ตำนานการสอบพระปริยัติธรรม
โพสโดย webmaster เมื่อ September 18 2009 18:33:36
ตำนานการสอบพระปริยัติธรรม


อธิบายเรื่องการสอบพระปริยัติธรรม

การศึกษาของพระภิกษุสามเณรกำหนดเห็น ๒ อย่างมาแต่ครั้งพุทธกาล เรียกว่า คันธุระ คือ ศึกษาพระธรรมวินับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ขึ้นปากเจนใจอย่าง ๑ เรียกว่า วิปัสสนาธุระ คือ เรียนวิธีฝึกหัดของตนเองให้ปราศจากกิเลสอย่าง ๑ ครั้นพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระสงฆ์พุทธสาวกจึงประชุมกันทำสังคายนา รวบรวมพระธรรมวินัยซึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสสั่งสอน กำหนดว่ามีจำนวน ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ จัดไว้เป็น ๓ หมวด คือพระสูตรหมวด ๑ พระวินัยหมวด ๑ พระปรมัตถ์หมวด ๑ เรียกรวมกันว่า พระไตรปิฎก พระไตรปิฎกจึงเป็นตำราของพระพุทธศาสนาสืบมา

พระไตรปิฎกนั้นเป็นภาษาบาลีมาแต่เดิม เพราะเหตุที่ภาษาบาลีเป็นภาษาของชาวมัชฌิมประเทศที่พระสงฆ์พุทธสาวกทำสังคายนา ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลายออกไปถึงนานประเทศที่ใช้ภาษาอื่น ชาวประเทศนั้นๆ ไม่รู้ภาษาบาลีเรียนพระไตรปิฎกลำบาก จึงเกิดความคิดขึ้นต่างกันประเทศทางข้างเหนือมีธิเบตและจีนเป็นต้น แปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีไปเป็นภาษาของตนโดยประสงค์จะให้เล่าเรียนรู้ได้ง่าย จะได้มีคนเลื่อมใสศรัทธามาก ครั้นพระไตรปิฎกเดิมไม่มีใครเล่าเรียนก็เลยสูญ สิ้นหลักที่จะสอบสวนพระธรรมวินัยให้ถ่องแท้ ลัทธิพระศาสนาในประเทศฝ่ายเหนือเหล่านั้นก็ผันแปรวิปลาสไป

แต่ส่วนประเทศข้างใต้ มีลังกาทวีปเป็นต้น ตลอดจนประเทศพม่า มอญ ไทย ลาว และเขมร เหล่านี้ คิดเห็นมาแต่เดิมว่า ถ้าแปลพระไตรปิฎกไปเป็นภาษาอื่นทิ้งของเดิมเสียแล้ว พระธรรมวินัยก็คงคลาดเคลื่อน จึงรักษาพระไตรปิฎกไว้ในภาษาบาลี การเล่าเรียนคันธุระ อุสาหะเรียนภาษาบาลีให้เข้าใจเสียชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงเรียนพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกต่อไป อาศัยวิธีนี้ ประเทศที่ถือพระพุทธศาสนาข้างฝ่ายใต้จึงสามารถรักษาลัทธิของพระพุทธสาวกยั่งยืนสืบมาได้ นำเรื่องเบื้องต้นมากล่าวพอให้แลเห็น ว่าเหตุใดพระภิกษุสามเณรเล่าเรียนพระปริยัติจึงต้องเรียนภาษาบาลี

แท้จริงการเรียนภาษาบาลีเป็นข้อสำคัญสำหรับสืบอายุพระพุทธศาสนา เพราะถ้าไม่มีผู้รู้บาลี ก็จะไม่มีผู้ใดสามารถล่วงรู้พระพุทธวัจนะในพระไตรปิฎก ถ้าสิ้นความรู้พระไตรปิฎกเสียแล้ว พระพุทธศาสนาก็จะต้องเสื่อมทรามสูญไป เพราะเหตุนี้ พระรามาธิบดีผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภกตั้งแต่โบราณมา จึงทรงทำนุบำรุงการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และทรงยกย่องพระภิกษุสามเณรที่เรียนรู้ให้มีฐานันดร พระราชทานราชูปการต่างๆ มีนิตยภัตรเป็นต้น จึงเกิดมีวิธีสอบพระปริยัติธรรม เพื่อจะให้ปรากฏว่าพระภิกษุสามเณรรูปใดมีความรู้เพียงใด เมื่อปรากฏว่ารูปใดรอบรู้ถึงที่กำหนด สมเด็จพระรามาธิบดีทรงยกย่องพระภิกษุสามเณรรูปนั้นให้เป็นมหาบาเรียน ครั้นพรรษาอายุถึงเถรภูมิ ก็ทรงตั้งให้มีสมณศักดิ์ในสังฆมณฑลตามสมควรแก่คุณธรรมและความรอบรู้ เป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนพระปริยัติธรรมสืบๆ กันมาจนกาลบัดนี้

เพราะการเล่าเรียนพระปริยัติธรรมเป็นการเรียนทั้งภาษาบาลี และคัมภีร์พระไตรปิฎกด้วยเหตุดังแสดงมา การสอบความรู้พระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรม จึงสอบทั้งความรู้ภาษาบาลี และความรู้คัมภีร์พระไตรปิฎกด้วยกัน คือให้นักเรียนที่เข้าสอบความรู้ อ่านคัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาบาลีแปลเป็นภาษาไทยให้ถูกอภิธานและทางไวยากรณ์ภาษาบาลี และรู้ความในคัมภีร์พระไตรปิฎกนั้นด้วย ด้วยเหตุนี้จึงมักเรียกกันเป็นสามัญว่า “แปลหนังสือ” หรือ “แปลพระปริยัติธรรม” มีหลักสูตรตั้งไว้ แต่โบราณกำหนดเป็น ๙ ประโยค คือ

ประโยคที่ ๑ ประโยคที่ ๒ ประโยคที่ ๓ สอบคัมภีร์พระธรรมบท ต้องสอบได้ในคราวเดียวทั้ง ๓ ประโยค จึงนับว่าเป็นเปรียญชั้นจัตวา หรือเปรียญสามัญ

ประโยคที่ ๔ สอบคัมภีร์มังคลัตถทีปนีบั้นต้น สอบได้นับเป็นเปรียญตรี เปรียญชั้นสูงนับแต่ประโยค ๔ นี้เป็นต้นไป

ประโยคที่ ๕ ได้ยินว่า เดิมสอบคัมภีร์บาลีมุตวินัยวินิจฉัยสังคหะ เรียกกันโดยย่อว่า บาลีมุต ต่อมาเปลี่ยนเป็นสอบคัมถีร์สารัตถสังคหะ ครั้นภายหลังกลับสอบคัมภีร์บาลีมุตวินัยฯ อีก สอบได้นับเป็นเปรียญโท

ประโยคที่ ๖ สอบมังคลัตทีปนีบั้นปลาย สอบได้คงนับเปรียญโทอยู่เหมือนเปรียญ ๕ ประโยค เพราะฉะนั้นพวกนักเรียนจึงกล่าวว่าเป็นประโยคแปลบูชาพระ

ประโยคที่ ๗ สอบคัมภีร์ปฐมสมันตัปปาสาทิกา ที่เรียกกันโดยย่อว่า สามน สอบได้เป็น เปรียญเอก ส หมายความว่าชั้นเอกสามัญ
ประโยคที่ ๘ สอบคัมภีร์วิสุทธิมรรค สอบได้นับเป็น เปรียญเอก ม หมายความว่าชั้นเอกมัชฌิมา

ประโยคที่ ๙ เดิมสอบคัมภีร์สารัตถทีปนี ภายหลังเปลี่ยนเป็นคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ สอบได้นับเป็น เปรียญเอก อุ หมายความว่าชั้นเอกอุดม

ยังมีหลักสูตรสำหรับสอบเปรียญมอญอีกอย่างหนึ่ง จะอนุโลมตามหลักสูตรซึ่งมีในรามัญประเทศแต่โบราณ หรือมากำหนดขึ้นใหม่ในประเทศนี้ ข้อนี้หาทราบไม่ กำหนดโดยนิยมว่าพระมอญนั้นศึกษาพระวินัยเป็นสำคัญ จึงสอบแต่คัมภีร์พระวินัยปิฎก เดิมกำหนดเป็น ๓ ประโยค ภายหลังเพิ่มประโยค ๔ ขึ้นอีกประโยค ๑ จึงรวมเป็น ๔ ประโยค

ประโยคที่ ๑ สอบคัมภีร์อาทิกรรม หรือปาจิตตีย์ แล้วแต่นักเรียนจะเลือก เข้าใจว่าแต่เดิมถ้าแปลได้ประโยค ๑ ก็ได้เป็นเปรียญ ครั้นตั้งประโยค ๔ ขึ้น จึงกำหนดว่าต้องสอบประโยคที่ ๒ ได้ด้วย จึงนับเป็นเปรียญ

ประโยคที่ ๒ สอบคัมภีร์มหาวรรค หรือจุลวรรค แล้วแต่นักเรียนจะเลือก สอบได้นับเป็นเปรียญจัตวา เหมือนเปรียญไทย ๓ ประโยค

ประโยคที่ ๓ สอบคัมภีร์บาลีมุตวินัยวินิจฉัยสังคหะ เรียกกันโดยย่อว่า บาลีมุต สอบได้นับเป็นเปรียญตรี เสมอเปรียญไทย ๔ ประโยค

ประโยคที่ ๔ สอบคัมภีร์ปฐมสมันตัปปาสาทิกา สอบได้เป็นเปรียญโท เสมอเปรียญไทย ๕ ประโยค

การสอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณรนับเป็นราชการแผ่นดินอย่างหนึ่ง ด้วยอยู่ในพระราชกิจของสมเด็จพระรามาธิบดีผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภก เพราะฉะนั้นต่อมีรับสั่ง สังฆนายกทั้งปวงจึงประชุมกันสอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณร และมีเจ้าพนักงานฝ่ายพระราชอาณาจักรช่วยปฏิบัติดูแลตามตำแหน่งจนสำเร็จการ

เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ การสอบพระปริยัติธรรมยังหามีกำหนดปีเป็นยุติไม่ เพราะในสมัยนั้นเป็นเวลาแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เพิ่มเริ่มบำรุงการเล่าเรียน บ้านเมืองก็ยังมีศึกสงครามเนืองๆ เมื่อใดเป็นเวลาว่าง ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียนถุงภูมิรู้จะเป็นเปรียญได้มีมาก จึงโปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรม เพราะฉะนั้นนานๆ จึงได้มีการสอบพระปริยัติธรรมครั้งหนึ่ง ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชดำริเห็นว่าการเล่าเรียนเจริญขึ้น จึงโปรดให้กำหนดการสอบพระปริยัติธรรม ๓ ปีครั้งหนึ่งเป็นยุติ ใช้เป็นแบบต่อมาในรัชกาลที่ ๔ จนถึงในรัชกาลที่ ๕

ที่สอบพระปริยัติธรรมแต่เดิม โดยปรกติสอบที่วัดอันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช ต่อทรงพระราชศรัทธาจะทรงฟัง จึงโปรดให้เข้ามาประชุมสอบที่ในพระบรมมหาราชวังเป็นการพิเศษเป็นครั้งเป็นคราว เพราะฉะนั้นชั้นเดิมจึงประชุมสอบพระปริยัติธรรมที่วัดระฆัง แล้วย้ายมาที่วัดมหาธาตุ สอบที่วัดมหาธาตุตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ มา จนตอนปลายรัชกาลที่ ๓ เมื่อรื้อโบสถ์วิหารและสถานที่ต่างๆ ในวัดนั้นลงทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ จึงโปรดให้ย้ายมาสอบพระปริยัติธรรมที่วัดพระเชตุพน

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงชำนาญพระไตรปิฎก ได้เป็นประธานในการสอบพระปริยัติธรรมเมื่อครั้งยังทรงผนวช มีพระราชประสงค์จะทรงฟังแปลพระไตรปิฎก จึงโปรดให้ประชุมสอบพระปริยัติธรรมที่ในพระบรมมหาราชวังทุกคราวเป็นนิตย์ ประชุมสอบที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์บ้าง ที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามบ้าง เสด็จออกทรงฟังจนตลอดรัชกาล ถึงรัชกาลที่ ๕ ประเพณีสอบพระปริยัติธรรมคงทำตามแบบแผนครั้งรัชกาลที่ ๔ สืบมาช้านาน พึ่งมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงต่อในชั้นหลัง แต่ในหนังสือนี้จะกล่าวแต่เฉพาะลักษณการชั้นแรกเสียก่อน ส่วนชั้นหลังจะของดไว้อธิบายในตอนอื่นต่อไป

ฤดูสอบพระปริยัติธรรมมักสอบเมื่อออกพรรษาแล้ว ต่อบางคราวจึงสอบในพรรษา โดยปรกติปีใดจะสอบพระปริยัติธรรม เจ้ากระทรวงธรรมการก็รับสั่งหมายบอกไปยังเจ้าคณะสงฆ์แต่ต้นปี ว่าในปีนี้เมื่อออกพรรษาจะโปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณร ฝ่ายเจ้าคณะสงฆ์ทั้งคณะเหนือ คณะใต้ คณะกลาง คณะธรรมยุติ และคณะรามัญ เมื่อได้รับทราบหมาย ก็บอกไปยังเจ้าอาวาสตามพระอารามใหญ่น้อยอันขึ้นอยู่ในคณะนั้นให้ทราบทั่วกัน เพื่อจะได้สอบซ้อมพระภิกษุสามเณร ซึ่งจะเข้าสอบพระปริยัติธรรม

ฝ่ายเจ้าอาวาสซึ่งครองพระอารามหลวงเมื่อทราบว่าจะมีการสอบพระปริยัติ ที่เป็นวัดมีนักเรียนมากก็ให้สอบซ้อม แล้วเลือกสรรผู้ซึ่งจะให้เข้าสนามเอาชื่อบัญชีส่งเจ้าคณะ วัดใดไม่มีนักเรียนทรงภูมิรู้ถึงจะเข้าสนามได้ เจ้าอาวาสก็ขวนขวายหานักเรียนวัดอื่นมาสำหรับจะได้เข้าสอบเป็นเปรียญของวัดนั้น เพราะมีคติถือกันมาแต่โบราณว่า บรรดาพระภิกษุสงฆ์ซึ่งอยู่ในพระอารามหลวง ได้อยู่เสนาสนะของหลวง และได้พระราชทานนิตยภัตรเป็นค่าอาหารที่จะบริโภคทั่วทุกรูป คือว่าทรงอุปการะมิให้ต้องอนาทรร้อนใจในการอยู่กิน จะได้ตั้งหน้าเล่าเรียนพระธรรมวินัยสืบอายุพระศาสนาเฉลิมพระราชศรัทธา ถ้าไม่มีเปรียญในวัดใดย่อมเป็นการเสียเกียรติยศสงฆ์วัดนั้น เพราะเหมือนไม่สนองพระราชศรัทธา จึงต้องขวนขวายที่จะให้ได้เปรียญ หรือแม้อย่างต่ำก็ให้มีพระภิกษุสามเณรในวัดนั้นเข้าสอบพระปริยัติธรรม ให้ปรากฏว่าเอื้อเฟื้อต่อพระราชศรัทธามิได้ละเลย

ก็แต่ความสามารถในการฝึกสอนไม่เสมอกันทุกพระอาราม ผู้รู้และนักเรียนมักมีมากแต่ในวัดสำคัญ คือที่วัดใหญ่ๆ หรือวัดซึ่งเจ้าอาวาสเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกจึงเป็นสำนักที่เล่าเรียนแข็งแรง ถ้ามิใช่วัดที่เป็นสำนักเล่าเรียนเช่นนั้น นักเรียนที่คงวามรู้ถึงภูมิเปรียญก็หายาก เพราะแต่ก่อนมีความเข้าใจกันในพวกนักเรียนอย่างหนึ่ง จะเท็จจริงเพียงใดข้าพเจ้าหาทราบไม่ เข้าใจกันว่าพระราชาคณะซึ่งเป็นผู้ไล่หนังสือ ท่านมักจะให้ได้เปรียญแต่พอสมควรแก่บรรดาศักดิ์ของวัด คือถ้าเป็นวัดใหญ่ คราวหนึ่งก็ให้ได้เปรียญ ๓ รูป ๔ รูป ที่เป็นวัดเล็กก็ให้ได้เปรียญแต่รูปหนึ่งสองรูป เพราะเข้าใจกันอย่างว่านี้ วัดใดมีนักเรียนมากด้วยกัน เกรงว่าถ้าเข้าไปสอบมากเกินจำนวนที่พระราชาคณะท่านต้องการ ก็จะไม่ได้เป็นเปรียญ จึงมีผู้สมัครไปเข้าบัญชีในวัดที่ไม่มีนักเรียน ด้วยเห็นท่วงทีจะได้เป็นเปรียญเพราะเหตุที่พระราชาคณะท่านคงอยากจะให้มีเปรียญสำหรับวัดนั้นดังนี้

ข้างฝ่ายเจ้าอาวาสอันเป็นสำนักเล่าเรียนในวัดนั้นเข้าสอบน้อยไป ดูจะเป็นที่เสียหายเหมือนหนึ่งไม่เอาใจใส่บำรุงการเล่าเรียน บางวัดมีนักเรียนความรู้ถึงภูมิเปรียญแต่ ๒ รูป ๓ รูป ก็มักจัดนักเรียนที่มีความรู้พอดีพอร้ายเพิ่มเติมเข้าบัญชีอีก ๔ รูป ๕ รูป ให้ได้จำนวนว่ามีนักเรียนวัดนั้นเข้าสอบถึง ๖ รูป ๗ รูป ดังนี้ก็มี พวกนักเรียนที่อยู่ในบัญชีเพิ่มเติมนี้มักเรียกกันว่า “พวกทัพผี” แต่ก็มีผู้สมัครเป็น เพราะบางทีพวกทัพผีถูกโชคดีได้เป็นเปรียญก็มี ถึงจะไม่ได้เป็นเปรียญก็ถือกันว่า เป็นประโยชน์ที่ได้คุ้นเคยสนาม รู้ว่าพระราชาคณะผู้ไล่หนังสือท่านทักท้วงอย่างนั้นๆ จะได้เตรียมตัวไว้สำหรับคราวหน้าต่อไป

เจ้าอาวาสหานักเรียนซึ่งจะเข้าสอบเป็นเปรียญสำหรับพระอารามได้แล้ว ก็ลงมือเตรียมการให้สอบซ้อม ลักษณะการสอบซ้อมเป็น ๒ อย่าง คือ ซ้อมประโยคอย่างหนึ่ง ซ้อมวิธีสนามอย่างหนึ่ง การซ้อมประโยคนั้น ผู้ที่เป็นอาจารย์เลือกคัดความในคัมภีร์เฉพาะตอนที่มักใช้เป็นประโยคสอบในสนามมาให้นักเรียนแปลซ้อม การซ้อมวิธีสนามนั้น ผู้เป็นเจ้าของมักพากไปฝากพระราชาคณะนั้นจึงได้โอกาสซ้อม นับถือกันว่าเป็นประโยชน์แก่ตัวนักเรียนมาก

การสอบซ้อมทั้ง ๒ อย่างที่กล่าวมานี้ สอบซ้อมกันมากแต่เมื่อแปลคัมภีร์พระธรรมบท และคัมภีร์มังคลัตถทีปนี คือชั้นแรกที่จะเป็นเปรียญ เพราะนักเรียนยังใหม่ไม่เคยสนาม และความรู้ก็ยังต่ำ ครั้นเมื่อได้เป็นเปรียญแล้ว ถึงแปลประโยค ๕ ประโยค ๖ การที่ต้องสอบซ้อมกับครูบาอาจารย์ก็น้อยลง ยิ่งถึงชั้นเปรียญเอกซึ่งอาจจะดูหนังสือเอาเองได้แล้ว ก็มักจะสอบซ้อมแต่กับท่านผู้ใหญ่ เพราะเปรียญเอกมีน้อยไม่กี่รูป

เมื่อเจ้าอาวาสทำบัญชีพระภิกษุสามเณรที่จะเข้าแปลพระปริยัติธรรมยื่นต่อเจ้าคณะ เจ้าคณะรวมส่งมาให้กระทรวงธรรมการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ก็โปรดให้ลงมือสอบพระปริยัติธรรม มีหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ ๔ คราวสอบพระปริยัติธรรมเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ ยังปรากฏอยู่ ได้คัดสำเนามาลงไว้ต่อไปนี้พอให้เห็นลักษณะการ
หมายรับสั่ง

พระยาประสิทธิศุภการรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า พระสงฆ์สามเณรเปรียญเอก โท ตรี จัตวา ซึ่งได้รับพระราชทานนิตยภัตไตรปีอยู่นั้น เลื่อนที่ขึ้นเป็นพระราชาคณะ พระครูฐานานุกรม และสึกจากพระพุทธศาสนา ถึงแก่กรรมก็มีบ้าง พระสงฆ์สามเณรเปรียญน้อยไป ทรงพระราชศรัทธาให้กรมหมื่นบวรรังสีและพระราชาคณะผู้ใหญ่ ๒๓ รูป สอบไล่พระคัมภีร์พระสงฆ์สามเณร ณ พระที่นั่งสุทไธศวรรยปราสาท กำหนด ณ วันศุกร์ เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีวอกโทศก เพลาเพลแล้วจะได้เสด็จทรงฟังด้วย ให้กรมวังจัดที่มาทอดและสั่งเจ้าพนักงานกระบวนเสด็จ เหมือนอย่างเสด็จพระราชดำเนินออกพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ให้พร้อมทุกพนักงานนั้น

สั่งให้สังฆการีเชิญเสด็จกรมหมื่นบวรรังสีนิมนต์หม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระพิมลธรรม พระธรรมวโรดม พระเทพกระวี พระธรรมไตรโลก พระพรหมมุนี พระเทพมุนี พระเทพโมลี พระอมรโมลี พระอโนมมุนี พระสาสนโสภณ พระอมราภิรักขิต พระรามัญมุนี พระวินัยมุนี พระประสิทธิสุตคุณ พระวิสุทธิโสภณ พระพินิจวินัย พระกระวีวงศ์ พระปริยัติบัณฑิต พระเมธาธรรมรส พระวรญาณมุนี พระปิฎกโกศล เป็นผู้สอบไล่ นิมนต์พระสงฆ์สามเณรมารับประโยคแปลวันละ ๕ รูป

วันแรกนั้นให้นิมนต์หม่อมเจ้าเฉิดฉายเปรียญ ๕ ประโยค วัดบวรนิเวศรูป ๑ หม่อมราชวงศ์พระหนูเปรียญ ๔ ประโยค วัดบรมนิวาสรูป ๑ หม่อมราชวงศ์พระถมยา วัดระฆังรูป ๑ หม่อมเจ้าเณรขาว วัดราชบูรณะรูป ๑ หม่อมเจ้าเณรเวียน วัดบพิตรพิมุขรูป ๑ มารับประโยคต่อพระราชาคณะ

และให้สังฆการีรับหมากรับพลูต่อวิเศษถวายพระราชาคณะผู้ไล่ พระสงฆ์สามเณรผู้แปลวันละ ๒๘ ซอง จัดขุนหมื่นให้อยู่ปรนนิบัติ กว่าจะเลิกไล่พระคัมภีร์เสมอทุกวัน

ให้พระยาพุทธภูมิภักดีมากำกับเมื่อเวลารับประโยคจนเลิกไล่ทุกวัน ให้ขุนหมื่นกรมธรรมการกำกับพระสงฆ์สามเณรผู้แปล เมื่อรับประโยคแล้ว อย่าให้ไปซักซ้อมต่อท่านผู้รู้ได้

ให้ศุภรัตน์จัดพรมเจียมผ้าขาวลาดเสื่ออ่อน ๒ ชั้น ๕ ผืน หมอนอิงไปแต่งที่ถวายกรมหมื่นบวรรังสี และพระราชาคณะผู้สอบไล่พระสงฆ์สามเณรผู้แปลให้พอ

ให้ราชบัณฑิตจัดพระคัมภีร์ไปตั้งวันละ ๙ ฉบับให้พอ ให้มีผ้าห่อพระคัมภีร์เทียนกากะเยียด้วย แล้วให้รับเทียนต่อท่านข้างในวันละ ๕ เล่ม มาถวายพระราชาคณะผู้สอบไล่ พระสงฆ์สามเณรผู้แปลดูหนังสือเหมือนเพลาค่ำ

ให้สนมพลเรือนจัดพานหมากกระโถนขันน้ำเครื่องมาตั้งถวายกรมหมื่นบวรรังสีเสมอทุกเพลา เบิกขี้ผึ้งต่อพระคลังในซ้ายไปส่งม่านข้างในฟั่นเทียนถวายพระราชาคณะผู้สอบไล่ พระสงฆ์สามเณรผู้แปลหนังสือ วันละ ๕ เล่ม เล่มหนึ่งหนัก ๒ บาท เป็นขึ้นผึ้งวันละ ๒ ตำลึง ๒ บาท

ให้มหาดเล็กจัดที่ชาเครื่องถวายกรมหมื่นบวรรังสีเสมอทุกเวลา

ให้เจ้ากรมปลัดกรมโรงทานจัดที่ชาไปต้มน้ำร้อนน้ำชาถวายพระราชาคณะ ๒๓ รูป พระสงฆ์สามเณรผู้แปล ๕ รูปเสมอทุกวันกว่าจะเลิกไล่พระคัมภีร์ เบิกน้ำตาลทรายวันละ ๕ ตำลึงไทย ใบชาวันละห่อต่อพระคลังในซ้าย เบิกถ่านต่อพระคลังมหาสมบัติวันละ ๓ ชั่งไทย

ให้ล้อมพระราชวังซ้ายขวาไปเบิกยืมอ่างเขียว ๕ ใบ ที่พระคลังในซ้ายมาตั้ง แล้วตักน้ำใส่ให้เต็มอ่างเสมอทุกวันกว่าจะเลิกไล่พระคัมภีร์ แล้วให้เอาอ่างเขียว ๕ ใบไปส่งคืนพระคลังในซ้าย

พระคลังในซ้ายจ่ายขี้ผึ้งให้สนมพลเรือนไปส่งท่านข้างในฟั่นเทียนดูหนังสือวันละ ๕ เล่ม เป็นขี้ผึ้งวันละ ๒ ตำลึง ๒ บาท ให้จ่ายน้ำตาลทรายวันละ ๕ ตำลึงไทย ใบชาวันละห่อ ให้โรงทานไปต้มน้ำร้อนน้ำชาถวายพระราชาคณะพระสงฆ์สามเณรผู้ไล่ ผู้แปล จ่ายอ่างเขียว ๕ ใบ ให้ล้อมพระราชวังซ้ายขวายืมไปตักน้ำถวายพระสงฆ์สามเณร เลิกไล่พระคัมภีร์แล้วให้เรียกอ่างเขียว ๕ ใบคืน

ให้พระคลังราชการจ่ายเสื่ออ่อน ๒ ชั้น ๕ ผืน ให้ศุภรัตน์ไปแต่งที่ถวายพระสงฆ์สามเณรผู้แปล

ให้พระคลังมหาสมบัติจัดกระโถน ขันน้ำ ไปตั้งถวายพระราชคณะพระสงฆ์สามเณรผู้แปลวันละ ๑๐ สำรับ จ่ายถ่านให้โรงทานไปต้มน้ำร้อนน้ำชาถวายพระสงฆ์สามเณรวันละ ๓ ชั่งไทย

ให้คลังพิมานอากาศเอาโคมตั้งมาใส่เทียนให้พระราชาคณะดูหนังสือวันละ ๔ ใบ

ให้รักษาพระองค์ซ้ายขวาจัดตะเกียงมาตั้งวันละ ๔ ตะเกียง

ให้หลวงสิทธิสาร หลวงทิพจักร จัดหมอยามาประจำวันละคน หลวงราโชวาท หลวงราชรักษา จัดหมอนวดมาประจำวันละคน

ให้เจ้ากรม ปลัดกรม ให้กรมพระอาลักษณ์ กรมสังฆการี กรมธรรมการ กรมราชบัณฑิต มาพร้อมกันเมื่อเพลาแปลพระคัมภีร์เสมอทุกวัน

ให้ผู้ต้องเกณฑ์ทั้งนี้จัดการให้พร้อมทุกพนักงาน ณ พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ปราสาทตั้งแต่ ณ วันศุกร์ เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ เพลาเพลแล้วเสมอทุกวันไป กว่าจะสั่งให้เลิกพระคัมภีร์ ถ้าสงสัยประการใดก็ให้ไปทูลถวายพระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมหมื่นอุดมรังสี อย่าให้ขาดได้ทุกพนักงานตามรับสั่ง จบหมายรับสั่งเพียงนี้

…………………………………………….


หมายรับสั่งฉบับนี้ คิดเวลาล่วงมาจนบัดนี้ได้ถึง ๖๐ ปี พระราชาคณะผู้ไล่ และภิกษุสามเณรผู้แปลซึ่งปรากฏนามในหมายรับสั่งล่วงลับไปหมดแล้ว แต่ยังพอสืบทราบได้โดยมาก จึงได้จัดอธิบายไว้ต่อไป

พระราชาคณะผู้สอบไล่ครั้งปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓

๑. กรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ วัดบวรนิเวศ เป็นประธาน คือสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงชำนาญพระไตรปิฎก แต่หาได้เข้าสอบไล่

๒. หม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์ ๙ ประโยค นามเดิมว่า หม่อมเจ้ารอง ในกรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิ์ศุขวัฒนวิไชย ครองวัดบพิตรพิมุข

๓. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี) ๙ ประโยค วัดประยุรวงศาวาส

๔. พระพิมลธรรม (ยิ้ม) ๖ ประโยค วัดพระเชตุพน

๕. พระธรรมวโรดม (สมบูรณ์) ๔ ประโยค วัดราชบูรณะ ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นสมเด็จพระวันรัต ครองวัดพระเชตุพน

๖. พระเทพกระวี (โต) วัดระฆัง ชำนาญพระไตรปิฎกแต่ไม่ได้เข้าสอบเปรียญ ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์

๗. พระธรรมไตรโลก (รอด) เป็นเปรียญกี่ประโยคสืบไม่ได้ความ ครองวัดโมลีโลก

๘. พระพรหมมุนี (ทับ) ๙ ประโยค วัดโสมนัสวิหาร ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นพระพิมลธรรม แล้วเลื่อนเป็นสมเด็จพระวันรัต

๙. พระเทพมุนี (กัน) ๗ ประโยค ครองวัดสุวรรณาราม

๑๐. พระเทพโมลี (เนียม) ๘ ประโยค ครองวัดกัลยาณมิตร ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระธรรมเจดีย์

๑๑. พระอมรโมลี (นพ) ๙ ประโยค ครองวัดบุปผาราม

๑๒. พระอโนมมุนี (ศรี) ๙ ประโยค ครองวัดปทุมคงคา ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระพรหมมุนี แล้วเลื่อนเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์

๑๓. พระสาสนโสภณ (สา) ๙ ประโยค วัดบวรนิเวศ ต่อมาครองวัดราชปะดิษฐ์ ถึงรัชกาลที่ ๕ เลื่อนสมณศักดิ์เทียบที่พระธรรมโรดม แล้วเลื่อนเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และเป็นสมเด็จพระอริยวงศษคตญาณ เจ้าคณะเหนือ แล้วเป็นสมเด็จพระสังฆราช

๑๔. พระอมราภิรักขิต (เกิด) ๙ ประโยค ครองวัดบรมนิวาส

๑๕. พระรามัญมุนี (ยิ้ม) ๘ ประโยค ครองวัดบวรมงคล

๑๖. พระวินัยมุนี (บัว) ๘ ประโยค ครองวัดอมรินทราราม

๑๗. พระประสิทธิสุตคุณ (อ้น) ๘ ประโยค ครองวัดสุทัศน์ ภายหลังเป็นพระเทพกระวี ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระธรรมไตรโลก แล้วเลื่อนเป็นพระพิมลธรรม มาครองวัดพระเชตุพน

๑๘. พระวิสุทธิโสภณ (เหมือน) เป็นเปรียญกี่ประโยคสืบไม่ได้ความ ครองวัดมหรรณพาราม

๑๙. พระวินิจวินัย (จีน) ๗ ประโยค วัดราชโอรส ต่อมาเป็นพระธรรมไตรโลก ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระธรรมเจดีย์

๒๐. พระกระวีวงศ์ (ทอง) ๘ ประโยค วัดราชนัดดา ต่อมาเป็นพระเทพมุนี ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระธรรมเจดีย์ ไปครองวัดอรุณ ต่อมาต้องลดลงเป็นพระเทพมุนีคราวหนึ่ง แล้วเป็นพระธรรมไตรโลก

๒๑. พระเมธาธรรมรส (ถิน) ..... ประโยค ครองวัดพิชัยญาติการาม

๒๒. พระปริยัติบัณฑิต (ครุฑ) ๗ ประโยค อยู่วัดกัลยาณมิตร

๒๓. พระวรญาณมุนี (น้อย) ๙ ประโยค ครองวัดจักรวรรดิราชาวาส

๒๔. พระปิฎกโกศล (ฉิม) เป็นเปรียญกี่ประโยคสืบไม่ได้ความ อยู่วัดราชบูรณะ

หม่อมเจ้าราชวงศ์ผู้ที่เข้าแปลหนังสือ

๑. หม่อมเจ้าพระฉายเฉิด ๕ ประโยค วัดบวรนิเวศ เป็นหม่อมเจ้าในกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ คราวนี้แปลได้อีก ๓ ประโยค รวมเป็น ๘ ประโยค แล้วลาผนวช ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็น พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉายเฉิด และเลื่อนเป็นกรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์

๒. หม่อมราชวงศ์พระหนู ๔ ประโยค วัดบรมนิวาส เป็นบุตรหม่อมเจ้าโสภณ ในเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ คราวนี้แปลได้อีก ๓ ประโยครวมเป็น ๗ ประโยค แล้วลาสิขา ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นขุนวิสุทธากร แล้วเลื่อนเป็นพระผดุงศุลกกฤตษ์ ต่อมาเป็นพระยาอิศรพันธ์โสภณ

๓. หม่อมราชวงศ์พระถมยา วัดระฆัง เป็นบุตรหม่อมเจ้าน้อย ในกรมหมื่นนราเทเวศร์ ได้เป็นเปรียญ ๖ ประโยค แต่จะได้คราวนี้กี่ประโยคไม่ทราบแน่

๔. หม่อมเจ้าสามเณรขาว วัดราชบูรณะ เป็นหม่อมเจ้าในกรมหลวงเทเวศวัชรินทร์ แปลตกไม่ได้เป็นเปรียญ แล้วลาผนวชมารับราชการ ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์

๕. หม่อมเจ้าสามเณรเวียน วัดบพิตรพิมุข เป็นหม่อมเจ้าในกรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิ์ แปลได้ ๓ ประโยค

ผู้อื่นที่ปรากฏในหมายรับสั่ง

๑. กรมหมื่นอุดมรังสี เวลานั้นได้ทรงกำกับกรมสังฆการีและธรรมการ

๒. พระยาพุทธภูมิภักดี สืบได้ความว่าชื่อใย เดิมเป็นเปรียญ แล้วลาสิกขาออกมาได้ภรรยาอยู่ทางโรงวิเสท แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวช เสด็จทรงบิณฑบาตมาถึงบ้าน มหาใยตักบาตรถวายแล้วอธิฐานว่า “ขอให้เป็นปัจจัยได้ถึงพุทธภูมิ” ดังนี้ คราวหลังเสด็จไปบิณฑบาตอีก แกตักบาตรถวายแล้วก็อธิฐานอย่างนั้นอีกทุกคราวจนทรงคุ้นเคย ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงตั้งให้เป็นหลวงทานาธิบดี เจ้ากรมโรงทาน ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพระทานาธิบดี รับราชการอยู่จนแก่ชรา จึงทรงตั้งเป็นพระยาพุทธภูมิภักดี ตำแหน่งผู้กำกับถือน้ำ ที่โปรดให้เป็นผู้เปิดประโยคสอบพระปริยัติธรรม ดังปรากฏในหมายรับสั่งเห็นจะเป็นด้วยทรงพระราชดำริว่าเป็นเปรียญ และเป็นผู้ละอายต่อบาป คงจะไม่ลำเอียงแก่นักเรียน

ความที่ปรากฏในหมายรับสั่งว่า ให้พระภิกษุสามเณรผู้จะแปลพระปริยัติธรรมมาจับประโยค ข้อนี้เป็นเบื้องต้นของการสอบพระปริยัติธรรม คือพระราชาคณะผู้อำนวยการรูปหนึ่ง ชั้นเดิมจะเป็นตำแหน่งใดหาทราบไม่ แต่ในชั้นปลายรัชกาลที่ ๔ และต่อมาในรัชกาลที่ ๕ เป็นหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราช วัดราชประดิษฐ์ มาตั้งแต่ท่านยังเป็นที่พระสาสนโสภณ เป็นผู้กะประโยคสอบพระปริยัติธรรมในคัมภีร์บทหนึ่ง จะเอาความตรงไหนเป็นประโยคสอบบ้าง ท่านเลือกแล้วให้เขียนเป็นฉลากบอกว่าคัมภีร์นั้น วัตถุนั้น ขึ้นตรงนั้นจบประโยคตรงนั้น แล้วพักใส่ซองผนึกไว้ จัดฉลากเหล่านี้ไว้เป็นประโยคๆ เช่นฉลากคัมภีร์พระธรรมบท จัดเป็นประโยคหนึ่งส่วย ๑ ประโยคสองส่วน ๑ ประโยคสามส่วน ๑

วันไหนถึงกำหนดพระภิกษุสามเณรรูปใดจะแปลประโยคไหน เวลาเช้าวันนั้นก็ไปจับฉลากประโยคนั้นที่วัดราชประดิษฐ์ แล้วถือฉลากของตนเข้ามายังสถานที่แปลพระปริยัติธรรมราวเวลา ๙ นาฬิกาก่อนเที่ยง ที่นั้นเจ้าคณะสงฆ์ผู้เป็นนายด้านกับพนักงานกรมสังฆการีสำหรับกำกับและราชบัณฑิตอยู่พร้อมกัน สังฆการีกับราชบัณฑิตพร้อมกันเปิดผนึกดูฉลากประโยคที่จะแปลจดลงบัญชีแล้ว แล้วเจ้าคณะนายด้านกับสังฆการีก็ควบคุมนักเรียนแต่เวลานั้นไป มิให้ผู้หนึ่งผู้ใดลอบเข้ามาบอกใบ้ หรือให้เลศนัยอย่างหนึ่งอย่างใด ให้นักเรียนดูหนังสือเตรียมแปลแต่โดยลำพัง ครั้นถึงเวลาเพลมีสำรับของหลวงเลี้ยงทั้งนายด้านและผู้แปลด้วยกัน

การควบคุมตอนนี้ แต่ก่อนเห็นจะไม่สู้กวดขัน ปรากฏว่ามีเหตุเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๔ เห็นจะเป็นในเวลาเมื่อกรมหมื่นอุดมรัตนราษีสิ้นพระชนม์แล้ว พระธรรมการ (ศุข) เป็นหัวหน้าในเจ้าพนักงานประจำการแปลพระปริยัติธรรม พระธรรมการ (ศุข) นั้นชำนาญพระปริยัติธรรม มีชื่อเสียงว่าหนังสือดีมาแต่เมื่อบวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ เป็นเปรียญ ๙ ประโยค และเป็นพระราชาคณะที่พระญาณรักขิต ครั้นลาสิกขามารับราชการในรัชกาลที่ ๔ จึงได้เป็นที่พระธรรมการ มีเรื่องเล่ากันมาว่า เปรียญองค์ใดเป็นที่ชอบพอของพระธรรมการแล้ว พระธรรมการลอบซ้อมหนังสือให้ในเวลาที่คุมอยู่เนื่องๆ จนความทราบถึงพระราชาคณะผู้ไล่ แต่สิ้นรัชกาลที่ ๔ เสีย หาทันจะได้ว่ากล่าวกันอย่างไรไม่

มาถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ โปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรก ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระราชาคณะหวังจะแก้การที่ลอบซ้อมไล่หนังสืออย่างกวดขัน พระภิกษุสามเณรที่เข้าแปลพระปริยัติธรรมคราวนั้นตกเสียโดยมาก แล้วโปรดให้ประกาศสงฆ์ซ้ำลงมาเมื่อจะแปลประโยค ๔ อีกชั้นหนึ่ง ดังสำเนาที่จะปรากฏต่อไปข้างหน้า สอบพระปริยัติธรรมคราวนั้นได้แต่เปรียญ ๓ ประโยค ๑๒ รูป ชั้นประโยค ๔ ขึ้นไปตกหมด ไม่มีผู้ใดแปลได้สักรูปเดียว เลยเป็นเรื่องเลื่องลือกันมาช้านาน การควบคุมคงกวดขันมาแต่ครั้งนั้น

จำนวนพระภิกษุสามเณรเข้าแปลพระปริยัติธรรมแต่เดิมมา กำหนดวัน ๕ รูป ดังปรากฏในหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ ๔ นั้น มาลดลงเป็นวันละ ๔ รูปเมื่อในรัชกาลที่ ๕ แต่จะลดมาแต่คราวแรกหรือจะมาลดเมื่อแปลคราวที่ ๑ หาทราบแน่ไม่ จัดลำดับให้เข้าสอบเป็นคณะๆ ไป ตั้งต้นสอบคณะกลางกับคณะธรรมยุติกา แล้วถึงคณะเหนือและคณะใต้ สังฆการีเป็นผู้วางฎีกากะให้รูปใดเข้าแปลวันใด พระภิกษุเข้าแปลก่อนแล้วถึงสามเณร จนหมดในคณะหนึ่ง แล้วก็วางฎีกาคณะอื่นต่อไป ในชั้นแรกให้พระภิกษุสามเณรที่ยังไม่ได้เป็นเปรียญเข้าแปลคัมภีร์พระธรรมบทก่อน กำหนดแปลวันละประโยค รูปใดแปลได้ประโยค ๑ วันแรก รุ่งขึ้นให้เข้าแปลประโยค ๒ ถ้าได้ประโยค ๒ ก็แปลประโยค ๓ ในวันต่อไป เมื่อแปลได้ครบ ๓ ประโยค นับว่าเป็นเปรียญชั้นสามัญแล้ว ให้พักเสียคราวหนึ่ง เผื่อรูปใดจะเข้าสอบประโยค ๔ ต่อไป จะได้มีเวลาฝึกซ้อมประโยค ๔

เมื่อสอบผู้แปลคัมภีร์ธรรมบทแล้ว แต่นี้ถึงเวลาสอบเปรียญชั้นสูง ตั้งแต่ประโยค ๔ เป็นต้นไป เปรียญที่มีประโยคแล้วจำนวนน้อย ไม่มากเหมือนนักเรียนที่แปลใหม่ จึงวางฎีกาคละกันทุกคณะ เป็นแต่กำหนดลำดับตามประโยค คือ ให้เปรียญเก่าชั้น ๓ ประโยค ที่สอบได้ในคราวก่อนๆ เข้าสอบประโยค ๔ ก่อน เมื่อเปรียญเก่าสอบประโยค ๔ หมดแล้ว ถ้ามีนักเรียนซึ่งสอบได้ ๓ ประโยคในคราวนั้นสมัครจะเข้าสอบประโยค ๔ ก็ให้เข้าสอบต่อไปจนหมดจำนวน แล้วตั้งต้นสอบประโยค ๕ ให้เปรียญเก่าเข้าสอบก่อนเปรียญใหม่ เป็นทำนองเดียวกันทุกประโยคไป เมื่อสอบเปรียญไทยหมดแล้วจึงถึงเวลาสอบเปรียญมอญ ก็จัดโดยทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว

เวลาสอบพระปริยัติธรรม ลงมือประมาณบ่าย ๓ โมงทุกวัน แต่เวลาเลิกไม่เป็นยุติ แล้วแต่ผู้แปลจะได้หรือจะหนีเร็วช้าอย่างไร แต่คงได้เลิกในระหว่างเวลาตั้งแต่ ๑๙.๐๐ ถึง ๒๐.๐๐ นาฬิกาเป็นพื้น ถึงวันพระวันโกนหยุดพักรวมเดือนละ ๘ วัน การสอบพระปริยัติธรรมคราวหนึ่ง แต่เริ่มต้นจนเสร็จกินเวลาประมาณ ๒ เดือน

พระราชาคณะที่มาประชุมสอบพระปริยัติธรรม กำหนดเฉพาะพระราชาคณะผู้ใหญ่ และพระราชาคณะที่ชำนาญพระไตรปิฎก มีหมายรับสั่งกำหนดนามผู้เป็นประธานและรายนามพระราชาคณะที่ให้นอมนต์มาประชุมทุกคราว ทำนองอย่างปรากฏในหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ ๔ นั้น รวมพระราชาคณะประมาณ ๒๕ ไปหา ๓๐ รูปเป็นเกณฑ์ ผู้เป็นประธานมีหน้าที่สำหรับตัดสินปัญหาและข้อขัดข้องที่จะเกิดขึ้น ส่วนพระราชาคณะองค์อื่นนั้น ที่เป็นผู้สอบไล่เฉพาะท่านผู้ใหญ่ ๓ องค์ ๔ องค์ นอกจากนั้นเป็นแต่ผู้นั่งฟัง มีคำกล่าวกันมาว่า ที่ให้พระราชาคณะมาประชุมในการสอบพระปริยัติธรรมมากด้วยกันนั้น ที่จริงประสงค์จะให้มาฟัง เพื่อประโยชน์ในทางความรู้ของพระราชาคณะนั้นๆ เอง จะได้ฝึกสอนสานุศิษย์ หาใช่มาเป็นผู้สอบไล่ทั้งหมดไม่ เพราะฉะนั้นต่อพระราชาคณะผู้