สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส : พระประวัติตรัสเล่า (๓)
โพสโดย webmaster เมื่อ September 18 2009 18:28:08



พระประวัติตรัสเล่า
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(เริ่มทรงพระนิพนธ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘)

๔. คราวเป็นพระดรุณ

พอสึกจากเณร เจ้าพี่ใหญ่ประทานเงิน ๔๐๐ บาทแก่เรา เพื่อจะได้ซื้อเครื่องแต่งตัว เครื่องใช้และเครื่องแต่งเรือน เป็นของไม่เคยรับอยู่ข้างตื่นเต้นมาก ฯ ครั้งยังเด็กได้รับพระราชทานเงินแจกตามคราวนั้นๆ เช่นคราวจันทรคราสได้ ๔ บาท ผู้ใหญ่เก็บเสีย ปล่อยให้จ่ายซื้ออะไรๆ ได้ตามลำพังแต่เงินสลึงที่ได้รับพระราชทานในคราวทำบุญพระบรมอัฐิ คราวนี้ถึง ๔๐๐ บาท ยายก็ปล่อยไม่เก็บเอาไปเสีย จ่ายอะไรต่างๆ เพลิดเพลิน ฯ เรานึกว่าเราเป็นหนุ่มขึ้น ควรแท้จริงจะจ่ายเอง แต่โดยที่แท้ในการจับจ่ายก็ยังเด็กอยู่นั่นเอง ไม่รู้จักของจำเป็นหรือไม่ เมื่อจะซื้อไม่รู้จักราคาพอดี ไม่รู้จักสิ้นยัง เอาความอยากได้เป็นเกณฑ์ เงิน ๔๐๐ บาทนี้เป็นปัจจัยยังเราให้สุรุ่ยสุร่ายต่อไปข้างหน้าอีก ฯ

ครั้งยังอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ล้นเกล้าฯ โปรดให้พวกเราหัดขี่ม้าบ้าง บางคราวออกมาอยู่ข้างนอก ใช้ม้าเป็นพาหนะไปไหนๆ เป็นต้นว่าเข้าวัง ไม่ช้าเท่าไรเราก็ขี่ชำนาญ พอขึ้นหลังม้าเป็นวิ่งหรือห้อเที่ยวเสียสนุก รู้สึกเป็นอิสระด้วยตัวเองเหมือนพระเป็นนิสัยมุตตกะ ถนนบางรัก ถนนสีลม เป็นแดนเที่ยวของเราเพราะเป็นทางไกลที่หาได้ในครั้งนั้น จะได้ห้อม้า ทั้งเป็นทางไปห้างเพื่อซื้อของด้วย ฯ ต่อมาเกิดใช้รถกันขึ้น เป็นรถโถงสองล้อชนิดที่เรียกว่าดอกก๊ากบ้าง เป็นรถประทุนสองล้อก็มี สี่ล้อก็มี ผู้นั่งขับเอง ใช้รถมีสารถีขับเฉพาะเวลาออกงาน เราก็พลอยใช้รถกับเขาด้วย ขับเองเหมือนกัน สนุกสู้ขี่ม้าไม่ได้ ฯ

เราตกม้าตั้ง ๙ ครั้งหรือ ๑๐ ครั้ง ไม่เคยมีบาดเจ็บหรือฟอกช้ำสักคราวหนึ่ง ม้าดำที่เราขี่มันเชื่อง พอเราตก มันก็หยุดรอเรา ฯ พูดถึงม้าดำตัวนี้ เราอดสงสารมันไม่ได้ คนเลี้ยงดุร้าย คราวหนึ่งเอาบังเหียนฟาดมันถูกตาข้างหนึ่งเสีย ฯ เราตกรถครั้งเดียว มีบาดเจ็บเดินไม่ได้หลายวัน เกือบพาเสด็จกรมพระเทวะวงศ์วโรปการเสด็จมาด้วยกันตกด้วย ฯ เที่ยวนี้เราใช้ม้าแซมเทียม ม้าตัวนี้ขนาดสูงลั่ง แต่พยศใช้ขี่ไม่ได้จึงใช้เทียมรถ ตั้งแต่มันพาเราตกรถแล้ว อย่างไรไม่รู้ พอหายเจ็บใช้มันอีก เห็นมันกลายเป็นสัตว์เชื่องไป ถายหลังใช้ขี่ได้ ใช้มันมาจนถึงเวลาเราบวชพระ ฯ

ตั้งแต่เกิดธรรมเนียมเลี้ยงโต๊ะอย่างฝรั่ง ธรรมเนียมดื่มมัชชะก็พลอยเกิดตามขึ้นด้วย แต่ในครั้งนั้นใช้มัชชะเพียงชนิเป็นเมรัย ยังไม่ถึงชนิดสุรา ฯ เราตื่นธรรมเนียมฝรั่งปรารถนาจะได้ชื่อในทางดื่มมัชชะทน พยายามหัดเท่าไรไม่สำเร็จ รสชาติก็ไม่อร่อย ดื่มเข้าไปมากก็เมาไม่สบาย เพราะเหตุเช่นนี้เราจึงรอดจากติดมัชชะมาได้ ฯ คนติดมัชชะไม่เป็นอิสระกับตัว ไม่มีกินเดือดร้อนไม่น้อย เมาแล้วปราศจากสติคุมใจ ทำอะไรมักเกินพอดี ที่สุดหน้าตาและกิริยาก็ผิดปรกติ กินเล็กน้อยหรือบางครั้ง ท่านไม่ว่าก็จริง แต่ถ้าเมาแล้วทำเกินพอดี ท่านไม่อภัย ถ้าติดจนอาการปรากฎ ท่านไม่เลี้ยง ศิษย์ของเราผู้แก่วัดสึกออกไป ยังไม่รู้รสจงประหยัดให้มาก เพราะยากที่จะกำหนดความพอดี ฯ

ธรรมเนียมปล่อยให้เล่นการพนัน ในเทศกาลตรุษสงกรานต์ ทำให้เราเคยมากับการพนัน โตขึ้นก็ทวีตามส่วยแห่งทุนที่ใช้เล่น เราเคยเล่นมากอยู่ก็ไพ่ต่างชนิด น่าประหลาดความเพลิน เล่นหามรุ่งหามค่ำก็ได้ ไม่เป็นอันกินอันนอน ถ้าเพลินในกิจการหรือในกุศลกรรมเหมือนเช่นนี้ก็จะดี อารมณ์ก็จอดอยู่ที่การเล่น อาจเรียกดว่ามิจฉาสมาธิเกือบได้กระมัง ฯ อะไรเป็นเดหตุเพลินถึงอย่างนั้น? ความได้ความเสียนี้เอง ฯ เล่นเสมอตัวคือไม่ได้ไม่เสีย แทบกล่าวได้ว่าไม่มีเลย เล่นได้ ก็มุ่งอยากให้ได้มากขึ้นไป เล่นเสียยังน้อย ต้องการแก้ตัวเอากำไร เสียมาเข้าเห็นกำไรไม่ได้แล้ว ต้องการเอาทุนคิน เช่นนี้แลถึงเพลินอยู่ได้ ฯ เล่นอย่างเราเสียทรัพย์ไม่ถึงฉิบหาย แต่เสียเวลาอันหาค่าไม่ได้ของคนหนุ่ม ฯ โปหรือหวยไม่เคยเล่น เพราะเป็นการเล่นของคนชั้นเลว ฯ ศิษย์ของเราผู้แก่วัด สึกออกไป ยังไม่เคยเล่น อย่าริเล่นเลย ตกหล่มการพนันแล้วถอนตัวออกยาก เพราะเหตุความเพลินนั้นเอง เราเคยพบคนเล่นการพนันถึงฉิบหายย่อยยับ แม้อย่างนั้นยังเว้นไม่ได้ คนมีทรัพย์เล่นไม่ถึงฉิบหาย แต่เสียเวลา ฯ

ฝ่ายเราได้โอกาสถอนตัวออกได้สะดวก ฯเราตื่นเอาอย่างฝรั่งหนักเข้า ฝรั่งครั้งนั้นที่เรารู้จักเข้าไม่ฝักใฝ่การพนัน เล่นจะไม่เหมือนฝรั่งจึงจืดจางเลิกไปเอง ภายหลังเมื่อตั้งหลักได้แล้ว จึงรู้ว่าการพนันเป็นหล่มอบายมุขที่ฝรั่งตกเหมือนกัน ตกตายก็มี กล่าวคือเล่นจนฉิบหายหมดตัวเเล้วเสียใจฆ่าตัวตาย ไพ่เป็นอบายมุขซึ่งขึ้นชื่อของฝรั่งอย่างหนึ่งเหมือนกัน ฯ

เราไม่มีนิสัยในทางคบสตรี แม้ถูกชวน ก็ยังมีชาตาดีเผอิญให้คลาดแคล้ว รอดตัวจากอบายมุขอย่างนี้ ฯ แต่เราได้เห็นผู้อื่นมีโรคติดตัวมาเพราะเหตุนี้ ทอนชีวิตสังขารและได้ความลำบาก ฯ แม้แต่ตามประเพณีสตรีถวายตัวเป็นหม่อม แต่เรายังไม่มีความรักดำกฤษณาในวตรีเลย สุดแต่จะว่า เป็นผู้กระดากผู้หญิง หรือเป็นชนิดที่เขาเรียกว่าพรหมมาเกิด หรือเป็นผู้เกิดมาเพื่อบวชอย่างไรก็ได้ เราเห็นอยู่เป็นชายโสดสะดวกสบายกว่ามีคู่ ฯ ศิษย์ของเราผู้แก่วัดสึกออกไป ไม่เคยในทางนี้จงประหยัดให้มากจากหญิงเสเพล แม้จะหาคู่จงอย่าด่วน จงค่อยเลือกให้ได้คนดี ถูกนักเลงเข้า อาจพาฉิบหายตั้งตัวไม่ติด ฯ

ครั้งนั้นยิงนกตกปลาเป็นการเล่นนที่นิยมของคนหนุ่ม เช่นเราผู้ชอบเอาอย่างฝรั่ง แต่เราเป็นผู้ฝึกไม่ขึ้น หรือที่เขาเรียกว่าทำบาปไม่ขึ้น ฯ เรายิงนกไม่ฉมังพอที่ถูกแล้วตายทันทีทุกคราวไป บางคราวนกพิราบอันถูกยิงตกลงมา แต่ยังหาตายไม่ เราเห็นตามันปริบๆ ออกสงสาร ดังจะแปลความในใจของมันว่า "ไม่ได้ทำอะไรให้สักหน่อย ยิงเอาได้" ตั้งแต่นั้นมาต้องเลิก แต่เรายังชอบการยิงปืนไม่หาย ต่อมาใช้หัดยิงเป้าเล่น ฯ เราตกเบ็ดไม่เคยได้ปลาจนตัวเดียว จะว่าวัดหรือกระตุกไม่เป็นยังไม่ได้ ปลายังไม่เคยมากินเหยื่อที่เบ็ดของเราเลย ฯ

การอันทำให้เรายับเยินมากกว่าอย่างอื่น คือความสุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักประหยัดทรัพย์ มีเงิน ๔๐๐ บาทนั้นเป็นมูล ฯ เราไม่ได้เก็บเงินเองที่จะได้รู้สิ้นยัง และยังไม่รู้จักหาเงินที่จะได้นึกเสียดาย สำคัญว่ายายมั่งมีจึงซื้อของไม่ประหยัด ฯ จะตัดเสื้อตามร้านเจ๊ก ก็เป็นของที่เรียกว่าไม่ได้แก่ตัว ผ้าก็เป็นของมีดื่น สวมอายเขา ตัดที่ห้างฝรั่งเสียเงินมากกว่า จึงเป็นการที่ปรารถนาก่อนโดยความเต็มใจ ฯ เครื่องใช้เครื่องแต่งเรือนตามร้านแขกมีศรีสู้ของห้างไม่ได้ ทั้งไม่พอใจเข้าร้านแขก เห็นเสียศรี ทั้งเขาเรียกเงินสดด้วย ฯ ซื้อของห้างไปเองก็ได้ เขาต้อนรับขับสู้ เขาไว้หน้าไม่ต้องซื้อเงินสด เป็นแต่จดบัญชีและให้ลงชื่อไว้ก็พอ ต่อเมื่อมากเข้าจึงส่งใบเสร็จมาเก็บเงินเป็นคราวๆ ของที่ขายนั้นเป็นของปราณีตออกหน้าได้ ที่มีของร้านแขกเหมือน ก็ยังมีศรีว่าเป็นของห้าง ด้วยการณ์ดังนี้ ห้างจึงเป็นที่โคจรของเรา เห็นอะไรเข้าช่างอยากได้ไปทั้งนั้น ซื้อเชื่อเหมือนได้เปล่า จะต่อราคาก็เห็นเสียภูมิฐาน ดูเป็นปอนไป ฯ

ถึงคราวเขาตั้งใบเสร็จมาเก็บเงิน ใหเสร็จใบหนึ่งมีจำนวนเงินนับเป็นร้อยๆ ยังเป็นบุญที่ไม่ถึงเป็นพันๆ นั่นแลจึงรู้สึกความสิ้นหรอคราวหนึ่ง แต่ไม่อะไรนัก ขอเงินยายมาใช้เสียก็แล้วกัน ถ้าห้างนั้นๆ ส่งใบเสร็จมาเก็บเงินระยะห่างๆ กันก็ไม่พอเป็นอะไร แต่ห้างเจ้ากรรมพอรายหนึ่งได้เงินไปแล้ว ไม่กี่วันรายที่สองรายที่สามก็ยื่นใบเสร็จเข้ามาขอเก็บเงิน ยายรักเรามากขอคราวใดก็ได้คราวนั้น แม้แต่จะปริปากบ่นก็ไม่มี ฝ่ายเราก็รักยายมากเหมือนกัน เห็นเช่นนั้นยิ่งเกรงใจยาย ไม่อยากใหเท่านนึกรำคาญใจ จึงขอผัดเขาไว้พอได้ระยะจึงใช้ นี่แลเป็นเครื่องเดือดร้อนของเรา แต่ไม่ถึงเป็นเหตุประหยัดซื้อของ ความลำบากใจนั้นจึงยังไม่วาย คราวหนึ่ง ห้างหนึ่งทนผัดไม่ไหวถึงยื่นฟ้องศาลคดีต่างประเทศขอให้ใช้หนี้ แต่เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี บอกมาให้รู้ตัวและขอให้ใช้เสีย เราได้ทำตาม โจทก์เขาก็ถอนฟ้อง ครั้งนั้นอยู่ข้างตกใจ กลัวเสียชื่อเพราะถูกขึ้นศาลเป็นที่ไม่มีเงินจะใช้หนี้ แต่อย่างนั้นยังไม่เข็ด เป็นแต่โกรธและสาปห้างนั้น ไม่ซื้อของเขาอีกต่อไป ฯ

เป็นหนี้เขาได้ความเดือดร้อนเช่นนี้ เรายังมีทรัพย์สมบัติของตนเอง มีญาติสนิทผู้มีกำลังทรัพย์อาจช่วยใช้หนี้ให้เรา หนี้ของเราไม่ใช่สินล้นพ้นตัว เป็นแต่เราไม่ปรารถนาจะรบกวนยายให้ได้ความรำคาญเพราะถูกขอเงินบ่อยๆ เท่านั้น คนไร้ทรัพย์และหาคนสนับสนุนมิได้ เป็นหนี้เขาถูกเจ้าหนี้ทวง ไม่มีใช้เขา จะเดือดร้อนสักปานไร ถูกเขาฟ้องต้องขึ้นศาล ถูกเร่งถูกเอาทรัพย์ขายทอดตลาดหรือถูกสั่งให้ล้มละลาย จะได้ความอับอายขายหน้าเขาสักปานไร ความเป็นหนี้เป็นดุจหล่มอันลึก ตกลงแล้วถอนตัวยากนัก ขอพวกศิษย์เราจงระวังให้มาก ฯ

เรายังพอเอาตัวรอด ไม่ปู้ยี่ปู้ยำในเวลาลำพอง เพราะไม่กล้าทำการที่ยังไม่มีผู้ชั้นเดียวกันทำ หรือมีผู้ทำแต่ยังไว้ใจไม่ได้ เช่นเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ฯ

สึกจากเณรแล้ว เรายังได้เรียนภาษาอังกฤษต่อมากับครูแปตเตอสัน แต่เรียนส่วนตัว ณ ที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พร้อมกับพระองค์ท่านและกรมพระเทวะวงศ์วโรปการ แต่กำลังลำพอง ทนเรียนอยู่ไม่ได้ต้องเลิก ฯ กำลังนี้เราได้เคยหัดในการประโคมอยู่บ้าง แต่เป็นผู้ไม่มีอุปนิสัยในทางนี้ เรียนไม่เป็น ครั้งยังอยู่ในโรงเรียนฝรั่ง หัดหีบเพลง ดีดสองมือไม่ได้ ดูบทเพลงที่เรียกว่าโน้ตไม่เข้าใจ หัดตีระนาด แก้เชือกผูกไม่ตีเสีย ตีสองมือไม่ได้อีก แต่จำเพลงบางอย่างได้ ฯ

ในเวลานี้ เราไม่มีราชการประจำตัว ล้นเกล้าฯ ไม่ได้ทรงใช้เหมือนเมื่อเป็นเด็ก แต่ได้เข้าเฝ้าเวลาค่ำประจำวัน และในการพระราชกุศลนั้นๆ เสมอมาไม่ห่าง ฯ

เป็นความอาภัพของเราผู้ไม่เคยได้เป็นทหารสมแก่ชาติขัตติยะกับเขาบ้าง เมื่อยังเยาว์ พวกเจ้าพี่ของเราที่จำได้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช กรมพระเทวะวงศ์วโรปการ ท่านเคยเป็นนายทหารเล็กๆ แรกจัดขึ้นในพระบรมมหาราชวังชั้นใน บางทีจะอนุโลมมหาดเล็กไล่กาในรัชกาลที่ ๓ กระมัง ครั้นท่านทรงพระเจริญเสด็จออกนอกวังไปแล้ว ทหารชุดนั้นก็เลิกเสียด้วย จัดทหารมหาดเล็กหนุ่มๆ ขึ้นข้างหน้า เรายังเป็นเด็กอยู่ในปูนนี้ ก็ไม่มีทางจะเข้า ได้เคยเข้าแถวหัดเป็นทหารสมัครอยู่พักหนึ่งที่วังสราญรมย์ ในคราวสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชเสด็จประทับ ไม่ทันถึงไหนก็เลิกเสีย หากว่าเราได้เคยเป็นทหารมาบ้าง จักรู้สึกมาหน้ามีตาขึ้นกว่านี้ ฯ




สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

นึกถึงยายในเวลานั้น เห็นหลานกำลังลำพอง ยังไม่เป็นหลักเป็นฐานคงวิตกสักปานไร แต่ไม่รู้จะห้ามปรามอย่างไรกระมัง หรือท่านปลงใจว่าความละเลิงของคนรุ่นหนุ่มคงเป็นไปชั่วเเล่น แล้วก็ลงรอยเอง ฯ

อ้างอิง : รัตนโกสินทร์ ๒๒๕ และ พระประวัติตรัสเล่า ๑ ในหนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน และ หนังสือ "พระประวัติตรัสเล่า" มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

หมายเหตุ หนังสือ พระประวัติตรัสเล่า เป็น พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส(เริ่มทรงพระนิพนธ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ )หนังสือเล่มนี้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ใน "โครงการคัดเลือกหนังสือดี ๑๐๐ ปี ๑๐๐ เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน" ประเภท "ศาสนาและปรัชญา" เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๑

พระประวัติตรัสเล่าเล่มนี้ ทรงนิพนธ์ไว้เพื่อทรงสอนศิษย์ให้ละชั่วและประพฤติดี ทรงแสดงถึงเหตุชั่วและเหตุดี ที่ทรงประสพมาแล้วโดยยกพระองค์ขึ้นเป็นนิทัสนอุทาหรณ์ประทานโอวาทแก่ศิษยานุศิษย์ปรากฏในหนังสือตลอดทั้งเล่ม ซึ่งเป็นประโยชน์ในทางประพฤติปฏิบัติมา นอกจากนี้ยังทรงเล่าถึงระเบียบการ ราชประเพณี ขนบธรรมเนียมของเจ้านายและเหตุการณ์ทั่วไปๆ ไปของบ้านเมืองทรงเทียบเคียงประเพณีของเจ้านายกับประเพณีทางพระพุทธศาสนาเป็นต้น เมื่อพูดถึงราชาศัพท์แล้ว หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือที่อำนวยประโยชน์ทั้งทางด้านจารีตประเพณี ด้านประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์และความรู้ทั่วไป

หนังสือ "พระประวัติตรัสเล่า" นี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงนิพนธ์ไว้ ตามลายพระหัตถ์ที่เป็นต้นฉบับว่า "เริ่มทรงนิพนธ์ไว้ ตามลายพระหัตถ์ที่เป็นต้นฉบับว่า "เริ่มทรงนิพนธ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ พฤษภาคม ๒๔๕๘" เป็นปีที่ ๕๖ แห่งพระชนมายุ พระองค์ทรงเล่าตั้งแต่ประสูติจนถึงทรงรับพระสุพรรณบัฏเป็นกรมหมื่นฯและเป็นพระราชาคณะ คือตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๐๓ ถึง พ.ศ.๒๔๒๔ รวม ๒๒ ปี คือทรงนิพนธ์ไว้เพียงพระชนมายุ ๒๒ ปีเท่านั้น หลังจากนั้นมาจนถึง พ.ศ.๒๔๖๔ ซึ่งเป็นปีสิ้นพระชนม์อีก ๔๑ ปี ไม่ได้ทรงนิพนธ์ไว้

การจัดพิมพ์ หนังสือ "พระประวัติตรัสเล่า" เล่มนี้ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ ในงานเสด็จพระราชดำเนินเปิดตึกมนุษยนาควิทยาทาน ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๙๔ และพิมพ์ครั้งนี้เป้นครั้งที่ ๓ ซึ่งจัดพิมพ์และจำหน่ายโดย มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หนังสือเล่มนี้มีขนาด ๒๑ x ๒๙.๕๐ เซนติเมตร ความหนา ๑๒๐ หน้า พิมพ์สี่สี มีภาพเก่าหายากมากถึง ๑๐๕ ภาพ ประกอบตลอดทั้งเล่ม