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์

          ๙. ฝ่ายประชาสัมพันธ์

          ๑๐. ฝ่ายปฏิคม

          ๑๑. ฝ่ายสารสนเทศ

          ๑๒. ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทั่วไป

×

สำนักงานอำนวยการ

๑. พระเทพเจติยาจารย์ วัดโสมนัสวิหาร

          เป็นผู้อำนวยการ

๒. พระราชสุมนต์มุนี วัดบวรนิเวศวิหาร

          เป็นรองผู้อำนวยการ

๓. พระสุธีรัตนาภรณ์ วัดสุทัศนเทพวราราม

          เป็นรองผู้อำนวยการ

๔. พระราชสารสุธี วัดตรีทศเทพ

          เป็นรองผู้อำนวยการ

๕. พระเทพสิทธิโกศล วัดพลับพลาชัย

          เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ กำกับดูแลฝ่ายปฏิคม

๖. พระเทพสังวรญาณ วัดบวรนิเวศวิหาร

          เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ กำกับดูแลฝ่ายนโยบายและแผน

๗. พระราชวิจิตรปฏิภาณ วัดสุทัศนเทพวราราม

          เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ กำกับดูแลฝ่ายประชาสัมพันธ์

๘. พระเทพโมลี วัดเทพศิรินทราวาส

          เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ กำกับดูแลฝ่ายธุรการ

๙. พระราชวรมุนี วัดสังเวชวิศยาราม

          เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ กำกับดูแลฝ่ายวิชาการ

๑๐. พระวิสุทธิคณาภรณ์ วัดราชาธิวาสวิหาร

          เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ กำกับดูแลฝ่ายสถิติ

๑๑. พระสรภาณโกศล วัดไตรมิตรวิทยาราม

          เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ กำกับดูแลฝ่ายวิเทศสัมพันธ์

๑๒. พระราชธรรมาภรณ์ วัดสุทัศนเทพวราราม

          เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ กำกับดูแลฝ่ายบริหารทั่วไป

๑๓. พระมหานายก วัดบวรนิเวศวิหาร

          เป็นเลขานุการสำนักงาน

 

มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

          (๑) สั่งการ ควบคุม ดูแลการดำเนินงานของฝ่ายต่าง ๆ ในสำนักงาน ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

          (๒) ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ ข้อวินิจฉัย แก่ฝ่ายต่าง ๆ เพื่อนำเสนอคณะผู้บริหาร

          (๓) ประสานงานกับบุคลากรหรือหน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอกสำนักงาน

          (๔) สนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

×

การแบ่งส่วนงานและขอบเขตของงาน

ในสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง

พ.ศ. ๒๕๕๙

---------------------------

 

          ๑. สำนักงานอำนวยการ ประกอบด้วย ประธานบริหาร ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และเลขานุการสำนักงาน

          ๒. ฝ่ายกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

          ๓. ฝ่ายบริหารทั่วไป

          ๔. ฝ่ายวิชาการ

          ๕. ฝ่ายสถิติ

          ๖. ฝ่ายธุรการ

          ๗. ฝ่ายนโยบายและแผน

          ๘. ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์

          ๙. ฝ่ายประชาสัมพันธ์

          ๑๐. ฝ่ายปฏิคม

          ๑๑. ฝ่ายสารสนเทศ

          ๑๒. ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทั่วไป

 

สำนักงานอำนวยการ

๑. พระเทพเจติยาจารย์ วัดโสมนัสวิหาร

          เป็นผู้อำนวยการ

๒. พระราชสุมนต์มุนี วัดบวรนิเวศวิหาร

          เป็นรองผู้อำนวยการ

๓. พระสุธีรัตนาภรณ์ วัดสุทัศนเทพวราราม

          เป็นรองผู้อำนวยการ

๔. พระราชสารสุธี วัดตรีทศเทพ

          เป็นรองผู้อำนวยการ

๕. พระเทพสิทธิโกศล วัดพลับพลาชัย

          เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ กำกับดูแลฝ่ายปฏิคม

๖. พระเทพสังวรญาณ วัดบวรนิเวศวิหาร

          เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ กำกับดูแลฝ่ายนโยบายและแผน

๗. พระราชวิจิตรปฏิภาณ วัดสุทัศนเทพวราราม

          เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ กำกับดูแลฝ่ายประชาสัมพันธ์

๘. พระเทพโมลี วัดเทพศิรินทราวาส

          เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ กำกับดูแลฝ่ายธุรการ

๙. พระราชวรมุนี วัดสังเวชวิศยาราม

          เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ กำกับดูแลฝ่ายวิชาการ

๑๐. พระวิสุทธิคณาภรณ์ วัดราชาธิวาสวิหาร

          เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ กำกับดูแลฝ่ายสถิติ

๑๑. พระสรภาณโกศล วัดไตรมิตรวิทยาราม

          เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ กำกับดูแลฝ่ายวิเทศสัมพันธ์

๑๒. พระราชธรรมาภรณ์ วัดสุทัศนเทพวราราม

          เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ กำกับดูแลฝ่ายบริหารทั่วไป

๑๓. พระมหานายก วัดบวรนิเวศวิหาร

          เป็นเลขานุการสำนักงาน

 

มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

          (๑) สั่งการ ควบคุม ดูแลการดำเนินงานของฝ่ายต่าง ๆ ในสำนักงาน ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

          (๒) ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ ข้อวินิจฉัย แก่ฝ่ายต่าง ๆ เพื่อนำเสนอคณะผู้บริหาร

          (๓) ประสานงานกับบุคลากรหรือหน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอกสำนักงาน

          (๔) สนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

 

ฝ่ายกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๑. พระเทพมุนี วัดไตรมิตรวิทยาราม

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๒. พระเทพคุณาภรณ์ วัดเทวราชกุญชร

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๓. พระเทพญาณกวี วัดเทพศิรินทราวาส

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๔. พระเทพสารสุธี วัดเทพศิรินทราวาส

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๕. พระราชเวที วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๖. พระราชปัญญาภรณ์ วัดนางชี

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๗. พระราชวิสุทธิดิลก วัดสามพระยา

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๘. พระราชดิลก วัดอาวุธวิกสิตาราม

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๙. พระราชเมธี วัดไตรมิตรวิทยาราม

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๑๐. พระราชศาสนกิจโสภณ วัดเสมียนนารี

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๑๑. พระราชปริยัติสุนทร วัดเทพลีลา

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๑๒. พระราชรัตนโสภณ วัดบางนานอก

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๑๓. พระราชปริยัติโมลี วัดโมลีโลกยาราม

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๑๔. พระราชพัฒนาภรณ์ วัดไชโย/อ่างทอง

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๑๕. พระนิกรมมุนี วัดไตรมิตรวิทยาราม

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๑๖. พระสุธีธรรมานุวัตร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๑๗ พระอาทรปริยัติกิจ วัดเทพลีลา

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๑๘. พระศรีวิสุทธาภรณ์ วัดบรมนิวาส

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๑๙. พระอมรโมลี วัดปทุมวนาราม

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๒๐. พระสุนทรกิจจาภิวัฒน์ วัดคลองเตยใน

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๒๑. พระวิสุทธิธีรพงศ์ วัดนางชี

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๒๒. พระโสภณคณาภรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๒๓. พระวินัยสุธี วัดธาตุทอง

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๒๔. พระกิตติญาณเมธี วัดกลาง/ลพบุรี

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๒๕. พระสุทธิสารเมธี วัดบวรนิเวศวิหาร

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๒๖. พระวิบูลธรรมภาณ วัดสัมมาชัญญาวาส

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๒๗. พระปริยัติธรรมเมธี วัดบุรณศิริมาตยาราม

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๒๘. พระสิทธิพัฒนาทร วัดทรงธรรม/สมุทรปราการ

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๒๙. พระพิมลภาวนาพิธาน วัดระฆังโฆสิตาราม

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๓๐. พระกิตติวิมลเมธี วัดโสมนัสวิหาร

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๓๑. พระกิตติสารมุนี วัดเทพศิรินทราวาส

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๓๒. พระเมธีวราภรณ์ วัดพนัญเชิง/พระนครศรีอยุธยา

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๓๓. พระศรีสุธรรมมุนี วัดเทพลีลา

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๓๔. พระเมธีธรรมสาร วัดอาษาสงคราม/สมุทรปราการ

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๓๕. พระศรีวิศาลคุณ วัดเทพศิรินทราวาส

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๓๖. พระมหากวิพัฒน์ สุขเมธี วัดไตรมิตรวิทยาราม

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๓๗. พระมหาปรีชา วฑฺฒนชโย วัดเทพศิรินทราวาส

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๓๘. พระมหาปรีชา ปภงฺกโร วัดพระพิเรนทร์

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๓๙. พระมหาสุประยิตโน ธมฺมธีโร วัดบวรนิเวศวิหาร

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๔๐. พระครูพิศาลสรนาท วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๔๑. พระมหาณรงค์ศักดิ์ ฐิติญาโณ วัดใหม่ยายแป้น

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๔๒. รศ.สุเชาวน์ พลอยชุม มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๔๓. นายถนอม บุตรเรื่อง

          เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

 

มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

          (๑) เป็นกรรมการคัดเลือก และพิจารณาข้อสอบ ตามที่แม่กองธรรมสนามหลวงมอบหมาย

          (๒) ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ ข้อวินิจฉัยด้านฝ่ายวิชาการแก่ฝ่ายต่าง ๆ

          (๓) สนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

          (๔) กำหนดระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการออกข้อสอบ และจัดทำข้อสอบของสนามหลวงแผนกธรรม

 

เจ้าหน้าที่สำนักงาน

๑. พระวีรธรรมมุนี วัดไตรมิตรวิทยาราม

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๒. พระครูมงคลกิตติธาดา วัดปทุมวนาราม

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๓. พระครูปัญญาสารสุธี วัดปทุมวนาราม

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๔. พระครูวิจิตรธรรมคุณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๕. พระครูไพศาลพิพัฒนาภรณ์ วัดเสนาสนาราม/พระนครศรีอยุธยา

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๖. พระครูพิศิษฐ์จริยานุยุต วัดเทพธิดาราม

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๗. พระครูวิภัชอรรถวาที วัดเสมียนนารี

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๘. พระครูปลัดสัมพิพัฒนเมธาจารย์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๙. พระครูปลัดสัมพิพัฒนญาณาจารย์ วัดเทพศิรินทราวาส

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๑๐. พระครูปลัดสุวัฑฒนพรหมจริยคุณ วัดเสนหา

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๑๑. พระครูสรพาจน์โฆสิต วัดธาตุทอง

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๑๒. พระครูสุทธิอาจารวัฒน์ วัดปทุมวนาราม

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๑๓. พระครูสุภัทรธีรวงศ์ วัดอาษาสงคราม/สมุทรปราการ

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๑๔. พระครูสารกิจไพศาล วัดยาง

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๑๕. พระครูพิลาสสรธรรม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๑๖. พระครูธรรมาธิการ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๑๗. พระครูธรรมรัต (ประดิษฐ์) วัดพลับพลาชัย

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๑๘. พระครูธรรมรุจิ (ญาณเมธ) วัดคณิกาผล

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๑๙. พระครูปลัด เฉลิมพล สุเมโธ วัดวีระโชติธรรมาราม

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๒๐. พระครูปลัด ถาวร ถาวโร วัดไร่ขิง/นครปฐม

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๒๑. พระปลัด ไพบูลย์ คุตฺตธมฺโม วัดธาตุทอง

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๒๒. พระปลัด มงคล อติมงฺคโล วัดธาตุทอง

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๒๓. พระมหาฉัตรชัย สุฉตฺตชโย วัดบวรนิเวศวิหาร

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๒๔. พระมหาสมชาย อภิชโย วัดบวรนิเวศวิหาร

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๒๕. พระมหาโสนม ปญฺโญภาโส วัดสระเกศ

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๒๖. พระมหาวันชัย วิชยวโร วัดธาตุทอง

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๒๗. พระมหาคัมภีร์ คมฺภีโร วัดพระยายัง

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๒๘. พระครูสมุห์ วัชระ ภทฺทธมฺโม วัดระฆังโฆสิตาราม

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

๒๙. พระปรีดา ธมฺมปีติโก วัดบวรนิเวศวิหาร

          เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน

×

ฝ่ายบริหารทั่วไป

๑. พระวินัยเมธี วัดสัมพันธวงศ์

          เป็นหัวหน้าฝ่าย

๒. พระครูพิพิธวรกิจจาทร วัดระฆังโฆสิตาราม

          เป็นรองหัวหน้าฝ่าย

๓. พระมหาอาทิตย์ อภินนฺโท วัดสัมพันธวงศ์

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

๔. พระมหาสุวรรณ กุสลจิตฺโต วัดโสมนัสวิหาร

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

๕. พระครูสังฆรักษ์ ธีรพงษ์ ฐานเมธี วัดสัมพันธวงศ์

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

๖. พระครูสังฆรักษ์ สมชาย อติพฺพโล วัดระฆังโฆสิตาราม

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

 

มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

          (๑) จัดประชุมคณะผู้บริหาร จัดการประชุมระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ของสำนักงานโดยจัดทำเอกสารจดบันทึกการประชุม และทำรายงานการประชุม

          (๒) ติดตามและแจ้งมติที่ประชุมของคณะผู้บริหาร หรือของฝ่ายต่าง ๆ ให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบและปฏิบัติ

          (๓) บริหารงานเลขานุการของคณะผู้บริหาร อันได้แก่

                   - จัดนัดหมายการเข้าพบ การประชุมสัมมนา ตามลำดับความสำคัญและความเหมาะสม

                   - ต้อนรับผู้ที่มาเข้าพบ

                   - ร่างบันทึก รายงาน หรือตอบจดหมายตามที่ได้รับมอบหมาย

                   - จัดแยกเอกสารและเก็บรักษาเอกสารที่มีความสำคัญ หรือเป็นความลับ

                   - กลั่นกรอง สรุปเรื่อง จัดลำดับงาน ก่อนนำเสนอ

                   - ติดต่อ สอบถาม เรื่องราวตามที่ได้รับคำสั่ง

          (๔) จัดทำรายงานประจำปีเพื่อเสนอมหาเถรสมาคม

          (๕) จัดประชุม อบรม สัมมนา บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน

          (๖) จัดทำทะเบียนครูผู้สอน กรรมการออกข้อสอบ กรรมการตรวจธรรมสนามหลวง

          (๗) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

×

ฝ่ายวิชาการ

๑. พระศรีมุนีวงศ์ วัดธาตุทอง

          เป็นหัวหน้าฝ่าย

๒. พระปัญญารัตนากร วัดสังข์กระจาย

          เป็นรองหัวหน้าฝ่าย

๓. พระศรีภัททิยบดี วัดชนะสงคราม

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

๔. พระมหาทองสืบ เขมปญฺโญ วัดบรมนิวาส

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

๕. พระมหาสิริชัย สุขญาโณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

๖. พระมหานิยม ญาณวีโร วัดธาตุทอง

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

 

มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

          (๑) จัดทำแผนงานวิชาการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานการศึกษาของสำนักงาน

          (๒) กำกับ ติดตาม ดูแลงานด้านวิชาการของสำนักงาน

          (๓) พัฒนา วิจัย ปรับปรุง และจัดทำคู่มือการสอน ตามหลักสูตรของสนามหลวงแผนกธรรม

          (๔) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

×

ฝ่ายสถิติ

๑. พระครูพุทธมนต์ปรีชา วัดบวรนิเวศวิหาร

          เป็นหัวหน้าฝ่าย

๒. พระครูปริยัติเมธาวัฒน์ วัดนรนาถสุนทริการาม

          เป็นรองหัวหน้าฝ่าย

๓. พระมหาสมชาย อภิชโย วัดบวรนิเวศวิหาร

          เป็นหัวหน้างานวัดผล

๔. พระมหาประจักร ธมฺมวิภูโต วัดชนะสงคราม

          เป็นหัวหน้างานทะเบียน

๕. พระมหาเทอดไทย กิตฺติเมธี วัดระฆังโฆสิตาราม

          เป็นหัวหน้างานข้อมูล

๖. พระครูวิบูลสรกิจ วัดเครือวัลย์

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

๗. พระมหาสุพิน ธมฺมวโส วัดโสมนัสวิหาร

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

๘. พระจิรกิตต์ อภิปาโล วัดสัมพันธวงศ์

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

 

มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

          (๑) จัดทำบัญชี และตรวจสอบข้อมูลของผู้ขอเข้าสอบธรรมสนามหลวง และผู้สอบธรรมสนามหลวงได้

          (๒) จัดทำข้อมูลแสดงจำนวนผู้ขอเข้าสอบธรรมสนามหลวง

          (๓) วิเคราะห์ผลการสอบธรรมสนามหลวง

          (๔) จัดรวบรวมข้อมูลสถิติของผู้สอบธรรมสนามหลวงได้ เพื่อแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น

สถานศึกษาของผู้เข้าสอบ เป็นต้น

          (๕) จัดรวบรวมข้อมูล สถานศึกษา และสนามสอบธรรมสนามหลวง

          (๖) จัดทำประกาศนียบัตรผู้สอบธรรมสนามหลวงได้ วุฒิบัตรและหนังสือรับรองการศึกษา

          (๗) จัดทำทะเบียนนักธรรมและธรรมศึกษาให้เป็นปัจจุบัน และสามารถให้บริการแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

          (๘) จัดทำรูปแบบเอกสารและแบบคำร้องต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในงานทะเบียน

          (๙) ดำเนินการเกี่ยวกับการรับคำร้อง การขอแก้ไขหลักฐาน เช่น ชื่อ นามสกุล หรืออื่น ๆ ให้ถูกต้อง ตรงตามหลักฐานความเป็นจริง

          (๑๐) จัดทำแผนงาน โครงการ แผนการปฏิบัติงาน ระเบียบ หลักเกณฑ์ และการศึกษาวิเคราะห์ งานด้านการวัดผล

          (๑๑) ควบคุม ดูแล ประสานงาน ด้านการวัดผลและการประเมินผลการเรียนการสอนธรรม

สนามหลวง ตามหลักสูตรและระเบียบของสนามหลวงแผนกธรรม

          (๑๒) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

×

ฝ่ายธุรการ

๑. พระครูวินัยรสสุนทร วัดตรีทศเทพ

          เป็นหัวหน้าฝ่าย

๒. พระมหาจินดา ฐานจินฺโต วัดบวรนิเวศวิหาร

          เป็นรองหัวหน้าฝ่าย

๓. พระมหาเชษฐ์ภาวิตร ชยานนฺโท วัดชนะสงคราม

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

๔. พระมหาชลธิชา ปทีโป วัดเสนหา

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

๕. พระปฏิภาณ ปุญฺญธีโร วัดบวรนิเวศวิหาร

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

๖. พระปานเดชา ชิตเตโช วัดเสนหา

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

 

มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

          (๑) บริหารงานเอกสาร อนุโลมตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. ๒๕๒๖

          (๒) จัดทำทะเบียนรับและส่งเอกสาร

          (๓) เก็บรวบรวมข้อมูล ข้อบังคับ กฎหมาย ระเบียบ ประกาศที่เกี่ยวข้อง และเอกสารสำคัญของสำนักงาน

          (๔) จัดทำบัญชีของสำนักงานให้เป็นปัจจุบัน มีหลักฐานสามารถตรวจสอบได้

          (๕) จัดทำงบการเงินประจำปีของสำนักงาน

          (๖) จัดซื้อ จัดหา จัดจ้าง จัดทำพัสดุ ครุภัณฑ์และอื่น ๆ ประจำสำนักงาน ตามที่ได้รับมอบหมาย

          (๗) จัดทำบัญชีพัสดุและทะเบียนครุภัณฑ์ของสำนักงานประเภทต่าง ๆ

          (๘) สำรวจพัสดุ ครุภัณฑ์ที่ชำรุด เพื่อซ่อมแซมหรือจำหน่ายประจำปี

          (๙) สรรหาและคัดเลือกเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างประจำสำนักงาน

          (๑๐) จัดทำทะเบียนประวัติผู้ปฏิบัติงานของสำนักงาน

          (๑๑) จัดทำบัญชีลงเวลาการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หรือหลักฐานการลงเวลาปฏิบัติงานให้สามารถตรวจสอบได้

          (๑๒) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

×

ฝ่ายนโยบายและแผน

๑. พระสิริวัฒโนดม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

          เป็นหัวหน้าฝ่าย

๒. พระครูปริตรโกศล วัดบวรนิเวศวิหาร

          เป็นรองหัวหน้าฝ่าย

๓. พระมหาทรงวุฒิ ฐิตวุฑฺฒิโก วัดบวรนิเวศวิหาร

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

๔. พระมหาเตชนวิทย์ ญาณสุโภ วัดโสมนัสวิหาร

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

 

มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

          (๑) เสนอแนะนโยบายของสำนักงาน ให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาของมหาเถรสมาคม

นโยบายการศาสนศึกษาของรัฐบาล และวัตถุประสงค์ของสำนักงาน

          (๒) จัดทำแผนแม่บทของสำนักงาน

          (๓) จัดทำแผนงานพัฒนาสำนักงาน (๓/๕ ปี)

          (๔) จัดทำแผนปฏิบัติการ (งาน/โครงการ/งบประมาณ) จัดทำงบประมาณประจำปี

          (๕) จัดทำปฏิทินปฏิบัติงานของสำนักงาน

          (๖) ร่างคำปราศรัยแม่กองธรรมสนามหลวง

          (๗) ศึกษา วิเคราะห์นโยบาย ในระบบการจัดการศึกษาของสำนักงาน

          (๘) จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานตามนโยบายและแผนงาน

          (๙) กำกับ ติดตาม ดูแล และประเมินผล การปฏิบัติงานตามแผนงานโครงการ

          (๑๐) พัฒนาระบบ รูปแบบ และวิธีปฏิบัติงานของสำนักงาน

          (๑๑) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

×

ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์

๑. พระกวีวรญาณ วัดศุขเกษมธรรมิการาม

          เป็นหัวหน้าฝ่าย

๒. พระครูปลัด เกษมศักดิ์ สิริธมฺโม  วัดบวรมงคล

          เป็นรองหัวหน้าฝ่าย

๓. พระครูศรีปริยัติโฆสิต วัดไตรมิตรวิทยาราม

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

๔. พระครูปลัดสุตวัฒน์ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

๕. พระครูวินัยธร ทินกร อิสฺสโร วัดราษฎร์นิยม

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

๖. พระเจริญ สุภวุฑฺฒิโก วัดบวรนิเวศวิหาร

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

 

มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

          (๑) ประสานงาน และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสำนักงานกับองค์กรในต่างประเทศ

          (๒) ประสานงานการจัดสอบธรรมสนามหลวงในต่างประเทศ

          (๓) รวมวัสดุและเอกสารสำหรับสนามสอบต่างประเทศ

×

ฝ่ายประชาสัมพันธ์

๑. พระครูโสภณเมธาวัฒน์ วัดนรนาถสุนทริการาม

          เป็นหัวหน้าฝ่าย

๒. พระกฤษณะ ชุติกณฺโห วัดบวรนิเวศวิหาร

          เป็นรองหัวหน้าฝ่าย

๓. พระครูปัญญาฐิติวัฒน์ วัดบรมนิวาส

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

๔. พระมหาพีระพงษ์ พีรวํโส วัดนรนาถสุนทริการาม

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

 

มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

          (๑) เผยแผ่ข้อมูล ข่าวสาร ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของสำนักงาน ภายในและภายนอกสำนักงาน เช่น การจัดแถลงข่าว เป็นต้น

          (๒) จัดทำดูแล ตรวจสอบ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานประชาสัมพันธ์ เช่น การจัดทำวารสารสำหรับบุคคลภายนอก จุลสารสำหรับเจ้าหน้าที่ในสำนักงานเป็นต้น ให้ถูกต้องเหมาะสม อยู่ในขอบเขต และอำนวยประโยชน์แก่สาธารณชนได้

          (๓) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ เอกชน ชุมชน ในด้านการให้บริการและรับบริการที่เกี่ยวกับงานของสำนักงาน

          (๔) ส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐ เอกชน ชุมชน ได้ตระหนักในการศึกษาหลักธรรมตามหลักสูตรของสนามหลวงแผนกธรรม อันเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา

          (๕) ติดตาม ตรวจสอบ สื่อสิ่งพิมพ์ ข่าวสาร ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานและประกาศแจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน

          (๖) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

×

ฝ่ายปฏิคม

๑. พระปริยัติสารคุณ วัดบรมนิวาส

          เป็นหัวหน้าฝ่าย

๒. พระครูวิมลสุตวัฒน์ วัดมกุฏกษัตริยาราม

          เป็นรองหัวหน้าฝ่าย

๓. พระครูธรรมคุต วัดมกุฏกษัตริยาราม

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

๔. พระครูสมุห์ หัสนัย รชตรํสี วัดตรีทศเทพ

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

๕. พระมหาชัยชนะ ชยชโน วัดมกุฏกษัตริยาราม

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

 

มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

          (๑) จัดการบริการและสวัสดิการทั่วไปของสำนักงาน

          (๒) อำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มาติดต่องาน ณ สำนักงาน

          (๓) ติดต่อดำเนินการในงานที่ได้รับมอบหมาย ทั้งภายในและภายนอกสำนักงาน

          (๔) จัดเตรียมสถานที่ในการประชุมที่เกี่ยวกับกิจกรรมของสำนักงาน

          (๕) ดูแลความเรียบร้อยภายในห้องประชุม ห้องทำงานคณะผู้บริหาร

          (๖) ดูแล บำรุงรักษาสิ่งแวดล้อมและอาคารสถานที่ บริเวณสำนักงานให้สะอาด ร่มรื่น สวยงาม

          (๗) กำกับ ดูแล การทำงานของพนักงานทำความสะอาด

          (๘) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

×

ฝ่ายสารสนเทศ

๑. พระบวรรังสี วัดระฆังโฆสิตาราม

          เป็นหัวหน้าฝ่าย

๒. พระมหาสุพิศ ธมฺมคุตฺโต วัดระฆังโฆสิตาราม

          เป็นรองหัวหน้าฝ่าย

๓. พระมหาประพันธ์ สุรพนฺโธ วัดมกุฏกษัตริยาราม

          เป็นหัวหน้างานเทคโนโลยี

๔. พระมหาพิเชษฐ์ อตฺตานุรกฺขี วัดโสมนัสวิหาร

          เป็นหัวหน้างานข้อมูล

๕. พระมหากฤษดา กิตฺติสจฺโจ วัดเทพลีลา

          เป็นหัวหน้างานสารสนเทศ

๖. พระครูปลัดธีรวัฒน์ วัดระฆังโฆสิตาราม

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

๗. พระครูธรรมธร มานพ สุชาโต วัดระฆังโฆสิตาราม

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

 

มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

          (๑) เป็นศูนย์ข้อมูลสารสนเทศของสำนักงาน

          (๒) สร้างระบบงานใหม่ แก้ไขปรับปรุงระบบงานเดิมให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

          (๓) ดูแลจัดทำคู่มือการใช้ระบบสารสนเทศ

          (๔) จัดสร้างและปรับปรุงเครื่องมือในการวัดผล จัดเตรียมรูปแบบเอกสารต่าง ๆ อันเป็นหลักฐานของแบบทดสอบวัดผล ที่เป็นปัจจุบัน

          (๕) ดูแลระบบการตรวจข้อสอบ การกรอกคะแนน และการตรวจสอบข้อมูล

          (๖) จัดเตรียมเครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์ และข้อมูลต่าง ๆ ในการประชุมเกี่ยวกับกิจกรรมของสำนักงาน

          (๗) เผยแผ่ข้อมูล ข่าวสาร ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของสำนักงาน

          (๘) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

×

ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทั่วไป

๑. พระครูสุนทรธีรวัฒน์ วัดอาษาสงคราม

          เป็นหัวหน้าฝ่าย

๒. พระครูธรรมศาสนอุโฆษ วัดธาตุทอง

          เป็นรองหัวหน้าฝ่าย

๓. พระสถาพร เตชสีโล วัดอาษาสงคราม

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำฝ่าย

 

มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

          (๑) ปฏิบัติงานในภารกิจต่าง ๆ ของสำนักงาน อันได้แก่

                    - การเย็บปีกใบตอบและแยกใบตอบ

                    - พิมพ์ ตรวจนับ บรรจุ ประกาศนียบัตร

                    - งานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

          (๒) ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของสำนักงาน

          (๓) สนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

 

บุคลากรฝ่ายคฤหัสถ์

๑. นายฐานวัฒน์ ชัยพัฒน์ธัญกุล

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน

๒. นายถวิล พลวงศ์สกุล

          เป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานสำนักงาน

๓. นางสาวญานิกา ก้านจักร

          เป็นนักวิชาการประจำสำนักงาน

๔. นายสมชาย ศิริสุข

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน

๕. นายสุวภัทร จันแดง

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน

๖. นางสาวจิราภรณ์ ศรีพล

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน

๗. นายณัช บุญมา

          เป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน

๘. นางปิ่นปัก ชูบุญ

          เป็นเจ้าหน้าที่ช่วยงานสำนักงาน

๙. นายชัยเชษฐ์ ปรีงาม

          เป็นเจ้าหน้าที่ช่วยงานสำนักงาน

×

กำลังดำเนินการ

×

กำลังดำเนินการ