สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส : พระประวัติตรัสเล่า (๕)
โพสโดย webmaster เมื่อ September 18 2009 18:29:48



พระประวัติตรัสเล่า
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(เริ่มทรงพระนิพนธ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘)

๖. สมัยทรงผนวชพระ

ธรรมเนียมเก่า ชายผู้เกิดต้นปีไปหากลางปี มรอายุนับโดยปีได้ ๒๑ อุปสมบทได้ ผู้เกิดพ้นกลางปีไปแล้ว ให้อุปสมทบต่อเมื่ออายุได้ ๒๒ โดยปี ตั้งแต่รัชกาลที่ธรรมเนียมในราชการพออายุ ๒๑ ก็อุปสมบทได้ ต่อมาพระมหาเถระในธรรมยุติกนิกายเห็นว่า คนเกิดต้นปีอาจอุปสมบทได้ในปีที่ ๒๐ ที่ทอนเข้ารอบแล้ว ได้ ๑๙ ปี มีเศษเดือน พอจะประจบเข้ากับเดือนที่อยู่ในครรภ์เป็น ๑ ปี และได้อุปสมบทแก่คนมีอายุเพียงเท่านี้มาเป็นบางครั้ง เฉพาะบุรุษพิเศษ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ก็ได้ทรงอุปสมบทเมื่อพระชนมายุเท่านี้ ฯ

เมื่อมีตัวอย่างมาแล้ว เราจึงกราบทูลเสด็จอุปัชฌายะ ขอประทานพระมติในการบวช ท่านทรงอำนวยให้อุปสมบทในปีที่ ๒๐ จึงนำความกราบบังคมทูลล้นเกล้าฯ ทรงพระอนุมัติ เป็นอันตกลงว่าจักอุปสมบทในปีที่ ๒๐ นี้ ฯ เดิมกรมพระเทวะวงศ์วโรปการ จักทรงผนวชในปีนี้ แต่มีราชการต้องงดไป คงบวชแต่เราผู้เดียว ฯ สมโภชที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยวันหนึ่ง รุ่งขึ้นอุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันศุกร์ เดือน ๘ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๒๔๑ ตรงกับวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๒๒ เสร็จอุปสมบทกรรมเวลาบ่าย ๑ โมง ๔๑ ลิบดา สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นพระอุปัชฌายะ พระจันทรโคจรคุณ (จันทรรังสี) วัดมกุฎกษัตริย์เป็นพระกรรมวาจาจารย์ สวดองค์เดียวตามแบบพระวินัยธรรมเนียมที่ใช้กันมา สวดคู่ท่านผู้อยู่ข้างขวาเรียกกรรมวาจาจารย์ ท่านผู้อยู่ข้างซ้ายเรียกอนุสาวนาจารย์ เรียกอย่างเขินๆ เพราะอนุสาวนาเป็นเอกเทศของกรรมวาจา จะหมายกรรมวาจาเป็นญัตติ ก็แยกกันสวดไม่ได้ อย่างไรจึงสวดคู่ เราเห็นว่า คงเกิดขึ้นในหมู่ที่ไม่เข้าใจบาลีสวด สวดเข้าคู่กันเป็นอันทานกันเอง รูปหนึ่งสวดผิด การสวดย่อมล่มรู้ได้ง่าย เป็นวิธีชอบกลอยู่ แต่ท่านผู้รู้มักรังเกียจว่าสวดไม่สะดวก ว่าอักษรไม่ตระหนัก แต่บวชออกแขก ยังคงใช้กันมา เว้นแต่ในคราวทำทัฬหิกรรมคือบวชซ้ำ สวดแต่รูปเดียว ครั้งล้นเกล้าฯ ทรงอุปสมบท มีพระกรรมวาจาจารย์รูปเดียว ตั้งแต่นั้นมาพระเจ้าน้องยาเธอทรงอุปสมบท มีพระกรรมวาจาจารย์รูปเดียวตามอย่าง แต่หม่อมเจ้าคงสวดคู้ คราวนี้กลายเป็นจัดชั้นเอกสวดรูปเดียว ชั้นโทสวดคู่ แต่ตามวัดก็ใช้สวดรูปเดียวตามขึ้นบ้าง นึกดูก็ขัน อย่างไรจึงกลายเป็นยศ คนสามัญทีสุดคนของหม่อมเจ้า พอใจจะมีพระกรรมวาจาจารย์รูปเดียว ก็มีได้ ส่วนหม่อมเจ้าเองมีไม่ได้ ฯ





พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เหตุไฉนเจ้าคุณจันทรโคจรคุณ ผู้เป็นเพียงพระราชคณะยก จึงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของเรา ฯ มีเป็นธรรมเนียมในราชการ พระอุปัชฌายะหลวงเลือก พระกรรมวาจาจารย์เจ้าตัวผู้บวชเลือก เราเลื่อมใสอยู่มากในเจ้าคุณจันทรโคจรคุณ เห็นอาการของท่านเคร่งครัดและเป็นสมณะดี มีฉายาอันเย็น เช่นพระราหุลครั้งยังเป็นพระทารก กล่าวชมสมเด็จพระบรมศาสดา ฉะนั้นทำทางรู้จักกับท่านไว้ก่อนแล้ว ครั้นถึงเวลาบวชจึงเลือกท่านเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ไม่ต้องการท่านผู้มียศสูงกว่า เราพอใจว่าได้ท่านเป็นพระกรรมวาจารย์ ตั้งแต่บัดนั้นมาจนทุกวันนี้ ฯ

ในคราวที่เราบวชนี้ เห็นได้ว่าล้นเกล้าฯ ทรงกังวลอยู่ พอเที่ยงแล้วก็เสด็จออก ไม่ต้องคอยนาน ฯ บวชแล้วมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารนี้ ล้นเกล้าฯ หาได้เสด็จส่งไม่ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์เสด็จมาส่งโดยรถหลวง เสด็จพระอุปัชฌายะโปรดให้อยู่คณะกุฎีที่เป็นคณะร้าง ไม่มีพระอยู่ในเวลานั้น นี้เป็นเหตุให้เราเสียใจเพราะได้เคยอยู่โรงพิมพ์ที่ประทับทูลกระหม่อมมาแล้ว ทั้งอยู่ห่างจากท่านออกไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงตั้งตนเป็นคนห่างบ้าง แต่พระประสงค์ของท่านว่า เราอยู่ที่นั่นคณะกุฎีจะไม่เปลี่ยว แต่เราก็อยู่สองคนกับตาจุ้ยอายุ ๗๐ แล้ว ที่ยายจัดให้มาอยู่เป็นเพื่อเท่านั้น แต่อยู่ก็สบาย เงียบเชียบ มีคนหลายคนก็แต่เวลาในเพลที่เขาเชิญเครื่องมาส่ง ฯ




สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์

ถึงหน้าพรรษา ล้นเกล้าฯ เสด็จถวายพุ่มที่วัดนี้ เคยเสด็จทรงประเคนพุ่มพระเจ้าน้องยาเธอผู้ทรงผนวชใหม่ถึงตำหนัก เป็นการเยือนด้วย เสด็จกุฎีเราทรงประเคนพุ่ม เราเห็นท่านทรงกราบด้วยเคารพอย่างเป็นพระ แปลกจากพระอาการที่ทรงแสดงแก่พระองค์อื่นเพียงทรงประคองอัญชลี เรานึกสลดใจว่า โดยฐานเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านก็เป็นเจ้าของเรา โดยฐานเนื่องในพระราชวงศ์เดียวกัน ท่านก็เป็นพระเชษฐะของเรา โดยฐานเป็นผู้แนะราชการพระราชทาน ท่านก็เป็นครูของเรา เห็นท่านทรงกราบ แม้จะนึกว่าท่านทรงแสดงความเคารพแก่ธงชัยพระอรหัตต่างหาก ก็ยังวางใจไม่ลง ไม่ปรารถนาจะให้เสียความวางพระราชหฤทัยของท่าน ไม่ปรารถนาจะให้ท่านทอดพระเนตรเห็นเราผู้ที่ท่านทรงกราบแล้วถือเพศเป็นคฤหัตถ์อีก ตรงคำที่เขาพูดกันว่ากลัวจัณไรกิน เราตกลงใจว่าจะไม่สึกในเวลานั้น แต่หาได้ทูลไม่ ฯ

คราวนี้ เสด็จพระอุปัชฌายะหาค่อยได้ทรงสั่งสอนเหมือนครั้งเป็นสามเณรไม่ เป็นเพราะท่านเลิกเป็นพระอุปัชฌายะเสีย ทรงรับเป็นเฉพาะบางคน พระใหม่ของท่านจึงมีไม่กี่รูป ท่านทรงสอนพระอื่น กลับทรงสอบถามเราด้วยซ้ำ ฯ ในพรรษาต้น อยู่ข้างได้ความสุขเพราะความเป็นไปลงระเบียบและเงียบเชียบ เช้าบางวันไปบิณฑบาต เช้า ๒ โมงครึ่งลงนมัสการพระที่พระอุโบสถ กลับขึ้นมาแล้วจึงฉันเช้า แต่นั้นว่าง สุดแล้วแต่จะน้อมเวลาไป กลางวันพัก บ่ายดูหนังสือเรียน พอแดดร่มไปกวาดลานพระเจดีย์ กลับจวนค่ำ หัวค่ำเรียนมคธภาษากับพระปริยัติธรรมธาดา (ชัง) เหมือนอย่างเคยเรียนที่วัง ยังเรียนอรรถกถาธรรมบทอยู่นั่นเอง แต่กำลังเคร่ง เงินทองไม่เกี่ยวข้อง อาจารย์พลอยขาดผลที่เคยได้เป็นรายเดือนด้วย ๒ ทุ่มครึ่งลงนมัสการพระสวดมนต์ฟังสิกขาที่พระอุโบสถ เสด็จอุปัชฌายะมักประทับตรัสอยู่จนเวลาราว ๔ ทุ่มจึงเสด็จขึ้น พระไม่อยู่รอ ต่างรูปต่างไป เว้นแต่ผู้ที่ท่านตรัสอยู่ด้วย ฝ่ายเราเคนมาในราชการทั้งท่านตรัสกับเราเองโดยมากด้วย รออยู่กว่าจะเสด็จขึ้นจึงได้กลับ แต่นั้นเป็นเวลาสาธยายและเจริญสมณธรรม กว่าจะถึงเวลานอนราว ๒ ยาม สวดมนต์ที่เป็นพระสูตรต่างๆบรรดามีในสมุดพิมพ์แบบธรรมยุต ครั้งรัชกาลที่ ๔ เราเล่าจำได้มาแต่ก่อนอุปสมบทแทบทั้งนั้น ไม่พักลำบากด้วยการนี้ ต้องเล่าเติมบางอย่างที่ไม่มีในนั้น เราเล่าที่วัดนี้ ปาติโมกข์ทั้งสอง และองค์นิสสยมุตตกะ เป็นต้น ที่สำหรับเป็นความรู้ไม่ได้ใช้เป็นสวดมนต์ ฯ

ศึกษาธรรมและวินัยหนักเข้า ออกจะเห็นเสด็จพระอุปัชฌายะทรงในทางโลกเกินไปเสียแล้ว นี้เป็นอาการของผู้แลเห็นแคบดิ่งไปในทางเดียว ต่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเองจึงเห็นว่ารู้ทางโลกก็เป็นสำคัญ อุดหนุนรู้ทางธรรมให้มั่นให้กว้าง พระศาสดาของเราก็ได้ความรู้ทางโลกเป็นกำลังช่วย จึงประกาศพระพุทธศาสนาด้วยดี ในเวลานี้ คนเช่นนั้นเขาคงเห็นเราทรงในทางโลกเกินไปเหมือนกัน ครั้งนั้น ใคร่จะไปอยู่ในสำนักเจ้าคุณจันทรโคจรคุณ ที่วัดมกุฎกษัตริย์ ซึ่งครั้งนั้นเรียกวัดพระนามบัญญัติ เพื่อสำเหนียกความปฏิบัติของท่าน พอออกพรรษาแล้ว พูดแก่ท่าน ทูลขออนุญาตของล้นเกล้าฯ ทูลลาเสด็จพระอุปัชฌายะ โปรดให้สมปรารถนา เป็นคราวแรกที่เจ้านายพวกเราไปอยู่วัดอื่นนอกจากวัดบวรนิเวศวิหารนี้และวัดราชประดิษฐ์ ได้ไปอยู่วัดมกุฎกษัตริย์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีนั้นเอง ฯ แต่แรกท่านให้อยู่คณะด้านตะวันออก ที่กุฎีตรงสระด้านเหนือเราสร้างเอง แต่บัดนี้ชำรุดและรื้อเสียแล้ว ภายหลังขออนุญาตอยู่ในคณะของท่านทางคณะตะวันตก ท่านให้อยู่ที่หอไตรหลังกุฎีใหญ่ของท่าน ฯ ท่านฝากเราให้เรียนมคธภาษาต่อเจ้าคุณพระพรหมมุนี (กิตติสาระ) ครั้งยังเป็นเปรียญ เรียนมังคลัตถทีปนี พอค่ำอาจารย์มาสอนที่กุฎี ฯ

เราไปอยู่วัดนั้นเป็นครั้งแรก ได้พบว่าความปฏิบัติวินัยของพวกพระธรรมยุตแผกกันโดยวิธี เช่นถือวิกัปอติเรกจีวรภายในสิบวันเหมือนกัน แต่ที่วัดนิเวศวิหารวิกัปหนเดียว ฝ่ายวัดมกุฎกษัตริย์เมื่อถอนแล้วต้องวิกัปใหม่ทุกสิบวัน เป็นอย่างนี้ ได้ความว่าในครั้งนั้นคณะธรรมยุตมีหัววัดเป็นเจ้าสำนักอยู่สอง วัดบวรนิเวศวิหารที่เป็นเจ้าคณะ ๑ วัดโสมนัสวิหาร ๑ สองสำนักนี้ปฏิบัติวินัยก็ดี แผกกันบ้างโดยวิธี แม้อัธยาศัยก็แผกกัน วัดอื่นที่ออกจากสองวันนั้นหรือเนื่องด้วยสองวัดนั้น ย่อมทำตามหัววัดของตน เหตุแผกกันของสองวัดนั้น เราควรจะถามเจ้าคุณพระกรรมวาจาจารย์ของเราได้ทีเดียว แต่พลาดมาเสียแล้ว ไม่ได้ถาม เข้าใจตามความสังเกตและพบเห็นว่า เมื่อครั้งทูลกระหม่อมยังทรงผนวช ครั้นเมืองเสด็จมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารแล้ว สมเด็จพระวันรัต (พุทธสิริ) ครองคณะวัดราชาธิวาสอยู่ข้างโน้น ทูลกระหม่อมทรงเปลี่ยนแปลง หรือตั้งแบบแผนอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นข้างนี้ สมเด็จพระวันรัตอยู่ข้างโน้น บางทีจะไม่รู้ คงทำตามแบบที่ใช้ครั้งเสด็จอยู่วัดราชาธิวาส ข้างเสด็จพระอุปัชฌายะเสด็จย้ายจากวัดมหาธาตุมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารกับทูลกระหม่อม ไม่ได้เคยเสด็จอยู่วัดราชาธิวาส คงทรงตามแบบที่ใช้ในวัดนี้สืบมา

การเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เคยมีประกาศให้รู้ทั่วกันหรือบังคับนัดหมายให้เป็นตามกัน จนถึงเราเป็นผู้ครองคณะ พึ่งจะมีขึ้นบ้างเมื่อมีหนังสือแถลงการณ์คณะสงฆ์ขึ้นแล้ว ครั้นทูลกระหม่อมทรงลาผนวชไปเสวยราชย์แล้ว เสด็จพระอุปัชฌายะเป็นเจ้าคณะ แต่ท่านไม่ได้เป็นบาเรียน และท่านทรงถ่อมพระองค์อยู่ด้วย ฝ่ายสมเด็จพระวันรัตเป็นผู้ใหญ่แก่พรรษากว่าท่าน ต่อมาเป็นสังฆเถระในคณะด้วย เป็นบาเรียนเอกมีความรู้พระคัมภีร์เชี่ยวชาญ ทั้งเอาใจใส่ในการปฏิบัติจริงๆ ด้วย แต่ไม่สันทัดในทางคดีโลกเลย ข้างเสด็จพระอุปัชาฌายะโปรดถือตามแบบเดิม ข้างสมเด็จพระวันรัตชอบเปลี่ยนแปลงอัธยาศัยเป็นธรรมยุตแท้ สององค์นั้นไม่ได้หารือและตกลงกันก่อน เมื่อฝ่ายหนึ่งจะแก้ไขธรรมเนียมเดิม ใครจะแก้ไปอย่างไรก็ได้ มุ่งในที่แคบคือเฉพาะวัดที่ปกครอง ไม่คิดว่าจะทำความเพี้ยนกันในทางนิกายเดียวกัน เหตุอันหนุนให้แก้นั้น คือมุ่งจะทำการที่เห็นว่าถูก ไม่ถือความปรองดองเป็นสำคัญ

ในเวลานั้นวัดบวรนิเวศวิหารกำลังโทรม มีพระหลักแหลมในวัดน้อยลง ถูกจ่ายออกไปครองวัดต่าง ก็หาเป็นกำลังของวัดเดิมไม่ กลับเป็นเครื่องทอนกำลังวัดเดิม พระอริยมุนี (เอม) ได้ออกไปวัดเทพศิรินทร์ เมื่อก่อนหน้าเราอุปสมบทปีหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมาจนตลอดเวลาของสมเด็จพระอุปัชฌายะ ไม่มีพระออกวัดอีกเลย ในวัดเพียงเทศนาอ่านหนังสือได้เป็นจังหวะถูกต้อง สวดปาติโมกข์ได้ก็เป็นดี ฝ่ายวัดโสมนัสกำลังเจริญ มีพระบาเรียนเป็นนักเทศน์และบอกปริยัติธรรมได้หลายรูป ทั้งเป็นผู้มั่นคงในพระศาสนา จ่ายออกไปวัดต่างไป ย่อมเป็นกำลังของวัดเดิม ช่วยแผ่ลัทธิให้กว้างขวาง สมเด็จพระวันรัตไม่มีอำนาจในทางคณะเลย แต่มีกำลังอาจแผ่ลัทธิกว้างขวางออกไป เพราะมีผู้นับถือนิยมตาม ความปฏิบัติเพี้ยนกันมีขึ้นด้วยประการฉะนี้

เจ้าคุณอาจารย์ของเรา ได้เคยเป็นพระปลัดของสมเด็จพระวันรัต อยู่วัดราชาธิวาสแล้วย้ายมาอยู่วัดโสมนัสวิหารพร้อมกับท่าน ต่อมาทูลกระหม่อมทรงตั้งเป็นพระราชาคณะ โปรดให้มาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร ภายหลังโปรดให้ไปอยู่ครองวัดมกุฎกษัตริย์ ท่านเคยพบความเพี้ยนกันมาแล้ว ท่านจึงเลือกใช้ตามความชอบใจ ความปฏิบัติธรรมและวินัย ตลอดจนอัธยาศัย เป็นไปตามคติวัดโสมนัสวิหาร แบบธรรมเนียมเป็นไปตามคติวัดบวรนิเวศวิหาร ปนกันอยู่ ฯ ความแผกผันนี้เป็นเหตุพระต่างวัดไปมาไม่ถึงกัน พระต่างเมืองไปมาพักอาศัยอยู่ต่างวัดกระดากเพื่อเข้านมัสการพระด้วยกัน คราวหนึ่งเมื่อรับสมณศักดิ์แล้ว เราไปพักอยู่วัดสัตตนาถปริวัตรเมืองราชบุรี เข้านมัสการพระกับพวกพระวัดนั้น ปรารถนาจะดูธรรมเนียม จึงให้พระสมุทรมุนี (หน่าย) เจ้าอาวาสนำนมัสการพระและชักสวดมนต์ ธรรมเนียมแปลกมากเล่าไม่ถูก วัดนั้นออกจากวัดโสมนัสวิหาร บางทีธรรมเนียมวัดโสมนัสวิหารจักเป็นเช่นนั้นกระมัง ฯ

นอกจากนี้ ยังได้พบความเป็นไปของวัดที่ขึ้นวัดอื่นว่าเป็นเช่นไร พระผู้ใหญ่วัดตั้งแต่เจ้าอาวาสลงมา ต้องไปมาหาสู้วัดเจ้าคณะและวัดใหญ่ ได้ความคุ้นเคยกับต่างวัด ได้คติของต่างวัด แต่เป็นวัดไม่มีเจ้านายเสด็จอยู่ พระในพื้นวัดย่อมเซอะอยู่เองแต่ว่าง่าย หัวไม่สูง ฯ

ตั้งแต่ครั้งทูลกระหม่อมยังทรงผนวช พวกพระธรรมยุตนับถือสีมาน้ำว่า บริสุทธิ์ เป็นที่สิ้นสงสัย ไม่วางใจในวิสุงคามสีมาอันไม่ได้มาในบาลี เป็นแต่พระอรรถกถาจารย์แนะไว้ในอรรถกถาอนุโลมคามสีมา ครั้งยังไม่มีวัดอยู่ตามลำพังจึงใช้สีมาน้ำเป็นที่อุปสมบท ต่อมาพระรูปใดจะอยู่เป็นหลักฐานในพระศาสนา ท่านผู้ใหญ่จึงพาพระรูปนั้น ไปอุปสมบทซ้ำอีกในสีมาน้ำ เรียกว่าทำทัฬหิกรรม ฯ สำนักวัดบวรนิเวศวิหาร หยุดมานานแล้ว พระเถระในสำนักนี้ไม่ได้ทำทัฬหิกรรมโดยมาก สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทวะ) ครั้งจะสวดกรรมวาจาอุปสมบทเมื่อล้นเกล้าฯทรงผนวชพระ เสด็จพระอุปัชฌายะตรัสเล่าว่า พระเถระทั้งหลายผู้เข้าในการทรงผนวชล้วนเป็นผู้ได้ทำทัฬหิกรรมแล้ว ยังแต่ท่านองค์เดียว ทั้งจักเป็นผู้สำคัญในการนั้น จึงต้องทำ คงจะไม่ทรงนึกถึงหม่อมเจ้าพระธรรมุณหิสธาดาผู้ไม่ได้ทำอีกองค์หนึ่ง ฯ ฝ่ายสำนักวัดโสมนัสวิหารยังทำกันเรื่องมา ไม่เฉพาะรูปจะยั่งยืนในหลักพระศาสนา พระนวกะสามัญก็ทำเหมือนกัน ฯ

คราวนี้เกิดปันกันขึ้นเองในหมู่พระ เป็นพระน้ำก็มี เป็นพระบกก็มี คราวนี้พวกอุบาสิกาสำนักนั้น ก็พูกระพือเชิดชูพระน้ำ หมิ่นพระบก จนเกิดความขึ้นคราวหนึ่ง ก่อนหน้าเราบวช ล้นเกล้าฯ ทรงออกรับในฝ่ายพระบก ตั้งนั้นมา เสียงว่าพระน้ำพระบกก็สงบมา ถึงยังทำกันก็ปิดเงียบ ไม่ทำจนเฝือเหมือนอย่างก่อน ฯ ครั้งเราบวช ความนับถือพระบวชในสีมาน้ำยังไม่วาย เราเห็นว่าเราจักเป็นผู้ยั่งยืนในพระศาสนาต่อไป พระเช่นเราจักต้องเป็นหลักในพระศาสนาด้วยเหมือนกัน เมื่อพระในนิกายเดียวกัน มีวิธีปฏิบัติแผกกันตามสำนัก เราควรเป็นผู้เข้าได้ทุกฝ่าย อันจะให้เข้าได้ ต้องไม่เป็นที่รังเกียจในการอุปสมบทเป็นมูล ทั้งเราก็อุปสมบทเร็วไปกว่าปกติ เมื่อทำทัฬหิกรรมอุปสมบทซ้ำอีกในสีมาน้ำ จักสามารถทำประโยชน์ให้สำเร็จได้ดี

เราจึงเรียนความปรารถนานี้แก่เจ้าคุณอาจารย์ ขอท่านเป็นธุระจัดการให้ ท่านเห็นด้วย และรับจะเอาเป็นธุระ สั่งให้เรามากราบทูลเชิญเสด็จฯ พระอุปัชฌายะ ท่านตรัสว่าจะเสด็จก็เกรงจะเป็นการอื้ออึง ตรัสสั่งให้เอาพระนามไปสวด ทรงเทียบว่าไม่มีอุปัชฌายะ ยังอุปสมบทขึ้น แต่เจ้าคุณอาจารย์ เจ้าคุณพรหมมุนี กับเรา ปรึกษากันเห็นร่วมกันว่า มีความข้อหนึ่งในกัมมากัมมวินิจฉัยว่า “กรรมอันจะพึงทำในที่ต่อหน้า ทำเสียในที่ลับหลัง เป็นวัตถุวิบัติ หาเป็นกรรมที่ได้ทำโดยธรรมไม่” ถ้าอุปสัมปทากรรมจะต้องทำต้องหน้าอุปัชฌายะ เมื่ออุปัชฌายะไม่อยู่ในที่ประชุมสงฆ์ เป็นแต่เอาชื่อมาสวดก็จักเป็นกรรมวิบัติ ข้อที่ว่าไม่มีอุปัชฌายะก็อุปสมบทขึ้นนั้น อยู่ข้างหมิ่นเหม่จะฟังเอาเป็นประมาณมิได้ จึงตกลงกันว่า เราจักถือเจ้าคุณอาจารย์เป็นอุปัชฌายะใหม่ในเวลาทำทัฬหิกรรม เจ้าคุณพรหมมุนีฟันหักสวดจะเป็นรังเกียจ เจ้าคุณอาจารย์ท่านเลือกเอาเจ้าคุณธรรมไตรโลก (ฐานจาระ) วัดเทพศิรินทร์ ครั้งยั้งเป็นบาเรียนอยู่วัดโสมนัสวิหาร เป็นผู้สวดกรรมวาจา ท่านรับจัดการให้เสร็จ

พาตัวไปทำทัฬหิกรรมที่แพโบสถ์ อันจอดอยู่ที่ริมน้ำตรงฝั่งวัดราชาธิวาสออกไป เมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ แรม ๗ ค่ำ ปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๒๔๑ ตรงกับวันที่ ๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๒๒ แรกขอนิสัยถืออุปัชฌายะใหม่ แล้วทำวิธีอุปสมบททุกประการ สวดทั้งกรรมวาจามคธและกรรมวาจารามัญ จบกรรมวาจาแรกเวลา ๕ ทุ่ม .........ลิบดา เสร็จทำทัฬหิกรรมแล้วเจ้าคุณท่านสั่งให้ถือนิสัยอาจารย์ไปตามเดิม เราจึงเรียกเจ้าคุณอาจารย์ตลอดมา ฯ

ในเวลาจำพรรษาที่ ๒ เราขออนุญาตเจ้าคุณอาจารย์เข้าไปอยู่อุปัฏฐากท่านในกุฎีเดียวกัน ด้วยปรารถนาจะได้คุ้นเคยสนิทและจะได้เห็นความปฏิบัติของท่านในเวลาอยู่ตามลำพังด้วย ฯ ท่านไม่ได้เป็นเจ้า และเป็นเพียงพระราชาคณะสามัญ เราเป็นเจ้าชั้นลูกหลวง ห่างกันมาก แม้เป็นศิษย์ก็ยากที่จะเข้าสนิท จึงปรารถนาจะหาช่องผูกความคุ้นเคย เข้ายากแต่ในชั้นแรก พอข้าสนิทได้แล้วเป็นกันเองดี เรากลับเข้าได้สนิทกว้าเสด็จพระอุปัชฌายะผู้เป็นเจ้าด้วยกัน และเป็นชั้นเดียวกับอาด้วย ปกติของเสด็จพระอุปัชฌายะ แม่เข้าได้สนิทแล้ว แต่ไม่ได้เฝ้านานวัน กลับห่างออกไปอีก ต้องคอยเข้าอยู่เสมอ ยากที่จะรักษาความสนิทให้ยืนที่ แม้สัทธิวิหาริกผู้มิใช่เจ้า ที่ท่านเคยทรงใช้สอยมาสนิท มีฐานันดรเป็นพระราชาคณะขึ้น ห่างออกไปได้ ด้วยท่านทรงเลิกใช้เสีย พระนั้นเลยเข้ารอยไม่ถูก ฝ่ายเจ้าคุณอาจารย์เข้าสนิทได้คราวหนึ่งแล้ว แม้อยู่ห่างจากกัน คงสนิทอยู่ตามเดิม เมื่อเรากลับมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารและเป็นต่างกรมมีสมณศักดิ์ในพระแล้ว ท่านก็ยังคุ้นเคยสนิทสนมด้วยตามเดิม ฯ

ตั้งแต่เรามาอยู่กับท่านยังเห็นจรรยาของท่านน่าเลื่อมใสอยู่เสมอ เมื่อเข้าไปอยู่ใกล้ชิดเห็นว่าเป็นปกติของท่านอย่างนั้นจริง ยิ่งเลื่อมใสขึ้น ปกติของท่าน รักษาไตรทวารให้บริสุทธิ์ปราศจากโทษ นี้เป็นลักษณะสมณะแท้ คุณสมบัติของท่านที่ควรระบุ เราไปอยู่ในสำนักของท่าน ๒ ปี ๒ เดือน อยู่อุปัฏฐากเกือบปีเต็ม ในระหว่างนี้ไม่ปรากฏว่าได้แสดงความโกรธแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้มีใจเย็นไม่เคยได้ยินคำพูดของท่านอันเป็นสัมผัปลาป การณ์ที่ไม่รู้ไม่เข้าใจไม่พูดถึงเสียเลย จึงไม่แสดงความเข้าใจเขวให้ปรากฏเลย ความถือเขาถือเราของท่านไม่ปรากฏเลย เป็นผู้มีสติมาก สมตามคำสอนของท่านว่า จะทำอะไรหรือพูดอะไรจงยั้งนึกก่อน ข้อที่แปลกผู้ใหญ่อื่นโดยมาก ไม่ดูหมิ่นคนเกิดที่หลังว่าเด็กและตื้น แม้ผู้เป็นเด็กพูดฟังโดยฐานะเป็นผู้มีเมตตาอารี หาใช่ผู้มีใจคับแคบตามวิสัยของพระผู้ตั้งตัวเป็นผู้เคร่งไม่ เช่นเราเข้าไปขออยู่ในสำนัก ท่านมีอัธยาศัยเผื่อแผ่พอที่จะรับไว้และอนุเคราะห์ให้ได้รับประโยชน์จริงๆ ฯ

อุบายดำเนินการของท่าน ปกครองบริษัทด้วยผูกใจให้รักและนับถือ แม้เราเป็นเจ้านายก็ปกครองอยู่ ตลอดถึงในน้ำใจสอนคนด้วย ทำตัวอย่างให้เห็นมากกว่าจะพูด เมื่อพูดสั่งสอนอย่างใด เห็นว่าท่านปฏิบัติมาอย่างนั้นด้วย เมื่ออธิกรณ์เกิดขึ้นควรจะนิคหะ ก็รีบทำแต่ชี้โทษให้ผู้ผิดเห็นเอง ทำอย่างที่เรียกว่าบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น รักษาความสม่ำเสมอในบริษัท จะแจกของแจกทั่วกัน เช่นหน้าเข้าพรรษา ท่านแจกเครื่องนมัสการ เพื่อพระสามัญผู้ไม่ได้รับของจากใครเลย จะได้ใช้ทำวัตร เรามีผู้ถวายแล้ว ท่านก็แจกมาถึงด้วยเหมือนกัน ชอบผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่แสดงให้ปรากฏ มีศิษย์เป็นเจ้านายเฉพาะบางพระองค์ ที่มาอยู่ด้วยมีแต่เรา ไม่มีเฝือดุจเสด็จพระอุปัชฌายะ น่าจะตื่น อีกอย่างหนึ่งท่านเป็นอันเตวาสิกของทูลกระหม่อม ได้พระเจ้าลูกเธอของท่านเรียกตามโวหารสามัญว่า ลูกครู มาไว้เป็นศิษย์น่าจะยินดีเท่าไร แต่ท่าระวังจริงๆ เพื่อไม่ให้ความพอใจรั่วไหลออกภายนอก แต่ก็ไม่ฟังอยู่ดี ท่านประพฤติแก่เราโดยฐานมีเมตตาอารีเอื้อเฟื้อระวังไม่ตีสนิทกับเราเกินพอดี ที่จะพึงเห็นว่าประจบหรือเอาใจเราเกินไป ฯ

ข้อบกพร่องของท่านตามที่เรานึกเห็น เป็นผู้พูดน้อยเกินไป ที่เรียกว่าพูดไม่เป็น ทูลกระหม่อมทรงตำหนิว่าพระไม่พูด แต่อันที่จริงคุ้มกันแล้ว ท่านพูดพูดไม่ถนัดเฉพาะท่านผู้ที่จะพึงเคารพยำเกรง และคนแปลกหน้า อีกอย่างหนึ่งเรานึกติท่านในครั้งนั้นว่า เก็บพัสดุปริกขารไว้มากเป็นตระหนี่ เพราะเวลานั้นเรายังไม่มีศิษย์บริวารจะพึงสงเคราะห์ นอกจากตาดีอุปัฏฐากแทนตาจุ้ยผู้ตายไปเสีย และยังมียายเป็นผู้บำรุงอยู่ จึงเห็นว่าพระไม่ควรมีอะไรมากนัก ต่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้นด้วยตัวเอง จึงรู้ว่าพระผู้ใหญ่ผู้ครองวัดและหาผู้บำรุงมั่นคั่งเป็นหลักฐานมิได้เช่นเจ้าคุณอาจารย์ จำต้องมีพัสดุปริกขารไว้ใช้การวัดและเจือจานแก่บริษัทผู้ขัดสน ยิ่งวัดมกุฎกษัตริย์ที่ตั้งใหม่ ไม่มีของใช้บริบูรณ์เหมือนวัดบวรนิเวศวิหาร เสด็จพระอุปัชฌายะเคยตรัสต่อว่าทางเราว่า แต่ก่อนจะรับกฐินเคยขอยืมเครื่องบูชาที่วัดบวรนิเวศวิหารไปตั้ง อย่างไรเดี๋ยวนั้นหายไป เจ้าคุณอาจารย์ท่านแก้ว่า พอมีขึ้นบ้างแล้ว จึงไม่ได้ไปทูลรบกวน และการสงเคราะห์บริษัทเล่า ทางดีที่ควรทำ รูปใดต้องการสิ่งใดจึงให้ แต่เป็นผู้ใหญ่ย่อมห่างจากผู้น้อย ภิกษุสามเณรมักกระดาก เพื่อจะเข้ามาขอของที่ต้องการ ได้แก่ตัวเราเองเมื่อภายหลัง ข้อนี้เราขอขมาท่านในที่นี้

เวลาอยู่อุปัฏฐากเจ้าคุณอาจารย์ในพรรษานั้น เราหยุดเรียนหนังสือ แต่ได้ศึกษาวินัยกับท่านตลอดถึงสังฆกรรม และหัดสวดกรรมวาจาอุปสมบททั้งทำนองมคธ ทั้งทำนองรามัญ แม้ท่านไม่ได้เรียนบาเรียน แต่ได้เคยเรียนบาลี อ่านเข้าใจ ได้ยินว่าพระราชาคณะยกในฝ่ายธรรมยุติกนิกายในครั้งนั้น รู้บาลีแทบทั้งนั้น เว้นเฉพาะบางรูป ฐานันดรว่า พระราชาคณะยก นั้น น่าจะเพ่งเอาท่านผู้รู้บาลี แต่ไม่ได้สอบได้ประโยคเป็นบาเรียน ทรงยกย่องเป็นบาเรียนยก ฯ เราเห็นท่านแม่นยำในทางวินัยมาก สังฆกรรมที่ไม่ชินอย่างอุปสมบท เมื่อถามขึ้นโดยไม่รู้ตัว ท่านอธิบายได้ แต่การปฏิบัติวินัยยังเป็นไปตามอักษร และมักจะเกรงผิด ถูกตามแบบที่นิยมไว้ว่า “เป็นผู้มีปกติ ละอายใจ มักรำคาญ ใคร่ศึกษา” แต่ไม่ยกตนข่มผู้อื่นเพราะเหตุนี้ เหมือนอย่างพระผู้ตั้งตนว่าเคร่ง ฯ ในการสวดกรรมวาจาอุปสมบท ท่านได้ชื่ออยู่ในเวลานั้น ทั้งเป็นที่นับถือในทางปฏิบัติด้วย ครั้งสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทวะ) ทำทัฬหิกรรม ท่านก็สวด หัดผู้อื่นไม่สันทัดในอันแนะ แต่ยันหลักมั่น ยังไม่ถูก ไม่ผ่อนตาม ฯ

ธรรมสนใจในบางประกากร เฉพาะที่ถูกอารมณ์ และรู้จักอรรถรส ไม่พูดพร่ำเพรื่อ ถึงคราวจะเทศนา ใช้อ่านหนังสือ ท่านพอใดอย่างนั้นมากกว่าพุ้ยเทศน์ปากเปล่าเหลิงเจิ้ง ที่ในปกรณ์เรียกผู้เทศน์อย่างนั้นว่า ธรรมกถึกย่านไทร สอนผู้บวชใช้ปากเปล่า แต่มีแบบพอสมควรแก่สมัยฟังได้ ฯ ท่านไม่ได้บาเรียนก็จริง ถึงอย่างนั้นท่านที่เป็นบาเรียนมีชื่อเสียงตลอดมาทุกยุค ถึงเราเองในบัดนี้ นับถือท่านแทบทั้งนั้น เราไม่เคยเสียใจว่ามีอาจารย์วาสนาต่ำเลย ยังเป็นที่พอใจของเราอยู่จนทุกวันนี้ ฯ

เดิมนึกว่าจะอยู่อุปัฏฐากเพียงพรรษาหนึ่ง ออกพรรษาแล้วจักลาออกเรียนหนังสือต่อไป แต่ยังเลื่อมใสอยู่ จึงทำค่อมาอีกบรรจบเป็น ๑๑ เดือน แต่เรียนหนังสือไปด้วย จนถึงเวลาเรียนปฐมสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย อันเป็นหลักสูตรแห่งประโยค ๗ ที่ต้องดูหนังสืออื่นแก้อีกสองสามคัมภีร์ ต้องใช้เวลามาก และประจวบคราวเสด็จพระอุปัชฌายะประชวรไข้พิษมีพระอาการมาก เราลาท่านกลับมาอยู่พยาบาลที่วัดบวรนิเวศวิหาร กว่าจะหายประชวร เมื่อกลับไปจึงเลยออกจากหน้าที่อุปัฏฐากด้วยทีเดียว ตั้งหน้าเรียนหนังสือต่อไป ฯ

เดิมเราตั้งใจเรียนพออ่านบาลีอรรถกถาฎีกาเข้าใจความ อย่างเสด็จพระอุปัชฌายะและเจ้าคุณอาจารย์เท่านั้น ไม่ปรารถนาเป็นบาเรียน ครั้นทราบจากเจ้าคุณพรหมมุนีว่าล้นเกล้าฯ ตรัสถามถึงว่าจะแปลได้หรือมิได้ และเจ้าคุณพรหมมุนีถวายพระพรทูลรับเข้าไว้ด้วย เกรงว่าจะถูกจับแปล การแปลมีวิธีอย่างหนึ่ง นอกจากความเข้าใจ เราไม่ได้เตรียมตัวไว้ ถูกจับแปลเข้าจักอายเขา เป็นเจ้า พอไปได้ก็เชื่อว่าไม่ตก ยกเสียแต่ไม่มีพื้นมาเลย เช่นพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์เมื่อครั้งบวชเป็นสามเณร แต่ เขาคงว่าได้อย่างเจ้า พวกเจ้าผู้แปลหนังสือเป็นบาเรียนได้รับความชม ได้ยินเพียงทูลกระหม่อมของเรา กับหม่อมเจ้าเนตรในพระองค์เจ้าเสือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอชั้น ๒ ผู้อยู่วัดบวรนิเวศวิหารนี้ นอกจากนี้ถูกติก็มี เงียบอยู่ก็มี คราวนี้ต้องเตรียมตัวเพื่อเข้าแปลหนังสือด้วย ฯ

เมื่อตกลงใจอย่างนี้แล้ว พลอยเห็นอำนาจประโยชน์ไปด้วยว่า อาจารย์ผู้บอกหนังสือ ไม่ได้รับตอบแทนอันคุ้มกัน เมื่อเราแปลได้ประโยคเป็นบาเรียน จักได้ชื่อได้หน้า จักได้เห็นผลแห่งการงานของท่าน ฯ เรากล่าวถึงพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์แปลหนังสือตกไว้ในที่นี้ หากท่านยังอยู่ท่านคงไม่โกรธ บางทีกลับจักเห็นเป็นชื่อเสียอีก มีผู้รู้กันขึ้นว่า ท่านก็เป็นนักเรียนบาลีเหมือนกัน ดีกว่าไม่ได้เป็นทีเดียว ฯ

เมื่อเราได้สองพรรษาล่วงไปแล้ว จักเข้าสามพรรษา เจ้าคุณอาจารย์ให้สวดกรรมวาจาอุปสมบท ครั้งนั้นที่วัดไม่มีผู้สวด เจ้าคุณพรหมมุนีฟันหลุดสวดไม่สวด พระจันโทปมคุณ (หัตถิปาละ) ครั้งยังเป็นพระปลัด ไม่รู้มคธภาษาและไม่สันทัดว่าอักขระ สวดไม่ได้ ต้องนิมนต์ผู้สวดจากวัดอื่น และผู้สวดกรรมวาจานั้น ในพระบาลีไม่ได้ยกย่องเป็นครูบาของผู้อุปสมบท ยกย่องเพียงอุปัชฌายะและอาจารย์ผู้ให้นิสัย พึ่งยกย่องในอรรถกถา พระธรรมยุตจึงไม่ถือเป็นสำคัญนัก ทูลกระหม่อมและเสด็จพระอุปัชฌายะท่านก็ได้สวดมาพรรษายังน้อย เจ้าคุณท่านให้เราสวดอนุวัตรตามอย่างนั้น ฯ

เราเองพอใจในทางหนึ่งว่า ได้เปิดคราวแรกต่อหน้าอาจารย์ของเราเอง และได้ยกชื่ออาจารย์ของเราเองขึ้นสวดเป็นครั้งแรก ถือว่าเป็นมงคลแก่กรณียะนี้อันจะพึงกระทำต่อไปข้างหน้า แต่เสียดายว่าภิกษุรูปแรกที่เราสวดกรรมวาจาอุปสมบทให้นั้น แม้เลือกเอาคนบวชต่อแก่แล้ว ก็หายั่งยืนอยู่หรือตายในพรหมจรรย์ไม่ ฯ

เราอยู่วัดมกุฎกษัตริย์ ได้รับเมตตาและอุปการะของเราคุณอาจารย์อันจับใจ ท่านได้ทำกรณียะของอาจารย์แก่เรา ฝากเราให้เรียนหนังสือในสำนักเจ้าคุณพรหมมุนี จัดการทำทัฬหิกรรมอุปสมบทให้แก่เรา ยังเราให้ได้รับฝึกหัดในกิจพระศาสนาเป็นอันดี ยกย่องให้ปรากฏในหมู่ลูกศิษย์ ตลอดถึงเป็นทางเข้ากับสำนักวัดโสมนัสได้ ให้กำลังเราในภายหน้ามากเพราะข้อนี้ แสดงความวิสาสะฉันอาจารย์กับศิษย์ เปิดช่องให้เราเข้าสนิท ไม่กระเจิ่น นับว่าได้เจริญในสำนักอาจารย์เอาใส่ใจเอื้อเฟื้อในเราเป็นอย่างยิ่ง สุขทุกข์ของเราเป็นดุจสุขทุกข์ของท่าน และอยู่ข้างเกรงใจเรามาก แผนยาย เมื่อเรายังไม่ได้อุปสมบท เรามีหน้าที่เป็นผู้รับอาบัติของท่าน และได้รับในหนที่สุดเมื่อจวนจะถึงในมรณภาพ เราถือว่าเป็นเกียรติของเรา ฯ

ฝ่ายเจ้าคุณพรหมมุนีเล่า ได้ตั้งใจจะบอกปริยัติธรรมแก่เราโดยเอื้อเฟื้อ ประโยคที่เราจะเรียนในวันๆ ท่านอ่านและตริตรองมาก่อน เป็นผู้มีความรู้ในทางแปลหนังสือแตกฉาน เราได้รับแนะนำในการแปลหนังสืออย่างละเอียดลออ ได้ความรู้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมากในครั้งนั้น ท่านยังเป็นบาเรียน ยังหาได้เข้าประชุมในการสอบความรู้ไม่ จึงไม่แน่ใจในวิธีแปลที่ใช้ในสนามหลวงนัก จึงต้องสนใจหาความเข้าใจไว้หลายทาง ถ้าจะมีทางแปล กลับได้ความคิดแตกฉานขึ้นอีก ฯ

ในพรรษที่ ๓ นั้น พ.ศ. ๒๔๒๔ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน เราเข้าไปฉันที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในการเฉลิมพระชนมพรรษา พอสรงมุรธาภิเษกแล้ว ล้นเกล้าฯ เสด็จมาตรัสแก่เสด็จพระอุปัชฌายะว่า เมื่อก่อนหน้าเราบวช ได้ทรงปฏิญญาไว้ว่า บวชได้สามพรรษาแล้ว จักทรงตั้งเป็นต่างกรม บัดนี้เราบวชเข้าพรรษาที่สามแล้ว ทั้งจะต้องออกงานในการฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ขวบปี ทรงกะไว้จะให้ถวายเทศนากระจาดใหญ่ กัณฑ์ที่ทรงพระราชอุทิศถวายทูลกระหม่อม ทรงขอตั้งเราเป็นพระราชาคณะและเป็นต่างกรมในปีนั้น เสด็จพระอุปัชฌายะทรงพระอนุมัติฯจรองอยู่ ล้นเกล้าฯได้ตรัสไว้แก่เราอย่างนั้น แต่เราหาได้ถือเป็นพระปฏิญญาไม่ และยังไม่นึกถึงการเป็นต่างกรมเลย เพราะยังเห็นว่าเป็นยศที่ยังอยู่สูงกว่าตัวลิบลับ ด้วยในครั้งนั้น พระเจ้าน้องยาเธอที่ทรงกรมไปก่อนแล้ว มีแต่ชั้นใหญ่ ๔ พระองค์ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พึ่งทรงกรมเมื่อต้นศกนั้น ชั้นกลางมีแต่กรมพระเทวะวงศ์วโรปการพระอ