อ่านหน้าแรก | เอกสารอ้างอิง

แม่กองธรรมสนามหลวง

          การสอบนักธรรมอย่างเป็นทางการ ได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐) เมื่อทางราชการขอให้มหาเถรสมาคมกำหนดหลักสูตร เพื่อเป็นเกณฑ์ สามเณรรู้ธรรม สำหรับยกเว้นการเกณฑ์หทาร สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่น และทรงเป็น ประธานมหาเถรสมาคม จึงได้ทรงตั้งหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรมขึ้น โดยทรงนำหลักสูตรที่ทรงใช้สอนพระใหม่ในวัดบวรนิเวศวิหารมานานแล้วนั่นเอง มาปรับปรุงเป็นหลักสูตรองค์สามเณรรู้ธรรม

          การสอบองค์สามเณรรู้ธรรมได้มีขึ้นครั้งแรก ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ (ร.ศ. ๑๓๐) ในการสอบครั้งแรกนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่า มีการเรียกผู้ดำเนินการสอบว่าอย่างไร

          พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้มีการสอบองค์สามเณรรู้ธรรม ครั้งที่ ๒ เรียกว่า สอบประโยคนักธรรม สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเป็นแม่กอง (ส่วนการสอบบาลี เรียกว่า ทรงเป็นประธาน) ต่อมาทรงปรับปรุงองค์สามเณรรู้ธรรมอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า องค์นักธรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งภิกษุสามเณรเข้าสอบได้ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงรวมองค์นักธรรม ประโยค ๑ และประโยค ๒ เข้าด้วยกันเป็น นักธรรมชั้นตรี การสอบ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ยังทรงเป็นแม่กอง (ส่วนการสอบบาลี ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ประธานเปลี่ยนเรียกว่า อธิบดี)

          พ.ศ. ๒๔๕๘ ปรากฏพระนาม กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็นแม่กองสนามหลวง ในรายงานการสอบความรู้นักธรรมในต่างจังหวัด

          ถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเป็นอธิบดี ในการสอบทั้งสอบนักธรรมและสอบบาลีและทรงตั้งพระเถระเป็น แม่กองตรวจธรรมรูปหนึ่ง เป็นแม่กองตรวจบาลีรูปหนึ่ง ในปีนี้ทรงตั้งพระธรรมวโรดม (สมเด็จพระวันรัต จ่าย ปุณฺณทตฺโต) เป็นแม่กองตรวจธรรม (ส่วนแม่กองตรวจบาลีว่าง)

          ถึง พ.ศ. ๒๔๗๐ ปรากฏหลักฐานว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ พระญาณวราภรณ์ เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๗๑ พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล) เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง ทั่วพระราชอาณาจักร

          จึงสรุปได้ว่า การศึกษานักธรรมนั้น ในชั้นแรก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอำนวยการด้วยพระองค์เอง ในการสอบสนามหลวงระยะแรก ทรงเป็นแม่กองเอง ถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ พระองค์จึงทรงดำรงอยู่ในฐานะอธิบดี คือดูแลรับผิดชอบการสอบทั้งหมด และทรงตั้งพระเถระเป็นแม่กองแผนกธรรมรูปหนึ่ง เรียกว่า แม่กองตรวจธรรม และทรงตั้งพระเถระเป็นแม่กองแผนกบาลีรูปหนึ่ง เรียกว่า แม่กองตรวจบาลี เป็นปี ๆ ไป ส่วนการสอบนักธรรมในสนามมณฑลหรือสนามจังหวัด ทรงตั้งพระเถระจากส่วนกลางหรือเจ้าคณะมณฑล เป็นแม่กองในการสอบ เป็นปี ๆ ไปเช่นกัน สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นั้น จึงทรงอยู่ในฐานะแม่กองธรรมสนามหลวงเป็นพระองค์แรก

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงตั้ง พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็นแม่กองสนามหลวง แผนกธรรม คำว่า แม่กองธรรมสนามหลวง จึงน่าจะเริ่มขึ้นในครั้งนี้ และพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ คงปฏิบัติหน้าที่แม่กองธรรมสนามหลวงตลอดมา จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๐ จึงทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระญาณวราภรณ์ เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง ในปีต่อมาคือ พ.ศ. ๒๔๗๑ จึงทรงตั้ง พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล) เป็นแม่กองธรรมสนามหลวงทั่วราชอาณาจักร ตำแหน่งแม่กองธรรมสนามหลวงจึงได้เป็นตำแหน่งประจำสืบมาจนปัจจุบัน

          จึงสรุปรายพระนามและรายนามแม่กองธรรมสนามหลวง ตั้งแต่เริ่มต้นจนปัจจุบันได้ดังนี้

          ๑. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร

          ๒. สมเด็จพระวันรัต (จ่าย ปุณฺณทตฺโต) วัดเบญจมบพิตรฯ

          ๓. พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธฯ

          ๔. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร

          ๕. พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล) วัดมกุฏกษัตริยาราม

          ๖. พระศรีสมโพธิ (เกษม ภทฺทธมฺโม) วัดมหาธาตุฯ

          ๗. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) วัดมหาธาตุฯ

          ๘. พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารี) วัดราษฎร์บำรุง ชลบุรี

          ๙. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) วัดราชผาติการาม

          ๑๐. พระสุธรรมาธิบดี (เพิ่ม อาภากโร) วัดราชาธิวาส

          ๑๑. สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร

          ๑๒. พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

 

การสอบธรรมสนามหลวง

พ.ศ. ๒๔๕๔ (สอบครั้งแรก)

          ไม่ปรากฏรายนาม

พ.ศ. ๒๔๕๕

         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส     แม่กอง

         พระธรรมวโรดม (จ่าย)                                    รองแม่กอง

พ.ศ. ๒๔๕๖

         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส    แม่กอง

         กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์                                    รองแม่กอง

         พระธรรมวโรดม (จ่าย)                                    รองแม่กอง

 

การสอบธรรมในหัวเมือง

สนามมณฑลกรุงเก่า

         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส    แม่กอง

สนามมณฑลกรุงเทพฯ

         กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์                                    แม่กอง

สนามเมืองอุทัยธานี มณฑลนครสวรรค์

         พระราชสุธี                                                 แม่กอง

สนามเมืองนครราชสีมา

         พระศากยบุตติยวงศ์                                       แม่กอง

สนามมณฑลราชบุรี

         พระธรรมวโรดม                                           แม่กอง

สนามมณฑลพายัพ

         พระครูเจ้าคณะเมือง                                      แม่กอง

 

พ.ศ. ๒๔๕๘

         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส    แม่กอง

         กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์                                    รองแม่กอง

         พระธรรมวโรดม                                           รองแม่กอง

 

การสอบธรรมในหัวเมือง

สนามมณฑลกรุงเก่า

         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส    แม่กอง

สนามมณฑลกรุงเทพฯ

         กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์                                    แม่กอง

สนามมณฑลราชบุรี

         พระศรีวิสุทธิวงศ์                                          แม่กอง

สนามจังหวัดอุทัยธานี มณฑลนครสวรรค์

         พระราชสุธี                                                แม่กอง

สนามจังหวัดนครราชสีมา

         พระมหาขาว วัดสามพระยา                              แม่กอง

สนามจังหวัดอุบลราชธานี

         พระราชมุนี                                                แม่กอง

สนามจังหวัดนครศรีธรรมราช

         พระธรรมโกศาจารย์                                      แม่กอง

 

พ.ศ. ๒๔๕๙

         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส    อธิบดี

         พระธรรมวโรดม                                           แม่กองตรวจธรรม

 

การสอบธรรมในหัวเมือง

สนามมณฑลกรุงเทพฯ

         กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ แม่กองสนามหลวง               แม่กอง

สนามมณฑลกรุงเก่า

         พระญาณวราภรณ์                                        แม่กอง

สนามมณฑลราชบุรี

         พระเขมาภิมุขธรรม                                       แม่กอง

สนามจังหวัดอุทัยธานี

         พระเทพโมลี                                               แม่กอง

สนามจังหวัดนครราชสีมา

         พระนิกรมมุนี                                              แม่กอง

สนามจังหวัดอุบลราชธานี

         พระราชมุนี                                                แม่กอง

สนามจังหวัดปราจีนบุรี

         พระมหาชิ้น                                                แม่กอง

สนามมณฑลพายัพ

         พระครูโพธิรังสี                                            แม่กอง

         พระปลัดปัน วัดหอธรรม                                  รองแม่กอง

 

พ.ศ. ๒๔๖๐

         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส    อธิบดี

         กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์                                    แม่กองตรวจธรรม

         พระธรรมวโรดม                                           รองแม่กอง

 

การสอบธรรมในหัวเมือง

สนามมณฑลกรุงเทพฯ

         กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ แม่กองสนามหลวง               แม่กอง

สนามมณฑลกรุงเก่า

         สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส    แม่กอง

สนามมณฑลราชบุรี

         พระราชกวี                                                แม่กอง

สนามจังหวัดอุทัยธานี

         พระเทพโมลี                                               แม่กอง

สนามจังหวัดอุบลราชธานี

         พระราชมุนี                                                แม่กอง

สนามจังหวัดชลบุรี

         พระธรรมไตรโลกาจารย์                                  แม่กอง

สนามมณฑลนครศรีธรรมราช

         พระธรรมโกศาจารย์                                      แม่กอง

 

พ.ศ. ๒๔๖๑

         กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์                                    แทนอธิบดี แม่กองตรวจธรรม

พ.ศ. ๒๔๗๐

         สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์         แม่กองธรรมสนามหลวง

         ขณะเป็นที่ พระญาณวราภรณ์

พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๔๘๔

         พระศาสนโศภน (แจ่ม)                                    แม่กองธรรมสนามหลวง ทั่วราชอาณาจักร

พ.ศ. ๒๔๘๖-๒๔๘๘

         พระศรีสมโพธิ (เกษม ภทฺทธมฺโม)                        แม่กองธรรมสนามหลวง

พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๙๑

         สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ)                      แม่กองธรรมสนามหลวง

         ขณะเป็นที่ พระศรีสุธรรมมุนี

พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๕๐๓

         พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารี)                            แม่กองธรรมสนามหลวง

         ขณะเป็นที่ พระชลธารมุนี

พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๓๒

         สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร)                    แม่กองธรรมสนามหลวง

         ขณะเป็นที่ พระธรรมปาโมกข์

พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๔๒

         พระสุธรรมาธิบดี (เพิ่ม อาภาโค)                         แม่กองธรรมสนามหลวง

         ขณะเป็นที่ พระธรรมวราภรณ์

พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๕๘

         สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต)                     แม่กองธรรมสนามหลวง

         ขณะเป็นที่ พระธรรมกวี

พ.ศ. ๒๕๕๙-ปัจจุบัน

         พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน)                            แม่กองธรรมสนามหลวง

 

พัฒนาการสนามหลวงแผนกธรรม

สมัยพระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล) วัดมกุฏกษัตริยาราม

          ๑. ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคม ให้เป็นผู้อำนวยการสอบธรรมสนามหลวง แผนกนักธรรม ทั่วพระราชอาณาจักร

          ๒. เป็นผู้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการสอบธรรมสนามหลวง หลายอย่าง เช่น กำหนดวันสอบ การออกข้อสอบ (วิชาละ ๗ ข้อ แทน ๑๔ ข้อ) วิธีสอบ การทะเบียนบัญชี ระเบียบข้อบังคับ หลักสูตร (ใช้พุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๒ สำหรับเรียงความแก้กระทู้ธรรมชั้นโท และ เล่ม ๓ สำหรับกระทู้ธรรมชั้นเอก) เริ่มประมวลประกาศระเบียบบัญชี พร้อมทั้งปัญหาและเฉลยเข้าเป็นเล่มพิมพ์สำหรับแจกแก่คณะกรรมการ ซึ่งคงใช้ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

          ๓. เป็นผู้ริเริ่มการจัดทำทะเบียนภิกษุสามเณรผู้สอบนักธรรมได้ในสนามหลวง

          ๔. เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบประโยคนักธรรมชั้นตรี ของคฤหัสถ์ (ธรรมศึกษา) ในสนามหลวงครั้งแรก ตามมติมหาเถรสมาคม ใน พ.ศ. ๒๔๗๒

 

สมัยพระศรีสุธรรมมุนี (อาจ อาสโภ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (สถาปนาเป็นที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์)

          ๑. เป็นผู้เริ่มให้มีการสอบธรรมสนามหลวง แผนกนักธรรม และธรรมศึกษา ในต่างประเทศ เป็นครั้งแรก โดยเปิดสนามสอบที่ วัดปุญญาราม ตําบลอะห์ อำเภอกูบังปาสู รัฐเคดาห์ สหพันธรัฐมาเลเซีย ต่อมาได้มีการเปิดสอบที่รัฐกลันตัน อีกแห่ง

 

สมัยพระชลธารมุนี (ชอบ อนุจารี) วัดราษฎร์บำรุง จังหวัดชลบุรี (สถาปนาเป็นที่ พระพิมลธรรม)

          ๑. เป็นผู้นิพนธ์เรื่อง พุทธประวัติทัศนศึกษา

          ๒. เป็นผู้แนะนำให้คณะสังฆมนตรี มีประกาศสำนักสังฆนายก ยกวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑

 

สมัยพระธรรมปาโมกข์ (วิน ธมฺมสาโร) วัดราชผาติการาม (สถาปนาเป็นที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์)

          ๑. ประกาศใช้ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นหลักสูตรนักธรรมชั้นเอก วิชาวินัย

          ๒. ประกาศใช้ หนังสือพระปฐมสมโพธิกถา เป็นหลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษา ชั้นเอก วิชาพุทธานุพุทธประวัติ

          ๓. กำหนดวิธีการออกข้อสอบในสนามหลวง โดยขอจากพระเถรานุเถระ ผู้ทรงคุณวุฒิ วิชาละ ๒ รูป รูปละ ๗ ข้อ ทั้ง ๓ ชั้น เมื่อส่งมาที่สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงแล้ว แม่กองธรรมและผู้ช่วยแม่กองธรรม ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกไว้วิชาละ ๗ ข้อ เมื่อพิจารณาคัดเลือกแล้วนำถวายพระมหาเถระ ๔ ท่าน ช่วยพิจารณากลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง เสร็จแล้วจึงพิมพ์ใช้เป็นข้อสอบในสนามหลวง

          ๔. ข้อสอบที่จะใช้สอบในส่วนภูมิภาค ได้ส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อนำถวายเจ้าคณะจังหวัด และเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัด จัดการเปิดสอบ และอธิบดีกรมการศาสนาแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดขอความอุปถัมภ์ในการสอบธรรม

          ๕. กำหนดให้การตรวจธรรมสนามหลวงชั้นเอก ตรวจ ณ วัดสามพระยา ส่วนธรรมสนามหลวงชั้นตรีและชั้นโท ส่วนกลางถวายเจ้าสำนักสอบที่เป็นประธานดำเนินการตรวจ

          ๖. ได้รับความอุปถัมภ์จาก การรถไฟแห่งประเทศไทย ยกเว้นค่าโดยสารรถไฟ ทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ ให้พระภิกษุสามเณรนักธรรมเปรียญในจังหวัดพระนคร-ธนบุรี ที่เดินทางไปช่วยในการสอบภูมิภาค ปีละประมาณ ๔๐๐ รูป

 

สมัยพระธรรมวราภรณ์ (เพิ่ม อาภาโค) วัดราชาธิวาส (สถาปนาเป็นที่พระสุธรรมาธิบดี)

          ๑. เป็นผู้ดำเนินการจัดการสอบธรรมศึกษาในสนามหลวง แบบปรนัย ทั้ง ๓ ชั้น

          ๒. เป็นผู้ดำเนินการให้ครูสอบธรรมสนามหลวงในประเทศมาเลเซีย ได้รับนิตยภัตร และจัดสรรงบประมาณสนับสนุนสนามสอบธรรมสนามหลวงในประเทศมาเลเซีย

          ๓. เปิดการสอบธรรมสนามหลวงในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๕๓๗

 

สมัยพระธรรมกวี (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร (สถาปนาเป็นที่ สมเด็จพระวันรัต)

          ๑. จัดตั้งสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงถาวร โดยขอประทานพระอนุญาตจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ใช้อาคารหอสมุดมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสังฆิกเสนาสน์ของวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ทำการสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงพระเมตตาประทานอนุญาตตามประสงค์ และได้เสด็จมาเป็นประธานพิธีเปิดสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔

          ๒. จัดให้เจ้าหน้าที่สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง เข้าสัมมนาหลักสูตร ตามภาระรับผิดชอบ ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

          ๓. จัดนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเก็บข้อมูลสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง

          ๔. จัดทำการประชาสัมพันธ์งานสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงในสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ทำให้การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดถึงการเข้าถึงข้อมูลที่น่าสนใจของสาธารณชน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

          ๕. จัดทำหลักสูตรธรรมศึกษา ให้สอดคล้องกับระบบการศึกษาของรัฐ โดยเน้นให้ผู้เรียนสามารถนำพุทธศาสนธรรมไปใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ

          ๖. จัดให้มีการตรวจข้อสอบธรรมศึกษาในสนามหลวง (ส่วนกลาง) ด้วยระบบคอมพิวเตอร์

          ๗. จัดให้มีการประชาสัมพันธ์ และการประสานงานกับหน่วยงานทางการศึกษาของรัฐ อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีนักเรียนสนใจสมัครสอบหลักสูตรธรรมศึกษาในสนามหลวงเป็นจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านคน ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๘ เป็นต้นมา

          ๘. สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง-สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยรัฐมนตรีผู้กำกับงานพระพุทธศาสนา จัดให้มีการแถลงข่าวการสอบธรรมศึกษาในสนามหลวง ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๐ และจัดให้มีการประชาสัมพันธ์การเปิดสอบธรรมศึกษาเป็นทางการในปีการศึกษานั้นเป็นต้นมา

          ๙. สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง-สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดให้มีการมอบรางวัลสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ดีเด่นประจำปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นต้นมา

         ๑๐.  จัดให้มีการสอบธรรมสนามหลวงในต่างประเทศ ๑๔ ประเทศ ๔๑ สนามสอบ ดังนี้

               ๑๐.๑ สหพันธรัฐมาเลเซีย                  ๒ สนามสอบ

               ๑๐.๒ ประเทศสหรัฐอเมริกา             ๑๕ สนามสอบ

               ๑๐.๓ ประเทศออสเตรเลีย                 ๒ สนามสอบ

               ๑๐.๔ ประเทศนิวซีแลนด์                  ๓ สนามสอบ

               ๑๐.๕ สหราชอาณาจักร                    ๕ สนามสอบ

               ๑๐.๖ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี         ๒ สนามสอบ

               ๑๐.๗ ราชอาณาจักรเดนมาร์ก             ๑ สนามสอบ

               ๑๐.๘ สมาพันธรัฐสวิส                      ๑ สนามสอบ

               ๑๐.๙ สาธารณรัฐประชาชนจีน            ๒ สนามสอบ

               ๑๐.๑๐ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)           ๒ สนามสอบ

               ๑๐.๑๑ ประเทศญี่ปุ่น                      ๒ สนามสอบ

               ๑๐.๑๒ ประเทศแอฟริกาใต้                ๒ สนามสอบ

               ๑๐.๑๓ ประเทศบาห์เรน                   ๑ สนามสอบ

               ๑๐.๑๔ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์             ๑ สนามสอบ

 

การสอบธรรมสนามหลวงในต่างประเทศ

          การศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแบบไทย เรียกว่า พระปริยัติธรรมแผนกธรรมได้แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก เพราะโลกใบนี้ในสมัยก่อนอาจจะกว้างใหญ่ไพศาล แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าเล็กนิดเดียว เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การคมนาคมติดต่อสื่อสาร สะดวกสบายโดยอาศัยเครื่องมือต่าง ๆ เป็นสื่อประสานงานกันได้อย่างรวดเร็วทันใจ แม้สังคมมนุษย์ในแต่ละประเทศก็เปิดกว้างเพื่อศึกษาและเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของกันและกัน รวมถึงการค้าขายหรือทำธุรกิจร่วมกันระหว่างประเทศด้วย จึงทำให้มนุษย์ทั่วทุกมุมโลกได้เรียนรู้และสนใจศาสนา ภาษาและวัฒนธรรมของกันและกัน แล้วลงเอยด้วยการตัดสินใจที่จะตั้งรกรากปักหลักทำมาหากินและมีครอบครัวอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก แม้ประชาชนชาวไทยก็ทำนองเดียวกันนี้ ได้เดินทางไปประกอบอาชีพการงานอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในหลายประเทศ แล้วตัดสินใจมีครอบครัวและตั้งหลักฐานอยู่ในประเทศนั้น ๆ แต่ก็ยังรำลึกนึกถึงพระพุทธศาสนาและประเพณีวัฒนธรรมของตนอยู่เสมอ จึงได้กราบอาราธนาพระสงฆ์ไทยเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจและโปรดญาติโยมเพื่อนพ้องในประเทศที่ตนอยู่อาศัย แล้วลงเอยด้วยการตัดสินใจสร้างวัดเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจและมี พระสงฆ์เป็นที่พึ่งทางใจของชุมชนชาวไทย และชุมชนชาติอื่น ๆ ผู้ที่สนใจเรียนรู้และปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบันมีวัดพุทธไทยตั้งขึ้นในต่างแดนเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายประเทศ เกือบจะทุกทวีป โดยมีประชุมชนท้องถิ่นผู้สนใจในพระพุทธศาสนาเป็นผู้สนับสนุน พระธรรมทูตและประชาชนชาวไทยในประเทศนั้น ๆ ได้สนใจที่จะเรียนรู้และปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  ได้ทำหนังสือกราบเรียนมายังแม่กองธรรมสนามหลวง เพื่อขอเปิดเป็นสำนักพุทธศาสนศึกษาและเป็นศูนย์สอบธรรมสนามหลวงที่วัดซึ่งตนอุปถัมภ์บำรุงในประเทศนั้น ๆ ดังตัวอย่างที่วัดศรีนครินทรวรารามได้ถือปฏิบัติในการดำเนินการขอเปิดสำนักพุทธศาสนศึกษาและศูนย์สอบธรรมสนามหลวง โดยมีหนังสือที่ ๖/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๒ กราบเรียนพระเดชพระคุณแม่กองธรรมสนามหลวง และหนังสือตอบรับที่ กธ. ๒๕/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ อนุมัติให้เปิดสนามสอบธรรมศึกษา ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ของเลขานุการแม่กองธรรมสนามหลวง และต่อมาทางวัดศรีนครินทรฯ ได้ประกอบพิธีทำบุญประจำปีและเปิดป้ายสำนักพุทธศาสนศึกษาและศูนย์สอบธรรมสนามหลวงในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๒ โดยได้กราบอาราธนาพระเดชพระคุณแม่กองธรรมสนามหลวงไปเป็นประธาน แต่พระเดชพระคุณฯ ได้มอบหมายให้รองแม่กองธรรมสนามหลวงคือ สมเด็จพระธีรญาณมุนี ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพรหมเมธี ไปปฏิบัติหน้าที่แทน

 

อ่านหน้าแรก | เอกสารอ้างอิง