สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส : พระประวัติตรัสเล่า (๑)
โพสโดย webmaster เมื่อ September 18 2009 18:25:54



พระประวัติตรัสเล่า
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(เริ่มทรงพระนิพนธ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘)

๑. คราวประสูติ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามที่ ๔ ในพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นพระบรมชนกนาถของเรา เจ้าจอมมารดาแพพระสนมเอกในรัชกาลที่ ๔ เป็นเจ้าจอมมารดาของเรา ฯ เราประสูติที่ตำหนักหลังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานมุขหลัง ที่เรียกว่าท้องพระโรงหลังถัดโรงละครออกไป ในพระบรมมหาราชวังบฃ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนห้า แรมเจ็ดค่ำ ปีวอกยังเป็นเอกศก จุลศักราช ๑๒๒๑ ตรงวันที่ ๑๒ เมษายน พุทธศักราชที่ใช้ตามธรรมเนียมบัดนี้ ๒๔๐๓ เวลาบ่าย ๑ โมง ๓๖ ลิบดา ตามโหราศาสตร์สยาม พระอาทิตย์สถิตราศีเมษ องศา ๑ เป็นวันเนาวหลังวันมหาสงกราต์ หน้าวันเถลิงศกที่ขึ้นจุลศักราชใหม่ ฯ




พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ได้ฟังคำผู้ใหญ่เล่าว่า พอเราประสูติแล้วอากศที่กำลังสว่าง มีเมฆตั้ง ฝนตกใหญ่ จนน้ำฝนขังนองชาลาตำหนัก ทูลกระหม่อมของเราทรงถือเอานิมิตนั้น ว่าแม้นกับคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับ ณ ควงไม้ราชายตนพฤกษ์ฝนตกพรำสิ้นเจ็ดวัน มุจลินทนาคราชเอาขนดกายเวียนพระองค์ และแผ่พังพานเหนือพระเศียรเพื่อมิให้ฝนตกถูกพระองค์ ครั้นฝนหายแล้ว จึงคลายขนดจำแลงกายเป็นมาณพหนุ่มเข้ามายืนเฝ้าเฉพาะพระพักตร์ จึงพระราชทานนามเราว่า พระองค์เจ้า "มนุษยนาคมานพ" แต่เราได้พบในภายหลังเมื่ออ่านบาลีเข้าใจแล้ว ในบาลีมหาวรรคพระวินัยเล่ม ๑ ตอนทรมานอุรุเวลกัสสปชฎิล คำว่า "มนุสฺสนาโค" หรือ "มนุษยนาค" นั้น เป็นคำเรียกพระพุทธเจ้า คู่กับคำว่า "อหินาโค" หรือ "อหินาค" เป็นคำเรียกพญานาคที่เป็นชาติงู เช่นนี้ คำว่า มนุษยนาค ก็เหมือนคำว่า บุรุษรัตน์ หรือ มหาบุรุษ ที่ใช้เรียกท่านผู้สูงสุดในหมู่มนุษย์คือ พระพุทธเจ้า และพระเจ้าแผ่นดิน ฯ




สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว)

เมื่อเรายังเยาว์ แต่จำความได้แล้ว ได้ตามเสด็จทูลกระหม่อมไปวัดราชประดิษฐ์เนืองๆ คราวหนึ่งได้ยินตรัสถามสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว(สา)) ครั้งนั้นยังเป็นพระศาสนโสภณว่า คนชื่อคนมีหรือไม่ สมเด็จพระสังฆราชนิ่งนึกอยู่ครู่หนึ่ง แล้วถวายพระพรทูลว่า ไม่มี ทรงชี้เอาเราผู้นั่งอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ว่า นี่แน่ะคนชื่อคน แต่นั้นเราสังเกตว่าทรงพระสำรวล และสมเด็จพระสังฆราชก็เหมือนกัน ฯ แปลชื่อมนุษยนาคมานพ ตามวิกัปต้นว่าหนุ่มน้อยนาคจำแลงเป็นคน ฯ แต่ศัพท์มคธที่แปลว่าคนหนุ่มนั้นสอบสวนได้แน่ในบัดนี้ว่า "มาณโว" คือมาณพ แต่ในพระราชหัตถเลขาพระราชทานนั้นเป็น "มานพ" ที่ตรงศัพท์มคธว่า "มานโว" และแปลว่า "คน" หรือ "เชื้อสายของท่านมนุ" ศัพท์สันสกฤตก็เป็นเช่นเดียวกัน แต่ครั้งนั้นหนังสือและภาษาอันเป็นเครื่องสอบสวนยังหามีแพร่หลายเหมือนในกาลบัดนี้ไม่ ฯ แปลตามวิกัปหลังว่า "คนผู้เป็นมุษย์นาค" หรือ "คนผู้เป็นนาคในมนุษย์" ศัพท์ว่านาคในวิกัปนี้ หมายความว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ ฯ เราเป็นพระเจ้าลูกเธอที่ ๔๗ ของทูลกระหม่อม และเป็นองค์ที่ ๔ ของเจ้าจอมมารดาของเรา ผู้มีพระองค์เจ้า ๕ พระองค์ ฯ




จากซ้ายไปขวา


พระองค์เจ้าบัญจบเบญจมา
พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส)
พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์
พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ,พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์


รุ่งขึ้นอีกปีหนึ่ง คือพระพุทธศักราช ๒๔๐๔ เจ้าจอมมารดาของเราถึงแก่กรรม เราจึงจำเจ้าจอมมารดาของเราหาได้ไม่ ฯ

๒. คราวเป็นพระทารก

เริ่มแรกเราจำความได้ อายุเท่าไรบอกไม่ได้ เราอยู่ที่ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอในรัชกาลที่ ๓ กรมหลวงวรเสรฐสุดา ครั้งนั้นยังไม่ได้ทรงกรม ทรงพระนามพระองค์เจ้าบุตรี เจ้าจอมมารดาของท่านกับของเราเป็นญาติกัน เราเรียกท่านว่า เจ้าครอกป้า ภายหลังเมื่อคำว่าเจ้าครอกล่วงสมัยแล้ว เปลี่ยนเรียกว่า เสด็จป้า เรียกคุณยายท้าวสมศักดิ์คือเจ้าจอมมารดาอึ่ง เจ้าจอมมารดาของท่านว่า คุณยายแม่ ที่แปลว่าแม่เฒ่า ที่เจ้านายในรัชกาลที่ ๕ ผู้เป็นพระญาติข้างเจ้าจอมมารดาเรียกอย่างนั้นตรงๆ ฯ




พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้นที่ ๓ พระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา อาทิอักษรวรรคศรี

เวลานั้นเรากำลังเจ็บ แต่รู้ในภายหลังว่าเป็นซางขโมย เจ็บมากน่ากลัวไม่รอด เมื่อเราจำได้นั้นกำลังฟื้น จำขุนทารกรักษา(นาค) ผู้รักษาได้ แกเป็นคนแก่ดูเหมือนตกกระแล้ว แต่ผมยังดำ ไว้ผมเปีย น้ำใจดี พูดอ่อนหวาน เราเป็นทารกและกำลังเจ็บเข้าหาและนั่งตักแกได้ด้วยไม่กลัวแกจะให้กินยา แกคงมีอุบายปลอบให้กินยา แต่ได้ยินว่าเรากินยาง่าย บางทีเป็นเพราะเจ้าครอกป้าของเราฝึกให้เจนมาก็ได้ ท่านทรงเล่าให้ฟังว่าท่านจ้างให้กินยาถ้วยละ ๑ บาท เงินที่รับจ้างได้นั้นกองไว้ข้างตัว พอลืมก็กลับมาเป็นค่าจ้างใหม่ เมื่อเขื่องขึ้นหน่อย ไม่ต้องมีใครจ้าง เป็นแต่ได้รับคำยอว่า เสวยยาง่ายดีกว่าท่านพระองค์ชายใหญ่ คือกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ เท่านั้นก็พอ ฯ

เหตุไฉนเราจึงไปอยู่ตำหนักเสด็จป้ากรมหลวงวรเสรฐสุดานั้นมีคำเล่าว่า ในวันเผาศพเจ้าจอมมารดาของเราที่วัดราชาธิวาส พอกลับมาถึงตำหนักของเรา ยังไม่ทันขึ้น เราร้องไห้ดิ้นรนไม่ยอมขึ้น ชี้มือไปทางตำหนักเสด็จป้ากรมหลวงวรเสรฐสุดาที่อยู่ไม่ไกล ถนนสายเดียวกันแต่ข้างละฟาก ครั้นเขาพาไปถึงนั่น หยุดร้องไห้ ท่านรับเลี้ยงไว้ตั้นแต่วันนั้น ฯ แต่อย่างไร เราจึงไม่ได้อยู่ที่นั่นจนโต หารู้แน่ไม่ มีคำเล่าว่า ท่านระแวงว่า เลี้ยงเด็กผู้ชายไม่ขึ้น กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ได้เคยเสด็จไปอยู่ที่นั่น ก็ประชวรออดแอด เราอยู่ที่นั่นก็เจ็บใหญ่ ฯ

เมื่อเรามาอยู่ที่ตำหนักของเรา ได้อยู่ในความดูแลของคุณยายท้าวทรงกันดาร (ศรี) ยายตัวของเรา ในเวลาเจ้าจอมมารดาของเราถึงแก่กรรม ยายเราต้องดูแลเจ้าหลาน ๔ พระองค์ ส่วนน้องหญิงบัญจบเบญจมานั้น เสด็จป้ากรมหลวงวรเสรฐสุดาทรงรับเอาไปเลี้ยงตั้งแต่วันประสูติ อยู่ตำหนักท่านตลอดมา จนเธอสิ้นพระชนม์จากท่านไป เมื่อพระชันษาของเธอได้ ๓๒ ปี ฯ นึกดูถึงใจยาย เห็นหลานกำพร้าแม่แต่ยังเล็กๆ จักมีความสงสารสักเพียงไร และจักรู้สึกว่าตกเป็นภาระของท่านสักเพียงไร เป็นเดชะบุญของพวกเรา เรามียายดี มีสามารถในกิจการ รู้จักหาทรัพย์และเก็บหอมรอมริบ สมบัติของพวกเราจึงปราศจากอันตราย และพวกเราก็ได้รับทำนุบำรุงมาเป็นอันดี ฯ เป็นธรรมดาของผู้ใหญ่ย่อมเอ็นดูเด็กคนน้อยมากกว่า น้องหญิงของเราไม่ได้อยู่ด้วยยายถัดมาก็ถึงเรา ยายจึงรักเรามากกว่าหลานอื่น เป็นเช่นนี้ตลอดมาจนท่านถึงแก่กรรม เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ในสงฆ์แล้ว นอกจากธรรมดาเสกสรรยังเป็นโชคของเราอีก ที่ท่านผู้ใหญ่อื่นชอบเรามากเหมือนกัน ฯ

เมื่อยังเล็กเราพอใจเล่นเป็นพระ ครองผ้า บิณฑบาต ฉัน อนุโมทนา เทศนา เพียงเท่านี้จะว่าเป็นนิมิตก็ไม่เชิง เพราะนี้เป็นการเล่นสนุกของเจ้านายอื่นด้วย แต่เรามีตาลปัตรแฉกสำหรับพระราชาคณะ พระนิกรมมุนี (เบญจวรรณ) เจ้าวัดพระยาทำ ผู้เป็นญาตินับเป็นชั้นตา ทำให้ ใบพัดเอาอะไรทำและทำอย่างไร บอกไม่ได้ เป็นอย่างหักทองขวางด้ามงาหรือกระดูก นี้จะถือว่าเป็นนิมิตก็เข้าที ฯ

นอกจากได้ความสังเกตจากผู้ใหญ่โดยธรรมดาของเด็ก เราได้รับความศึกษาเป็นครั้งแรกที่นกพนักงาน ซึ่งเราเรียกว่า คุณยายนก อายุเท่าไรไม่แน่ แต่ยังเด็กมาก ยายของเราฝากให้เรียนหนังสือไทย ไปเรียนเป็นเวลา แล้วกลับมาตำหนัก ฯ ขอบคุณคุณครูนกของเรา แกเป็นผู้มีใจดี มีอัชฌาสัยเยือกเย็นไม่ดุ น่ารักน่านับถือ เป็นผู้มีสัตย์ไม่กลับคำให้เสียความวางใจ แรกแกสอนให้อ่านและจำตัว ก ข เพียง ก ถึง ง และว่าถ้าจำได้แล้ว วันนั้นจักให้หยุดและให้เล่น เราเชื่อแก อ่านครู่เดียวจำได้ แกให้หยุดจริงๆ แต่ในวันหลังๆ แกเห็นว่าเรียนวันละตอนคล่องแล้ว แกก็เพิ่มเป็นสองตอนขึ้น แจกลูกวันละไม่ถึงแม่หนึ่งขึ้นไปโดยลำดับ เราเชื่อคุณครู เราสมัครทำตามด้วยไม่พักเดือดร้อน เรียนแต่อ่าน ไม่ได้หัดเขียน ความรู้หนังสือที่เราได้จากแกครั้งนั้น ไม่เท่าไรนัก แต่เราได้คุณสมบัติสำคัญจากแก คือ รู้จักสมัครทำตามคำของครู เป็นเหตุให้ไม่ต้องถูกเคี่ยวเข็ญถูกดุถูกตีเพราะการเล่าเรียนเลย เรียนในสำนักครูผู้ใด ครูผู้นั้นรักทุกคราวมา ครั้นเราเป็นครูเขาขึ้นเอง เราก็ไม่ชอบดุ แม้ปกติของเรามีโทษะเป็นเจ้าเรือน ฯ

เมื่ออายุได้ ๗ หรือ ๘ ปี ได้เริ่มเรียนหนังสือขอมกับพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) ครั้งยังเป็นหลวงราชาภิรมย์ ปลัดกรมราชบัณฑิต ที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ พร้อมด้วยเจ้าพี่หลายพระองค์ อันที่จริงเรียนมคธภาษา แต่ต้องเรียนตั้งแต่อ่านหนังสือขอมที่เป็นเครื่องใช้เขียนและจารตำรับเรียน เรียกอย่างหมิ่นเหม่แต่บุพภาคว่า เรียนหนังสือขอม ฯ ใครชักนำให้ไปเรียนหารู้ไม่ ฯ ในเวลานี้เราก็หลากใจว่า อายุเท่านั้นเริ่มเรียนมคธภาษาแล้ว เราเป็นเด็กที่สุดในหมู่เจ้านายผู้เรียนอยู่ ฯ ตั้งแต่หัดอ่านหนังสือขอม ตลอดถึงเรียนบทมาลาที่เรียกไวยากรณ์ในบัดนี้ อาจารย์ลำบากมาก ต้องเขียนลงในสมุดดำให้ศิษย์ทุกพระองค์ ต่อขึ้นคัมภีร์ คืออรรถกถาธรรมบท จึงค่อยสะดวก ไม่ต้องเขียน ฯ อาจารย์ของเราแกมีใจดีเยือกเย็น แต่แกเป็นข้าราชการฝ่ายหน้า แกไม่อาจตั้งตัวเป็นอาจารย์ แกถ่อมตัว แกไหว้พวกเรา พูดอย่างอ่อนน้อม เราหาได้ความรักใคร่สนิทสนมฉันครูกับศิษย์ไม่ ออกจะเห็นเป็นครูชั้นเลว แต่ก็ยังคมคือยกมือไหว้แก ฯ

เราเรียนต่อมากับท่านอาจารย์นี้ จนถึงรัชกาลที่ ๕ แต่ย้ายสถานมาเรียนที่เก๋งกรงนกหรือสกุณวัน เรียกชื่ออย่างนั้น เพราะเดิมมีกรงนกใหญ่ทำเขาและป่าไว้ในนั้น เลี้ยงนกและสัตว์จตุบทเล็กๆ เราจำได้ว่ามีกระจง มีเก๋งอยู่สี่ทิศของกรงนก แต่ในเวลาที่มาเรียนนั้นกรงนกรื้อเสียแล้ว ทำเป็นศาลาใหญ่ ชื่อเก๋งวรสภาภิรมย์ที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ครั้นยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน นั่งว่าราชการ เก๋งหลังที่เราเรียนหนังสือนั้นชื่อราชานุอาสน์ อยู่หน้าพระทวารเทเวศร์รักษาแห่งพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีทางเดินคั่นในระวางเท่านั้น แต่เรียนอยู่ไม่นานก็เลิก ฯ เราเรียนถึงแปลอรรถกถาธรรมบทบั้นปลายผูกสอง พอเข้าใจความท้องเรื่องได้เมื่ออาจารย์สอนให้แปลแล้ว แต่ยังผสมเอาความเองไม่ได้ ฯ ความรู้ที่ได้ในการเรียนนี้ คืออ่านหนังสือขอมออก รู้จักศัพท์มคธขึ้นบ้าง นำให้เข้าใจภาษาไทยกว้างออกไป ฯ

เราจำได้ว่าการเล่นตุ๊กตา ก็ให้ความรู้ได้เหมือนกัน ฯ เล่นตุ๊กตาตัวใหญ่ เรารักตุ๊กตาเป็นลูก เราได้ความรู้สึกว่าผู้ใหญ่ของเราท่านรักเราอย่างไร นี้เป็นกตัญญู เราเอาอย่างผู้ใหญ่ทำให้แก่ตุ๊กตา หรือจักทำแก่คนภายหน้า นี้เป็นบุพการี และยังรู้จักเย็บผ้า ผสมสีย้อมผ้า เครื่องแต่งตุ๊กตาและอื่นๆอีก เล่นตุ๊กตาเล็กๆ นำให้เราสังเกต วิธีจัดเหย้าเรือ และจัดการงานของผู้ใหญ่ เพื่อจำเอามาเล่นตุ๊กตา ฯ การเล่นหุงข้างต้มแกง ห็ให้ความรู้ในทางปรุงอาหาร แต่เสียดายว่าไม่สนใจจึงไม่สันทัด ฯ

แม้เราเป็นผู้กำพร้าแม่ แต่เราได้อัสสาสะคือความอุ่นใจในทูลกระหม่อมของเรา ท่านทรงกับพวกเราโดยฉันพ่อกับลูก ไม่ทรงทำพระยศพระอย่างโดยฐานเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ที่ห่างเหินจากพระเจ้าลูกเธอชั้นพระองค์เจ้า หรือพูดตามคำสามัญว่าลูกเมียน้อย ฯ เวลาเสวยพวกเรานั่งล้อมอยู่ใกล้โต๊ะเสวย คอยเลื่อนเครื่อง ไม่ทันใจทูลขอกำลังเสวยก็มี เสด็จไปทางไหนก็พรูตามเสด็จ ถ้าเสด็จโดยพระราชยาน ก็ทรงรับขึ้นพระราชยาน ที่ยังเล็กโปรดให้นั่งบนพระเพลาบ้าง ซอกพระปรัศว์บ้าง ที่เขื่องโปรดให้นั่งหน้าพระเพลา เราจำได้ว่าเมื่อครั้งโสกันต์พี่พักตร์พิมลพรรณที่เมืองเพชรบุรี วันหนึ่งเราตามเสด็จลงจากเขามไหศวรรย์ไปรับกระบวนแห่ไม่ทัน แม่นมอุ้มไปดักกลางทาง สอนให้เราทูลขอให้ทรงรับ ท่านให้หยุดพระราชยานรับเราขึ้นด้วย ประทับที่ไหนพวกเราก็นั่งล้อมเบื้องพระปฤษฎางค์ ฯ

เรามีความอิ่มใจว่าแม้เรายังเล็ก เราก็พอเป็นประโยชน์แด่ทูลกระหม่อมของเราได้บ้าง ท่านทรงใช้เราหยิบพระศรี (คือหมากเสวย) ก็มี พระสุพรรณศรี (คือบ้วนพระโอษฐ์องค์น้อย) ก็มี โปรดให้เชิญพระแสงบ้าง เชิญธารพระกรบ้าง บางคราวถูกเชิญพร้อมกันทั้งสองอย่าง หนักก็หนัก มือเล็กกำไม่ค่อยรอบ แต่อิ่มว่าเป็นผู้แข็งแรง ทรงใช้การหนักได้ ฯ

เมื่อกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์จะทรงผนวชเป็นสามเณร ทูลกระหม่อมทรงพระอนุญาตให้เรามาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารด้วยเจ้าพี่ เราดีใจนี่กระไร เมื่อออกมาอยู่ได้พบและคุ้นเคยกับพวกผู้ชายทั้งพระเณรทั้งคฤหัสถ์ ได้เรียนรู้อัชฌาสัย มีทั้งดีทั้งเลว และมีช่องที่ได้ตามเสด็จเจ้าพี่ไปข้างไหนๆ บ่อยๆ กว่าอยู่ในวัง ติดวัดเหมือนปลาเคยอยู่ในน้ำตื้นได้ออกมาน้ำลึก มีธุระที่จะต้องเข้าไปค้างคืนในวัง ช่างไม่สมัครเสียจริงๆ อยู่ก็ไม่สนุก ฟังผู้หญิงพูดก็ไม่คมคาย เมื่ออยู่วัดได้เรียนปริยัติกับพระปริยัติธรรมธาดา (ชัง) ครั้งยังเป็นหลวงศรีวรโวหาร นายด่านกรมราชบัณฑิต ผู้บอกภิกษุสามเณรวัดนั้นอยู่บ้าง ฯ การอยู่วัดมีประโยชน์ทำให้ใจและอาการเป็นผู้ชายเร็ว แปลกกว่ามาอยู่ต่อเมื่อบวชเณรทีเดียว ที่มักจะมีอาการผู้หญิงติดมาไม่องอาจ แต่อีกทางหนึ่ง ได้ยินคำที่ยังไม่ควรจะได้ยินเร็วเกินไป ฯ

ทูลกระหม่อมของเราเสด็จประพาสหัวเมืองเนืองๆ พวกเราอยากตามเสด็จเสียนี่กระไร ผู้ใดได้ไป เป็นโชคของผู้นั้น แต่เรามักจะแคล้วคลาด จำได้ว่าได้ไปพระปฐมเจดีย์ กรุงเก่า เมืองเพชรบุรี เกาะจาน แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ (คือเมืองกุย) คราวมีสูรย์เท่านั้น แม้อย่างนั้น สองคราวหลังหาได้ไปในเรือพระที่นั่งไม่ คราวไปเมืองเพชรบุรีไปเรือลำเดียวกับเสด็จป้า กรมหลวงวรเสรฐสุดา คราวไปเกาะจานไปเรือลำเดียวกับกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ซึ่งยังเป็นสามเณร และตามเสด็จสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เสด็จพระอุปัชฌายะของเราไป ฯ

พอเสด็จกลับจากเกาะจาน ทูลกระหม่อมทรงพระประชวรไข้ป่า ประมาณว่าเดือนเศษไม่ถึงครึ่ง สวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบห้าค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ ตรงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ เวลา ๑ ยามเศษ ฯ เวลานั้นเรามีอายุได้ ๘ ขวบครึ่ง รู้สึกเศร้าโศกเสียดายบ้างแล้ว แต่ยังรัวเต็มที ฯ สมเด็จของพวกเรา คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสวยราชสมบัติ แต่พระชันษายังพระเยาว์เพียง ๑๖ ปี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ครั้งยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ต่อเมื่อพระชันษาได้ ๒๑ ปี ทรงอุปสมบทแล้ว จึงได้ทรงราชการเต็มที่ ฯ

เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงแห่งความเป็นไปของพวกเราเป็นครั้งแรก คนผู้เคยนับถือและฝากตัวก็จืดจางไป คนที่เราไม่เคยเกรงก็ต้องเกรง ส่วนลาภก็น่าจะเป็นตามกัน แต่เรายังเด็กไม่ได้รู้ไปถึง แต่ยังเป็นโชคของพวกเรามาก ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ถ้าการณ์กลับกลายเป็นอย่างอื่นไป จะซ้ำร้ายกว่านี่เสียอีก ครั้งนั้นเรายังเด็กนักไม่รู้คิด มารู้เมื่อโตขึ้น คิดถึงครั้งนั้นน่าใจหาย ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็กำลังทรงพระประชวร พระอาการมากเหมือนกัน เราได้เห็นเองเมื่อเวลาเขาเชิญเสด็จขึ้นไปถวายน้ำสรงพระบรมศพ บนพระที่นั่งภานุมาศจำรูญองค์เดิม เรายังรู้ว่าทรงพระประชวรมากอยู่ ถ้าพลาดพลั้งลงในเวลานั้น การภายหน้าจักเป็นอย่างไร ไม่พักต้องหาโหรพยากรณ์ก็อาจรู้ ฯ

แต่ความเปลี่ยนแปลงแห่งความเป็นไปของพวกเราตามสมัยนี้ ไม่เป็นเปล่าประโยชน์เสียทีเดียว กลับให้ประโยชน์แก่เราในภายหลังอีก ทำให้พวกเราสังเวชคิดถึงตัว ไม่มีทางกำเริบหรือแม้เพียงทอดธุระจากการแสวงหาความรู้ ได้เปรียบเจ้านายในรัชกาลที่ ๓ ที่โดยมากกลับพระองค์ไม่ทันเพราะเวลาล่วงไปเสียมากแล้ว พวกเรายังมีช่องพอจะทำตนให้เป็นดุจภาชนะสำหรับรองรับราชการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรวงวางลงไป ฯ สมัยที่พวกเรามาถึงเข้าบัดนั้นช่างเป็นคราวที่พวกเจ้านายตกต่ำนี่กระไร แต่พวกเรายังเล็กนัก ก็ไม่รู้ลึกซึ้งกี่มากน้อย แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระเจริญกว่า คงจะรู้สึกฝังในพระราชหฤทัยเป็นหนักหนา จึงทรงทำนุบำรุงพวกเรามาตั้งแต่ยังเยาว์ ให้ได้รับศึกษาและฝึกหัดในทางที่สมควรแก่สมัย และทรงชุบเลี้ยงเมื่อเติบโตขึ้น ให้มีช่องได้รับราชการหน้าที่ใหญ่ขึ้นโดยลำดับ จนได้เป็นเสนาบดีเจ้ากระทรวงก็หลายพระองค์ มีพระเดชพระคุณอยู่แก่พวกเราเป็นล้นพ้น ฯ อาศัยเหตุสองประการ คือ พวกเราทำตนให้เป็นดุจภาชนะที่ควรรองรับราชการและพระมหากรุณาแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชุบเลี้ยง พวกเราจึงกลับมีผู้นับถือยำเกรงขึ้นอีก ฯ




พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๓. คราวเป็นพระกุมาร

ล้นเกล้าล้นกระหม่อมไม่มีพระเจ้าลูกเธอที่ทรงพระเจริญ ท่านทรงใช้พวกเราทั้งชายทั้งหญิง และทรงสนิทสนมเหมือนเดิม เพราะเหตุนี้กระมัง เราจึงได้เลิกเรียนมคธภาษาและไม่ได้อยู่วัดต่อไป ฯ ในพวกผู้ชาย ท่านทรงใช้เรากับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นมาก เมื่อกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงพระเจริญและเสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังแล้ว เราสองคนได้ช่องตามเสด็จหัวเมืองเนืองๆ มา ราชการเป็นหน้าที่ประจำตัวเราคือเชิญหีบพระมหาสังข์ตามเสด็จ ในวันสมโภชสามวันและสมโภชเดือนพระเจ้าลูกเธอประสูติใหม่ที่ตำหนักข้างใน เราได้ทำเป็นครั้งที่สุด เมื่อสมโภชเดือนสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี ฯ

เราในครั้งนั้นจะเรียกว่าเป็นเด็กไม่ซนทีเดียวดูเหมือนเกินไป แต่เราเคราะห์ดี ในคราวพี่น้องเกิดความออกช่องต่างๆ เผอิญเราติดราชการที่ต้องอยู่ประจำพระองค์บ้าง ไปไม่ทันบ้าง กำลังถูกพี่น้องโกรธไม่เล่นด้วยบ้าง รอดตัวทุกทีไป นี้เพิ่มคะแนนแห่งความดีของเราขึ้นทุกที กรมพระสมมตอมรพันธุ์พื้นของเธอเป็นผู้ไม่ซน แต่เคราะห์ร้ายมักพลอยถูกด้วย ฯ อีกอย่างหนึ่งเรารู้จักระวังตัว การอย่างใดยังไม่เห็นมีผู้ทำ หรือผู้ทำยังไม่เป็นที่วางใจได้ว่าจะไม่เกิดความ เราไม่ทำการอย่างนั้น ฯ ครั้งแรกแต่งตัวใช้เสื้ออย่างฝรั่งขึ้นใหม่ พวกผู้ชาย เรากับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ได้รับพระราชทานเครื่องแต่งตัวก่อน ฯ

ในคราวเสด็จประพาสเมืองต่างประเทศ เราไม่ได้ตามเสด็จ ได้กลับไปอยู่ตำหนักเสด็จป้ากรมหลวงวรเสรฐสุดาเป็นคราวๆ เรียนหนังสือไทย หัดอ่านโคลงและกลบทต่างๆบ้าง เรียนเลขอย่างไทยบ้าง เรียนดูดาวบ้าง ฯ แปลกอยู่ เสด็จป้าของเราได้รับความฝึกหัดในวิชาของผู้ชายเป็นพื้น ศิลปะของผู้หญิงเช่นเย็บ ปัก ถัก ร้อย ทำอาหาร ที่สุดจนเจียนหมากจีบพลู เรายังไม่เคยเห็นท่านทำเองเลย เขาว่าท่านทำไม่เป็นด้วย ถึงคราวสมโภชพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาปีใหม่ ท่านทรงรับทำตาข่ายดอกไม้สดแขวนบุษบกพระครั้งนั้น ๕ ที่ คนร้อยดอกไม้เต็มหอกลางตำหนัก เราก็ได้เข้าหัดร้อยแต่จำไม่ได้ว่าท่านได้ร้อยด้วย และความนิยมของท่าน ก็ไม่เป็นไปในสิ่งที่ผู้หญิงชอบ มีดอกไม้เป็นต้น ทรงนิยมในทางทรงหนังสือธรรม ตำนาน และเรื่องของจินตกวี ฯ

ท่านประพฤติพระองค์เป็นหลักไม่หยุมหยิม ที่เราดูหมิ่นท่านไม่ได้ แต่คนอื่นเขาว่าท่านดุ เราเห็นท่านเพียงเฉียบขาด แปลกอีกอย่างหนึ่ง ไม่เคยเห็นท่านทรงพระสรวลจนเอาไว้ไม่ไอยู่ หรือแสดงเสียพระหฤทัยจนวิการ เขาเล่าว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบรมชนกนาถ ผู้ทรงเมตตาท่านมากสวรรคต ท่านมิได้ทรงกันแสง เราได้เห็นเมื่อครั้งคุณยายสมศักดิ์ถึงอสัญกรรม ท่านไม่ได้ทรงกันแสง แต่คุณยายสมศักดิ์แก่แล้วอายุถึง ๗๕ ก็พอจะกลั้นอยู่ เมื่อน้องหญิงบันจบเบญจมาสิ้นพระชนม์ เธอเป็นผู้ที่ท่านเลี้ยงมาจนสิ้นพระชนม์จากไป ท่านก็กลั้นได้ไม่ทรงกันแสง แต่พระอาการเศร้าโศกปรากฏมี เห็นอะไรของน้อง ไม่สบายพระหฤทัยเป็นต้น ดูท่านสมสมกับคุณยายสมศักดิ์เจ้าจอมมารดาของท่านจริงๆ เขาสรรเสริญพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวต่างๆ บางทีท่านจะได้อย่างมาไม่มากก็น้อย ได้รับเลี้ยงดูและฝึกหัดในสำนักอาจารย์เช่นนี้ เป็นลาภเป็นเกียรติของเราฯ

เริ่มที่ล้นเกล้าฯ จะทรงทำนุบำรุงพวกเราให้ได้ความรู้ ทรงตั้งโรงเรียนภาษาอังกฤษขึ้นที่ตึกแถวริมประตูพิมานไชยศรีด้านขวามือหันหน้าออก มีนายฟรานสิสยอช แปตเตอสันเป็นครูสอน อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ครั้งยังเป็นนายราชาณัตยานุหารว่าที่เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ เช้าสอนเจ้านายพวกเรากับหม่อมเจ้าบ้าง บ่ายสอนข้าราชการที่เป็นทหารมหาดเล็ก เราได้เข้าเรียนมาตั้งแต่เปิดโรงเรียน ครั้งนั้นเราอายุราว ๑๒ ปี ฯ ครูพูดไทยไม่ได้ สอนอย่างฝรั่งเจี๊ยบ หนังสือเรียนใช้แบบฝรั่ง ที่สุดจนแผนที่ก็ใช้แผนที่ยุโรปสำหรับสอน เรารู้จักแผนที่ของเมืองฝรั่งก่อนของเมืองไทยเราเอง หัดพูดหัดอ่านแนะให้เข้าใจความเอาเอง ไม่ได้หัดให้แปล แต่พวกเราก็พยายามเข้าใจความได้ถึงพงศาวดารอังกฤษ สิ่งที่เราเข้าใจไม่ได้คือไวยากรณ์ คิดเลขก็ใช้มาตราอังกฤษ แต่เราทำเลขไทยเป็นมาแล้ว เราคงรู้จักมาตราไทยมาก่อน แต่ผู้อื่นที่รู้จักมาตราอังกฤษก่อนมีบ้างกระมัง ฯ

แต่ความรู้เหล่านี้มาช่วยเราเมื่อโตแล้ว ให้รู้จักเอามาใช้ในทางข้างไทยเรา ด้วยไม่พักต้องเรียนใหม่ เราได้รู้นิสัยของฝรั่งจากหนังสือเรียน ดีกว่าเรียนแบบที่เขาจัดสำหรับคนไทยในภายหลัง เป็นการเหมาะแก่เราผู้ไม่มีช่องจะได้ไปเรียนที่เมืองฝรั่ง ถ้าเวลานั้นเป็นโอกาสเหมือนในชั้นหลัง เราคงจะได้รับพระมหากรุณาโปรดให้ออกไปเรียนด้วยผู้หนึ่ง เป็นลาภของกรมหลวงสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์ พระองค์แรกผู้ได้สบโอกาสนี้ ฯ นอกจากนี้เรายังได้รับคำแนะนำในการบ้านเมืองอีกที่เกิดขึ้นเป็นคราวๆ ทางเมืองฝรั่ง และเป็นเวลาเกิดเหตุการณ์เนืองๆ เป็นต้นว่าเยอรมันตีเมืองฝรั่งเศสได้ ราชาธิปไตยฝรั่งเศสล่มกลายเป็นประชาธิปไตย เรากระหยิ่มใจว่าเราได้ความรู้ดีกว่านักเรียนชั้นหลัง ที่เรียนเฉพาะในเมืองไทยที่เราได้เคยพบ ฯ

ครูของเราแกเป็นฝรั่ง แกตั้งตัวแกเป็นครูเต็มที่ พวกเราต้องรู้จักฟังบังคับ ได้คุณสมบัติเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่ง แต่เฉพาะเรา คุณครูนกทำพื้นมาดีแล้ว ไม่พักลำบาก เรากับกรมพระดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ที่ครูชอบใจ เอาไว้กินอาหารกลางวันด้วยกัน แล้วให้เรียนเวลาบ่ายอีกด้วย ครูชักนำให้รู้จักฝรั่งอื่นผู้เป็นเพื่อน ฯ ผลที่ได้จากการเรียนภาษาอังกฤษนอกจากกล่าวแล้ว เขียนหนังสือและแต่งหนังสือเป็น ในการเรียนต้องหัดลายมือและเขียนตามคำบอก พวกเราที่ร่านเอามาใช้ในภาษาไทย เขียนจดหมายถึงกันและกันบ้าง แปลเรื่องฝรั่งบ้าง จดบันทึกเรื่องอย่างอื่นบ้าง เขยิบขึ้นไปตามอายุ จนถึงแต่งจดหมายเหตุราชการ ที่ได้รับพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำในทางราชการโดยลำดับมา ฯ

นิสัยของพวกเรา เห็นใครเขาทำอะไร พอใจจะทำบ้าง นี้เป็นเหตุให้ได้ความรู้จิปาถะ แม้ไม่ได้เรียนเป็นล่ำสัน ความรู้เช่นนี้ก็เป็นประโยชน์ได้เหมือนกัน เมื่อโตขึ้น ฯ สิ่งที่ขัน ในพระวินัยกล่าวถึงเรื่องชนิดแห่งดอกไม่ร้อยที่ห้ามไม่ให้ภิกษุทำ พระอรรถกถาจารย์ไม่เข้าใจเสียเลีย แก้ถลากไถลไป เจ้าคุณอมราภิรักขิต (เกิด) วัดบรมนิวาส ผู้รจนาบุพพสิกขาวัณณนาก็อีกแล ไม่เข้าใจเหมือนกัน เราพบก็เข้าใจ เช่นดอกไม้ร้อยชนิดที่เรียกว่า "ปูริมํ" แปลตามพยัญชนะว่า "ของที่ทำให้เต็ม" โดยความว่า "ของที่ทำให้เป็นวง" พระอรรถกถาจารย์แก้ว่า เอาตาข่ายวงธรรมาสน์ให้รอบเป็นอาบัติ วงไม่ทันรอบส่งให้ภิกษุอื่นทำต่อได้ อันที่จริง "ปูริมํ" นั้นได้แก่พวงมาลัย ที่ร้อยสวมดอกไม่ก็ตาม แทงก้านก็ตาม แล้วเอาปลายเงื่อนทั้งสองผูกบรรจบเข้าเป็นวง นั่นเองที่ห้ามไม่ให้ภิกษุทำ ฯ

เมื่อเราอายุได้ ๑๓ ปี ล้นเกล้าฯ โปรดให้ตั้งพิธีโสกันต์เรากับเจ้าน้องอีก ๔ พระองค์ ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ฯ เราเป็นต้น กรมพระสมมตอมรพันธุ์เป็นที่ ๒ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เป็นที่ ๓ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาเป็นที่ ๔ น้องหญิงนงคราญอุดมดีเป็นสุดท้าย ฯ ๔ ข้างต้นอายุ ๑๓ ที่สุด ๑๑ ฯ ฟังสวด ๓ วัน โสกันต์วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๓๔ ตรงวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๕ ฯ

เป็นประเพณีที่ถือกันมาในวงศ์ของทูลกระหม่อม ตามพระดำรัสห้ามของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัยยิกาของเรา ว่าพระชันษายังไม่ถึง ๓๐ ห้ามไม่ให้ตัดจุก ฯ นี้มาสมเข้ากับธรรมเนียมในพระวินัยว่า มีพรรษายังไม่ครบ ๑๐ (ที่นับอายุว่า ๓๐) ห้ามมิให้เป็นอุปัชฌายะ และธรรมเนียมข้างวัดอังกฤษว่า ผู้จะเป็นบิชอบคือเจ้าคณะ ต้องมีอายุได้ ๓๐ แล้ว ฯ ตามธรรมเนียมนี้ คงถือว่าคนที่จัดว่าเป็นผู้ใหญ่แท้ อายุถึง ๓๐ แล้ว ฯ ล้นเกล้าฯ พระชนม์ยังไม่ถึง ๓๐ จึงยังไม่ทรงตัดจุก เป็นแต่พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ แล้วโปรดให้เจ้านายผู้ใหญ่ ที่เราจำได้ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงตัด ฯ




สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี (เจ้าฟ้าบุญรอด)

พระฉายาสาทิสลักษณ์ที่จิตรกรวาดขึ้นจากเค้าพระพักตร์ พระราชโอรสธิดา ผสมผสานจินตนาการ


คราวเราโสกันต์ ฤกษ์เช้าย่ำรุ่งแล้ว เสด็จอาผู้เคยทรงตัดเสด็จมาไม่ทันสักพระองค์ โปรดให้กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์พระเจ้าบวรวงศ์เธอครั้งนั้น ที่เปลี่ยนมาเป็นพระเจ้าราชวงศ์เธอครั้งนี้ ชั้นที่ ๒ ทรงตัดพระองค์เดียว ท่านตัดเรา กรมพระสมมตอมรพันธุ์ และพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์แล้ว กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ และสมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ จึงเสด็จมา ทันตัดกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาและน้องหญิงนงคราญอุดมดี ฯ กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ทรงตัดเจ็บมาก บางทีจะเป็นเพราะกรรไกรดื้อ แต่ความรู้สึกว่าไม่เทียมหน้าพี่น้องผู้โสกันต์ไปแล้ว นำให้โทษว่าท่านทรงตัดไม่เป็น เราไม่เคยเห็นท่านทรงตัดที่ในวัง เราก็สำคัญว่าท่านไม่เคย แต่โดยที่แท้ท่านคงเคยในที่อื่นมามากแล้ว ฯ

ครั้งนั้นมีแห่กระบวนน้อยทางข้างใน มีรายการแจ้งในโคลงวิวิธมาลีโสกันต์ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕ นั้นแล้ว แต่รายการที่กล่าวถึงในโคลงนั้น โสกันต์คราวปีมะแม ก่อนนี้ปีหนึ่ง ฯ แห่อย่างนี้จัดขึ้นคราวแรกเมื่อปีมะเมีย ครั้งโสกันต์เจ้าพี่กาพย์กระนกรัตน์ และกรมพระเทวะวงศ์วโรปการ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ เปรียบกับแห่โสกันต์ทางนอกครั้งรัชกาลที่ ๔ แปลกกันมาก แต่หากจะโปรดให้มีแห่เหมือนอย่างนั้น ก็คงไม่ครึกครื้นเหมือน เพราะผิดเวลาใครเขาจะมาเอาใจใส่จอดอยู่ด้วย ทั้งท่านผู้ออกงานก็จะหานางสะและข้าหลวงหญิงชายตามไม่ได้ง่าย และการโสกันต์ยังจะมีติดกันไปทุกปีอย่างไรก็ต้องกร่อย จะให้ลำบากแก่คนมากและเปลืองเงินมากเพื่ออะไร ล้นเกล้าฯ ทรงเลิกแห่นอกเสียนั้นสมควรแท้ ได้รู้มาว่า ครั้งรัชกาลที่ ๓ พระเจ้าน้องเธอ พระเจ้าลูกเธอ โสกันต์ในพิธีตรุษเป็นพื้น มีแห่เฉพาะบางครั้ง พระเจ้าลูกเธอดูเหมือนไม่ได้แห่เลย เทียบกับครั้งนั้นก็ยังได้ออกหน้ากว่า ต่อมาถึงคราวพระเจ้าลูกเธอโสกันต์ โปรดให้แห่ทางในโดยมาก เห็นพระราชนิยมชัด ฯ เป็นธรรมเนียมของเจ้านายผู้ชายจะออกจากพระบรมมหาราชวังชั้นใน ต่อเมื่อทรงผนวชเป็นสามเณร เราโสกันต์แล้วจึงยังอยู่ในวังต่อมา ฯ

อายุเราได้ ๑๔ ปี ถึงกาลกำหนดบรรพชา แต่ปีนั้นเดือนเจ็ดต่อกับเดือนแปดเกิดโรคป่วงชุกชุม ที่ห่างมานานตั้งแต่ปีระกาเอกศก จุลศักราช ๑๒๑๑ พรือ พ.ศ. ๒๓๙๓ มีพระราชดำรัสสั่งให้เลื่อนไปบวชต่อเมื่อเดือนเก้า ฯ ในเวลานั้นยัง